ถุงมือยางปี’50 : ส่งออกยังขยายตัว…น่ากลัวคู่แข่งจีน

ถุงมือยางจัดเป็นผลิตภัณฑ์ยางที่มีความสำคัญรองจากยางยานพาหนะ ปัจจุบันความต้องการถุงมือยางในตลาดโลกยังคงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ความต้องการน้ำยางข้นเพิ่มขึ้นตามไปด้วย แม้ว่าในช่วงที่ราคายางธรรมชาติอยู่ในเกณฑ์สูง แต่ในการผลิตถุงมือยาง โดยเฉพาะถุงมือยางที่ใช้ในทางการแพทย์ยังจำเป็นต้องใช้น้ำยางข้นเป็นวัตถุดิบ ทั้งนี้เพื่อความปลอดภัยทางการแพทย์ ในอนาคตความต้องการถุงมือยางในตลาดโลกยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทั้งถุงมือยางที่ใช้ในทางการแพทย์ และถุงมือยางที่ใช้ในอุตสาหกรรมอื่นๆ เนื่องจากกระแสความวิตกกังวลและความต้องการรักษาสุขอนามัยในการผลิต โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมอาหารและบริการ ในตลาดโลกไทยครองอันดับต้นๆในการส่งออกถุงมือยาง โดยครองอันดับสองในการส่งออกถุงมือยางใช้ในครัวเรือนและอื่นๆ และครองอันดับสามในการส่งออกถุงมือยางที่ใช้ในทางการแพทย์ แต่การส่งออกถุงมือยางของไทยต้องเผชิญการแข่งขันที่ท้าทายจากมาเลเซียที่ครองอันดับหนึ่งในการส่งออกถุงมือยางทั้งสองประเภทที่พยายามเพิ่มสัดส่วนตลาดในการส่งออก และคู่แข่งที่กำลังมาแรงทั้งจากอินโดนีเซียและจีน ทำให้ผู้ผลิตและผู้ส่งออกถุงมือยางของไทยต้องเร่งปรับตัวเพื่อรักษาและแย่งชิงส่วนแบ่งในตลาดโลก โดยเฉพาะการปรับเทคโนโลยีการผลิตให้ทันสมัยและตรงตามความต้องการของผู้บริโภค ทั้งนี้เพื่อเพิ่มศักยภาพในการแข่งขัน เนื่องจากคู่แข่งสำคัญของไทยล้วนแต่เป็นประเทศที่สามารถผลิตยางธรรมชาติและกำลังขยายกำลังการผลิตยางธรรมชาติในประเทศ

วัตถุดิบหลักที่ใช้ในการผลิตถุงมือยางคือ น้ำยางข้น ซึ่งปริมาณการผลิตน้ำยางของไทยในแต่ละปีเฉลี่ยประมาณ 300,000 ตัน หรือคิดเป็นร้อยละ 15 ของปริมาณผลผลิตยางธรรมชาติทั้งหมดของไทย ปัจจุบันปริมาณการใช้ยางธรรมชาติที่ผลิตได้ในประเทศป้อนโรงงานถุงมือยางมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยปริมาณการใช้ยางธรรมชาติสำหรับผลิตถุงมือยางนี้นับว่ามากเป็นอันดับสองรองจากความต้องการของอุตสาหรรมยางยานพาหนะ ผู้ผลิตถุงมือยางในประเทศไทยมีอยู่ประมาณ 56 ราย มีกำลังการผลิตรวมกันประมาณ 12 ล้านคู่ต่อปี โดยถุงมือยางที่ผลิตได้ส่วนใหญ่จะส่งออกไปจำหน่ายต่างประเทศ

มูลค่าการส่งออกถุงมือยางในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2549 เท่ากับ 461.90 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ(ประมาณ 17,680 ล้านบาท) เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนแล้วเพิ่มขึ้นร้อยละ 10.5 โดยแยกเป็นผลิตภัณฑ์ดังนี้

-ถุงมือยางใช้ในครัวเรือนและอื่นๆ สัดส่วนการส่งออกถุงมือยางใช้ในครัวเรือนและอื่นๆคิดเป็นร้อยละ 87.0 ของมูลค่าการส่งออกถุงมือยางทั้งหมด มูลค่าการส่งออกถุงมือยางใช้ในครัวเรือนและอื่นๆในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2549 เท่ากับ 402.48 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ(ประมาณ 15,406 ล้านบาท) เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนแล้วเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.5 ประเด็นที่น่าสนใจคือ ในช่วงระยะ 5 ปีที่ผ่านมาอัตราการขยายตัวของการส่งออกถุงมือยางใช้ในครัวเรือนและอื่นๆไม่สูงมากนัก เนื่องจากการเผชิญการแข่งขันรุนแรงในตลาดส่งออกสำคัญ โดยตลาดส่งออกหลักคือ สหรัฐฯมีสัดส่วนตลาดร้อยละ 49.2 รองลงมาคือ เยอรมนีร้อยละ 8.7 อังกฤษและเนเธอร์แลนด์ร้อยละ 5.0 ทั้งสองประเทศ และญี่ปุ่นร้อยละ 4.1 คู่แข่งสำคัญของไทยในตลาดโลกคือ มาเลเซีย ซึ่งครองอันดับหนึ่งในทุกตลาดส่งออก ส่วนคู่แข่งที่กำลังมาแรงคือ อินโดนีเซียและจีน โดยทั้งสองประเทศนี้ครองอันดับสามและสี่รองจากไทยในทุกตลาดส่งออกเช่นกัน ยกเว้นในตลาดสหภาพยุโรปที่ศรีลังกาครองตลาดอันดับสี่ ในขณะที่อินโดนีเซียตกไปอยู่อันดับที่ห้า

ในตลาดโลกประเทศที่นำเข้าถุงมือยางใช้ในครัวเรือนและอื่นๆ 3 อันดับแรกในตลาดโลกคือ สหรัฐฯ สหภาพยุโรป และญี่ปุ่น เมื่อแยกพิจารณาสภาพการแข่งขันของไทยในแต่ละตลาดแล้ว ปรากฏว่าในตลาดสหรัฐฯ มาเลเซียแย่งอันดับหนึ่งไปจากไทยตั้งแต่ปี 2546 ประเด็นที่น่าสนใจของตลาดสหรัฐฯคือ ใน 5 อันดับแรกของประเทศที่สหรัฐฯนำเข้าถุงมือยางใช้ในครัวเรือนและอื่นๆ นั้น มีไทยเพียงประเทศเดียวเท่านั้นที่ส่วนแบ่งในตลาดสหรัฐฯมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่ประเทศอื่นๆทั้งมาเลเซีย จีน อินโดนีเซีย และศรีลังกานั้นสัดส่วนตลาดยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง หรืออาจกล่าวได้ว่าสหรัฐฯหันไปนำเข้าถุงมือยางใช้ในครัวเรือนและอื่นๆจากประเทศคู่แข่งของไทยมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะอินโดนีเซียอัตราการขยายตัวอยู่ในเกณฑ์สูง ซึ่งมีแนวโน้มว่าจะสามารถแซงขึ้นมาเป็นอันดับสามแทนจีน

ส่วน ตลาดสหภาพยุโรป ไทยครองอันดับสองรองจากมาเลเซียมาเป็นเวลานาน ประเด็นที่น่าวิตกสำหรับตลาดนี้คือ จีนซึ่งมีสัดส่วนตลาดเป็นอันดับสามนั้นมีอัตราการขยายตัวอยู่ในเกณฑ์สูง ทำให้คาดว่าในระยะ 1-2 ปีนี้ จีนจะสามารถแซงไทยขึ้นไปเป็นอันดับสองในตลาดสหภาพยุโรปกล่าวคือ ในปี 2548 มูลค่าการนำเข้าจากไทยเท่ากับ 58.80 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เมื่อเทียบกับในปีที่ผ่านมาลดลงร้อยละ 2.2 ส่วนมูลค่าการนำเข้าจากจีนเท่ากับ 41.00 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เมื่อเทียบกับในปีที่ผ่านมาเพิ่มขึ้นร้อยละ 11.3
สำหรับตลาดญี่ปุ่น ไทยครองตลาดเป็นอันดับสามรองจากมาเลเซียและจีน โดยมีอินโดนีเซียตามมาเป็นอันดับสี่ ประเด็นที่น่าสนใจคือ มูลค่าการส่งออกของไทยขยับเข้าไปใกล้จีน คาดว่าจะสามารถแซงจีนขึ้นเป็นอันดับสองได้ภายในระยะ 2-3 ปี กล่าวคือ มูลค่าการส่งออกของไทยในปี 2548 เท่ากับ 18.38 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เทียบกับปีที่ผ่านมาเพิ่มขึ้นร้อยละ 10.4 ในขณะที่มูลค่าการส่งออกของจีนเท่ากับ 22.73 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เทียบกับปีที่ผ่านมาเพิ่มขึ้นเพียงร้อยละ 5.7 ส่วนอินโดนีเซียนั้นแม้ว่ามูลค่าส่งออกยังไม่มากนัก แต่อัตราการขยายตัวอยู่ในเกณฑ์ที่สูงมาก กล่าวคือ มูลค่าการส่งออกของอินโดนีเซียเท่ากับ 4.63 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เทียบกับปีที่ผ่านมาเพิ่มขึ้นร้อยละ 35.3

-ถุงมือยางใช้ในทางการแพทย์ สัดส่วนการส่งออกถุงมือยางใช้ในทางการแพทย์คิดเป็นร้อยละ 13.0 ของมูลค่าการส่งออกถุงมือยางทั้งหมด มูลค่าการส่งออกถุงมือยางในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2549 เท่ากับ 59.42 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ(ประมาณ 2,270 ล้านบาท) เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนแล้วเพิ่มขึ้นร้อยละ 31.4 นับว่าอัตราการขยายตัวของการส่งออกถุงมือยางใช้ในทางการแพทย์อยู่ในเกณฑ์สูงต่อเนื่องจากปี 2548 หลังจากที่การส่งออกชะลอตัวในปี 2547 ตลาดส่งออกหลักคือ สหรัฐฯมีสัดส่วนร้อยละ 54.5 ของมูลค่าการส่งออก รองลงมาคือ อังกฤษร้อยละ 10.3 เยอรมนีร้อยละ 6.5 อิตาลีร้อยละ 2.9 อินเดียร้อยละ 2.0 และญี่ปุ่นร้อยละ 1.4 ในตลาดโลกไทยเป็นประเทศผู้ส่งออกถุงมือยางใช้ในทางการแพทย์เป็นอันดับสามของโลกรองจากมาเลเซียและจีน โดยจีนแซงหน้าไทยขึ้นไปครองอันดับสองตั้งแต่ปี 2547 นอกจากนี้เป็นที่น่าสังเกตว่ามูลค่าการส่งออกถุงมือยางใช้ในทางการแพทย์ของออสเตรียซึ่งอยู่ในอันดับสี่ของโลกนั้นค่อนข้างใกล้เคียงกับไทย และในปี 2547 นั้นสามารถแซงขึ้นเป็นอันดับสามแทนที่ไทยได้ แต่ในปี 2548 ก็กลับลงไปอยู่ในอันดับที่สี่ตามเดิม ส่วนคู่แข่งที่กำลังมาแรงคือ อินโดนีเซีย แม้ว่ามูลค่าการส่งออกยังไม่สูงมากนัก แต่อัตราการขยายตัวนั้นเพิ่มสูงอย่างโดดเด่นมาก กล่าวคือ ในปี 2548 มูลค่าการส่งออกของอินโดนีเซียเท่ากับ 20.51 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เมื่อเทียบกับปี 2547 แล้วเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 83.0

ในตลาดโลกนั้นประเทศที่นำเข้าถุงมือยางใช้ในทางการแพทย์ 3 อันดับแรกคือ สหภาพยุโรป สหรัฐฯ และญี่ปุ่น โดยทั้งในตลาดสหภาพยุโรปและสหรัฐฯนั้นความต้องการนำเข้าถุงมือยางใช้ในทางการแพทย์มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่วนในญี่ปุ่นนั้นมูลค่าการนำเข้าในปี 2548 ลดลง กล่าวคือ มูลค่าการนำเข้าของญี่ปุ่นในปี 2548 เท่ากับ 26.51 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เมื่อเทียบกับปี 2547 แล้วลดลงร้อยละ 1.0 โดยมูลค่าการนำเข้าทั้งจากมาเลเซียและไทยที่ครองอันดับ 1 และ 2 ในตลาดญี่ปุ่นมีแนวโน้มลดลง ประเด็นที่น่าสนใจคือ ญี่ปุ่นหันไปนำเข้าถุงมือยางใช้ในทางการแพทย์จากสหรัฐฯ ศรีลังกาและเกาหลีใต้เพิ่มขึ้น แม้ว่ามูลค่าการนำเข้าจากประเทศเหล่านี้ยังไม่สูงมากนัก แต่ผู้ส่งออกของไทยต้องเร่งศึกษาพฤติกรรมการนำเข้าที่เปลี่ยนแปลงไปของตลาดญี่ปุ่นเพื่อดึงส่วนแบ่งตลาดกลับมา

ส่วนตลาดสหภาพยุโรปไทยครองตลาดเป็นอันดับสองรองจากมาเลเซีย โดยสัดส่วนตลาดของมาเลเซียและไทยคิดเป็นร้อยละ 80.0 ของมูลค่าการนำเข้าของตลาดสหภาพยุโรป คู่แข่งที่กำลังมาแรง คือ จีน ศรีลังกา สหรัฐฯ ไต้หวัน และเวียดนาม ซึ่งประเทศเหล่านี้ล้วนมีอัตราการขยายตัวของการนำเข้าในตลาดสหภาพยุโรปอยู่ในเกณฑ์สูง ในขณะที่มูลค่าการนำเข้าทั้งจากมาเลเซียและไทยแม้ว่าจะยังคงมีอัตราการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง แต่ก็ไม่ได้สูงมากนัก แสดงให้เห็นว่าสหภาพยุโรปเริ่มกระจายตลาดการนำเข้าถุงมือยางใช้ในทางการแพทย์

สำหรับตลาดสหรัฐฯไทยครองตลาดเป็นอันดับสองรองจากมาเลเซีย โดยสัดส่วนตลาดของมาเลเซียและไทยคิดเป็นเกือบร้อยละ 90.0 ของมูลค่าการนำเข้าของตลาดสหรัฐฯ คู่แข่งที่กำลังมาแรงในตลาดนี้คือ เยอรมนี ออสเตรีย อินโดนีเซีย อินเดีย และไต้หวัน ซึ่งประเทศเหล่านี้มูลค่าการนำเข้าในตลาดสหรัฐฯยังไม่สูงมากนัก แต่มีอัตราการขยายตัวอยู่ในเกณฑ์สูง

ในอนาคตคาดว่าความต้องการถุงมือยางในตลาดโลกยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยความต้องการใช้ถุงมือยางจากยางธรรมชาติทั่วโลกราวปีละ 120,000 ล้านชิ้น และมีอัตราการเติบโตร้อยละ 15-20 ต่อปี ปัจจุบันถุงมือยางกลายเป็นสิ่งจำเป็นในอุตสาหกรรมมากมายนอกเหนือจากอุตสาหกรรมการแพทย์และทันตกรรม โดยเฉพาะในอาหารและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับเรื่องสุขอนามัย การที่น้ำยางข้นซึ่งเป็นวัตถุดิบสำคัญในการผลิตถุงมือยางมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นนั้นส่งผลให้ผู้ผลิตถุงมือยางต้องขึ้นราคาถุงมือยาง อย่างไรก็ตามผลกระทบของการขึ้นราคาถุงมือยางนั้นไม่ได้ส่งผลกระทบกับผู้นำเข้าถุงมือยางมากเท่ากับส่งผลให้เกิดการแข่งขันในการแย่งชิงส่วนแบ่งตลาดมากขึ้นของบรรดาประเทศผู้ผลิตถุงมือยาง กล่าวคือ ประเทศผู้นำเข้าถุงมือยางยอมรับได้กับการขึ้นราคาถุงมือยาง และความต้องการถุงมือยางในตลาดโลกก็ยังคงขยายตัวอย่างต่อเนื่อง อันเป็นผลมาจากกระแสการรักษาสุขภาพอนามัยของผู้บริโภค ความเข้มงวดด้านสุขอนามัยในการผลิตโดยเฉพาะอุตสาหกรรมการผลิตอาหารและอุตสาหกรรมบริการ รวมทั้งกระแสวิตกเกี่ยวกับโรคระบาดและภัยการก่อการร้ายด้วยอาวุธชีวภาพ

ปัจจุบันมาเลเซียครองส่วนแบ่งตลาดโลกร้อยละ 60 โดยครองสัดส่วนตลาดเป็นอันดับหนึ่งทั้งในตลาดถุงมือยางที่ใช้ในทางการแพทย์และถุงมือยางในครัวเรือนและอื่นๆ แม้ว่าในปี 2549 นี้มาเลเซียจะเพิ่มราคาส่งออกถุงมือยาง เนื่องจากราคายางในช่วงที่ผ่านมาเพิ่มขึ้น แต่ผู้ส่งออกถุงมือยางของมาเลเซียคาดว่าความต้องการถุงมือยางในตลาดโลกยังคงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น และมาเลเซียยังคงรักษาส่วนแบ่งตลาดไว้ได้ เนื่องจากผู้ผลิตถุงมือยางของมาเลเซียทุ่มงบประมาณเป็นจำนวนมากในการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ถุงมือยางอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งการส่งออกถุงมือยางที่ใช้ในทางการแพทย์ของมาเลเซียนั้นต้องผ่านมาตรฐานที่เข้มงวดของรัฐบาลมาเลเซีย และต้องมีปริมาณโปรตีนจากยางน้อยที่สุดทั้งนี้เพื่อลดปัญหาการแพ้โปรตีนจากยางของผู้ใช้ถุงมือยาง ซึ่งเป็นปัญหาที่ต้องเร่งแก้ไขของบรรดาประเทศผู้ผลิตถุงมือยาง นอกจากนี้จากการที่รัฐบาลมาเลเซียเริ่มหันมาสนับสนุนการขยายพื้นที่ปลูกยางอีกครั้งหนึ่ง ทำให้คาดว่าในอนาคตมาเลเซียมีปริมาณน้ำยางข้นเป็นวัตถุดิบเพียงพอสำหรับป้อนโรงงานผลิตภัณฑ์ยาง และจะลดการพึ่งพิงการนำเข้าน้ำยางข้นจากไทย

ส่วนอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นคู่แข่งในการส่งออกถุงมือยางที่น่าจับตามอง โดยอินโดนีเซียมีกำลังการผลิตถุงมือยางประมาณ 9,500 ล้านชิ้นต่อปี ซึ่งเมื่อรวมกำลังการผลิตของมาเลเซีย ไทยและอินโดนีเซียแล้วคิดเป็นร้อยละ 90.0 ของกำลังการผลิตถุงมือยางในตลาดโลก ประเด็นที่น่าสนใจของอุตสาหกรรมถุงมือยางในอินโดนีเซียคือ ปริมาณการผลิตยางของอินโดนีเซียมีแนวโน้มขยายตัวอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2544 และตั้งแต่ปี 2547 เป็นต้นมาอัตราการขยายตัวของปริมาณการผลิตยางของอินโดนีเซียนั้นเพิ่มขึ้นมากกว่าไทยอย่างเห็นได้ชัด กล่าวคือในปี 2547-2549 อัตราการขยายตัวของปริมาณผลผลิตยางของอินโดนีเซียเท่ากับร้อยละ 15.3 ,9.9 และ 8.8 ตามลำดับ และมีโอกาสสูงมากที่อินโดนีเซียจะแซงไทยขึ้นเป็นประเทศผู้ผลิตยางอันดับหนึ่งของโลก ซึ่งเท่ากับว่าอินโดนีเซียมีปริมาณวัตถุดิบเพียงพอในการป้อนโรงงานอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ยาง รวมทั้งมีอุตสาหกรรมถุงมือยางของมาเลเซียย้ายฐานเข้าไปตั้งโรงงานผลิตถุงมือยางในอินโดนีเซีย ปัญหาประการเดียวของอินโดนีเซียในการผลิตถุงมือยางคือ การขาดแคลนพลังงานโดยเฉพาะก๊าซธรรมชาติที่จะเดินเครื่องโรงงานผลิตถุงมือยาง ซึ่งทำให้คาดว่ากำลังการผลิตถุงมือยางในปี 2549 นี้จะลดน้อยลง

สำหรับจีนนั้นสามารถก้าวขึ้นมาเป็นคู่แข่งที่สำคัญของไทยในการส่งออกถุงมือยางเนื่องจากบริษัทที่ผลิตถุงมือยางที่สำคัญของมาเลเซียเข้าไปตั้งโรงงานผลิต อันเป็นผลมาจากการเล็งเห็นว่าจีนนั้นเป็นตลาดใหญ่ในอนาคต เนื่องจากการขยายตัวของโรงงานอุตสาหกรรมอาหารและธุรกิจบริการภายในจีน นอกจากนี้ยังมีปัจจัยหนุนในเรื่องค่าแรงงานที่อยู่ในเกณฑ์ต่ำและการขยายพื้นที่ปลูกยาง ซึ่งสามารถจะเป็นฐานวัตถุดิบสำหรับป้อนโรงงานในอนาคต ซึ่งการเข้าไปตั้งโรงงานผลิตเท่ากับเข้าไปครองตลาดในประเทศจีน รวมทั้งยังจะเป็นฐานขยายการส่งออก และในปี 2550 จะมีการตั้งโรงงานผลิตถุงมือยางเพิ่มขึ้นในจีน ทำให้จีนนั้นเป็นคู่แข่งที่ถุงมือยางที่น่าจับตามองในอนาคต

ปัจจุบันไทยยังคงครองอันดับต้นๆของการส่งออกถุงมือยาง โดยอาศัยความได้เปรียบในฐานะที่เป็นประเทศผู้ผลิตยางอันดับหนึ่งของโลก อย่างไรก็ตามผู้ส่งออกถุงมือยางของไทยต้องเร่งปรับตัว โดยเฉพาะเทคโนโลยีการผลิตและการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ตรงตามความต้องการของผู้บริโภค เนื่องจากการแข่งขันการค้าถุงมือยางในตลาดโลกเริ่มรุนแรงมากขึ้นจากผู้ส่งออกรายเดิมคือ มาเลเซีย และผู้ส่งออกรายใหม่โดยเฉพาะจีนและอินโดนีเซีย เนื่องจากมาเลเซียซึ่งเป็นผู้ผลิตและส่งออกถุงมือยางอันดับหนึ่งของโลกปรับกลยุทธ์ในการขยายการลงทุนเข้าไปตั้งโรงงานผลิตถุงมือยางในประเทศที่เป็นตลาดขนาดใหญ่อย่างจีน ทำให้จีนก้าวขึ้นเป็นผู้ส่งออกถุงมือยางอันดับต้นๆของโลก และเป็นคู่แข่งการส่งออกถุงมือยางที่น่าจับตามองของไทย เนื่องจากจีนมีการขยายพื้นที่การปลูกยาง ซึ่งจะเป็นแหล่งวัตถุดิบเพื่อป้อนโรงงานถุงมือยางในอนาคต ดังนั้นจึงมีโอกาสอย่างมากที่จีนจะแซงหน้าไทย ส่วนอินโดนีเซียก็นับว่าเป็นคู่แข่งที่กำลังมาแรงเช่นกัน โดยอินโดนีเซียขยายพื้นที่ปลูกยางและมีโอกาสสูงมากที่อินโดนีเซียจะแซงไทยขึ้นเป็นประเทศผู้ผลิตยางอันดับหนึ่งของโลก ซึ่งเท่ากับว่าอินโดนีเซียมีปริมาณวัตถุดิบเพียงพอในการป้อนโรงงานอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ยาง รวมทั้งมีอุตสาหกรรมถุงมือยางของมาเลเซียย้ายฐานเข้าไปตั้งโรงงานผลิตถุงมือยางในอินโดนีเซียด้วย