ตามที่ ดีแทค ได้ให้ข่าวกับสื่อมวลชนว่าในวันที่ 1 ก.พ.นี้ ดีแทคจะเริ่มการจ่ายค่าอินเตอร์คอนเนคชั่นชาร์จ (ไอซี) แทนค่าแอ็คเซส ชาร์จ (เอซี) ให้กับ ทีโอที ในอัตรา 1.25 บาทต่อนาที นายวิเชียร นาคสีนวล รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) ชี้แจงว่า ทีโอทียังคงยืนยันให้ดีแทคจ่ายค่าแอ็คเซส ชาร์จ หรือเอซีตามสัญญาที่ได้ทำร่วมกันไว้ ซึ่งเรื่องนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลปกครองซึ่งทุกฝ่ายต้องรอคำตัดสินของศาล
นายวิเชียร ย้ำอีกครั้งว่า “ทีโอที จึงยังไม่มีการตกลงเรื่องค่าไอซี และไม่เคยเจรจาหรือทำข้อตกลงใด ๆ กับเอกชนรายใดทั้งสิ้นเนื่องจากพระราชบัญญัติประกอบกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ ได้ระบุไว้ว่าผู้ที่จะเชื่อมต่อโครงข่ายหรือทำอินเตอร์คอนเนคชั่น ชาร์จ (ไอซี) กับ ทีโอที ได้ต้องเป็นผู้รับใบอนุญาตและผู้ให้เชื่อมต่อต้องมีโครงข่ายของตนเองเท่านั้น ซึ่งดีแทคและทรู มูฟ ไม่มี โดยทั้ง 2 บริษัทให้บริการภายใต้ใบอนุญาตและโครงข่ายของ บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด(มหาชน) ทั้งนี้โดยเจตนารมณ์ของกฎหมายรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 ซึ่งเป็นที่มาของ พ.ร.บ.ประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2544 มาตรา 40 และมาตรา 335 ระบุว่ากฎหมายที่ตราขึ้นต้องไม่กระทบประเทือนถึงการอนุญาต หรือสัญญาซึ่งมีผลสมบรูณ์ก่อนที่ พ.ร.บ.ฉบับนี้จะมีผลบังคับใช้จนกว่าการอนุญาต หรือสัญญานั้นจะสิ้นผล สัญญาค่าเชื่อมโยงเอซีจึงยังมีผลบังคับใช้อย่างสมบรูณ์ทุกประการ ในมาตรา 25 ระบุให้ผู้ที่จะเชื่อมต่อโครงข่ายต้องเป็นผู้ที่ได้รับใบอนุญาตและผู้ให้เชื่อมต่อต้องมีโครงข่ายเป็นของตนเอง ซึ่งดีแทคและทรู มูฟไม่มีทั้ง 2 ประการ และในมาตรา 80 ยังระบุว่าผู้ได้รับอนุญาต หรือสัญญาก่อน พ.ร.บ.นี้มีผลบังคับใช้ยังคงประกอบกิจการโทรคมนาคมตามสิทธิและขอบเขตที่ได้รับอยู่เดิมต่อไป จนกว่าการอนุญาต หรือสัญญาดังกล่าวจะสิ้นสุดลงอีกด้วย”
ทีโอที ต้องการให้เรื่องที่เกิดขึ้นจบโดยเร็ว บนฐานตามที่ทำสัญญากันไว้ด้วยกัน เพื่อยุติความสับสน และจะทำให้ประชาชนชาวไทยได้รับความสะดวกในการใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ พร้อมวอนเอกชนให้ปฏิบัติตามสัญญาซึ่งได้ทำกันขึ้นด้วยความเข้าใจกันระหว่างของทั้ง 2 ฝ่าย
ทีโอที ได้มีการลงทุนจำนวนมากในการขยายโครงข่ายหลักทั่วประเทศเพื่อรับรองการให้ใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนจนมีจำนวน 45 ล้านเลขหมายในปัจจุบันให้สามารถติดต่อถึงกันได้อย่างสะดวก แม้ในยามที่ผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่เอกชนใช้กลยุทธ์ทางการตลาดด้านราคาจนกระทบกับคุณภาพการใช้บริการในช่วงที่ผ่านมา ทีโอที ก็รับผิดชอบด้วยการขยายโครงข่ายบริการรองรับเพิ่มมากขึ้นจนปัญหาดังกล่าวทุเลาลงได้ ซึ่งจะต้องใช้เงินลงทุนเพื่อรองรับการสื่อสารที่ไม่ติดขัดเป็นเม็ดเงินจำนวนมาก การเพิกเฉยและไม่ทำตามสัญญาที่ตกลงกันไว้ ส่งผลให้ ทีโอที ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐที่รับผิดชอบและให้บริการโทรคมนาคมต้องใช้เงินลงทุนจากรายได้ที่จะต้องนำส่งให้กับกระทรวงการคลังในการพัฒนาประเทศไทย หรือใช้เงินลงทุนในการขยายโครงข่ายจากเงินลงทุนในการพัฒนาให้บริการอื่น ๆ ของ ทีโอที มาขยายโครงข่ายเพิ่มขึ้นเพื่อรองรับการใช้งานอย่างไม่ติดขัด รองรับการใช้งานทั่วประเทศโดยไม่ได้รับผลตอบแทนตามสัญญาที่ตกลงกันไว้