ค้าปลีกไตรมาสแรก 2550 : ต้องลุ้นหนัก…เพื่อช่วงชิงกำลังซื้อ

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้วิเคราะห์การขยายตัวของธุรกิจค้าปลีกสำหรับ ปี 2549 และไตรมาสแรกปี 2550 ดังนี้

อัตราการขยายตัวของดัชนีมูลค่าค้าปลีกของไทยในปี 2549 มีการปรับตัวในทิศทางที่ถดถอยอย่างเห็นได้ชัด โดยจากรายงานของธนาคารแห่งประเทศไทย พบว่าในช่วง 11 เดือนแรกปี 2549 ดัชนีมูลค่าค้าปลีกเฉลี่ยมีค่า 146.5 เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน และเป็นไปได้ว่าดัชนีมูลค่าค้าปลีกในปี 2549 น่าจะมีค่าประมาณ 148 ซึ่งแม้ว่าจะเติบโตเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.4-1.5 แต่ก็นับเป็นอัตราการเติบโตที่ชะลอตัวลงเมื่อเทียบกับอัตราการเติบโตของดัชนีมูลค่าค้าปลีกในปี 2548 ที่เติบโตเพิ่มขึ้นร้อยละ 7 อีกทั้งยังนับเป็นระดับการเติบโตที่ต่ำที่สุดในรอบ 4-5 ปีด้วย ทั้งนี้การปรับตัวดังกล่าวเป็นไปตามทิศทางเศรษฐกิจไทยในปี 2549 ที่ทรงตัวด้วยอัตราการขยายตัวของ GDP ในระดับร้อยละ 5 ซึ่งต่ำกว่าค่าเฉลี่ยในระหว่างปี 2546-2548 ที่มีอัตราการเติบโตร้อยละ 6

ภาพรวมของธุรกิจค้าปลีกในไตรมาสแรกปี 2550 ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่าน่าจะเติบโตเพียงร้อยละ 2-5 หรือยังคงทรงตัวต่อเนื่องจากปีก่อน แต่ก็นับเป็นอัตราการเติบโตที่ถดถอยอย่างชัดเจนเมื่อเทียบกับปี 2546-2548 ที่อัตราการเติบโตของค่าเฉลี่ยดัชนีมูลค่าค้าปลีกในไตรมาสแรกในช่วงเวลาดังกล่าวเป็นร้อยละ 15.71 ซึ่งการเติบโตของธุรกิจค้าปลีกในไตรมาสแรกปี 2550 นั้นเป็นทิศทางที่ปรับตัวตามภาวะเศรษฐกิจไทยในปี 2550 ที่มีแนวโน้มทรงตัวต่อเนื่องจากปี 2549 อันเป็นผลมาจากแนวโน้มการชะลอตัวลงของการลงทุนในประเทศ ที่กำลังเผชิญกับภาวะความเสี่ยงทั้งด้านการเมืองที่ยังผันผวน ความเสี่ยงด้านมาตรการภาครัฐทั้งในประเด็นของกฎหมายประกอบธุรกิจคนต่างด้าว และร่างกฎหมาย พ.ร.บ.ค้าปลีกค้าส่งที่อยู่ระหว่างการพิจารณา ซึ่งอาจจะมีผลให้ผู้ประกอบการค้าปลีกรายใหญ่หลายรายชะลอแผนการลงทุนในการขยายสาขา หรือแม้แต่ผู้ประกอบการที่กำลังดำเนินการก็มีแนวโน้มที่จะชะลอการก่อสร้างเพื่อรอความชัดเจน รวมถึงความเสี่ยงจากภาวะเศรษฐกิจโลกโดยเฉพาะตลาดคู่ค้าหลักของไทยที่มีแนวโน้มชะลอลง และการแข็งค่าของเงินบาทที่อาจจะมีผลให้สินค้าไทยแพงกว่าคู่แข่งโดยเปรียบเทียบ ส่งผลให้ภาพรวมกำลังซื้อของผู้บริโภคในช่วงไตรมาสแรกปี 2550 น่าจะมีแนวโน้มทรงตัวต่อเนื่องจากปีก่อน และมีผลต่อเนื่องให้ผู้บริโภคภายในประเทศมีพฤติกรรมการจับจ่ายใช้สอยที่มีความระมัดระวังไม่แตกต่างจากปี 2549 ที่ผ่านมามากนัก โดยเฉพาะการใช้จ่ายในส่วนของสินค้าฟุ่มเฟือย

อย่างไรก็ตาม ปัจจัยบวกที่คาดว่าจะสนับสนุนให้การจับจ่ายใช้สอยในช่วงไตรมาสแรกปี 2550 คึกคักได้บ้างนั้นก็ได้แก่ การจับจ่ายใช้สอยในกิจกรรมใหญ่ 2 กิจกรรมอย่างเทศกาลตรุษจีนที่คาดว่าคนไทยเชื้อสายจีนจำนวนไม่น้อยจะยังคงให้ความสำคัญต่อการสืบสานประเพณีที่ปฏิบัติต่อกันมาอย่างต่อเนื่อง และมีการจับจ่ายใช้สอยเพื่อซื้ออาหารและเครื่องใช้เตรียมรับเทศกาล แม้จะมีปัจจัยลบทางเศรษฐกิจเกิดขึ้นก็ตาม และวันวาเลนไทน์ที่คนไทยจำนวนไม่น้อยหันมานิยมซื้อของขวัญของฝากให้กันและกันมากขึ้นโดยเฉพาะในกลุ่มวัยรุ่น ขณะเดียวกันสถาบันการเงิน หรือบรรดาผู้ประกอบการหลายแห่งในตลาดหลักทรัพย์ก็ได้มีกำหนดจ่ายโบนัส หรือเงินปันผลในช่วงเวลาดังกล่าวด้วย นอกจากนี้ราคาน้ำมันซึ่งเป็นต้นทุนสำคัญอย่างหนึ่งของผู้บริโภคได้มีการปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2549 เป็นต้นมา และอัตราเงินเฟ้อในประเทศก็มีแนวโน้มการอ่อนตัวตามภาวะราคาน้ำมัน เช่นเดียวกับอัตราดอกเบี้ยในระบบที่แนวโน้มการปรับตัวลดลงด้วย จึงน่าจะส่งผลกระตุ้นให้เกิดความต้องการและการใช้จ่ายของผู้บริโภคเพิ่มขึ้นได้บ้างระดับหนึ่งในช่วงไตรมาสแรกปี 2550 ซึ่งในแต่ละปีที่ผ่านมายอดขายค้าปลีกในช่วงไตรมาสแรกมักจะมีเม็ดเงินหมุนเวียนมากเป็นอันดับสองรองจากไตรมาสที่ 4 ของแต่ละปีโดยเปรียบเทียบ หรือคิดเป็นสัดส่วนประมาณร้อยละ 23-25 ของมูลค่าค้าปลีกโดยรวม

บทสรุป
ภาพรวมของธุรกิจค้าปลีกในไตรมาสแรกปี 2550 ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่าน่าจะเติบโตเพียงร้อยละ 2-5 หรือยังคงทรงตัวต่อเนื่องจากปีก่อน และชะลอตัวลงเมื่อเทียบกับปี 2546-2548 ที่อัตราการเติบโตของค่าเฉลี่ยดัชนีมูลค่าค้าปลีกในไตรมาสแรกในช่วงเวลาดังกล่าวเป็นร้อยละ 15.71 ทั้งนี้เนื่องจากปัจจัยที่ส่งผลกระทบในด้านบวกต่อกำลังซื้อและพฤติกรรมการจับจ่ายใช้สอยของผู้บริโภคยังไม่ชัดเจนมากนัก ในขณะที่ปัจจัยลบกลับมีแนวโน้มที่จะส่งผลกระทบชัดเจนกว่า ไม่ว่าจะเป็นภาวะเศรษฐกิจของประเทศที่มีแนวโน้มชะลอตัวลง สถานการณ์การเมืองที่ยังคงผันผวน หรือภาวะเศรษฐกิจของคู่ค้าหลักในตลาดโลกที่มีแนวโน้มชะลอตัวลง เป็นต้น ส่งผลให้ภาพรวมกำลังซื้อของผู้บริโภคมีแนวโน้มทรงตัวต่อเนื่อง และน่าจะมีผลให้ผู้บริโภคมีความระมัดระวังการใช้จ่ายเพิ่มมากขึ้นตามมาในไตรมาสแรกปี 2550 ประกอบกับรูปแบบการดำเนินธุรกิจในปัจจุบันที่เป็นไปในลักษณะที่ซับซ้อนขึ้น จึงมีความเป็นไปได้ว่า บรรยากาศการแข่งขันในช่วงไตรมาสแรกปี 2550 น่าจะทวีความเข้มข้นเมื่อเทียบกับปีก่อน และเต็มไปด้วยการชิงไหวชิงพริบในเชิงการแข่งขัน เพื่อช่วงชิงกำลังซื้อของผู้บริโภค และกระตุ้นบรรยากาศการจับจ่ายใช้สอยของผู้บริโภคให้คึกคักมากขึ้น และหวังผลต่อเนื่องให้ยอดขายเติบโตได้ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ ทั้งในส่วนของการปรับปรุงสถานที่ การจัดมหกรรมลดราคาสินค้าในแต่ละประเภทสินค้าหมุนเวียนกันไปอย่างต่อเนื่อง หรือการจัดกิจกรรมทางการตลาดที่ค่อนข้างถี่มากขึ้น โดยเฉพาะในช่วงเทศกาลตรุษจีน และวันวาเลนไทน์ที่คาดว่าจะเป็นกิจกรรมที่น่าจะสามารถกระตุ้นให้ยอดขายและบรรยากาศการจับจ่ายมีความคึกคักมากขึ้นได้