TMC / สวทช. กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ จับมือพันธมิตร กระทรวงศึกษาฯ

กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดย ศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี (Technology Management Center: TMC) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ร่วมกับ กระทรวงศึกษาธิการ โดยสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) และสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ ในโครงการส่งเสริมเด็กและเยาวชนผู้มีความสามารถพิเศษทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ร่วมขยายพันธมิตร เน้นส่งเสริมเด็กไทยเต็มกำลัง ให้โอกาสร่วมกิจกรรมพัฒนาศักยภาพทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีตลอดปี

ศ.ดร.ยงยุทธ ยุทธวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ร่วมกับ ศ.ดร.วิจิตร ศรีสอ้าน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานในการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ “โครงการส่งเสริมเด็กและเยาวชนผู้มีความสามารถพิเศษทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี” ระหว่าง 3 หน่วยงาน ได้แก่ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดย รศ.ดร.ศักรินทร์ ภูมิรัตน ผู้อำนวยการ สวทช. ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) โดยคุณหญิงกษมา วรวรรณ ณ อยุธยา เลขาธิการ สพฐ. และสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) โดย ศ.ดร.สุรินทร์ พงศ์ศุภสมิทธิ์ ผู้อำนวยการ สสวท. โดยมี ศ.ดร.ประมวล ตั้งบริบูรณ์รัตน์ รักษาการผู้ช่วยผู้อำนวยการ สวทช. และรองผู้อำนวยการศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี (TMC) คณะผู้บริหารจากหน่วยงานต่าง ๆ ตลอดจนแขกผู้มีเกียรติ เด็กและเยาวชนระดับมัธยมศึกษาในสายวิทยาศาสตร์ และสื่อมวลชนแขนงต่างๆ เข้าร่วมเป็นสักขีพยาน

ศ.ดร.ยงยุทธ ยุทธวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ในฐานะที่กำกับดูแลการดำเนินงานของ สวทช. ได้มอบนโยบายเรื่องการสร้างคน โดยเน้น “การสร้างคนรุ่นใหม่ที่ดีและเก่งในทุกรุ่นทุกวัย” โดยเฉพาะเยาวชนผู้มีความสามารถพิเศษทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ควรจะได้รับการดูแลเอาใจใส่เป็นพิเศษในเรื่องที่ตนสนใจและถนัด เพื่อให้สามารถพัฒนาศักยภาพของตนทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีได้อย่างเต็มที่

เดิมทีนั้น การคัดเลือกเยาวชนผู้มีความสามารถพิเศษทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ฝ่ายส่งเสริมผู้มีความสามารถพิเศษ ศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี (TMC) เป็นผู้ดำเนินการ แต่ในปีนี้เพื่อให้การพัฒนาเยาวชนผู้มีความสามารถพิเศษเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด ศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี จึงได้ร่วมมือกับ สพฐ. และ สสวท. เพื่อเสนอชื่อเยาวชนคนเก่งด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เข้าร่วมกิจกรรมพัฒนาศักยภาพทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่จะจัดขึ้นโดย ฝ่ายส่งเสริมผู้มีความสามารถพิเศษ ศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี (TMC) ณ ค่ายวิทยาศาสตร์ถาวร หรือบ้านวิทยาศาสตร์ ที่ตั้งอยู่ภายในอุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย ตำบลคลองหนึ่ง อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี

“ความร่วมมือตามบันทึกข้อตกลงดังกล่าว มีกำหนดระยะเวลา 3 ปี โดยมุ่งสร้างกลไกและระบบ การเสาะหา คัดเลือกเยาวชนผู้มีความสามารถพิเศษทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีให้มีศักยภาพสูงสุด ด้วยการส่งเสริมและพัฒนาเยาวชนดังกล่าว เพื่อให้เป็นทรัพยากรที่มีคุณค่าในการสร้างและพัฒนาสังคมฐานความรู้ ตลอดจนเป็นการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศในระยะยาวต่อไป”

นอกจากนี้ ในงานแถลงข่าว ยังพบกับกิจกรรมคณิตศาสตร์เพื่อน้อง โดยเยาวชนคนเก่งจากโครงการพัฒนาอัจฉริยภาพทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสำหรับเด็กและเยาวชน (Junior Science Talent Project : JSTP) ได้แก่ หกเหลี่ยมมหัศจรรย์ คณิตคิดลัด คณิตศาสตร์ในธรรมชาติ Packing of circleและในวงรีมีเรื่องทึ่ง เป็นต้น พร้อมทั้งได้มีการเปิดตัวกิจกรรมค่ายวิทยาศาสตร์ที่ศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี จะจัดขึ้นภายในเดือนมีนาคมนี้ ได้แก่ ค่ายหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ ในระหว่างวันที่ 18 – 22 มีนาคม 2550 ณ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี วิทยาเขตบางขุนเทียน และค่ายวิทยาศาสตร์การอาหาร ในระหว่างวันที่ 23 – 25 มีนาคม 2550 ณ มหาวิทยาศาสตร์เกษตรศาสตร์ วิทยาเขตบางเขน

ทั้งนี้ ศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี (TMC) มีภารกิจในการบ่มเพาะโครงการที่มีความสำคัญต่อการพัฒนากำลังคนทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศ อาทิ โครงการค่ายวิทยาศาสตร์ถาวร, โครงการ JSTP, ทุนสนับสนุนการศึกษาของนิสิต นักศึกษา ปริญญาโทและเอกสายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (Thailand Graduate Institute of Science and Technology: TGIST) เป็นต้น โดยศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี ได้มีการเสาะแสวงหาความร่วมมือกับหน่วยงานที่มีความสามารถเฉพาะทางสูง และมีอุดมการณ์เดียวกันในการสร้างนักวิจัยของชาติ จึงเน้น “ขยายพันธมิตรทั้งภายในและต่างประเทศโดยยึดหลักผสานประโยชน์และความชำนาญการของกันและกัน เพื่อส่งเสริมและพัฒนาเยาวชนทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี”

เกี่ยวกับศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี
ศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี จัดตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2548 ภายใต้ สวทช. พันธกิจหลักคือ การนำความสำเร็จของผลงานวิจัยด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในประเทศสู่ภาคอุตสาหกรรม ด้วยการให้การสนับสนุนและการให้บริการในรูปแบบต่างๆ อย่างครบวงจร เพื่อส่งเสริมขีดความสามารถในการพัฒนาและพึ่งพาตนเองได้ของภาคธุรกิจ สังคมและชุมชน อันนำไปสู่การสร้างความมั่งคั่งให้กับเศรษฐกิจของประเทศอย่างยั่งยืน

ภารกิจหลักที่สำคัญของศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี ประกอบด้วย การจัดทำยุทธศาสตร์ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี, การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์, การสร้างความตระหนัก ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี, การบริหารจัดการโครงสร้างพื้นฐาน, การถ่ายทอดเทคโนโลยี และการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีพลังงานแสงอาทิตย์