ดาวเรือง : รับอานิสงส์ช่วงหาเสียงเลือกตั้ง’50 …เม็ดเงินสะพัดเพิ่มขึ้นประมาณ 30 ล้านบาท

ฤดูกาลเลือกตั้งเวียนมาถึงทำให้เกิดอาชีพสร้างรายได้หลากหลาย และอาชีพหนึ่งที่ได้รับอานิสงส์ก่อให้เกิดรายได้จากการเลือกตั้ง คือ อาชีพร้อยพวงมาลัยดอกดาวเรือง ซึ่งเป็นไม้ตัดดอกเศรษฐกิจที่ประชาชนนิยมในช่วงเทศกาลสำคัญต่างๆ เนื่องจากในช่วงฤดูกาลหาเสียงเลือกตั้ง ดอกไม้ก็เป็นสิ่งสำคัญอีกเช่นกัน ซึ่งผู้สมัครรับเลือกตั้งก็มักจะได้รับดอกไม้จากชาวบ้านหรือหัวคะแนนของตนเพื่อเป็นกำลังใจ โดยดอกดาวเรืองเป็นดอกไม้ที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในช่วงการหาเสียงเลือกตั้ง ซึ่งจะเห็นดอกดาวเรืองที่ร้อยเป็นพวงมาลัยประดับอยู่บนคอผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งแทบจะทุกคน ในขณะที่ออกหาเสียงตามที่ต่างๆ สาเหตุที่ดอกดาวเรืองเป็นที่นิยมมากกว่าดอกไม้ชนิดอื่นนั้น สันนิษฐานกันว่าเนื่องมาจากสีสันที่สดใสของดอกดาวเรือง ไม่เหี่ยวเฉาง่าย อีกทั้งชื่อของดอกไม้ก็มีความหมายไปในทางที่ดี เมื่อคล้องคอแล้วก็จะได้เจริญรุ่งเรืองไปตามชื่อของดอกไม้ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด คาดการณ์ว่าในช่วงหาเสียงเลือกตั้งในช่วงปลายปี 2550 นี้จะเพิ่มเม็ดเงินสะพัดให้กับธุรกิจร้อยมาลัยดอกดาวเรืองประมาณ 30 ล้านบาท ดังนั้นเท่ากับว่าผู้ที่เกี่ยวข้องกับดอกดาวเรือง ทั้งเกษตรกรผู้ปลูกและร้านจำหน่ายมาลัยดอกไม้สดต่างได้รับอานิสงส์ในช่วงหาเสียงเลือกตั้ง เนื่องจากราคาดอกดาวเรืองปรับสูงขึ้น และความต้องการพวงมาลัยดอกดาวเรืองมีเพิ่มขึ้นด้วย จากเดิมความต้องการดอกดาวเรืองจะเพิ่มขึ้นเฉพาะในช่วงเทศกาลต่าง ๆ เช่น เข้าพรรษา ออกพรรษา ตรุษจีน เทศกาลไหว้บูชาเทพเจ้าของศาสนาฮินดู เป็นต้น

ดาวเรืองเป็นไม้ตัดดอกที่คนไทยรู้จักกันดีชนิดหนึ่ง เนื่องจากปลูกง่าย โตเร็ว คงทนต่อสภาพแวดล้อม มีสีสันสดใสสะดุดตา ดอกมีลักษณะกลมสวยงาม กลีบดอกจัดเรียงเป็นระเบียบ กลีบดอกยึดแน่นกับฐานดอก ไม่หลุดง่าย อายุการใช้งานนานประมาณ 7-10 วัน นอกจากนี้ดาวเรืองยังเป็นพืชที่มีอายุการเก็บเกี่ยวสั้นประมาณ 60-70 วัน ก็สามารถตัดจำหน่ายได้ รวมทั้งดาวเรืองยังเป็นพืชที่ขึ้นได้ดีทุกสภาพพื้นที่และทุกฤดูกาลของประเทศ และเป็นไม้ดอกสามารถทำรายได้ให้กับผู้ปลูกสูง ดังนั้นดาวเรืองจึงเป็นไม้ตัดดอกที่นิยมปลูกกันอย่างแพร่หลายในประเทศไทย

แหล่งปลูกดาวเรืองที่สำคัญของประเทศไทย ได้แก่ ปทุมธานี นนทบุรี กรุงเทพฯ ราชบุรี สุพรรณบุรี สมุทรสาคร อุดรธานี พะเยา ลำปาง และเชียงใหม่ ส่วนในจังหวัดอื่นๆก็มีการเพาะปลูกบ้างประปราย ปัจจุบันมีการขยายการปลูกดอกดาวเรืองกันมากขึ้นในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคใต้

ดาวเรืองเป็นไม้ตัดดอกที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจมากชนิดหนึ่ง การนำดาวเรืองไปใช้ประโยชน์สรุปได้ดังนี้

1.ปลูกเพื่อตัดดอกจำหน่าย ซึ่งก็มีการจำหน่ายในหลายลักษณะ ดังนี้

1.1ใช้ทำพวงมาลัย ปัจจุบันนิยมนำดอกดาวเรืองมาร้อยพวงมาลัยกันมาก ไม่ว่าจะเป็นพวงมาลัยไหว้พระ หรือพวงมาลัยสำหรับคล้องคอในงานพิธีต่างๆ การตัดดอกดาวเรืองสำหรับใช้ประโยชน์ในด้านนี้จะต้องให้มีก้านดอกสั้น ๆ หรือให้เหลือเฉพาะดอก

1.2ใช้ปักแจกัน เนื่องจากดาวเรืองเป็นไม้ดอกที่มีลักษณะกลมเรียงตัวกันแน่นเป็นระเบียบ และมีสีสันสวยงาม ทำให้ได้รับความนิยมนำมาปักแจกันมาก ไม่ว่าจะเป็นแจกันตั้งตามโต๊ะรับแขก ตามหิ้งพระ หรือแจกันประกอบโต๊ะหมู่บูชา

1.3การปลูกลงกระถางหรือถุงเพื่อประดับอาคารสถานที่ ปัจจุบันมีการนำกระถางหรือถุงดาวเรืองมาประดับอาคารสถานที่กันมากขึ้น เพราะสามารถใช้ประดับไว้เป็นเวลานาน ไม่ว่าจะเป็นงานพิธีต่างๆ เช่น งานนิทรรศการ งานพระราชทานปริญญาบัตร หรือแม้แต่งานพิธีตามอาคารบ้านเรือน เป็นต้น การปลูกดาวเรืองเพื่อใช้ประโยชน์ในด้านนี้ก็เหมือนกับการปลูกดาวเรืองโดยทั่วไป เพียงแต่เป็นการปลูกลงในกระถางหรือถุงแทนที่จะปลูกลงในแปลงพอดอกดาวเรืองเริ่มบาน ก็นำมาจำหน่ายได้ทันที

1.4จำหน่ายให้กับโรงงานผลิตอาหารสัตว์ และโรงงานอุตสาหกรรมอื่นๆ นอกจากจะใช้เป็นไม้ดอกไม้ประดับแล้ว ดาวเรืองยังสามารถนำมาใช้ประโยชน์ในเรื่องของการผลิตอาหารสัตว์ เครื่องสำอางและยาได้อีกด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาหารสัตว์ กลีบดอกดาวเรืองจะมีเม็ดสีที่เรียกกันทั่วไปว่าสารแซนโทฟิลล์(Xanthophyll) ซึ่งเมื่อนำสารดังกล่าวมาผสมในอาหารสัตว์จะทำให้ไข่แดงของเป็ดและไก่มีสีเหลืองเข้มสวยงาม และเป็นที่ต้องการของตลาด ทั้งนี้เนื่องจากกระแสอาหารสุขภาพที่มาแรงผู้ประกอบธุรกิจปศุสัตว์ทั้งในและต่างประเทศที่เริ่มมองหาอาหารและผลิตภัณฑ์ปลอดสารพิษมากขึ้น ซึ่งในส่วนของทั้งไข่เป็ดและไข่ไก่ในปัจจุบันส่วนใหญ่จะใช้สารสีสังเคราะห์ ซึ่งเป็นสารที่ผสมขึ้นโดยมีโครงสร้างเลียนแบบธรรมชาตินำมาผสมกับอาหารสัตว์ให้เป็ดและไก่กินเพื่อทำให้ไข่มีสีแดงน่ารับประทาน แต่ถ้าใช้สารแซนโทฟิลล์ที่ได้จากดอกดาวเรืองซึ่งเป็นสารจากธรรมชาติจริงๆมาทำเป็นอาหารสัตว์แล้วก็ได้ไข่ที่มีสีแดงเช่นกัน นอกจากธุรกิจผลิตอาหารสัตว์แล้ว สารแซนโทฟิลล์ก็ยังเป็นที่ต้องการของอุตสาหกรรมยาและเครื่องสำอาง รวมทั้งอุตสาหกรรมอาหารเสริมสุขภาพ เนื่องจากกลีบของดอกดาวเรืองเป็นแหล่งวิตามินเอจากธรรมชาติ ทำให้ความต้องการสารแซนโทฟิลล์มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ปัจจุบันประเทศที่เป็นแหล่งผลิตดาวเรืองที่สำคัญของโลกคือ เม็กซิโก และเปรู อย่างไรก็ตามพื้นที่ปลูกดาวเรืองของทั้งสองประเทศนี้มักประสบปัญหาความแห้งแล้ง ประกอบกับค่าแรงงานที่อยู่ในเกณฑ์สูงทำให้ผลผลิตดาวเรืองไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาดโลก โดยเฉพาะสหรัฐฯมีความต้องการกลีบดอกดาวเรืองแห้งสูงถึงปีละ 30,000-50,000 ตันต่อปี ราคาจำหน่ายดอกดาวเรืองแห้งในสหรัฐฯอยู่ที่กิโลกรัมละ 8,000 บาท นอกจากสหรัฐฯแล้วกลุ่มประเทศในยุโรปก็มีความต้องการดอกดาวเรืองมาก ซึ่งในตลาดโลกต้องการเพื่อนำไปเป็นส่วนประกอบในการผลิตอาหารสัตว์ ยา และเครื่องสำอาง

ส่วนในไทยนอกจากการปลูกดาวเรืองเพื่อเป็นไม้ตัดดอกแล้วก็มีการปลูกดาวเรืองเชิงพาณิชย์อยู่หลายราย ถ้าเกษตรกรผู้ปลูกส่งดอกดาวเรืองสดๆให้กับโรงงานจะได้ราคากิโลกรัมละ 3 บาท แต่ถ้ามีการแปรรูปให้แห้งแล้วราคาจะเพิ่มขึ้นเป็นกิโลกรัมละ 50 บาท ซึ่งการแปรรูปต้องแยกส่วนดอกดาวเรืองกับส่วนฐานดอกออกจากกัน และนำกลีบดอกดาวเรืองไปตากแห้งก่อนส่งเข้าโรงงาน ปัจจุบันโรงงานที่รับซื้อดอกดาวเรืองคือ โรงงานอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ โดยมีความต้องการสูงกว่าเดือนละ 2,000 ตัน นอกจากนี้เกษตรกรบางรายก็รวมกลุ่มกันเพื่อส่งดาวเรืองแห้งออกไปจำหน่ายต่างประเทศด้วย

2.ปลูกเพื่อใช้ประโยชน์ในการป้องกันแมลง เนื่องจากทั้งดอกและต้นของดาวเรืองมีสารที่มีกลิ่นเหม็น(ฉุน)แมลงไม่ชอบ จึงสามารถใช้เป็นเกราะป้องกันแมลงให้แก่พืชอื่นๆ ด้วย นอกจากนี้รากของดาวเรืองยังมีสารชนิดหนึ่งที่ช่วยลดปริมาณไส้เดือนฝอยในดินได้ด้วย

ต้นทุนการผลิต การปลูกดาวเรืองในแปลงปลูกโดยทั่วไปต้นทุนการผลิตส่วนใหญ่ประกอบด้วยค่าเมล็ดพันธุ์(เมล็ดละประมาณ 0.60 -1.00 บาท ) ปุ๋ย สารเคมี และแรงงาน โดยเฉลี่ยต้นทุนในการผลิตดาวเรืองประมาณไร่ละ 19,120 บาท แต่ถ้าเป็นการปลูกดาวเรืองในถุงพลาสติกหรือปลูกในกระถาง ต้นทุนจะแตกต่างกันไปตามวัสดุที่ใช้ปลูก โดยเฉลี่ยแล้วต้นทุนการผลิตประมาณกระถางละ 5-8 บาท การปลูกดาวเรืองในแปลงพื้นที่ 1 ไร่ จะเก็บผลผลิตได้ประมาณ 37,258 ดอก ผลตอบแทนในการปลูกดาวเรืองประมาณไร่ละ 37,258 บาท โดยคิดราคาจำหน่ายเฉลี่ยดอกละ 1 บาท
แหล่งรับซื้อดาวเรืองตัดดอกที่ใหญ่ที่สุดในกรุงเทพ ฯ คือ ตลาดปากคลองตลาด โดยทั่วไปจะเป็นการขายส่งให้ร้านจัดดอกไม้หรือแม่ค้ามาลัยซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นขาประจำนำไปร้อยมาลัยอีกต่อหนึ่ง ส่วนตลาดอื่นๆ เช่น สวนจตุจักร นิยมรับซื้อดาวเรืองที่ปลูกในกระถางหรือถุงพลาสติก นอกจากนี้ยังมีตลาดอื่นๆ อีก เช่น ตลาดเทเวศร์ ลาดพร้าว สะพานควาย บางเขน และตามศูนย์การค้าหรือซุปเปอร์มาร์เก็ต ส่วนในต่างจังหวัดนั้นสามารถนำดาวเรืองไปจำหน่ายได้ตามตลาดสดทั่วไป และจะมีพ่อค้าไปรับซื้อในท้องที่ที่ปลูกดาวเรือง หลังจากนั้นพ่อค้าก็จะกระจายนำไปจำหน่ายต่อที่ตลาดกรุงเทพฯ

การจำหน่ายดอกดาวเรืองแบ่งเป็น 2 ลักษณะคือ ดาวเรืองดอกใหญ่ที่มักจะนำไปจัดแจกันหรือทำพวงหรีดจะจำหน่ายเป็นกำๆละ 10 ดอกราคาประมาณ 20 – 30 บาท ส่วนอีกประเภทหนึ่งคือ ดาวเรืองดอกเล็กสำหรับร้อยมาลัยจะจำหน่ายเป็นจำนวนร้อยดอกขึ้นไป โดยราคาจะแตกต่างกันไปตามขนาดและความสมบูรณ์ของดอก โดยระดับราคาในช่วงปกติตั้งแต่ขนาดเล็กประมาณ 15 สตางค์ต่อดอก ขนาดกลางดอกละ 30 สตางค์ และขนาดใหญ่ราคาดอกละ 60-70 สตางค์ แต่ถ้าเป็นในช่วงเทศกาล ซึ่งความต้องการดอกดาวเรืองเพิ่มขึ้นและยังขึ้นอยู่กับปริมาณดอกดาวเรืองในแต่ละช่วง โดยถ้าเป็นช่วงที่ไม่ค่อยมีดอกดาวเรือง ราคาจำหน่ายจะขยับสูงขึ้นด้วย

ในระยะช่วงหาเสียงเลือกตั้งนี้ดอกดาวเรืองจะขายดีขึ้น เนื่องจากนิยมนำมาร้อยเป็นพวงมาลัย ราคาจำหน่ายพวงมาลัยดอกดาวเรืองสำหรับคล้องคอในช่วงหาเสียงราคาประมาณพวงละ 100-200 บาท ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับขนาดความยาวและจำนวนดอกดาวเรืองที่ใช้ ซึ่งทำให้ราคาดอกดาวเรืองในช่วงนี้มีราคาเพิ่มสูงขึ้นไปเป็น 40-70 บาทต่อ 100 ดอก นับว่าผู้ปลูกดอกดาวเรืองและร้านจำหน่ายมาลัยดอกดาวเรืองได้รับอานิสงส์ในช่วงของการหาเสียงเลือกตั้งไม่น้อย บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด คาดว่าในช่วงของการหาเสียงเลือกตั้งในปี 2550 จะเพิ่มเม็ดเงินสะพัดประมาณ 30 ล้านบาท ทั้งนี้คำนวณจากจำนวนผู้ลงสมัครรับเลือกตั้ง ระยะเวลาในการหาเสียงเลือกตั้ง ซึ่งจะเป็นตัวกำหนดความต้องการพวงมาลัยดอกดาวเรือง

ธุรกิจการปลูกดอกดาวเรือง ซึ่งปัจจุบันนอกจากจะจัดเป็นไม้ตัดดอกเศรษฐกิจแล้วยังใช้เป็นวัตถุดิบป้อนอุตสาหกรรมหลายประเภท ดังนั้น ดาวเรืองจึงเป็นพืชเศรษฐกิจชนิดใหม่ที่น่าสนใจสำหรับเกษตรกร เนื่องจากเป็นพืชที่ลงทุนต่ำให้ผลตอบแทนที่คุ้มค่า และมีตลาดรองรับที่แน่นอน รวมทั้งการเก็บผลผลิตไม่ต้องพิถีพิถันไม่ให้ดอกช้ำเหมือนกับการเก็บเพื่อป้อนตลาดไม้ตัดดอก ปัจจุบันมีการส่งเสริมให้เกษตรกรหันมาปลูกดอกดาวเรืองทดแทนการปลูกยาสูบโดยมีพื้นที่เป้าหมาย 5 จังหวัดคือ มหาสารคาม ร้อยเอ็ด มุกดาหาร กาฬสินธุ์ และยโสธร ซึ่งมีการตั้งเป้าหมายพื้นที่ปลูกเบื้องต้นไว้ประมาณ 500 ไร่ นอกจากนี้ยังมีลู่ทางในการลงทุนเปิดโรงงานสกัดสารแซนโทฟิลล์จากดาวเรืองในประเทศไทยในอนาคตเพื่อที่จะได้ไม่ต้องส่งออกดอกแห้งไปยังต่างประเทศ และนำเข้าสารเคมีที่สกัดได้มาใช้ในอุตสาหกรรมต่างๆ อีกต่อหนึ่ง ดังนั้นดาวเรืองจึงเป็นทั้งไม้ตัดดอกเศรษฐกิจ และยังจะเป็นไม้ตัดดอกที่ปลูกเพื่อป้อนโรงงานอุตสาหกรรมที่น่าสนใจในอนาคตอีกด้วย เช่น อุตสาหกรรมอาหารสัตว์ อุตสาหกรรมยา อุตสาหกรรมเครื่องสำอาง อุตสาหกรรมอาหารเสริมสุขภาพ เป็นต้น