สินเชื่อที่อยู่อาศัย: การแปลงสินทรัพย์เป็นหลักทรัพย์ (Securitization)

สินเชื่อที่อยู่อาศัยเป็นสินเชื่อระยะยาว และมีสัดส่วนที่สูงกว่าร้อยละ 60 ของสินเชื่ออุปโภคและบริโภค ที่ผ่านมาการดำเนินธุรกิจสินเชื่อที่อยู่อาศัยมีการแข่งขันที่สูง สถาบันการเงินต่างทำแคมเปญการตลาดอย่างหนัก สาเหตุมาจากตลาดที่อยู่อาศัยมีอัตราการเติบโตที่ชะลอลง ผู้บริโภคชะลอการซื้อที่อยู่อาศัย ซึ่งเป็นผลมาจากภาวะเศรษฐกิจไทยที่ชะลอตัวลงอย่างต่อเนื่อง จะเห็นได้ว่าภาพรวมของสินเชื่อที่อยู่อาศัยส่วนบุคคลปล่อยใหม่ครึ่งแรกของปี 2550 มีมูลค่าประมาณ 126,479 ล้านบาท ขยายตัว 2.5% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน สถาบันการเงินต่างพยายามออกผลิตภัณฑ์อัตราดอกเบี้ยในรูปแบบที่หลากหลายเพื่อจูงใจลูกค้าและให้สอดคล้องกับความสามารถในการผ่อนชำระของผู้บริโภคในแต่ละกลุ่ม รูปแบบอัตราดอกเบี้ยส่วนใหญ่จะเป็นรูปแบบอัตราดอกเบี้ยลอยตัว (โดยส่วนใหญ่จะใช้อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ชั้นดี MLR) หรือรูปแบบอัตราดอกเบี้ยคงที่ระยะสั้น 1-3 ปี หลังจากนั้น จะถูกปรับเปลี่ยนเป็นอัตราดอกเบี้ยลอยตัวตลอดอายุสัญญาของสินเชื่อ สำหรับการออกผลิตภัณฑ์รูปแบบอัตราดอกเบี้ยเงินกู้คงที่ระยะยาว หรือการออกผลิตภัณฑ์สินเชื่อที่อยู่อาศัยให้มีความหลากหลายมากกว่านี้ยังคงมีข้อจำกัด โดยเฉพาะในเรื่องของการดำเนินธุรกิจของสถาบันการเงิน เช่น ความสมดุลระหว่างอัตราดอกเบี้ยเงินฝากและเงินกู้ เป็นต้น

ทั้งนี้เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน หรือพัฒนาผลิตภัณฑ์อัตราดอกเบี้ยเงินกู้สินเชื่อที่อยู่อาศัยให้มีความหลากหลายมากขึ้น แนวคิดการแปลงสินทรัพย์เป็นหลักทรัพย์ (Securitization) ประเภทสินเชื่อที่อยู่อาศัยจึงเกิดขึ้น ซึ่งสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐบางแห่งได้เริ่มมีโครงการที่จะทำ Securitization โดยมีสินเชื่อที่อยู่อาศัยหนุนหลัง อย่างไรก็ตามการดำเนินการ Securitization โดยมีสินเชื่อที่อยู่อาศัยหนุนหลัง ยังคงมีอุปสรรคที่ต้องเผชิญอยู่ในขณะนี้ ดังนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้สรุปประเด็นสำคัญของอนาคตการแปลงสินทรัพย์เป็นหลักทรัพย์ ประเภทสินเชื่อที่อยู่อาศัยของไทย

ธุรกิจสินเชื่อที่อยู่อาศัย…การแปลงสินทรัพย์เป็นหลักทรัพย์ (Securitization)

การแปลงสินทรัพย์เป็นหลักทรัพย์ (Securitization) โดยมีสินเชื่อที่อยู่อาศัยหนุนหลัง หรือ Mortgage-backed securities (MBSs) ได้กลายเป็นเครื่องมือทางการเงินที่สำคัญของสถาบันการเงิน องค์กรและบริษัทต่างๆ ในหลายๆประเทศ ทั้งนี้การแปลงสินทรัพย์เป็นหลักทรัพย์ (Securitization) โดยมีสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์หนุนหลัง ได้มีการทำกันอย่างแพร่หลายในหลายๆประเทศ ทั้งในยุโรปและเอเชียบางประเทศ และโดยเฉพาะในประเทศสหรัฐอเมริกา ที่นับได้ว่าเป็นต้นกำเนิดของการนำสินเชื่อประเภทอสังหาริมทรัพย์มาผ่านกระบวนการ Securitization อาทิ Fannie Mae (Federal National Mortgage Association), Freddie Mac (Federal Home Loan Mortgage Corporation) และ Ginnie Mae (Government National Mortgage Association) เป็นต้น สาเหตุการทำ Securitization เนื่องจากสถาบันการเงินในสหรัฐฯประสบกับภาวะการขาดสภาพคล่อง ไม่สามารถปล่อยสินเชื่อให้แก่ลูกค้าได้ การแปลงสินทรัพย์เป็นหลักทรัพย์ (Securitization) โดยมีสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์หนุนหลัง หรือ MBSs จึงเกิดขึ้นในตลาดรองสินเชื่อที่อยู่อาศัย (Secondary Mortgage Market) เพื่อเสริมสร้างสภาพคล่องให้แก่สถาบันการเงินต่างๆ ซึ่งนวัตกรรมทางการเงินนี้ได้ถูกนำมาใช้ประโยชน์และถูกพัฒนาให้มีรูปแบบที่หลากหลายมาจนถึงปัจจุบัน

สำหรับแนวคิดการทำ Securitization สินเชื่อที่อยู่อาศัย ได้ถูกกล่าวถึงมากขึ้นในประเทศไทยแต่ยังไม่เป็นที่แพร่หลายมากนัก โดยสาเหตุน่าจะมาจากสัดส่วนของธุรกิจสินเชื่อส่วนใหญ่อยู่ในมือของธนาคารพาณิชย์ ซึ่งสภาพคล่องของธนาคารพาณิชย์ในปัจจุบันยังคงอยู่ในระดับสูง จึงยังไม่มีความจำเป็นที่จะดำเนินนโยบาย Securitization อย่างไรก็ตามสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐบางแห่งได้เริ่มโครงการการแปลงสินทรัพย์เป็นหลักทรัพย์ หรือ Securitization โดยมีสินเชื่อที่อยู่อาศัยหนุนหลัง เนื่องจากมองว่าการทำ Securitization น่าจะมีประโยชน์ในการดำเนินธุรกิจให้มีสภาพคล่องตัวมากขึ้น

ทั้งนี้ประโยชน์ของการแปลงสินทรัพย์เป็นหลักทรัพย์ หรือ Securitization สินเชื่อที่อยู่อาศัยต่อสถาบันการเงิน ได้แก่

เครื่องมือที่ช่วยกระจายความเสี่ยง เป็นเครื่องมือบริหารความเสี่ยงของระบบการเงินและช่วยเพิ่มความคล่องตัวในการบริหารสภาพคล่อง เนื่องจากรูปแบบการแปลงสินทรัพย์เป็นหลักทรัพย์ (Securitization) คือ กระบวนการแปลงสินทรัพย์ (Non-marketable assets) ให้เป็นหลักทรัพย์ (Marketable securities) เพื่อจำหน่ายแก่ผู้ลงทุน เปรียบเสมือนการกู้ยืมเงินในรูปแบบหนึ่งจากเจ้าหนี้หลายราย (นักลงทุน)

เพิ่มสภาพคล่องให้แก่สถาบันการเงิน ทั้งนี้การขายสินทรัพย์ประเภทสินเชื่อที่อยู่อาศัยจะช่วยให้สถาบันการเงินมีเงินทุนหมุนเวียนเพิ่มขึ้นเพื่อให้สามารถขยายสินเชื่อต่อไปได้ ทำให้ต้นทุนในการปล่อยสินเชื่อลดลง และสถาบันการเงินสามารถทำกำไรได้เพิ่มขึ้น ซึ่งสถาบันการเงินไม่จำเป็นต้องกันเงินเป็นจำนวนมากไว้เพื่อเป็นเงินสำรองต่อสินทรัพย์เสี่ยง โดยเฉพาะมาตรฐานบัญชี IAS39 ที่ทำให้สถาบันการเงินจำเป็นต้องกันสำรองหนี้เสียในลักษณะที่เข้มงวดกว่าเดิม และยังเป็นการช่วยลดปัญหาความไม่สมดุลระหว่างอายุของทรัพย์สินและหนี้สิน เช่น สถาบันการเงินอาจจะมีเงินฝากระยะสั้นเป็นจำนวนมาก แต่สินเชื่อส่วนใหญ่ที่ปล่อยกู้เป็นระยะยาว ซึ่งหากมีการถอนเงินฝากเป็นจำนวนมากอาจจะทำให้ประสบปัญหาขาดสภาพคล่องในการดำเนินงานได้

เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน การแข่งขันธุรกิจทางการเงินของสถาบันการเงินในช่วงที่ผ่านมา นับได้ว่ามีความเข้มข้นมากขึ้น สถาบันการเงินต่างเร่งทำการทำตลาดเพื่อกระตุ้นยอดสินเชื่อ โดยมีการปรับกลยุทธ์การตลาดไปตามพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป ทั้งนี้การทำ Securitization ทำให้สถาบันการเงินมีสภาพคล่องเพิ่มขึ้นในระยะยาว ส่งผลให้สถาบันการเงินมีความสามารถในการพัฒนาผลิตภัณฑ์สินเชื่อที่อยู่อาศัย อาจทำให้สามารถออกผลิตภัณฑ์สินเชื่อที่อยู่อาศัยที่มีอัตราดอกเบี้ยคงที่ระยะยาว โดยคิดอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำลงได้ ซึ่งจะเป็นการช่วยหนุนให้มีความต้องการบริโภคและการลงทุนในธุรกิจประเภทนั้นๆเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะการออกผลิตภัณฑ์สินเชื่อที่อยู่อาศัยที่มีอัตราดอกเบี้ยคงที่ระยะยาว และลดความผันผวนในเรื่องอัตราดอกเบี้ยลง จะเห็นได้จากความผันผวนของอัตราดอกเบี้ยส่งผลต่อผู้ซื้อที่อยู่อาศัย ซึ่งการปรับตัวขึ้นของอัตราดอกเบี้ยทุกๆ 1% ส่งผลให้วงเงินที่ขอกู้ได้หายไปประมาณ 8% เช่นเดียวกับการผ่อนชำระค่างวดที่เพิ่มขึ้น 8% เช่นกัน ซึ่งที่ผ่านมาการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินกู้จะส่งผลกระทบต่อความสามารถในการผ่อนชำระสินเชื่อที่อยู่อาศัยในกลุ่มผู้บริโภคที่ผ่อนส่งสินเชื่อที่อยู่อาศัยในอัตราดอกเบี้ยลอยตัว ทั้งนี้การออกผลิตภัณฑ์รูปแบบอัตราดอกเบี้ยคงที่ระยะยาว ทำให้ผู้บริโภคสามารถคำนวณอัตราการผ่อนชำระสินเชื่อในแต่ละเดือนได้ และไม่ต้องกังวลกับความผันผวนของอัตราดอกเบี้ยในอนาคต ถึงแม้ว่าผู้ที่ผ่อนชำระสินเชื่อในอัตราดอกเบี้ยคงที่อาจจะเสียเปรียบในภาวะที่อัตราดอกเบี้ยปรับลดลง

อนาคตการ Securitization สินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ในไทย….อุปสรรคและปัญหา

แนวโน้มการทำ Securitization ที่ออกตราสารหนุนหลังโดยสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ ในภาวะตลาดปัจจุบัน ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มีความเห็นว่า การทำ Securitization โดยมีสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์หนุนหลัง เป็นเครื่องมือทางการเงินที่จะเป็นประโยชน์ต่อธุรกิจ เช่น สถาบันการเงินที่ให้บริการในการปล่อยสินเชื่อที่อยู่อาศัย ที่มีข้อจำกัดทางด้านการระดมเงินทุนและต้องการขยายฐานสินเชื่อของตน เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในธุรกิจ อาทิ ช่วยเพิ่มสภาพคล่องให้แก่สถาบัน ช่วยลดการพึ่งพาเงินฝาก เนื่องจากมีแหล่งเงินที่หลากหลาย และยังช่วยลดภาระในการตั้งสำรองทำให้สามารถนำเงินกองทุนไปใช้ขยายธุรกิจได้มากขึ้น

อย่างไรก็ตามการทำ Securitization อาจประสบอุปสรรคจากการที่ธนาคารพาณิชย์โดยเฉพาะรายใหญ่ยังคงมีสภาพคล่องที่สูง ในขณะที่ธนาคารพาณิชย์มีทางเลือกในการระดมทุนในรูปแบบอื่นๆ อย่างเช่น การระดมทุนในรูปเงินฝากประจำระยะสั้น ถึง ระยะยาว โดยเฉพาะในสภาวะตลาดปัจจุบันอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำของธนาคารอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าตลาดเงิน (Money Market) เช่น อัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำ 12 เดือน อยู่ที่ประมาณร้อยละ 2.25 ต่อปี ในขณะที่ผลตอบแทนพันธบัตรออมทรัพย์ ธปท. 7 ปี อยู่ที่ประมาณร้อยละ 5 หรือ 4 ปี อยู่ที่ประมาณร้อยละ 4.25 เป็นต้น ซึ่งทำให้หากธนาคารจะทำ Securitization ก็จะต้องจ่ายผลตอบแทนให้ใกล้เคียง หรือสูงกว่าพันธบัตรของทางการ ซึ่งจะทำให้ต้นทุนทางการเงินเพิ่มสูงขึ้น

นอกจากนี้การทำ Securitization โดยมีสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์หนุนหลังในขณะนี้ยังคงมีปัจจัยที่ต้องพิจารณา ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้วิเคราะห์ถึงอุปสรรคในการทำ Securitization โดยมีสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์หนุนหลังของไทย ดังนี้

การกำหนดอัตราผลตอบแทนนักลงทุน การทำ Securitization โดยขายให้นักลงทุนในรูปแบบของตราสารหนี้ ซึ่งผลตอบแทนที่นักลงทุนจะได้รับในอัตราตลาด (Market rate) บวกกับความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้น (Premium risk) ต้องมีความเหมาะสมและจูงใจ ซึ่งในสภาวะตลาดปัจจุบันอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำของธนาคารอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าตลาดเงิน (Money Market) เช่น อัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำ 12 เดือน อยู่ที่ประมาณร้อยละ 2.25 ต่อปี ในขณะที่ผลตอบแทนพันธบัตรออมทรัพย์ ธปท. 7 ปี อยู่ที่ประมาณร้อยละ 5 หรือ 4 ปี อยู่ที่ประมาณร้อยละ 4.25 ซึ่งนักลงทุนมีความคาดหวังที่จะได้รับผลตอบแทนที่ค่อนข้างสูงหรือในระดับที่ใกล้เคียงกับตลาดเงินในปัจจุบัน การทำ Securitization จึงมีต้นทุนที่ค่อนข้างสูง

คุณภาพของสินเชื่อที่นำมาผ่านกระบวนการแปลงสินทรัพย์เป็นหลักทรัพย์ (Securitization) คุณภาพของสินเชื่อที่ถูกนำมา Securitized นั้นมีความสำคัญอย่างมาก โดยเฉพาะถ้าสินเชื่อมีคุณภาพต่ำ นักลงทุนจะได้รับความเสี่ยงที่สูงจากการถือครองตราสารนั้นไปด้วย

ความโปร่งใสของกระบวนการจัดอันดับหลักทรัพย์ (Credit Rating) ธรรมาภิบาลของสถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือนับได้ว่ามีบทบาทที่สำคัญอย่างยิ่ง เนื่องจากกระบวนการจัดอันดับความน่าเชื่อถือขึ้นอยู่กับคุณภาพของสินเชื่อ (Rating) ที่ถูกนำมาแปลงเป็นอนุพันธ์ เป็นกระบวนการที่สำคัญที่มีผลต่อการตัดสินใจของนักลงทุน ซึ่งหากกระบวนการจัดอันดับไม่มีความโปร่งใสเพียงพอ ความเสี่ยงจะตกอยู่ที่นักลงทุนทันที โดยเฉพาะคุณภาพของสินเชื่อที่ถูกนำมาแปลง

อายุของตราสารหนี้ ทั้งนี้การซื้อตราสารหนี้ที่มีสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์หนุนหลัง เป็นการลงทุนระยะยาว ซึ่งมักมีอายุตราสารเป็นระยะเวลามากกว่า 10 ปี ขึ้นไป เป็นการลงทุนให้ได้ผลตอบแทนในรูปของอัตราดอกเบี้ย ถึงแม้ว่าการลงทุนประเภทนี้จะมีกระแสเงินสดที่เป็นรายรับหนุนหลังที่ชัดเจนก็ตาม แต่ตลาดเงินในปัจจุบันได้มีผลิตภัณฑ์ต่างๆที่ให้ผลตอบแทนสูงและเป็นการลงทุนในระยะสั้นๆ และเป็นการลดความเสี่ยงให้แก่นักลงทุนด้วย

โอกาสการขายหน่วยลงทุนแก่นักลงทุนต่างประเทศ เนื่องจากตลาดในประเทศยังมีขนาดเล็กและการถือตราสารที่มีระยะเวลาที่ยาวยังไม่เป็นที่นิยมมากนัก ในกลุ่มนักลงทุนในประเทศ ซึ่งแตกต่างจากตลาดในต่างประเทศที่มีตลาดขนาดที่ใหญ่ มีสภาพคล่องสูง และพร้อมที่จะรองรับการทำธุรกรรมที่มีระยะเวลายาว อย่างไรก็ตาม ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มีความเห็นว่า การที่นักลงทุนต่างชาติจะลงทุนในตราสาร Securitization โดยมีสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์หนุนหลังนั้น ยังคงมีประเด็นที่ต้องพิจารณาที่อาจจะทำให้ Securitization โดยมีสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์หนุนหลังไทยไม่ดึงดูดนักลงทุนต่างชาติเท่าที่ควร ได้แก่

ปัญหาซับไพร์มที่เกิดขึ้นในประเทศสหรัฐอเมริกา ได้ส่งผลกระทบต่อตลาดเงินและตลาดทุนทั่วโลก อาจจะส่งผลต่อการตัดสินใจของนักลงทุนที่จะเข้ามาลงทุนในตราสารที่หนุนหลังโดยสินเชื่อที่อยู่อาศัยในขณะนี้

มาตรการภาครัฐ เช่น มาตราการกันสำรอง 30 %ของเงินตราต่างประเทศ และการทำ full hedging ทำให้การที่นักลงทุนต่างชาติจะเข้ามาลงทุนในตราสารประเภทนี้ในประเทศไทย ต้องมีต้นทุนเพิ่มสูงขึ้น

อัตราดอกเบี้ยผลตอบแทนอาจจะไม่ดึงดูดนักลงทุนต่างชาติเท่าที่ควร จะเห็นได้ว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทยอยู่ที่ 3.25% ต่อปี ในขณะนี้ ซึ่งต่ำกว่าอัตราดอกเบี้ยในต่างประเทศ อาทิ อัตราดอกเบี้ย Fed Funds 4.75% ต่อปีในขณะนี้

บทสรุป

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มีความเห็นว่า แนวโน้มการทำ Securitization เพื่อออกตราสารที่หนุนหลังโดยสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ ในภาวะตลาดปัจจุบันนั้น ถึงแม้ว่าจะเป็นประโยชน์ต่อสถาบันการเงิน อาทิ ช่วยเพิ่มสภาพคล่องให้แก่สถาบัน ช่วยลดการพึ่งพาเงินฝาก เนื่องจากมีแหล่งเงินที่หลากหลาย และยังช่วยลดภาระในการตั้งสำรองทำให้สามารถนำเงินกองทุนไปใช้ขยายธุรกิจได้มากขึ้น แต่การทำ Securitization ในขณะนี้อาจประสบปัญหาจากการที่ธนาคารพาณิชย์โดยเฉพาะรายใหญ่ยังคงมีสภาพคล่องที่สูง ในขณะที่ธนาคารพาณิชย์มีทางเลือกในการระดมทุนในรูปแบบอื่นๆ เช่น การระดมทุนในรูปเงินฝากประจำระยะสั้น ถึง ระยะยาว โดยเฉพาะในสภาวะตลาดปัจจุบันอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำของธนาคารอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าตลาดเงิน (Money Market) เช่น อัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำ 12 เดือน อยู่ที่ประมาณร้อยละ 2.25 ต่อปี ในขณะที่ผลตอบแทนพันธบัตรออมทรัพย์ ธปท. 7 ปี อยู่ที่ประมาณร้อยละ 5 หรือ 4 ปี อยู่ที่ประมาณร้อยละ 4.25 เป็นต้น ซึ่งจะทำให้ต้นทุนทางการเงินของธนาคารจากการทำ Securitization เพิ่มขึ้น เพราะต้องจ่ายดอกเบี้ยแพงกว่าเงินฝาก

ทั้งนี้การทำ Securitization โดยมีสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์หนุนหลังในขณะนี้ยังคงมีนี้ปัจจัยที่ต้องพิจารณา อาทิ ความโปร่งใสในการจัดอันดับหลักทรัพย์ และความน่าสนใจของอัตราผลตอบแทนที่ได้จากการลงทุนตราสารชนิดนี้ เป็นต้น นอกจากนี้ปัญหาวิกฤตซับไพร์มที่เกิดขึ้นในประเทศสหรัฐอเมริกาที่สร้างความปั่นป่วนแก่ตลาดเงินตลาดทุนโลกอยู่ในขณะนี้และมีแนวโน้มที่จะส่งผลกระทบจนถึงปีหน้า อาจจะทำให้นักลงทุนต่างประเทศมีความกังวลต่อการที่จะเข้าไปลงทุนในหลักทรัพย์ที่มาจากกระบวนการ Securitized ของไทย และมาตรการภาครัฐ เช่น มาตราการกันสำรอง 30 %ของเงินตราต่างประเทศ และการทำ full hedging ทำให้นักลงทุนต่างชาติที่จะเข้ามาลงทุนในตราสารประเภทนี้ในประเทศไทย ต้องมีต้นทุนเพิ่มสูงขึ้น เป็นต้น

อย่างไรก็ตามการทำ Securitization โดยมีสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์หนุนหลัง เป็นเครื่องมือทางการเงินที่จะเป็นประโยชน์ต่อธุรกิจ เช่น สถาบันการเงินที่ให้บริการในการปล่อยสินเชื่อที่อยู่อาศัย ที่มีข้อจำกัดทางด้านการระดมเงินทุนและต้องการขยายฐานสินเชื่อของตน เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในธุรกิจ อาทิ ช่วยเพิ่มสภาพคล่อง ช่วยลดการพึ่งพาเงินฝาก เนื่องจากมีแหล่งเงินที่หลากหลาย และยังช่วยลดภาระในการตั้งสำรองทำให้สามารถนำเงินกองทุนไปใช้ขยายธุรกิจได้มากขึ้น