ภาวะเหล็กปี 50…ในประเทศกระเตื้องแต่ต่างประเทศขึ้นกับจีน

ภาวะตลาดเหล็กของโลกในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมามีความผันผวนมาก ราคาผลิตภัณฑ์เหล็กพุ่งขึ้นและดิ่งลงอย่างรุนแรงในช่วงระหว่างปี 2547-48 อันเป็นผลมาจากความไม่สมดุลอย่างมากระหว่างอุปทานและอุปสงค์เหล็กในตลาดโลก รวมทั้งมีการเก็งกำไรอย่างหนักและการเก็บตุนเหล็กในช่วงที่ราคาผันผวน ภาวะดังกล่าวได้ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมผลิตเหล็กในประเทศไทย ซึ่งยังต้องนำเข้าเหล็กกึ่งวัตถุดิบและเหล็กกึ่งสำเร็จรูปหลากหลายชนิด เพื่อผลิตผลิตภัณฑ์เหล็กต่างๆสำหรับใช้ในการก่อสร้างและอุตสาหกรรมต่อเนื่องนานาประเภท อย่างไรก็ตามในปี 2549 ขณะที่ภาวะตลาดเหล็กของโลกมีความคึกคักและค่อนข้างมีเสถียรภาพ แต่สถานการณ์เหล็กของไทยกลับซบเซา อันเนื่องมาจากปัจจัยลบหลายด้านทั้งเศรษฐกิจและการเมืองในประเทศ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้วิเคราะห์สถานการณ์ตลาดเหล็กของโลกและภาวะอุตสาหกรรมเหล็กในประเทศไทยปี 2549 ตลอดจนคาดการณ์สำหรับปี 2550 ไว้ดังนี้ :

1. สถานการณ์ปี 2549
1.1 ภาวะตลาดเหล็กของโลก
ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เศรษฐกิจของประเทศจีนมีการเติบโตในอัตราที่สูงอย่างต่อเนื่องมาตลอด แม้ว่ารัฐบาลจีนจะได้พยายามดำเนินมาตรการเพื่อชะลอความร้อนแรงของเศรษฐกิจ ทั้งนี้ในปี 2549 เศรษฐกิจจีนยังมีอัตราการเจริญเติบโตสูงกว่าร้อยละ 10 การเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องดังกล่าวยังผลให้ความต้องการโดยรวมในประเทศจีนสูงขึ้น รวมทั้งได้ทำให้ภาคอุตสาหกรรมการผลิตและภาคการค้าของจีนขยายตัวอย่างรวดเร็ว ส่งผลกระทบต่อภาวะการค้าของโลกโดยรวม อันเป็นปรากฏการณ์ที่เรียกว่า China Effect ความร้อนแรงของเศรษฐกิจจีนยังได้ทำให้ความต้องการบริโภคและการผลิตเหล็กของจีนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้อุตสาหกรรมเหล็กของจีนขยายตัวอย่างมาก จนเกิดภาวะอุปทานเหล็กเกินความต้องการในประเทศ ปัจจุบันจีนเป็นประเทศที่มีการผลิตและการบริโภคเหล็กมากที่สุดในโลก คือประมาณ 1 ใน 3 ของอุปทานและอุปสงค์เหล็กทั้งโลก ซึ่งนับว่าเป็นการเติบโตที่รวดเร็วมากจากเมื่อ 2-3 ปีก่อนที่สัดส่วนการผลิตและการบริโภคเหล็กของจีนยังอยู่ที่ประมาณร้อยละ 26-27 ของโลก ทั้งนี้ จากปริมาณผลิตเหล็กของโลกปี 2549 ที่ประมาณการไว้ที่ 1,215 ล้านเมตริกตัน ปรากฏว่าเป็นปริมาณการผลิตเหล็กของจีนถึง 407.5 ล้านเมตริกตัน ซึ่งยังขยายตัวสูงถึงร้อยละ 16.7 แม้ว่าจะเป็นอัตราที่ชะลอตัวลงเมื่อเทียบกับที่ขยายตัวร้อยละ 29 ในปี 2548 แล้วก็ตาม ส่งผลให้ปริมาณผลิตเหล็กของโลกในปี 2549 เพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 7.6 ซึ่งมากกว่าที่คาดการณ์ไว้เดิม มาอยู่ที่ระดับ 1,215 ล้านเมตริกตันดังกล่าว อย่างไรก็ตามแม้ปริมาณการผลิตจะเพิ่มขึ้นมาก แต่ความต้องการใช้เหล็กของโลกในปี 2549 ก็เติบโตมากเช่นกัน โดยขยายตัวถึงร้อยละ 9 (ซึ่งในจำนวนนี้เป็นการเพิ่มของอุปสงค์เหล็กในจีนประมาณร้อยละ 14) เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจโลกปี 2549 มีการเติบโตดี ส่งผลให้อุปทานและอุปสงค์เหล็กของโลกในปี 2549 ค่อนข้างมีความสมดุลกว่าเมื่อ 2-3 ปีก่อน ทำให้ระดับราคาเหล็กในตลาดโลกขยับสูงขึ้นและค่อนข้างมีเสถียรภาพ โดยที่ดัชนีราคารวมผลิตภัณฑ์เหล็ก(Composite Steel Price Index) ของโลกในเดือนพฤศจิกายน 2549 ขยับขึ้นมาอยู่ในระดับเฉลี่ย 158.1 หรือเพิ่มขึ้นเฉลี่ยประมาณร้อยละ14 จากเมื่อต้นปี อันเป็นสถานการณ์ที่ตรงกันข้ามกับในช่วงปี 2547-2548 ที่ราคาเหล็กมีความแปรปรวนมาก โดยดัชนีราคารวมผลิตภัณฑ์เหล็กทะยานขึ้นกว่าร้อยละ 70 ในปี 2547 แต่กลับดิ่งลงอย่างรวดเร็วกว่าร้อยละ 15 ในปี 2548 ภาวะตลาดเหล็กของโลกในปี 2549 จึงนับว่าเป็นการฟื้นตัวที่ค่อนข้างมีเสถียรภาพเมื่อเทียบกับภาวะผันผวนอย่างรุนแรงในช่วง 2 ปีก่อนหน้า ซึ่งส่งผลดีต่อผู้ประกอบการอุตสาหกรรมเหล็กของโลก

1.2 ภาวะอุตสาหกรรมเหล็กในประเทศ
ในทางตรงข้ามขณะที่ภาวะตลาดเหล็กของโลกปี 2549 มีความคึกคัก แต่ตลาดเหล็กในประเทศไทยกลับซบเซาลง ความต้องการใช้เหล็กในประเทศลดน้อยถอยลงอันเป็นผลจากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว สถานการณ์น้ำมันที่ผันผวนและโดยเฉพาะอย่างยิ่งภาวะซบเซาของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์และภาคการก่อสร้าง รวมทั้งสถานการณ์การเมืองในประเทศที่ทำให้การใช้จ่ายในโครงการก่อสร้างต่างๆของภาครัฐหยุดชะงัก ปัจจัยเหล่านี้ได้ส่งผลกระทบต่อตลาดเหล็กในประเทศโดยเฉพาะเหล็กในภาคการก่อสร้าง อาทิ เหล็กเส้นและเหล็กโครงสร้างที่ความต้องการในตลาดหดตัวลงมาก ในขณะที่ความต้องการในผลิตภัณฑ์เหล็กทรงแบน อย่างเหล็กแผ่นรีดร้อน-รีดเย็นและเหล็กแผ่นชุบ ที่ใช้ในอุตสาหกรรมต่อเนื่องต่างๆ เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์ อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ฯลฯ ก็ชะลอตัวลงเช่นกัน ประมาณว่าความต้องการเหล็กในประเทศปี 2549 ลดลงเหลือเพียง 12-13 ล้านตัน จากประมาณ 13.8 ล้านตันในปี 2548 นอกจากนี้ ดัชนีผลผลิตของอุตสาหกรรมเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็กของไทย ในช่วง 10 เดือนแรกปี 2549 ค่อนข้างผันผวนและอ่อนตัวลง โดยดัชนีลดลงจากระดับเฉลี่ยตลอดปี 2548 ที่ 150.1 มาอยู่ที่ระดับ 138.7 ในเดือนตุลาคมที่ผ่านมา (ลดลงประมาณร้อยละ 7.6) และมาอยู่ที่ระดับ 145.5 หากเฉลี่ยตัวเลขดัชนี 10 เดือนแรกของปี 2549 (ซึ่งเท่ากับลดลงประมาณร้อยละ 3 ) และจากสถานการณ์ราคาเหล็กในตลาดโลกที่เพิ่มสูงขึ้นในขณะที่ตลาดเหล็กในประเทศซบเซา ทำให้ผู้ประกอบการขนาดกลาง-ใหญ่หลายรายหันไปส่งออกผลิตภัณฑ์เหล็กมากขึ้น ซึ่งช่วยบรรเทาภาวะหดตัวของอุตสาหกรรมเหล็กในประเทศไทยปี 2549 ไปได้ระดับหนึ่ง ทั้งนี้การส่งออกเหล็ก,เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ในช่วง 10 เดือนแรกปี 2549 มีมูลค่า 2,885 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 18.5 จากช่วงเดียวกันปีก่อนหน้า

2. คาดการณ์ปี 2550
2.1 ตลาดเหล็กโลก
สถาบันเหล็กและเหล็กกล้าระหว่างประเทศ (International Iron and Steel Institute : IISI) ได้คาดการณ์ว่า เนื่องจากการชะลอตัวลงของเศรษฐกิจโลกในปี 2550 จะทำให้ความต้องการบริโภคเหล็กของโลกขยายตัวในอัตราที่ลดลง คือจะเติบโตประมาณร้อยละ 5.2 เทียบกับเกือบร้อยละ 9 ในปี 2549 โดยปริมาณความต้องการจะอยู่ที่ประมาณ 1,179 ล้านเมตริกตัน ในจำนวนนี้จะเป็นปริมาณความต้องการของจีน 413 ล้านเมตริกตัน หรือเติบโตประมาณร้อยละ 10.4 เท่านั้นในปี 2550 เทียบกับร้อยละ 14.4 ในปี 2549 ดังนั้นหากปริมาณการผลิตเหล็กของโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการผลิตของจีนในปี 2550 ขยายตัวช้าลงสอดคล้องกับความต้องการที่ชะลอลงดังกล่าวแล้ว ภาวะตลาดเหล็กของโลกก็จะยังคงมีเสถียรภาพพอสมควรเช่นเดียวกับปี 2549 แต่หากประเทศจีนยังไม่สามารถดำเนินมาตรการได้อย่างมีประสิทธิภาพในการควบคุมปริมาณการผลิตเหล็กให้ขยายตัวช้าลงได้มากพอแล้ว(โดยควรจะขยายตัวประมาณร้อยละ 8-10 ในปี 2550) ก็อาจนำไปสู่ภาวะอุปทานเหล็กส่วนเกินในตลาดโลกดังเช่นที่ได้เกิดขึ้นเมื่อไม่กี่ปีก่อนหน้านี้

ทั้งนี้ในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลจีนได้พยายามดำเนินการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมเหล็กในประเทศเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ปัจจุบันจีนมีจำนวนโรงงานผลิตเหล็กในประเทศมากถึงเกือบ 1,500 แห่ง มีกำลังผลิตรวมกันประมาณ 400 ล้านตันต่อปี แต่ในจำนวนนี้มีไม่ถึงร้อยละ 2 ที่เป็นโรงงานขนาดใหญ่ซึ่งมีความสามารถผลิตเหล็กได้เกินระดับ 5 ล้านตันต่อปี โรงงานเหล็กส่วนใหญ่ในจีนจึงเป็นโรงงานขนาดเล็ก ซึ่งมีการผลิตที่ไม่มีประสิทธิภาพ ใช้พลังงานสิ้นเปลือง อีกทั้งก่อให้เกิดมลภาวะ รัฐบาลจีนจึงต้องการกำจัดหรือลดจำนวนโรงงานเล็กๆที่ไม่มีประสิทธิภาพและมีกำลังผลิตต่ำเหล่านี้ ด้วยการให้ไปควบรวมกับโรงงานใหญ่ๆ ปัจจุบันรัฐบาลจีนมีนโยบายผลักดันให้มีการควบรวมกิจการเหล็กในประเทศเพื่อลดจำนวนผู้ประกอบการ และเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของอุตสาหกรรมเหล็ก โดยตั้งเป้าไว้ว่าภายในปี ค.ศ. 2010 ปริมาณผลิตเของโรงงานขนาดใหญ่ 10 อันดับแรกรวมกันจะต้องมากกว่าครึ่งหนึ่งของปริมาณผลิตเหล็กทั้งหมดของประเทศ นอกเหนือจากนโยบายระยะปานกลาง-ยาวแล้ว ทางการจีนยังได้พยายามใช้มาตรการควบคุมการผลิตเหล็กส่งออก โดยได้มีการประกาศลดอัตราการคืนเงินภาษีวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตเหล็กส่งออก (Tax Rebate) ลง 2 ครั้ง คือจากร้อยละ13 เป็นร้อยละ 11 ในช่วงกลางปี 2548 และลดอีกเหลือร้อยละ 8 เมื่อเดือนกันยายน 2549 เพื่อเป็นการลดแรงจูงใจในการผลิตเหล็กและควบคุมการส่งออกเหล็ก เนื่องจากในอดีตที่ผ่านมาผู้ประกอบการของจีนมักมีการส่งออกอุปทานเหล็กส่วนเกินในประเทศด้วยการทุ่มตลาดในต่างประเทศ ซึ่งส่งผลกระทบในวงกว้างต่อภาวะตลาดเหล็กของโลก
อย่างไรก็ตาม เท่าที่ผ่านมามาตราการดังกล่าวยังไม่ส่งผลที่เด่นชัดนักในการควบคุมปริมาณส่งออกเหล็กของจีน ทั้งนี้ในช่วง 3 ไตรมาสแรกของปี 2549 จีนยังมีการส่งออกเหล็กกว่า 28.6 ล้านเมตริกตัน ซึ่งเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 81 จากปีก่อนหน้า ดังนั้นขณะนี้ผู้ประกอบการและผู้ที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมเหล็กทั่วโลกจึงต่างพุ่งความสนใจไปยังประเทศจีน ด้วยความคาดหวังว่าจีนจะสามารถควบคุมปริมาณการผลิตและการส่งออกเหล็กให้อยู่ในระดับที่สมดุลกับปริมาณความต้องการทั้งในประเทศและในตลาดโลก มิฉะนั้นแล้วภาวะความไม่สมดุลดังกล่าวอาจนำไปสู่ความผันผวนในตลาดเหล็กของโลกและระดับราคาผลิตภัณฑ์เหล็กที่แปรปรวนอย่างมากอีกได้ ดังนั้น จีนซึ่งปัจจุบันมีสัดส่วนปริมาณการผลิตเหล็กสูงถึง 1 ใน 3 ของโลก จึงยังคงเป็นปัจจัยตัวแปรสำคัญที่จะชี้ทิศทางตลาดเหล็กของโลกในปี 2550

2.2 อุตสาหกรรมเหล็กในประเทศ
แม้ว่าตลาดเหล็กในประเทศได้ประสบกับภาวะถดถอยในปี 2549 เนื่องจากการชะลอตัวของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์และการก่อสร้างในประเทศ แต่สำหรับปี 2550 ก็คาดว่าตลาดเหล็กของไทยน่าจะกระเตื้องขึ้นเนื่องจากภาวะเศรษฐกิจไทยที่คาดว่าจะขยายตัวต่อเนื่อง และโดยเฉพาะอย่างยิ่งภาคอสังหาริมทรัพย์และการก่อสร้างที่น่าจะฟื้นตัวจากการที่ภาครัฐจะเร่งรัดการใช้จ่ายในโครงการสาธารณูปโภคต่างๆ ประกอบกับจะมีการซ่อมแซมบ้านเรือน ถนนหนทาง และสาธารณูปโภคที่ได้รับความเสียหายจากเหตุการณ์น้ำท่วมเมื่อปลายปี 2549 ในขณะที่ความต้องการใช้เหล็กในอุตสาหกรรมต่อเนื่องอื่นๆ อย่างเช่น อุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้า อุตสาหกรรมอาหารกระป๋อง ฯลฯ ยังคงเติบโต ส่งผลให้ความต้องการเหล็กในประเทศน่าจะกลับมาเติบโตได้ในอัตราร้อยละ 7-8 มาอยู่ที่ระดับปริมาณ 13-14 ล้านตัน นอกจากนี้ แนวโน้มเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นก็จะช่วยบรรเทาภาระต้นทุนเหล็กกึ่งวัตถุดิบ อาทิ เหล็ก Slab และเหล็ก Billet ที่ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมเหล็กของไทยต้องนำเข้าจากต่างประเทศ ซึ่งปัจจุบันราคาวัตถุดิบเหล็กได้มีแนวโน้มสูงขึ้นตามราคาสินแร่เหล็กในตลาดโลกที่เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมีความเห็นว่า จากภาวะตลาดเหล็กของโลกในปี 2550 ที่ยังคงมีความไม่แน่นอนดังกล่าวข้างต้นเพราะขึ้นอยู่กับระดับการผลิตในประเทศจีนเป็นสำคัญ ดังนั้นหากรัฐบาลจีนสามารถดำเนินมาตรการจำกัดปริมาณผลิตเหล็กอย่างได้ผล ก็จะทำให้อุปทานและอุปสงค์เหล็กของโลกค่อนข้างมีความสมดุลและระดับราคาเหล็กจะมีเสถียรภาพต่อเนื่องจากปี 2549 แต่ในทางตรงข้ามหากปริมาณผลิตของจีนยังคงขยายตัวในอัตราที่สูงอยู่ต่อไป ก็อาจทำให้เกิดภาวะอุปทานส่วนเกินขึ้นในตลาดโลก กระทบต่อระดับราคาเหล็กทั่วโลก ทั้งนี้ แนวโน้มที่กำลังเป็นที่วิตกกังวลในตลาดเหล็กโลกขณะนี้ก็คือ การที่จีนซึ่งเมื่อไม่กี่ปีมานี้เคยเป็นประเทศผู้นำเข้าเหล็กสุทธิปีละกว่า 25 ล้านตัน แต่ปัจจุบันเนื่องจากปริมาณการผลิตในประเทศที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จีนจึงกลับกลายเป็นประเทศผู้ส่งออกเหล็กสุทธิ (Net Steel Exporter) ในตลาดโลก โดยในช่วง 10 เดือนแรกปี 2549 จีนมีการส่งออกผลิตภัณฑ์เหล็กสุทธิแล้วประมาณ 16 ล้านเมตริกตัน และมีแนวโน้มว่าปริมาณการส่งออกอาจจะเพิ่มขึ้นอีก เนื่องจากราคาเหล็กที่สูงขึ้นในตลาดโลกปีนี้ได้จูงใจให้ผู้ประกอบการของจีนยังคงผลิตและส่งออกเหล็กเพิ่มขึ้น ซึ่งหากแนวโน้มยังเป็นเช่นนี้ต่อไปในปี 2550 ท่ามกลางภาวะความต้องการเหล็กในตลาดโลกที่จะชะลอตัวลง ก็อาจนำไปสู่ภาวะอุปทานเหล็กส่วนเกินในตลาดโลกและกระแสการทุ่มตลาด ดังเช่นที่เคยเกิดขึ้นเมื่อ 4-5 ปีก่อน ซึ่งในครั้งนั้น ไทยก็เป็นประเทศหนึ่งที่ได้รับผลกระทบจากการไหลทะลักของเหล็ก อันเนื่องมาจากภาวะเหล็กล้นตลาดโลก

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมีความเห็นว่า จากการที่ตลาดเหล็กของไทยซึ่งมีขนาดเล็กเพียงประมาณร้อยละ 1 ของตลาดโลก อีกทั้งอุตสาหกรรมเหล็กของไทยยังต้องนำเข้าเหล็กกึ่งวัตถุดิบ/กึ่งสำเร็จรูปเป็นจำนวนมากคิดเป็นมูลค่าปีละกว่า 8 พันล้านเหรียญสหรัฐ เพื่อมาใช้ในกระบวนการผลิตเหล็กในขั้นตอนต่างๆ ดังนั้นอุตสาหกรรมและตลาดเหล็กของไทยจึงมีความอ่อนไหวและไม่อาจหลีกเลี่ยงผลกระทบจากภาวะตลาดเหล็กของโลกได้ ซึ่งจากเหตุการณ์ในอดีต จะพบว่ายามใดที่เกิดความผันผวนหรือเกิดภาวะชะลอตัวในตลาดเหล็กโลก ประเทศไทยก็จะได้รับผลกระทบด้วย อย่างไรก็ดี ในยามที่ตลาดเหล็กโลกคึกคักและเติบโตดี ก็ไม่ได้หมายความว่าตลาดเหล็กของไทยจะดีตามไปด้วยเสมอไป หากปัจจัยเศรษฐกิจและการเมืองในประเทศไม่เอื้ออำนวย ดังเช่นเหตุการณ์ในปี 2549 กระนั้นก็ตาม เป็นที่น่าสังเกตว่าในช่วงหลายปีที่ผ่านมาหลังเหตุการณ์วิกฤตเศรษฐกิจปี 2540-41 อุตสาหกรรมเหล็กของไทยได้มีการปรับปรุงพื้นฐานโครงสร้างทั้งในด้านการผลิตให้มีประสิทธิภาพขึ้น และโดยเฉพาะอย่างยิ่งมีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างองค์กรครั้งสำคัญ ซึ่งรวมถึงการควบรวมกิจการระหว่างผู้ประกอบการไทยในประเทศ และการเข้ามาถือหุ้นร่วมทุนโดยผู้ผลิตเหล็กรายใหญ่ๆจากต่างประเทศ จึงหวังกันว่าอุตสาหกรรมเหล็กของไทยในปัจจุบัน จะมีศักยภาพที่จะรับมือกับความผันผวนของตลาดโลกได้ดีกว่าในอดีต