กทช. ระบุทวงคืนดาวเทียมหน้าที่ตรงกระทรวงไอซีที ชี้ต้องรอบคอบพร้อมดำเนินการตามนโยบายรัฐบาล

กทช.ชี้การทวงคืนสัมปทานดาวเทียมไทยคมเป็นอำนาจของรัฐบาลและกระทรวงไอซีทีตามสัญญาสัมปทาน ด้านกทช. มีอำนาจหน้าที่ในการจัดสรรคลื่นความถี่กิจการสื่อสารดาวเทียม และกำกับดูแลการแข่งขันกันประกอบกิจการสื่อสารดาวเทียมระหว่างไทยคมกับดาวเทียมอื่นๆ กทช.พร้อมที่จะประสานความร่วมมือกับภาครัฐทุกด้านเพื่อให้เป็นไปตามกฎหมายของประเทศไทย ระบุหากซื้อคืนหรือยึดคืนสัมปทานดาวเทียมไทยคมต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ คุ้มค่าต่อการลงทุนมากที่สุด เนื่องจากการแข่งขันให้บริการดาวเทียมระหว่างประเทศรุนแรงต้องอาศัยภาคเอกชนที่เข้มแข็งเป็นตัวขับเคลื่อนธุรกิจดาวเทียม

ศาสตราจารย์ เศรษฐพร คูศรีพิทักษ์ กรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) เปิดเผยถึงกรณีที่รัฐบาล โดยกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) กำลังพิจารณาเรื่องสัญญาสัมปทานดาวเทียมไทยคม ของบริษัท ชินแซทเทิลไลท์ จำกัด(มหาชน) ว่าเป็นสิทธิอันชอบธรรมของกระทรวงไอทีซีในฐานะคู่สัญญาสัมปทาน เมื่อเห็นว่ามีการปฏิบัติไม่ถูกต้องของคู่สัญญา เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงผู้ถือหุ้นใหญ่ในบริษัทชินคอร์ปอเรชั่น มาเป็นกลุ่มเทมาเส็กจากประเทศสิงคโปร์ ต้องพิจารณาตามกฎหมายด้านต่างๆ ที่เกี่ยวข้องให้รอบคอบ เพื่อป้องกันมิให้ความผิดพลาด

อย่างไรก็ตามในการดำเนินการของกระทรวงไอซีทีนั้น ดำเนินการตามสัญญาสัมปทานโครงการดาวเทียมไทยคม ทาง กทช. ไม่มีอำนาจหน้าที่ความรับผิดชอบใดๆ ที่จะเข้าไปเกี่ยวกับกับการดำเนินการตามสัญญาสัมปทานระหว่างกระทรวงไอซีทีและชินแซทเทิลไลท์ แต่อำนาจหน้าที่ของ กทช.จะอยู่ที่การดูแลเรื่องของการแข่งขันกันประกอบกิจการสื่อสารดาวเทียมระหว่างดาวเทียมไทยคมกับดาวเทียมอื่นๆ โดยเฉพาะการดูแลเรื่องของความถี่สำหรับดาวเทียมในประเทศไทย

ทั้งนี้การดูแลกิจการสื่อสารดาวเทียมของประเทศไทย กทช. จะดูแลส่วนหนึ่ง ในเรื่องของการให้คลื่นความถี่ว่าดาวเทียมแต่ละดวงจะใช้คลื่นความถี่ใดบ้าง ส่วนกระทรวงไอซีทีดูแลอีกส่วนหนึ่งในเรื่องของการจองตำแหน่งวงจรดาวเทียมกับหน่วยงาน ITU ซึ่งเป็นองค์กรสากลเกี่ยวกับการควบคุมเรื่องของดาวเทียมที่ใช้กันทั่วโลก การจองตำแหน่งวงจรดาวเทียมนั้น จะจองในนามของรัฐบาลไทย โดยมีกระทรวงไอซีทีเป็นผู้รับผิดชอบ และส่วนสุดท้ายที่ทั้ง กทช. และกระทรวงไอซีทีต้องดูแลรับผิดชอบร่วมกัน คือเรื่องของการประสานงานคลื่นความถี่ก่อนที่จะมีการยิงดาวเทียมขึ้นสู่วงโคจร เพื่อที่จะให้การทำงานของดาวเทียมแต่ละดวงไม่รบกวนซึ่งกันและกัน

“ความชัดเจนเรื่องหน้าที่ความรับผิดชอบระหว่าง กทช. และ กระทรวงไอซีที เป็นคนละหน้าที่กัน สาธารณชนน่าจะได้รับรู้ว่ากระทรวงไอซีทีรับผิดชอบเรื่องสัญญาสัมปทานดาวเทียมไทยคม ส่วนกทช. มีหน้าที่รับผิดชอบเกี่ยวกับการกำกับดูแลการประกอบกิจการที่มีการแข่งขันระหว่างดาวเทียมไทยคมกับดาวเทียมอื่น ๆ” นายเศรษฐพร กล่าวย้ำให้เห็นถึงอำนาจหน้าที่ของ กทช. และว่า “กทช. เป็นองค์กรของรัฐประเภทหนึ่ง ที่ต้องดำเนินการตามนโยบายของรัฐบาลเช่นกัน หากรัฐบาลกำลังดำเนินการทวงคืนสัมปทานดาวเทียมจากผู้ประกอบการ และมีการขอความร่วมมือมาทาง กทช. ก็พร้อมที่จะให้ข้อมูลความร่วมมือทางด้านต่างๆ กับรัฐบาลและกระทรวงไอซีที”

นายเศรษฐพร กล่าวว่าปัจจุบันนี้ดาวเทียมไทยคมยังคงเป็นดาวเทียมของประเทศไทย เป็นดาวเทียมที่อยู่ในตำแหน่งวงโคจรของประเทศไทย แต่สัญญาสัปทานที่ภาครัฐทำกับบริษัทชินแซทเทิลไลท์ ขณะนี้อยู่ในการดูแลของกองทุนเทมาเส็กที่ได้ซื้อหุ้นของชินคอร์ปเท่านั้น จึงเป็นเรื่องของการดำเนินการตามกฎหมายให้ถูกต้องตามกฎกติกาของประเทศไทย รวมถึงการพิจารณาข้อกฎหมายระหว่างประเทศด้วย

สำหรับการพิจารณาเรื่องของตัวสัญญาสัมปทานว่าจะสามารถทวงคืนจากกลุ่มเทมาเส็กได้หรือไม่นั้น อาจจะต้องมีการเปิดเจรจาเพื่อทำการซื้อคืนสัมปทานดาวเทียมไทยคม หรือหากมีเข้าเกณฑ์เรื่องของการผิดกฎหมาย ก็อาจนำไปสู่การยกเลิกสัญญาสัมปทานได้ แต่ทั้งสองแนวทางรัฐบาลจะต้องพิจารณาอย่างรอบคอบว่าคุ้มค่ากับการนำสัมปทานดาวเทียมคืนมาหรือไม่ หากต้องใช้เงินลงทุนมากกว่าหนึ่งหมื่นล้านบาท ที่สำคัญการบริหารจัดการหลังจากการซื้อคืนหรือยึดคืนสัมปทานดาวเทียมไทยคมมาแล้วจะทำอย่างไรต่อไป เนื่องจากภาวะการแข่งขันการให้บริการดาวเทียมขณะนี้ค่อนข้างเข้มข้นรุนแรง มีดาวเทียมมากกว่า 30 ดวง ที่สามารถให้บริการในลักษณะเดียวกับดาวเทียมไทยคม หากหน่วยงานรัฐเป็นผู้เข้ามารับผิดชอบการบริหารจัดการดูแลกิจการนี้คงจะไม่สามารถแข่งขันได้ ต้องอาศัยภาคเอกชนที่มีความเข้มแข็งเข้ามาดูแลกิจการดาวเทียมไทยคมนี้ต่อไป

ด้านประเด็นเรื่องความมั่นคงนั้น การให้บริการของดาวเทียมไทยคมมีผู้ใช้ที่เป็นคนไทยเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ส่วนใหญ่ของผู้ใช้บริการจะเป็นผู้ใช้บริการต่างประเทศ และดาวเทียมไทยคมไม่ได้เป็นดาวเทียมเพื่อความมั่นคงทางด้านการทหาร นอกจากนี้อายุการใช้ดาวเทียมยังมีระยะเวลาที่จำกัดแน่นอน หากรัฐบาลต้องการซื้อคืนจริง ต้องหาวิธีที่เหมาะสมที่สุด และไม่ต้องแบกรับภาระที่จะเกิดขึ้นจากกิจการสื่อสารดาวเทียมไทยคมในอนาคตด้วย