ข้อสังเกต เกี่ยวกับการจัดอันดับมหาวิทยาลัยของสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.)

ด้วยคณะกรรมการบริหาร สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ในคราวประชุมเมื่อวันที่ 1 กันยายน 2549 มีมติไม่ยอมรับเกี่ยวกับรายงานผลการจัดอันดับเพื่อประเมินศักยภาพของมหาวิทยาลัยไทย ปี 2548 ด้านการเรียนการสอนและด้านการวิจัยของสำนักงานคณะกรรมการ การอุดมศึกษา และให้สถาบัน โดยมีเหตุผล ดังนี้

1. ข้อมูลการจำแนกคณะตามกลุ่มสาขาวิชา หลายกลุ่มสาขาวิชาไม่สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริง ตัวอย่าง เช่น คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรมของมหาวิทยาลัยต่าง ๆ คณะผู้วิจัยเอกสารของสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา ได้จัดอันดับไว้ในกลุ่มสาขามนุษยศาสตร์และศิลปศาสตร์ โดยไม่สอบถามความเห็นของมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ซึ่งในความเป็นจริงควรจัดอยู่ในกลุ่มสาขาศึกษาศาสตร์หรือกลุ่มเทคโนโลยี เนื่องจากเป็นคณะที่ผลิตครูช่าง ซึ่งมีการจัดการเรียนการสอนทั้งวิชาชีพครู และเน้นการสอนวิชาเทคโนโลยีเฉพาะทางในโรงฝึกงานและห้องปฏิบัติการผสมผสานกันในหลักสูตรเป็นส่วนใหญ่ ดังนั้นสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษาควรสอบถามกับมหาวิทยาลัยก่อนว่า ถูกต้องหรือไม่ อย่างไร ซึ่งนักวิจัยระดับชาติอาจไม่เข้าใจ เพราะไม่ได้สัมผัสกับการจัดการเรียนการสอนในกลุ่มสาขาวิชาดังกล่าวของมหาวิทยาลัย

2. ข้อมูลตำแหน่งทางวิชาการของอาจารย์ การนับเฉพาะตำแหน่งศาสตราจารย์ไม่สะท้อนสภาพความเป็นจริงและวัฒนธรรมของมหาวิทยาลัยไทยที่มีตำแหน่งทางวิชาการทั้งผู้ช่วยศาสตราจารย์ และรองศาสตราจารย์ ควรนับคะแนนโดยให้น้ำหนักลดหลั่นลงไปในช่วง 3 ปีแรกก่อนมีการประกาศนับคะแนนเฉพาะตำแหน่งศาสตราจารย์ รวมทั้งหนังสือ/ตำราด้านกฎหมายไทย ภาษาไทย สังคมไทยหรือรัฐศาสตร์ เป็นต้น ซึ่งต้องเขียนเป็นภาษาต่างประเทศนั้น ไม่สอดคล้องกับสภาพการเรียนการสอนของมหาวิทยาลัยไทย การนำเกณฑ์การจัดอันดับของมหาวิทยาลัยชั้นนำในต่างประเทศมาใช้ทั้งหมด จะเกิดความไม่เสมอภาคกับมหาวิทยาลัยเอกชน มหาวิทยาลัยใหม่ และมหาวิทยาลัยที่ไม่ได้เปิดสอนด้านการแพทย์และวิทยาศาสตร์สุขภาพ ซึ่งถ้าจะใช้เกณฑ์ดังกล่าว ควรจะมีการตกลงกันล่วงหน้า 1 ปี เพื่อให้ทุกมหาวิทยาลัยได้เตรียมตัว มิใช่ดำเนินการเลยทันที โดยไม่ตกลงกติกาให้ทราบล่วงหน้าก่อน 1 ปี สำหรับการใช้เกณฑ์ในการประเมินที่ไปเอามาจากหน่วยงานประเมินในต่างประเทศ การจะปฏิรูปการอุดมศึกษาของไทยด้วยวิธีการจัดอันดับมหาวิทยาลัยเป็นสิ่งที่ดี แต่ควรจะมีช่วงระยะเวลาการเตรียมตัวและค่อยเป็นค่อยไปด้วยความรอบคอบในด้านฐานข้อมูลและตัวชี้วัด รวมทั้งการวิเคราะห์ข้อมูลจากเอกสารที่ให้ส่งทาง On-line เป็นการใช้ข้อมูลทางเดียวแบบฉุกละหุก เมื่อทำแล้วจึงเกิดความผิดพลาด เพราะคิดเอง ทำเองจากความรู้สึก โดยอ้างว่ามหาวิทยาลัยต่างประเทศเขาทำกันมานานแล้ว มหาวิทยาลัยไทยจะล้าหลังถ้าไม่จัดอันดับ ซึ่งเป็นผลเสียมากกว่าผลดี ทำให้เกิดความผิดพลาดที่หาคนรับผิดชอบไม่ได้ โดยมหาวิทยาลัยใหม่อย่างน้อย 6 แห่งที่มีเครื่องมือ/เครื่องจักรและอุปกรณ์การเรียนการสอน รวมทั้งจำนวนอาจารย์ผู้สอนและตำแหน่งทางวิชาการ ยังไม่ได้ตามเกณฑ์มาตรฐานระดับอุดมศึกษาของสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา และสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (องค์การมหาชน) เพราะเพิ่งก่อตั้งใหม่และยังไม่ได้จัดโครงสร้างระดับคณะในปีการศึกษา 2548 แต่กลับถูกจัดอันดับให้สูงกว่ามหาวิทยาลัยที่ไปช่วยผลิตครู-อาจารย์ระดับปริญญาโทและปริญญาเอกให้ในปัจจุบัน จึงน่าจะผิดพลาดในเรื่องการให้ข้อมูล และการใช้เกณฑ์การประเมิน ซึ่งคงหาคนรับผิดชอบในสิ่งที่เกิดขึ้นไม่ได้

3. ข้อมูลเรื่องหนังสือ/ตำรา จากการที่คณะผู้วิจัยเอกสารของสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา ได้ให้สัมภาษณ์ในรายการ “ถึงลูกถึงคน” เมื่อคืนวันที่ 31 สิงหาคม 2549 ว่าได้นับหนังสือ/ตำราที่เป็นภาษาไทยด้วย แต่ในข้อเท็จจริงคือ ในเอกสารคำแนะนำการกรอกข้อมูลของคณะผู้วิจัยเอกสาร ข้อ 17 ระบุให้กรอกข้อมูลเฉพาะจำนวนหนังสือ/ตำราที่เขียนเป็นภาษาต่างประเทศเท่านั้น โดยให้ส่งทาง On-line เท่านั้น จึงทำให้มหาวิทยาลัยหลายแห่งไม่ได้กรอกข้อมูลหนังสือ/ตำรา ที่เป็นภาษาไทย เพราะสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษาได้กำหนดเกณฑ์ไปแล้วว่า รับเฉพาะหนังสือ/ตำราภาษาต่างประเทศ ซึ่งตรงกับการคัดค้านไม่เห็นด้วยของอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และอีกหลายมหาวิทยาลัย

4. จากเอกสารประกอบการสัมมนาของสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษาเรื่อง การรายงานการจัดอันดับจากระบบฐานข้อมูล On-line เพื่อประเมินศักยภาพของมหาวิทยาลัยไทย เมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2549 ที่โรงแรมแอมบาสเดอร์นั้น การประมวลผลของสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษายังไม่ถูกต้อง แต่รีบเผยแพร่ก่อนการสัมมนา ทั้ง ๆ ที่ข้อมูลผิดพลาดมาก ได้แก่ ด้านการเรียนการสอน มีความผิดพลาด ดังนี้

4.1 การจัดอันดับของกลุ่มสาขาชีวการแพทย์ จากการสัมมนาของสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา เมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2549

– ลำดับที่ 1 คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล Faculty Resources คะแนนเต็ม 20% แต่คะแนนที่ได้สูงกว่าคะแนนเต็ม คือได้ 21.08% ซึ่งมีความผิดพลาดในการวิเคราะห์ข้อมูล เพราะเกินเกณฑ์ที่ตั้งไว้ทำให้การวิเคราะห์ข้อมูลไม่น่าเชื่อถือ

– ลำดับที่ 2 คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล Quality of Education คะแนนเต็ม 10% แต่คะแนนที่ได้สูงกว่าคะแนนเต็ม คือได้ 10.19% ซึ่งเกินเกณฑ์ที่ตั้งไว้
– ลำดับที่ 3 คณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล Internationality คะแนนเต็ม 10% แต่คะแนนที่ได้สูงกว่าคะแนนเต็ม คือได้ 11.74% ซึ่งเกินเกณฑ์ที่ตั้งไว้

– ลำดับที่ 4 คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น Quality of Education คะแนนเต็ม 10% แต่คะแนนที่ได้สูงกว่าคะแนนเต็ม คือได้ 14.57% ซึ่งไม่น่าจะผิดพลาดมากขนาดนี้

4.2 การจัดอันดับของกลุ่มสาขามนุษยศาสตร์และศิลปศาสตร์
– ลำดับที่ 1 คณะมัณฑนศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร Quality of Education คะแนนเต็ม 10% แต่คะแนนที่ได้สูงกว่าคะแนนเต็ม คือได้ 11.63% ซึ่งเกินเกณฑ์ที่ตั้งไว้

4.3 การจัดอันดับของกลุ่มสาขาสังคมศาสตร์
– ลำดับที่ 1 คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ Financial Resources
คะแนนเต็ม 20% แต่คะแนนที่ได้สูงกว่าคะแนนเต็ม คือได้ 30.36% ซึ่งไม่น่าจะผิดพลาดมากขนาดนี้

– ลำดับที่ 2 สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจ ศศินทร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
Internationality คะแนนเต็ม 10% แต่คะแนนที่ได้สูงกว่าคะแนนเต็ม คือได้ 12.34% ซึ่งไม่น่าจะผิดพลาดมากขนาดนี้

ดังนั้น การประมวลผลข้อมูลของคณะผู้วิจัยเอกสารของสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา จึงไม่น่าเชื่อถือ แม้ที่ประชุมจะทักท้วงแล้วก็ตาม แต่ผู้รับผิดชอบก็ยืนยันที่จะไม่แก้ไข เพราะได้แถลงข่าวไปแล้วก่อนหน้านี้ จึงไม่สามารถแก้ไขได้ รวมทั้งได้แจ้งว่า มหาวิทยาลัยไหนที่กรอกข้อมูลทาง On-line ครบถ้วนก็จะได้คะแนนมาก ส่วนมหาวิทยาลัยไหนที่กรอกข้อมูลไม่ครบถ้วนก็จะได้คะแนนน้อย ซึ่งไม่น่า จะกล่าวเช่นนั้นต่อที่ประชุมสัมมนา ในวันพฤหัสบดีที่ 31 สิงหาคม 2549 ณ โรงแรมแอมบาสเดอร์ กรุงเทพฯ

จากข้อมูลคะแนนประมวลผลที่ผิดพลาดดังกล่าว ซึ่งเป็นการวิจัยเอกสารแบบขอข้อมูลเอกสารจากมหาวิทยาลัยโดยวิธี On-line ทางเดียว โดยไม่เคยมาเห็นสภาพการจัดการเรียนการสอนที่แท้จริง ไม่เคยสัมภาษณ์ผู้บริหาร ครูผู้สอน นักศึกษาในเรื่องการเรียนการสอน ศิษย์เก่าที่ประสบความสำเร็จในการประกอบอาชีพ สิ่งอำนวยความสะดวกที่ให้บริการนักศึกษา และความพึงพอใจในคุณภาพของนักศึกษาจากนายจ้างและชุมชน รวมทั้งไม่ได้ใช้หลักเกณฑ์การประเมินที่ครอบคลุมพันธกิจของมหาวิทยาลัย อาจส่งผลดังนี้

1. การจัดอันดับกลุ่มสาขาวิชา มีความผิดพลาดไม่ตรงกับสภาพความเป็นจริง

2. จากผลการจัดอันดับกลุ่มมหาวิทยาลัยที่ไม่มีหลักเกณฑ์การประเมินที่ถูกต้อง เหมาะสม ส่งผลให้หลายมหาวิทยาลัยที่ยังไม่ผ่านเกณฑ์มาตรฐานระดับอุดมศึกษา ในด้านความพร้อมของจำนวนอาจารย์ผู้สอนและตำแหน่งทางวิชาการ รวมทั้งเครื่องมือ/เครื่องจักรและอุปกรณ์การเรียนการสอน เนื่องจากอยู่ในระหว่างการปรับโครงสร้างระดับคณะของมหาวิทยาลัยที่เพิ่งก่อตั้งใหม่ แต่กลับได้รับการจัดอันดับให้อยู่ในกลุ่มที่สูงกว่ามหาวิทยาลัยที่ผ่านเกณฑ์มาตรฐานระดับอุดมศึกษา ซึ่งเรื่องนี้คงหาคนรับผิดชอบไม่ได้

3. การทำอะไรรีบร้อน ไม่หารือและไม่ฟังข้อคิดเห็นของมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ก่อนดำเนินการ จนเกิดความผิดพลาดนั้นจะไม่เป็นผลดีต่อการทำงานทางวิชาการร่วมกันระหว่างสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา และมหาวิทยาลัยของรัฐและเอกชน ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการปฏิรูปการศึกษา

ดังนั้น คณะกรรมการบริหาร สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ จึงมีความเห็นว่า แม้ว่าการจัดอันดับมหาวิทยาลัยไทยเป็นเรื่องที่ดีก็ตาม แต่การทำแบบฉุกละหุกโดยได้รับข้อมูลไม่ถูกต้อง ครบถ้วน และไปใช้เกณฑ์ของต่างประเทศมาใช้ประเมินทั้งหมด ไม่คำนึงถึงข้อจำกัดด้านสภาพแวดล้อมในการจัดการศึกษาและวัฒนธรรมของมหาวิทยาลัยต่าง ๆ และมหาวิทยาลัยที่เพิ่งตั้งใหม่ ควรให้ทุกมหาวิทยาลัยได้มีการเตรียมความพร้อมและมีความเข้าใจถึงเกณฑ์หรือกติกาใหม่ที่จะใช้อย่างน้อย 1 ปี ซึ่งรูปแบบการทำวิจัยเพื่อการจัดอันดับมหาวิทยาลัยของสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษาที่เหมาะสม น่าจะมีการเยี่ยมชมภารกิจและรับทราบพันธกิจของแต่ละมหาวิทยาลัยสำหรับนำมาจัดกลุ่มสาขาวิชาให้ถูกต้อง อีกทั้งการประเมินผลจากฝ่ายเดียวและมั่นใจว่าข้อมูลการวิเคราะห์ถูกต้อง โดยไม่คำนึงถึงพันธกิจของมหาวิทยาลัยไทย ซึ่งมิได้มีเพียงแค่การเรียนการสอนและการวิจัยเท่านั้น แต่ยังต้องมีพันธกิจอื่น ๆ อีก เช่น การให้บริการวิชาการแก่สังคม และชุมชนเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศให้มั่นคง รวมทั้งต้องธำรงรักษา ทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรมของชาติให้ดำรงไว้อย่างยั่งยืน เป็นต้น การให้น้ำหนักคะแนนอาจจะลดหลั่นลงไป เพื่อให้ครบพันธกิจของมหาวิทยาลัยไทยทุกแห่ง อย่างไรก็ตามในปัจจุบันนี้มหาวิทยาลัยทุกแห่งยอมรับมาตรฐานการประเมินเพื่อประกันคุณภาพการศึกษาของสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (องค์การมหาชน) หรือ สมศ.เท่านั้น เพราะเป็นองค์กรกลางที่มีมาตรฐานการดำเนินงานที่เป็นระบบและเข้าใจพันธกิจของมหาวิทยาลัยเป็นอย่างดี

สำนักงานอธิการบดี
โทรศัพท์ 0-2587-4340
โทรสาร 0-2587-4350