สหรัฐอเมริกาและเกาหลีใต้ได้ข้อสรุปการเจรจาจัดตั้งเขตการค้าเสรี (FTA) ในวันที่ 1 เมษายน 2550 ซึ่งสร้างความตื่นตัวให้กับประเทศต่างๆ ที่เป็นคู่ค้ากับประเทศทั้งสอง ให้หันมาเร่งเปิดเขตการค้าเสรีเพื่อรักษาและสร้างขีดความสามารถทางการแข่งขันให้กับการส่งออกสินค้าและบริการของตนในตลาดสหรัฐฯ และเกาหลีใต้ เนื่องจากสหรัฐฯ และเกาหลีใต้ต่างเปิดตลาดสินค้าและบริการให้แก่กันมากขึ้น คาดว่า ความตกลง FTA สหรัฐฯ-เกาหลีใต้จะสนับสนุนให้มูลค่าการค้ารวมของทั้งสองฝ่ายขยายตัวทะลุระดับ 100,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จากปัจจุบันที่มูลค่าการค้ารวมของสหรัฐฯ-เกาหลีใต้ราว 78,285 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ นอกจากนี้ ทั้งสหรัฐฯ และเกาหลีใต้เป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจขนาดใหญ่เป็นอันดับต้นๆ ของโลก โดยอยู่ในอันดับที่ 1 สำหรับสหรัฐฯ และอันดับ 10 สำหรับเกาหลีใต้ จึงถือเป็นตลาดส่งออกและประเทศนำเข้าสินค้าที่สำคัญของประเทศต่างๆ
การลดภาษีศุลกากรสินค้าอุตสาหกรรมภายใต้ FTA สหรัฐฯ-เกาหลีใต้ ส่งผลให้สินค้าอุตสาหกรรมของสหรัฐฯ และเกาหลีใต้เกือบทั้งหมด (คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 94% ของสินค้าอุตสาหกรรมที่สหรัฐฯ และเกาหลีใต้ค้าขายกัน) จะปรับลดภาษีลงเหลือ 0% ภายใน 3 ปี และยกเลิกภาษีที่เหลือภายใน 10 ปี ที่สำคัญ ได้แก่ สิ่งทอและเสื้อผ้า โดยทั้งสองฝ่ายจะยกเลิกภาษีสิ่งทอและเสื้อผ้าส่วนใหญ่ทันทีที่ความตกลง FTA มีผลบังคับใช้ ส่วนสินค้ายานยนต์ สหรัฐฯ และเกาหลีใต้จะลดภาษีศุลกากรรถยนต์ขนาดเล็กทันทีที่ความตกลงมีผลบังคับใช้ สำหรับรถยนต์ขนาดใหญ่ จะปรับลดภาษีภายใน 3-10 ปี ทางด้านภาคเกษตร เกาหลีใต้ยอมยกเลิกมาตรการห้ามนำเข้าเนื้อโคจากสหรัฐฯ ที่บังคับใช้มาตั้งแต่ปลายปี 2546 ที่เกิดโรคระบาดวัวบ้าในสหรัฐฯ เพื่อแลกกับการที่สหรัฐฯ ยอมยกเว้นข้าวออกจากการเจรจาเพื่อลดภาษีภายใต้ FTA
อย่างไรก็ตาม ความตกลง FTA สหรัฐฯ-เกาหลีใต้ จะเสนอต่อรัฐสภาของทั้งสองฝ่ายเพื่ออนุมัติการลงนามความตกลงฯ ประเด็นสำคัญที่รัฐสภาของสหรัฐฯ และเกาหลีใต้จะพิจารณาอนุมัติ คือ การเปิดตลาดเนื้อโคของเกาหลีใต้ให้สหรัฐฯ อย่างแท้จริง และการยอมให้สินค้าของเกาหลีใต้ที่ผลิตในนิคมอุตสาหกรรมแกซอง (Kaesong Industrial Complex) ของเกาหลีเหนือเป็นสินค้าที่มีสิทธิได้ลดภาษีศุลกากรจากสหรัฐฯ ภายใต้ความตกลง FTA สหรัฐฯ-เกาหลีใต้ด้วย ซึ่งขณะนี้สหรัฐฯ ยังไม่ได้ตกลงให้สินค้าเกาหลีใต้ที่ผลิตจากนิคมอุตสาหกรรมแกซองในเกาหลีเหนือได้รับสิทธิภาษีภายใต้ FTA แต่ตกลงที่จะให้จัดตั้งคณะกรรมการของสองฝ่ายขึ้นมาพิจารณาเรื่องการรวมสินค้าที่ผลิตในนิคมอุตสาหกรรมของเกาหลีเหนือในข้อตกลง FTA อีกครั้งหนึ่ง
ประเด็นหลักของข้อตกลง FTA สหรัฐฯ-เกาหลีใต้
รถยนต์
– สหรัฐฯ จะยกเลิกภาษี 2.5% ทันทีสำหรับรถโดยสารซึ่งมีขนาดเครื่องยนต์ต่ำกว่า 3,000 ซีซี และชิ้นส่วนรถยนต์ ส่วนภาษีรถยนต์ที่มีขนาดเครื่องยนต์เท่ากับหรือมากกว่า 3,000 ซีซี จะถูกยกเลิกภายใน 3 ปี และทยอยลดภาษีรถบรรทุกปิคอัพจากอัตราปัจจุบัน 25% เป็น 0% ภายใน 10 ปี
– เกาหลีใต้จะลดภาษีศุลกากรรถยนต์ขนาดเล็กที่เก็บในอัตราภาษีปัจจุบัน 8% ทันที และภายใน 3 ปี สำหรับรถยนต์ขนาดใหญ่ รวมทั้งยกเลิกภาษีภายในประเทศอื่นๆ ที่เป็นอุปสรรคต่อรถยนต์ส่งออกของสหรัฐฯ
สิ่งทอ
– สหรัฐฯ และเกาหลีใต้จะยกเลิกภาษีสิ่งทอและเสื้อผ้าส่วนใหญ่ทันทีที่ความตกลง FTA มีผลบังคับใช้
– สหรัฐฯ จะยกเลิกภาษี 61% ของมูลค่านำเข้าสิ่งทอและเสื้อผ้า และให้ข้อยกเว้นสำหรับเสื้อเชิ้ตชายและเสื้อแจ๊กเก็ตหญิงที่ไม่ต้องใช้กฎแหล่งกำเนิดสินค้า “yarn forward” ซึ่งมีความเข้มงวด
เนื้อโค
– เกาหลีใต้จะทยอยลดภาษีศุลกากรที่เก็บในอัตราปัจจุบัน 40% ภายใน 15 ปี และยกเลิกมาตรการห้ามนำเข้าเนื้อโคจากสหรัฐฯ
FTA สหรัฐฯ-เกาหลีใต้ : ผลกระทบประเทศคู่เจรจา VS ประเทศคู่ค้าอื่น
การลดภาษีศุลกากรและขจัดอุปสรรคทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับเกาหลีใต้ใน 3 รายการสำคัญ ได้แก่ ยานยนต์ สิ่งทอ และเนื้อโค คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อประเทศผู้ส่งออกหลักของสินค้าดังกล่าวไปสหรัฐฯ และเกาหลีใต้ ได้แก่ ญี่ปุ่น จีน ไต้หวัน และออสเตรเลีย ซึ่งขณะนี้ประเทศเหล่านี้ได้เร่งผลักดันการจัดทำเขตการค้าเสรี (FTA) ทวิภาคีกับสหรัฐฯ และเกาหลีใต้ เพื่อรักษาขีดความสามารถทางการแข่งขันให้กับสินค้าส่งออกในทั้งสองตลาดดังล่าว
ผลกระทบต่อไทย
สำหรับประเทศไทย การจัดทำ FTA ระหว่างสหรัฐฯ กับเกาหลีใต้ คาดว่าจะส่งผลกระทบกับไทยไม่มากนัก เนื่องจากไทยส่งออกสินค้ารถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบไปสหรัฐฯ ไม่มากนักเมื่อเทียบกับการส่งออกทั้งหมดของไทยไปสหรัฐฯ คิดเป็นสัดส่วนราว 1.3% ของการส่งออกทั้งหมดของไทยไปสหรัฐฯ ตลาดส่งออกหลักของสินค้ายานยนต์ของไทย ได้แก่ ตลาดอาเซียน ส่วนเนื้อโคไม่ได้เป็นสินค้าส่งออกหลักของไทย อย่างไรก็ตาม ไทยอาจได้รับผลกระทบจากการลดภาษีสินค้าเสื้อผ้าและสิ่งทอของสหรัฐฯ ให้กับเกาหลีใต้ เนื่องจากเสื้อผ้าและสิ่งทอส่งออกของเกาหลีใต้ไปสหรัฐฯ จะมีขีดความสามารถทางการแข่งขันด้านราคากับเสื้อผ้าและ สิ่งทอของไทยมากขึ้นในตลาดสหรัฐฯ แม้ว่าขณะนี้ไทยครองส่วนแบ่งตลาดเสื้อผ้าและสิ่งทอในสหรัฐฯ ได้มากกว่าเกาหลีใต้ ไทยมีส่วนแบ่งตลาดเสื้อผ้าและสิ่งทอในสหรัฐฯ ราว 2.5% ขณะที่เกาหลีใต้มีส่วนแบ่งตลาดสิ่งทอและเสื้อผ้าในสหรัฐฯ ราว 1.2% แต่การลดภาษีของสหรัฐฯ ให้กับเสื้อผ้าและสิ่งทอส่งออกของเกาหลีใต้ จะทำให้สินค้าส่งออกชนิดเดียวกันของไทยต้องแข่งขันกับเกาหลีใต้มากขึ้น ปัจจุบันเสื้อผ้าและสิ่งทอเป็นสินค้าส่งออกสำคัญของไทยไปสหรัฐฯ เป็นอันดับ 2 รองจากเครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ โดยปัจจุบันไทยส่งออกเสื้อผ้าสำเร็จรูปไปสหรัฐฯ ปีละมากกว่า 1,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ดังนั้น ผู้ส่งออกเสื้อผ้าและสิ่งทอไทยจะต้องเตรียมเผชิญกับการแข่งขันในตลาดสหรัฐฯ ที่มีแนวโน้มทวีความรุนแรงมากขึ้น นอกจากการแข่งขันกับสิ่งทอและเสื้อผ้าราคาถูกจากจีน อินเดีย และประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆ ในเอเชีย
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย สรุปผลกระทบจากการจัดทำ FTA สหรัฐฯ กับเกาหลีใต้ต่อประเทศคู่เจรจาและประเทศคู่ค้าอื่น สำหรับสินค้ายานยนต์ สิ่งทอและเสื้อผ้า และเนื้อโค ดังนี้
สินค้ายานยนต์
ผลดีต่อสหรัฐฯ และเกาหลีใต้ : สหรัฐฯ และเกาหลีใต้ต่างได้รับประโยชน์จากการลดภาษีศุลกากรรถยนต์ให้แก่กัน โดยภาษีปัจจุบันของรถยนต์ขนาดเล็กอัตรา 8% ของเกาหลีใต้ และ 2.5% ของสหรัฐฯ จะถูกยกเลิกทันทีที่ความตกลง FTA มีผลบังคับใช้ ยิ่งไปกว่านั้น สหรัฐฯ ได้รับผลดีอีกประการหนึ่ง คือ การที่เกาหลีใต้จะยกเลิกมาตรการเก็บภาษีอื่นๆ ที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน อาทิ การเก็บภาษีภายในประเทศกับรถยนต์ตามขนาดเครื่องยนต์ (engine displacement) ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อรถยนต์ส่งออกของสหรัฐฯ ในตลาดเกาหลีใต้ ส่งผลให้รถยนต์ของสหรัฐฯ ขายได้ในเกาหลีใต้ไม่มากนัก โดยมีจำนวนขายราว 5,800 คัน ในปี 2548 ผลดีของการยกเลิกมาตรการภาษีต่างๆ ของเกาหลีใต้ที่เกี่ยวข้องกับรถยนต์ ส่งผลให้รถยนต์ของสหรัฐฯ เข้าไปจำหน่ายในเกาหลีใต้ได้สะดวกขึ้น และช่วยบรรเทาปัญหาการขาดดุลการค้าสินค้ารถยนต์ที่สหรัฐฯ ขาดดุลกับเกาหลีใต้มูลค่ามากกว่า 10,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ คิดเป็นสัดส่วนราว 80% ของยอดขาดดุลการค้าทั้งหมดของสหรัฐฯ กับเกาหลีใต้
สำหรับรถยนต์ของเกาหลีใต้จะสามารถเข้าไปจำหน่ายในสหรัฐฯ ได้ในราคาถูกลงจากการยกเลิก/ทยอยลดภาษีศุลกากรของสหรัฐฯ แม้ปัจจุบันเกาหลีใต้ยังไม่ได้รับผลดีจากการลดภาษีศุลกากรสินค้ารถยนต์ภายใต้ FTA ก็ตาม แต่ยอดจำหน่ายรถยนต์เกาหลีใต้ในสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นถึง 322% ในช่วง 7 ปีที่ผ่านมา จาก 173,000 คัน ในปี 2541 เป็น 731,000 คัน ในปี 2548 และครองส่วนแบ่งตลาดรถยนต์สหรัฐฯ ในปัจจุบัน ราว 4.3% สินค้ายานยนต์ถือเป็นสินค้าส่งออกสำคัญของเกาหลีใต้ไปสหรัฐฯ คิดเป็นสัดส่วน 20% ของสินค้าส่งออกทั้งหมดของเกาหลีใต้ไปสหรัฐฯ ผลดีจากการลดภาษีดังกล่าวจะเสริมขีดความสามารถทางการแข่งขันให้รถยนต์จากเกาหลีใต้มากขึ้นในตลาดสหรัฐฯ ทั้งนี้ สหรัฐฯ นำเข้ารถยนต์จากเกาหลีใต้มากเป็นอันดับ 5 รองจากแคนาดา ญี่ปุ่น เยอรมนี และเม็กซิโก ตามลำดับ
ข้อควรระวังสำหรับญี่ปุ่น จีน และไต้หวัน : ความตกลง FTA สหรัฐฯ-เกาหลีใต้ ที่สร้างความได้เปรียบให้กับสินค้ายานยนต์ของเกาหลีใต้ในตลาดสหรัฐฯ จากการลดภาษีของสหรัฐฯ อาจส่งผลกระทบต่อบริษัทรถยนต์ญี่ปุ่นที่ส่งออกสินค้ายานยนต์ไปสหรัฐฯ ซึ่งปัจจุบันสหรัฐฯ นำเข้ารถยนต์จากญี่ปุ่นมากเป็นอันดับที่ 2 รองจากแคนาดา อย่างไรก็ตาม สำหรับบริษัทญี่ปุ่นที่เข้าไปลงทุนผลิตรถยนต์ในสหรัฐฯ จะได้รับผลดีจากการส่งออกรถยนต์ไปเกาหลีใต้ด้วยอัตราภาษีที่ลดลง ส่วนจีน คาดว่าจะได้รับผลกระทบเช่นกัน เนื่องจากจีนส่งออกชิ้นส่วนยานยนต์ไปสหรัฐฯ มูลค่าเกือบ 7,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2549 ทำให้จีนต้องแข่งขันกับชิ้นส่วนยานยนต์ส่งออกจากเกาหลีใต้ที่ได้รับการลดภาษีจากสหรัฐฯ ภายใต้ FTA
สำหรับไต้หวันซึ่งผลิตสินค้าคล้ายคลึงกันกับเกาหลีใต้ และเป็นคู่แข่งกันในสินค้าอุตสาหกรรมหลายตัว สินค้าส่งออกของไต้หวันไปสหรัฐฯ อาจสูญเสียขีดความสามารถทางการแข่งขันในตลาดสหรัฐฯ คาดว่าสินค้าส่งออกของเกาหลีใต้ไปสหรัฐฯ ที่มีมูลค่าราว 2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งได้ลด/ยกเลิกภาษีภายใต้ FTA สหรัฐฯ-เกาหลีใต้ จะส่งผลให้ยอดส่งออกของไต้หวันไปสหรัฐฯ ลดลง 5% หรือคิดเป็น 0.5% ของ GDP ของไต้หวัน สินค้าส่งออกของไต้หวันไปสหรัฐฯ ที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบ นอกจากสินค้ากลุ่มยานยนต์แล้ว สินค้าส่งออกอื่นๆ ได้แก่ สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ สิ่งทอ และรองเท้า คาดว่าจะได้รับผลกระทบด้วย ส่งผลให้ไต้หวันต้องเร่งยุทธศาสตร์เจรจาจัดทำ FTA กับสหรัฐฯ เพื่อรักษาขีดความสามารถทางการแข่งขันของสินค้าส่งออก เนื่องจากเศรษฐกิจไต้หวันพึ่งพาการส่งออกเป็นตัวจักรสำคัญในการกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะสหรัฐฯ ถือเป็นตลาดส่งออกสำคัญของไต้หวัน ทั้งนี้ ไต้หวันอยู่ระหว่างเจรจาจัดทำ FTA กับประเทศในอเมริกากลาง ได้แก่ ปานามา กัวเตมาลา และนิคารากัว และอาจต้องพิจารณาจัดทำ FTA เพิ่มเติมกับประเทศที่เป็นตลาดส่งออกสำคัญ
สิ่งทอและเสื้อผ้า
ผลดีต่อสหรัฐฯ และเกาหลีใต้ : การที่สหรัฐฯ และเกาหลีใต้ตกลงลดภาษีสิ่งทอและเสื้อผ้าส่วนใหญ่ให้กับสินค้าส่งออกของอีกฝ่ายทันทีที่ความตกลงมีผลบังคับใช้ คาดว่าจะเพิ่มขีดความสามารถด้านราคาของสิ่งทอและเสื้อผ้าส่งออกของสหรัฐฯ และเกาหลีใต้ในตลาดส่งออกของอีกฝ่าย
ข้อควรระวังสำหรับประเทศเอเชียที่ส่งออกเสื้อผ้าไปสหรัฐฯ : เนื่องจากสหรัฐฯ เป็นประเทศนำเข้าสิ่งทอและเสื้อผ้าที่สำคัญของโลก การลดภาษีศุลกากรสิ่งทอและเสื้อผ้าของสหรัฐฯ ให้แก่เกาหลีใต้ อาจส่งผลกระทบต่อการส่งออกเสื้อผ้าและสิ่งทอประเภทเดียวกันของประเทศอื่นๆ ในสหรัฐฯ ได้แก่ จีน อินเดีย อินโดนีเซีย เวียดนาม ฮ่องกง บังคลาเทศ ฟิลิปปินส์ กัมพูชา รวมทั้งประเทศไทยด้วย สำหรับไทย แม้ว่าปัจจุบันไทยส่งออกเสื้อผ้าและสิ่งทอไปสหรัฐฯ มีมูลค่าสูงกว่าสินค้าส่งออกดังกล่าวของเกาหลีใต้ แต่หากสินค้าเสื้อผ้าและสิ่งทอของเกาหลีใต้ได้ลดภาษีจากสหรัฐฯ จะสร้างความได้เปรียบให้กับสินค้าของเกาหลีใต้มากขึ้น
เป็นที่น่าสังเกตว่า การส่งออกสิ่งทอและเสื้อผ้าของเกาหลีใต้ไปสหรัฐฯ ชะลอตัวลงนับตั้งแต่ที่จีนเข้าเป็นสมาชิกองค์การการค้าโลก (WTO) ในปี 2544 ส่งผลให้สินค้าส่งออกของจีน รวมถึงสิ่งทอและเสื้อผ้า เข้าสู่ตลาดต่างๆ ได้มากขึ้น จากการลดภาษีศุลกากรของประเทศสมาชิก WTO รวมถึงตลาดส่งออกสำคัญอย่างสหรัฐฯ ที่สินค้าจีนตีตลาดได้อย่างรวดเร็วด้วยต้นทุนแรงงานราคาถูก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเปิดเสรีโควตาสิ่งทอของโลกในวันที่ 1 มกราคม 2548 ตามข้อกำหนดขององค์การการค้าโลก (WTO) ยิ่งส่งผลให้สินค้าสิ่งทอและเสื้อผ้าของประเทศที่มีค่าแรงต่ำมีส่วนแบ่งในตลาดสหรัฐฯ มากขึ้น ขณะที่เสื้อผ้าและสิ่งทอส่งออกของเกาหลีใต้ไปสหรัฐฯ ลดลงต่อเนื่อง
ส่วนแบ่งตลาดเสื้อผ้าและสิ่งทอของเกาหลีใต้ในสหรัฐฯ ลดลงจาก 3.5% ในปี 2545 เป็น 1.2% ในปี 2549 ส่วนแบ่งการตลาดสินค้าส่งออกเสื้อผ้าและสิ่งทอของไทยไปสหรัฐฯ ลดลงจาก 2.9% ในปี 2545 เป็น 2.5% ในปี 2549 ในขณะที่ส่วนแบ่งตลาดเสื้อผ้าและสิ่งทอของจีนในสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นนับตั้งแต่เข้าเป็นสมาชิก WTO ในปี 2544 และหลังจากการยกเลิกโควตา สิ่งทอของ WTO เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2548 ยิ่งทำให้สิ่งทอและเสื้อผ้าจากจีนและประเทศที่แรงงานถูกกว่า เช่น อินเดีย อินโดนีเซีย และเวียดนาม มีส่วนแบ่งตลาดเสื้อผ้าและสิ่งทอเพิ่มขึ้นในตลาดสหรัฐฯ ส่วนแบ่งตลาดเสื้อผ้าของจีนเพิ่มขึ้นจาก 12% ในปี 2545 เป็น 27% ในปี 2549 ดังนั้น การที่สหรัฐฯ ลด/ยกเลิกภาษีสิ่งทอและเสื้อผ้าให้กับเกาหลีใต้จะส่งผลดีให้สินค้าสิ่งทอและเสื้อผ้าของเกาหลีใต้มีขีดความสามารถทางการแข่งขันเพิ่มขึ้นในตลาดสหรัฐฯ
เนื้อโค
ผลดีต่อสหรัฐฯ : เกาหลีใต้จะยกเลิกมาตรการห้ามนำเข้าเนื้อโคจากสหรัฐฯ และลดภาษีเนื้อโคนำเข้าจากสหรัฐฯ ลงเหลือ 0% ภายใน 15 ปี จากอัตราภาษีปัจจุบัน 40% โดยภาษีศุลกากรเนื้อโคที่เกาหลีใต้เรียกเก็บจะลดลงเฉลี่ยปีละ 2.67% ส่งผลให้เนื้อโคส่งออกของสหรัฐฯ ขยายตลาดเข้าไปในเกาหลีใต้ได้มากขึ้น เกาหลีใต้ถือเป็นหนึ่งในประเทศที่นำเข้าเนื้อโคมากอันดับต้นๆ ของโลก และเกาหลีใต้เคยเป็นประเทศที่นำเข้าเนื้อโคจากสหรัฐฯ มากเป็นอันดับ 3 ก่อนที่เกาหลีใต้ประกาศห้ามนำเข้าเนื้อโคจากสหรัฐฯ ในเดือนธันวาคม 2546 เนื่องจากเกิดโรคระบาดวัวบ้าในสหรัฐฯ และนับตั้งแต่นั้นมา ผลจากการที่เกาหลีใต้ห้ามนำเข้าเนื้อโคจากสหรัฐฯ ทำให้มูลค่าส่งออกเนื้อโคของออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ไปยังตลาดเกาหลีใต้เติบโตขึ้นตามลำดับ ทั้งนี้ ออสเตรเลียส่งออกเนื้อโคไปเกาหลีใต้เพิ่มขึ้นถึง 179% จากมูลค่า 175 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2546 เป็น 488.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2548 ส่วนการส่งออกเนื้อโคของนิวซีแลนด์ไปเกาหลีใต้เพิ่มขึ้น 156% จากมูลค่า 65.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2546 เป็น 167 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2549
ข้อควรระวังสำหรับออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ : ในช่วง 2 เดือนแรกปี 2550 ออสเตรเลียส่งออกเนื้อโคทั้งหมดเพิ่มขึ้น 17% จากช่วงเดียวกันของปี 2549 โดยเฉพาะการส่งออกเนื้อโคของออสเตรเลียไปเกาหลีใต้เพิ่มขึ้นถึง 73% ทั้งนี้ เกาหลีใต้ถือเป็นตลาดส่งออกเนื้อโคสำคัญของออสเตรเลียอันดับ 3 รองจากญี่ปุ่น และสหรัฐฯ ดังนั้นการที่เกาหลีใต้จะยกเลิกมาตรการห้ามนำเข้าเนื้อโคจากสหรัฐฯ และจะทยอยลดภาษีให้เนื้อโคจากสหรัฐฯ ภายใต้ FTA ดังกล่าว คาดว่าจะส่งผลให้เนื้อโคจากสหรัฐฯ เข้ามาแย่งตลาดเนื้อโคของออสเตรเลียในเกาหลีใต้ ส่งผลกระทบต่อเนื้อโคส่งออกของออสเตรเลียไปเกาหลีใต้ด้วย ออสเตรเลียเป็นประเทศส่งออกอาหาร ชั้นนำของโลก ปัจจุบันออสเตรเลียส่งออกสินค้าอาหารรวมราว 23,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และเนื้อโคมีมูลค่าส่งออกสูงสุดในบรรดาสินค้าอาหารส่งออกทั้งหมดของออสเตรเลีย ออสเตรเลียเป็นประเทศที่ส่งออกเนื้อโคคิดเป็นปริมาณมากเป็นอันดับ 2 ของโลก รองจากบราซิล แต่ในด้านมูลค่าส่งออกถือว่าออสเตรเลียเป็นประเทศที่มีมูลค่าส่งออกเนื้อโคสูงอันดับ 1 ของโลก
ส่วนการส่งออกเนื้อโคของนิวซีแลนด์ในเกาหลีใต้คาดว่าจะได้รับผลกระทบเช่นกัน เนื่องจากเกาหลีใต้นำเข้าเนื้อโคจากนิวซีแลนด์เพิ่มขึ้น หลังจากเนื้อโคของสหรัฐฯ ถูกมาตรการห้ามนำเข้าของเกาหลีใต้ การที่เนื้อโคของสหรัฐฯ จะสามารถเข้าไปจำหน่ายในเกาหลีใต้ได้อีกครั้งและได้รับการลดภาษีจากเกาหลีใต้ภายใต้ FTA จะส่งผลกระทบต่อการส่งออกเนื้อโคของนิวซีแลนด์ในเกาหลีใต้เช่นกัน
การเปิดตลาดสินค้าของสหรัฐฯ และเกาหลีใต้ภายใต้การจัดทำความตกลง FTA สหรัฐฯ-เกาหลีใต้ ที่คาดว่าจะมีผลบังคับใช้ช่วงปลายปีนี้หรือต้นปี 2551 หลังจากได้รับการอนุมัติจากรัฐสภาทั้งสองฝ่ายแล้ว จะส่งผลกระทบต่อประเทศคู่ค้าของสหรัฐฯ และเกาหลีใต้ที่ส่งออกสินค้าสำคัญที่อยู่ในรายการเปิดตลาดของสหรัฐฯ และเกาหลีใต้ ได้แก่ สินค้ายานยนต์ สิ่งทอ/เสื้อผ้า และเนื้อโค เนื่องจากขีดความสามารถทางการแข่งขันในตลาดสหรัฐฯ และเกาหลีใต้ จะลดลงเมื่อเทียบกับประเทศคู่เจรจาความตกลง FTA ส่งผลให้ประเทศคู่ค้าเหล่านี้อาจต้องเร่งพิจารณาจัดทำ FTA ทวิภาคีกับสหรัฐฯ และเกาหลีใต้ หรือจัดทำ FTA ระดับภูมิภาค เช่น การจัดทำ FTA ระหว่างญี่ปุ่น จีน และเกาหลีใต้ เพื่อรักษาขีดความสามารถทางการแข่งขันของสินค้าส่งออกของตนเอง
นอกจากการเร่งดำเนินการจัดทำ FTA เพื่อรักษาขีดความสามารถทางการแข่งขันในเวทีโลกแล้ว ผู้ผลิตสินค้าของประเทศที่ได้รับผลกระทบดังกล่าวอาจต้องปรับกลยุทธ์โดยออกไปจัดตั้งฐานลงทุนผลิตสินค้าในต่างประเทศที่มีต้นทุนการผลิตต่ำกว่า เพื่อสร้างความได้เปรียบด้านราคา รวมถึงการพัฒนาคุณภาพของผลิตภัณฑ์ให้ทันกับความต้องการของตลาดโลก
สำหรับเกาหลีใต้ นอกจากการจัดทำความตกลง FTA ทวิภาคีกับสหรัฐฯ ชิลี สิงคโปร์ และสมาคมการค้าเสรีแห่งยุโรป (European Free Trade Association : EFTA) ซึ่งประกอบด้วยสวิตเซอร์แลนด์ นอร์เวย์ ไอซ์แลนด์ และลิคเทนสไทน์ เกาหลีใต้อยู่ระหว่างการเจรจาจัดทำ FTA กับอินเดีย แคนาดา และญี่ปุ่น รวมทั้งกำลังเตรียมการเจรจากับประเทศสำคัญอย่างจีน และสหภาพยุโรป นอกจากนี้ เกาหลีใต้ได้จัดทำ FTA ระดับภูมิภาคกับอาเซียน 9 ประเทศ ยกเว้นไทย ซึ่งจะเริ่มต้นลดภาษีสินค้าในวันที่ 1 มิถุนายน 2550 นี้ ความตกลง FTA อาเซียน-เกาหลีใต้ จะส่งผลให้สินค้าเกือบทั้งหมดถูกยกเว้นภาษีหรือได้รับการปรับลดภาษีลงต่ำกว่า 5% ภายในปี 2553 คาดว่าจะช่วยกระตุ้นให้มูลค่าการค้าระหว่างอาเซียนและเกาหลีใต้เติบโตมากขึ้น นอกจากการเจรจาเปิดตลาดสินค้าแล้ว เกาหลีใต้และอาเซียนตั้งเป้าหมายเจรจาเพิ่มเติมเพื่อเปิดเสรีภาคบริการและการลงทุนด้วย
ท่ามกลางกระแสการแข่งขันทางการค้าที่รุนแรง ประเทศที่พึ่งพาการค้าระหว่างประเทศเป็นตัวขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจ รวมถึงประเทศไทย จึงไม่สามารถหลีกเลี่ยงการเปิดตลาดการค้าสินค้า ภาคบริการ และการลงทุน เพื่อสร้างความได้เปรียบทางการแข่งขันในเวทีโลก แต่การต่อรองเพื่อผลประโยชน์จากการเปิดตลาดส่งออกสินค้าและบริการที่ไทยมีศักยภาพภายใต้ข้อตกลง FTA เป็นสิ่งสำคัญ รวมถึงการเจรจาต่อรองเพื่อให้อุตสาหกรรมและภาคบริการในประเทศมีระยะเวลาเพียงพอในการปรับตัวต่อการเปิดรับสินค้าและบริการจากต่างประเทศ เพื่อบรรเทาผลกระทบจากการแข่งขันที่รุนแรงมากขึ้นหลังจากการเปิดเสรี FTA