ในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2550 คณะกรรมการนโยบายการเงินของธนาคารแห่งประเทศไทย (กนง.) มีกำหนดจะประชุมรอบที่สองของปีเพื่อตัดสินใจทิศทางนโยบายการเงิน หรือนโยบายอัตราดอกเบี้ยตลาดซื้อคืนพันธบัตรระยะ 1 วัน ซึ่งกนง.เพิ่งจะเริ่มใช้เป็นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย โดยกำหนดไว้ที่ร้อยละ 4.75 ในการประชุมวันที่ 17 มกราคมที่ผ่านมา ทั้งนี้ เป็นที่คาดการณ์กันอย่างกว้างขวางว่า กนง.คงจะตัดสินใจปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงอีกอย่างน้อยร้อยละ 0.25 ในการประชุมปลายเดือนนี้ ส่วนจะปรับลดมากกว่าร้อยละ 0.25 หรือไม่นั้น ก็ขึ้นอยู่กับการประเมินภาพรวมและแนวโน้มเศรษฐกิจของกนง.ว่ามีมุมมองเป็นอย่างไร สำหรับปัจจัยแวดล้อมที่สนับสนุนการคาดการณ์การปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงอีกของกนง.ในการประชุมวันที่ 28 กุมภาพันธ์นั้น สามารถสรุปได้ดังต่อไปนี้ :-
แรงกดดันเงินเฟ้อที่ผ่อนคลายลงชัดเจน ทำให้กนง.มีความยืดหยุ่นในการดำเนินนโยบายอัตราดอกเบี้ยเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจมากขึ้น
จากตัวเลขอัตราเงินเฟ้อทั่วไปของไทยในเดือนมกราคม 2550 ที่ลดลงมากกว่าคาดมาที่ร้อยละ 3.0 จากร้อยละ 3.5 ในเดือนธันวาคม 2549 อันเป็นผลจากการอ่อนตัวลงอย่างชัดเจนของราคาน้ำมัน กอปรกับแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อทั่วไปที่คาดว่าอาจมีค่าเฉลี่ยในช่วงร้อยละ 1.5-2.5 ในปี 2550 ลดลงจากค่าเฉลี่ยในปี 2549 ที่ร้อยละ 4.7 โดยอัตราเงินเฟ้อทั่วไปอาจปรับตัวต่ำลงมาเหลือเพียงร้อยละ 1.0-1.5 ในไตรมาส 2/2550 จากที่คาดว่าอาจจะมีค่าเฉลี่ยที่ประมาณร้อยละ 2.7 ในไตรมาสแรกของปี ตามการชะลอตัวลงของราคาน้ำมันและแนวโน้มการขยายตัวของเศรษฐกิจ ตลอดจนการมีฐานเปรียบเทียบที่ระดับสูงในช่วงเดียวกันของปีก่อน ทำให้ศูนย์วิจัยกสิกรไทยเห็นว่า ความเสี่ยงทางด้านเงินเฟ้อ ซึ่งเป็นน้ำหนักหลักสำหรับการตัดสินใจนโยบายอัตราดอกเบี้ยของกนง.ตามกรอบเป้าหมายอัตราเงินเฟ้อ (Inflation Targeting) คงจะไม่อยู่ในภาวะที่น่ากังวลมากเท่าในอดีตที่ผ่านมา และน่าจะเอื้อให้กนง.มีความยืดหยุ่นมากขึ้นหากจะตัดสินใจผ่อนคลายนโยบายอัตราดอกเบี้ยลงเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ
การชะลอลงของเศรษฐกิจ เป็นประเด็นความเสี่ยงที่มีน้ำหนักมากขึ้นตามลำดับ
แม้ว่าข้อมูลเครื่องชี้ภาวะเศรษฐกิจไทยโดยรวมในเดือนมกราคม 2550 ของธนาคารแห่งประเทศไทย จะยังไม่เผยแพร่สู่สาธารณะจนกระทั่งหลังการประชุมกนง.วันที่ 28 กุมภาพันธ์ ผนวกกับข้อมูลด้านต่างประเทศยังติดขัดปัญหาทางด้านเทคนิคที่ทำให้การรายงานข้อมูลของเดือนมกราคมมีความล่าช้าออกไป แต่ก็เป็นที่คาดการณ์ว่า ข้อมูลด้านต่างประเทศโดยเฉพาะการส่งออกในเดือนมกราคม 2550 อาจจะไม่สามารถขยายตัวได้อย่างแข็งแกร่งเท่ากับในช่วงปี 2549 ที่ผ่านมา อันเป็นผลจากแนวโน้มการชะลอตัวลงของเศรษฐกิจโลกและเงินบาทที่มีทิศทางแข็งค่าขึ้น นอกจากนี้ จากข้อมูลเบื้องต้นที่บ่งชี้ถึงการใช้จ่ายภายในประเทศในช่วงที่ผ่านมา ก็ล้วนให้ภาพที่แสดงถึงสัญญาณการชะลอตัวลงของเศรษฐกิจไทยแทบทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็น ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่สำรวจโดยมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ที่อยู่ที่ระดับ 79.9 ในเดือนมกราคม ลดลงเป็นเดือนที่สามติดต่อกันและเป็นระดับที่ต่ำที่สุดในรอบ 5 เดือนที่ผ่านมา ยอดขายรถยนต์ทั้งระบบในเดือนมกราคม ที่ลดลงร้อยละ 23.4 ต่ำสุดในรอบ 2 ปี และล่าสุดดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือนมกราคม ที่อยู่ที่ระดับ 83.6 ต่ำกว่า 100 เป็นเดือนที่สิบและเป็นระดับที่ลดลงเป็นเดือนที่ห้าติดต่อกัน อีกทั้งการใช้จ่ายของภาครัฐ ก็ยังไม่ใช่ปัจจัยขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้อย่างเต็มที่ตามที่คาดหวังไว้ ดังจะเห็นได้จากการเบิกจ่ายงบประมาณของรัฐบาลที่ทำได้เพียงร้อยละ 22 ของวงเงินงบประมาณรายจ่าย 1.566 ล้านล้านบาทในช่วง 4 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2550 (ตุลาคม 2549-มกราคม 2550) เนื่องจากพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2550 เพิ่งจะประกาศใช้เมื่อวันที่ 9 มกราคมที่ผ่านมา
ทั้งนี้ จากข้อมูลต่างๆ ดังกล่าว ทำให้คาดว่าเครื่องชี้ภาวะเศรษฐกิจไทยในเดือนมกราคมของทางการ คงจะมีทิศทางการปรับตัวที่ไม่สดใสนัก และหากพิจารณาแนวโน้มในระยะถัดไปแล้ว ก็อาจกล่าวได้ว่า แนวโน้มการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปี 2550 นี้ ยังมีความเสี่ยงอยู่อีกมาก ทั้งประเด็นการเมืองในเรื่องการร่างรัฐธรรมนูญและคดียุบพรรคการเมือง การเปลี่ยนแปลงกฎระเบียบในเรื่องการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวและการดำเนินธุรกิจค้าปลีก ตลอดจนการดำเนินมาตรการเพื่อดูแลเสถียรภาพของค่าเงินบาท ดังนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทยจึงเห็นว่า ความเสี่ยงด้านการขยายตัวของเศรษฐกิจที่มีน้ำหนักมากขึ้นนี้ คงจะเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้กนง.พิจารณาปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงอีกในการประชุมปลายเดือนนี้
ค่าผลต่างอัตราดอกเบี้ยไทยและสหรัฐฯ ที่อาจมีค่าติดลบมากขึ้น น่าจะเป็นผลบวกต่อค่าเงินบาทและสนับสนุนการยกเลิกมาตรการดำรงเงินสำรองเงินนำเข้าระยะสั้นของทางการในอนาคต
หากกนง.ประกาศปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงอีกร้อยละ 0.25-0.50 ในการประชุมปลายเดือนนี้ ในขณะที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ มีแนวโน้มจะคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ระดับเดิมต่อไปอีกระยะหนึ่ง จะทำให้ค่าผลต่างอัตราดอกเบี้ยไทยและสหรัฐฯ มีค่าที่ติดลบมากขึ้น (ปัจจุบันอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยอยู่ที่ร้อยละ 4.75 เทียบกับอัตราดอกเบี้ย Fed Funds ที่อยู่ที่ร้อยละ 5.25) ทั้งนี้ แม้ว่าปัจจัยเรื่องค่าผลต่างอัตราดอกเบี้ยซึ่งอาจมีผลกระทบต่อกระแสการเคลื่อนย้ายเงินทุนระหว่างประเทศ อาจจะไม่ใช่น้ำหนักหลักที่กนง.จะนำมาพิจารณาประกอบการตัดสินใจนโยบายอัตราดอกเบี้ย แต่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า ค่าผลต่างอัตราดอกเบี้ยของไทยและสหรัฐฯ ที่อาจมีค่าติดลบมากขึ้นดังกล่าว อาจจะลดแรงจูงใจสำหรับการนำเงินเข้ามาแสวงหาผลตอบแทนระดับสูงในไทย ซึ่งจะช่วยเกื้อหนุนความเคลื่อนไหวของเงินบาท รวมทั้งยังอาจทำให้ทางการมีความยืดหยุ่นมากขึ้นหากจะทยอยลดความเข้มงวดหรือดำเนินการยกเลิกมาตรการดำรงเงินสำรองเงินนำเข้าระยะสั้นในอนาคต
โดยสรุป ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า คณะกรรมการนโยบายการเงินของธนาคารแห่งประเทศไทย (กนง.) คงจะมีมติปรับลดอัตราดอกเบี้ยตลาดซื้อคืนพันธบัตรระยะ 1 วันลงอีกในการประชุมรอบที่สองของปีในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2550 โดยคาดว่า กนง.คงจะปรับอัตราดอกเบี้ยลดลงไม่ต่ำกว่าร้อยละ 0.25 และอาจจะปรับลดได้ถึงร้อยละ 0.50 ถ้ากนง.ให้น้ำหนักในการกระตุ้นเศรษฐกิจมาก เนื่องจากสัญญาณทางเศรษฐกิจมีแนวโน้มจะให้ภาพในเชิงลบมากขึ้น ในขณะที่ความเสี่ยงทางด้านเงินเฟ้ออยู่ในภาวะที่ไม่ต้องวิตกมากเท่าในอดีต ซึ่งแม้กนง.จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงอีกร้อยละ 0.25-0.50 แต่อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงหลังหักผลของการเพิ่มขึ้นของราคา ก็มีแนวโน้มจะยังเป็นบวกอยู่ได้ นอกจากนี้ การประกาศปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง นอกจากจะเป็นผลดีต่อภาวะเศรษฐกิจโดยรวมแล้ว ค่าผลต่างอัตราดอกเบี้ยของไทยและสหรัฐฯ ที่จะมีค่าเป็นลบมากขึ้น ก็น่าที่จะช่วยเกื้อหนุนความเคลื่อนไหวของเงินบาท และทำให้ทางการไทยมีความยืดหยุ่นมากขึ้นหากจะพิจารณาลดความเข้มงวดหรือยกเลิกมาตรการดำรงเงินสำรองเงินนำเข้าระยะสั้นในอนาคต อีกทั้ง ในกรณีที่กนง.มีมติปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงมากกว่าร้อยละ 0.25 ในการประชุมปลายเดือนนี้ ก็น่าจะเป็นการส่งสัญญาณที่ชัดเจนมากขึ้นให้กับระบบธนาคารพาณิชย์ในการพิจารณาปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลงตามมาเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจด้วย