มติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 23 มกราคม 2550 ให้ลดภาษีสรรพสามิตที่เรียกเก็บจากการให้บริการโทรคมนาคม 2 ประเภท คือ โทรศัพท์เคลื่อนที่และโทรศัพท์พื้นฐาน ลงเหลือ 0% หลังจากที่ได้มีการเรียกเก็บมาเป็นเวลากว่า 3 ปี ตั้งแต่ปี 2546 ที่ผ่านมาโดยอัตราภาษีที่เรียกเก็บนั้น แบ่งออกเป็น โทรศัพท์เคลื่อนที่จัดเก็บในอัตราร้อยละ 10 ของรายได้ และโทรศัพท์พื้นฐานจัดเก็บในอัตราร้อยละ 2 โดยให้เอกชนผู้ได้รับสัญญาสัมปทานสามารถนำเงินที่จะต้องจ่ายภาษีสรรพสามิตไปหักจากส่วนแบ่งรายได้ที่จะต้องจ่ายให้กับเจ้าของสัมปทานได้ โดยในปีงบประมาณ 2548 ที่ผ่านมาภาษีสรรพสามิตที่จัดเก็บจากกิจการโทรคมนาคมมีมูลค่าถึง 14,071 ล้านบาท และในปี 2549 เพิ่มขึ้นเป็น 14,154 ล้านบาทโดยมีมูลค่าของภาษีสรรพสามิตในส่วนของกิจการโทรคมนาคมที่ได้เรียกเก็บไปแล้วตั้งแต่ปี 2546 ถึง 2549 เป็นมูลค่าถึง 47,262 ล้านบาท (ตัวเลขถึงเดือนสิงหาคม 2549) ซึ่งกรณีการหักภาษีออกจากส่วนแบ่งรายได้ที่จะต้องนำส่งนั้นได้กลายมาเป็นข้อพิจารณาถึงความไม่เหมาะสมเนื่องจากผู้ให้สัมปทานจะได้รับรายได้จากส่วนแบ่งรายได้ลดลงและเป็นที่มาของการนำประเด็นเรื่องภาษีสรรพสามิตขึ้นมาพิจารณายกเลิกเงื่อนไขการให้นำภาษีมาหักจากส่วนแบ่งรายได้ และนำมาสู่การปรับอัตราภาษีให้เหลือร้อยละ 0 เพื่อไม่ให้เป็นภาระกับผู้ประกอบการและผู้ใช้บริการ
การจัดเก็บภาษีสรรพสามิตจากกิจการโทรคมนาคมนั้น เริ่มขึ้นในปี 2546 โดยมีจุดประสงค์สำคัญที่มีการนำภาษีสรรพสามิตมาใช้นั้น ก็เพื่อเป็นอีกแนวทางหนึ่งในการแปรสัญญาสัมปทานหรือยกเลิกสัญญาสัมปทาน เมื่อรัฐวิสาหกิจของรัฐ คือ ทศท. และ กสท. ในขณะนั้น กำลังจะแปรรูปจากรัฐวิสาหกิจเป็นบริษัทเอกชน และเพื่อให้เกิดการแข่งขันที่เป็นธรรมในตลาด จึงมีการเสนอแนวคิดที่จะยกเลิกสัมปทานเพื่อให้เอกชนที่ได้รับสัมปทานสามารถแข่งขันกับรัฐวิสาหกิจสองแห่งได้ โดยไม่ต้องอยู่ภายใต้การควบคุมในระบบสัมปทานเหมือนเช่นที่ผ่านมา ทำให้เอกชนมีความคล่องตัวในการบริหารธุรกิจ ถ้ามีการยกเลิกการจ่ายส่วนแบ่งรายได้ให้กับเจ้าของสัมปทานเดิมที่กำลังจะเปลี่ยนเป็นเอกชนและเข้ามาแข่งขันกัน ซึ่งการที่จะยกเลิกสัมปทานนั้นก็ได้มีการศึกษาแนวทางมาแล้วถึง 2 แนวทาง แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จ เมื่อแนวทางแรกนั้นเอกชนต้องจ่ายค่าชดเชยสำหรับการยกเลิกสัญญาเป็นมูลค่าที่สูงมาก ในขณะที่อีกแนวทางหนึ่งก็คิดค่าชดเชยในที่ต่ำจนเกินไปจนได้รับการคัดค้านว่าจะทำให้รัฐเสียประโยชน์
ต่อมาในรัฐบาล พ.ต.อ. ทักษิณ ชินวัตร จึงมีการเสนอนำระบบภาษีสรรพสามิตมาใช้เป็นอีกแนวทางหนึ่งในการแปรสัญญาสัมปทาน โดยกำหนดอัตราภาษีสูงถึงร้อยละ 50 ของรายได้ต่อมาได้มีมติให้ปรับลดลงเหลือร้อยละ 2 ของรายได้สำหรับกิจการโทรศัพท์พื้นฐาน และร้อยละ 10 สำหรับโทรศัพท์เคลื่อนที่ และกำหนดให้เอกชนที่จ่ายส่วนแบ่งรายได้สามารถนำเงินที่จ่ายภาษีไปหักลดจากส่วนแบ่งรายได้ที่จะส่งให้รัฐวิสาหกิจได้ด้วย เช่น เอกชน ก. เดิมจ่ายส่วนแบ่งรายได้ร้อยละ 25 ให้กับ ทศท. ในกิจการโทรศัพท์เคลื่อนที่ ให้แบ่งเป็น เอกชน ก. จ่ายส่วนแบ่งรายได้ให้กับ ทศท. ร้อยละ 15 และจ่ายภาษีสรรพสามิตร้อยละ 10 ซึ่งเท่ากับว่า เอกชน ก. มีภาระการจ่ายเงินเท่าเดิมก่อนที่จะมีการเก็บภาษี ส่วน ทศท. นั้น มีรายได้จากส่วนแบ่งรายได้ลดลงร้อยละ 10
ในช่วงระหว่างที่มีการพิจารณาจะจัดเก็บภาษีสรรพสามิตนั้น ได้รับการคัดค้านจากหลายส่วนงานที่เกี่ยวข้องในอุตสาหกรรม เนื่องจากเห็นว่า การจัดเก็บภาษีสรรพสามิตนั้นไม่ควรจัดเก็บจากบริการโทรศัพท์เนื่องจากไม่ได้เข้าข่ายสินค้าฟุ่มเฟือยที่จะต้องเก็บภาษี นอกจากนี้การเก็บภาษียังอาจเป็นต้นทุนที่เพิ่มขึ้นของผู้ประกอบการรายใหม่ที่จะเข้ามาให้บริการแข่งขัน และยังจะทำให้หน่วยงานรัฐวิสาหกิจมีรายได้ลดลงอีกด้วย ซึ่งที่ผ่านมาผลประกอบการของรัฐวิสาหกิจทั้งสองแห่งภายหลังจากมีการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตแล้วก็มีอัตราการขยายตัวของผลประกอบการค่อนข้างทรงตัว โดยเป็นผลมาจากส่วนแบ่งรายได้ที่ได้รับลดลงประกอบกับการแข่งขันที่สูงขึ้นของตลาดนั้นทำให้รายได้จากการให้บริการลดลงด้วย
เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลที่เข้ามาบริหารประเทศ และมีการพิจารณาเห็นว่า การจัดเก็บภาษีสรรพสามิตกลับส่งผลต่อฐานะการเงินของหน่วยงานกิจการโทรคมนาคมของรัฐทั้งสองแห่ง และเกรงว่าการจัดเก็บภาษีอาจส่งผลให้เกิดการกีดกันการเข้าตลาดของผู้ให้บริการรายใหม่ ทำให้มีการพิจารณาลดภาษีสรรพสามิตลง โดยเมื่อวันที่ 23 มกราคม 2550 คณะรัฐมนตรีมีมติดังนี้
1. ยกเลิกมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 28 มกราคม 2546 ในประเด็นการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตที่ให้คู่สัญญาสัมปทานเอกชนสามารถนำส่วนแบ่งรายได้มาจ่ายเป็นภาษีสรรพสามิต
2. ปรับลดอัตราภาษีสรรพสามิตลงเหลือร้อยละ 0 เพื่อไม่ให้เกิดภาระในการให้บริการและภาระที่อาจเกิดขึ้นกับผู้ใช้บริการ โดยให้ทีโอที และกสท. โทรคมนาคม พิจารณาจ่ายเงินปันผลให้กระทรวงการคลังเพิ่มขึ้น เพื่อชดเชยรายได้ภาษีสรรพสามิตที่ขาดไป
ซึ่งในการลดอัตราภาษีสรรพสามิตในครั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เห็นว่า จะส่งผลในด้านต่างๆ ดังนี้
1. รัฐบาล : การลดภาษีสรรพสามิตสำหรับกิจการโทรคมนาคมเหลือร้อยละ 0 จะไม่ส่งผลกระทบต่อยอดรวมรายได้ที่รัฐจะจัดเก็บได้หรือรัฐจะจัดเก็บรายได้เท่าเดิมก่อนที่จะมีการลดอัตราภาษี ในกรณีที่รัฐบาลกำหนดให้ ทีโอทีและ กสท. โทรคมนาคม จ่ายคืนรัฐบาลในรูปของเงินปันผลให้กระทรวงการคลังในฐานะที่เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ในกิจการโทรคมนาคมทั้งสองแห่งนั้นเท่ากับเม็ดเง็นภาษีสรรพสามิตที่กระทรวงการคลังเคยได้รับ อย่างไรก็ตามหากเงินปันผลที่จะต้องจ่ายน้อยกว่าภาษีสรรพสามิตที่ยกเลิกไป ก็จะทำให้รัฐมีรายได้จากภาษีลดลง
2. กิจการที่ได้รับสัมปทาน : จะไม่ส่งผลกระทบกับยอดรายจ่ายหรือมีค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น โดยที่จะต้องจ่ายส่วนแบ่งรายได้ในส่วนที่เคยจ่ายเป็นภาษีให้กับคู่สัมปทานแทน เช่น เดิมจ่ายส่วนแบ่งรายได้ร้อยละ 15 ให้ทีโอที และจ่ายภาษีสรรพสามิต ร้อยละ 10 ของรายได้ให้กรมสรรพสามิต ให้เปลี่ยนมาจ่ายเป็น ร้อยละ 25 ของรายได้ให้กับทีโอทีทั้งหมด
3. หน่วยงานกิจการโทรคมนาคมของรัฐ : จะมีรายได้เพิ่มขึ้นจากส่วนแบ่งรายได้ที่เอกชนเคยนำไปจ่ายภาษีให้กับรัฐ ซึ่งจะทำให้มูลค่าของทรัพย์สินของทั้งสองแห่งมีมูลค่าสูงขึ้นก่อนที่จะนำเงินส่งให้รัฐ นอกจากนี้หน่วยงานทั้งสองยังสามารถนำเงินส่วนแบ่งรายได้ที่เพิ่มขึ้นนั้นไปบริหารก่อนที่จะนำส่งคืนให้กระทรวงการคลังในรูปของเงินปันผลในช่วงสิ้นปีได้
4. ผู้ประกอบการรายใหม่ที่จะเข้ามาให้บริการ : ไม่มีต้นทุนทางด้านภาษีสรรพสามิต โดยมีเพียงค่าธรรมเนียมใบอนุญาตใหม่ ค่าเลขหมาย ค่าเช่าโครงข่าย ค่าธรรมเนียมการให้บริการอย่างทั่วถึง ที่จะต้องชำระให้กับ กทช. เป็นต้นทุนการดำเนินธุรกิจเท่านั้น นอกจากนี้อัตราภาษีที่เหลือร้อยละ 0 นั้น ยังก่อให้เกิดแรงจูงใจในการเข้ามาดำเนินธุรกิจ
5. ผู้บริโภค : ผู้ใช้บริการหรือผู้บริโภคจะไม่ได้รับผลกระทบจากการลดอัตราภาษีสรรพสามิต เนื่องจากการลดภาษี ไม่ได้ทำให้ผู้ให้บริการมีต้นทุนที่ลดลง ทั้งนี้เนื่องจากผู้ให้บริการยังคงต้องจ่ายส่วนแบ่งรายได้ให้กับผู้ให้สัมปทานในอัตราที่เท่ากับภาษีที่ปรับลดลง แต่ในระยะยาว ถ้ามีผู้ให้บริการรายใหม่เข้ามาให้บริการแข่งขันเพิ่มขึ้น ก็จะเกิดผลดีต่อผู้บริโภคที่จะได้ใช้บริการที่ดีขึ้นกว่าเดิมเพราะมีการแข่งขันมากขึ้น
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มีความเห็นว่า การลดอัตราภาษีสรรพสามิตในกิจการโทรคมนาคมให้เหลือร้อยละ 0 ของรัฐบาลนั้น จะส่งผลให้หน่วยงานกิจการโทรคมนาคมของรัฐทั้งสองแห่งมีรายได้จากส่วนแบ่งรายได้เพิ่มขึ้นชั่วคราว ก่อนที่จะมีการนำส่งรัฐในรูปของเงินปันผลจากการดำเนินงานในแต่ละปี โดยที่หน่วยงานโทรคมนาคมของรัฐยังสามารถนำเงินที่ได้รับไปบริหารเพื่อให้เกิดประโยชน์ได้มากขึ้นก่อนที่จะจ่ายเป็นเงินปันผลในจำนวนที่เท่ากับภาษีสรรพสามิตโทรคมนาคมที่รัฐบาลเคยได้รับ นอกจากนี้การลดภาษียังเป็นการส่งเสริมให้ต้นทุนการเข้ามาดำเนินกิจการของผู้ให้บริการรายใหม่ต่ำลงอีกด้วย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จึงหวังว่า การปรับลดอัตราภาษีสรรพสามิตกิจการโทรคมนาคมน่าจะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้นสำหรับธุรกิจโทรคมนาคม โดยผลในระยะยาวนั้น น่าจะเป็นการช่วยส่งเสริมให้มีการเข้ามาของผู้ให้บริการรายใหม่ โดยได้รับผลดีจากต้นทุนการเข้ามาให้บริการที่ลดลงจากการลดภาษีสรรพสามิตลงเหลือร้อยละ 0 และนำไปสู่การแข่งขันของตลาดที่เพิ่มขึ้น ซึ่งการแข่งขันที่เกิดขึ้นในกิจการโทรคมนาคมนั้นจะส่งผลดีต่อผู้ใช้บริการ ให้สามารถได้รับบริการที่ดีมีคุณภาพในราคาที่เป็นธรรม เกิดบริการที่มีความหลากหลายกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน