ไก่และผลิตภัณฑ์ครึ่งหลังปี’49 : ส่งออกชะลอตัว

ในช่วงต้นปี 2549 การส่งออกไก่และผลิตภัณฑ์นับเป็นสินค้าเกษตรที่มีแนวโน้มขยายตัว แต่สถานการณ์เปลี่ยนแปลงไป ผู้ส่งออกของไทยต้องเผชิญกับปัญหาและอุปสรรคหลากหลายประการ กล่าวคือ ประเทศคู่ค้าหลักทั้งญี่ปุ่นและสหภาพยุโรปชะลอการนำเข้าไก่และผลิตภัณฑ์ รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงมาตรการนำเข้าไก่และผลิตภัณฑ์ของสหภาพยุโรปที่จะมีการกำหนดโควตาการนำเข้าตั้งแต่กลางเดือนกันยายนนี้เป็นต้นไป นอกจากนี้ผู้ส่งออกไทยยังเผชิญการแข่งขันที่รุนแรงมากขึ้น และการตรวจพบไข้หวัดนกในบางพื้นที่ทำให้เป็นอุปสรรคในการประกาศให้ไทยเป็นพื้นที่ปลอดหวัดนก ส่งผลให้ไทยยังไม่สามารถกลับมาส่งออกไก่สดแช่เย็นแช่แข็งได้ จากที่เคยคาดการณ์ว่าไทยจะสามารถกลับมาส่งออกไก่สดแช่เย็นแช่แข็งได้ในปีนี้ ทำให้คาดว่าทั้งปริมาณและมูลค่าการส่งออกไก่และผลิตภัณฑ์ในปี 2549 จะต่ำกว่าเป้าหมายที่คาดไว้ แม้ว่าในอนาคตไก่และผลิตภัณฑ์ยังเป็นความหวังที่จะยังมีการขยายตัวของการส่งออกอย่างต่อเนื่อง แต่ประเด็นสำคัญคือไทยต้องเร่งควบคุมไม่ให้เกิดมีการตรวจพบไข้หวัดนก ทั้งนี้เพื่อผลักดันการส่งออกไก่สดแช่เย็นแช่แข็ง การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน โดยต้องพยายามหาทางลดต้นทุนการผลิตไก่เนื้อเพื่อให้สามารถแข่งขันกับประเทศคู่แข่งทั้งรายเก่าและรายใหม่

การผลิต…ปริมาณการผลิตเพิ่ม-ต้นทุนการผลิตทรงตัว
ปริมาณการผลิตระหว่างปี 2549 คาดว่ามีประมาณ 972.24 ล้านตัว(หรือ 1,120 พันตัน) เมื่อเทียบกับปี 2548 ที่มีปริมาณการผลิต 817.24 ล้านตัว(หรือ 950 พันตัน) แล้วเพิ่มขึ้นร้อยละ 19.0(หรือร้อยละ 17.9 โดยน้ำหนัก) เนื่องจากปริมาณการนำเข้าลูกไก่พันธุ์เนื้อมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น อันเป็นผลมาจากสหรัฐฯซึ่งเป็นแหล่งนำเข้าลูกไก่พันธุ์เนื้อที่สำคัญของไทยเพิ่มปริมาณการผลิตเพียงพอกับความต้องการ หลังจากที่มีการลดปริมาณการผลิตในช่วงที่เกิดปัญหาโรคไข้หวัดนกระบาดในภูมิภาคเอเชียในปี 2547 ส่งผลให้ปริมาณการผลิตลูกไก่เนื้อเพิ่มขึ้นเป็นสัปดาห์ละ 16-17 ล้านตัว จากที่เคยมีปริมาณการผลิตเพียงสัปดาห์ละ 14-15 ล้านตัวในช่วงกลางปี 2548

ต้นทุนการผลิตไก่เนื้อในปี 2549 คาดว่าจะอยู่ในระดับ 29.00 บาทต่อกิโลกรัม ซึ่งใกล้เคียงกับในปี 2548 แม้ว่าราคาลูกไก่พันธุ์เนื้อจะมีแนวโน้มลดลง เนื่องจากปริมาณการผลิตที่เพิ่มขึ้น แต่ราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์ในปี 2549 มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ต้นทุนการผลิตไก่เนื้อนั้นแยกเป็นค่าลูกไก่พันธุ์เนื้อ 6.00 บาท(ร้อยละ 20.7) ราคาอาหารสัตว์ 19.00 บาท(ร้อยละ 65.5) ยาและเวชภัณฑ์ 1.00 บาท(ร้อยละ 3.4) และค่าแรงงานและอื่นๆ 3.00 บาท(ร้อยละ 10.3)

การบริโภคในประเทศ…เพิ่มขึ้นจากปีก่อนร้อยละ 6.8
คาดว่าปริมาณการบริโภคไก่เนื้อภายในประเทศปี 2549 เท่ากับ 780 พันตัน เมื่อเทียบกับในปี 2548 ที่มีปริมาณการบริโภค 730 พันตัน แล้วเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.8 แม้ว่าจะเกิดปัญหาการตรวจพบเชื้อไข้หวัดนกในบางพื้นที่ ซึ่งส่งผลกระทบต่อปริมาณการบริโภคไก่ในพื้นที่ดังกล่าวลดลงบ้างในระยะสั้น แต่ก็ไม่ส่งผลต่อปริมาณการบริโภคโดยรวมทั้งประเทศ เนื่องจากไม่ใช่การตรวจพบการแพร่ระบาดในวงกว้างเช่นเดียวกับในปี 2547 และเป็นการตรวจพบในไก่พันธุ์พื้นเมือง เป็ดไล่ทุ่ง และนกกระทา ไม่ใช่ไก่เนื้อที่เลี้ยงในระบบฟาร์ม ผู้บริโภคยังมีความมั่นใจเพิ่มขึ้นในการบริโภคไก่และผลิตภัณฑ์ นอกจากนี้ราคาเนื้อไก่ก็ยังมีราคาถูกกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับเนื้อสัตว์ประเภทอื่นๆ รวมทั้งผู้ส่งออกไก่และผลิตภัณฑ์หันมาขยายตลาดในประเทศทดแทนการส่งออกที่มีแนวโน้มชะลอตัวในปีนี้

ราคาไก่เนื้อที่เกษตรกรขายได้เฉลี่ยเดือนมกราคม-กรกฎาคม 2549 ยังอยู่ในเกณฑ์สูงที่ระดับกิโลกรัมละ 32.76 บาท เทียบกับในช่วงเดียวกันของปี 2548 ที่อยู่ในระดับกิโลกรัมละ 35.59 บาท หรือลดลงร้อยละ 8.0 คาดว่าราคาไก่เนื้อเฉลี่ยทั้งปี 2549 นี้จะลดลงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับปี 2548 เนื่องจากขยายการผลิตเพิ่มขึ้นอันเป็นผลมาจากปริมาณการนำเข้าลูกไก่พันธุ์ ทั้งปู่/ย่าและพ่อ/แม่พันธุ์มีแนวโน้มสูงขึ้นมาตั้งแต่ช่วงปลายปี 2548 ส่งผลให้ปริมาณไก่เนื้อที่ออกสู่ตลาดในช่วงครึ่งหลังปี 2549 มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างมาก ประกอบกับมีการแข่งขันการส่งออกผลิตภัณฑ์ไก่จากประเทศผู้ผลิตรายใหญ่คือ สหรัฐฯ บราซิล และจีน ทำให้ต้องมีการแข่งขันกันในด้านราคา

ตลาดส่งออก…ยังเพิ่มขึ้น แต่มีอัตราชะลอตัวลง
ในช่วง 7 เดือนแรกของปี 2549 ส่งออกไก่และผลิตภัณฑ์เท่ากับ 173,171 ตัน มูลค่า 429.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนแล้วทั้งปริมาณและมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.0 และ 14.9 ตามลำดับ โดยแยกเป็นการส่งออกไก่แปรรูป 424.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯเพิ่มขึ้นร้อยละ 14.8 และการส่งออกไก่สดแช่เย็นแช่แข็ง 5.1 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯเพิ่มขึ้นร้อยละ 27.5 ซึ่งช่วงต้นปี 2549 มีการตั้งเป้าหมายการส่งออกไก่และผลิตภัณฑ์ไว้ที่ 350,000 ตัน มูลค่าน่าจะอยู่ที่ประมาณ 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ แต่คาดว่าการส่งออกจะไม่เป็นไปตามเป้าหมาย โดยปริมาณการส่งออกน่าจะอยู่ที่ประมาณ 300,000 ตันมูลค่า 750 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯเท่านั้น ซึ่งเมื่อเทียบกับในปี 2548 แล้วทั้งปริมาณและมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 10.7 และ 7.7 ตามลำดับ เนื่องจากภาวะการส่งออกชะลอตัวลงมาก โดยมีสาเหตุจากประเทศในกลุ่มสหภาพยุโรปโดยเฉพาะตุรกีเกิดการระบาดของโรคไข้หวัดนก ส่งผลให้ปริมาณการบริโภคเนื้อไก่ในสหภาพยุโรปลดลง รวมทั้งมีการแปรรูปเนื้อไก่ที่ผลิตภายในประเทศเป็นไก่ปรุงสุกเก็บสต็อกไว้รอจำหน่าย กอปรกับประเทศสมาชิกใหม่ของสหภาพยุโรปสามารถผลิตเนื้อไก่ป้อนตลาดภายในกลุ่มสหภาพยุโรปได้เพิ่มขึ้น ความต้องการนำเข้าไก่แปรรูปมีแนวโน้มลดลง ส่วนในญี่ปุ่นมีการกำหนดมาตรการควบคุมป้องกันโรคอย่างเข้มงวด ทำให้การส่งมอบสินค้าเนื้อไก่ล่าช้าออกไปจากกำหนดเดิม กอปรกับปริมาณสต็อกเนื้อไก่มีเพิ่มสูงขึ้น ความต้องการนำเข้ามีแนวโน้มลดลงด้วยเช่นกัน

สถานการณ์ในตลาดส่งออกสำคัญ มีดังนี้
ตลาดญี่ปุ่น ญี่ปุ่นเป็นประเทศนำเข้าไก่และผลิตภัณฑ์ที่มีความสำคัญเป็นอันดับหนึ่ง คาดว่าในปี 2549 การส่งออกไก่และผลิตภัณฑ์ไปยังตลาดญี่ปุ่นมีแนวโน้มชะลอตัว เนื่องจากปริมาณการบริโภคไก่ของคนญี่ปุ่นไม่เพิ่มขึ้น ทำให้ความต้องการนำเข้าลดลง และการแข่งขันที่รุนแรงขึ้นจากจีนและบราซิล โดยคาดว่าในปี 2549 ปริมาณการบริโภคเนื้อไก่และผลิตภัณฑ์ของชาวญี่ปุ่นจะใกล้เคียงกับในปีที่ผ่านมา คืออยู่ในระดับ 1.88 ล้านตัน ทำให้คาดว่าปริมาณความต้องการนำเข้าในปี 2549 อยู่ที่ 720,000 ตันเทียบกับในปีก่อนแล้วลดลงร้อยละ 4.0 โดยแยกเป็นการนำเข้าไก่สดแช่เย็นแช่แข็ง 380,000 ตันเทียบกับปีก่อนแล้วลดลงร้อยละ 9.0 และไก่แปรรูป 340,000 ตันลดลงร้อยละ 3.0 นอกจากนี้ปริมาณสต็อกผลิตภัณฑ์ไก่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ช่วงไตรมาสที่สองของปี 2548 รวมทั้งความไม่ชัดเจนในเวลาที่จะทำข้อตกลงเปิดเขตการค้าเสรีไทย-ญี่ปุ่น ทำให้ผู้ส่งออกไก่และผลิตภัณฑ์ของไทยไม่ได้รับอานิสงส์จากการปรับลดภาษีนำเข้าไก่และผลิตภัณฑ์

การนำเข้าไก่และผลิตภัณฑ์ของญี่ปุ่นนั้น ไก่สดแช่เย็นแช่แข็งนั้นบราซิลครองตลาดถึงร้อยละ 90.0 ในปี 2548 รองลงมาคือสหรัฐฯมีสัดส่วนเพียงร้อยละ 7.0 เท่านั้น เนื่องจากสหรัฐฯมีข้อจำกัดในการส่งออกเนื้อไก่ถอดกระดูก ในขณะที่ตลาดญี่ปุ่นมีความต้องการนำเข้าเนื้อไก่ถอดกระดูก อย่างไรก็ตามญี่ปุ่นเริ่มหันไปนำเข้าจากชิลีและฟิลลิปปินส์เพื่อลดการพึ่งพิงการนำเข้าจากบราซิล ตลาดผลิตภัณฑ์ไก่ส่วนนี้ไทยเคยครองตลาดเป็นอันดับหนึ่ง แต่หลังจากเกิดปัญหาโรคไข้หวัดนกระบาด ญี่ปุ่นห้ามนำเข้าไก่สดแช่เย็นแช่แข็งจากไทย ส่วนไก่แปรรูปนั้นจีนครองตลาดเป็นอันดับหนึ่งด้วยสัดส่วนร้อยละ 54.0 รองลงมาคือ ไทยร้อยละ 44.0 อย่างไรก็ตามไทยต้องระวังประเทศผู้แข่งขันที่กำลังมาแรงคือ บราซิล เกาหลีใต้และสหรัฐฯ เนื่องจากการนำเข้าไก่แปรรูปของญี่ปุ่นจากทั้งสามประเทศนี้มีการขยายตัวอย่างมากในปี 2548

ตลาดสหภาพยุโรป สหภาพยุโรปเป็นตลาดที่มีความสำคัญเป็นอันดับสองของไทย อย่างไรก็ตามมูลค่าการส่งออกไก่แปรรูปไปยังสหภาพยุโรปตั้งแต่ปี 2548 มีอัตราการขยายตัวสูงกว่าการส่งออกไปยังตลาดญี่ปุ่น ทำให้การส่งออกไปยังตลาดสหภาพยุโรปเริ่มมีความสำคัญเพิ่มมากขึ้น แต่ในปี 2549 คาดว่าการส่งออกไปยังสหภาพยุโรปเริ่มชะลอตัว เนื่องจาก

-ปัญหาพิกัดศุลกากรของไก่หมักเกลือ สหภาพยุโรปเก็บภาษีนำเข้าไก่หมักเกลือร้อยละ 15 ไก่แช่แข็งไม่หมักเกลือเสียภาษีร้อยละ 53.0 และไก่ปรุงสุกเสียภาษีร้อยละ10.9 แต่เมื่อไทยและบราซิลส่งไก่ที่มีเกลืออยู่เพียงร้อยละ 1.2-3.0 ทางสหภาพยุโรปกลับคิดอัตราภาษีเป็นไก่แช่แข็ง ทำให้ทั้งไทยและบราซิลยื่นเรื่องอุธรณ์ต่อองค์การการค้าโลก หลังจากนั้นคณะกรรมการไต่สวนข้อพิพาทและคณะกรรมการอุทธรณ์ขององค์การการค้าโลกลงมติเห็นด้วยกับบราซิลและไทยว่าสินค้าเนื้อไก่ตัดแต่งไม่มีกระดูกแช่แข็งที่มีการปนเปื้อนของเกลือในอัตราร้อยละ1.2-3.0 ให้จัดอยู่ในสินค้าประเภทไก่หมักเกลือภายใต้พิกัด 0210 ตลอดจนตัดสินว่าการกระทำของสหภาพยุโรปที่ผ่านมาขัดต่อหลักการตามข้อตกลงขององค์การการค้าโลก อันส่งผลเสียหายต่อประเทศคู่ค้า โดยคณะกรรมการเสนอให้ Dispute Settlement Body :DSB ได้สั่งการสหภาพยุโรปปรับเปลี่ยนกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องให้ถูกต้องตามข้อกำหนดขององค์การการค้าโลก ซึ่งเมื่อวันที่ 27 มิถุนายนที่ผ่านมาสหภาพยุโรปได้ดำเนินการตามมติดังกล่าว โดยออกระเบียบที่ 2687/87 แก้ไขคำจำกัดความของสินค้าเนื้อสัตว์หมักเกลือภายใต้พิกัด 0210 11 ถึง 0210 93 และ 0210 99 ว่าสินค้าเนื้อสัตว์และเครื่องในของเนื้อสัตว์เพื่อการบริโภคหมักเกลือหรือในน้ำเกลือ หมายความถึง สินค้าเนื้อสัตว์และเครื่องในของเนื้อสัตว์ที่มีการผสมเกลืออย่างเป็นเนื้อเดียวกันในทุกส่วน และมีอัตราส่วนของเกลือต่อน้ำหนักในปริมาณร้อยละ 1.2 หรือมากกว่า โดยมีความหมายว่าการหมักเกลือเป็นการถนอมสินค้าไว้ในระยะเวลานานขึ้น ซึ่งผู้ส่งออกไก่และผลิตภัณฑ์ของไทยจะได้ประโยชน์จากมาตรการดังกล่าว และจะได้รับชดเชยค่าเสียหายที่เกิดขึ้นจากสหภาพยุโรปด้วย

อย่างไรก็ตามในกรณีที่ตั้งแต่วันที่ 15 กันยายนนี้เป็นต้นไป สหภาพยุโรปปรับภาษีในสินค้าไก่แปรรูป ไก่หมักเกลือและไก่งวงที่นำเข้าจากทั่วโลกเพื่อคุ้มครองผู้ผลิตในประเทศ โดยหากนำเข้าในโควตาจะเสียภาษีนำเข้าร้อยละ 10.9 นอกโควตาภาษีร้อยละ 53.0 จากเดิมที่สินค้าไก่ปรุงสุกคิดอัตราภาษีร้อยละ 10.9 ไก่หมักเกลือร้อยละ15.4 และเนื้อไก่งวงร้อยละ 8.5 คาดว่าไทยจะได้โควตาไม่เกิน 2 แสนตัน การขึ้นภาษีดังกล่าวส่งผลให้การส่งออกไก่ปรุงสุกไปอียูลดลง เพราะมีต้นทุนสูงขึ้นและเสียเปรียบคู่แข่ง โดยเฉพาะบราซิล ซึ่งเป็นผู้ส่งออกไก่ไปอียูอันดับ 1 และส่งออกได้ทั้งไก่สดและไก่ปรุงสุก เพราะไม่มีปัญหาไข้หวัดนก

-ขยายเวลาห้ามนำเข้าสัตว์ปีก ผู้เชี่ยวชาญด้านปศุสัตว์ของสหภาพยุโรปอนุญาตให้ขยายเวลาการห้ามนำเข้าสัตว์ปีกที่จะหมดอายุลงในสิ้นเดือนนี้ออกไปจนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2549 นี้ ซึ่งมาตรการดังกล่าวทำให้การห้ามนำเข้าผลิตภัณฑ์จากสัตว์ปีกจากจีน มาเลเซีย และไทยยังมีผลต่อไปจนถึงวันที่ 31 ธันวาคมปี 2550 เท่ากับว่าไทยยังคงส่งออกได้เพียงไก่แปรรูป และยังไม่สามารถส่งออกไก่สดแช่เย็นแช่แข็งได้

สำหรับปัญหาสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อการส่งออกไก่และผลิตภัณฑ์ในปี 2549 นอกจากสถานการณ์การผลิตและมาตรการของประเทศคู่ค้าแล้ว ไทยยังต้องเผชิญกับการแข่งขันที่รุนแรงมากขึ้นในตลาดส่งออกสำคัญ คู่แข่งที่ต้องจับตามอง มีดังนี้

จีน จีนเป็นคู่แข่งที่น่าจับตามองในการส่งออกไก่แปรรูป เนื่องจากจีนประสบปัญหาการแพร่ระบาดของโรคไข้หวัดนก และประเทศผู้นำเข้ายังคงประกาศห้ามนำเข้าไก่สดแช่เย็นแช่แข็งจากจีนเช่นเดียวกับไทย ทำให้จีนหันไปเน้นการส่งออกไก่แปรรูป ดังนั้นผลิตภัณฑ์ไก่จากจีนจึงมาแย่งตลาดไก่แปรรูปของไทย คาดว่าในปี 2549 ปริมาณการผลิตไก่เนื้อของจีนเท่ากับ 10.4 ล้านตัน เมื่อเทียบกับในปี 2548 ที่มีปริมาณการผลิต 10.2 ล้านตัน แล้วเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.0 โดยผลผลิตไก่เนื้อของจีนลดลงจากการประมาณการ เนื่องจากปัญหาไข้หวัดนก ในขณะที่คาดว่าในปี 2549 การบริโภคเนื้อไก่ในจีนเท่ากับ 10.2 ล้านตัน ซึ่งใกล้เคียงกับในปี 2548 ดังนั้นจีนจึงยังคงต้องนำเข้าผลิตภัณฑ์ไก่เพื่อตอบสนองความต้องการบริโภคในประเทศ โดยเฉพาะปีกไก่ เท้าไก่ และเครื่องใน ซึ่งประเทศที่ครองตลาดนำเข้าคือ สหรัฐฯ บราซิล อาร์เจนตินาร์ ชิลี แคนาดาและไทย ซึ่งการส่งออกของไทยไปจีนยังน้อยมาก เมื่อเทียบกับประเทศคู่แข่ง เนื่องจากไทยมีการบริโภคในประเทศด้วยเช่นกัน

แม้ว่าจีนยังต้องพึ่งพิงการนำเข้าปีกไก่ เท้าไก่และเครื่องใน แต่จีนก็เป็นคู่แข่งในการส่งออกไก่แปรรูปที่สำคัญของไทย โดยเฉพาะในตลาดญี่ปุ่นที่จีนเข้าไปครองตลาดเป็นอันดับหนึ่งอยู่ในปัจจุบัน คาดว่าในปี 2549 ปริมาณการส่งออกผลิตภัณฑ์ไก่ของจีนเท่ากับ 470,000 ตัน เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมาแล้วเพิ่มขึ้นร้อยละ 31.0 โดยเน้นการส่งออกไปยังญี่ปุ่นและฮ่องกง ซึ่งโรงงานที่ผลิตผลิตภัณฑ์ไก่ส่งออกในจีน 35 โรงงานได้รับการจดทะเบียนรับรองว่าปลอดจากไข้หวัดนกและสามารถส่งออกไปญี่ปุ่นได้ นอกจากนี้จีนยังมีข้อได้เปรียบไทยคือ ต้นทุนวัตถุดิบอาหารสัตว์ ทำให้จีนสามารถแย่งตลาดไทยไปได้บางส่วน นอกจากนี้ถ้าในอนาคตทางองค์การโรคระบาดสัตว์ระหว่างประเทศรับรองการปลอดโรคไข้หวัดนกให้กับจีน ซึ่งเท่ากับว่าจีนจะกลับมาเป็นคู่แข่งที่น่ากลัวของไทยในการแย่งกันกลับเข้าตลาดไก่สดแช่เย็นแช่แข็ง

บราซิล ซึ่งถือว่าเป็นคู่แข่งสำคัญของไทยทั้งไก่สดแช่เย็นแช่แข็ง และไก่แปรรูป ในปี 2549 บราซิลยังคงขยายปริมาณการผลิตไก่เนื้อเป็น 10 ล้านตัน เทียบกับในปี 2548 ซึ่งมีปริมาณการผลิต 9.4 ล้านตันแล้วเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.4 ทั้งนี้เนื่องจากปริมาณการบริโภคเนื้อไก่ในประเทศขยายตัว อันเป็นผลมาจากกำลังซื้อของประชาชนเพิ่มขึ้นตามอัตราการจ้างงานที่เพิ่มขึ้น และเนื้อไก่ก็เป็นแหล่งโปรตีนที่มีราคาถูกเมื่อเปรียบเทียบกับเนื้อสัตว์ประเภทอื่นๆ นอกจากนี้การขยายการส่งออกได้อย่างต่อเนื่อง อันเป็นผลมาจากบราซิลยังไม่มีปัญหาการแพร่ระบาดของไข้หวัดนก รวมทั้งการสนับสนุนของรัฐบาลในการเจาะขยายการส่งออกในตลาดใหม่ อุปสรรคสำคัญของธุรกิจไก่เนื้อของบราซิล คือ ค่าเงินที่แข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่อง และนโยบายเพิ่มอัตราดอกเบี้ย ซึ่งส่งผลทำให้ต้นทุนการผลิตไก่เนื้อมีแนวโน้มสูงขึ้น ทำให้อัตราผลกำไรของธุรกิจไก่เนื้อมีแนวโน้มลดลง อย่างไรก็ตามคาดว่าในปี 2549 คาดว่าปริมาณการส่งออกไก่และผลิตภัณฑ์ของบราซิลประมาณ 3 ล้านตัน เมื่อเทียบกับปี 2548 เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.0 ซึ่งอัตราการขยายตัวของการส่งออกผลิตภัณฑ์ไก่นับว่าชะลอตัวลง เนื่องจากผู้บริโภคในประเทศนำเข้าเริ่มชะลอการบริโภคเนื้อไก่ อันเป็นผลมาจากการแพร่ระบาดของโรคไข้หวัดนก กล่าวคือ ในปี 2548 การส่งออกไก่และผลิตภัณฑ์ของบราซิลเท่ากับ 2.85 ล้านตัน มูลค่า 3,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เมื่อเทียบกับปี 2547 แล้วทั้งปริมาณและมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 15.2 และ 34.6 ตามลำดับ

ความสำเร็จส่วนหนึ่งของการขยายการส่งออกไก่และผลิตภัณฑ์ เนื่องจากบราซิลหันมาเน้นนโยบายเน้นการเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ โดยการหันมาเน้นการส่งออกไก่แยกชิ้น(Broiler Parts)และไก่แปรรูปแทนการส่งออกไก่ทั้งตัว ซึ่งทำให้บราซิลขยายการส่งออกได้เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะตลาดญี่ปุ่นและสหภาพยุโรปหันมานำเข้าไก่แยกชิ้นจากบราซิลมากขึ้น ส่วนไก่แปรรูปของบราซิลก็สามารถเจาะตลาดสหภาพยุโรปได้มากขึ้นเช่นกัน นอกจากนี้บราซิลยังประสบความสำเร็จในการขยายตลาดในตะวันออกกลางโดยเฉพาะซาอุดิอาระเบีย และยังขยายการส่งออกไปรัสเซียได้เพิ่มขึ้นด้วย แม้ว่ารัสเซียจะมีการกำหนดโควตานำเข้าที่เข้มงวดก็ตาม

แนวโน้มในอนาคต…ยังขยายตัวต่อเนื่องใน 3-5 ปีข้างหน้า
ผู้ผลิตและผู้ส่งออกไก่เนื้อและผลิตภัณฑ์คาดการณ์ว่าธุรกิจส่งออกไก่เนื้อและผลิตภัณฑ์ของไทยมีแนวโน้มขยายตัวอย่างต่อเนื่องต่อไปอีก 3-5 ปี ทั้งนี้เนื่องจากในอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ไก่เนื้อในปัจจุบันยังคงมีกำลังการผลิตส่วนเกินอยู่ประมาณร้อยละ 30.0 ของกำลังการผลิตทั้งหมด เนื่องจากฟาร์มเลี้ยงเหล่านี้มีการขยายปริมาณการเลี้ยงก่อนที่จะเกิดปัญหาโรคไข้หวัดนกระบาดในปี 2547 ดังนั้นบรรดาฟาร์มเหล่านี้ยังสามารถขยายกำลังการผลิตเพื่อตอบสนองความต้องการบริโภคภายในประเทศและการส่งออกที่เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตามเงื่อนไขสำคัญในการผลักดันการส่งออกไก่และผลิตภัณฑ์ คือ

-การยกเลิกข้อจำกัดในการส่งออกไก่สดแช่เย็นแช่แข็ง ซึ่งหมายถึงการที่ไทยจะต้องควบคุมไม่ให้เกิดมีการระบาดของโรคไข้หวัดนก และทางองค์การโรคระบาดสัตว์ระหว่างประเทศประกาศให้ไทยเป็นเขตปลอดไข้หวัดนก ซึ่งเท่ากับเป็นการปลดล็อคให้ไทยสามารถส่งออกไก่สดแช่เย็นแช่แข็งได้ หลังจากนั้นผู้ส่งออกไก่และผลิตภัณฑ์ของไทยต้องกลับเข้าตลาดและแย่งส่วนแบ่งตลาดที่เสียไปกลับคืนมาจากบราซิล

-การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ปัจจุบันประเทศคู่แข่งขันของไทยเริ่มหันมาพัฒนาเพิ่มมูลค่าสินค้าโดยเฉพาะการตัดแต่งแยกชิ้นส่วนไก่ และไก่แปรรูป ซึ่งเดิมนั้นไทยเคยมีความได้เปรียบในสินค้าประเภทนี้ ดังนั้นไทยต้องหาแนวทางใหม่ในการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ซึ่งน่าจะเป็นการลดต้นทุนการผลิตไก่เนื้อ โดยเฉพาะต้นทุนด้านวัตถุดิบอาหารสัตว์ ซึ่งเป็นต้นทุนสำคัญในการเลี้ยงไก่เนื้อ ปัจจุบันปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ไทยเสียเปรียบในการแข่งขันก็เนื่องจากต้นทุนวัตถุดิบอาหารสัตว์ของไทยแพงกว่าประเทศคู่แข่งขัน คาดว่าในอนาคตต้นทุนวัตถุดิบอาหารสัตว์มีแนวโน้มสูงขึ้น อันเป็นผลมาจากการที่หลายประเทศเริ่มหันมาใช้วัตถุดิบอาหารสัตว์ไปเป็นวัตถุดิบในการผลิตพลังงานทดแทน ทำให้ปริมาณวัตถุดิบอาหารสัตว์ในตลาดโลกมีแนวโน้มลดลง นอกจากนี้เนื้อที่ปลูกวัตถุดิบอาหารสัตว์ของไทยมีแนวโน้มลดลง เนื่องจากเกษตรกรหันไปปลูกพืชอื่นๆที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่า

-ขยายตลาดส่งออก ไทยต้องเร่งหาตลาดส่งออกไก่และผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ทั้งนี้เพื่อลดการพึ่งพิงตลาดญี่ปุ่นและสหภาพยุโรป โดยตลาดที่น่าสนใจคือ ตลาดตะวันออกกลาง โดยเงื่อนไขสำคัญก็คือความมั่นใจในตรารับรองอาหารฮาลาลของไทย ตลาดรัสเซีย และยูเครน ซึ่งทั้งสองตลาดนี้อาจจะต้องทำในลักษณะการค้าต่างตอบแทน

บทสรุป
บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด คาดการณ์ว่าการส่งออกไก่และผลิตภัณฑ์ในปี 2549 นี้จะต่ำกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ในช่วงต้นปี โดยคาดว่าปริมาณการส่งออกน่าจะอยู่ที่ประมาณ 300,000 ตันมูลค่า 750 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯเท่านั้น ซึ่งเมื่อเทียบกับในปี 2548 แล้วทั้งปริมาณและมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 10.7 และ 7.7 ตามลำดับ ผู้ส่งออกไก่และผลิตภัณฑ์ต้องเผชิญกับปัญหาหลากหลายประการ โดยเฉพาะประเทศคู่ค้าชะลอการนำเข้า การแข่งขันที่รุนแรงจากประเทศคู่แข่งทำให้ต้องมีการแข่งขันกันในด้านราคาส่งออก รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงมาตรการของประเทศคู่ค้าที่ส่งผลกระทบต่อการส่งออก คาดว่าในปี 2550 ผู้ส่งออกไก่และผลิตภัณฑ์ยังต้องเผชิญปัญหาเหล่านี้ต่อไป และมีแนวโน้มว่าปัญหาจะทวีความรุนแรงมากขึ้น แม้ว่าผู้ส่งออกจะมั่นใจว่าการส่งออกไก่และผลิตภัณฑ์จะยังสามารถขยายตัวได้อย่างต่อเนื่องในระยะ 3-5 ปี แต่ก็ต้องเร่งผลักดันในเรื่องการยกเลิกข้อจำกัดในการส่งออกไก่สดแช่เย็นแช่แข็ง การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน โดยการลดต้นทุนการผลิตไก่เนื้อ โดยเฉพาะต้นทุนด้านวัตถุดิบอาหารสัตว์ เนื่องจากเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ไทยเสียเปรียบในการแข่งขัน และการเร่งขยายตลาดส่งออกโดยตลาดที่น่าสนใจคือ ตลาดตะวันออกกลาง ตลาดรัสเซีย และยูเครน