เงินบาทแข็งค่า : เสื้อผ้าสำเร็จรูปนำเข้ารุกตลาดหนัก

ตลาดเสื้อผ้าสำเร็จรูปในประเทศปี 2550 คาดว่าจะประสบปัญหาสินค้าจากต่างประเทศรุกเข้ามาแย่งตลาดกับสินค้าที่ผลิตในประเทศในระดับที่รุนแรง ทั้งนี้เกิดจากปัจจัยหลายประการทั้งทางด้านภัยน้ำท่วมที่เกิดขึ้นในหลายพื้นที่จนส่งผลเสียหายต่อทรัพย์สิน และพื้นที่การเกษตร เป็นจำนวนมาก ส่งผลทำให้เสื้อผ้าสำเร็จรูปจากประเทศที่มีต้นทุนการผลิตต่ำจากจีน อินโดนีเซีย อินเดีย เวียดนามเข้ามาแย่งตลาดในส่วนของกลุ่มประชาชนที่กำลังซื้อถูกกระทบจากปัจจัยดังกล่าว ในขณะเดียวกัน จากปัจจัยทางด้านเงินบาทของไทยที่แข็งค่าขึ้นอย่างรวดเร็วในปี 2549 ต่อเนื่องไปถึงปี 2550 ก็ทำให้สินค้านำเข้าจากประเทศที่ผลิตสินค้าซึ่งเน้นคุณภาพทั้งจากยุโรปหรือสหรัฐฯ รวมทั้งสินค้าจากประเทศในเอเชียเช่น ญี่ปุ่น ฮ่องกง มีต้นทุนนำเข้าที่ลดลง ซึ่งปัจจัยดังกล่าวจะส่งผลกระทบไปถึงผู้ผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูปของไทยทั้งในกลุ่มที่เน้นต้นทุนการผลิตต่ำรวมไปถึงผู้ผลิตสินค้าระดับปานกลาง-สูงภายใต้ตราสินค้าของตนเองต้องเผชิญการแข่งขันที่สูงขึ้น รวมทั้งยังส่งผลกระทบไปถึงอุตสาหกรรมต่อเนื่องทั้ง การผลิต เส้นใย ปั่นด้าย ทอผ้า ฟอกย้อม และพิมพ์ตกแต่งสำเร็จ และการผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูปที่มีแรงงานเกี่ยวข้องรวมกันทั้งหมดถึงประมาณ 1 ล้านคน ทั้งนี้มูลค่านำเข้าเสื้อผ้าสำเร็จรูปปี 2550 คาดว่าจะปรับเพิ่มขึ้นมาเป็น 260 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯขยายตัวร้อยละ 30 เมื่อเทียบกับปี 2549 ที่คาดว่าจะมีมูลค่านำเข้าประมาณ 200 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

สินค้าเสื้อผ้าสำเร็จรูปจากต่างประเทศได้เข้ามามีบทบาทสำคัญในตลาดเสื้อผ้าสำเร็จรูปของไทยในช่วงหลายปีที่ผ่านมา แม้ว่าประเทศไทยเองจะเป็นผู้ส่งออกเครื่องนุ่งห่มรายใหญ่เป็นอันดับ 11 ของโลก ทั้งนี้เป็นไปตามปัจจัยทางด้านการค้าระหว่างประเทศที่เปิดเสรีมากขึ้นทั้งภายใต้ข้อตกลงองค์การการค้าโลก(WTO)และกรอบข้อตกลงเขตการค้าเสรี(FTA) รวมทั้งปัจจัยทางด้านเศรษฐกิจของประเทศ มูลค่าการนำเข้าเสื้อผ้าสำเร็จรูปของไทยปรับเพิ่มขึ้นจาก 91.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯในปี 2540 เพิ่มขึ้นมาเป็น 102.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2545 และ148.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯในปี 2548 หรือคิดเป็นอัตราขยายตัวในช่วงระหว่างปี 2540-2548 เฉลี่ยร้อยละ 15.6 ต่อปี สำหรับในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2549 มูลค่านำเข้าอยู่ที่ 167.0 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯเพิ่มขึ้นร้อยละ 39.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อนโดยมีแหล่งนำเข้าที่สำคัญ 5 ลำดับแรก คือจีน ฮ่องกง อิตาลี สเปน และญี่ปุ่น คิดเป็นสัดส่วนประมาณร้อยละ 43.5 ร้อยละ 14.9 ร้อยละ 6.6 ร้อยละ 5.6 และร้อยละ 4.6 ตามลำดับ และคาดว่าตลอดทั้งปี 2549 การนำเข้าเสื้อผ้าสำเร็จรูปของไทยจะมีมูลค่าประมาณ 200 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯเพิ่มขึ้นร้อยละ 34.9

สำหรับแหล่งนำเข้าเสื้อผ้าสำเร็จรูปที่สำคัญของไทยมีรายละเอียดดังนี้
การนำเข้าสินค้าจากประเทศที่ผลิตสินค้าระดับล่าง ซึ่งจะมีต้นทุนการผลิตต่ำกว่าไทย โดยประเทศในกลุ่มนี้ที่สำคัญมี 7 ประเทศได้แก่ จีน อินโดนีเซีย อินเดีย เวียดนาม ลาว กัมพูชา และบังคลาเทศ ซึ่งไทยมีมูลค่าการนำเข้าในกลุ่มนี้คิดเป็นสัดส่วนประมาณร้อยละ 52 ของมูลค่านำเข้าเสื้อผ้าสำเร็จรูปทั้งหมดของไทย ทั้งนี้มูลค่านำเข้าจากประเทศดังกล่าวข้างต้นเพิ่มขึ้นเป็นลำดับจาก 42.0 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯในปี 2540 เพิ่มขึ้นมาเป็น 64.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯในปี 2545 และ 82.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯในปี 2548 หรือคิดเป็นอัตราขยายตัวในช่วงระหว่างปี 2540-2548 เฉลี่ยร้อยละ 29.8 ต่อปี ส่วนในช่วง 10 เดือนแรกปี 2549 มูลค่านำเข้าอยู่ที่ 86.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯเพิ่มขึ้นร้อยละ 30.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ทั้งนี้หากพิจารณาทางด้านมูลค่านำเข้าในกลุ่มนี้พบว่าจีนเป็นแหล่งเสื้อผ้าสำเร็จรูปที่ไทยนำเข้าคิดเป็นสัดส่วนสูงเป็นลำดับหนึ่งโดยมีมูลค่านำเข้าจาก 40.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯในปี 2540 เพิ่มขึ้นมาเป็น 61.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯในปี 2545 และ 71.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯในปี 2548 ส่วนในช่วง 10 เดือนแรกปี 2549 มูลค่านำเข้ามีทั้งสิ้น 72.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯเพิ่มขึ้นร้อยละ 27.0 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาทางด้านอัตราการขยายตัวของมูลค่านำเข้าในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาจะพบว่า อินเดียและเวียดนาม เป็นประเทศที่ไทยต้องจับตามองเป็นพิเศษ โดยแม้ว่ามูลค่านำเข้าจะยังไม่สูงมากนักเพียงประเทศละ 3.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯในช่วง 10 เดือนแรกปี 2549 แต่เนื่องจากอัตราการขยายตัวทางด้านมูลค่านำเข้าที่สูงมากในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา โดยมูลค่านำเข้าเสื้อผ้าสำเร็จรูปจากอินเดียในช่วงปี 2546-2548 ขยายตัวเพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 55.3 ต่อปี ส่วนการนำเข้าจากเวียดนามมีอัตราขยายตัวเฉลี่ยร้อยละ 66.7 ต่อปี และการนำเข้ายังคงมีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้นเนื่องจากการได้รับสิทธิประโยชน์ทางด้านภาษีจากการเป็นประเทศสมาชิกในอาเซียน นอกจากนี้ภายหลังจากเวียดนามเข้าเป็นสมาชิกองค์การการค้าโลกเมื่อช่วงเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมาจะทำให้อุตสาหกรรมสิ่งทอของเวียดนามมีการขยายตัวทางด้านการผลิตและการส่งออกเพิ่มขึ้น

การนำเข้าสินค้าจากประเทศที่ผลิตสินค้าระดับราคาปานกลาง-สูง เป็นการนำเข้าจากประเทศที่ผลิตสินค้าประณีต สวยงาม ตามรูปแบบที่คิดขึ้นเองหรือผลิตตามรูปแบบแฟชั่นที่ได้รับความนิยมจากยุโรปหรือสหรัฐอเมริกา โดยประเทศในกลุ่มนี้ที่สำคัญได้แก่ ญี่ปุ่น ฮ่องกง สิงคโปร์ และไต้หวัน มูลค่านำเข้าในปี 2540มีมูลค่า 20.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ปรับลดลงมาเหลือเพียง 11.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯและ 11.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯในปี 2541-2542 เนื่องจากกำลังซื้อที่ลดลงภายหลังไทยเจอวิกฤติเศรษฐกิจเมื่อปี 2540 ก่อนที่มูลค่านำเข้าจะปรับเพิ่มขึ้นมาเป็น 20.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯในปี 2545 และ 32.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯในปี 2548 ส่วนในช่วง 10 เดือนแรกปี 2549 มูลค่านำเข้าเสื้อผ้าสำเร็จรูปของไทยจากประเทศในกลุ่มนี้มีทั้งสิ้น 35.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯเพิ่มขึ้นร้อยละ 54.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน อันเป็นผลจากเงินบาทของไทยที่แข็งค่าขึ้นส่งผลให้ต้นทุนการนำเข้าปรับลดลง ทั้งนี้เป็นที่น่าสังเกตว่าประเทศที่มีบทบาทในกลุ่มนี้ได้แก่ฮ่องกงซึ่งเป็นแหล่งนำเข้าเสื้อผ้าสำเร็จรูปรายใหญ่คิดเป็นลำดับ 2 ของไทยรองจากสินค้านำเข้าจากจีนโดยมีการนำเข้าในช่วง 10 เดือนแรกปี 2549 คิดเป็นมูลค่า 24.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯเพิ่มขึ้นร้อยละ 53.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน

การนำเข้าสินค้าจากประเทศที่ผลิตสินค้าระดับสูงและเป็นผู้นำแฟชั่น เป็นสินค้าที่เน้นฝีมือการออกแบบและการตัดเย็บที่นำสมัยสามารถชี้นำแฟชั่นโลกให้ก้าวตามได้ ซึ่งสินค้าในกลุ่มนี้จะมาจากประเทศยุโรปคือ อิตาลี สเปน ฝรั่งเศส และสหราชอาณาจักร รวมทั้งสินค้าที่ผลิตจากสหรัฐอเมริกา และส่วนใหญ่มีราคาจำหน่ายค่อนข้างสูงเนื่องจากถือเป็นประเทศต้นแบบแฟชั่นที่ประเทศต่างๆจะเลียนแบบ โดยการนำเข้าเสื้อผ้าสำเร็จรูปจากกลุ่มประเทศดังกล่าวข้างต้นมีมูลค่า 22.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯในปี 2540 ก่อนที่จะปรับลดลงภายหลังจากประสบกับวิกฤติเศรษฐกิจทำให้มูลค่านำเข้าลดลงเหลือเพียง 10.1 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯในปี 2541 และ 6.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯในปี 2542 ก่อนที่ค่อยๆฟื้นตัวจนมีมูลค่านำเข้าเป็น 19.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯในปี 2548 ส่วนในช่วง 10 เดือนแรกปี 2549 มีมูลค่านำเข้า 30.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯเพิ่มขึ้นร้อยละ 80.5 อันเป็นผลจากเงินบาทของไทยที่แข็งค่าทำให้ต้นทุนนำเข้าลดลง โดยประเทศที่มีบทบาทสำคัญในกลุ่มนี้ได้แก่อิตาลีซึ่งเป็นแหล่งนำเข้าเสื้อผ้าสำเร็จรูปที่มีมูลค่าสูงเป็นอันดับ 3 ของมูลค่าการนำเข้าเสื้อผ้าสำเร็จรูปทั้งหมดของไทยมีมูลค่านำเข้าในช่วง 10 เดือนแรกปี 2549 ทั้งสิ้น 11.1 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯเพิ่มขึ้นร้อยละ 40.2

สำหรับการนำเข้าเสื้อผ้าสำเร็จรูปในปี 2550 คาดว่าจะมีมูลค่าประมาณ 260 ล้านดอลลาร์สหรัฐเพิ่มขึ้นร้อยละ 30 เมื่อเทียบกับปี 2549 ทั้งนี้เป็นที่น่าสังเกตว่าการนำเข้าเสื้อผ้าสำเร็จรูปจะขยายตัวทั้งในส่วนของเสื้อผ้าสำเร็จรูปจากประเทศที่มีต้นทุนการผลิตต่ำเช่นจีน อินเดีย เวียดนาม และเสื้อผ้าสำเร็จรูปที่มีราคาปานกลางถึงสูงจากประเทศที่ตราสินค้าเป็นที่นิยมทั้งจากยุโรปและสหรัฐฯรวมทั้งจากประเทศในเอเชียอาทิ ฮ่องกง ญี่ปุ่น โดยมีปัจจัยสนับสนุนดังนี้

ตลาดเสื้อผ้าสำเร็จรูปราคาถูก แม้ว่าภาวะเศรษฐกิจของไทยในปี 2550 จะยังคงมีแนวโน้มเติบโตในระดับที่ใกล้เคียงกับปี 2549 อย่างไรก็ดี จากการที่ประเทศไทยต้องประสบกับภัยน้ำท่วมที่รุนแรงในภาคเหนือและภาคกลางรวม 47 จังหวัดในช่วงเดือนสิงหาคมจนล่าสุดน้ำได้ลดลงเป็นลำดับ แต่ก็ได้สร้างความเสียหายให้กับทรัพย์สิน อาคารที่อยู่อาศัย และพื้นที่การเกษตรเป็นอย่างมาก โดยมีผู้ได้รับความเดือดร้อนประมาณ 5.18 ล้านคนพื้นที่การเกษตรเสียหายประมาณ 6 ล้านไร่ ซึ่งปัจจัยดังกล่าวส่งผลให้ประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติการณ์น้ำท่วมต้องเตรียมเงินไว้ซื้อวัสดุก่อสร้างซ่อมแซมที่พักอาศัย ซื้อเครื่องใช้ไม้สอยในบ้านที่เสียหาย รวมทั้งต้องเตรียมเงินลงทุนเริ่มต้นธุรกิจและการเพาะปลูกที่เสียหายอย่างหนัก ซึ่งปัจจัยดังกล่าวส่งผลต่อกำลังซื้อของประชาชนในกลุ่มผู้มีรายได้ไม่สูงมากนักโดยเฉพาะเกษตรกร ซึ่งปัจจัยดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อตลาดเสื้อผ้าราคาถูกที่ผลิตในประเทศ เนื่องจากกลุ่มลูกค้าที่มีรายได้ไม่สูง จะหันไปซื้อเสื้อผ้าสำเร็จรูปในระดับราคาถูกที่นำเข้าจากประเทศที่มีต้นทุนการผลิตต่ำทดแทนทั้งนี้เพื่อให้เหมาะสมกับกำลังซื้อที่มีจำกัด

ตลาดเสื้อผ้าสำเร็จรูปในระดับปานกลาง-สูง ผลจากการที่เงินบาทของไทยแข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่องจากค่าเฉลี่ยที่คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 37.9 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯในปี 2549 และคาดว่าจะมาอยู่ที่ระดับเฉลี่ยประมาณ 35.4 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯในปี 2550 ส่งผลให้เสื้อผ้าสำเร็จรูปราคาปานกลางถึงสูงจากประเทศผู้นำแฟชั่นทั้งยุโรปและสหรัฐฯรวมทั้งสินค้าจากประเทศในเอเชียอาทิ ญี่ปุ่น ฮ่องกง สิงคโปร์มีต้นทุนนำเข้าในรูปเงินบาทลดลง จูงใจให้เกิดการนำเข้าเพื่อตอบสนองความต้องการของกลุ่มผู้บริโภคที่ชื่นชอบคุณภาพและรูปแบบสินค้าจากต่างประเทศเพิ่มขึ้น โดยผู้นำเข้าสามารถนำเอาต้นทุนที่ปรับลดลงมาตั้งราคาจำหน่ายในระดับที่ต่ำลงเพื่อเพิ่มยอดขายให้สูงขึ้น ในขณะเดียวกัน จากการแข็งค่าของเงินบาทจะเป็นปัจจัยผลักดันให้คนไทยที่มีรายได้สูงเดินทางไปท่องเที่ยวและซื้อสินค้าจากต่างประเทศเพิ่มขึ้นเนื่องจากภาระค่าใช้จ่ายที่ปรับลดลง ซึ่งสินค้าที่นักท่องเที่ยวนิยมซื้อกลับมาส่วนใหญ่จะเป็นเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายซึ่งมีรูปแบบสวยงามและมีราคาถูกกว่าการซื้อในประเทศ

เป็นที่น่าสังเกตว่า ค่าใช้จ่ายทางด้านเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่มของครัวเรือนไทยมีการเพิ่มขึ้นเป็นลำดับจากประมาณ 311 บาทต่อเดือนต่อครัวเรือน หรือคิดเป็นมูลค่าตลาดเสื้อผ้าสำเร็จรูปประมาณ 70,000 ล้านบาทในปี 2547 เพิ่มขึ้นมาเป็นประมาณ 366 บาทต่อเดือนต่อครัวเรือนหรือคิดเป็นมูลค่าตลาดเสื้อผ้าสำเร็จรูปประมาณ 84,000 ล้านบาทในปี 2549(ข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติ) ดังนั้นจะเห็นได้ว่ามูลค่าตลาดเสื้อผ้าสำเร็จรูปในประเทศในปีหนึ่งๆจะอยู่ในระดับที่ค่อนข้างสูง ซึ่งเม็ดเงินดังกล่าวกระจายไปสู่อุตสาหกรรมเกี่ยวข้องต่างๆตั้งแต่การผลิตเส้นใย ปั่นด้าย ทอผ้า ฟอกย้อมพิมพ์ตกแต่ง และสุดท้ายที่เสื้อผ้าสำเร็จรูป รวมแรงงานที่เกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมสิ่งทอทั้งหมดประมาณ 1 ล้านคน ทั้งนี้คาดว่า ตลาดเสื้อผ้าสำเร็จรูปในประเทศนับวันจะถูกสินค้านำเข้ารุกแย่งส่วนแบ่งตลาดกับสินค้าที่ผลิตในประเทศในระดับที่รุนแรงเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะสินค้าเสื้อผ้าสำเร็จรูปจากประเทศที่มีต้นทุนการผลิตต่ำอาทิ จีน อินเดีย อินโดนีเซีย และเวียดนาม มีแนวโน้มที่จะเข้ามาสร้างฐานตลาดในไทยเพิ่มมากขึ้น ทั้งนี้เนื่องจากสินค้าจากประเทศเหล่านี้เริ่มถูกกีดกันจากประเทศผู้นำเข้ารายใหญ่ทั้งสหรัฐฯและสหภาพยุโรปที่ต่างใช้มาตรการทางการค้าเพื่อปกป้องผู้ประกอบการในประเทศ ส่งผลให้จำเป็นต้องแสวงหาตลาดใหม่ๆที่ประเทศเหล่านี้ยังไม่ได้เข้าไปขยายตลาดอย่างจริงจัง โดยเฉพาะประเทศไทยซึ่งการผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูปมีต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้นทำให้สินค้าในกลุ่มสินค้าที่แข่งขันทางด้านราคาได้รับผลกระทบ โดยปัจจุบันนอกจากการเข้ามาตั้งตัวแทนจำหน่ายหรือเข้ามาขยายตลาดด้วยตนเองตามแหล่งซื้อขายทั่วไปแล้ว เสื้อผ้าสำเร็จรูปจากต่างประเทศยังมีการรุกเข้าไปจำหน่ายปลีกและส่งยังช่องทางตลาดอิเล็กทรอนิกส์หรืออินเตอร์เน็ตเพื่อให้ผู้สนใจติดตามข้อมูลและสั่งซื้อสินค้าได้สะดวกเพิ่มขึ้นอีกด้วย

ดังนั้น เพื่อบรรเทาและลดผลกระทบจากการเข้ามาแย่งตลาดของสินค้าเสื้อผ้าสำเร็จรูปจากต่างประเทศ ผู้ประกอบการเสื้อผ้าสำเร็จรูปของไทยในส่วนที่ผลิตสินค้าที่จำหน่ายในประเทศที่ไม่เน้นตราสินค้าและจำหน่ายในราคาไม่แพงจำเป็นต้องหาหนทางลดต้นทุนการผลิตด้วยการลดการสูญเสียวัตถุดิบในกระบวนการผลิต การย้ายฐานการผลิตไปยังพื้นที่ซึ่งมีแรงงานและค่าจ้างถูกกว่า รวมทั้งต้องพัฒนาคุณภาพสินค้าให้ผู้ซื้อสามารถเปรียบเทียบได้ว่ามีเหนือกว่าสินค้านำเข้าราคาถูกจากต่างประเทศ สำหรับในส่วนของผู้ประกอบการที่ผลิตสินค้าในระดับราคาปานกลางถึงสูงภายใต้ตราสินค้าและการออกแบบของตนเองนอกจากต้องพัฒนาคุณภาพสินค้าในเบื้องต้นแล้วยังจำเป็นต้องพัฒนารูปแบบสินค้าให้มีความแตกต่างและโดดเด่นให้ตรงกับรสนิยมของผู้ซื้อที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา สำหรับในส่วนของทางภาครัฐเอง นอกจากการออกมาตรการกระตุ้นให้ประชาชนหันมาใช้สินค้าไทยเพื่อลดการนำเข้าแล้ว ขณะเดียวกันก็จำเป็นต้องเข้ามาตรวจสอบอย่างใกล้ชิดว่าสินค้านำเข้าจากต่างประเทศมีราคาขายถูกกว่าความเป็นจริงและได้เข้ามาทุ่มตลาดจนส่งผลเสียหายต่อผู้ผลิตในประเทศอย่างรุนแรงหรือไม่ ทั้งนี้เพื่อที่จะได้พิจารณาถึงความเป็นไปได้ของการนำเอามาตรการทางการค้าซึ่งองค์การการค้าโลกได้อนุญาตให้ประเทศต่างๆนำมาใช้เพื่อปกป้องตนเองเช่น มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด(Anti-Dumping) มาตรการปกป้องการนำเข้าสินค้าที่เพิ่มขึ้น(Safeguard) เป็นต้น

กล่าวโดยสรุปแล้ว ในปี 2550 คาดว่ามูลค่าการนำเข้าเสื้อผ้าสำเร็จรูปของไทยจะเพิ่มขึ้นในอัตราที่สูงทั้งในส่วนของเสื้อผ้าสำเร็จรูปราคาถูกจากประเทศ จีน อินเดีย อินโดนีเซีย เวียดนาม รวมทั้งเสื้อผ้าสำเร็จรูปที่มีราคาสูงที่นำเข้าจากประเทศในเอเชียอย่างญี่ปุ่น ฮ่องกง และสินค้าจากยุโรปและสหรัฐอเมริกา ดังนั้น ทั้งภาครัฐและผู้ประกอบการจำเป็นต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เพราะหากปล่อยให้สินค้านำเข้าจากต่างประเทศสามารถขยายฐานตลาดและช่องทางการจำหน่ายสินค้าให้กว้างขวางแข็งแกร่งมากขึ้นจะส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการในประเทศในระดับที่รุนแรง ดังนั้นการเตรียมความพร้อมและเสริมสร้างขีดความสามารถทางการแข่งขันเพื่อรองรับการแข่งขันที่เพิ่มขึ้นจึงเป็นสิ่งจำเป็นยิ่งสำหรับผู้ประกอบการในประเทศนับจากนี้ไป