ฟิทช์ประกาศให้อันดับเครดิตแก่ธนาคารนครหลวงไทยดังต่อไปนี้ อันดับเครดิตสกุลเงินต่างประเทศระยะยาว Issuer Default Rating (“IDR”) ที่ ‘BB’ แนวโน้มมีเสถียรภาพ อันดับเครดิตสกุลเงินต่างประเทศระยะสั้นที่ ‘B’ อันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาว (“National Rating”) ที่ ‘A-(tha)’ (A ลบ (tha)) แนวโน้มมีเสถียรภาพ และอันดับเครดิตภายในประเทศระยะสั้นที่ ‘F1(tha)’ ฟิทช์ยังได้ประกาศเพิ่มอันดับความแข็งแกร่งทางการเงินของธนาคารสู่ระดับ ‘D’ จากระดับ ‘D/E’ รวมทั้งประกาศคงอันดับเครดิตสนับสนุนที่ ‘4’
ฟิทช์ให้ข้อสังเกตว่าในขณะที่อันดับเครดิตได้สะท้อนถึงการปรับตัวที่ดีขึ้นของผลการดำเนินงานหลักของธนาคารและฐานะทางการเงินรวมทั้งงบดุลที่แข็งแกร่งหลังจากที่มีการปรับโครงสร้างองค์กร อันดับเครดิตยังได้พิจารณาถึงเครือข่ายทางธุรกิจที่ยังอ่อนแออยู่ของธนาคาร ความไม่แน่นอนของกลยุทธ์ในการดำเนินธุรกิจในระยะยาว รวมทั้งต้นทุนการปล่อยสินเชื่อ และต้นทุนในการดำเนินงานที่สูงของธนาคาร
กองทุนฟื้นฟูเพื่อพัฒนาระบบสถาบันการเงินซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของธนาคารแห่งประเทศไทยและได้ช่วยเหลือธนาคารนครหลวงไทยหลังจากเกิดวิกฤตการณ์ทางการเงินในปี 2540 ได้ลดสัดส่วนการถือหุ้นในธนาคารนครหลวงไทยเหลือ 47.6% ในปี 2547 และมีแนวโน้มที่จะลดสัดส่วนการถือหุ้นลงอีก ในระยะปานกลาง ฟิทช์เชื่อว่า แนวโน้มความเป็นไปได้ของ ความช่วยเหลือสนับสนุนของทางการที่จะมีต่อ ธนาคารนครหลวงไทยมีอยู่อย่างจำกัด กลยุทธ์การดำเนินธุรกิจในระยะยาวที่ชัดเจนกว่านี้ และโครงสร้างของผู้ถือหุ้นรวมทั้งการเพิ่มขึ้นของความแข็งแกร่งของเครือข่ายธุรกิจของธนาคาร การควบคุมความเสี่ยงและคณะผู้บริหาร สามารถที่จะช่วยเพิ่มอันดับเครดิตได้ในระยะปานกลาง ผลการดำเนินงานของธนาคารน่าจะปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นผลมาจากอัตราการเจริญเติบโตของสินเชื่อซึ่งตั้งอยู่บนสมมุติฐานที่ว่าอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจจะปรับตัวดีขึ้นหลังจากวิกฤตการณ์ทางการเมืองได้ผ่านพ้นไปแล้ว
ธนาคารนครหลวงไทย รายงานผลกำไรสุทธิที่ 6.3 พันล้านบาทในปี 2548 ลดลงเล็กน้อยจาก 6.4 พันล้านบาทในปี 2547 เนื่องมาจากรายการพิเศษค่าเผื่อการขาดทุนจากการด้อยค่าของมูลค่าสินทรัพย์ที่ไม่ได้ใช้งาน และการกันสำรองใหม่สำหรับภาระผูกพันนอกงบการเงิน ถ้าไม่นับรวมรายการพิเศษ ผลกำไรสุทธิของธนาคารจะเพิ่มขึ้น 10.2% ส่วนในครึ่งปีแรกของ 2549 ผลกำไรสุทธิของธนาคารลดลงเล็กน้อยเนื่องมาจากการเพิ่มขึ้นของค่าใช้จ่ายทางด้านภาษี เนื่องจากผลประโยชน์ทางภาษีที่ได้จากการบันทึกขาดทุนยกมาในอดีตได้หมดลงแล้ว กำไรก่อนการหักภาษีก็ลดลงเช่นเดียวกัน เนื่องมาจากรายการพิเศษค่าเผื่อการขาดทุนจากการด้อยค่าของมูลสินทรัพย์รอการขายหลังจากที่ได้มีการเปลี่ยนผู้ตรวจสอบบัญชีในปี 2548 ซึ่งนำมาสู่การเปลี่ยนแปลงวิธีประเมินมูลค่าสินทรัพย์ในครึ่งปีแรกของปี 2549 อัตรากำไรส่วนต่างดอกเบี้ยสุทธิของธนาคารนครหลวงไทยได้ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 2.59% ในครึ่งปีแรกของปี 2549 (เมื่อปรับการคำนวณเป็นสำหรับหนึ่งรอบปีบัญชี) จากระดับ 2.1 % ในปี 2547 เนื่องมาจากอัตราการเจริญเติบโตของสินเชื่อ และการไถ่ถอนพันธบัตรที่ได้รับมาจาก บริษัทบริหารสินทรัพย์เพชรบุรี ซึ่งมีผลตอบแทนต่ำ อัตราค่าใช้จ่ายต่อรายได้ของธนาคารได้เพิ่มสูงขึ้นจากระดับ 58.8 %ในปี 2548 สู่ระดับ 64.2 %ในครึ่งปีแรก ของ ปี 2549 ซึ่งเป็นตัวเลขที่สูงกว่าธนาคารส่วนใหญ่ส่วนหนึ่งเป็นเพราะค่าใช้จ่ายและต้นทุนจากการควบรวมธนาคารมหานคร
ในขณะที่คุณภาพสินทรัพย์ของธนาคารนครหลวงไทยดูเหมือนจะปรับตัวแข็งแกร่งขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับธนาคารรายอื่น การปรับตัวที่ดีขึ้นของคุณภาพสินทรัพย์ส่วนใหญ่เป็นผลมาจากการช่วยเหลือจากทางรัฐบาลในการโอนสินทรัพย์เสียไปยังบริษัทบริหารสินทรัพย์เพชรบุรีในปี 2544 แนวโน้มของคุณภาพสินทรัพย์ของธนาคารในอนาคตยังคงขึ้นอยู่กับกลยุทธ์การปล่อยสินเชื่อและความต้องการความเสี่ยงมากหรือน้อยของธนาคารซึ่งยังคงไม่ค่อยชัดเจน หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้เพิ่มขึ้นเล็กน้อยสู่ระดับ 7.8 พันล้านบาท ณ สิ้นเดือน มิถุนายน 2549 ถึงแม้ว่ามันจะยังคงอยู่ในระดับต่ำที่ 3.4 % ของสินเชื่อรวม เมื่อเปรียบเทียบกับธนาคารอื่น ระดับการกันสำรองหนี้สูญซึ่งอยู่ที่ 113.9 % ของหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ นับว่าอยู่ในระดับที่แข็งแกร่ง
ฐานะเงินกองทุนของธนาคารนครหลวงไทยจัดได้ว่าแข็งแกร่งเช่นกัน โดยเงินกองทุนชั้นที่ 1 ของธนาคารอยู่ที่ระดับ 12.1% ของสินทรัพย์เสี่ยง ณ สิ้นเดือน มิถุนายน 2549 ถึงแม้ว่า อัตราการเจริญเติบโตของสินเชื่อและการจ่ายเงินปันผลอาจทำให้อัตราเงินกองทุนลดลงใน 3 ปีข้างหน้า
ธนาคารนครหลวงไทยถูกตั้งขึ้นในปี 2484 และถูกทางการเข้าไปถือหุ้นในธนาคารเมื่อปี 2541 ในเดือนเมษายน 2545 ธนาคารนครหลวงไทยได้ควบรวมธนาคารมหานครเข้ามาไว้ ภายใต้การกำกับดูแล ของกองทุนฟื้นฟูเพื่อพัฒนาระบบสถาบันการเงิน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของธนาคารแห่งประเทศไทย ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2549 ธนาคารมีจำนวนพนักงาน 6,700 คน และจำนวนสาขา 396 สาขาทั่วประเทศ ปัจจุบัน ธนาคารนครหลวงไทยมีส่วนแบ่งทางการตลาดด้านสินเชื่อและเงินฝากอยู่ประมาณ 5% ถึง 6% ธนาคารยังมีบริษัทในเครือซึ่งอยู่ในธุรกิจประกัน ธุรกิจหลักทรัพย์ ธุรกิจจัดการกองทุน และธุรกิจเช่าซื้อ
ติดต่อ
ชัยพัฒน์ ไพฑูรย์, Vincent Milton, กรุงเทพฯ +662 655 4762/4759
หมายเหตุ : การจัดอันดับเครดิตภายในประเทศ (National Ratings) ใช้วัดความน่าเชื่อถือของบริษัทในประเทศที่อันดับเครดิตของประเทศนั้นอยู่ในระดับต่ำกว่าอันดับเครดิตระดับเพื่อการลงทุน หรือมีอันดับเครดิตอยู่ในระดับต่ำแม้จะอยู่ในระดับเพื่อการลงทุน อันดับเครดิตของบริษัทที่ดีที่สุดของประเทศจะอยู่ที่ระดับ “AAA” และการจัดอันดับเครดิตอื่นในประเทศ จะเป็นการเปรียบเทียบความเสี่ยงกับบริษัทที่ดีที่สุดนี้เท่านั้น อันดับเครดิตภายในประเทศนั้นถูกออกแบบมาเพื่อนักลงทุนภายในประเทศในแต่ละประเทศนั้นๆ และมีสัญลักษณ์ที่กำหนดไว้ต่อท้ายจากอันดับเครดิตสำหรับแต่ละประเทศ เช่น “AAA(tha)” ในกรณีของประเทศไทย อันดับเครดิตภายในประเทศนั้นไม่สามารถนำไปใช้เปรียบเทียบระหว่างประเทศได้
คำจำกัดความของอันดับเครดิตและการใช้อันดับเครดิตดังกล่าวของ ฟิทช์ เรทติ้งส์ สามารถหาได้จาก www.fitchratings.com อันดับเครดิตที่ประกาศ หลักเกณฑ์และวิธีการจัดอันดับเครดิต ได้แสดงไว้ในเว็บไซต์ดังกล่าวตลอดเวลา หลักจรรยาบรรณ การรักษาข้อมูลภายใน ความขัดแย้งทางผลประโยชน์ที่อาจเกิดขึ้น แนวทางการเปิดเผยข้อมูลระหว่างบริษัทในเครือ กฏข้อบังคับรวมทั้งนโยบายและกระบวนการที่เกี่ยวข้องอื่นๆของฟิทช์ ได้แสดงไว้ในส่วน ‘หลักจรรยาบรรณ’ ในเว็บไซต์ดังกล่าวเช่นกัน