บัตรอวยพรปีใหม่ปี’50 : สารส่งความสุข…มูลค่า 390 ล้านบาท

ปีจอกำลังจะผ่านพ้นไปปีหมูกำลังจะเข้ามาแทนที่ ในช่วงนี้สิ่งที่จะขาดเสียมิได้นั่นคือการส่งสารอวยพรให้กับเพื่อนฝูง ญาติผู้ใหญ่ รวมทั้งบุคคลและหน่วยงานต่างๆที่มีการติดต่อระหว่างกัน ซึ่งในปัจจุบันการอวยพรปีใหม่ก็มีหลายวิธีที่นิยมโดยเฉพาะในยุคที่เทคโนโลยีการสื่อสารก้าวล้ำไปไกล การอวยพรไปถึงผู้รับทางระบบสื่ออิเล็กทรอนิกส์ผ่านทาง E-Mail หรืออวยพรทาง SMS,MMS ผ่านระบบโทรศัพท์มือถือ ซึ่งมีจุดเด่นทางด้านความสะดวกรวดเร็ว และมีต้นทุนต่ำ รวมทั้งมีรูปแบบของภาพและข้อความที่อวยพรให้ผู้ใช้เลือกเป็นจำนวนมาก กำลังได้รับความนิยมแพร่หลาย อย่างไรก็ตาม การใช้บัตรอวยพรหรือ ส.ค.ส.ซึ่งถือเป็นวิธีดั้งเดิมก็ยังคงได้รับความนิยมจากประชาชนทั่วไปรวมทั้งบริษัทห้างร้านที่ส่งไปถึงลูกค้าอย่างไม่เสื่อมคลาย เนื่องจากจุดเด่นของบัตรอวยพรที่มีคุณค่าและความประทับใจของผู้ที่ได้รับ รวมทั้งยังสามารถเก็บสะสมไว้เป็นที่ระลึกได้อย่างยาวนานซึ่งถือเป็นมนต์เสน่ห์และเป็นจุดแข็งสำคัญของบัตรอวยพร ประการสำคัญ สำหรับผู้รับที่เป็นญาติหรือคนรู้จักที่มีความอาวุโสการส่งบัตรอวยพรถือว่าเป็นมารยาทและมีความเหมาะสมถูกกาละเทศะมากกว่าการอวยพรผ่านทางอินเตอร์เน็ตหรือโทรศัพท์มือถือ ซึ่งจากการสำรวจพฤติกรรมการซื้อบัตรอวยพรปีใหม่ของคนกรุงเทพฯโดย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ในระหว่างวันที่ 1-12 ธันวาคม 2549 ที่ผ่านมา ด้วยจำนวนกลุ่มตัวอย่าง 777 รายในพื้นที่กรุงเทพฯ พบว่า เม็ดเงินรวมที่คนกรุงเทพฯใช้จ่ายเพื่อการซื้อบัตรอวยพรช่วงเทศกาลปีใหม่ปี 2550 คิดเป็นมูลค่ารวมประมาณ 390 ล้านบาท งบประมาณซื้อบัตรอวยพรปีใหม่เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับปี 2549 ร้อยละ 11.4

บัตรอวยพรหรือ ส.ค.ส ถือเป็นที่นิยมใช้สื่อสารระหว่างบุคคลมาช้านาน ทั้งนี้จากหลักฐานเก่าแก่ที่มีการยืนยันพบว่า ส.ค.ส.มีการใช้กันตั้งแต่รัชกาลที่ 4 หรือกว่า 140 ปีที่ผ่านมาซึ่งเป็นช่วงที่มีการติดต่อกับตะวันตก ซึ่งการส่งบัตรอวยพรจะมีทั้งบัตรอวยพรคริสต์มาสต์ วันเกิด วันมงคลต่างๆ รวมทั้งวันขึ้นปีใหม่ จนได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายถึงปัจจุบัน โดยเฉพาะในช่วงเทศกาลสำคัญคือวันขึ้นปีใหม่ของทุกปีความต้องการใช้บัตรอวยพรของคนไทยจะมีเพิ่มสูงขึ้นกว่าปกติ ทั้งนี้จากข้อมูลของบริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัดพบว่าจำนวนไปรษณีย์ภัณฑ์ทั่วประเทศระหว่างวันที่ 15 ธันวาคม 2549-15 มกราคม 2550 คาดว่าจะมีประมาณ 6.6 ล้านชิ้นต่อวันซึ่งสูงกว่าช่วงเดียวกันปีก่อนประมาณร้อยละ 10 ทำให้ต้องแบกรับภาระในการจัดส่งในช่วงเทศกาลปีใหม่เป็นจำนวนมากจนต้องเพิ่มจำนวนเจ้าหน้าที่รับมือกับไปรษณีย์ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าบัตรอวยพรหรือส.ค.ส. ยังคงได้รับความนิยมจากประชาชนอย่างไม่เสื่อมคลาย ทั้งนี้บัตรอวยพรปีใหม่เป็นที่นิยมของผู้ที่ไม่สะดวกจะเดินทางไปอวยพรปีใหม่ด้วยตนเองก็ใช้วิธีส่งเป็นบัตรอวยพรแทน หรือแม้ว่าจะไปอวยพรด้วยตนเองบางครั้งบัตรอวยพรก็ยังถูกใช้แนบไปกับของขวัญและกระเช้าของฝากเพื่อเพิ่มความทรงจำที่ดีให้กับผู้รับ โดยบัตรอวยพรมีทั้งแบบธรรมดาที่เป็นรูปภาพ และแบบที่มีเสียงเพลงตามวัตถุประสงค์ต่างๆ

สำหรับประเภทของบัตรอวยพรสามารถจำแนกตามแหล่งที่มาได้ดังนี้
บัตรอวยพรที่ประดิษฐ์ขึ้นเอง จากความคิดสร้างสรรค์ผ่านการวาดเขียนรูปภาพหรือข้อความต่างๆ หรือนำเอาวัสดุต่างๆมาประดิษฐ์ให้มีความสวยงามตามแต่จินตนาการของผู้ทำ รวมทั้งปัจจุบันผู้ที่ต้องการผลิตบัตรอวยพรขึ้นใช้เองยังสามารถค้นหารูปภาพ การ์ตูนและรูปกราฟฟิกต่างๆผ่านทางระบบอินเตอร์เน็ตทั้งการ์ดวันวาเลนไทน์ การ์ดวันเกิด การ์ดปีใหม่ เป็นต้น โดยมีเว็บไซด์หลายแห่งที่ให้บริการโดยไม่คิดมูลค่า ซึ่งบัตรอวยพรประเภทนี้นอกจากจะช่วยประหยัดงบประมาณสำหรับผู้ที่ต้องส่งบัตรอวยพรเป็นจำนวนมาก ยังได้ความภาคภูมิใจของผู้ที่ทำขึ้นมา ในขณะที่ผู้รับบัตรอวยพรก็รู้สึกถึงความใส่ใจของผู้ส่งมาให้ ทั้งนี้ปัจจุบัน การประดิษฐ์บัตรอวยพรขึ้นเองยังพัฒนาไปเป็นการผลิตเพื่อการค้าโดยผู้ทำจะใช้กล้องดิจิตอลถ่ายภาพวิว คน สัตว์หรือสิ่งของในมุมมองที่แปลกตาและแนวศิลปะแตกต่างจากรูปแบบบัตรอวยพรทั่วไป ก่อนจะนำไปตกแต่งผ่านโปรแกรมตกแต่งภาพในคอมพิวเตอร์แล้วจึงนำไปพิมพ์ยังร้านถ่ายรูปออกมาจำหน่ายตามพื้นที่ตลาดนัดหน้าห้างสรรพสินค้าหรือสวนจตุจักรในราคาที่ไม่สูงมากนักเพียงประมาณ15-20 บาท/ใบ ทั้งนี้บัตรอวยพรทำเองถือเป็นทางเลือกสำหรับผู้ที่ต้องการบัตรอวยพรที่ไม่ซ้ำกับที่จำหน่ายตามห้างสรรพสินค้าทั่วไป อีกทั้งยังเป็นการประหยัดค่าใช้จ่ายในกรณีที่จำเป็นต้องส่งบัตรอวยพรไปหลายๆที่อีกด้วย

– บัตรอวยพรที่ผลิตจากบริษัทผู้ผลิตทั่วไป ในส่วนนี้มีทั้งที่ผลิตจากผู้ผลิตในประเทศซึ่งมีราคาจำหน่ายไม่สูงนัก รวมทั้งสินค้าที่ผลิตจากต่างประเทศซึ่งปัจจุบันมีการนำเข้ามาซึ่งมีราคาค่อนข้างสูง บัตรอวยพรประเภทนี้ส่วนใหญ่จะจำหน่ายตามห้างสรรพสินค้า และดิสเคาท์สโตร์ทั่วไป

– บัตรอวยพรที่ผลิตจากองค์กรต่างๆ เช่นของมูลนิธิ องค์กรภาคเอกชนรวมทั้งหน่วยงานภาครัฐที่ผลิตบัตรอวยพรในวาระต่างๆ ทั้งนี้โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อระดมเงินไปใช้ในด้านการกุศลหรือใช้ภายในองค์กร ซึ่งบัตรอวยพรรูปแบบนี้ในช่วงเทศกาลสำคัญองค์กรต่างๆดังกล่าวข้างต้นมักมีการผลิตขึ้นมารองรับความต้องการ เช่น วันพ่อและวันแม่แห่งชาติ วันสำคัญทางศาสนา วันคนพิการ วันสิ่งแวดล้อม และเทศกาลปีใหม่ เป็นต้น โดยแหล่งจำหน่ายของบัตรอวยพรประเภทนี้ส่วนใหญ่จะมีทั้งผ่านทางร้านค้าภายในองค์กรหรือมูลนิธิ หรือใช้วิธีสั่งซื้อสินค้าผ่านระบบไปรษณีย์ซึ่งปัจจุบันมีการพัฒนาทางด้านระบบการชำระระค่าสินค้าที่สะดวกและรวดเร็วขึ้น

สำหรับสถานการณ์ตลาดบัตรอวยพรในช่วงเทศกาลปีใหม่ปี 2550 นี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้ทำการสำรวจพฤติกรรมการอวยพรปีใหม่ของคนกรุงเทพฯในระหว่างวันที่ 1-12 ธันวาคม 2549 ด้วยจำนวนกลุ่มตัวอย่าง 777 ราย พบว่ากลุ่มตัวอย่างที่สำรวจมีการอวยพรปีใหม่ปี 2550 ด้วยวิธีการใช้บัตรอวยพรหรือ ส.ค.ส. และอวยพรผ่านโทรศัพท์มือถือในสัดส่วนที่ใกล้เคียงกัน โดยบัตรอวยพรปีใหม่มีผู้เลือกใช้คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 46.6 ของกลุ่มตัวอย่างที่สำรวจ ในขณะที่การอวยพรผ่านโทรศัพท์มือถือมีสัดส่วนร้อยละ 42.1 และการอวยพรผ่านอิเล็กทรอนิกส์การ์ด(E-Card) มีสัดส่วนร้อยละ 10.7 ทั้งนี้เป็นที่น่าสังเกตว่า กลุ่มตัวอย่างที่สำรวจซึ่งมีอายุระหว่าง 15-29 ปี มีการอวยพรปีใหม่ผ่านทางระบบโทรศัพท์มือถือคิดเป็นสัดส่วนมากที่สุดคิดเป็นร้อยละ 45.6 และใช้บัตรอวยพรในสัดส่วนร้อยละ 42.4 ทั้งนี้เนื่องจากกลุ่มคนในช่วงดังกล่าวเป็นคนรุ่นใหม่และวัยรุ่นที่มีการถือครองโทรศัพท์มือถือในสัดส่วนที่ค่อนข้างสูง ในขณะเดียวกันความชำนาญและความเชี่ยวชาญในการส่งข้อความและภาพ(SMS, MMS)ก็มีมากกว่ากลุ่มคนอายุอื่นๆ ในขณะที่กลุ่มคนในวัยอายุตั้งแต่ 30 ปีขึ้นไปจะมีความคุ้นเคยกับวิธีการอวยพรปีใหม่ด้วยบัตรอวยพรมาแต่ดั้งเดิมทำให้เลือกใช้วิธีนี้ถึงร้อยละ 53.3 และใช้วิธีอวยพรปีใหม่ผ่านทางระบบโทรศัพท์มือถือสัดส่วนร้อยละ 36.6

สำหรับในส่วนของงบประมาณที่ใช้ทางด้านการซื้อบัตรอวยพรในปี 2550 เพื่อส่งให้กับบุคคลต่างๆจากการสำรวจพบว่า คนกรุงเทพฯใช้งบประมาณเฉลี่ยคนละไม่เกิน 200 บาท (1 คนจะซื้อบัตรอวยพรหลายใบในราคาที่แตกต่างกัน)คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 52.7 ค่าใช้จ่ายตั้งแต่ 201-500 บาทมีสัดส่วนประมาณร้อยละ 31.9 และค่าใช้จ่ายตั้งแต่ 501 บาทขึ้นไปมีสัดส่วนประมาณร้อยละ 15.4 ทั้งนี้เมื่อสอบถามถึงงบประมาณที่ใช้ซื้อบัตรอวยพรในปีนี้เทียบกับปีก่อนพบว่าคนกรุงเทพฯส่วนใหญ่ร้อยละ 52.2 ของกลุ่มตัวอย่างที่สำรวจยังคงใช้งบประมาณเท่าเดิมเมื่อเทียบกับการซื้อบัตรอวยพรปี 2549 ในขณะที่กลุ่มที่ใช้งบประมาณเพิ่มขึ้นมีสัดส่วนร้อยละ 31.6 ส่วนกลุ่มที่ใช้งบประมาณซื้อบัตรอวยพรลดลงมีสัดส่วนร้อยละ 16.2 ทั้งนี้หากรวมกลุ่มตัวอย่างที่ซื้อเท่าเดิมและซื้อเพิ่มขึ้นมีสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 83.8 แสดงให้เห็นว่าความนิยมใช้บัตรอวยพรเพื่อส่งความสุขให้กันในช่วงเทศกาลปีใหม่ยังคงมีอยู่อย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้คงจะมีปัจจัยจากความคุ้นเคยของคนไทยที่มีต่อบัตรอวยพรหรือ ส.ค.ส. มาช้านาน ประกอบกับภาวะเศรษฐกิจที่ยังคงเติบโต รวมทั้งราคาน้ำมันที่เริ่มปรับตัวลดลงมาเป็นลำดับรวมทั้งปัจจัยทางการเมืองที่คลี่คลายลงทำให้อารมณ์ของคนไทยที่จะส่งความสุขให้แก่กันมีเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม เป็นที่น่าสังเกตว่า ปัจจัยหนึ่งที่ผู้ประกอบการบัตรอวยพรไม่ควรมองข้ามได้แก่ราคาของบัตรอวยพรซึ่งมีผลกระทบต่องบประมาณค่าใช้จ่ายของผู้ซื้อบัตรอวยพร ทั้งนี้จากการสำรวจในครั้งนี้พบว่ากลุ่มตัวอย่างร้อยละ 52.9 เห็นว่าราคาบัตรอวยพรไม่เปลี่ยนแปลง และในกลุ่มที่เห็นว่าราคาปรับตัวเพิ่มขึ้นมีสัดส่วนถึงร้อยละ 44.2 ทั้งนี้เนื่องจากต้นทุนวัตถุดิบคือกระดาษมีการปรับเพิ่มขึ้นไปพอสมควร โดยเป็นที่น่าสังเกตว่ากลุ่มที่มีอายุตั้งแต่ 15-44 ปีมีความเห็นว่าราคาบัตรอวยพรมีราคาสูงขึ้นคิดเป็นสัดส่วนที่สูงกว่ากลุ่มที่มีอายุตั้งแต่ 45 ปีขึ้นไป ซึ่งปัจจัยดังกล่าวอาจส่งผลกระทบต่องบประมาณการซื้อบัตรอวยพรได้ โดยเฉพาะกลุ่มวัยรุ่นและวัยที่เริ่มต้นทำงานซึ่งมีรายได้ไม่สูงมากนัก

สำหรับในส่วนของรูปแบบของบัตรอวยพรที่คนกรุงเทพฯนิยมซื้อในช่วงเทศกาลปีใหม่นี้พบว่า ส่วนใหญ่ให้ความสนใจบัตรอวยพรที่มีภาพพระบรมฉายาลักษณ์สัดส่วน ร้อยละ 27.7 รองลงมาได้แก่ภาพวิวทิวทัศน์ ภาพการ์ตูน/กราฟฟิก และภาพวิถีชีวิต/การละเล่นพื้นบ้าน ซึ่งมีสัดส่วนร้อยละ 22.3 ร้อยละ18.2 ร้อยละ 12.7 ตามลำดับ ทั้งนี้เป็นที่น่าสังเกตว่า การเลือกรูปแบบของภาพบนบัตรอวยพรในปีนี้มีความแตกต่างจากปีที่ผ่านมาซึ่งคนส่วนใหญ่จะเลือกรูปวิวทิวทัศน์เป็นลำดับแรก ทั้งนี้เนื่องจากปี 2549 คนไทยให้ความสนใจกับการเฉลิมฉลองปีมหามงคลทรงครองราชย์ครบ 60 ปี ดังนั้นภาพพระบรมฉายาลักษณ์จึงได้รับความนิยมสูงในเกือบทุกกลุ่มอายุยกเว้นกลุ่มอายุระหว่าง 15-19 ปีที่ให้ความสนใจกับบัตรอวยพรที่มีภาพการ์ตูน/กราฟฟิกสูงถึงร้อยละ 50.0 และกลุ่มอายุระหว่าง 20-24 ปีที่นิยมบัตรอวยพรที่เป็นภาพพระบรมฉายาลักษณ์และภาพการ์ตูน/กราฟฟิก ในสัดส่วนที่เท่ากันคือร้อยละ 22.3 ในขณะที่สถานที่ซึ่งคนกรุงเทพฯนิยมไปเลือกซื้อหาบัตรอวยพรช่วงปีใหม่พบว่าแหล่งใหญ่ที่สุดคือห้างสรรพสินค้าคิดเป็นสัดส่วนถึงร้อยละ 57.3 เนื่องจากเป็นแหล่งที่มีสินค้าให้เลือกหลากหลายรูปแบบ นอกจากนี้การไปห้างสรรพสินค้ายังได้จับจ่ายซื้อของขวัญและสินค้าต่างๆ สำหรับสถานที่ที่ได้รับความนิยมรองลงมาคืองานแสดงสินค้าของขวัญของชำร่วยปีใหม่คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 20.5 ดิสเคาท์สโตร์ สัดส่วนร้อยละ 7.8 การสั่งซื้อทางไปรษณีย์จากมูลนิธิและสมาคมต่างๆร้อยละ 6.3 และซื้อจากงานแสดงสินค้าที่ผลิตจากชุมชนท้องถิ่นโดยเฉพาะร้อยละ 6.1

เป็นที่น่าสังเกตว่า ปัจจุบันตลาดบัตรอวยพร นอกจากต้องแข่งขันกันเองระหว่างผู้ประกอบการบัตรอวยพรด้วยกันทั้งที่ผลิตจากในประเทศรวมทั้งบัตรอวยพรที่นำเข้าจากต่างประเทศแล้วในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาตลาดบัตรอวยพรยังถูกท้าทายจากคู่แข่งที่ก้าวเข้ามามีบทบาทในสังคมไทยเพิ่มมากขึ้นอันได้แก่การใช้วิธีอวยพรผ่านไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์(Electronic Card : E-Card) ผ่านระบบอินเตอร์เน็ต หรือการอวยพรผ่าน SMS (Short Message) หรือ MMS(Multimedia Massenge) ของระบบโทรศัพท์มือถือ ซึ่งมีจุดเด่นทางด้านสีสันของข้อความและภาพที่สวยงาม มีรูปแบบให้เลือกหลากหลายตามวัตถุประสงค์ ทั้งการ์ดธรรมดา การ์ดดนตรี และการ์ดที่เคลื่อนไหวได้ รวมทั้งมีความสะดวกรวดเร็วของการส่งข้อมูลไปถึงผู้รับได้ในทันที อีกทั้งการอวยพรผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์และโทรศัพท์มือถือยังมีต้นทุนที่ต่ำกว่าการใช้บัตรอวยพรเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะบางรายที่มีจำนวนปลายทางที่ต้องอวยพรเป็นจำนวนมาก ทั้งนี้ แม้ว่าวิธีการอวยพรผ่านระบบดังกล่าวยังไม่สามารถทดแทนการอวยพรผ่านบัตรส.ค.ส.ได้ทั้งหมด โดยเฉพาะคุณค่าทางด้านจิตใจที่ผู้รับได้จากบัตรอวยพรที่ทำให้ระลึกถึงผู้ให้ได้มากกว่า แต่จากการเติบโตทางด้านจำนวนผู้ใช้อินเตอร์เน็ตรวมทั้งโทรศัพท์มือถือ ทำให้จำนวนผู้ที่หันไปหาวิธีการอวยพรปีใหม่ด้วยรูปแบบที่ทันสมัยมีเพิ่มมากขึ้น ดังนั้น ผู้ประกอบการบัตรอวยพร หรือ ส.ค.ส จึงควรต้องหันมาพัฒนาและปรับปรุงรูปแบบสินค้าของตนเองทั้งทางด้านความหลากหลายของวัสดุอุปกรณ์ ภาพและลวดลายที่แตกต่างๆจากเดิม การผลิตบัตรอวยพรที่เป็นภาพ 3 มิติ รวมไปถึงการนำเอาเทคนิคทางเสียงเพลงใส่เข้ามาเพิ่มเติมในบัตรอวยพร เพื่อทำให้บัตรอวยพรเพิ่มมูลค่าและมีความน่าสนใจมากขึ้น เป็นต้น โดยเฉพาะเน้นสร้างการยอมรับในกลุ่มคนรุ่นใหม่และวัยรุ่นซึ่งมีแนวโน้มเปลี่ยนไปเลือกใช้วิธีการอวยพรเทศกาลต่างๆด้วยรูปแบบที่ทันสมัยผ่านคอมพิวเตอร์และโทรศัพท์มือถือ

กล่าวโดยสรุปแล้ว ตลาดบัตรอวยพรยังคงมีบทบาทสำคัญในช่วงเทศกาลส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ ท่ามกลางการแข่งขันที่รุนแรงกับคู่แข่งทั้งการอวยพรผ่านไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์ (Electronic Card : E-Card) ผ่านระบบอินเตอร์เน็ต หรือการอวยพรผ่าน SMS (Short Message)และMMS(Multimedia Message) ของระบบโทรศัพท์มือถือที่นับวันจะมีจำนวนผู้ใช้ที่เพิ่มขึ้น แต่จากจุดเด่นของบัตรอวยพรหรือส.ค.ส.โดยเฉพาะคุณค่าทางด้านจิตใจสำหรับผู้ได้รับที่มีมากกว่าและยังสามารถเก็บไว้เป็นความทรงจำได้อีกนานหากนำขึ้นมาระลึกถึง ซึ่งถือเป็นมนต์เสน่ห์ที่มัดใจให้บัตรอวยพรปีใหม่หรือ ส.ค.ส. ที่ใช้กันมาแต่ดั้งเดิมอยู่คู่กับคนไทยไปอีกนาน