การลงทุนของต่างชาติในตลาดทุนไทย…แนวโน้มชะลอตัวภายใต้สภาพแวดล้อมการลงทุนที่เปลี่ยนแปลงไป

นับจากที่ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ได้ออกมาตรการดำรงเงินสำรองเงินนำเข้าระยะสั้นในวันที่ 18 ธันวาคม 2549 เป็นต้นมา ธปท.ได้ทยอยผ่อนผันมาตรการดังกล่าว ตามลำดับ เริ่มจากในวันที่ 19 ธันวาคม โดยให้มีการยกเว้นการกันสำรองให้กับ เงินลงทุนในหุ้นทุนที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ (ไม่รวมหน่วยลงทุน และ Warrant) เงินลงทุนในศูนย์ซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้า และตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้า โดยให้นำเงินลงทุนดังกล่าวเข้าบัญชีเงินบาทที่มีวัตถุประสงค์เฉพาะการลงทุนในตราสารทุนและสัญญาล่วงหน้า (SNS) หลังจากนั้นเมื่อวันที่ 29 มกราคม 2550 ธปท. ได้เพิ่มประเภทตราสารทุนที่ไม่ต้องกันเงินสำรองให้ครอบคลุมใบสำคัญแสดงสิทธิในการซื้อหุ้นทุน สิทธิจองซื้อหุ้นเพิ่มทุน และใบแสดงสิทธิในผลประโยชน์หลักทรัพย์อ้างอิงตราสารทุน ส่วนในครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2550 ธปท. ได้ประกาศยกเลิกข้อกำหนดมาตรการป้องปรามการเก็งกำไรค่าเงินบาทในเรื่องให้ Non-resident ถือครองพันธบัตรรัฐบาล ตั๋วเงินคลัง และพันธบัตร ธปท. เกินกว่า 3 เดือน และเพิ่มทางเลือกแทนการกันสำรองเงินนำเข้าระยะสั้นสำหรับการลงทุนในตราสารหนี้และหน่วยลงทุนของกองทุนรวม ให้มีผลตั้งแต่วันที่ 15 มีนาคม 2550 โดยกำหนดทางเลือกให้การนำเงินตราต่างประเทศแลกเงินบาทเพื่อลงทุนในตราสารหนี้ ซึ่งหมายถึง พันธบัตร ตั๋วเงินคลัง หุ้นกู้ ตั๋วแลกเงิน และตั๋วสัญญาใช้เงินและหน่วยลงทุนของกองทุนรวมทุกประเภท ทั้งที่จดและไม่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ สามารถเลือกที่จะกันสำรองเหมือนเดิม หรือป้องกันความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนกับสถาบันการเงินในประเทศไทยเท่ากับจำนวนเงินและระยะเวลาการลงทุน (Fully Hedged) ทั้งนี้ การป้องกันความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนดังกล่าวต้องเป็นธุรกรรม FX Swap หรือ Cross Currency Swap ซึ่งมีอายุตั้งแต่ 3 เดือน ขึ้นไป และเงินลงทุนดังกล่าวต้องนำเข้าบัญชีเงินบาทที่มีวัตถุประสงค์เฉพาะการลงทุนในตราสารหนี้และหน่วยลงทุน (SND) โดยให้มียอดคงค้าง ณ สิ้นวันไม่เกิน 300 ล้านบาท

บรรยากาศการลงทุนในตลาดทุนไทย หลังการผ่อนผันมาตรการดำรงเงินสำรองฯ

เมื่อพิจารณาการลงทุนในตลาดทุนไทย แม้จะได้มีการยกเลิกมาตรการดังกล่าวกับการลงทุนในตลาดหุ้น และผ่อนผันให้กับการลงทุนในช่องทางอื่นๆในเวลาต่อมาพบว่า

ทางด้านตลาดหุ้น การปรับตัวของดัชนีตลาดหลักทรัพย์ไทย ยังคงอยู่ในระดับที่ลดลงเมื่อ
เทียบกับช่วงก่อนที่มีการประกาศใช้มาตรการดำรงเงินสำรองฯ โดยในช่วง 2 สัปดาห์ก่อนการประกาศใช้มาตรการ ดัชนีตลาดหุ้นไทยปรับตัวอยู่ในกรอบ 730-740 จุด ขณะที่หลังจากวันที่ 19 ธันวาคม เป็นต้นมา ดัชนีแกว่งตัวอยู่ในกรอบที่ 670-690 จุด ก่อนที่จะปิด ณ.สิ้นปี 2549 ที่ 679.84 จุด โดยอัตราผลตอบแทนของดัชนีตลาดหลักทรัพย์ ณ.สิ้นปี 2549 ปรับตัวลดลงร้อยละ 4.75 จากสิ้นปี 2548 และมียอดซื้อสุทธิของนักลงทุนต่างชาติที่ 83,535.85 ล้านบาท ลดลงจาก 118,543.5 ล้านบาท ณ.สิ้นปี 2548 ทั้งนี้ นับจากต้นปี 2550 จนปัจจุบัน ดัชนียังคงไม่สามารถปรับตัวขึ้นไปเหนือระดับ 700 จุดได้ โดยดัชนีปิดที่ 673.71 จุด ณ.วันที่ 30 มีนาคม หรือปรับตัวลดลงจากสิ้นปีร้อยละ 0.9 ขณะที่มูลค่าซื้อสุทธิของต่างชาติในช่วง 3 เดือนแรกของปีนี้อยู่ที่ 30,624.80 ล้านบาทลดลงจาก 93,660.6 ล้านบาทในช่วงเดียวกันของปีก่อน อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาจากยอดขายสุทธิของนักลงทุนต่างชาติเมื่อวันที่ 19 ธันวาคม ซึ่งอยู่ที่ 25,124.97 ล้านบาท กับยอดซื้อสุทธิของนักลงทุนต่างชาติเมื่อนับตั้งแต่วันที่ 20 ธันวาคม จนถึงวันที่ 30 มีนาคม ที่ผ่านมา รวม 24,768.49 ล้านบาทซึ่งยังคงต่ำกว่าเล็กน้อย ทำให้ประเมินโดยเบื้องต้นว่า นักลงทุนต่างชาติน่าจะค่อยๆทยอยกลับเข้ามาซื้อหุ้นหลังหลังจากที่ขายออกไปในวันดังกล่าว โดยแม้จะมีความเป็นไปได้ที่มาตรการดำรงเงินสำรองฯไม่ได้นำไปสู่การขายหุ้นและโยกย้ายเงินลงทุนในตลาดหุ้นออกนอกประเทศมากนักในช่วงที่ผ่านมา แต่ในขณะเดียวกัน การที่มองว่ายังไม่ได้มีเม็ดเงินใหม่กลับเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นเพิ่มขึ้นหลังจากนั้น ถึงแม้จะมีการยกเว้นการกันสำรองให้กับเงินลงทุนในหุ้นทุนที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ทั้งนี้ มองว่านักลงทุนต่างชาติเพิ่มมุมมองที่ระมัดระวังมากขึ้นในการที่จะตัดสินใจเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นไทย เนื่องจากปัจจัยอื่นๆหลายประการที่กระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุน นอกเหนือจากเปลี่ยนแปลงมาตรการของ ธปท. โดยเฉพาะอย่างยิ่งสถานการณ์การเมืองในประเทศ เเละเหตุการณ์อื่นๆ เช่น เหตุการณ์วินาศกรรมเมื่อปลายปี 2549 ซึ่งส่งผลให้ในสัปดาห์แรกของปี 2550 (3-5 มกราคม) ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ไทยปรับตัวลดลงร้อยละ 7.6 และนักลงทุนต่างชาติขายสุทธิ 521.5 ล้านบาท การแก้ไขร่าง พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว ซึ่งส่งผลให้ในวันที่ 9 มกราคม ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ปรับตัวลดลงร้อยละ 2.69 ก่อนจะขยับขึ้นร้อยละ 0.9 ในวันที่ 10 มกราคม โดยนักลงทุนต่างชาติขายสุทธิ 275 ล้านบาท และ 1,404 ล้านบาท ตามลำดับ ความผันผวนของตลาดหุ้นต่างประเทศ เมื่อปลายเดือน กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา โดยดัชนีตลาดหลักทรัพย์ปรับตัวลดลงรวมร้อยละ 1.7 ในวันที่ 27-28 กุมภาพันธ์ และนักลงทุนต่างชาติขายสุทธิรวม 1,039 ล้านบาท

ทางด้านตลาดตราสารหนี้ อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลได้ปรับตัวสูงขึ้นอย่างมากหลังการออกมาตรการดำรงเงินสำรองฯ โดยอัตราผลตอบแทนมีทิศทางที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นจนถึงสิ้นปี 2549 ก่อนที่จะปรับตัวลดลงนับจากเดือน มกราคม เป็นต้นมา ตามการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธปท. และการที่คาดว่า ธปท.คงจะมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยอีกหลายครั้งในปีนี้ ขณะที่มูลค่าการซื้อขายของนักลงทุนต่างชาติปรับตัวลดลงตามลำดับนับจากเดือน ธันวาคม เป็นต้นมา โดยมูลค่าการซื้อขายรวมของต่างชาติใน 3 เดือนแรกของปีนี้ อยู่ที่ 55.06 พันล้านบาท ลดลงถึงร้อยละ 36 จาก 86.15 พันล้านบาทในช่วงเดียวกันปีที่แล้ว โดยในช่วง 3 เดือนแรกของปี 2549 นักลงทุนต่างชาติมีส่วนแบ่งการตลาดเฉลี่ยร้อยละ 14.3 ของการซื้อขายรวมระหว่างสถาบันการเงินที่มีใบอนุญาตและผู้ลงทุนประเภทต่างๆ ก่อนที่จะปรับตัวลดลงอย่างมากสู่ร้อยละ 4 ในช่วง 3 เดือนแรกของปีนี้ อย่างไรก็ตาม การที่ธปท. ได้ประกาศยกเลิกข้อกำหนดมาตรการป้องปรามการเก็งกำไรค่าเงินบาทในเรื่องให้ Non-resident ถือครองพันธบัตรรัฐบาล ตั๋วเงินคลัง และพันธบัตร ธปท. เกินกว่า 3 เดือน และเพิ่มทางเลือกแทนการกันสำรองเงินนำเข้าระยะสั้นสำหรับการลงทุนในตราสารหนี้และหน่วยลงทุนของกองทุนรวม เริ่มมีผลตั้งแต่วันที่ 15 มีนาคม ซึ่งยังคงไม่ได้ช่วยหนุนการลงทุนในตลาดตราสารหนี้มากนัก

แนวโน้มการลงทุนของต่างชาติในตลาดทุน
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า แม้ว่า ธปท.จะได้มีการผ่อนปรนมาตรการดำรงเงินสำรองฯ
ให้กับช่องทางการลงทุนในตลาดทุน ทั้งตลาดหุ้น ตลาดตราสารหนี้ และหน่วยลงทุนจนครบถ้วนแล้วก็ตาม แต่แนวโน้มการลงทุนของต่างชาติในตลาดทุนไทยน่าจะยังคงมีทิศทางชะลอตัวต่อเนื่องจากในปีที่ผ่านมา อันเป็นผลจากสภาพแวดล้อมการลงทุนที่เปลี่ยนแปลงไป และเงื่อนไขต่างๆในการลงทุนที่เพิ่มขึ้นจากเดิมซึ่งจะส่งผลกระทบต่อแรงจูงใจลงทุนของนักลงทุนต่างชาติ อาทิเช่น

ปัจจัยทางการเมืองในประเทศ ซึ่งเป็นปัจจัยที่มีน้ำหนักมากที่สุด และยังคงมีความไม่แน่นอนสูงในปีนี้ เนื่องจากมีประเด็นที่ต้องติดตามและพิจารณาให้รอบคอบหลายด้าน ทั้งการร่างรัฐธรรมนูญ การลงประชามติเพื่อรับรองรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ การพิจารณาคดีของศาลรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับคดียุบพรรคการเมือง การพิจารณาคดีต่างๆของคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) การชุมนุมและเคลื่อนไหวทางการเมืองของกลุ่มต่างๆ การจัดการเลือกตั้งทั่วไปที่คาดว่าจะมีขึ้นในช่วงปลายปีนี้ และผลของการเลือกตั้ง ตลอดจน การจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่และแนวนโยบายของคณะรัฐบาลชุดใหม่ เป็นต้น

ปัจจัยต่างๆที่กดดันการขยายตัวของเศรษฐกิจและการลงทุน อันได้แก่ ความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจและผู้บริโภคที่ลดลง และความไม่มั่นใจในนโยบายเศรษฐกิจและการออกกฎหมายต่างๆ ของรัฐบาล เช่น การออกร่างพ.ร.บ.ต่างด้าว และพ.ร.บ.ค้าปลีก ซึ่งนำไปสู่การชะลอตัวของการลงทุน

ความเป็นไปได้ในการดำเนินการต่างๆเพิ่มเติมของธปท.เพื่อดูแลค่าเงินบาท ทั้งนี้ ทิศทางของเงินบาทที่ยังคงแข็งค่าอย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุด ( 2 เมษายน 2550) ได้ปรับตัวอยู่ที่ประมาณ 35.0 บาทต่อดอลลาร์ฯ หรือแข็งค่าขึ้นร้อยละ 3.1 จากสิ้นปีก่อน ทำให้เป็นการยากที่จะคาดคะเนท่าทีของธปท.ว่าจะให้ยกเลิกมาตรการดำรงเงินสำรองฯ เมื่อใด และจะมีการออกมาตรการเพิ่มเติมในลักษณะใดเพื่อควบคุมไม่ให้เงินบาทแข็งค่าขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยเมื่อเร็วๆนี้ ธปท.ได้ขอความร่วมมือกับธนาคารพาณิชย์ในการดูแลการซื้อขายเงินบาทของตนไม่ให้เป็นไปในลักษณะการเก็งกำไร และให้รายงานฐานะเงินตราต่างประเทศของตนให้ธปท.ทราบในวันถัดไป พร้อมทั้งได้ยืนยันว่า ยังคงไม่มีการเปลี่ยนนโยบายอัตราแลกเปลี่ยน และไม่มีการกำหนดช่วงการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาท ขณะที่กล่าวว่า มาตรการดำรงเงินสำรองฯจะแทบไม่มีผลในทางปฏิบัติในขณะนี้ เพราะคนส่วนใหญ่เลือกที่จะทำการป้องกันความเสี่ยงแบบเต็มจำนวน (Fully Hedged) มากกว่า แต่การที่ยังคงไม่ยกเลิกมาตรการดังกล่าว เนื่องจาก ธปท.ต้องการใช้ระยะเวลาทำการประเมินผลกระทบของการทำ Fully Hedged รวมถึงผลทางด้านจิตวิทยา เพราะเกรงว่าหากยกเลิกมาตรการดำรงเงินสำรองฯจะทำให้เงินบาทแข็งค่าขึ้นอย่างรวดเร็ว

อัตราผลตอบแทนพันธบัตรในประเทศที่อยู่ในช่วงขาลงเมื่อเทียบกับปีก่อน โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่าแนวโน้มเงินเฟ้อที่ชะลอลง การแข็งค่าของเงินบาท ตลอดจน การชะลอตัวของเศรษฐกิจจะเป็นปัจจัย ที่ ทำให้ธปท. สามารถปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงได้อีกจากร้อยละ 4.50 ในขณะนี้ โดยคาดว่า ธปท.จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงไปอยู่ที่ร้อยละ 3.75 ภายในเดือนพฤษภาคมนี้ ซึ่งจะส่งผลให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรของไทยอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าอัตราผลตอบแทนพันธบัตรต่างประเทศ โดยแนวโน้มของส่วนต่างของอัตราผลตอบแทนที่เปลี่ยนแปลงไปย่อมจะเป็นการลดแรงจูงใจที่นักลงทุนต่างชาติจะเข้ามาลงทุนในตลาดตราสารหนี้ไทยเมื่อเทียบกับในปีที่ผ่านมา ทั้งนี้ เมื่อเปรียบเทียบส่วนต่างระหว่างพันธบัตรรัฐบาลอายุ 2 ปี 5 ปี และ 10 ปี ของไทยและสหรัฐฯอยู่ที่ประมาณร้อยละ 0.17 ร้อยละ 0.34 และร้อยละ 0.48 เมื่อสิ้นปีที่ผ่านมา ขณะที่ ณ.สิ้นเดือน มีนาคม ที่ผ่านมา ส่วนต่างดังกล่าวอยู่ที่ร้อยละ -0.705 ร้อยละ -0.48และร้อยละ -0.34 ตามลำดับ อันเป็นผลจากการที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรของไทยได้ปรับตัวลดลงนับแต่เดือน มกราคม ตามการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธปท.

เงื่อนไขต่างๆในการนำเงินเข้ามาลงทุนตามที่ ธปท.ได้ระบุในมาตรการดำรงเงินสำรองฯ เช่น การที่ให้ต้องแยกเงินที่จะนำเข้ามาลงทุนในบัญชีต่างๆตามวัตถุประสงค์เฉพาะ และการที่ไม่ให้มีการโอนเงินจากบัญชีที่มีวัตถุประสงค์เฉพาะประเภทหนึ่งไปยังประเภทอื่น ทั้งนี้ แม้การลงทุนในหุ้นทุนที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ (ไม่รวมหน่วยลงทุน และ Warrant) และเงินลงทุนในศูนย์ซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้าและตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้า จะได้รับการยกเว้นให้ไม่ต้องกันสำรองร้อยละ 30 แต่ได้กำหนดให้ต้องแยกเงินดังกล่าวเข้าบัญชีเงินบาทที่มีวัตถุประสงค์เฉพาะการลงทุนในตราสารทุนและสัญญาล่วงหน้า ( SNS) โดยเงินในบัญชี SNS จะสามารถรับโอนจากบัญชี SNS ด้วยกัน หรือ บัญชี NRBA หรือเป็นเงินที่ได้รับคืนจากการลงทุนหรือผลประโยชน์จากการลงทุนในตราสารทุน หรือสัญญาซื้อขายล่วงหน้าได้ แต่จะไม่อนุญาตให้โอนจากบัญชี SNS ไปบัญชีประเภทอื่น เช่น NRBA หรือ SNT ในทำนองเดียวกัน เงินลงทุนในตราสารหนี้และหน่วยลงทุน ต้องแยกเข้าบัญชีเงินบาทของบุคคลที่มีถิ่นที่อยู่นอกประเทศเพื่อวัตถุประสงค์เฉพาะการลงทุนในตราสารหนี้และหน่วยลงทุน (SND) โดยสามารถรับโอนเงินจากบัญชี SND อื่น หรือ บัญชี NRBA เพื่อชำระค่าตราสารหนี้และหน่วยลงทุน หรือ เป็นเงินที่รับคืนจากการลงทุนหรือผลประโยชน์จากการลงทุนในตราสารหนี้และหน่วยลงทุน แต่จะไม่ให้มีการโอนจากบัญชี SND ไปยังบัญชีประเภทอื่นเช่นกัน โดยมองว่าการที่ไม่ไห้มีการโอนเงินข้ามบัญชีระหว่างหลักทรัพย์แต่ละประเภทดังกล่าว ทำให้เงินลงทุนที่นำเข้ามาถูกจำกัดให้สามารถใช้ลงทุนได้เพียงหลักทรัพย์ในกลุ่มที่ระบุตามประเภทบัญชีเท่านั้น อันจะส่งผลกระทบต่อความคล่องตัวในการปรับพอร์ตการลงทุนในแต่ละช่วงเวลา และอัตราผลตอบแทนที่จะได้รับจากการลงทุน

นอกจากนั้น ประเด็นที่เกี่ยวกับการเพิ่มทางเลือกให้กับเงินลงทุนในตราสารหนี้และหน่วยลงทุนสามารถเลือกทำการป้องกันความเสี่ยงแบบเต็มจำนวน (Fully Hedged) แทนการกันสำรองร้อยละ 30 ได้นั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า การกำหนดให้มีการทำ Fully Hedged จะช่วยจำกัดโอกาสเก็งกำไรในค่าเงินบาทของนักลงทุนต่างชาติ ซึ่งน่าจะเป็นผลดีต่อการช่วยจำกัดการแข็งค่าของค่าเงินบาท และยังเป็นการช่วยสนับสนุนการจัดตั้งกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ของ บลจ.ต่างๆในปีนี้ เนื่องจากการจัดตั้งกองทุนอสังหาริมทรัพย์ขนาดใหญ่นั้น จำเป็นที่จะต้องพึ่งพาเม็ดเงินลงทุนจากต่างชาติ แต่การที่นักลงทุนต่างชาติไม่สามารถทำกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนเหมือนดังเช่นที่เคยได้รับในปีที่ผ่านมา ย่อมจะเป็นการลดแรงจูงใจในการเข้ามาลงทุนได้เช่นกัน นอกจากนั้น การที่ได้กำหนดให้การทำสัญญาคุ้มครองความเสี่ยงดังกล่าวเป็นเวลาไม่ต่ำกว่า 3 เดือนสำหรับการลงทุนในตราสารหนี้และหน่วยลงทุน ย่อมจะส่งผลต่อความคล่องตัวในการลงทุน เว้นแต่ในกรณีที่นักลงทุนต่างชาติมีความตั้งใจที่จะลงทุนในระยะเวลาที่กำหนดไว้อย่างแน่นอนโดยไม่เปลี่ยนแปลง

ปัจจัยจากภายนอกประเทศ เช่น ความผันผวนของตลาดหุ้นทั่วโลกในช่วงที่ผ่านมา การปรับวีธีการคำนวณดัชนี MSCI ใหม่ซึ่งจะทำให้น้ำหนักการลงทุนในไทยลดลง ตลอดจน การปรับลดอันดับความน่าลงทุนของบริษัทโบรกเกอร์ต่างประเทศ อันจะกระทบต่อสัดส่วนการลงทุนของต่างชาติในตลาดหุ้นไทยได้และมีส่วนที่ทำให้นักลงทุนเพิ่มความระมัดระวังในการลงทุนมากขึ้น เป็นต้น

ท่ามกลางสภาพแวดล้อมในการลงทุนที่เต็มไปด้วยความไม่แน่นอนในขณะนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า การที่จะเรียกให้ความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างชาติกลับมาเพิ่มขึ้นได้อีกครั้งนั้น ขึ้นอยู่กับหลายๆปัจจัยควบคู่กัน ซึ่งเป็นเรื่องที่จะต้องอาศัยระยะเวลาและการดำเนินการอย่างค่อยเป็นค่อยไป อย่างไรก็ตาม ในส่วนของตลาดหุ้นนั้น การที่ดัชนีปรับตัวลดลงในช่วงที่ผ่านมาทำให้ ตลาดหุ้นไทยเป็นตลาดที่ค่อนข้างถูกเมื่อเปรียบเทียบกับหลายประเทศในภูมิภาค ซึ่งอาจจะช่วยหนุนให้มีแรงซื้อของต่างชาติกลับเข้ามาได้ หากปัจจัยที่ต่างๆที่กล่าวในข้างต้นมีการคลี่คลายไปในทิศทางที่ดีขึ้น โดยมองว่าสิ่งสำคัญที่สุดคงจะได้แก่ เสถียรภาพทางการเมืองในประเทศ เช่น การมีรัฐธรรมนูญและการเลือกตั้งที่เป็นไปโดยเรียบร้อยเสร็จสมบูรณ์ภายในปีนี้ตามที่ทางคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติได้เคยประกาศไว้ โดยการที่ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี ได้ระบุว่าถึงวันเลือกตั้งที่เหมาะสมว่าอาจจะเป็นวันที่ 16 หรือ 23 ธันวาคม นี้ ได้เป็นปัจจัยบวกต่อบรรยากาศการลงทุน นอกจากนั้น ปัจจัยอื่นๆที่คาดว่าจะช่วยหนุนการลงทุนของต่างชาติในระยะต่อไป เช่น

การปรับลดอัตราดอกเบี้ยภายในประเทศของ ธปท. โดยนักลงทุนคงจะให้ความสนใจว่าในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินครั้งต่อไป (11 เมษายน) ธปท.จะมีการตัดสินใจในเรื่องอัตราดอกเบี้ยเช่นไร ซึ่งหากว่าระดับการลดอัตราดอกเบี้ยเป็นไปตามที่ตลาดคาดไว้หรือมากกว่า ย่อมจะเป็นปัจจัยบวกต่อการลงทุนในตลาดหุ้น นอกจากนั้น การที่มองว่าธนาคารพาณิชย์คงจะตัดสินใจลดอัตราดอกเบี้ยลงเช่นเดียวกัน จะเป็นปัจจัยที่ช่วยกระตุ้นอุปสงค์ภายในประเทศ ทั้งในส่วนของการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน ช่วยลดต้นทุนผู้ประกอบการ และเป็นผลดีต่อแนวโน้มผลกำไรของบริษัทจดทะเบียน

นโยบายต่างๆของทางการที่แสดงถึงบรรยากาศในการลงทุนที่เป็นมิตรต่อต่างชาติ เช่น ท่าทีของ ธปท. ในการทยอยผ่อนคลายมาตรการดำรงเงินสำรองฯ ในช่วงที่ผ่านมา พร้อมกับความเป็นไปได้ที่ ธปท.คงจะมีการยกเลิกมาตรการดังกล่าวในระยะต่อไป แต่นักลงทุนต่างชาติอาจจะยังคงมีความกังวลในเบื้องต้นว่าจะมีการนำมาตรการที่เข้มงวดในการกำกับดูแลค่าเงินมาใช้อีกในอนาคตหรือไม่ หากพบว่าเงินบาทยังคงแข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่อง นอกจากนั้น ท่าทีของรัฐบาลในการไม่นำ พ.ร.บ.การบริหารราชการสถานการณ์ฉุกเฉินมาใช้ และการบรรลุข้อตกลงการเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระหว่าง ไทย-ญี่ปุ่น (JTEPA) ล้วนแต่เป็นการส่งสัญญาณในเชิงบวกต่อการลงทุนต่างชาติในตลาดทุนไทยในระยะยาว

มาตรการสนับสนุนจากทางการในการเพิ่มความน่าสนใจให้กับตลาดทุนไทย ถือได้ว่ามีส่วนสำคัญ เช่นกัน ในช่วงที่ผ่านมาได้มีการออกมาตรการลดภาษีให้กับบริษัทจดทะเบียนใหม่เพื่อเพิ่มจำนวนบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ โดยให้มีการลดภาษีเงินได้นิติบุคคลเป็นระยะเวลา 3 รอบบัญชีให้กับบริษัทที่เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเหลือร้อยละ 25 จากเดิมที่ร้อยละ 30 และบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ใหม่เหลือร้อยละ 20 จากร้อยละ 30 สำหรับบริษัทที่เข้าจดทะเบียนภายในสิ้นปีนี้ รวมไปถึง แนวคิดในการพิจารณาลดภาษีธุรกิจเฉพาะที่เก็บจากกำไรที่เกิดจากการซื้อขายตราสารหนี้ และแนวคิดของตลาดหลักทรัพย์ในการจัดตั้งกองทุนวายุภักษ์ 2 เพื่อเพิ่มฐานผู้ลงทุนรายใหม่ และเพิ่มสัดส่วนผู้ลงทุนสถาบัน เป็นต้น

กล่าวโดยสรุปได้ว่า นับจากที่ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ได้ออกมาตรการดำรงเงินสำรองเงินนำเข้าระยะสั้นในวันที่ 18 ธันวาคม 2549 เป็นต้นมา ธปท.ได้ทยอยผ่อนผันมาตรการดังกล่าว ตามลำดับ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า แม้ว่า ธปท.จะได้มีการผ่อนปรนมาตรการดำรงเงินสำรองฯให้กับช่องทางการลงทุนในตลาดทุน ทั้งตลาดหุ้น ตลาดตราสารหนี้ และหน่วยลงทุนจนครบถ้วนแล้วก็ตาม แต่แนวโน้มการลงทุนของต่างชาติในตลาดทุนไทยน่าจะยังคงมีทิศทางชะลอตัวต่อเนื่องจากในปีที่ผ่านมา เมื่อพิจารณาจากสภาพแวดล้อมการลงทุนที่เปลี่ยนแปลงไป และเงื่อนไขต่างๆในการลงทุนที่เพิ่มขึ้นจากเดิมซึ่งจะส่งผลกระทบต่อแรงจูงใจลงทุนของนักลงทุนต่างชาติ อาทิเช่น ปัจจัยทางการเมืองที่ยังคงมีความไม่แน่นอนสูงในปีนี้ และมีประเด็นที่ต้องติดตามและพิจารณาให้รอบคอบหลายด้าน ตลอดจน ปัจจัยต่างๆที่กดดันการขยายตัวของเศรษฐกิจและการลงทุน ได้แก่ ความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจและผู้บริโภคที่ลดลงและความไม่มั่นใจในนโยบายเศรษฐกิจและการออกกฎหมายต่างๆ ของรัฐบาล เช่น การออกร่างพ.ร.บ.ต่างด้าว และพ.ร.บ.ค้าปลีก ซึ่งนำไปสู่การชะลอตัวของการลงทุนของต่างชาติ ความเป็นไปได้ในการดำเนินการต่างๆเพิ่มเติมของธปท.เพื่อดูแลค่าเงินบาท ตลอดจน อัตราผลตอบแทนพันธบัตรในประเทศที่อยู่ในช่วงขาลงเมื่อเทียบกับปีก่อน โดยคาดว่า ธปท.จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงไปที่ร้อยละ 3.75 ภายในเดือนพฤษภาคมนี้ ซึ่งจะส่งผลให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรของไทยอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าอัตราผลตอบแทนพันธบัตรต่างประเทศ โดยแนวโน้มของส่วนต่างของอัตราผลตอบแทนที่เปลี่ยนแปลงไปย่อมจะเป็นการลดแรงจูงใจที่นักลงทุนต่างชาติจะเข้ามาลงทุนในตลาดตราสารหนี้ไทยเมื่อเทียบกับในปีที่ผ่านมา เงื่อนไขต่างๆในการนำเงินเข้ามาลงทุนตามที่ ธปท.ได้ระบุไว้ เช่น การที่ให้ต้องแยกเงินที่จะนำเข้ามาลงทุนในบัญชีต่างๆตามวัตถุประสงค์เฉพาะ และการที่ไม่ให้มีการโอนเงินจากบัญชีที่มีวัตถุประสงค์เฉพาะประเภทหนึ่งไปยังประเภทอื่น โดยมองว่าการที่ไม่ไห้มีการโอนเงินข้ามบัญชีระหว่างหลักทรัพย์แต่ละประเภท อาจส่งผลกระทบต่อความคล่องตัวในการปรับพอร์ตการลงทุนในแต่ละช่วงเวลา และอัตราผลตอบแทนที่จะได้รับจากการลงทุน นอกจากนั้น การเพิ่มทางเลือกให้กับเงินลงทุนในตราสารหนี้และหน่วยลงทุนสามารถเลือกทำการป้องกันความเสี่ยงแบบเต็มจำนวน (Fully Hedged) แทนการกันสำรองร้อยละ 30 ได้นั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า การดำเนินการดังกล่าวจะช่วยจำกัดโอกาสเก็งกำไรในค่าเงินบาท แต่การที่นักลงทุนต่างชาติไม่สามารถทำกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนเหมือนที่เคยได้รับในปีก่อน ย่อมจะเป็นการลดแรงจูงใจในการเข้ามาลงทุนได้เช่นกัน นอกจากนั้น การกำหนดให้การทำสัญญาคุ้มครองความเสี่ยงดังกล่าวเป็นเวลาไม่ต่ำกว่า 3 เดือนสำหรับการลงทุนในตราสารหนี้และหน่วยลงทุน ย่อมจะส่งผลต่อความคล่องตัวในการลงทุน เว้นแต่ในกรณีที่นักลงทุนต่างชาติตั้งใจที่จะลงทุนในระยะเวลาที่กำหนดไว้อย่างแน่นอนโดยไม่เปลี่ยนแปลง ปัจจัยจากภายนอกประเทศ เช่น ความผันผวนของตลาดหุ้นทั่วโลกในช่วงที่ผ่านมา การปรับวีธีการคำนวณดัชนี MSCI ใหม่ซึ่งจะทำให้น้ำหนักการลงทุนในไทยลดลง ตลอดจน การปรับลดอันดับความน่าลงทุนของบริษัทโบรกเกอร์ต่างประเทศ อันจะกระทบต่อสัดส่วนการลงทุนของต่างชาติในตลาดหุ้นไทยได้และมีส่วนที่ทำให้นักลงทุนเพิ่มความระมัดระวังในการลงทุนมากขึ้น เป็นต้น

ท่ามกลางสภาพแวดล้อมในการลงทุนที่เต็มไปด้วยความไม่แน่นอนในขณะนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า การที่จะเรียกให้ความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างชาติกลับมาเพิ่มขึ้นได้นั้น ขึ้นอยู่กับหลายๆปัจจัยควบคู่กัน ซึ่งเป็นเรื่องที่จะต้องอาศัยระยะเวลาและการดำเนินการอย่างค่อยเป็นค่อยไป อย่างไรก็ตาม ในส่วนของตลาดหุ้นนั้น การที่ดัชนีปรับตัวลดลงในช่วงที่ผ่านมาทำให้ ตลาดหุ้นไทยเป็นตลาดที่ค่อนข้างถูกเมื่อเปรียบเทียบกับหลายประเทศในภูมิภาค ซึ่งอาจจะช่วยหนุนให้มีแรงซื้อของต่างชาติกลับเข้ามาได้ หากปัจจัยที่ต่างๆที่กล่าวข้างต้นมีการคลี่คลายไปในทิศทางที่ดีขึ้น โดยมองว่าสิ่งสำคัญที่สุดคงจะได้แก่ เสถียรภาพทางการเมืองในประเทศ เช่น การมีรัฐธรรมนูญและการเลือกตั้งที่เป็นไปโดยเรียบร้อยภายในปีนี้ โดยการที่ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี ได้ระบุเมื่อเร็วๆนี้ถึงวันเลือกตั้งที่เหมาะสมว่าอาจจะเป็นวันที่ 16 หรือ 23 ธันวาคม นี้ ได้เป็นปัจจัยบวกต่อบรรยากาศการลงทุน นอกจากนั้น ปัจจัยอื่นๆที่คาดว่าจะช่วยหนุนการลงทุนของต่างชาติในระยะต่อไป เช่น การปรับลดอัตราดอกเบี้ยภายในประเทศของ ธปท. โดยนักลงทุนคงจะให้ความสนใจว่าในการประชุมนโยบายการเงินครั้งต่อไป ธปท.จะมีการตัดสินใจในเรื่องอัตราดอกเบี้ยเช่นไร ซึ่งหากว่าการลดอัตราดอกเบี้ยเป็นไปตามที่ตลาดคาดไว้หรือมากกว่า ย่อมจะเป็นปัจจัยบวกต่อการลงทุนในตลาดหุ้น นโยบายต่างๆของทางการที่แสดงถึงบรรยากาศในการลงทุนที่เป็นมิตรต่อต่างชาติ เช่น ท่าทีของ ธปท.ในการทยอยผ่อนคลายมาตรการดำรงเงินสำรองฯในช่วงที่ผ่านมา พร้อมกับความเป็นไปได้ที่คงจะมีการยกเลิกมาตรการดังกล่าวในระยะต่อไป นอกจากนั้น ท่าทีของรัฐบาลในการไม่นำ พ.ร.บ.การบริหารราชการสถานการณ์ฉุกเฉินมาใช้ และการบรรลุข้อตกลงการเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระหว่าง ไทย-ญี่ปุ่น ล้วนแต่เป็นการส่งสัญญาณในเชิงบวกต่อการลงทุนต่างชาติในตลาดทุนไทยในระยะยาว มาตรการสนับสนุนจากทางการในการเพิ่มความน่าสนใจให้กับตลาดทุนไทย ถือได้ว่ามีส่วนสำคัญเช่นกัน เช่น การออกมาตรการลดภาษีให้กับบริษัทจดทะเบียนใหม่เพื่อเพิ่มจำนวนบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ รวมไปถึง แนวคิดในการพิจารณาลดภาษีธุรกิจเฉพาะที่เก็บจากกำไรที่เกิดจากการซื้อขายตราสารหนี้ และแนวคิดของตลาดหลักทรัพย์ในการจัดตั้งกองทุนวายุภักษ์ 2 เป็นต้น