แนวโน้มการลงทุนไต้หวันปี’51: ชะลอตัว…ภายใต้ปัจจัยเสี่ยงรอบด้าน

การลงทุนจากต่างประเทศเป็นส่วนสำคัญในการกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศ อีกทั้งยังเป็นการก่อให้เกิดการจ้างงานภายในประเทศ ทั้งนี้สถิติของคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) เปิดเผยว่า ในเดือน มค.-พย. ปี 2550 โครงการลงทุนจากไต้หวันในไทยที่ยื่นของส่งเสริมมีจำนวนทั้งสิ้น 40 โครงการ ลดลงร้อยละ 35.48 จากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ซึ่งมีจำนวนโครงการลงทุนทั้งหมดสูงถึง 62 โครงการ ขณะที่มูลค่าเงินลงทุนจากไต้หวันในไทยของปี 2550 (มค.-พย.) มีมูลค่าทั้งสิ้น 5,266 ล้านบาท ลดลงอย่างน่าวิตกกว่าร้อยละ 52 เทียบกับในช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ซึ่งมีมูลค่าการลงทุนในไทยสูงถึง 11,167 ล้านบาท ทั้งนี้เป็นที่น่าสังเกตว่า ในทางกลับกันการลงทุนจากไต้หวันในไทยมีทิศทางสวนทางกับการลงทุนโดยรวมจากต่างชาติในไทย ซึ่งมีจำนวนทั้งหมด 770 โครงการ เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมาร้อยละ 0.8 คิดเป็นเงินลงทุนทั้งหมด 473,698.4 ล้านบาท เติบโตเพิ่มสูงขึ้นร้อยละ 69 โดยสถิติของคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) พบว่า ในปี 2550 (มค.-พย.) นักลงทุนจากญี่ปุ่นมีจำนวนการยื่นขอส่งเสริมการลงทุนและมีปริมาณเงินลงทุนในไทยมากที่สุด

ประเด็นที่น่าสังเกตคือ จำนวนโครงการลงทุนและเงินลงทุนจากไต้หวันในไทยลดลงอย่างเห็นได้ชัด ส่งผลให้ความสำคัญของจำนวนการลงทุนจากไต้หวันที่ยื่นขอส่งเสริมการลงทุนในไทยในปี 2550 (มค.-พย.) เลื่อนอันดับลดลงมาอยู่ที่อันดับ 4 รองจากสิงคโปร์และเกาหลี เทียบกับจำนวนการลงทุนในช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมาซึ่งอยู่ในอันดับ 3 ส่วนอันดับเงินลงทุนจากไต้หวันในไทย หล่นอันดับรั้งท้ายมาอยู่ที่อันดับ 11 รองจาก ฮ่องกง และ อังกฤษ เทียบกับในปี 2549 (มค.-พย.) ซึ่งติดอันดับ 1 ใน 5 ของระดับเงินลงทุนจากต่างชาติในไทย โดยครองอันดับอยู่ที่อันดับ 5

จากภาวะการชะลอตัวลงอย่างน่าวิตกของการลงทุนจากไต้หวันในไทยในช่วงที่ผ่านมานี้ สามารถวิเคราะห์ได้ว่า เป็นผลมาจากปัจจัยลบต่าง ๆ ที่สำคัญรอบด้านดังนี้คือ

ปัญหาความไม่สงบทางชายแดนสามจังหวัดภาคใต้ของไทยที่ยืดเยื้อ จนถึงปัจจุบัน กอปรกับบรรยากาศทางการเมืองที่ไม่แน่นอนและด้านเสถียรภาพของรัฐบาลไทยในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงในสายตาของนักการลงทุนต่างชาติโดยเฉพาะนักลงทุนไต้หวัน

ปัญหาค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นผลกระทบต่อขีดความสามารถทางการแข่งขันของสินค้าส่งออกของไทย ทั้งนี้จากการวิเคราะห์การลงทุนจากไต้หวันในไทยพบว่า สัดส่วนการลงทุนจากไต้หวันกว่าร้อยละ 80 เป็นการลงทุนในไทยเพื่อใช้เป็นฐานการผลิตเพื่อการส่งออก

ปัญหาด้านค่าครองชีพที่ถีบตัวสูงขึ้น ซึ่งได้รับผลกระทบมาจากการปรับตัวสูงขึ้นของค่าน้ำมันในประเทศที่ถีบตัวสูงขึ้นตามระดับราคาน้ำมันดิบในต่างประเทศ เนื่องจากความต้องน้ำมันในตลาดโลกมีปริมาณเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะตลาดในประเทศที่กำลังพัฒนาที่มีการขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างก้าวกระโดดอาทิ จีน อินเดียและเวียดนาม เป็นต้น ขณะที่ปริมาณการผลิตน้ำมันไม่เพียงพอต่อความต้องการที่เพิ่มขึ้นในตลาด ทั้งนี้การเพิ่มสูงขึ้นของราคาน้ำมันส่งผลให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้นจากเดิม

ปัจจัยการแข่งขันด้านการลงทุนจากประเทศในแถบภูมิภาคเอเชียอย่างจีนและเวียดนาม ทั้งนี้จีนมีข้อได้เปรียบด้านต้นทุนการผลิตที่ต่ำกว่าไทยและมีนโยบายส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้จีนยังมีนโยบายสนับสนุนด้านการพัฒนาและส่งเสริมทรัพยากรบุคคล ทรัพยากรธรรมชาติ นวัตกรรม องค์ความรู้และโครงการเชื่อมโยงด้านสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานอย่างยั่งยืนในประเทศ ขณะที่เวียดนามก็มีข้อได้เปรียบด้านต้นทุนการผลิตที่ต่ำกว่าไทยเช่นกัน รวมถึงนโยบายที่เอื้อประโยชน์ด้านการลงทุนแก่ต่างชาติไม่ว่าจะเป็นระบบภาษีและข้อจำกัดทางการค้า นอกจากนี้เวียดนามยังมีเสถียรภาพทางการเมืองที่เป็นปัจจัยสนับสนุนการลงทุนแก่นักลงทุนต่างชาติ

การลงทุนในต่างประเทศของไต้หวัน………จีนครองอันดับหนึ่ง
ในช่วงที่ผ่านมารัฐบาลไต้หวันได้สนับสนุนการลงทุนในต่างชาติโดยมีโครงการลงทุนในต่างประเทศที่ได้รับการอนุมัติเพิ่มสูงขึ้นจากมูลค่า 8.5 พันล้านดอลลาห์สหรัฐ ในปี 2548 เป็นมูลค่า 11.9 พันล้านดอลลห์สหรัฐในปี 2549 ซึ่งเป็นที่น่าสังเกตว่า ประเทศที่ได้รับการลงทุนจากไต้หวันมากที่สุดคือจีน ในสัดส่วนร้อยละ 63.9 รองลงมาคือ สหรัฐอเมริกา กลุ่มประเทศในแถบภูมิภาคเอเชียไม่นับรวมจีน กลุ่มประเทศอาเซียนและยุโรป ซึ่งแบ่งเป็นสัดส่วนดังนี้คือ 19.1, 11.6, 8.9 และ 3.9 ตามลำดับ

แนวโน้มการลงทุนจากไต้หวันในไทย
ทั้งนี้แนวโน้มการลงทุนจากไต้หวันในไทยของช่วงที่ผ่านมาในปี2550 มีการชะลอตัวลดลงอย่าง น่าวิตกซึ่ง บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด มีความเห็นว่า แม้ว่าในช่วงที่ผ่านมาเศรษฐกิจไต้หวันมีการเติบโตที่อยู่ในเกณฑ์ดี โดยมีอัตราการขยายตัวอย่างต่อเนื่องจากไตรมาสที่ 1 ของปี 2550 ในอัตราร้อยละ 4.2 ไตรมาสที่ 2 ของปี 2550 เติบโตในอัตราร้อยละ 5.2 และขยายตัวเพิ่มสูงขึ้นเป็นร้อยละ 6.9 ในไตรมาสที่ 3 ของปี 2550 ซึ่งส่งผลให้อุปสงค์ในประเทศ รวมถึงการส่งออกที่มีทิศทางการขยายตัวเพิ่มมากขึ้นโดยเฉพาะสินค้าอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ อย่างไรก็ตามเศรษฐกิจไต้หวันและไทย กอปรกับภาวะเศรษฐกิจโลกที่มีความผันผวนอยู่ในขณะนี้อาจส่งผลกระทบต่อแนวโน้มเศรษฐกิจไต้หวันและการลงทุนจากไต้หวันในไทยในปี 2551 ดังนั้น บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด คาดว่า ทิศทางการลงทุนจากไต้หวันในไทยในปีหน้าอาจจะมีการชะลอตัวเพิ่มสูงขึ้นกว่าเดิม โดยได้รับปัจจัยเสี่ยงจากเศรษฐกิจโลกโดยรวม เศรษฐกิจไต้หวันและไทยดังนี้คือ :-

แนวโน้มเศรษฐกิจโลกโดยรวม

ในปี 2551 คาดว่า เศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มการขยายตัวเพียงร้อยละ 4.5 โดยได้รับผลกระทบจากปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ ที่สำคัญอาทิ ปัญหาเงินเฟ้อจากการผันผวนของค่าน้ำมันในตลาดโลกและอาจมีแนวโน้มที่จะปรับตัวสูงขึ้นในปีหน้า ปัจจัยสำคัญอีกประการหนึ่งคือปัญหาหนี้ด้อยคุณภาพในภาคอสังหาริมทรัพย์ในสหรัฐ (Sub-prime) ซึ่งมีทีท่าว่าจะส่งผลกระทบต่อเนื่องไปจนถึงปี 2551 จากปัญหาดังกล่าวนี้ อาจก่อให้เกิดปัจจัยลบตามมาคือ ปริมาณความต้องการของสินค้าที่ลดลงในตลาดสหรัฐ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและการค้ากับประเทศคู่ค้าของสหรัฐ

แนวโน้มเศรษฐกิจไต้หวัน

ด้านแนวโน้มเศรษฐกิจไต้หวันนั้น คาดว่าในปี 2551 อาจจะอยู่ในภาวะชะลอตัว เนื่องจากปัจจัยเสี่ยงของสถานการณ์ความไม่แน่นอนทางการเมืองและประเด็นด้านเสถียรภาพของรัฐบาลไต้หวัน นอกจากนี้ยังมีปัญหาด้านความสัมพันธ์ระหว่างไต้หวันและจีนที่มีแนวโน้มว่าอาจจะทวีความตึงเครียดเพิ่มมากขึ้นในอนาคต โดยผู้นำไต้หวันมีแผนการสำรวจประชามติเพื่อเข้าร่วมเป็นสมาชิกขององค์การสหประชาชาติ (UN) ขึ้นในปีหน้า ทั้งนี้ไต้หวันได้กำหนดการเลือกตั้งสภานิติบัญญัติซึ่งจะมีขึ้นในวันที่ 12 มกราคม 2551 และจะมีการเลือกตั้งประธาณาธิบดีไต้หวันในวันที่ 22 มีนาคม 2551 โดยการเลือกตั้งที่จะมีขึ้นในอนาคตนี้เปรียบเสมือนทิศทางนโยบายการบริหารประเทศของไต้หวันในอนาคต สิ่งที่น่าจับตามองคือ ภาวะความไม่แน่นอนทางการเมืองดังกล่าวของไต้หวันอาจจะส่งผลกระทบต่อแนวโน้มเศรษฐกิจไต้หวันในปีหน้า โดยอาจส่งผลให้เศรษฐกิจโดยรวมของประเทศชะลอตัวลง รวมถึงการลงทุนจากไต้หวันในต่างประเทศ โดยเฉพาะการลงทุนไทย ทั้งนี้คาดว่า การขยายตัวทางเศรษฐกิจของไต้หวันในปี 2551 จะเติบโตลดลงเหลือเพียงร้อยละ 4.80 จากเดิมในปี 2550 ที่คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจทั้งปีจะเติบโตร้อยละ 5.46

แนวโน้มเศรษฐกิจไทย

สำหรับแนวโน้มเศรษฐกิจไทยในปี 2551 คาดว่า ทิศทางเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มที่ไม่แน่นอน เนื่องจากปัจจัยเสี่ยงสำคัญดังนี้คือ ปัจจัยจากราคาสินค้าที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ก่อให้เกิดปัญหาค่าครองชีพและภาวะเงินเฟ้อที่คาดว่าจะปรับตัวสูงขึ้นในปีหน้า เนื่องจากราคาน้ำมันที่ผันผวนและมีแนวโน้มว่าราคาน้ำมันจะปรับระดับสูงขึ้นตามราคาในตลาดโลก อีกทั้งการแข็งค่าของเงินบาทที่มีแนวโน้มว่าอาจจะแข็งค่าขึ้นไปจนถึงปีหน้า เนื่องจากการแกว่งตัวของค่าเงินสกุลดอลลาห์ที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาหนี้ด้อยคุณภาพของสหรัฐ ทั้งนี้ปัจจัยดังกล่าวส่งผลด้านลบต่อศักยภาพทางการแข่งขันของภาคการส่งออกของไทย นอกจากนี้ปัจจัยสำคัญที่จะกำหนดทิศทางเศรษฐกิจไทยอีกประการหนึ่งคือสถานการณ์การเมืองภายในประเทศที่ยังไม่มั่นคง เนื่องจากความไม่แน่ชัดของรัฐบาลชุดใหม่ที่จะเข้ามาบริหารประเทศในปีหน้า ดังนั้นจากปัญหาต่าง ๆ ที่กล่าวมาข้างต้น ทำให้แนวโน้มความเชื่อมั่นในการลงทุนในไทยลดลง

กล่าวโดยสรุปคือ แนวโน้มการลงทุนจากไต้หวันในไทยปี 51 ต้องเผชิญกับปัจจัยเสี่ยงรอบด้านซึ่งทำให้ทิศทางการลงทุนในไทยชะลอตัวลงอย่างน่าวิตก ซึ่งจากภาวะถดถอยด้านการลงทุนจากไต้หวันในไทยที่ผ่านมา สะท้อนถึงความท้าทายที่คณะรัฐบาลใหม่ของไทยควรตระหนักและตื่นตัวในการแก้ปัญหาอย่างเร่งด่วน เนื่องจากภาวะการลงทุนที่ลดลงดังกล่าว มีแนวโน้มว่าอาจจะทรุดตัวมากขึ้นในอนาคตหากไม่ได้รับการแก้ไขอย่างเหมาะสมและจริงจัง ทั้งนี้เพื่อเป็นการสร้างความเชื่อมั่นการลงทุนในไทยให้ฟื้นตัว บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด มีความคิดเห็นสำหรับรัฐบาลไทยและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ต่าง ๆ ดังนี้ได้แก่ :-

• ควรส่งเสริมและพัฒนาโครงการสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน รวมถึงระบบโลจิสติกส์ภายในประเทศให้มีความทันสมัยและสะดวกรวดเร็วมากยิ่งขึ้นเพื่อเป็นการลดต้นทุนการคมนาคมและการผลิตในประเทศ

• ควรส่งเสริมการพัฒนาทักษะและองค์ความรู้ในแขนงต่าง ๆ แก่ทรัพยากรบุคคลในประเทศให้ทัดเทียบกันนานาประเทศเพื่อเป็นการบรรเทาปัญหาการขาดแคลนแรงงานที่มีทักษะและฝีมือในอุตสาหกรรมต่าง ๆ

• ควรดำเนินการออกมาตรการเพื่อรองรับการผันผวนของค่าเงินบาทภายใต้ระบบอัตราแลกเปลี่ยนลอยตัวแบบมีการจัดการ เนื่องจากการผันผวนของตลาดเงินในตลาดประเทศ ส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพของค่าเงินบาท ทั้งนี้ความมีเสถียรภาพของค่าเงินบาทจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันของภาคการส่งออก

• ควรพิจารณากฎระเบียบและขั้นตอนการดำเนินเพื่อการส่งออกภายในประเทศให้มีความรวดเร็วและประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น