จากเครื่องชี้ภาวะเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ยังคงแสดงให้เห็นว่ากิจกรรมทางเศรษฐกิจส่วนใหญ่ชะลอตัวลง แต่เป็นไปในลักษณะค่อยเป็นค่อยไป (Soft Landing) ขณะที่ยังมีความเสี่ยงด้านอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานที่ยังคงเร่งตัวขึ้น ฝ่ายวิจัย ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) จึงคาดว่า ในการประชุม FOMC (Federal Open Market Committee) ในวันที่ 24 ต.ค.49 ธนาคารกลางสหรัฐฯ จะยังคงตรึงอัตราดอกเบี้ยต่อเนื่องเป็นครั้งที่ 3 ในรอบปีนี้ที่ร้อยละ 5.25 และมีโอกาสที่จะยืนอยู่ที่ระดับเดิมจนถึงสิ้นปี เมื่อพิจารณาจากปัจจัยต่างๆ ดังนี้
• ภาวะการผลิตและธุรกิจ ดัชนี ISM-ภาคการผลิตเดือน ก.ย.49 ชะลอตัวลงที่ระดับ 52.9 สอดคล้องกับดัชนีวัดกิจกรรมทางธุรกิจของธนาคารกลางสหรัฐฯ สาขาฟิลาเดลเฟียที่ปรับตัวลดลงต่ำสุดในรอบกว่า 3 ปีที่ระดับ -0.4 ส่วนธุรกิจในภาคบริการวัดโดย ดัชนี ISM-ภาคบริการชะลอตัวอย่างต่อเนื่องเช่นกันที่ระดับ 52.9
• การลงทุนด้านที่อยู่อาศัยชะลอตัวลง ยอดการก่อสร้างบ้านใหม่ในเดือน ก.ย.49 ชะลอลงที่ระดับ 1.7 ล้านยูนิตเทียบกับระดับเฉลี่ย 2.0 ล้านยูนิตในช่วงครึ่งปีแรก ขณะเดียวกันยอดขายบ้านสำเร็จรูปเดือน ส.ค.49 ก็ลดลงเช่นกันที่ระดับ 6.3 ล้านยูนิต เทียบกับเฉลี่ยที่ระดับ 6.7 ล้านยูนิตของช่วงครึ่งแรกของปี
• ภาวะเงินเฟ้อผ่อนคลายลงต่อเนื่อง อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเดือน ก.ย.49 ชะลอลงที่ร้อยละ 2.1 จาก ร้อยละ 3.8 ในเดือน ส.ค.49 เนื่องจากราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกปรับตัวลดลง โดยราคาน้ำมันดิบ WTI เฉลี่ยเดือน ก.ย.49 อยู่ที่ระดับ 64.06 ดอลลาร์ สรอ.ต่อบาร์เรลลดลงจากระดับ 73.04 ดอลลาร์ สรอ.ต่อบาร์เรลของเดือน ส.ค.49 อย่างไรก็ตามอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานยังคงเพิ่มขึ้นที่ร้อยละ 2.9 จากร้อยละ 2.8 ของเดือน ส.ค.49 ประกอบกับการตัดสินใจปรับลดปริมาณการผลิตน้ำมันของกลุ่ม OPEC จำนวน 1.2 ล้านบาร์เรลต่อวัน เมื่อวันที่ 19 ต.ค.49 จะทำให้การผลิตจริงลดลงอยู่ที่ระดับ 26.3 ล้านบาร์เรลต่อวัน จึงคาดว่าอาจมีผลให้ราคาน้ำมันกลับมาทรงตัวในระดับสูง ซึ่งทำให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ ยังต้องเฝ้าระวังภาวะเงินเฟ้ออย่างใกล้ชิดต่อไป และเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ จะยังไม่ปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง
• ความมั่นใจต่อภาวะเศรษฐกิจดีขึ้น ดัชนีความมั่นใจผู้บริโภคทั้งที่วัดโดย Conference Board และ University of Michigan เดือน ก.ย.49 ปรับตัวดีขึ้นค่อนข้างมากที่ระดับ 104.5 และ 85.4 จากระดับ 100.2 และ 82.0 ของเดือน ส.ค.49 ตามลำดับ และล่าสุด University of Michigan รายงานว่า ดัชนีความมั่นใจผู้บริโภค เดือน ต.ค. 49 ได้ปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่องสู่ระดับ 92.3
• การจ้างงานนอกภาคเกษตร ในเดือน ก.ย.49 แม้ว่าการจ้างงานนอกภาคเกษตรจะเพิ่มขึ้นเพียง 51,000 ตำแหน่ง แต่การประกาศปรับปรุงตัวเลขในเดือน ก.ค. และ ส.ค.49 ช่วยให้การจ้างงานเฉลี่ยใน ไตรมาส 3 ของปีนี้ปรับตัวดีขึ้นที่ระดับเฉลี่ย 120,600 ตำแหน่ง จากระดับเฉลี่ย 115,300 ของไตรมาส 2 ซึ่งช่วยลดความวิตกของนักลงทุนว่า เศรษฐกิจของสหรัฐฯ จะชะลอตัวลงอย่างรวดเร็ว
นอกจากนี้ การที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ ยังคงตรึงอัตราดอกเบี้ยที่ร้อยละ 5.25 ต่อไปอีกระยะหนึ่ง เพื่อรอดูผลกระทบทางเศรษฐกิจ ขณะที่ยังมีปัจจัยเสี่ยงด้านเงินเฟ้ออยู่ ก็คาดว่าจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ และประเทศอื่นๆ รวมทั้งประเทศไทยด้วย เนื่องจากประเทศต่างๆ จะมีความยืดหยุ่นมากขึ้นในการดำเนินนโยบายอัตราดอกเบี้ยในระยะต่อไป