กองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรแถลงผลการดำเนินงาน ปี พ. ศ. 2549

นางจุฬารัตน์ นิรัติศยกุล เลขาธิการสำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร เปิดเผยถึงความคืบหน้าการดำเนินงานของกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรว่า ในปี พ.ศ. 2549 นี้ การดำเนินงาน ตาม พ.ร.บ. กองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร ที่ตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2542 นั้นเริ่มมีความชัดเจนและมีความคืบหน้า เพื่อการช่วยเหลือเกษตรกอย่างเป็นรูปธรรม

โดยด้านการฟื้นฟูเกษตรกรนั้น ได้ประกาศรับแผนและโครงการจากเกษตรกร ไประหว่างวันที่ 9 มิถุนายน จนถึง 12 สิงหาคม พ.ศ. 2549 ปรากฏว่าจนถึงวันนี้มีองค์กรเกษตรกรทั่วประเทศ ที่ส่งโครงการเพื่อขอรับเงินอุดหนุน และขอรับการสนับสนุนเงินกู้อัตราดอกเบี้ยต่ำนั้น จำนวนทั้งสิ้นประมาณ 2,700 โครงการ โดย คิดเป็นมูลค่า 6.2 พันล้านบาท ซึ่งสูงกว่างบประมาณที่กองทุนได้มีตั้งไว้มาก คือเดิมตั้งไว้ที่ประมาณ 600 ล้านบาท อย่างไรก็ตามทางกองทุนฯ จะได้เร่งทำความเข้าใจกับเกษตรกร ถึงสถานการณ์ดังกล่าว โดยเฉพาะหลักเกณฑ์ที่ใช้ในการพิจารณาอนุมัติ ที่จะต้องคำนึงถึงความเดือดร้อน ความเร่งด่วน และความพร้อมขององค์กร ซึ่งสำหรับโครงการที่ไม่ผ่านการพิจารณาในรอบนี้ ทางกองทุนฯ ก็จะได้มีการหารือกับกรรมการบริหารกองทุนเพื่อจัดหางบประมาณต่อไป

ด้านการจัดการหนี้ นั้น นางจุฬารัตน์ กล่าวว่า ขณะนี้มีความคืบหน้ามากพอสมควร ซึ่งในปีนี้ได้ตั้งเป้าหมายที่จะใช้งบประมาณ 1,200 ล้านบาท เพื่อจัดการหนี้เร่งด่วน ที่มีหนี้ค้างชำระและอยู่ในระหว่างดำเนินคดี 5,000 ราย ซึ่งจนถึงขณะนี้ทางกองทุนฯ ได้ดำเนินการซื้อหนี้จากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ และสหกรณ์การเกษตร รวม 400 ราย และจะได้เร่งซื้อหนี้ให้เกษตรกรในจังหวัดต่างๆ อีก กว่า 2,000 ราย ทั้งนี้เป็นที่น่าดีใจที่ในวันนี้ ในเบื้องต้นเกษตรกร จำนวน 3,488 ราย จากเงินจำนวน 1,082 ล้านบาท ซึ่งหนี้ค้างชำระกับธนาคารพาณิชย์ต่ำกว่า 1 ล้านบาท และกำลังอยู่ในระหว่างการดำเนินคดี จะได้รับการลดหนี้จากธนาคาร 50% ของเงินต้นคงค้าง โดยไม่คิดดอกเบี้ย ซึ่งทางกองทุนฯ ได้มีการลงนามบันทึกข้อตกลงกับทางธนาคารสมาชิกสมาคมธนาคารไทย 9 แห่ง ในวันนี้ เพื่อจะได้ดำเนินการชำระหนี้แทนเกษตรกร ต่อไป

สำนักงานกองทุนฟื้นฟูแลพัฒนาเกษตรกร ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2542 ปัจจุบันมีองค์กรเกษตรกร ขึ้นทะเบียนเป็นสมาชิกขอรับการฟื้นฟูจำนวน 50,000 องค์กร หรือประมาณ 6 ล้านคน โดยในจำนวนนี้มีเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนเป็นหนี้ จำนวน 3 แสนราย จาก 5,000 องค์กร

ปัจจุบันมีสำนักงานสาขาทั้งสิ้น 31 แห่ง โดยแต่ละแห่งจะทำหน้าที่ประสานงานการจัดการหนี้ การให้ปรึกษาเกษตรกรในการจัดทำแผนและโครงการ พร้อมกับประสานงานส่งแผนเข้าสู่คณะอนุกรรมการในระดับจังหวัดแล้วนำเสนอการพิจารณาอนุมัติโดยคณะกรรมการบริหารกองทุนฯ ที่สำนักงานใหญ่ กรุงเทพมหานาคร กลั่นกรอง

ในปี พ.ศ. 2549 กองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร ได้จัดเตรียมงบประมาณ จำนวน 1,800 ล้านบาท โดยแบ่งเป็นงบจัดการหนี้จำนวน 1,200 ล้านบาท และงบฟื้นฟู 600 ล้านบาท ในจำนวนนี้เป็นงบอุดหนุนการศึกษาเรียนรู้จำนวน 100 ล้านบาท และเป็นงบสำหรับกู้ยืมดอกเบี้ยต่ำจำนวน 500 ล้านบาท