เลขหมายโทรศัพท์เคลื่อนที่ 10 หลัก : ดีเดย์ 1 กันยายน 2549

ตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2549 เป็นต้นไป คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) กำหนดเปิดให้บริการเลขหมายโทรศัพท์เคลื่อนที่ 10 หลัก เพิ่มเติมจากเดิมที่ให้บริการเลขหมายโทรศัพท์เคลื่อนที่จำนวน 9 หลัก ทั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อที่จะขยายเลขหมายโทรศัพท์เคลื่อนที่ให้สามารถรองรับความต้องการที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วได้อย่างเพียงพอ ซึ่งการปรับเปลี่ยนเลขหมายโทรศัพท์เป็น 10 หลัก จะส่งผลกระทบต่อผู้ใช้บริการระบบโทรศัพท์เคลื่อนที่ ประชาชนทั่วไป ต้องมีการเตรียมความพร้อมและปรับตัวรับเลขหมายโทรศัพท์ใหม่ที่จะนำมาใช้กันอย่างถ้วนหน้า อย่างไรก็ตาม ก่อนถึงวันที่1 กันยายน 2549 นี้ ได้เปิดให้มีการทดลองใช้เลขหมายโทรศัพท์ 10 หลักตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2549 เพื่อเป็นการทดสอบระบบว่าสามารถดำเนินการได้เป็นอย่างดีก่อนที่จะถึงวันประกาศใช้งานจริงดังกล่าว

การเพิ่มจำนวนของเลขหมายโทรศัพท์เคลื่อนที่นั้น จาก 9 หลัก เป็น 10 หลักนั้น ทำให้เลขหมายโทรศัพท์เคลื่อนที่เพิ่มจำนวนขึ้นเป็น 100 ล้านเลขหมาย ซึ่งมากกว่าจำนวนประชากรในประเทศที่มีอยู่จำนวน 64 ล้านคน นอกจากนี้ยังมีเลขหมายสำรองไว้อีก 300 ล้านเลขหมาย หรือรวมแล้วจะมีเลขหมายโทรศัพท์เคลื่อนที่ทั้งหมด 400 ล้านเลขหมาย ซึ่งคาดว่าจะสามารถรองรับการให้บริการประชาชนได้เพียงพอในอีก 30 ปีข้างหน้า หลังจากที่ผ่านมาผู้ให้บริการที่มีเลขหมายให้บริการน้อยประสบกับปัญหาการขาดแคลนเลขหมายที่ให้บริการและจำเป็นต้องมีการขอเลขหมายเพิ่มเติมจากหน่วยงานที่รับผิดชอบในการจัดสรรเลขหมายอยู่เสมอและเป็นปัจจัยสำคัญในการขยายฐานลูกค้า ในขณะที่ผู้ให้บริการหลายรายมีเลขหมายที่ได้รับการจัดสรรไว้เป็นจำนวนมากแต่มีลูกค้าที่ใช้บริการจำนวนไม่มากนัก ดังนั้นการจัดสรรเลขหมายใหม่เท่ากับเป็นการเพิ่มโอกาสในการแข่งขันมากขึ้น อย่างไรก็ตามการเพิ่มจำนวนเลขหมายโทรศัพท์เคลื่อนที่ขึ้นนั้นอาจยังไม่สะท้อนถึงการผลักดันให้เกิดการใช้เลขหมายอย่างมีประสิทธิภาพมากนัก และมีเลขหมายจำนวนมากที่ไม่ได้ถูกนำมาใช้ ดังนั้นยังจำเป็นต้องมีการหามาตรการส่งเสริมให้การใช้เลขหมายให้เกิดประสิทธิภาพมากกว่าที่จะมีเพิ่มจำนวนเลขหมาย ซึ่งการเพิ่มจำนวนเลขหมายนั้นย่อมส่งผลกระทบให้เกิดต้นทุนค่าใช้จ่ายเพื่อการเตรียมรองรับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในหลายส่วนด้วยกัน

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มีความเห็นว่า การปรับเปลี่ยนมาใช้เลขหมายโทรศัพท์เคลื่อนที่ 10 หลักนั้น จะส่งผลกระทบเป็นวงกว้างต่อกลุ่มผู้ที่เกี่ยวข้องต่างๆ ดังต่อไปนี้

กลุ่มผู้ใช้บริการ

ผู้ใช้บริการโทรศัพท์พื้นฐานตามบ้าน ไม่ต้องมีการปรับเปลี่ยนซอฟท์แวร์ของตัวเครื่องรับโทรศัพท์แต่อย่างใด ผู้ใช้สามารถโทร.ไปยังเลขหมายโทรศัพท์พื้นฐานด้วยกันเองด้วยเลข 9 หลักเหมือนเดิม ส่วนการโทร.ไปยังเลขหมายโทรศัพท์เคลื่อนที่ให้กดรหัส 08 แทนหมายเลข 0 ด้านหน้าและตามด้วยเลขหมายโทรศัพท์เคลื่อนที่ ก็สามารถโทร.ติดต่อกับผู้รับปลายทางได้ แต่สำคัญว่าในช่วงแรกที่เปิดให้บริการอย่างเป็นทางการคือในวันที่ 1 กันยายน 2549 นั้น ผู้ใช้บริการทั่วไปอาจจะยังยึดติดกับการกดเลขหมายโทรศัพท์แบบเดิมอยู่ ทำให้กดเลขหมายใหม่ไม่ถูกต้อง หรือมีการสับสนระหว่างการโทร. แต่ในระยะยาวแล้วผู้ใช้บริการก็จะเคยชินและสามารถกดเลขหมายโทรศัพท์ได้อย่างถูกต้อง

โทร.สาธารณะแบบหยอดเหรียญที่ติดตั้งตามบ้านเรือน ซึ่งส่วนใหญ่จะระงับการโทร.ทางไกลหรือโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่ตัวเครื่อง ดังนั้น ผู้ใช้บริการควรจะติดต่อไปยังตัวแทนจำหน่ายที่ตนเองซื้อเครื่องมา เพื่อสอบถามว่าสามารถแก้ไขให้ใช้เลขหมาย 10 หลักได้หรือไม่ หากไม่ได้ก็ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการซื้อเครื่องใหม่ในราคาประมาณ 1,200 บาทต่อเครื่อง

ผู้ใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ ไม่ต้องเปลี่ยนเครื่องลูกข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ของตนเอง และสามารถใช้โทร.ไปยังโทรศัพท์พื้นฐานได้ด้วยเลข 9 หลักเหมือนปกติ และจำเลขหมายโทรศัพท์เคลื่อนที่ของตนเองใหม่ ส่วนการโทร. ไปยังโทรศัพท์เคลื่อนที่ด้วยกันเองนั้น ให้กดรหัส 08 แทนที่ 0 และตามด้วยเลขหมายที่โทรศัพท์เคลื่อนที่เดิมอีก 8 หลัก ก็จะสามารถโทร.ไปยังเลขหมายปลายทางได้ ส่วนที่ต้องแก้ไขคือเลขหมายโทรศัพท์เคลื่อนที่ของผู้อื่นที่บันทึกไว้ในซิมการ์ด ซึ่งผู้ใช้โทรศัพท์สามารถแก้ไขได้ด้วยตนเองหรือจะนำซิมการ์ดไปขอรับบริการปรับเลขหมายอัตโนมัติที่ศูนย์บริการหรือตัวแทนจำหน่ายของผู้ให้บริการระบบได้ทั่วประเทศ

กลุ่มสถาบันการเงิน ซึ่งมีบริการทางการเงินที่หลากหลายประเภท เช่น บริการเอ็มเพย์เม้นท์ บริการซื้อขายหลักทรัพย์ โมบายแบงก์กิ้ง ผ่านโทรศัพท์เคลื่อนที่ ทางสถาบันการเงินที่ให้บริการจะปรับเปลี่ยนเลขหมายโทรศัพท์เคลื่อนที่มาเป็น 10 หลัก ต้องเพิ่มรหัส 08 เข้าไปในโปรแกรมเพื่อรองรับการให้บริการ ส่วนผู้ใช้บริการนั้นยังสามารถใช้บริการได้ตามปกติโดยไม่ต้องปรับเปลี่ยนเลขหมายใหม่

บริษัท ห้างร้าน องค์กรธุรกิจ อาคารเช่า เช่น แฟลต คอนโดมิเนียม เป็นต้น หน่วยงานต่างๆ เหล่านี้ส่วนใหญ่จะเน้นการโทร.ออกโดยผ่านตู้สาขาอัตโนมัติ ซึ่งระงับการโทร.ทางไกลหรือโทรศัพท์เคลื่อนที่ไว้มิให้ผู้ใช้ภายในอาคารโทร.ออกได้ ดังนั้น ผู้ผลิตและตัวแทนจำหน่ายตู้สาขาโทรศัพท์อัตโนมัติ จึงต้องทำการประชาสัมพันธ์ให้กับลูกค้าที่ใช้บริการของตนทราบและจัดการปรับปรุงซอฟท์แวร์และฮาร์ดแวร์ให้สามารถใช้โทรศัพท์เลขหมาย 10 หลักได้ ซึ่งลูกค้าที่อยู่ในระหว่างการรับประกันจากทางบริษัท จะไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการปรับปรุง แต่สำหรับลูกค้าที่พ้นระยะเวลาประกันสินค้าไปแล้ว จะต้องเสียค่าใช้จ่ายในการแก้ไขซอฟท์แวร์ตู้สาขาโทรศัพท์อัตโนมัติประมาณ 600-7,000 บาท ขึ้นอยู่กับรุ่น ขนาดและยี่ห้อสำหรับในกรุงเทพฯและปริมณฑล ส่วนลูกค้าต่างจังหวัดต้องเสียค่าจ่ายเพิ่มขึ้นในส่วนของค่าเดินทาง นอกจากนี้หากตู้สาขาโทรศัพท์เป็นรุ่นที่เก่าจนเกินไปก็อาจมีค่าใช้จ่ายในการเปลี่ยนแปลงระบบค่อนข้างมากและมีค่าใช้จ่ายสูงขึ้นหรืออาจแก้ไขไม่ได้จนทำให้ต้องเปลี่ยนเครื่องใหม่

ทั้งนี้ผลกระทบที่ใกล้เคียงกันของกลุ่มผู้ใช้บริการทุกกลุ่มอีกประเด็นหนึ่งก็คือจะต้องมีการเปลี่ยนแปลงนามบัตรใหม่ให้สอดคล้องกับเลขหมายโทรศัพท์เคลื่อนที่ 10 หลัก ในกรณีที่นามบัตรมีการระบุเลขหมายโทรศัพท์เคลื่อนที่ลงไปเป็นเลขหมายติดต่อได้ แต่ในช่วงต้นที่ผู้ใช้บริการบางรายอาจมีนามบัตรเหลืออยู่เป็นจำนวน การพิมพ์นามบัตรใหม่ทำให้ต้องเสียค่าใช้จ่ายโดยไม่จำเป็น จึงควรที่จะใช้นามบัตรเก่าไปก่อนจนกว่าจะหมด เพียงแต่เติมรหัส 08 นำหน้าเลขหมายเดิม

ผู้ให้บริการระบบ

ผู้ให้บริการโทรศัพท์พื้นฐาน ต้องมีการปรับเปลี่ยนซอฟท์แวร์โทรศัพท์พื้นฐานตามบ้าน ทั้งด้านชุมสายโทรศัพท์ที่ให้บริการโทรศัพท์พื้นฐานตามบ้านและโทรศัพท์สาธารณะ เพื่อให้รองรับการโทร.ไปยังเลขหมายโทรศัพท์เคลื่อนที่ 10 หลัก ในขณะที่การโทร.ไปยังเลขหมายโทรศัพท์พื้นฐานยังเป็น 9 หลักเหมือนเดิม และแก้ไขระบบการจัดพิมพ์บิลค่าโทรศัพท์ใหม่ เพื่อให้รองรับการโทร. ออกไปยังเลขหมายโทรศัพท์เคลื่อนที่ 10 หลัก และจัดโฆษณาประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนได้ทราบอย่างทั่วถึงโดยเฉพาะประชาชนในต่างจังหวัด เพื่อให้การติดต่อสื่อสารกับผู้รับปลายทางเป็นไปอย่างสะดวกและต่อเนื่อง

ผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ ต้องปรับเปลี่ยนซอฟท์แวร์และฮาร์ดแวร์บางส่วนเพื่อให้รองรับการให้บริการ ต้องประชาสัมพันธ์และจัดบริการให้ลูกค้านำซิมการ์ดไปอัพเดทข้อมูลใหม่ให้เพิ่มเลขหมายรหัสโทรศัพท์เคลื่อนที่ 08 เข้าไปในเลขหมายที่จัดเก็บไว้ในซิมการ์ด และปรับปรุงระบบ call center เพื่อรองรับการให้บริการกับลูกค้าที่จะโทร.เข้าไปสอบถามรายละเอียด การปรับปรุงระบบบิลลิ่งหรือการเรียกเก็บเงินที่จะมีจากทั้งการโทร.ไปยังเลขหมายโทรศัพท์พื้นฐาน เลขหมายโทรศัพท์พิเศษ และโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่มีจำนวนหลักของเลขหมายไม่เท่ากันคือ เลขหมายของโทรศัพท์พื้นฐานยังคงเป็น 9 หลักเท่าเดิม เลขหมายโทรศัพท์พิเศษ 4-8 หลัก ในขณะที่เลขหมายโทรศัพท์เคลื่อนที่มีจำนวน 10 หลัก นอกจากนี้ยังต้องเตรียมระบบการให้บริการแบบคู่ขนานสำหรับการโทรศัพท์ระหว่างโทรศัพท์เคลื่อนที่ด้วยกันเอง โดยในช่วงแรกจะมีการให้บริการได้ทั้งเลขหมายโทรศัพท์เคลื่อนที่ 9 หลัก และ 10 หลัก ก่อนที่จะมีการให้บริการแบบ 10 หลักเพียงอย่างเดียวในช่วงปี 2550

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มีความเห็นว่า การปรับเปลี่ยนมาใช้เลขหมายโทรศัพท์เคลื่อนที่ 10 หลักจะทำให้มีเลขหมายโทรศัพท์เคลื่อนที่เพิ่มขึ้นเป็น 100 ล้านเลขหมาย และมีเลขหมายสำรองไว้อีก 300 ล้านเลขหมายจากเดิมที่มีอยู่ประมาณ 57 ล้านเลขหมาย โดยคาดว่าจะสามารถรองรับความต้องการได้อย่างเพียงพอได้อีกใน 30 ปีข้างหน้า แต่การนำเลขหมายโทรศัพท์เคลื่อนที่ 10 หลักมาใช้ก็มีประเด็นทางด้านต่างๆ ที่น่าสนใจดังนี้

การเพิ่มจำนวนหลักของเลขหมายโทรศัพท์เคลื่อนที่เป็นการเพิ่มเลขหมายเพื่อรองรับการให้บริการที่เพิ่มขึ้นในระยะยาว อย่างไรก็ตามก็ยังจำเป็นต้องผลักดันให้มีการใช้เลขหมายอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น เพราะที่ผ่านมาจำนวนเลขหมายโทรศัพท์เคลื่อนที่นั้นได้รับการจัดสรรไปแล้วค่อนข้างมากถึง 57 ล้านเลขหมาย แต่มีการใช้งานจริงประมาณร้อยละ 56.5 ซึ่งในจำนวนนี้แบ่งออกเป็นเลขหมายที่ยังไม่มีการเปิดใช้และยังอยู่ที่ผู้ให้บริการ ส่วนที่เหลือเป็นเลขหมายที่เคยให้บริการมาแล้วและถูกยกเลิกการใช้ไปและไม่สามารถนำมาใช้ใหม่ได้ ทั้งนี้ส่วนใหญ่เลขหมายที่ถูกยกเลิกไปนั้นเกิดจากการที่ผู้ใช้บริการต้องการยกเลิกเลขหมายเดิมไปใช้เลขหมายโทรศัพท์ใหม่หรือมีการย้ายข้ามระบบระหว่างผู้ให้บริการเนื่องจากต้องการโปรโมชั่นที่ดีกว่าในปัจจุบัน ซึ่งลูกค้าในกลุ่มนี้จากการสำรวจพบว่ามีจำนวนค่อนข้างสูงถึงร้อยละ 43 ของผู้ที่เคยเปลี่ยนหรือยกเลิกเลขหมายโทรศัพท์เดิมมาแล้ว ดังนั้นหากไม่มีมาตรการควบคุมการนำเลขหมายมาใช้อย่างรอบคอบแล้วอาจนำไปสู่การใช้เลขหมายที่สิ้นเปลืองเกินความจำเป็นได้อีก

การจัดเก็บค่าธรรมเนียมการขอและค่าธรรมรายปีสำหรับเลขหมายโทรศัพท์เคลื่อนที่ ซึ่งในอดีตที่ผ่านมายังไม่มีการนำการจัดเก็บค่าธรรมเนียมสำหรับเลขหมายมาใช้ ซึ่งการจัดเก็บค่าธรรมเนียมเลขหมายนั้นจะเป็นแนวทางในการป้องกันการกักตุนเลขหมาย หรือการป้องกันการนำเลขหมายมาใช้อย่างฟุ่มเฟือย แต่อย่างไรก็ตามการจัดเก็บค่าธรรมเนียมก็นับว่าเป็นต้นทุนที่เพิ่มขึ้นของผู้ประกอบการ ซึ่งในท้ายที่สุดแล้วภาระค่าใช้จ่ายดังกล่าวก็น่าจะถูกผลักให้เป็นภาระแก่ผู้ใช้บริการในที่สุด ดังนั้นอัตราค่าธรรมเนียมเลขหมายที่จะถูกนำมาใช้นั้นก็จำเป็นที่จะต้องไม่สูงเกินไปนักและไม่ก่อให้เกินเป็นภาระต่อการใช้บริการมากจนเกินไป

การจัดทำเลขหมาย Number Portability หรือการกำหนดให้เลขหมายเดิมสามารถนำไปใช้บริการได้รับทุกระบบนั้น เป็นอีกแนวทางหนึ่งที่ได้รับการเรียกร้องให้นำมาใช้เพื่อแก้ไขและป้องกันเลขหมายขาดแคลน และเป็นเทคโนโลยีอีกประเภทหนึ่งที่ กทช. น่าจะมีการพิจารณานำมาใช้ เพื่อป้องกันการใช้เลขหมายอย่างฟุ่มเฟือย แม้ว่าในปัจจุบันจะมีการเปิดให้บริการมาแล้วในหลายประเทศและยังไม่เป็นที่แพร่หลายมากนัก เนื่องจากค่าบริการยังอยู่ในอัตราค่อนข้างสูงและเป็นภาระค่อนข้างมากสำหรับผู้ใช้บริการ แต่ในอนาคตหากเทคโนโลยีมีการพัฒนาให้ต้นทุนการให้บริการถูกลงก็มีแนวโน้มว่าจะสามารถนำมาใช้กับกรณีของประเทศไทยได้

การกำหนดหลักเกณฑ์ในการจัดสรรเลขหมาย ให้กับผู้ให้บริการแต่ละรายจำเป็นที่จะต้องมีเครื่องมือในการจัดสรรให้เหมาะสมกับความจำเป็นในการใช้งานเลขหมายอย่างมีประสิทธิภาพ และจัดสรรเลขหมายเพิ่มเติมก็ต้องสอดคล้องกับสภาพของตลาดและไม่ก่อให้เกิดการกักตุนเลขหมายและเสียโอกาสในการนำเลขหมายมาใช้ ซึ่งในประเด็นนี้คาดว่า กทช. น่าจะมีการพิจารณาหลักเกณฑ์ในการจัดสรรเลขหมายเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพมากกว่าที่ผ่านมาในเร็วๆนี้

การจัดการเลขหมายที่ได้จัดสรรไปแล้วในช่วงก่อนหน้า โดยแบ่งออกเป็นเลขหมายที่ยังไม่ได้มีการนำมาใช้และเลขหมายที่เคยเปิดให้บริการและยกเลิกไปแล้ว ยังไม่มีแนวทางการจัดการว่าจะสามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้หรือไม่ ซึ่งในประเด็นเลขหมายที่ยังไม่มีการใช้งานและไปกระจุกอยู่ที่ผู้ให้บริการรายใดรายหนึ่ง ทำให้เกิดการเสียโอกาสที่จะนำเลขหมายมาใช้ ส่วนเลขหมายที่มีการยกเลิกหากไม่มีการนำมาใช้ใหม่ ก็เป็นไปได้ว่าแม้จะมีการเพิ่มจำนวนเลขหมายใหม่มากขึ้นแต่ก็มีโอกาสที่เลขหมายจะไม่เพียงพอใช้เหมือนกับช่วงที่ผ่านมาได้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เห็นว่าน่าจะมีการพิจารณาแนวทางการจัดการให้สามารถนำกลับมาใช้ให้เกิดประโยชน์เพิ่มได้อีก

สรุป
การปรับเปลี่ยนเลขหมายโทรศัพท์เคลื่อนที่จาก 9 หลักมาเป็น 10 ในครั้งนี้ จะส่งผลกระทบต่อผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งผู้ให้บริการและที่ใช้บริการโทรศัพท์ให้มีการปรับตัว โดยจะต้องจำเบอร์โทรศัพท์เคลื่อนที่ใหม่ว่าจะต้องนำรหัส 08 มาแทนเลข 0 เดิมข้างหน้าก่อนที่ที่จะตามด้วยเลขหมายที่เหลือก่อนการโทร. ซึ่งในช่วงแรกอาจเกิดการสับสนขึ้นได้แต่ในระยะยาวก็จะเกิดการเคยชินต่อการใช้และเข้าสู่ภาวะการใช้ได้ปกติ อย่างไรก็ตามหน่วยธุรกิจที่มีค่าใช้จ่ายในการปรับเปลี่ยนหรือปรับปรุงฮาร์ดแวร์และซอฟท์แวร์ ทั้งผู้ใช้บริการที่เป็นอาคารสำนักงาน ธุรกิจเอกชน ธนาคารพาณิชย์ ตลอดจนหน่วยงานรัฐที่มีใช้งานตู้สาขาโทรศัพท์จะต้องมีค่าใช้จ่ายในการปรับปรุงระบบเพื่อให้รองรับกับการโทร.เลขหมายโทรศัพท์เคลื่อนที่ 10 หลักได้ ส่วนผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ก็มีค่าใช้จ่ายในการปรับปรุงฮาร์ดแวร์และซอฟท์แวร์เพื่อให้รองรับการใช้งานได้อย่างปกติ

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เห็นว่า การเพิ่มเลขหมายโทรศัพท์เคลื่อนที่จะส่งผลดีต่อทั้งผู้ใช้บริการและผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่จะมีเลขหมายโทรศัพท์ไว้ใช้งานเพิ่มขึ้นเป็น 100 ล้านเลขหมาย และยังมีเลขหมายสำรองไว้ป้องกันการขาดแคลนเลขหมายเหมือนในช่วงที่ผ่านมา และรองรับการขยายตัวของการใช้บริการเพิ่มขึ้นในอนาคต แต่อย่างไรก็ตามการเพิ่มจำนวนของเลขหมายโทรศัพท์เคลื่อนที่นั้นอาจเป็นเพียงการแก้ปัญหาที่ต้องจัดการควบคู่ไปกับแนวทางอื่นๆ ไปด้วย โดยเฉพาะการหามาตรการมาส่งเสริมให้เกิดการใช้เลขหมายที่มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เพื่อป้องกันการขาดแคลนเลขหมายที่อาจเกิดขึ้นได้อีก