พบสถิติใหม่สำหรับงานไอที ณ สยามพารากอน หลังคนไอทีคลายกังวลเรื่องภัยระเบิด ดันยอดขายทะลุ 1,000 ล้านบาท ยอดคนเดินงานเฉพาะวันแรกพุ่งกว่า 67% รวม 4 วันเกือบ 7 แสนคน และคนส่วนใหญ่นิยมในแบรนด์ “เอชพี” มากเป็นอันดับหนึ่ง ซึ่งดูได้จากยอดขายจากสินค้าที่ขายได้ในแต่ละประเภท
นายวิโรจน์ อัศวรังสี ผู้จัดการทั่วไป และบรรณาธิการอาวุโส บริษัท ดิแอสไพเรอร์สกรุ๊ป จำกัด ผู้จัดงานแสดงสินค้าไอที ComWorld Thailand 2007 กล่าวสรุปผลการจัดงานที่ผ่านมา ระหว่างวันที่ 8-11 กุมภาพันธ์ ว่า “งานครั้งนี้ประสบผลสำเร็จเกินเป้าหมาย และเป็นเรื่องที่น่าตื่นเต้นที่ยอดคนเข้าชมงานในวันแรกสูงกว่าครั้งที่ผ่านมากว่า 67% ทำให้มั่นใจได้ว่าสยามพารากอน จะกลายเป็นทำเลทองในอนาคต ยิ่งหากรถไฟฟ้าบีทีเอสขยายตัวหลายเส้นทางเพิ่มขึ้น ยิ่งทำให้สยามพารากอนได้เปรียบมากยิ่งขึ้นในจำนวนผู้เข้าชมงาน โดยปัจจุบันยอดคนโดยสารรถไฟฟ้า บีทีเอส เฉลี่ยอยู่วันละ 6 แสนคน”
นายวิโรจน์กล่าวต่อว่า “ยิ่งจัดคนยิ่งมากขึ้น อาจเป็นเพราะผู้คนเริ่มคุ้นเคยกับสยามพารากอนมากขึ้น แนวโน้มเหมือนสมัยเมื่อครั้งจัดที่ศูนย์สิริกิติ์ ระยะแรกคนก็จะไปน้อย แต่ยิ่งจัดคนก็พบทางเลือกใหม่ และมางาน มากขึ้น จึงมั่นใจว่า คนชมงานจะแซงหน้าศูนย์สิริกิติ์ได้ไม่ยากนักภายในเวลา 2 ปี”
“พฤติกรรมและกลุ่มคนเดินสยามพารากอน จะแตกต่างจากกลุ่มเดินศูนย์สิริกิติ์ โดยกลุ่มเดิน สยามพารากอนจะเป็นกลุ่มที่มีความรู้เรื่องสินค้าดีเยี่ยม เป็นกลุ่มที่มีการศึกษาดี เลือกซื้อสินค้า โดยเน้น “ดีไซน์และสเปค” มากกว่าราคาถูก ดังจะสังเกตได้ว่า งานครั้งนี้คนซื้อ Core 2 Duo เป็นส่วนใหญ่กว่า 60% ในขณะที่มองว่า Core Duo และ Core Solo เริ่มตกสเปค”
นายวิโรจน์กล่าวต่อว่า “ตามเป้าหมายของการจัดงาน ซึ่งเราเน้นเรื่อง Create New Segment, New Value เพื่อกระตุ้นยอดขาย โดยไม่รบกวนช่องทางการจัดจำหน่ายปกติ ดังนั้น เราจึงเน้นสินค้ารุ่นใหม่ หรือลิมิตเตทเวอร์ชั่น มากกว่าเน้นเรื่องราคาอย่างเดียว ผลลัพธ์ที่ได้จึงชัดเจนว่าโน้ตบุ๊คที่ขายได้ในงาน ส่วนใหญ่จะรุ่นระดับกลาง ถึงระดับบน ไม่ใช่รุ่นระดับล่าง และนั่นทำให้ผู้ค้าไอทีได้มาร์จินที่ดีขึ้น”
สำหรับยอดขายสินค้าไอทีในงานโดยสรุป จะพบว่าโน้ตบุ๊คยังครองตำแหน่งยอดขายสูงสุดอยู่ โดยยอดขายมากกว่าครั้งที่แล้วจาก 18,260 เครื่อง เพิ่มเป็น 20,310 เครื่อง โดยสาเหตุที่เพิ่มขึ้นมากจากความนิยมในการใช้โน้ตบุ๊คที่เพิ่มขึ้น และมีบริษัทโน้ตบุ๊คมาร่วมงานมากขึ้นได้แก่ โซนี่ เอ็มเอสไอ และฟูจิซึ
สินค้าที่ขายดีรองมาได้แก่ เครื่องเล่น MP4/MP3 ซึ่งมียอดขายราว 1 หมื่นเครื่อง, จอมอนิเตอร์แอลซีดีและจอทีวีแอลซีดี ประมาณ 3,700 จอ, คอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะราว 3,500 เครื่อง, กล้องดิจิตอลราว 3,500 ตัว, พรินเตอร์ราว 2,000 ตัว และพีดีเอโฟนราว 2,000 ตัว
รวมมูลค่าสินค้าที่ขายในงานแล้วประมาณ 1,022 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการไว้ที่ 900ล้านบาท และมีคนเข้างานทั้งหมด 692,650 คน ซึ่งมากกว่าครั้งที่แล้วเกือบ 30%
อนึ่ง พบว่า แบรนด์ที่ได้รับความนิยมสำหรับคนเดินพารากอน เป็น “เอชพี” โดยดูจากจำนวนสินค้าที่ขายได้ในงานประกอบด้วย “ยอดขายของโน้ตบุ๊คกว่า 2,500เครื่อง คอมพิวเตอร์พีซี 1,200 เครื่องพ็อกเก็ตพีซี 1,500 เครื่อง และพริ้นเตอร์ 2,400 เครื่อง ซึ่งถือเป็นแบรนด์ในใจสูงสุดของผู้บริโภคที่เข้าร่วมงานเมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา”
ทิศทางงานไอทีครึ่งปีหลัง ไม่เน้นจำนวน เน้นคุณภาพ และไม่บุกต่างจังหวัด
นายวิโรจน์กล่าวต่อว่า “เราจะเน้นคุณภาพ ไม่จัดงานมากครั้ง ไม่บุกต่างจังหวัด แต่จะร่วมมือกับต่างจังหวัดเพื่อสร้างสีสันและพันธมิตร มากกว่าจะไปคุกคาม หรือทำให้ตลาดในต่างจังหวัดปั่นป่วนด้วยกลยุทธ์ราคาถูก”
ปีหนึ่งๆ บริษัทจะเลือกจัดงานเพียง 2 ครั้งต่อปี แบ่งเป็น ต้นปีในเดือนกุมภาพันธ์ และปลายปีในเดือนกันยายน ระหว่างวันที่ 27-30 กันยายน ภายใต้ชื่องาน ComWorld ComCreativ 2007 โดยบริษัทฯ ได้น้อมรับคำชี้แนะรัฐมนตรีไอซีที ปลายปีจัดใหญ่กว่าเดิม พร้อมจัด “โซนเทคโนโลยีไทย เก่งไกลทั่วโลก” เพิ่มเติม เพื่อโชว์เทคโนโลยีที่เกิดจากฝีมือคนไทย โดยในขณะนี้ได้ประสานไปกับมหาวิทยาลัยต่างๆ ดึงเอาผลงานวิจัยชั้นเลิศมา รวมตัวกัน เพื่ออวดคนไทยและคนต่างประเทศในงานปลายปีนี้
อนึ่ง บริษัท ดิแอสไพเรอร์สกรุ๊ป จำกัด ผู้ผลิตนิตยสารไอที รายการทีวี วิทยุ และงานแสดงสินค้าคอมเวิล์ด ปัจจุบันมีส่วนแบ่งตลาดผู้อ่าน 65% ผลิตสิ่งพิมพ์ไอทีชั้นนำ จำนวน 5 เล่ม ได้แก่ PC Today นิตยสารไอทีที่มี ยอดจำหน่ายสูงสุดในไทย, PC World นิตยสารไอทีชั้นนำของโลก ลิขสิทธิ์มาจากบริษัท IDG สหรัฐอเมริกา, DNS นิตยสารสำหรับผู้เชี่ยวชาญในองค์กร, E World นิตยสารไอทีและไอเดียสำหรับผู้ประกอบการ และ Computerworld หนังสือพิมพ์ข่าวไอทีสำหรับผู้บริหาร นอกจากนี้มีรายการวิทยุ และรายการทีวี IT Eleven ซึ่งเป็นรายการไอทีทางทีวี ที่มีผู้ชมมากที่สุดรายการหนึ่ง