เกณฑ์การกำกับแบบรวมกลุ่ม …ผลกระทบต่อธุรกิจธนาคารพาณิชย์

เกณฑ์การกำกับแบบรวมกลุ่ม (Consolidated Supervision) เป็นเกณฑ์ให้อำนาจธนาคารแห่งประเทศไทยในการกำกับดูแลการดำเนินงานของกลุ่มธุรกิจทางการเงิน (Financial Conglomerate) ซึ่งมีส่วนผลักดันให้สถาบันการเงินแม่ ต้องเข้าไปดูแลการดำเนินธุรกิจของบริษัทที่ตนเองเข้าไป Consolidated Supervision คาดว่าจะเริ่มประกาศและทดลองใช้ในเดือนกรกฎาคม 2549 ที่จะถึงนี้ ก่อนที่จะมีผลบังคับใช้จริงประมาณเดือนกรกฎาคม 2550 แม้ว่าตามหลักการแล้ว อำนาจของ ธปท. ในการเข้าไปกำกับกลุ่มธุรกิจทางการเงินดังกล่าวยังไม่สมบูรณ์ เนื่องจากยังคงรอร่างพระราชบัญญัติธุรกิจสถาบันการเงิน ซึ่งประกอบด้วยเนื้อหาในการให้อำนาจ ธปท. เพื่อกำกับดูแลการดำเนินธุรกิจในลักษณะของกลุ่มธุรกิจทางการเงิน ผ่านการอนุมัติของสภา แต่เนื่องจากเกณฑ์การกำกับฯ มีผลต่อการเปิดโอกาสให้สถาบันการเงินสามารถขยายขอบเขตการดำเนินธุรกิจ ในรูปแบบ Universal Banking หรือการให้บริการทางการเงินครบวงจร เพื่อเสริมสร้างศักยภาพในการแข่งขันระยะยาว ธนาคารแห่งประเทศไทยจึงดำเนินการเรื่องดังกล่าว โดยขอความร่วมมือจากสถาบันการเงิน เพื่อให้เกณฑ์การกำกับแบบรวมกลุ่ม มีผลในทางปฏิบัติโดยเร็ว

เกณฑ์การกำกับแบบรวมกลุ่ม มีส่วนสำคัญต่อการขยายขอบเขตการดำเนินธุรกิจของธนาคารพาณิชย์ หรือการดำเนินธุรกิจและให้บริการธนาคารครบวงจร (Universal Banking) เนื่องจากส่งผลให้ทางการผ่อนคลายให้ธนาคารพาณิชย์สามารถขยายขอบเขตการดำเนินธุรกิจ มากกว่าในอดีต (จากเดิมที่การถือหุ้นของธนาคารพาณิชย์ในบริษัทจำกัดมากกว่า 10% ต้องได้รับอนุญาตจากธนาคารแห่งประเทศไทยเป็นครั้งๆไป) นับจากที่สถาบันการเงินมีความแข็งแกร่งเพิ่มมากขึ้น หลังวิกฤติเศรษฐกิจ

ทั้งนี้ เกณฑ์ทั้งหมดข้างต้น จะเริ่มทยอยบังคับใช้ตามกรอบระยะเวลาที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนด (ซึ่งได้แก่ เกณฑ์ในการตัดสินใจเพื่อจัดตั้งกลุ่ม จะเริ่มบังคับใช้ทันที ขณะที่เกณฑ์อื่นๆ เช่น การอนุญาตให้บริษัทแม่สามารถให้สินเชื่อ ลงทุน และก่อภาระผูกพันกับบริษัทลูก ไม่จำกัดจำนวน จะบังคับใช้ได้ในระยะต่อไป เป็นต้น) ซึ่งทั้งหมด คงจะต้องรอความชัดเจนและต้องติดตามกันอย่างใกล้ชิดต่อไป โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เกณฑ์การกำกับฯ ฉบับสมบูรณ์ ที่คาดว่าจะประกาศใช้ต้นเดือนกรกฎาคมนี้ ก่อนที่ประกาศฉบับลูกอื่นๆ จะติดตามมา ในระยะถัดไป
ผลกระทบต่อธุรกิจธนาคารพาณิชย์จากเกณฑ์การกำกับแบบรวมกลุ่ม

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินผลกระทบเบื้องต้นต่อธุรกิจธนาคารพาณิชย์ หลังเกณฑ์การกำกับแบบรวมกลุ่มมีผลบังคับใช้ ดังต่อไปนี้;

? เกณฑ์การกำกับแบบรวมกลุ่ม ส่งผลให้ปัจจัยในเรื่องเงินกองทุน กลายเป็นหัวใจสำคัญต่อการดำเนินธุรกิจแบบครบวงจร หรือการดำเนินธุรกิจแบบ Universal Banking เนื่องจากสถาบันการเงินจะต้องวางแผนในการดำรงเงินกองทุน ให้สามารถรองรับธุรกิจในเครือตามที่กำหนด ก่อนการเตรียมวางแผนการขยายธุรกิจ จากเดิมที่รองรับการดำเนินงานของสถาบันการเงินเท่านั้น โดยสถาบันการเงินจะต้องทำการตัดสินใจ ในเรื่องการลด / เพิ่มสัดส่วนการถือหุ้น ในบริษัทหรือธุรกิจต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การถือหุ้นในบริษัทประกันภัย และในบริษัทที่ไม่มีอำนาจควบคุม เนื่องจากมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงระดับความเพียงพอของเงินกองทุนของธนาคาร

แม้ว่าในระยะแรก ผลกระทบของเกณฑ์การกำกับฯ ต่อความเพียงพอของระดับเงินกองทุนของธนาคารอาจดูเหมือนไม่น่าที่จะมากนัก เนื่องจากธนาคารส่วนใหญ่ล้วนมีสัดส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง เกินกว่าเกณฑ์ที่ทางการกำหนดที่ 8.5% ค่อนข้างมาก (ตามตารางด้านล่าง) แต่เกณฑ์การกำกับแบบรวมกลุ่มย่อมมีผลต่อการดำเนินธุรกิจของธนาคารต่างๆในระยะถัดๆไป

โดยความเพียงพอของสัดส่วนเงินกองทุน ในระยะยาว ขึ้นกับปัจจัยต่างๆ ได้แก่ ความเชื่อมั่นของนักลงทุน ซึ่งมีผลต่อราคาหลักทรัพย์ของธนาคาร ความพร้อมในเรื่องเงินทุน เครือข่าย และบุคลากรในการขยายธุรกิจในระยะยาว คุณภาพสินทรัพย์ ระบบการบริหารความเสี่ยง ความสามารถในการสร้างผลกำไร และการเติบโตหรือขนาดของบริษัทลูกในกลุ่มธุรกิจการเงิน เป็นต้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในสถานการณ์ปัจจุบัน ที่ภาวะเศรษฐกิจมีผลต่อการเพิ่มขึ้นของความเสี่ยงในการดำเนินงานของธนาคารพาณิชย์ ดังนั้น ธนาคารพาณิชย์ที่มีความพร้อมมากกว่า จึงเป็นผู้ที่จะสามารถขยายธุรกิจ และรองรับการมีผลบังคับใช้ของเกณฑ์การกำกับแบบรวมกลุ่มได้อย่างมีประสิทธิภาพ

เกณฑ์การกำกับแบบรวมกลุ่ม จึงเป็นเครื่องมือที่เหมาะสมในการดูแลกำกับความเสี่ยงของระบบการเงิน พร้อมๆไปกับการรองรับการขยายขอบเขตการดำเนินธุรกิจ ให้แก่สถาบันการเงินที่มีความพร้อม เพื่อให้สามารถพัฒนาและครอบคลุมผลิตภัณฑ์ทางการเงินเพิ่มมากขึ้นในอนาคต

? เกณฑ์การกำกับแบบรวมกลุ่ม กระตุ้นให้เกิดการเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงานให้แก่สถาบันการเงิน เพราะไม่เพียงระดับเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงเท่านั้น ที่บอกถึงการดำเนินงานของกลุ่มธุรกิจทางการเงิน (จากการรวมรายการทั้งหมดของบริษัทลูกที่สถาบันการเงินมีอำนาจครอบครอง เข้ามาในงบการเงินรวม) แต่เครื่องบ่งชี้ทางการเงินอื่นๆ ได้แก่ ปริมาณหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (จากการนำสินเชื่อของบริษัทลูกมารวมในการจัดชั้นสินทรัพย์ ของธนาคาร ซึ่งในช่วงแรก จะเริ่มจากบริษัท Solo Consolidation ก่อน) และข้อมูลอื่นๆ (ตามการปรับใช้ของธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งขึ้นกับความพร้อมในทางปฏิบัติของสถาบันการเงิน) ก็จะถูกรวมมาพิจารณาเพื่อประเมินผลการดำเนินงานทั้งหมดในอนาคต ก่อนที่ BASEL II จะเริ่มบังคับใช้อย่างเต็มรูปแบบ ซึ่งทั้งหมดคงส่งผลให้สถาบันการเงินต้องทำงานหนัก เพื่อรักษาความสามารถในการแข่งขัน

? บรรยากาศการแข่งขันระหว่างสถาบันการเงิน คงจะเพิ่มสูงขึ้นจากเกณฑ์การกำกับแบบรวมกลุ่ม เนื่องจากสถาบันการเงินที่มีขนาดเล็กกว่า คงพยายามหาช่องทางเพิ่มโอกาสทางธุรกิจ อันอาจนำไปสู่การรวมตัวของกลุ่มธุรกิจการเงินขนาดเล็ก หรือการสร้างพันธมิตรทางธุรกิจ ซึ่งจะช่วยให้สถาบันการเงินดังกล่าว สามารถเสนอบริการที่ครอบคลุม และสามารถแข่งขันได้กับกลุ่มธุรกิจทางการเงินที่มีขนาดใหญ่กว่า

ในขณะที่ประเด็นที่หลายฝ่ายมองว่า เกณฑ์การกำกับแบบรวมกลุ่มอาจก่อให้เกิดความไม่เท่าเทียมกันในตลาดการแข่งขันระหว่างธุรกิจที่อยู่ภายใต้การดูแลของสถาบันการเงิน และที่ไม่ได้อยู่ภายใต้สถาบันการเงิน (เช่น บริษัทลิสซิ่งของค่ายรถยนต์) เนื่องจากธุรกิจภายใต้สถาบันการเงินต้องปฏิบัติตามเกณฑ์ของทางการในระดับที่มากกว่านั้น แต่อย่างไรก็ตาม บริษัทลูกที่อยู่ภายใต้การดูแลของสถาบันการเงิน ก็อาจจะได้เปรียบในเรื่องแหล่งเงินทุน การใช้เครือข่ายสาขาเป็นช่องทางการขายผลิตภัณฑ์ของบริษัท การมีฐานลูกค้าจำนวนมากในการนำเสนอผลิตภัณฑ์ เป็นต้น ซึ่งทั้งหมดยังนับเป็นจุดแข็งของธุรกิจที่อยู่ภายใต้กลุ่มธุรกิจทางการเงิน ภายหลังเกณฑ์การกำกับแบบรวมกลุ่ม มีผลบังคับใช้

? นอกจากนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า เกณฑ์การกำกับแบบรวมกลุ่มคงจะเป็นจุดเริ่มต้นของการรวมตัว หรือการร่วมมือกันระหว่างองค์กรกำกับต่างๆ (Integrated Supervision) หลังจากที่เกณฑ์การกำกับแบบรวมกลุ่ม เกิดจากการปรึกษาหารือระหว่างธนาคารแห่งประเทศไทย และหน่วยงานกำกับอื่นๆที่เกี่ยวข้อง เช่น ก.ล.ต. กรมการประกันภัย ฯลฯ โดยในทางปฏิบัติ เมื่อการดำเนินธุรกิจทางการเงินมีความสลับซับซ้อนมากขึ้น ความจำเป็นของระบบการกำกับดูแลทั้งในเชิงกว้าง และเชิงลึก ในธุรกิจการเงินทุกประเภท ไม่เฉพาะแต่ภาคการธนาคาร จะเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเด็นเกี่ยวกับความเสี่ยง และการตอบสนองต่อความจำเป็นในการดูแลการออกผลิตภัณฑ์ใหม่ ที่มีความหลากหลาย ซึ่งเกิดจากการผสมผสานระหว่างผลิตภัณฑ์ทางการเงินหลายประเภท

ดังนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า รูปแบบองค์กรกำกับที่สามารถตอบสนองพัฒนาการของผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงินในอนาคต คงจะไม่ใช่เป็นเพียงประเด็นที่เกี่ยวกับแยก / รวมองค์กรกำกับไว้ที่แห่งเดียว แต่สิ่งสำคัญคงจะอยู่ที่ประสิทธิภาพในการประสานงานระหว่างธุรกิจการเงินต่างๆ ประสิทธิภาพในการควบคุมดูแลภาคการเงิน รวมทั้งการสร้างวัฒนธรรมการทำงานที่กลมกลืน มีความโปร่งใส และความน่าเชื่อถือ ซึ่งทั้งหมด จะยังประโยชน์ไปสู่การสามารถดูแลระบบการเงินได้อย่างครอบคลุม อันจะนำไปสู่ความเท่าเทียมในการแข่งขันของภาคการเงินทั้งระบบได้ในที่สุด
สรุป

เกณฑ์การกำกับแบบรวมกลุ่ม หรือ Consolidated Supervision ทำหน้าที่ดูแลกำกับการดำเนินงานของกลุ่มธุรกิจทางการเงิน (Financial Conglomerate) โดยผลักดันให้สถาบันการเงินแม่ เข้าไปดูแลการดำเนินธุรกิจของบริษัทที่ตนเองเข้าไปถือหุ้น พร้อมๆกันกับการดูแลธุรกิจตนเอง ไม่ว่าจะเป็นการรักษาระดับเงินกองทุนของกลุ่มธุรกิจทางการเงินให้เหมาะสม การรายงานนโยบายการดำเนินธุรกิจของกลุ่มและกำหนดนโยบายบริหารความเสี่ยงภายใน การจัดทำรายการทางการเงินของกลุ่มธุรกิจทางการเงิน ฯลฯ เกณฑ์การกำกับแบบรวมกลุ่ม คาดว่าจะเริ่มมีผลบังคับใช้จริงประมาณเดือนกรกฎาคม 2550 หลังจากที่ธนาคารแห่งประเทศไทยพยายามผลักดันให้ธนาคารพาณิชย์ทดลองปฎิบัติ เพื่อตอบรับกระแสการทยอยปรับตัวของสถาบันการเงิน ในการดำเนินธุรกิจรูปแบบ Universal Banking หรือการให้บริการทางการเงินครบวงจร รวมไปถึงการรับมือกับการแข่งขันจากต่างชาติ ที่มีแนวโน้มว่าจะเพิ่มสูงขึ้น

เนื้อหาเกณฑ์การกำกับแบบรวมกลุ่มตามร่างฉบับล่าสุด (ลงวันที่ 28 เมษายน 2549) ประกอบไปด้วย ข้อกำหนดเกี่ยวกับสัดส่วนการถือหุ้นในบริษัทต่างๆ เพื่อจัดตั้งกลุ่มธุรกิจทางการเงิน อันมีผลต่อการคิดคำนวณเงินกองทุน ข้อกำหนดเกี่ยวกับการดำรงเงินกองทุน และการนำส่งงบการเงิน ต่อธนาคารแห่งประเทศไทย ข้อกำหนดเกี่ยวกับการให้เงินทุน หรือสินเชื่อแก่บริษัทในกลุ่มธุรกิจทางการเงิน หรือการทำธุรกรรมกับบริษัทภายในกลุ่มธุรกิจการเงิน และข้อกำหนดในเรื่องการให้สินเชื่อ ลงทุน และก่อภาระผูกพันแก่ลูกหนี้รายใหญ่ ฯลฯ ทั้งนี้ รายละเอียดปลีกย่อยของเกณฑ์ทั้งหมดข้างต้น จะเริ่มทยอยมีผลบังคับใช้ตามกรอบระยะเวลาที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนด หลังจากที่เกณฑ์การกำกับแบบรวมกลุ่มฉบับสมบูรณ์ คาดว่าจะประกาศใช้อย่างเป็นทางการ ต้นเดือนกรกฎาคมนี้

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมีความเห็นว่า การมีผลบังคับใช้ของเกณฑ์การกำกับแบบรวมกลุ่ม อาจเป็นจุดเริ่มต้นของการรวมตัวขององค์กรกำกับภาคการเงิน ซึ่งคงไม่ใช่เพียงประเด็นที่เกี่ยวกับการรวมหรือแยกอำนาจการกำกับไว้ที่หน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง แต่สิ่งสำคัญ คงจะเป็นการผลักดันให้เกิดการประสานงานระหว่างภาคการเงินต่างๆ การสร้างวัฒนธรรมการทำงานที่กลมกลืน การสร้างความโปร่งใสและความน่าเชื่อถือ เพื่อประโยชน์ในการดูแลความเสี่ยง การดำเนินงาน ของธุรกิจการเงินอย่างมีประสิทธิภาพ ตอบรับการเปลี่ยนแปลงของผลิตภัณฑ์และบริการที่จะมีความสลับซับซ้อนเพิ่มมากขึ้น ซึ่งจำเป็นจะต้องอาศัยการกำกับดูแลจากทางการ ในลักษณะที่เป็นเชิงกว้าง และในเชิงลึก อันจะเป็นปัจจัยสนับสนุนให้เกิดการกำกับดูแลที่ครอบคลุมภาคการเงิน ที่สมบูรณ์ครบถ้วนมากขึ้นในอนาคต

นอกจากนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยยังมีความเห็นว่า การแข่งขันในตลาดคงจะเพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากสถาบันการเงินที่มีขนาดเล็ก คงจะพยายามหาช่องทางในการขยายธุรกิจ อันอาจนำไปสู่การรวมตัวของกลุ่มธุรกิจการเงินขนาดเล็ก หรือการสร้างพันธมิตรทางธุรกิจ ที่ช่วยให้ธนาคารเหล่านั้นสามารถเสนอบริการที่ครอบคลุม และสามารถแข่งขันได้กับกลุ่มธุรกิจทางการเงินที่มีขนาดใหญ่กว่า ในขณะที่ประเด็นในเรื่องความไม่เท่าเทียมกันในการดำเนินธุรกิจ ระหว่างบริษัทที่ดำเนินธุรกิจภายใต้การดูแลของสถาบันการเงิน และที่ไม่ได้อยู่ภายใต้สถาบันการเงิน อาจไม่ใช่ประเด็นที่น่ากังวล แม้ว่าบริษัทภายใต้สถาบันการเงินจะต้องปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ของทางการในระดับที่เข้มงวดกว่า แต่บริษัทที่ดำเนินธุรกิจภายใต้สถาบันการเงินเองนั้น ก็มีความได้เปรียบด้านอื่นๆ เช่น แหล่งเงินทุน การมีเครือข่ายสาขาเป็นช่องทางการขายผลิตภัณฑ์ และการสามารถนำเสนอผลิตภัณฑ์แก่ฐานลูกค้าของธนาคาร ที่มีอยู่เป็นจำนวนมาก

เกณฑ์การกำกับแบบรวมกลุ่ม ยังช่วยให้เกิดการสะท้อนภาพการดำเนินงานที่ชัดเจนขึ้น นำไปสู่การเร่งเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงานของสถาบันการเงิน เนื่องจากเป็นจุดเริ่มต้นของการเปิดเผยข้อมูลทางการเงิน ในลักษณะของกลุ่มธุรกิจการเงิน ซึ่งได้แก่ หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ และข้อมูลทางการเงินอื่นๆ ตามการปรับใช้ของธนาคารแห่งประเทศไทยในอนาคต เพื่อรองรับการเริ่มมีผลบังคับใช้ของเกณฑ์ BASEL II ในอนาคต

ท้ายที่สุด เกณฑ์การกำกับแบบรวมกลุ่ม จะส่งผลให้ปัจจัยในเรื่องเงินกองทุน กลายเป็นหัวใจสำคัญในการขยายธุรกิจ เพื่อดำเนินธุรกิจแบบ Universal Banking เนื่องจากสถาบันการเงิน ต้องรักษาระดับเงินกองทุน ให้สามารถรองรับการขยายธุรกิจในเครือ ดังนั้น สถาบันการเงินที่มีความพร้อมมากกว่า ทั้งในเรื่องการได้รับความเชื่อมั่นจากนักลงทุน การดูแลคุณภาพสินทรัพย์ ความสามารถในการสร้างผลกำไร และปัจจัยในเรื่องการเติบโต หรือขนาดของบริษัทลูกในกลุ่มธุรกิจการเงิน ฯลฯ ย่อมที่จะสามารถขยายธุรกิจ และรับมือกับการมีผลบังคับใช้ของเกณฑ์กำกับแบบรวมกลุ่มได้มากที่สุด