จากการดำเนินนโยบายการเงินที่เข้มงวดของธนาคารแห่งประเทศไทยในช่วงกว่า 2 ปีที่ผ่านมา เพื่อควบคุมเงินเฟ้อ ด้วยการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย R/P 14 วันถึง 375 bps. ซึ่งเป็นการปรับเพิ่มสูงกว่าประเทศ อื่น ๆ ในภูมิภาคที่มีการปรับอัตราดอกเบี้ยเฉลี่ยในช่วง 100-300 bps. และได้ส่งผลเป็นรูปธรรมอย่างชัดเจน เพราะอัตราเงินเฟ้อได้ปรับลดลงอย่างมาก และมีแนวโน้มที่ชะลอลงอีกในช่วงที่เหลือของปีจากการชะลอลงของราคาน้ำมัน ซึ่งเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้ ฝ่ายวิจัย คาดว่า กนง.จะยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับร้อยละ 5.0 ในการประชุม 2 ครั้งสุดท้ายของปีนี้ ในวันที่ 18 ตุลาคม และวันที่ 13 ธันวาคม โดยมีปัจจัยสนับสนุน ดังนี้
– แรงกดดันด้านเงินเฟ้อลดลง จากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือนกันยายนที่ชะลอลงมาอยู่ที่ระดับต่ำสุดในรอบกว่า1 ปีที่ร้อยละ 2.7 และอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานทรงตัวอยู่ที่ร้อยละ 1.9 เป็นเวลา 2 เดือนติดต่อกัน ทั้งนี้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ย 9 เดือนอยู่ที่ระดับร้อยละ 5.2 และคาดว่าอัตราเงินเฟ้อในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากการปรับเพิ่มขึ้นของราคาที่สูงในปีที่แล้ว ประกอบกับการชะลอลงของราคาน้ำมันดิบนำเข้า
– การเติบโตของเศรษฐกิจชะลอลง เนื่องจากจากราคาน้ำมันและอัตราดอกเบี้ยที่ปรับสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้อุปสงค์ภาคเอกชนชะลอตัวอย่างมาก และเป็นปัจจัยที่ส่งผลให้เศรษฐกิจชะลอตัวลง โดยตัวเลขเศรษฐกิจล่าสุดในเดือนสิงหาคมยังคงให้ภาพที่ชะลอลงต่อเนื่องจากเดือนก่อน ทั้งการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน เชื่อว่าการไม่ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในภาวะที่สถานการณ์ทางการเมืองคลี่คลายไปในทางที่ดี จะเป็นปัจจัยหนุนทำให้ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคปรับตัวดีขึ้น รวมทั้งผู้ประกอบการมั่นใจที่จะขยายการลงทุน ซึ่งจะเป็นผลดีต่อแนวโน้มการขยายตัวของเศรษฐกิจในระยะต่อไป
– ค่าเงินบาทมีเสถียรภาพมากขึ้น การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอย่างต่อเนื่อง มีส่วนทำให้เงินบาทปรับตัวในทิศทางที่แข็งค่า โดยในช่วง 9 เดือนของปีนี้ เงินบาทแข็งค่าขึ้นมากกว่าร้อยละ 9 จากช่วงปลายปีที่ผ่านมา หากมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีกจะยิ่งทำให้ค่าเงินบาทแข็งค่ามากขึ้น และส่งผลกระทบต่อภาคการส่งออก ที่ยังคงเป็นปัจจัยหลักในการขับเคลื่อนของเศรษฐกิจ
– แนวโน้มนโยบายการเงินของสหรัฐฯ จากสัญญาณการชะลอตัวของตลาดอสังหาริมทรัพย์ชัดเจนมากขึ้น และการว่างงานยังอยู่ในระดับสูง ขณะที่ราคาน้ำมันที่ปรับลดลงอยู่ในระดับ 58-60 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล จะช่วยลดแรงกดดันด้านเงินเฟ้อให้ผ่อนคลายลง จึงคาดว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ น่าจะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับเดิมไว้ที่ร้อยละ 5.25 ในการประชุมเดือนตุลาคมนี้ หลังจากไม่ปรับขึ้นมาแล้ว 2 ครั้งในการประชุมที่ผ่านมา ซึ่งทำให้ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยของไทยและสหรัฐฯคงที่ณ ระดับร้อยละ 0.25
ทั้งนี้ หากราคาน้ำมันในปีหน้ามีแนวโน้มที่จะมีเสถียรภาพมากขึ้น และส่งผลดีต่อดุลบัญชีเดินสะพัด กอปรกับการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกจะช่วยทำให้อัตราเงินเฟ้อลดลงจากปีนี้ ก็จะทำให้ธนาคารกลางของประเทศต่าง ๆ รวมทั้ง ธปท. มีความยืดหยุ่นมากขึ้นในการดำเนินนโยบายอัตราดอกเบี้ยในระยะต่อไป โดย คาดว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยมีแนวโน้มลดลงจากปีนี้ประมาณร้อยละ 0.25-0.50
แนวโน้มอัตราดอกเบี้ยธนาคารพาณิชย์ทรงตัวและปรับลดลงในปีหน้า
แม้ว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายจะทรงตัวที่ร้อยละ 5.0 ตั้งแต่เดือนมิถุนายนแต่ธนาคารพาณิชย์ก็ยังมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีกครั้งในช่วงต้นเดือนสิงหาคม ซึ่งทิศทางอัตราดอกเบี้ยของธนาคารพาณิชย์ขึ้นอยู่กับสภาพคล่องของแต่ละสถาบัน แต่อย่างไรก็ตาม ในช่วงที่เหลือของปีเมื่อพิจารณาจากทิศทางของอัตราดอกเบี้ยนโยบาย และสภาพคล่องในระบบที่ยังคงอยู่ในระดับสูง โดยในเดือนสิงหาคมเงินฝากยังเพิ่มขึ้นจากสิ้นปี 2548 ถึงร้อยละ 7.5 และมีแนวโน้มที่จะยังคงเติบโตในอัตราสูงต่อไป ขณะที่สินเชื่อเติบโตเพียงร้อยละ 3.1 เท่านั้น และทั้งปี คาดว่าสินเชื่อจะขยายตัวเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 5.0-5.5 ดังนั้น ความจำเป็นในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยจึงมีน้อยลง และมีโอกาสที่จะทยอยปรับลดลงในช่วงครึ่งหลังของปีหน้าตามแนวโน้มการปรับลดลงของอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ซึ่งจะช่วยสนับสนุนการขยายสินเชื่อและการปรับลดลงของ NPL