ในระยะที่ผ่านมาของปี 2549 การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (Foreign Direct Investment: FDI) ในประเทศไทยมีภาพที่แตกต่างกัน 2 ด้านคือ ในด้านการลงทุนโดยตรงสุทธิจากต่างประเทศ (Net Flows of FDI) ซึ่งบ่งชี้มูลค่าเงินลงทุนสุทธิที่ไหลเข้ามาในประเทศไทย เพิ่มสูงขึ้นอย่างมาก เนื่องจากมีเงินทุนจากต่างชาติเข้ามาซื้อหุ้นในกิจการขนาดใหญ่ของไทย ขณะเดียวกัน ในด้านการลงทุนเพื่อขยายธุรกิจใหม่กลับมีทิศทางที่ชะลอตัว เนื่องจากปัจจัยความขัดแย้งทางการเมือง สำหรับในระยะเวลาที่เหลือของปีนี้ กระแสการควบรวมและเข้าซื้อกิจการ (Merger and Acquisition: M&A) คงจะลดน้อยลงไป โดยโอกาสที่จะเกิดดีลใหม่ในระยะสั้นยังไม่มีปัจจัยสนับสนุนมากนัก ส่วนการลงทุนขยายธุรกิจของบริษัทต่างชาติก็อาจยังมีการรอดูความชัดเจนด้านนโยบายของรัฐบาลใหม่ ซึ่งน่าจะมีผลทำให้การลงทุนจากต่างประเทศในระยะเวลาที่เหลือของปีนี้อาจมีทิศทางชะลอตัว
สำหรับภาวะการลงทุนจากต่างประเทศในประเทศไทยในช่วงปี 2550 อาจขึ้นอยู่กับปัจจัยภายในและภายนอกหลายประการ ปัจจัยภายในที่สำคัญได้แก่ ภาวะเศรษฐกิจไทย ทิศทางนโยบายเศรษฐกิจและการลงทุนของรัฐบาล และประเด็นทางการเมือง ส่วนปัจจัยภายนอกที่สำคัญคือ ภาวะเศรษฐกิจและการค้าโลก รวมทั้งการแข่งขันดึงดูดการลงทุนของประเทศต่างๆ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้วิเคราะห์สถานการณ์แนวโน้มการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศในปี 2550 โดยมีประเด็นสำคัญดังนี้
ภาวะการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศในประเทศไทยในปี 2549
– ในระยะที่ผ่านมาของปี 2549 การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (Non-Bank) ตามฐานดุลการชำระเงิน (BOP Basis) เพิ่มสูงขึ้นอย่างมาก โดยในช่วง 7 เดือนแรก การลงทุนโดยตรงสุทธิจากต่างประเทศ (Net Flows of FDI) มีมูลค่าสูงถึง 4,424 ล้านดอลลาร์ฯ เพิ่มขึ้น ร้อยละ 151 เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีมูลค่า 1,763 ล้านดอลลาร์ และสูงกว่าปี 2548 ทั้งปี ที่มีการลงทุนสุทธิมูลค่า 3,098 ล้านดอลลาร์ฯ (เพิ่มขึ้นร้อยละ 281 จากมูลค่าเพียง 814 ล้านดอลลาร์ฯ ในปี 2547 ซึ่งเป็นระดับต่ำที่สุดในรอบ 17 ปี) การลงทุนที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างมากตั้งแต่ปี 2548 ต่อเนื่องมาถึงปีนี้ มีสาเหตุสำคัญเนื่องจากกระแสการเข้าซื้อกิจการ (Acquisition) ของนักลงทุนต่างชาติ ที่เข้ามาถือหุ้นในธุรกิจขนาดใหญ่ของไทย เช่น กิจการโทรคมนาคม และอุตสาหกรรมเหล็ก เป็นต้น แม้ว่าปัจจัยความไม่แน่นอนทางการเมืองได้ส่งผลให้การลงทุนเพื่อขยายกำลังผลิตใหม่ในภาคอุตสาหกรรมมีทิศทางที่ชะลอตัวก็ตาม
– เป็นที่สังเกตว่า ธุรกิจที่มีการลงทุนเพิ่มขึ้นอย่างมากในช่วง 7 เดือนแรกปี 2549 นี้เป็นธุรกิจนอกภาคอุตสาหกรรม มีมูลค่าการลงทุนสุทธิรวมกันสูงถึง 3,695 ล้านดอลลาร์ฯ ขณะเดียวกัน การลงทุนในภาคอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นส่วนสำคัญต่อการพัฒนาศักยภาพของภาคการผลิตของประเทศ มีมูลค่าสุทธิรวมทั้งสิ้นเพียง 729 ล้านดอลลาร์ฯ หรือคิดเป็นสัดส่วนเพียงร้อยละ 16 ของการลงทุนทั้งหมดเท่านั้น หากจำแนกรายธุรกิจ ธุรกิจที่มีมูลค่าการลงทุนสูงที่สุดได้แก่ ธุรกิจลงทุนและโฮลดิ้ง มีมูลค่าสูงถึง 2,282 ล้านดอลลาร์ฯ หรือคิดเป็นสัดส่วนมากกว่าร้อยละ 50 ของการลงทุนทั้งหมด โดยส่วนสำคัญมาจากเงินลงทุนที่มีเป้าหมายเข้ามาถือครองหุ้นในกิจการโทรคมนาคม ธุรกิจที่มีมูลค่าการลงทุนสูงรองลงมาคือ อสังหาริมทรัพย์ การค้า การบริการ โลหะอโลหะ เครื่องจักรและอุปกรณ์ขนส่ง เป็นต้น
– สัดส่วนการลงทุนมีน้ำหนักเปลี่ยนไปอยู่ที่ธุรกิจที่ลงทุนระยะสั้นมากขึ้น : การลงทุนที่มีมูลค่าสูงในระยะเกือบสองปีที่ผ่านมานั้น ส่วนหนึ่งเป็นการลงทุนในลักษณะที่เข้ามาถือหุ้นส่วนในกิจการเพื่อมุ่งหวังผลตอบแทนในระยะสั้นด้วย เช่นการเข้ามาถือหุ้นในบริษัทไทยของกองทุนขนาดใหญ่ของต่างประเทศ การลงทุนในรูปแบบนี้มักจะไม่ยั่งยืน โดยมีเงินทุนไหลเข้าและไหลออกตามความน่าสนใจของตลาดทุนในแต่ละช่วงเวลา ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้มูลค่าการลงทุนสุทธิในแต่ละปีมีความผันผวนค่อนข้างมากในระยะที่ผ่านมา โดยเปรียบเทียบแล้ว การลงทุนลักษณะนี้จะมีผลต่อการขยายศักยภาพผลผลิตให้กับภาคการผลิตของไทย ตลอดจนการเติบโตของระบบเศรษฐกิจในระดับที่น้อยกว่า และมีอัตราส่วนเงินทุนไหลออกที่สูงกว่าการลงทุนขยายกำลังการผลิตในภาคอุตสาหกรรม
– การขอรับส่งเสริมการลงทุนโดยชาวต่างชาติปรับตัวลดลง : โครงการจากต่างประเทศที่ขอรับส่งเสริมการลงทุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือ บีโอไอ ในช่วง 8 เดือนแรกของปี 2549 ลดลงร้อยละ 22.7 มีมูลค่าโครงการรวมทั้งสิ้น 187.0 พันล้านบาท (จาก 548 โครงการ) เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีมูลค่าโครงการลงทุน 242.1 พันล้านบาท (จาก 551 โครงการ) สาเหตุที่สำคัญส่วนหนึ่งเนื่องจากโครงการลงทุนในช่วงปีนี้ โดยเฉลี่ยมีขนาดเล็กลง ซึ่งถ้าพิจารณาในด้านจำนวนโครงการลงทุนจะต่ำกว่าปีก่อนหน้าเพียงเล็กน้อย สำหรับกิจการของต่างชาติที่มีมูลค่าโครงการลงทุนสูงที่สุด ได้แก่ อุปกรณ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ รองลงมาคือ เคมีภัณฑ์ กระดาษและพลาสติก บริการและสาธารณูปโภค และโลหะ เครื่องจักรและอุปกรณ์ขนส่ง
การลงทุนในประเทศไทยเปรียบเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน
– แม้ว่าการลงทุนโดยตรงในประเทศไทยเพิ่มสูงขึ้นตั้งแต่ปีที่ผ่านมา แต่เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศในภูมิภาคเอเชียอื่นๆ ไทยเป็นประเทศผู้รับเงินลงทุนโดยตรงสูงเป็นอันดับที่เจ็ด โดยตามสถิติของที่ประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา หรือ UNCTAD ในรายงาน World Investment Report 2006 การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศของไทยในปี 2548 ที่ผ่านมาเป็นรองจีน ฮ่องกง สิงคโปร์ อินเดีย อินโดนีเซีย และมาเลเซีย แต่สูงกว่าเวียดนาม ไต้หวัน และฟิลิปปินส์ อย่างไรก็ตาม ตัวเลขการลงทุนของหลายประเทศ เช่น จีน ฮ่องกง ไต้หวัน สิงคโปร์ มาเลเซีย และอินเดีย จะรวมการนำผลกำไรกลับมาลงทุนใหม่ของบริษัทในเครือบริษัทข้ามชาติที่ตั้งอยู่ในประเทศนั้นๆ (Reinvested Capital) แต่ในกรณีของไทยไม่รวมตัวเลขดังกล่าว ซึ่งถ้ามีการรวมข้อมูล Reinvested Capital ตัวเลขการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศน่าจะสูงกว่านี้มาก โดยตามที่บีโอไอได้เคยทำการสำรวจแหล่งที่มาของเงินลงทุนของบริษัทลูกของบริษัทข้ามชาติในประเทศไทย พบว่ามีแหล่งเงินทุนมาจากภายในประเทศถึงร้อยละ 70
แนวโน้มเศรษฐกิจโลกและปัจจัยภายใน … ผลกระทบต่อการลงทุนโดยตรงในไทย
การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศทั่วโลก โดยปกติ มักมีทิศทางเติบโตสอดคล้องกับการเติบโตของเศรษฐกิจโลก ซึ่งแนวโน้มเศรษฐกิจโลกอาจชะลอตัวในปี 2550 โดยกองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ IMF คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจโลกจะมีอัตราการขยายตัวร้อยละ 4.9 ในปี 2550 ชะลอตัวลงจากในปี 2549 ที่ IMFคาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 5.1 ภายใต้แนวโน้มการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกในปีข้างหน้านี้ อาจส่งผลกระทบต่อปัจจัยต่างๆที่มีผลต่อการลงทุนในประเทศไทย กล่าวคือ
– การชะลอตัวทางเศรษฐกิจในประเทศผู้ลงทุนหลักอาจกระทบการขยายการลงทุนของบริษัทข้ามชาติจากประเทศนั้น : อย่างไรก็ตาม การลงทุนในต่างประเทศของบริษัทข้ามชาติ บางครั้งอาจมีเหตุผลมาจากปัจจัยอื่นด้วย เช่น การเติบโตของตลาดที่มีศักยภาพในต่างประเทศ หรือการแสวงหาแหล่งลงทุนที่สามารถสร้างประโยชน์ในเชิงกลยุทธทางธุรกิจ เช่น หาแหล่งลงทุนที่มีต้นทุนการผลิตต่ำ การเข้าไปลงทุนเพื่อใช้ประโยชน์จากทรัพยากรในประเทศนั้นๆด้วย
– การชะลอตัวของการค้าโลกอาจส่งผลต่อระดับราคาสินค้า : ความเสี่ยงจากการชะลอตัวของประเทศเศรษฐกิจชั้นนำของโลก โดยเฉพาะถ้าเศรษฐกิจสหรัฐมีการชะลอตัวรุนแรง ประกอบกับค่าเงินดอลลาร์อ่อนค่าลง อาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศเอเชียที่พึ่งพาการส่งออกไปยังตลาดสหรัฐ ซึ่งเป็นตลาดผู้บริโภคขั้นสุดท้ายที่สำคัญของโลก ท้ายที่สุดอาจนำไปสู่ภาวะอุปทานส่วนเกิน และการแข่งขันด้านราคา ซึ่งจะส่งผลต่อระดับราคาสินค้าทั่วโลกได้ การชะลอตัวของภาวะตลาดและอัตรากำไร อาจเป็นปัจจัยที่ทำให้ธุรกิจในภูมิภาคต่างๆ โดยภาพรวม ชะลอการลงทุนได้เช่นกัน
– การเติบโตของตลาดประเทศเกิดใหม่ในเอเชียอาจยังสนับสนุนการลงทุนในภูมิภาค : จากคาดการณ์โดย IMF ในปี 2550 เศรษฐกิจประเทศที่พัฒนาแล้วอาจมีอัตราการขยายตัวชะลอลงมาที่ประมาณร้อยละ 2.7 จากร้อยละ 3.1 ในปี 2549 ขณะที่ประเทศกำลังพัฒนาในเอเชียมีแนวโน้มขยายตัวชะลอลงเพียงเล็กน้อย คือ ร้อยละ 8.6 เทียบกับ 8.7 ในปี 2549 ดังนั้น บริษัทต่างชาติที่มีเป้าหมายขยายฐานตลาดในเอเชียอาจยังคงมีแผนการลงทุนในภูมิภาคอย่างต่อเนื่อง
จากปัจจัยภายนอกข้างต้น ยังเป็นที่คาดหมายได้ว่า การลงทุนในภูมิภาคเอเชียยังมีแนวโน้มที่น่าจะเติบโตต่อไปได้ ถ้าพิจารณาถึงปัจจัยความน่าดึงดูดของไทยต่อการเข้ามาลงทุนตั้งฐานการผลิตของบริษัทต่างชาติ แม้ว่าไทยยังมีความได้เปรียบในด้านที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ ค่าจ้างแรงงานยังไม่สูงเกินไป ทักษะแรงงานและโครงสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐานค่อนข้างพร้อม รวมทั้งไทยมีความตกลงการค้าเสรีกับกลุ่มประเทศสำคัญในภูมิภาค แต่ปัจจัยทางการเมืองอาจส่งผลกระทบต่อการตัดสินใจลงทุนของชาวต่างชาติในระยะอันใกล้ เนื่องจากการลงทุนโดยตรงเป็นการวางแผนเพื่อเป้าหมายระยะยาว นักลงทุนอาจยังรอคอยความชัดเจนทางการเมือง และทิศทางนโยบายของรัฐบาลชุดใหม่ โดยเฉพาะนโยบายเศรษฐกิจและการลงทุน
ดังนั้น หากวิเคราะห์แนวโน้มการลงทุนในช่วงปีข้างหน้า ปัจจัยภายในประเทศน่าจะเป็นตัวแปรที่มีน้ำหนักต่อการตัดสินใจลงทุนของนักลงทุนต่างชาติในประเทศไทย มากกว่าปัจจัยภายนอกประเทศ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่าการลงทุนโดยตรงสุทธิจากต่างประเทศในปี 2550 อาจปรับตัวลดลงค่อนข้างมาก เนื่องจากกระแสการเข้าซื้อกิจการขนาดใหญ่ที่น่าจะลดน้อยลง โดยอาจมีมูลค่าประมาณ 3,033 ล้านดอลลาร์ฯ ลดลงร้อยละ 39 จากปี 2549 ที่คาดว่าจะมีมูลค่าประมาณ 4,942 ล้านดอลลาร์ฯ (ซึ่งเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 60 เมื่อเทียบกับปี 2548) อย่างไรก็ตาม ประมาณการนี้ยังไม่คิดรวมถึงกรณีถ้านักลงทุนต่างชาติลดสัดส่วนการถือหุ้นในกิจการโทรคมนาคมลงเพื่อรักษาสัดส่วนการถือหุ้นไม่เกินร้อยละ 49 อย่างแท้จริงตามกฎหมายการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว ซึ่งจะต้องมีการขายหุ้นออกไปให้แก่นักลงทุนไทย โดยคาดว่าอาจมีมูลค่าอยู่ในช่วงประมาณ 800-1,400 ล้านดอลลาร์ฯ ขึ้นอยู่กับราคาหุ้นและรูปแบบโครงสร้างการถือหุ้นของผู้ลงทุนที่จะมีการปรับเปลี่ยน อันจะส่งผลให้มีเงินลงทุนของต่างชาติไหลออกในช่วงเวลาที่มีการขายหุ้นออกไป และอาจทำให้การลงทุนโดยตรงสุทธิมีมูลค่าลดลงจากประมาณการของศูนย์วิจัยกสิกรไทย ซึ่งช่วงเวลาขึ้นอยู่กับว่าการปรับสัดส่วนโครงสร้างผู้ถือหุ้นนี้จะเกิดขึ้นในช่วงปีนี้หรือในปี 2550
ในด้านการลงทุนเพื่อขยายธุรกิจใหม่ ในปีนี้ปัจจัยความขัดแย้งทางการเมืองได้ส่งผลให้นักลงทุนมีการชะลอการตัดสินใจลงทุน โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่าโครงการลงทุนจากต่างประเทศที่ขอรับส่งเสริมการลงทุนในช่วงปี 2549 อาจมีมูลค่าต่ำกว่า 300,000 ล้านบาท ลดลงประมาณร้อยละ 40 จากมูลค่า 498,862 ล้านบาทในปีก่อนหน้า สำหรับแนวโน้มความสนใจของบริษัทต่างชาติในการเข้ามาขอรับส่งเสริมการลงทุนในปี 2550 ปัจจัยที่สำคัญยังคงขึ้นอยู่ประเด็นทางการเมืองและความชัดเจนในด้านนโยบายของรัฐบาล
ท่ามกลางการแข่งขันเพื่อดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศที่รุนแรงในปัจจุบัน การแก้ไขอุปสรรคปัญหาและปรับปรุงศักยภาพโครงสร้างพื้นฐานทางธุรกิจเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่ง การเร่งสร้างความชัดเจนให้กับนักลงทุนเป็นหนทางหนึ่งที่จะบรรเทาผลกระทบทางการเมืองในประเทศ ต่อการตัดสินใจเลือกเป้าหมายประเทศที่บริษัทต่างชาติจะเข้าไปลงทุน สำหรับแนวทางที่อาจจะช่วยกระตุ้นการลงทุนในปีข้างหน้า รัฐบาลควรจะมีการดำเนินมาตรการ เช่น การพิจารณามาตรการส่งเสริมการลงทุนเฉพาะเจาะจงเพื่อดึงดูดอุตสาหกรรมที่เป็นเป้าหมายยุทธศาสตร์ และการออกไป Road Show ทำความเข้าใจและชักชวนนักลงทุนเป้าหมายให้เข้ามาลงทุนในไทย ซึ่งถ้ามีการดำเนินการให้เกิดความเชื่อมั่นในกลุ่มนักลงทุนต่างชาติ ก็น่าจะช่วยให้การลงทุนของต่างชาติที่จะเข้ามาตั้งฐานการผลิตในประเทศไทยกลับฟื้นตัวขึ้นมาได้
ประเด็นที่กำลังเป็นที่สนใจของนักลงทุนต่างชาติในขณะนี้ ได้แก่ ทิศทางนโยบายส่งเสริมการลงทุน การตรวจสอบนอมินีและแนวทางจัดการกับปัญหาดังกล่าว การแก้ไขกฏหมายการประกอบธุรกิจของคนต่างชาติ นโยบายด้านการเจรจาการค้าเสรี รวมไปถึงโครงการลงทุนในโครงสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐานต่างๆ ซึ่งประเด็นต่างๆเหล่านี้ เป็นสิ่งที่รัฐบาลอาจต้องเร่งสร้างความชัดเจนเพื่อให้นักลงทุนสามารถใช้ประกอบการตัดสินใจต่อแผนการลงทุนในประเทศไทยได้