โครงการสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมไทย (ITAP) ภายใต้ศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี (TMC) ร่วมมือกับ สำนักงานความร่วมมือทางวิชาการของเยอรมัน ประจำประเทศไทย (Garman Technical Cooperation: GTZ) ดำเนินโครงการ “Mapping และ Matching จับคู่นวัตกรรมในสาขาย่อยของอุตสาหกรรมเกษตรเป้าหมาย” (Mapping and Matching Innovation in Selected Agro Sub Sectors) เพื่อสนับสนุนให้เกิดกระบวนการสร้างนวัตกรรมอย่างยั่งยืน ผ่านกระบวนการรวมศูนย์ผู้เชี่ยวชาญผู้ที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน เพื่อพัฒนากระบวนการต่างๆ ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด โดยตั้งเป้าหมายต่อการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมเกษตรของประเทศไทย
ศ.ดร.ชัชนาถ เทพธรานนท์ ผู้อำนวยการศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี (TMC) เปิดเผยว่า ความร่วมมือในการดำเนินโครงการ “Mapping และ Matching จับคู่นวัตกรรมในสาขาย่อยของอุตสาหกรรมเกษตรเป้าหมาย” นี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการความร่วมมือทางวิชาการระหว่างรัฐบาลไทยและรัฐบาลเยอรมัน ภายใต้โครงการไทย-เยอรมัน โดยมุ่งหวังให้เกิดการเสริมสร้างการพัฒนาศักยภาพ รวมทั้งเกิดการเชื่อมโยงระหว่างผู้ที่เกี่ยวข้องกับการวิจัย การพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมในแต่ละภูมิภาคของไทยให้ยั่งยืน เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมเกษตรของประเทศ
“หน้าที่ของไอแท็บในโครงการนี้ คือการเชื่อมโยง ระหว่างนักวิจัย ผลงานพัฒนาเทคโนโลยี กับผู้ประกอบการให้ทำงานร่วมกัน เพื่อมุ่งหากระบวนการทำงาน และหน่วยงานที่เหมาะสมให้ได้ประสิทธิผลสูงสุด ซึ่งสอดคล้องกับกลยุทธ์หลักของไอแท็บใน การเสาะหาและทำงานร่วมกับพันธมิตรทั้งภาครัฐและภาคเอกชน เครือข่ายพันธมิตรที่ดีเหล่านี้จะช่วยผลักดัน ส่งต่อความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจากต้นน้ำ ถ่ายทอดไปยังปลายน้ำให้กับธุรกิจไทย ซึ่งก่อนหน้านี้เรามีการทำงานร่วมกับพันธมิตรหลายราย เช่น สำนักงานส่งเสริมรัฐวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการด้าน SMEs สถาบันวิจัยและพัฒนาเพื่ออุตสาหกรรม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เพื่อสนับสนุนให้สมาชิกของสภาอุตฯ เพิ่มขีดควาสามารถด้านการพัฒนาเทคโนโลยี และความร่วมมือกับ GTZ เพื่อสร้างนวัตกรรมอย่างยั่งยืนในอุตสาหกรรมเกษตร ในขณะเดียวกันไอแท็บก็มีเครือข่ายพันธมิตรกับสถาบันการศึกษา มหาวิทยาลัยต่างๆ เพื่อเฟ้นหาผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านด้วย” ศ.ดร.ชัชนาถ กล่าว
มร. เยือร์เกน คอคห์ ผู้อำนวยการ สำนักงานความร่วมมือทางวิชาการของเยอรมัน ประจำประเทศไทย (GTZ ) กล่าวว่า “การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันอย่างยั่งยืนนั้น ไม่ได้ต้องพึ่งพาเพียงแค่การเข้าถึงทรัพยากรธรรมชาติ การมีตลาดขนาดใหญ่ หรือการมีแรงงานที่มีฝีมือและราคาถูกเพียงเท่านั้น แต่นวัตกรรมเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะการพัฒนากระบวนการใหม่ๆ สามารถสร้างตลาดขนาดใหญ่สำหรับผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่ช่วยให้ผู้บริโภคเข้าถึงผลิตภัณฑ์ได้ง่ายขึ้น อีกทั้งผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ยังช่วยยกระดับมาตรฐานคุณภาพชีวิตของประชาชนให้ดียิ่งขึ้น ซึ่งความสำเร็จในการเติบโตทางเศรษฐกิจและสวัสดิการสังคมล้วนต้องเกี่ยวข้องกับนวัตกรรมทั้งสิ้น”
“ภายใต้โครงการไทย-เยอรมัน เพื่อส่งเสริมขีดความสามารถในการแข่งขันของวิสาหกิจ GTZ จึงมีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้ร่วมมือกับศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี สวทช ในโครงการ “Mapping และ Matching จับคู่นวัตกรรมในสาขาย่อยของอุตสาหกรรมเกษตรเป้าหมาย” เพื่อกระชับความสัมพันธ์ระหว่างผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหมดของระบบนวัตกรรมผ่านทางเครือข่ายโครงการสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมไทย (ITAP) โดยมุ่งหวังให้เกิดการพัฒนาศักยภาพ ทั้งการเชื่อมโยงระหว่างผู้ที่เกี่ยวข้องกับการวิจัย และพัฒนาเทคโนโลยีในภูมิภาค รวมไปถึงการเสริมสร้างระบบนวัตกรรมให้ยั่งยืนและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมในสาขาย่อยของอุตสาหกรรมเกษตร” มร. คอคห์ กล่าวเสริม