ฟิทช์ เรทติ้งส์ ได้ประกาศลดอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศของตราสารหนี้ด้อยสิทธิที่มีลักษณะคล้ายทุนที่นับเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 1 (Hybrid Tier 1 Securities) ของธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) (“TMB”) เป็น ‘B’ จากเดิมที่ ‘B+’ และปรับแนวโน้มอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาว (Long-term Foreign Currency Issuer Default Rating (“IDR”)) เป็นมีเสถียรภาพ จากเดิมที่แนวโน้มเป็นบวก ฟิทช์ยังได้ประกาศคงอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาว (Long-term Foreign Currency IDR) ที่ระดับ ‘BB+’ อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะสั้นที่ ‘B’ อันดับเครดิตสากสกุลเงินต่างประเทศของหุ้นกู้ด้อยสิทธิที่ ‘BB’ อันดับความแข็งแกร่งทางการเงินที่ ‘D’ และอันดับเครดิตสนับสนุนที่ ‘3’ ในขณะเดียวกัน บริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) ได้ประกาศปรับแนวโน้มอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวของ TMB เป็นมีเสถียรภาพ จากเดิมที่แนวโน้มเป็นบวก และคงอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวที่ระดับ ‘A(tha)’ อันดับเครดิตภายในประเทศระยะสั้นที่ ‘F1(tha)’ และอันดับเครดิตภายในประเทศของหุ้นกู้ด้อยสิทธิที่ ‘A-(tha)’ (A ลบ (tha))
การปรับลดอันดับเครดิตของ Hybrid Tier 1 Securities ของธนาคาร สะท้อนถึงความเสี่ยงที่สูงขึ้นในการที่ธนาคารจะไม่จ่ายผลตอบแทนแก่ผู้ถือ Hybrid Tier 1 Securities ภายหลังจากที่ได้มีการรายงานผลขาดทุนสุทธิที่ 12.3 พันล้านบาท ในปี 2549 เมื่อไม่นานมานี้และเมื่อพิจารณาถึงความสามารถในการทำกำไรที่ไม่แข็งแกร่ง คุณภาพสินทรัพย์ที่อ่อนแอ และความเสี่ยงในการกันสำรองเพิ่มเติมของธนาคารซึ่งอาจส่งผลกระทบเงินกองทุนในอนาคต การงดจ่ายผลตอบแทนดังกล่าวจะขึ้นอยู่กับว่าระดับของความเข้มงวดที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (“BOT”) จะทำการตีความข้อบังคับเกี่ยวกับตราสารหนี้ด้อยสิทธิที่มีลักษณะคล้ายทุน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการพิจารณาและการประเมินของ BOT เกี่ยวกับเสถียรภาพของธนาคาร อาทิเช่นระดับของเงินกองทุน ความสามารถในการทำกำไร หรือระดับกำไรสะสม ณ สิ้นปี 2549 อัตราส่วนเงินกองทุนขั้นที่ 1 ของ TMB ลดลงเป็น 7.3% จาก 10% ณ สิ้นเดือนกันยายน 2549 ระดับขาดทุนสะสมของธนาคารได้รับการคาดการณ์ว่าจะเพิ่มขึ้นเป็นประมาณ 55 พันล้านบาท ณ สิ้นปี 2549 จาก 43.2 พันล้านบาท ณ สิ้นเดือนกันยายน 2549 แม้ว่าธนาคารจะทำการเพิ่มทุนในปี 2550 รวมทั้งปรับโครงสร้างเงินกองทุนของธนาคาร ธนาคารก็ยังคงมีแนวโน้มที่จะไม่สามารถกำจัดตัวเลขขาดทุนสะสมดังกล่าวได้
การที่ฟิทช์ปรับแนวโน้มอันดับเครดิตของธนาคารมีสาเหตุมาจากการทบทวนถึงประโยชน์ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นจากการที่ Development Bank of Singapore (“DBS”) ซึ่งดำเนินธุรกิจในประเทศสิงคโปร์ และได้รับการจัดอันดับเครดิตสากลที่ ‘AA-’ (AA ลบ) / แนวโน้มมีเสถียรภาพ / ‘F1+’ ได้เข้ามาถือหุ้นใน TMB ซึ่งการถือหุ้นดังกล่าวของ DBS ไม่ได้ส่งผลให้ผลการดำเนินงาน การปฏิบัติงาน และเครือข่ายทางธุรกิจที่อ่อนแอของ TMB ปรับตัวไปในทิศทางที่ดีขึ้น นอกจากนั้น การควบรวมกิจการกับบรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ยังคงส่งผลให้ผลการดำเนินงานของ TMB ถดถอยต่อไป ในขณะที่สภาวการณ์การดำเนินธุรกิจที่อ่อนแอลงในปี 2550 มีแนวโน้มที่จะหน่วงเหนี่ยวการปรับตัวในทิศทางที่ดีขึ้นของความสามารถในการทำกำไรและคุณภาพสินทรัพย์ของธนาคาร
ผลขาดทุนขนาดใหญ่ที่ได้รายงานปี 2549 มีสาเหตุหลักมาจากการเพิ่มขึ้นอย่างมากของค่าใช้จ่ายในการกันสำรองสินเชื่อซึ่งเกิดจากข้อบังคับเกี่ยวกับการกันสำรองที่เข้มงวดขึ้นตามมาตรฐานการบัญชีระหว่างประเทศ ฉบับที่ 39 ใหม่ (“IAS39”) รวมทั้งการรับรู้ผลขาดทุนที่อาจเกิดขึ้นจากข้อขัดแย้งเกี่ยวกับเครื่องจักรที่จำนำไว้กับบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย (the Thai Asset Management Corporation (“TAMC”)) และผลขาดทุนที่เกิดขึ้นจากข้อตกลงในการแบ่งผลกำไรขาดทุนกับ TAMC ข้อบังคับใหม่นี้ได้ส่งผลกระทบต่อ TMB ในระดับที่สูงกว่าธนาคารอื่นมาก เมื่อพิจารณาถึงระดับสำรองหนี้สูญที่ต่ำกว่าของธนาคาร
เมื่อทำการหักผลกระทบจากข้อบังคับเกี่ยวกับ IAS39 และผลขาดทุนพิเศษจาก TAMC ผลกำไรก่อนหักสำรองของ TMB จะยังคงลดลงอย่างมีนัยสำคัญในปี 2549 เนื่องมาจากการเติบโตของสินเชื่อที่เป็นลบ ต้นทุนการปล่อยสินเชื่อที่สูงขึ้น และค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานที่สูงขึ้น ในขณะที่ TMB ได้ทำการกันสำรองจำนวนมากเพื่อให้เป็นไปตามข้อบังคับในระยะที่ 1 ของ IAS39 ซึ่งบังคับใช้โดย BOT ในงวดครึ่งปีหลังของปี 2549 ความเสี่ยงในการกันสำรองเพิ่มเติมในอนาคตยังคงมีอยู่ในปี 2550 อันเนื่องมาจากการบังคับใช้ IAS39 ต่อไปและแรงกดดันที่มีต่อคุณภาพสินทรัพย์ของธนาคาร ซึ่งปัจจัยเหล่านี้อาจส่งให้ความสามารถในการทำกำไรและเงินกองทุนของธนาคารถดถอยต่อไปในอนาคต ในขณะที่ธนาคารได้ประกาศแผนการเพิ่มทุนครั้งใหญ่ในปี 2550 แต่เมื่อพิจารณาถึงระดับความเชื่อมั่นในภาวะตลาดทุนที่อ่อนแอ แผนการดังกล่าวอาจนับได้ว่าท้าทาย อย่างไรก็ตาม กระทรวงการคลัง (“MOF”) ซึ่งถือหุ้นใน TMB ในสัดส่วน 31% ในปัจจุบันมีแนวโน้มที่จะให้การสนับสนุนแก่ธนาคารได้บ้าง ความสัมพันธ์ที่ยาวนานกับกองทัพไทยในอดีตของธนาคารน่าจะส่งผลให้มีความเป็นไปได้ที่ทางธนาคารจะได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลไทยในปัจจุบัน แม้ว่าในมุมมองของฟิทช์แล้ว ประเด็นดังกล่าวอาจก่อให้เกิดความยุ่งยากทางการเมืองในการตัดสินใจใดๆที่จะใช้งบประมาณรัฐเพื่อสนับสนุนธนาคาร อย่างไรก็ดี หากแผนการเพิ่มทุนขนาดใหญ่ประสบความสำเร็จ ก็จะช่วยสร้างเสถียรภาพให้กับอันดับเครดิตของ Hybrid Tier 1 Securities ของธนาคาร และความแข็งแกร่งทางการเงินโดยรวมของธนาคาร
ติดต่อ
ชัยพัฒน์ ไพฑูรย์, Vincent Milton, กรุงเทพฯ +662 655 4762/4759
David Marshall, ฮ่องกง +852 2263 9963
การจัดอันดับเครดิตภายในประเทศ (National Ratings) ใช้วัดความน่าเชื่อถือของบริษัทในประเทศที่อันดับเครดิตของประเทศนั้นอยู่ในระดับต่ำกว่าอันดับเครดิตระดับเพื่อการลงทุน หรือมีอันดับเครดิตอยู่ในระดับต่ำแม้จะอยู่ในระดับเพื่อการลงทุน อันดับเครดิตของบริษัทที่ดีที่สุดของประเทศจะอยู่ที่ระดับ “AAA” และการจัดอันดับเครดิตอื่นในประเทศ จะเป็นการเปรียบเทียบความเสี่ยงกับบริษัทที่ดีที่สุดนี้เท่านั้น อันดับเครดิตภายในประเทศนั้นถูกออกแบบมาเพื่อนักลงทุนภายในประเทศในแต่ละประเทศนั้นๆ และมีสัญลักษณ์ที่กำหนดไว้ต่อท้ายจากอันดับเครดิตสำหรับแต่ละประเทศ เช่น “AAA(tha)” ในกรณีของประเทศไทย อันดับเครดิตภายในประเทศนั้นไม่สามารถนำไปใช้เปรียบเทียบระหว่างประเทศได้
คำจำกัดความของอันดับเครดิตและการใช้อันดับเครดิตดังกล่าวของ ฟิทช์ เรทติ้งส์ สามารถหาได้จาก www.fitchratings.com อันดับเครดิตที่ประกาศ หลักเกณฑ์และวิธีการจัดอันดับเครดิต ได้แสดงไว้ในเว็บไซต์ดังกล่าวตลอดเวลา หลักจรรยาบรรณ การรักษาข้อมูลภายใน ความขัดแย้งทางผลประโยชน์ที่อาจเกิดขึ้น แนวทางการเปิดเผยข้อมูลระหว่างบริษัทในเครือ กฏข้อบังคับรวมทั้งนโยบายและกระบวนการที่เกี่ยวข้องอื่นๆของฟิทช์ ได้แสดงไว้ในส่วน ‘หลักจรรยาบรรณ’ ในเว็บไซต์ดังกล่าวเช่นกัน ผู้ออกตราสารไม่ได้มีส่วนร่วมในกระบวนการจัดอันดับเครดิต นอกเหนือจากการเปิดเผยข้อมูลสาธารณะของบริษัทเท่านั้น