เศรษฐกิจไทยในปัจจุบันเผชิญกับปัจจัยกดดันหลายประการ ทั้งจากภายในประเทศและภายนอกประเทศ ไม่ว่าจะเป็น ราคาน้ำมันในตลาดโลกที่อยู่ในระดับสูง ส่งผลกดดันภาวะเงินเฟ้อของไทย โดยราคาน้ำมันดิบในตลาดล่วงหน้า NYMEX พุ่งสูงขึ้นในวันที่ 6 พฤศจิกายน 2550 ทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์เหนือระดับ 97 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ซึ่งส่งผลกระทบต่อต้นทุนการผลิตสินค้าและบริการของผู้ประกอบการไทยที่ปรับตัวสูงขึ้น รวมทั้งทำให้การบริโภคภายในประเทศชะลอตัวลงด้วย การแก้ไขกฎหมายด้านเศรษฐกิจที่สำคัญของไทย ได้แก่ พระราชบัญญัติประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว และพระราชบัญญัติค้าปลีก ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างประเทศ สถานการณ์ความไม่มั่นใจทางการเมือง ด้านเสถียรภาพของรัฐบาลหลังการเลือกตั้งในวันที่ 23 ธันวาคม 2550
ท่ามกลางการชะลอตัวของการบริโภคและการลงทุนภายในประเทศจากปัจจัยทั้งหลายข้างต้น ภาคการส่งออก ถือเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยที่สำคัญในปัจจุบัน โดยคิดเป็นสัดส่วนราว 65% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) แม้ว่าการส่งออกไทยในช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้จะขยายตัวได้ 16% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2549 ใกล้เคียงกับทั้งปี 2549 ที่การส่งออกของไทยขยายตัวเกือบ 17% แต่การส่งออกของไทยในปีนี้ได้รับผลกระทบจากปัญหาการแข็งค่าของเงินบาทที่ส่งผลกระทบต่อขีดความสามารถทางการแข่งขันด้านราคาของสินค้าส่งออกของไทยในตลาดโลก โดยเฉพาะสินค้าส่งออกที่ใช้วัตถุดิบภายในประเทศเป็นหลัก ได้แก่ สินค้าเกษตร/ เกษตรแปรรูป และสินค้าที่ใช้แรงงานอย่างเข้มข้น ได้แก่ สิ่งทอ/เครื่องนุ่งห่ม และรองท้า
นอกจากนี้ การชะลอตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าสำคัญอย่างสหรัฐฯ ซึ่งเป็นประเทศที่ไทยส่งออกไปมากที่สุด (คิดเป็นสัดส่วน 15% ของการส่งออกทั้งหมดของไทย) เนื่องจากปัญหาสินเชื่อคุณภาพต่ำ (Sub-prime Loan) ในภาคอสังหาริมทรัพย์ของสหรัฐฯ ที่ส่งผลให้ความต้องการบริโภคในสหรัฐฯ อ่อนแรงลง กดดันให้การนำเข้าสินค้าของสหรัฐฯ จากประเทศต่างๆ รวมทั้งไทย ชะลอตัวลงด้วย รวมถึง การตัดสิทธิพิเศษจีเอสพี (GSP) ของสหรัฐฯ กับสินค้าส่งออกของไทย ได้แก่ เครื่องประดับทำด้วยทอง เครื่องรับวิทยุโทรทัศน์ และเม็ดพลาสติก (โพลิเอทิลีนเทเรฟทาเลต) ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2550 ส่งผลให้สินค้าส่งออกดังกล่าวของไทยไปสหรัฐฯ ต้องกลับไปเสียภาษีศุลกากรในอัตรา 5.5% 3.9% และ 6.5% ตามลำดับ ส่งผลให้ขีดความสามารถทางการแข่งขันของสินค้าส่งออกสำคัญของไทย 3 รายการนี้ ลดลงในตลาดสหรัฐฯ
แม้ว่าการส่งออกของไทยในช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้ขยายตัวราว 16% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2549 และคาดว่าการส่งออกทั้งปี 2550 จะขยายตัวได้มากกว่าที่ทางการตั้งเป้าหมายไว้ที่ 12.5% แต่จากปัจจัยลบที่ส่งผลกระทบต่อภาคการส่งออกของไทยหลายประการข้างต้น จะส่งผลกระทบต่อเนื่องต่อการส่งออกของไทยในปี 2551 ซึ่งคาดว่าจะทำให้การส่งออกของไทยในปี 2551 ชะลอตัวลงด้วย
JTEPA : ตัวช่วยส่งออกไทย
ความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น (Japan-Thailand Economic Partnership Agreement : JTEPA) ที่มีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 พฤศจิกายน 2550 หลังจากไทยและญี่ปุ่นได้ร่วมกันลงนามความตกลงฯ ในเดือนเมษายน 2550 ถือเป็นปัจจัยบวกที่ผลักดันให้สินค้าส่งออกของไทยขยายตัวในตลาดญี่ปุ่นได้ดีขึ้นในช่วงที่เหลือของปีนี้ และในปี 2551 รวมทั้งช่วยกระตุ้นการส่งออกโดยรวมของไทยด้วย จากช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้ที่ไทยส่งออกไปญี่ปุ่นขยายตัวราว 10.7% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2549 แม้มูลค่าการส่งออกไทยไปญี่ปุ่นในสินค้าบางรายการเมื่อคิดเป็นเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ในช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้ หดตัวลง เช่น ยางพารา (-18%) อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป (-1.8%) เครื่องรับวิทยุโทรทัศน์และส่วนประกอบ (-2.8%) และไก่แปรรูป (-3.9%) เสื้อผ้าสำเร็จรูป (-19%) อัญมณีและเครื่องประดับ (-6%) และรองเท้าและชิ้นส่วน (-8.7%) สาเหตุสำคัญที่มูลค่าส่งออกสินค้าเหล่านี้ของไทยลดลงในตลาดญี่ปุ่น ได้แก่ ปัญหาการแข็งค่าของเงินบาท และการแข่งขันที่รุนแรงมากขึ้นกับสินค้าส่งออกของประเทศอื่นๆ ในตลาดญี่ปุ่น ที่สำคัญ ได้แก่ จีนและเวียดนามที่มีต้นทุนถูกกว่า ขณะที่การส่งออกของไทยไปสหรัฐฯ ในช่วงเดียวกัน หดตัวลงราว 3% คิดเป็นเงินดอลลาร์สหรัฐฯ เนื่องจากการชะลอตัวทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ
การลด/ยกเลิกภาษีศุลกากรของญี่ปุ่นให้กับสินค้าส่งออกของไทยภายใต้ความ ตกลง JTEPA จะช่วยกระตุ้นให้สินค้าส่งออกของไทยขยายตัวในตลาดญี่ปุ่นได้มากขึ้น ได้แก่ อาหารสด/แปรรูป เช่น ผัก/ผลไม้สดและแปรรูป ไก่สดและแปรรูป และสินค้าประมง เช่น กุ้งแช่เย็น/แช่แข็ง และอาหารทะเลสำเร็จรูป รวมทั้งสินค้าอุตสาหกรรม ได้แก่ รองเท้าและเครื่องหนัง สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม และอัญมณีและเครื่องประดับ รวมทั้งการให้โควตาของญี่ปุ่นกับสินค้าเกษตรส่งออกของไทย ได้แก่ กล้วย สัปปะรด และเนื้อหมูแปรรูป
สินค้าอาหาร (เกษตร ปศุสัตว์ และประมง) – ปัจจุบันญี่ปุ่นเป็นประเทศที่นำเข้าอาหารสุทธิมีมูลค่าสูงที่สุดในโลก คิดเป็นสัดส่วนราว 40% ของการบริโภคอาหารทั้งหมดภายในประเทศ ญี่ปุ่นนำเข้าสินค้าอาหารจากไทยมากเป็นอันดับที่ 5 มูลค่านำเข้าอาหารจากไทยทั้งหมดราว 2,574 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2549 คิดเป็นสัดส่วนราว 5.3% ของอาหารนำเข้าทั้งหมดของญี่ปุ่น รองจากสหรัฐฯ (สัดส่วน 21.9%) จีน (17%) ออสเตรเลีย (8.5%) และแคนาดา (5.6%) ตามลำดับ ญี่ปุ่นนำเข้าอาหารทะเลกระป๋องและแปรรูปจากไทยมูลค่า 448 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2549 ไทยได้รับผลดีจากการที่ญี่ปุ่นยกเลิกภาษีทันทีสำหรับกุ้งส่งออกของไทยไปญี่ปุ่น ส่วนไก่ปรุงสุกจะลดภาษีจากอัตรา 6% เหลือ 5.5% ในวันที่ 1 พฤศจิกายน 2550และทยอยลดลงจนเหลือ 3% ในปี 2555 (ปีที่ 6) นอกจากนี้ญี่ปุ่นให้โควตานำเข้าเนื้อหมูแปรรูปปีละ 1,200 ตัน ในภาษีอัตรา 16% (นอกโควตาภาษี 20%)
อัญมณีและเครื่องประดับ – ญี่ปุ่นเป็นตลาดส่งออกอันดับที่ 8 ของไทย คาดว่าการยกเลิกภาษีศุลกากรของญี่ปุ่นให้กับสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับของไทย (ยกเว้นไข่มุกเทียมที่ยกเลิกภาษีใน 7 ปี) ทันที ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2550 จากเดิมที่อัตราภาษีอยู่ระหว่าง 2.7%-10% จะช่วยให้สินค้าส่งออกไทยแข่งขันได้ดีขึ้นในตลาดญี่ปุ่น และช่วยลดผลลดผลกระทบจากการที่สหรัฐฯ ตัดสิทธิพิเศษ GSP กับเครื่องประดับทำด้วยทองส่งออกจากไทยไปสหรัฐฯ ต้องกลับไปเสียภาษีศุลกากรนำเข้าในอัตรา 5.5% ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2550 อย่างไรก็ตาม ผู้ส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับไปญี่ปุ่นควรพัฒนารูปแบบและดีไซน์ เพื่อสร้างเอกลักษณ์ของสินค้าและเน้นตลาดระดับบน เนื่องจากตลาดญี่ปุ่นเป็นตลาดที่มีกำลังซื้อสูง
สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม – ไทยส่งออกสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มไปญี่ปุ่นมากเป็นอันดับที่ 4 คิดเป็นสัดส่วนราว 6% ของการส่งออกสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มทั้งหมดของไทย รองจากสหรัฐฯ อังกฤษ และฝรั่งเศส ตามลำดับ คาดว่าการที่ญี่ปุ่นยกเลิกภาษีสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มเกือบทุกรายการให้ไทย จากเดิมที่ไทยต้องเสียภาษีในอัตรา 2.7%-13.4% จะทำให้สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มของไทยมีขีดความสามารถทางการแข่งขันมากขึ้นในตลาดญี่ปุ่น และช่วยลดผลกระทบจากการแข็งค่าของเงินบาทที่ทำให้การส่งออกเสื้อผ้าสำเร็จรูปของไทยไปญี่ปุ่นในช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้หดตัวลงถึง 19% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2549
รองเท้าและเครื่องหนัง – ญี่ปุ่นยกเลิกโควตาและทยอยลดภาษีศุลกากรให้สินค้ารองเท้าและเครื่องหนังให้ไทย จนเหลือ 0% ภายใน 7-10 ปี ทำให้รองเท้าและเครื่องหนังของไทยส่งออกไปญี่ปุ่นมีแนวโน้มขยายตัวดีขึ้นในตลาดญี่ปุ่น ช่วยบรรเทาผลกระทบจากการแข็งค่าของเงินบาทที่ส่งผลไทยส่งออกรองเท้าและชิ้นส่วนไปญี่ปุ่นหดตัวลง 17.3% ในปี 2549 เมื่อเทียบกับปี 2548 และหดตัวลง 8.7% ในช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2549 รวมทั้งการแข่งขันอย่างรุนแรงจากรองเท้าจากจีนและเวียดนามที่มีราคาถูกกว่า
JTEPA : ดึงเม็ดเงินลงทุนจากญี่ปุ่น
การผ่อนคลายกฎระเบียบด้านการลงทุนของไทยและการลด/ยกเลิกภาษีศุลกากรของไทยให้กับสินค้านำเข้าของญี่ปุ่นภายใต้ JTEPA จะช่วยสร้างบรรยากาศด้านการลงทุนในไทย และดึงดูดให้นักลงทุนญี่ปุ่นกลับเข้ามาลงทุนในไทยมากขึ้น จากสถานการณ์ตั้งแต่ปี 2549 จนถึงปัจจุบันที่มีปัจจัยลบหลายประการต่อบรรยากาศด้านการลงทุนของไทย ได้แก่ สถานการณ์เปลี่ยนแปลงทางการเมือง ปัญหาการก่อการร้ายทางภาคใต้ การแก้ไข พ.ร.บ ประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว และ พ.ร.บ ค้าปลีก มาตรการกันสำรอง 30% เพื่อควบคุมเงินทุนระยะสั้นของธนาคารแห่งประเทศไทย ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างชาติ ส่งผลให้มูลค่าโครงการลงทุนของญี่ปุ่นในไทยลดลงในปี 2549 โดยมูลค่าโครงการลงทุนของญี่ปุ่นที่ยื่นขออนุมัติส่งเสริมการลงทุนในไทยในปี 2549 ลดลง 37% จาก 175,314 ล้านบาท ในปี 2548 เป็น 110,477 ล้านบาท นอกจากนี้ ผลการสำรวจของธนาคารเพื่อความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น (เจบิค) พบว่า ประเทศที่น่าลงทุนมากที่สุดในปี 2549 คือ จีน รองลงมา ได้แก่ อินเดีย เวียดนาม และไทย ซึ่งก่อนหน้านี้ไทยเคยเป็นประเทศที่น่าลงทุนมากกว่าเวียดนามในสายตาของนักลงทุนญี่ปุ่น
เป็นที่น่าสังเกตว่า สัดส่วนมูลค่าโครงการลงทุนของญี่ปุ่นที่ยื่นขออนุมัติส่งเสริมการลงทุนในไทยลดลงจากราว 40% ของมูลค่ามูลค่าโครงการลงทุนของต่างชาติทั้งหมดที่ยื่นขออนุมัติการลงทุนในไทยในปี 2545 เป็น 35.9% ในปี 2549 เนื่องจากญี่ปุ่นเข้าไปลงทุนในประเทศเอเชียอื่นๆ มากขึ้น ที่สำคัญ ได้แก่ จีน เวียดนาม และอินเดีย ซึ่งเป็นประเทศที่มีต้นทุนแรงงานต่ำกว่าไทย สำหรับโครงการลงทุนของต่างชาติทั้งหมดที่ยื่นขออนุมัติส่งเสริมการลงทุนในไทยในช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้มีมูลค่า 334,650 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 66.6% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2549 ในขณะที่โครงการลงทุนของญี่ปุ่นที่ยื่นขออนุมัติส่งเสริมการลงทุนในไทยในช่วงเดียวกัน เพิ่มขึ้น 14.38% จากมูลค่า 72,711 ล้านบาท ในช่วงเดียวกันของปี 2549 เป็น 83,173 ล้านบาท ญี่ปุ่นยังคงเป็นประเทศที่เข้ามาลงทุนในไทยมีมูลค่าโครงการลงทุนสูงที่สุด แต่สัดส่วนโครงการลงทุนของญี่ปุ่นในไทยในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2550 ลดลงเหลือราว 25% ของมูลค่าโครงการลงทุนของต่างชาติทั้งหมดที่ยื่นขออนุมัติส่งเสริมการลงทุนในไทยในช่วงเดียวกัน คาดว่า ความตกลง JTEPA จะช่วยสร้างบรรยากาศด้านการลงทุนในไทยและส่งเสริมให้ญี่ปุ่นเข้ามาลงทุนในไทยเพิ่มขึ้น
ประเภทโครงการลงทุนของญี่ปุ่นที่ยื่นขออนุมัติส่งเสริมการลงทุนในไทยมากที่สุด ได้แก่ โครงการผลิตภัณฑ์เหล็กและเครื่องจักร มูลค่าโครงการลงทุน 36,251.7 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 43.5% ของโครงการลงทุนทั้งหมดของญี่ปุ่นที่ยื่นขออนุมัติส่งเสริมการลงทุนในไทย รองลงมาเป็นโครงการผลิตเครื่องไฟฟ้าและสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ มูลค่าโครงการรวม 18,497.5 ล้านบาท (สัดส่วน 22%) เคมีภัณฑ์และกระดาษ มูลค่าโครงการรวม 15.587 ล้านบาท (สัดส่วน 18.7%) ธุรกิจบริการ มูลค่าโครงการรวม 6,739 ล้านบาท (สัดส่วน 8%) ภาคเกษตร มูลค่าโครงการรวม 3,462 ล้านบาท แร่ธาตุ/เซรามิกส์ มูลค่าโครงการ 1,914 ล้านบาท และอุตสาหกรรมเบา/สิ่งทอ มูลค่าโครงการ 721 ล้านบาท ตามลำดับ
หลังจากความตกลง JTEPA มีผลบังคับใช้ บริษัทผู้ผลิตเหล็กรายใหญ่ของญี่ปุ่นสนใจเข้ามาลงทุนผลิตเหล็กต้นน้ำในไทย จากพันธกรณีภายใต้ความตกลง JTEPA ที่ไทยยกเลิกภาษีศุลกากรทันทีให้กับเหล็กรีดร้อนคุณภาพดีนำเข้าจากญี่ปุ่นที่ไม่มีการผลิตในไทย และการเปิดโควตาให้สำหรับเหล็กรีดร้อนที่นำไปรีดเย็นต่อสำหรับการผลิตในอุตสาหกรรมรถยนต์ หรือ เหล็ก P/O เหล็กคาร์บอนต่ำ และเหล็กแผ่นรีดเย็น ซึ่งในปัจจุบันไทยต้องนำเข้าเหล็กต้นน้ำคุณภาพดีเพื่อรองรับการผลิตในอุตสาหกรรมยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ และเครื่องใช้ไฟฟ้า นอกจากนี้ การลดภาษีศุลกากรของไทยให้กับสินค้าส่งออกจากญี่ปุ่น เช่น รองเท้าและเครื่องหนังซึ่งเป็นสินค้าที่ใช้แรงงานมาก จะส่งเสริมให้ญี่ปุ่นย้ายฐานการผลิต OEM มาไทยซึ่งมีต้นทุนการผลิตและค่าแรงงานต่ำกว่าญี่ปุ่นด้วย
บทสรุป
ปัจจัยลบหลายประการที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยในปัจจุบัน ได้แก่
1. ราคาน้ำมันในตลาดโลกที่อยู่ในระดับสูง ส่งผลต่อภาวะเงินเฟ้อภายในประเทศ ทำให้ต้นทุนการผลิตสินค้าและบริการปรับตัวสูงขึ้น และภาคการบริโภคภายในประเทศชะลอตัวลง
2. การแก้ไขกฎหมายด้านเศรษฐกิจที่สำคัญของไทย ได้แก่ พระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจคนต่างด้าว และพระราชบัญญัติค้าปลีก ที่กระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุน
3. สถานการณ์ความไม่มั่นใจต่อเสถียรภาพทางการเมือง หลังการเลือกตั้งในเดือนธันวาคม 2550
4. การแข็งค่าของเงินบาทอย่างต่อเนื่อง ส่งผลกระทบต่อขีดความสามารถทางการแข่งขันด้านราคาของสินค้าส่งออกของไทยในตลาดโลก โดยเฉพาะสินค้าที่ใช้วัตถุดิบในประเทศในสัดส่วนที่สูง ได้แก่ สินค้าเกษตร/อาหารแปรรูป สิ่งทอ/เครื่องนุ่งห่ม รองเท้า
5. การชะลอตัวของเศรษฐกิจของประเทศสหรัฐฯ ซึ่งเป็นประเทศที่ไทยส่งออกไปมากที่สุด
6.การตัดสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (GSP) ของสหรัฐฯ กับสินค้าส่งออก 3 รายการของไทย ได้แก่ เครื่องประดับทำด้วยทอง เครื่องรับโทรทัศน์สี และเม็ดพลาสติก ทำให้สินค้าส่งออกเหล่านี้สูญเสียขีดความสามารถทางการแข่งขันในตลาดสหรัฐฯ
จากสถานการณ์การชะลอตัวของการบริโภคและการลงทุนภายในประเทศจากปัจจัยทั้งหลายข้างต้นในปัจจุบัน ภาคการส่งออก ถือเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยที่สำคัญในปัจจุบัน โดยคิดเป็นสัดส่วนราว 65% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) แม้ว่าการส่งออกไทยในช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้จะขยายตัวได้ 16% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2549 ใกล้เคียงกับทั้งปี 2549 ที่การส่งออกของไทยขยายตัวเกือบ 17% แต่ปัญหาแข็งค่าของเงินบาท การชะลอตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ และคู่ค้าสำคัญอื่นๆ ของไทย รวมถึงปัญหาจากมาตรการทางการค้าต่างๆ จากประเทศคู่ค้าของไทย คาดว่าส่งผลกระทบต่อเนื่องต่อการส่งออกของไทยในปี 2551 ความ ตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น (Japan-Thailand Economic Partnership Agreement : JTEPA) ที่เริ่มมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 พฤศจิกายน 2550 ถือว่าเป็นปัจจัยสำคัญที่จะสนับสนุนการส่งออกของไทยให้ขยายตัวดีขึ้นในตลาดญี่ปุ่น และดึงดูดเงินลงทุนจากญี่ปุ่นให้เข้ามาลงทุนในไทยมากขึ้น จากการลดอุปสรรคด้านการค้าและการลงทุนระหว่างไทยและญี่ปุ่น ดังนี้
กระตุ้นการส่งออกของไทยไปญี่ปุ่นให้ขยายตัวมากขึ้น – ญี่ปุ่นลด/ยกเลิกภาษีศุลกากรให้กับสินค้าส่งออกของไทย ส่งผลดีต่อสินค้าส่งออกของไทยไปญี่ปุ่น ได้แก่ อาหารสด/แปรรูป เช่น ผัก/ผลไม้สดและแปรรูป ไก่สดและแปรรูป และสินค้าประมง เช่น กุ้งแช่เย็น/แช่แข็ง และอาหารทะเลสำเร็จรูป รวมทั้งสินค้าอุตสาหกรรม ได้แก่ สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม อัญมณีและเครื่องประดับ รองเท้าและเครื่องหนัง สารเคมีและเคมีภัณฑ์ และปิโตรเลียมและผลิตภัณฑ์พลาสติก นอกจากนี้ ญี่ปุ่นให้โควตากับสินค้าส่งออกของไทย ได้แก่ กล้วย สัปปะรดสด เนื้อหมูแปรรูป กากน้ำตาล และเด็กซ์ตินและแป้งมันสำปะหลังรวมทั้งยกเลิกโควตาสำหรับรองเท้า
การเปิดตลาดของญี่ปุ่นภายใต้ JTEPA คาดว่า จะช่วยเพิ่มมูลค่าส่งออกของไทยในญี่ปุ่น จากปัจจุบันที่ไทยส่งออกไปญี่ปุ่นเฉลี่ยปีละราว 15,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา (2547-2549) รวมทั้งช่วยบรรเทาผลกระทบจากปัญหาการแข็งค่าของเงินบาทที่ส่งผลให้สินค้าส่งออกของไทยมีขีดความสามารถทางการแข่งขันในตลาดญี่ปุ่นลดลง โดยเฉพาะการแข่งขันกับสินค้าราคาถูกจากจีน และเวียดนามที่มีต้นทุนต่ำกว่า การขยายตัวของการส่งออกของไทยในญี่ปุ่นจากผลดีของความตกลง JTEPA ยังจะช่วยสนับสนุนให้การส่งออกของไทยโดยรวมในปีนี้ และปี 2551 เติบโตได้ดีขึ้น ทดแทนการส่งออกของไทยไปตลาดหลักอย่างสหรัฐฯ ที่มีแนวโน้มหดตัวลง จากการชะลอตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ เนื่องจากปัญหาสินเชื่อคุณภาพต่ำ (Sub-prime Loan) ในภาคอสังหาริมทรัพย์ของสหรัฐฯ ที่ปรากฏผลชัดเจนขึ้น
ดึงดูดเงินลงทุนจากญี่ปุ่น – การเปิดตลาดสินค้าของไทยโดยการลด/ยกเลิกภาษีศุลกากรให้สินค้านำเข้าจากญี่ปุ่น ที่สำคัญ เช่น เหล็กรีดร้อนที่ไม่มีการผลิตในไทย สินค้ากลุ่มอาหาร อัญมณีและเครื่องประดับ และสิ่งทอ/เครื่องนุ่งห่ม รวมถึงการผ่อนปรนกฎระเบียบภาคบริการและการลงทุนของไทยภายใต้ JTEPA จะช่วยสร้างบรรยากาศด้านการลงทุนในไทย และดึงดูดให้นักลงทุนญี่ปุ่นกลับเข้ามาลงทุนในไทยมากขึ้น ญี่ปุ่นมีบทบาทสำคัญด้านการลงทุนในไทย ถือเป็นประเทศที่เข้ามาลงทุนในไทยมีมูลค่าสูงสุด แต่สัดส่วนของมูลค่าโครงการลงทุนของญี่ปุ่นในไทยลดลงในปี 2549 เนื่องจากสถานการณ์ตั้งแต่ปี 2549 ที่มีปัจจัยลบหลายประการต่อบรรยากาศด้านการลงทุนของไทย ได้แก่ สถานการณ์เปลี่ยนแปลงทางการเมือง ปัญหาการก่อการร้ายทางภาคใต้ การแก้ไข พ.ร.บ ประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว และ พ.ร.บ ค้าปลีก มาตรการกันสำรอง 30% เพื่อควบคุมเงินทุนระยะสั้นของธนาคารแห่งประเทศไทย ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างชาติ รวมทั้งนักลงทุนญี่ปุ่น ส่งผลให้มูลค่าโครงการลงทุนของญี่ปุ่นที่ยื่นขออนุมัติส่งเสริมการลงทุนในไทยลดลง 37% ในปี 2549 สำหรับโครงการลงทุนของญี่ปุ่นที่ยื่นขออนุมัติส่งเสริมการลงทุนในไทยในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2550 เพิ่มขึ้น 14% จากช่วงเดียวกันของปี 2549 แต่สัดส่วนของมูลค่าโครงการลงทุนของญี่ปุ่นที่ยื่นขออนุมัติในไทยลดลงเหลือ 24.9% ของมูลค่าโครงการลงทุนของต่างชาติทั้งหมดที่ยื่นขออนุมัติส่งเสริมการลงทุนในไทยในช่วงเดียวกัน เมื่อเทียบกับปี 2546 ที่มูลค่าโครงการของญี่ปุ่นที่เข้ามายื่นขออนุมัติส่งเสริมการลงทุนในไทยมีสัดส่วนถึงกว่า 40% ของมูลค่าโครงการลงทุนของต่างชาติทั้งหมดที่ยื่นขออนุมัติส่งเสริมการลงทุนในไทย คาดว่าผลของการเปิดเสรีทางการค้าและการลงทุนของความตกลง JTEPA จะดึงดูดเงินลงทุนโดยตรงจากญี่ปุ่นมาไทยเพิ่มขึ้น
สินค้าส่งออกของไทยไปญี่ปุ่นที่คาดว่าจะขยายตัวได้ดีขึ้น และการลงทุนของญี่ปุ่นที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในไทย จากการขจัดอุปสรรคทางการค้าและการลงทุนระหว่างไทยกับญี่ปุ่นภายใต้ความตกลง JTEPA ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2550 ถือว่าเป็นปัจจัยบวกที่สำคัญในการช่วยกระตุ้นการส่งออกและการลงทุนของไทย ผลักดันให้เศรษฐกิจไทยขับเคลื่อนในช่วงที่เหลือของปีนี้และปี 2551 ท่ามกลางปัจจัยลบรอบด้านทั้งภายในและภายนอกประเทศที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยในปี 2550-2551