ศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทย หน่วยงานที่มีหน้าที่ส่งเสริมสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ เพื่อให้เด็กได้มีต้นทุนทางกาย ใจ และพัฒนาการที่ดี เผยว่า รพ.เด็ก และ รพ.รามาธิบดี ได้สร้างต้นแบบการสนับสนุนเจ้าหน้าที่เลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ครบวงจรแห่งแรกของไทยขึ้น และทำให้เจ้าหน้าที่ที่ทุกระดับให้นมแม่เพิ่มขึ้นเป็น 50% พร้อมเป็นแกนนำให้หน่วยงานต่างๆ นำรูปแบบการส่งเสริมไปปรับใช้เพื่อสร้างสังคมเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ทั่วประเทศ
พญ. ศิราภรณ์ สวัสดิวร รองเลขาธิการ ศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทย และ รองผู้อำนวยการฝ่ายบริหาร สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี กล่าวว่า “ ในโอกาสเดือนแห่งวันแม่แห่งชาติ สถาบันฯ ได้จัดให้บริการตรวจสุขภาพแก่ผู้มารับบริการที่เป็นเด็กฟรี 1 วัน ซึ่งได้ดำเนินการต่อเนื่องมาทุกปี พร้อมจัดกิจกรรมครบรอบการดำเนินงาน 1 ปีเต็ม โปรแกรม “รักและห่วงใย ใส่ใจผู้เป็นแม่ สู่ชาวสถาบันฯ” เป็นที่ยอมรับกันว่าการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียว อย่างน้อย 6 เดือน และให้กินนมแม่ต่อไปถึงอายุ 2 ปี จะเป็นต้นทุนสุขภาพเด็กที่สำคัญ ช่วยให้เด็กเล็กๆ ไม่เจ็บป่วยบ่อย ส่งผลให้มีการเจริญเติบโต พัฒนาการและเชาวน์ปัญญาดีกว่าเด็กกินนมผสมได้ดีกว่า 2-11 จุด ซึ่งสาเหตุสำคัญประการหนึ่งคือ เมื่อคุณแม่กลับจากทำงานแล้วไม่ได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานให้ยังคงเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ต่อได้ 1 ข้อมูลปัจจุบันพบว่า แม่หลังคลอด ณ วันจำหน่ายออกจากโรงพยาบาล เลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้ถึงร้อยละ 90 แต่เมื่อลูกอายุ 4 เดือน จะเหลือเพียงร้อยละ 50 ที่ยังคงกินนมแม่อยู่ และในจำนวนนี้มีเพียงร้อยละ 16 ที่เลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างถูกต้อง 2 การศึกษาของสถาบันสุขภาพเด็กฯ พบว่า แม่ที่ทำงานให้ลูกกินนมแม่เฉลี่ยเพียง 2.2 เดือน และถึงแม้จะมีสิทธิลาคลอดได้ 90 วัน แต่แม่ทั้งในระบบราชการและระบบเอกชนร้อยละ 30 นั้นใช้สิทธิไม่ครบซึ่งส่วนหนึ่งมีสาเหตุมาจากแม่ยังไม่เห็นความสำคัญของการอยู่เลี้ยงลูก และมีแรงจูงใจเรื่องค่าตอบแทนถ้ากลับมาทำงานเร็ว ในฐานะของสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติเห็นว่า กลวิธีหนึ่งที่จะช่วยให้แม่ทำงานยังคงให้ลูกได้กินนมแม่แม้เมื่อเป็นเวลาทำงานคือ การที่หน่วยงานให้การสนับสนุนแม่อย่างเป็นรูปธรรมจึงได้จัดทำ โปรแกรม “รักและห่วงใย ใส่ใจผู้เป็นแม่ สู่ชาวสถาบันฯ” เพื่อสนับสนุนและส่งเสริมเจ้าหน้าที่ของสถาบันฯ ให้เป็นต้นแบบของการให้นมลูกในสถานประกอบการ ชุดโปรแกรมประกอบด้วย 1. การเตรียมพร้อมเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ 2. การมอบกระเป๋ารักและห่วงใย 3. การอนุญาตให้แม่ได้พักระหว่างงานเพื่อให้นมลูกได้วันละ 2 ครั้ง ครั้งละ 30 นาที จนลูกอายุครบ 6 เดือน (Breastfeeding Break) 4.สิทธิพิเศษฝากลูกในเดย์แคร์นมแม่ได้ (Breastfeeding Day Care) ซึ่งภายหลังการดำเนินการ 1 ปี บุคลากรของสถาบันฯ ซึ่งประกอบด้วยแพทย์ เภสัชกร พยาบาล เจ้าหน้าที่ห้องปฏิบัติการและลูกจ้างชั่วคราว จำนวนรวม 22 คน สามารถเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวในระยะเวลา 6 เดือน ได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 50.00 ซึ่งก่อนหน้านั้นอัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียว 6 เดือน มีเพียงร้อยละ 11
ศ.นพ.วินิต พัวประดิษฐ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลรามาธิบดี กล่าวว่า “คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ตระหนักถึงความสำคัญของโครงการคาราวานสายใยรักแห่งครอบครัว ซึ่งเป็นพระราชดำริของพระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าศรีรัศมิ์ พระวรชายาในสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯสยามมกุฎราชกุมาร โครงการดังกล่าวนี้ได้เล็งเห็นประโยชน์ของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ต่อสุขภาพและพัฒนาการเด็ก และเป็นโครงการที่มีความสอดคล้องกับแนวนโยบายของคณะฯ ที่ได้รณรงค์ให้มีการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่มาตั้งแต่เริ่มก่อตั้งคณะฯ จนกระทั่งปัจจุบัน ซึ่งอย่างไรก็ตามผลการดำเนินงานที่ผ่านมาของคณะฯ ยังไม่ได้ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ ดังรายงานที่มีการศึกษาจากมารดาที่มาคลอดในโรงพยาบาลรามาธิบดี จำนวน 522 คน พบว่ามีมารดาเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวระยะเวลานาน 2, 4, และ 6 เดือนมีจำนวนร้อยละ 44.8, 24.1 และ 8.6 ตามลำดับ ซึ่งต่ำกว่าเป้าหมายที่องค์การอนามัยโลกกำหนดให้มีอัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียว 6 เดือนร้อยละ 40 และผลการศึกษาครั้งนี้พบว่ากลุ่มแม่ทำงานนอกบ้านมีปัญหาในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่มากที่สุด ท่านคณบดีจึงมีความเห็นว่าบุคลากรของคณะฯ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นบุคลากรด้านสุขภาพ และเป็นกลุ่มหญิงทำงานนอกบ้านควรปฏิบัติเป็นตัวอย่างต้นแบบของแม่ที่เลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างถูกวิธีให้แก่บุคคลทั่วไป ดังนั้นท่านคณบดีจึงมีนโยบายให้จัดทำ โครงการ “รามาธิบดีรณรงค์การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่สานสายใยรักแห่งครอบครัวอย่างครบวงจร” วัตถุประสงค์ของโครงการที่สำคัญมี 3 ประการ คือ ประการแรกเพิ่มอัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในหญิงที่มาคลอดในโรงพยาบาลรามาธิบดีทั้งที่เป็นบุคลากรของคณะฯ และบุคคลทั่วไปให้ได้ตามเป้าหมายขององค์การอนามัยโลก และมีอัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ต่อไปร่วมกับอาหารอื่นจนกระทั่งทารกอายุ 2 ปีเพิ่มขึ้น ประการที่สองคือเพิ่มจำนวนบุคลากรของคณะฯ ที่เป็นบุคคลต้นแบบของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างถูกวิธีให้แก่ประชาชนทั่วไป และประการสุดท้ายเป็นแหล่งเรียนรู้ของบุคลากรทางสุขภาพและประชาชนทั่วไป”
ดร.ปารีณา ศรีวนิชย์ คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึง บทบาทการสนับสนุนสถานประกอบการในปัจจุบันว่า “ ปัจจุบันคุณแม่ส่วนใหญ่ยุคใหม่ให้ความสนใจเรื่งการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เป็นจำนวนมาก ถึงแม้ว่าจะต้องออกไปทำงานก็ยังสามารถเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้ ซึ่งมีปัจจัยเอื้อหนุนให้ทำได้หลายวิธี ทั้งการบีบ เก็บ ตุนน้ำนมไว้ในระหว่างเวลาที่คุณแม่อยู่ที่ทำงาน เพื่อให้คนในครอบครัวที่บ้านได้เลี้ยงเจ้าตัวน้อยโดยไม่ขาดสารอาหารที่มีประโยชน์อย่างน้ำนมแม่ โดยแรกเริ่มเมื่อคุณแม่ต้องไปทำงานควรให้ลูกดูดนม 1 มื้อตอนตื่นนอน ก่อนไปทำงานให้ลูกดูดอีกครั้งหรือบีบเก็บน้ำนมไว้ ซึ่งขณะอยู่ที่ทำงานควรบีบเก็บน้ำนมอย่างน้อยทุก 3 ชม.ในช่วงระยะเวลาสาย หลังอาหารเที่ยง และบ่าย สถานที่ทำงานบางแห่งมีมุมนมแม่เพื่อเพิ่มความสะดวกสบายให้แก่พนักงานแล้ว ส่วนลูกน้อยที่อยู่ที่บ้านในตอนกลางวัน ให้คนเลี้ยงป้อนนมที่บีบเก็บไว้ และขณะอยู่บ้านคุณแม่ควรให้ลูกกินนมจากอกอย่างเดียว เป็นวิธีการกระตุ้นที่ดีที่สุดจะช่วยทำให้ร่างกายสร้างน้ำนมได้มากขึ้นอีกด้วย “มุมนมแม่” คือสถานที่ในที่ทำงานสำหรับให้คุณแม่ให้นมลูก หรือบีบน้ำนมเก็บไว้ให้ลูกที่อยู่ที่บ้านได้ เพราะโอกาสที่จะอยู่บ้านให้ลูกดูดนมแม่มีเพียง 3 เดือนตามกฎหมายลาคลอดเท่านั้น โดยในช่วง 6 เดือนแรกนั้นเป็นช่วงโอกาสทองแห่งการเจริญเติบโตของทารกโดยเฉพาะอย่างยิ่งการเจริญเติบโตของสมอง และน้ำนมแม่ยังเป็นอาหารที่ดีที่สุดของสมอง องค์การอนามัยโลก และกระทรวงสาธารณสุขของไทยแนะให้เลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวจนถึง 6 เดือนเต็ม และยังคงให้ลูกได้กินนมแม่ต่อไปจนถึง 2 ขวบหรือมากกว่านั้นควบคู่ไปกับอาหารตามวัย “มุมนมแม่” ยังช่วยให้คุณแม่ที่ทำงานนอกบ้านเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ต่อได้อย่างเต็มที่โดยไม่ต้องเสียงาน ซึ่งช่วยให้เด็กไทยได้กินนมแม่นานขึ้น ประโยชน์ของ “มุมนมแม่” ที่มีต่อนายจ้างผู้ประกอบการ คือคุณแม่จะลางานลดน้อยลงเนื่องจากไม่ต้องลาไปดูแลลูกที่ป่วย หรือพาลูกไปหาหมอ, ความเป็นห่วง กังวลใจของพนักงานก็จะลดลง มีสมาธิและขวัญกำลังใจที่ดีขึ้น, ประสิทธิภาพในการปฏิบัติงานของพนักงานจะดีขึ้น, สร้างภาพลักษณ์ที่ดีแก่ผู้ประกอบการจะได้ ในการดูแลความต้องการของพนักงงานและเป็นสถานที่ทำงานส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ โดย “มุมนมแม่” ควรมีได้ทุกสถานที่ประกอบการที่มีผู้หญิงทำงาน หรือมีแม่ ทำงาน เช่น โรงงาน, บริษัท, ห้างร้าน, โรงแรม, ธนาคาร, สำนักงาน, โรงพยาบาล, โรงเรียน, สถานรับเลี้ยงเด็ก, ห้างสรรพสินค้า, หน่วยงานราชการ หรือเอกชน เป็นต้น สถานประกอบการควรจัด “มุมนมแม่” ไว้ในจุดที่มีความเหมาะสมของสถานที่ทำงานนั้นๆ อาจใช้มุมหนึ่งในห้องพยาบาล ห้องเอนกประสงค์ หรือจัดเป็นห้องเฉพาะสำหรับ “มุมนมแม่” ในสถานที่ทำงานขนาดใหญ่ที่มีสถานเลี้ยงเด็กกลางวันให้พนักงาน สิ่งของอำนวยความสะดวกใน “มุมนมแม่” ไว้บริการคุณแม่ประกอบด้วย เก้าอี้ที่นั่งสบายๆ หรือโซฟานุ่มๆ ขนาดพอเหมาะสำหรับแม่นั่งให้นมลูกหรือบีบเก็บน้ำนมให้ลูก หมอนให้นมแม่, อ่างล้างมือพร้อมสบู่ล้างมือ, โต๊ะเล็กสำหรับวางของ, อุปกรณ์เครื่องใช้ต่างๆ สำหรับบีบและเก็บน้ำนม เช่น ตู้เย็นเล็ก กระติกสำหรับแช่นมแม่ ถุงหรือขวดเก็บน้ำนม เครื่องปั๊มน้ำนม, ที่นอนเด็กอ่อน หรือที่เปลี่ยนผ้าอ้อม, สื่อให้ความรู้ต่างๆ เช่น โปสเตอร์แนะนำการบีบและเก็บนมแม่ หนังสือเกี่ยวกับการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ เป็นต้น”