เครื่องปรุงรสอาหาร : รุกขยายตลาดช่วงเทศกาลกินเจ

ในช่วงเทศกาลกินเจที่จะมีขึ้นระหว่างวันที่ 22-30 ตุลาคมนี้ เครื่องปรุงรสอาหารเป็นสินค้าประเภทหนึ่งที่มีการส่งเสริมการขายเพิ่มขึ้น โดยจะเห็นว่าในปีนี้บรรดาผู้ประกอบการเริ่มการจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายตั้งแต่ต้นเดือนตุลาคม ซึ่งนับว่าเป็นการเริ่มจัดกิจกรรมทางการตลาดเร็วกว่าทุกปีที่ผ่านมา และผู้ประกอบการทุ่มเม็ดเงินในการจัดกิจกรรมทางการตลาดมากกว่าทุกปี ทั้งนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อกระตุ้นบรรยากาศการซื้อขายให้คึกคักขึ้น เนื่องจากในช่วงที่ผ่านมาของปีนี้ผู้ประกอบการต้องเผชิญปัญหาหลากหลาย โดยเฉพาะภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว และภาวะน้ำท่วม ทำให้ยอดจำหน่ายไม่เป็นไปตามเป้าหมาย ดังนั้นในช่วงเทศกาลกินเจในปีนี้จึงนับว่าเป็นช่วงจังหวะดีที่ผู้ประกอบการสินค้าเครื่องปรุงรสอาหารสามารถเพิ่มยอดจำหน่ายปิดการขายให้ได้ตามเป้าเมื่อถึงสิ้นปี

ปัจจุบันกระแสความนิยมบริโภคเครื่องปรุงรสอาหารในประเทศเพิ่มขึ้นอย่างมาก ทำให้ตลาดเครื่องปรุงรสอาหารขยายตัวอย่างรวดเร็ว เนื่องจากคนไทยยอมรับและบริโภคเครื่องปรุงรสที่มีความหลากหลายมากขึ้น ผู้ประกอบการเริ่มพัฒนาสิ่งปรุงรสอาหารแบบเดิมคือ เครื่องปรุงรสประเภทซอส น้ำปลา เครื่องแกงสำเร็จรูป และผงปรุงรส โดยการเพิ่มความหลากหลายของผลิตภัณฑ์ทั้งนี้เพื่อตอบสนองความต้องการที่หลากหลายของผู้บริโภค และยังเป็นการขยายฐานการตลาดรวมทั้งเพิ่มยอดจำหน่ายของสินค้าเครื่องปรุงรสอาหารด้วย เช่น ซอสผัด ซอสหอยนางรมผสมกระเทียม ซอสพริกไทยดำ ซอสปรุงรสชนิดเผ็ด ผงปรุงรสสำหรับทำน้ำซุปโดยเฉพาะ เป็นต้น ซึ่งเป็นตลาดใหม่ที่มีโอกาสในการขยายตลาดสูง เนื่องจากเป็นสินค้าที่ตอบสนองกับพฤติกรรมผู้บริโภคที่ต้องการความสะดวก รวดเร็ว

สภาพตลาดเครื่องปรุงรสอาหารทวีความเข้มข้นมากขึ้น มีผู้เล่นรายใหม่ๆเข้ามาร่วมชิงส่วนแบ่งตลาด นอกจากนี้ผู้ประกอบการกลุ่มดิสเคานต์สโตร์มีการพัฒนาสินค้าเครื่องปรุงรสอาหารภายใต้ตราสินค้าเฮาส์แบรนด์ โดยตั้งราคาจำหน่ายต่ำกว่าร้อยละ 20 ภาพรวมของตลาดเครื่องปรุงรสอาหารจึงมีการแข่งขันทำกิจกรรมส่งเสริมการจำหน่าย โดยเฉพาะการจัดชิงโชคค่อนข้างถี่ตลอดทั้งปี รวมทั้งมีรายการลดแลกแจกแถมด้วย อย่างไรก็ตามผู้ประกอบการบางรายที่ไม่ได้เข้ามาร่วมกิจกรรมทางสงครามราคาก็จะปรับกลยุทธ์โดยการมุ่งสร้างตรายี่ห้อเพื่อรักษาและขยายฐานลูกค้าใหม่ รวมทั้งยกระดับสินค้าเครื่องปรุงรสอาหารให้เป็นสินค้าระดับพรีเมี่ยม โดยเน้นความแตกต่างในขั้นตอนการผลิตและรสชาติที่แตกต่าง รวมทั้งการเข้าถึงผู้บริโภคด้วยการสื่อสารข้อมูลความแตกต่างนี้ให้ลูกค้ากลุ่มเป้าหมายได้รับรู้ ทั้งนี้เพื่อจับลูกค้าเฉพาะกลุ่มมากขึ้น เนื่องจากจุดอ่อนสำคัญของตลาดเครื่องปรุงรสอาหารคือ ความจงรักภักดีต่อตรายี่ห้อ ดังนั้นผู้ประกอบการจึงหันมาเน้นการสร้างความภักดีต่อตรายี่ห้อ นอกจากนี้ผู้ประกอบการยังพยายามขยายฐานลูกค้าในอนาคต โดยเฉพาะการหันมาจับตลาดผู้บริโภคกลุ่มนิสิตนักศึกษา และลูกค้าระดับเยาวชนทั้งนี้เพื่อให้เกิดความคุ้นเคยและยอมรับตรายี่ห้อสินค้า เนื่องจากมีการวิจัยพบว่าผู้บริโภคที่อายุมากกว่า 40 ปีขึ้นไปจะค่อยจะไม่เปลี่ยนแปลงตรายี่ห้อที่บริโภค ในขณะที่ผู้บริโภคที่อายุต่ำกว่า 40 ปีจะเป็นกลุ่มที่มีพฤติกรรมชอบปรับเปลี่ยนตรายี่ห้อ แต่ผู้บริโภคกลุ่มนี้เป็นผู้ที่จะต่อยอดในการบริโภคสินค้าในรุ่นต่อไป
บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด คาดว่าในปี 2549 มูลค่าตลาดเครื่องปรุงรสอาหารในประเทศมีขนาดใหญ่ประมาณ 15,600 ล้านบาท เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมาเพิ่มขึ้นร้อยละ 12.7 ตลาดเครื่องปรุงรสอาหารแบ่งตามลักษณะของผู้บริโภคออกเป็น 2 ระดับคือ ตลาดผู้บริโภคในครัวเรือนและตลาดกลุ่มอุตสาหกรรม โดย ตลาดผู้บริโภคในครัวเรือน ส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 80 การแข่งขันเข้มข้น มีผู้ผลิตมากราย ดังนั้นผู้ผลิตต้องใช้กลยุทธ์ทางการตลาดในรูปแบบต่างๆ กันเพื่อส่งเสริมการขาย ทั้งนี้เพื่อให้ผู้บริโภคเห็นความแตกต่างของสินค้าและมีความจงรักภักดีต่อตรายี่ห้อมากขึ้น ในปีนี้คนไทยกลับเข้าสู่ยุคปรุงอาหารทานในครอบครัว รวมทั้งความกังวลในเรื่องของสุขภาพจากการรับประทานอาหารนอกบ้าน ทำให้ตลาดเครื่องปรุงรสอาหารสำหรับผู้บริโภคในครัวเรือนมีแนวโน้มขยายตัวอย่างมากในปีนี้ ส่วน ตลาดกลุ่มอุตสาหกรรม ซึ่งได้แก่ โรงแรม โรงพยาบาล ร้านอาหารและภัตตาคารชั้นนำ มีส่วนแบ่งตลาดประมาณร้อยละ 20 ผู้ผลิตที่มุ่งเจาะตลาดนี้จะเน้นคุณภาพของสินค้าเป็นจุดขาย เนื่องจากลูกค้ากลุ่มนี้จะเป็นตัวช่วยตอกย้ำคุณภาพของสินค้า เนื่องจากจะมีการทดสอบคุณภาพของสินค้าและมีการรายงานผลการทดสอบกลับถึงผู้ประกอบการอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตามในปีนี้คนไทยพยายามประหยัดค่าใช้จ่ายโดยลดปริมาณการบริโภคอาหารนอกบ้าน ทำให้ยอดการสั่งซื้อสินค้าเครื่องปรุงรสอาหารในปีนี้ปรับตัวลดลงอย่างมากประมาณร้อยละ 20-30

มูลค่าการส่งออกเครื่องปรุงรสอาหารในช่วง 8 เดือนแรกของปี 2549 เท่ากับ 120.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2548 แล้วเพิ่มขึ้นร้อยละ 14.0 โดยการส่งออกเครื่องปรุงรสอาหารมีแนวโน้มขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ปัจจัยหนุนให้มูลค่าการส่งออกเครื่องปรุงรสอาหารของไทยคือ ชาวต่างชาติหันมานิยมรับประทานอาหารไทยมากขึ้น การขยายตัวของธุรกิจร้านอาหารและภัตตาคารไทยในต่างประเทศทำให้อาหารไทยเป็นที่รู้จักมากยิ่งขึ้น รวมทั้งความนิยมเครื่องปรุงรสอาหารจากไทยเริ่มขยายตัวไปสู่การวางจำหน่ายบนชั้นในซุปเปอร์มาร์เก็ตใหญ่ๆ ทำให้ชาวต่างชาติที่นิยมรับประทานอาหารไทยมีความสะดวกมากขึ้นในการซื้อเครื่องปรุงรสอาหารไทย จากที่เคยจำกัดตัวอยู่ในร้านขายของชำของชาวเอเชีย อย่างไรก็ตามอุปสรรคสำคัญในการส่งออกคือ ประเทศผู้นำเข้าแต่ละประเทศเข้มงวดในเรื่องมาตรฐานความปลอดภัยจากเชื้อโรคและสารเคมีตกค้าง รวมทั้งมีการเปลี่ยนแปลงกฎระเบียบในการนำเข้าตลอดเวลา และบางประเทศยังไม่รู้จักสินค้าเครื่องปรุงรสอาหารของไทย ทำให้ผู้ประกอบการต้องเร่งปรับระบบการผลิตเข้าสู่มาตรฐานเพื่อลดปัญหาการกีดกันทางการค้า และต้องเร่งเผยแพร่ข้อมูลสินค้ากลุ่มนี้ให้เป็นที่รู้จัก และเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับกฎระเบียบมาตรฐานสินค้าของแต่ละประเทศทั้งนี้เพื่อช่วยเพิ่มความคล่องตัวให้กับผู้ประกอบการในการเจาะขยายตลาด

ตลาดสำคัญของเครื่องปรุงรสอาหารของไทยคือ สหภาพยุโรป ญี่ปุ่น ประเทศในอาเซียน สหรัฐฯ ออสเตรเลีย และฮ่องกง โดยตลาดส่งออกเครื่องปรุงรสอาหารยังมีแนวโน้มขยายตัวในเกณฑ์สูงอย่างต่อเนื่องคือ ญี่ปุ่น ออสเตรเลียและสหรัฐฯ ในขณะที่การส่งออกเครื่องปรุงรสอาหารไปยังตลาดสหภาพยุโรปแม้ว่ายังมีแนวโน้มขยายตัว แต่เป็นที่น่าสังเกตว่าอัตราการขยายตัวเริ่มชะลอลงกล่าวคือ การส่งออกเครื่องปรุงรสอาหารไปยังสหภาพยุโรปในช่วง 8 เดือนแรกของปี 2549 เท่ากับ 26.0 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เทียบกับช่วงเดียวกันในปีที่ผ่านมาเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.7 จากเดิมที่อัตราการขยายตัวของการส่งออกไปยังสหภาพยุโรปเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 20.0 อันเป็นผลมาจากหน่วยงานมาตรฐานอาหารอังกฤษ (UK Food Standards Agency : FSA) ตรวจพบสาร Sudan Red และ Para Red ในพริก ผลิตภัณฑ์เครื่องเทศ ขมิ้น และผลิตภัณฑ์อาหารแปรรูปอื่นๆที่มีส่วนผสมของพริก เครื่องเทศ และซอสจากประเทศคู่แข่งสำคัญของไทยในตลาดสหภาพยุโรป ทำให้มีการประกาศเรียกคืนสินค้าอาหารที่ตรวจพบการปนเปื้อน แม้ว่าทำให้ผู้บริโภคบางส่วนหันมาบริโภคเครื่องปรุงรสอาหารของไทย แต่ก็ส่งผลกระทบทำให้ผู้บริโภคในสหภาพยุโรปบางส่วนลดการบริโภคเครื่องปรุงรสลง เนื่องจากวิตกเรื่องสารปนเปื้อน นอกจากนี้จากการแข่งขันที่รุนแรงขึ้นในประเทศ ผู้ประกอบการมีการปรับแผนโดยการหันรุกตลาดส่งออกโดยมุ่งเป้าเจาะตลาดร้านอาหารไทยใน ตะวันออกกลางและแอฟริกาใต้ ควบคู่กับการขยายฐานตลาดเดิมในเอเชีย สหรัฐฯ และยุโรป

ตลาดเครื่องปรุงรสอาหารยังแยกออกได้ตามประเภทของผลิตภัณฑ์ที่สำคัญ ดังนี้
-น้ำปลา คาดว่ามูลค่าตลาดน้ำปลาในปี 2549 เท่ากับ 4,400 ล้านบาท เมื่อเทียบกับในปีที่ผ่านมาเพิ่มขึ้นร้อยละ 10.0 นับว่าเป็นอัตราการขยายตัวที่ลดลงจากเกณฑ์เฉลี่ยที่อยู่ในระดับร้อยละ 20.0 ต่อปี เนื่องจากในปีนี้ผู้ประกอบการเผชิญปัญหาคือ ต้นทุนปลากระตักเพิ่มขึ้นสูงกว่าร้อยละ 50.0 โดยปลากระตักนั้นเป็นวัตถุดิบหลักมีสัดส่วนร้อยละ 90 ของต้นทุนในอุตสาหกรรมผลิตน้ำปลา โดยปรับราคาจำหน่ายสูงกว่า 10 บาท/กิโลกรัม จากเดิมที่มีราคาจำหน่ายเพียง 4-5 บาท/กิโลกรัม เนื่องจากต้นทุนในการทำประมงสูงขึ้นจากราคาน้ำมันที่มีแนวโน้มสูงขึ้นในช่วงที่ผ่านมา รวมทั้งปัญหาช่วงภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวทำให้ยอดจำหน่ายลดลงถึงร้อยละ 20-30 ในช่วงครึ่งแรกปี 2549

อย่างไรก็ตามตลาดน้ำปลาในประเทศนั้น น้ำปลาแท้มีอัตราการการขยายตลาดราวร้อยละ 20-30 ในขณะที่น้ำปลาผสมและน้ำปลาวิทยาศาสตร์ค่อยๆ เริ่มหายไปจากตลาด เทียบกับเมื่อหลายปีก่อนตลาดน้ำปลาเกรดซีจะมีขนาดใหญ่ที่สุด ตลาดเกรดบีเริ่มขยายตัวกินสัดส่วนตลาดน้ำปลาเกรดซี เมื่อผู้บริโภคมีการศึกษาสูงขึ้น เริ่มให้ความสนใจในเรื่องคุณภาพ น้ำปลาเกรดเอจึงเริ่มมียอดขายที่ดีขึ้น ปัจจุบันมีกลุ่มผู้บริโภคบางกลุ่มต้องการบริโภคน้ำปลาสูงกว่าเกรดเอหรือน้ำปลาเกรดพรีเมี่ยม ซึ่งต้องใช้เวลาในการหมัก และใช้ปลามากกว่าเกรดเอกล่าวคือ ใช้เวลาประมาณ 18 เดือนเพื่อให้ได้โปรตีน 23-25 กรัมต่อลิตร หรือบางบ่ออาจสูงถึง 29 กรัมต่อลิตร ซึ่งน้ำปลาเกรดนี้มีความหอมมากเป็นพิเศษ ราคาจะสูงกว่าน้ำปลาเกรดเอร้อยละ 25-30 เพราะต้นทุนการผลิตสูงกว่า

มูลค่าการส่งออกในช่วง 8 เดือนแรกของปี 2549 เท่ากับ 15.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2548 แล้วลดลงร้อยละ 1.9 เนื่องจากต้องเผชิญการแข่งขัน โดยคู่แข่งขันในการส่งออกของไทยคือ เวียดนามที่มีการเข้ามาแข่งขันในตลาดน้ำปลาระดับพรีเมี่ยม โดยปัจจุบันน้ำปลาของไทยมีสัดส่วนร้อยละ 80 ของตลาดโลก และน้ำปลาจากเวียดนามและฟิลิปินส์มีสัดส่วนร้อยละ 20 ผู้ผลิตและส่งออกน้ำปลาของไทยต้องเร่งปรับตัวเพื่อแข่งขันกับน้ำปลาจากเวียดนาม โดยเฉพาะในแง่ของการรับรู้ของผู้บริโภคในต่างประเทศเกี่ยวกับคุณภาพของน้ำปลาไทย

-ซอส คาดว่าในปี 2549 มูลค่าตลาดซอสประมาณ 5,000 ล้านบาท ประเภทของซอสที่เป็นที่นิยมบริโภคของคนไทยมานานคือ ซอสถั่วเหลืองและซอสพริก ส่วนซอสที่มีการขยายตลาดอย่างรวดเร็วในปัจจุบันคือ ซอสมะเขือเทศเนื่องจากการขยายตลาดเป็นไปอย่างรวดเร็วเมื่อมีการรับวัฒนธรรมการบริโภคอาหารแบบตะวันตก โดยเฉพาะการขยายตัวของร้านอาหารประเภทฟาสต์ฟู้ดส์ ทั้งยังมีนักลงทุนที่เล็งเห็นว่าตลาดซอสมะเขือเทศมีโอกาสขยายตลาดในประเทศได้อีกมากทำให้มีการลงทุนผลิตมะเขือเทศมากมายหลายยี่ห้อ ในบรรดาซอสทั้งหมดนั้นซอสถั่วเหลืองจัดว่ามีการแข่งขันที่ค่อนข้างรุนแรง ทั้งซีอิ๊วและซอสปรุงรส เนื่องจากผู้บริโภคเริ่มหันมานิยมบริโภคมากขึ้นในฐานะของสิ่งปรุงรสที่มีสุขภาพ โดยในตลาดซีอิ๊วนั้นยังแยกสินค้าย่อยออกเป็นหลายรายการ ได้แก่ ซีอิ๊วขาว ซีอิ๊วเค็ม และซีอิ๊วหวาน โดยซีอิ๊วขาวนั้นจัดว่าเป็นซีอิ๊วยอดนิยม ผู้บริโภคบางกลุ่มใช้ปรุงรสอาหารแทนน้ำปลา เนื่องจากไม่ทำให้อาหารมีกลิ่นคาวและเหมาะสำหรับอาหารมังสวิรัติและอาหารเจ

นอกจากนี้ยังมีซอสที่เป็นที่นิยมบริโภคในประเทศด้วยเช่นกันคือ น้ำมันหอยและซอสผัด โดยน้ำมันหอยนี้มีอัตราการขยายตัวอยู่ในเกณฑ์สูง โดยคาดว่าในปี 2549 มูลค่าตลาดของน้ำมันหอยจะเท่ากับ 1,000 ล้านบาท เมื่อเทียบกับปี 2548 แล้วเพิ่มขึ้นร้อยละ 15.0 ส่วนซอสผัดนั้นเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ที่ต้องการจับตลาดใหม่ที่มีโอกาสในการขยายตลาดสูง เนื่องจากเป็นสินค้าที่ตอบสนองกับพฤติกรรมผู้บริโภคในเมืองที่ต้องการความสะดวก และรวดเร็วในการปรุงอาหาร

สำหรับผลิตภัณฑ์เครื่องปรุงรสอาหารทั้งหมด ซอสป็นเครื่องปรุงรสอาหารที่มีมูลค่าการส่งออกสูงสุดกล่าวคือ ในช่วง 8 เดือนแรกของปี 2549 มูลค่าการส่งออกซอสเท่ากับ 23.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนแล้วเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.4 โดยเฉพาะการส่งออกซอสถั่วเหลือง(ซอสปรุงรสและซีอี๊ว) ซึ่งในปี 2549 มูลค่าการส่งออกกลับมาขยายตัวในเกณฑ์สูงอีกครั้งหลังจากในปี 2548 ต้องเผชิญปัญหาที่ประเทศผู้นำเข้าสำคัญทั้งฮ่องกง สิงคโปร์และสหรัฐฯลดการนำเข้า อันเป็นผลมาจากข่าวลือเรื่องการผลิตที่ไม่ได้คุณภาพและการใช้ถั่วเหลืองจีเอ็มโอเป็นวัตถุดิบ ส่วนซอสพริกและซอสมะเขือเทศก็ยังมีแนวโน้มขยายตัวอย่างต่อเนื่อง

-เครื่องแกงสำเร็จรูป คาดว่าในปี 2549 มูลค่าตลาดเครื่องแกงเท่ากับ 1,100 ล้านบาท เทียบกับปี 2548 มีอัตราการขยายตัวร้อยละ 10.0 การผลิตเครื่องแกงในทางการค้าแบ่งออกได้เป็น 2 ลักษณะคือ เครื่องแกงสด และเครื่องแกงสำเร็จรูป โดยที่เครื่องแกงสดจะไม่ผสมกะทิสามารถหาซื้อได้ทั่วไปทั้งในตลาดสดและซุปเปอร์มาร์เก็ต ส่วนเครื่องแกงสำเร็จรูปจะนำเอาหัวกะทิมาผสมด้วย แล้วนำไปอบเพื่อลดความชื้น ซึ่งสามารถนำไปปรุงรับประทานได้ทันที ปัจจุบันนอกจากการจำหน่ายเครื่องแกงในตลาดสดแล้ว ผู้ผลิตเครื่องแกงยังมีการเพิ่มช่องทางการจัดจำหน่ายเพื่อสนองตอบต่อพฤติกรรมของลูกค้าที่หันไปจับจ่ายซื้อของในห้างสรรพสินค้า โดยการเพิ่มช่องทางการจำหน่ายเป็นการตักเครื่องแกงจำหน่ายในห้างสรรพสินค้า หรือเปลี่ยนแปลงบรรจุภัณฑ์มาเป็นการบรรจุขวด หรือกระปุกจำหน่าย รวมทั้งเพิ่มประเภทของเครื่องแกงให้มีหลากหลายมากขึ้น รวมทั้งคิดค้นเครื่องแกงสำเร็จรูปประเภทที่เติมน้ำ หรือเติมเนื้อและผักแล้วสามารถรับประทานได้เลย ทั้งนี้เพื่อเพิ่มทางเลือกให้กับผู้บริโภคมากขึ้น เนื่องจากแกงบางอย่างนั้นเครื่องปรุงค่อนข้างยุ่งยาก เช่น น้ำยาที่รับประทานกับขนมจีน ทำให้ในปัจจุบันจะเห็นมีน้ำยาสำเร็จรูปบรรจุกระป๋องวางจำหน่าย

ในช่วง 8 เดือนแรกของปี 2549 มูลค่าการส่งออกเครื่องแกงสำเร็จรูปเท่ากับ 17.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนแล้วเพิ่มขึ้นร้อยละ 14.7 เครื่องแกงสำเร็จรูปนับเป็นเครื่องปรุงรสอาหารที่มีอัตราการขยายตัวของการส่งออกอยู่ในเกณฑ์สูงอย่างต่อเนื่อง

-ผงปรุงรส คาดว่าในปี 2549 มูลค่าของตลาดผงปรุงรสเท่ากับ 5,200 ล้านบาท เทียบกับปี 2548 แล้วมีอัตราการขยายตัวร้อยละ 15.6 ซึ่งแบ่งออกเป็นผลิตภัณฑ์ออกเป็น 2 ประเภทคือ ผงปรุงรสอเนกประสงค์(เหมาะสำหรับการประกอบอาหารทั้งต้ม ผัด แกง ทอด และย่าง)และผงปรุงรสสำหรับทำน้ำซุป(เหมาะสำหรับประกอบอาหารประเภทน้ำ) ซึ่งผงปรุงรสอเนกประสงค์มีจำหน่ายทั้งลักษณะเป็นผงและเป็นก้อนโดยมีมูลค่าตลาดในปี 2549 เท่ากับ 3,600 ล้านบาท อัตราการขยายตัวร้อยละ 15.0นับว่าได้รับความนิยมจากผู้บริโภคเป็นอย่างมาก ทำให้มีนักลงทุนรายใหม่ทยอยเข้ามาลงทุนในตลาด รวมทั้งนักลงทุนรายเก่าก็พยายามคิดค้นสูตรเพื่อสร้างความหลากหลายให้กับผงปรุงรสมากขึ้น อย่างไรก็ตามเมื่อเทียบการเติบโตระหว่างตลาดผลิตภัณฑ์ปรุงรสแบบก้อนและผงนั้น ตลาดผงปรุงรสแบบก้อนเริ่มเกิดภาวะอิ่มตัวและมีอัตราการเติบโตอยู่ในเกณฑ์ต่ำ เนื่องจากผงปรุงรสแบบก้อนมีข้อจำกัดในการปรุงอาหาร โดยประกอบอาหารได้เพียงแค่ทำน้ำซุปอย่างเดียว แต่สำหรับตลาดชนิดผงจะสามารถปรุงอาหารได้หลากหลายวิธีมากกว่า เช่น ผงหมักอาหารประเภทต่างๆ ปรุงอาหารชนิดผัด ผงปรุงน้ำซุปสำหรับทำก๋วยเตี๋ยวประเภทต่างๆ เป็นต้น ส่วนผงปรุงรสสำหรับทำน้ำซุปนั้นมีมูลค่าตลาดในปี 2549 เท่ากับ 1,600 ล้านบาท อัตราการขยายตัวร้อยละ 14.3 โดยผู้ประกอบการต้องการตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคที่นิยมบริโภคอาหารประเภทน้ำที่ไม่ต้องการเสียเวลาในการเคี่ยวน้ำซุป

ส่วนการส่งออกนั้นผงปรุงรสนั้นเป็นผลิตภัณฑ์เครื่องปรุงรสอาหารที่น่าจับตามองอีกประเภทหนึ่ง กล่าวคือ ในช่วง 8 เดือนแรกของปี 2549 มูลค่าการส่งออกผงปรุงรสเท่ากับ 10.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนแล้วเพิ่มขึ้นร้อยละ 18.5

-เครื่องปรุงรสอาหารอื่นๆ ตลาดเครื่องปรุงรสอาหารอื่นๆที่น่าสนใจโดยมีการขยายตัวทั้งตลาดในประเทศและตลาดส่งออก คือ น้ำจิ้มไก่ เต้าเจี้ยว น้ำพริกเผา เป็นต้น โดยในปี 2549 มูลค่าตลาดในประเทศของเครื่องปรุงรสอื่นๆนั้นเท่ากับ 300 ล้านบาท เทียบกับในปีที่ผ่านมามีอัตราการขยายตัวร้อยละ 20.0 โดยบรรดาผู้ประกอบการเน้นการสร้างความหลากหลายของสินค้า และหันมาวิจัยความต้องการของผู้บริโภคเพื่อผลิตสินค้าให้ตรงกับความต้องการของผู้บริโภคมากยิ่งขึ้น ส่วนการส่งออกเครื่องปรุงรสอาหารอื่นๆนั้น ในช่วง 8 เดือนแรกของปี 2549 เท่ากับ 52.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนแล้วเพิ่มขึ้นร้อยละ 22.7 นับว่ามีอัตราการขยายตัวของการส่งออกมากที่สุดในบรรดาเครื่องปรุงรสอาหารทั้งหมด ดังนั้นจึงน่าจะมีการสำรวจตลาดต่างประเทศเพื่อให้สามารถระบุได้ว่าเครื่องปรุงรสอาหารใดเป็นที่นิยมของชาวต่างประเทศ โดยแยกตลาดแต่ละภูมิภาคด้วย ซึ่งจะทำให้ผู้ประกอบการสามารถเจาะขยายตลาดได้อย่างถูกต้องมากยิ่งขึ้น ส่งผลให้ตลาดส่งออกผลิตภัณฑ์เครื่องปรุงรสอาหารมีแนวโน้มขยายตัวอย่างต่อเนื่องในอนาคต

เครื่องปรุงรสอาหารนับว่าเป็นหนึ่งในสินค้าอุตสาหกรรมเกษตรที่ตลาดยังคงขยายตัวได้อย่างต่อเนื่องทั้งตลาดในประเทศและตลาดส่งออก สำหรับในประเทศนั้นมีการเติบโตจากปัจจัยหนุนหลากหลายประการ กล่าวคือ คนไทยหันมานิยมสิ่งปรุงรสหลากหลายประเภทมากขึ้น จากเดิมที่นิยมบริโภคน้ำปลาและซอสถั่วเหลืองเท่านั้น รวมทั้งพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไปของคนไทยที่นิยมบริโภคอาหารที่ต้องการความสะดวกรวดเร็วในการปรุงรสอาหาร ทำให้ผู้ประกอบการในธุรกิจผลิตภัณฑ์เครื่องปรุงรสอาหารมีการวิจัยและพัฒนาเครื่องปรุงรสอาหารให้มีความหลากหลายมากขึ้น ทั้งนี้เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค ส่วนตลาดส่งออกเครื่องปรุงรสอาหารก็มีแนวโน้มขยายตัวเช่นกัน ทั้งนี้เนื่องจากอาหารไทยเริ่มเป็นที่นิยมในต่างประเทศมากขึ้น ดังนั้นจึงมีผลิตภัณฑ์เครื่องปรุงรสอาหารของไทยเข้าไปวางจำหน่ายตามซุปเปอร์มาร์เก็ต ทั้งนี้เพื่อสนองความต้องการของผู้บริโภคที่ต้องการซื้อไปเพื่อปรุงอาหารไทยรับประทานที่บ้าน นอกจากนี้การที่ร้านอาหารไทยในต่างประเทศมีแนวโน้มขยายตัวมากขึ้นก็เป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เครื่องปรุงรสอาหารมีแนวโน้มขยายตัวเช่นเดียวกัน