แนวโน้มธุรกิจสีทาอาคารปี 51 …คาดว่าจะฟื้นตัวตามเศรษฐกิจหลังเลือกตั้ง

ธุรกิจสีทาอาคาร (Decorative Paint) เป็นธุรกิจที่เกิดขึ้นในประเทศไทยมานานกว่า 30 ปี และเป็นวัสดุจำเป็นที่ใช้ในงานก่อสร้างประเภทฉาบผิวตบแต่ง ในอดีตการก่อสร้างอาคารจะฉาบผิวด้วยปูนขาว ต่อมาได้มีวิวัฒนาการเป็นการผลิตสีทาอาคารซึ่งผู้บริโภคสามารถเลือกสีสรรได้ตามต้องการ การเติบโตของธุรกิจสีทาอาคารนั้นจะขึ้นอยู่กับการเติบโตของธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์และธุรกิจก่อสร้างเป็นสำคัญไม่ว่าจะเป็นบ้านจัดสรร คอนโดมิเนียม อาคารสำนักงาน โรงงานอุตสาหกรรม รวมทั้งงานก่อสร้างและงานซ่อมแซมทั่วไป จำเป็นต้องใช้สีในการตกแต่งผิวอาคารทั้งภายในและภายนอกเพื่อสร้างสวยงามและความคงทนถาวรให้แก่งานก่อสร้าง การผลิตสีต้องอาศัยวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตทั้งในประเทศและนำเข้าจากต่างประเทศในสัดส่วนใกล้เคียงกัน วัตถุดิบที่หาได้ในประเทศ อาทิ วัตถุดิบที่เป็นสิ่งนำสี (Vehicle) และตัวปรับคุณสมบัติ (Additive) เป็นต้น และวัตถุดิบที่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศ อาทิ สารสี และสีปรุงแต่งที่มีไททาเนียมไดออกไซด์ โครเมียม และแคดเมียม เป็นต้น วัตถุดิบที่ใช้เป็นส่วนผสมในการผลิตสีคิดเป็นสัดส่วนต้นทุนกว่าร้อยละ 80 ของต้นทุนการผลิตรวม เนื่องจากวัตถุดิบที่ใช้ผสมสียังต้องอาศัยการนำเข้าเป็นสัดส่วนมากและเสียภาษีนำเข้าในอัตราค่อนข้างสูง จึงทำให้มีต้นทุนการผลิตสูงตามไปด้วย

โครงสร้างและสภาวะตลาดในปัจจุบัน

โรงงานผลิตสีและส่วนผสมในประเทศได้มีการก่อตั้งมานานกว่า 3 ทศวรรษ ในปัจจุบันเป็นธุรกิจที่มีผู้แข่งขันในตลาดเป็นจำนวนมาก โรงงานสีในประเทศจะผลิตสีเพื่อรองรับความต้องการหลายประเภท อาทิ สีที่ใช้ในงานก่อสร้าง สีสำหรับอุตสาหกรรมยานยนต์ อุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์ อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้า และอุตสาหกรรมสิ่งพิมพ์ เป็นต้น จากการสำรวจของกรมโรงงานอุตสาหกรรมเมื่อเดือนมกราคม 2550 พบว่าในประเทศไทยมีโรงงานผลิตสีทุกประเภทและส่วนผสมจำนวน 315 โรงงาน มูลค่าเงินลงทุนรวมกว่า 10,000 ล้านบาท และมีการจ้างแรงงานประมาณ 10,000 คน ในขณะที่ภาคธุรกิจก่อสร้างมีจำนวนแรงงานสูงถึง 2 ล้านคน โดยที่โรงงานขนาดเงินลงทุนต่ำกว่า 50 ล้านบาท มีสัดส่วนร้อยละ 89 โรงงานขนาดเงินลงทุน 50-200 ล้านบาท มีสัดสวนร้อยละ 8 และโรงงานขนาดเงินลงทุน 200-1,500 ล้านบาท มีสัดส่วนร้อยละ 3 โรงงานผลิตสีขนาดใหญ่จะเป็นการลงทุนจากญี่ปุ่นเป็นส่วนใหญ่ นอกจากนั้น ยังมีโรงงานสหรัฐ และยุโรป เป็นจำนวนน้อย โรงงานในประเทศมีกำลังการผลิตเพียงพอต่อความต้องการใช้ในประเทศ ดังนั้น การนำเข้าส่วนใหญ่จะเป็นวัตถุดิบในการผสมสีและสีที่ใช้ในอุตสหกรรม ส่วนสีทาอาคารสำเร็จรูปมีการนำเข้าไม่มากนัก (รายละเอียดมูลค่านำเข้าและส่งออกตามตารางข้างล่าง) สีเป็นสินค้าที่มีน้ำหนักมากทำให้การนำเข้ามีต้นทุนค่าขนส่งสูง และในปัจจุบันยังต้องเสียภาษีนำเข้าในอัตราร้อยละ 10 และภายใต้กรอบข้อตกลงการค้าเสรีอาเซียนได้ตกลงอัตราภาษีนำเข้าที่ร้อยละ 5 อีกทั้งยังมีผู้ผลิตสีรายย่อยผลิตสีราคาถูกแข่งขันในตลาดมากขึ้นทำให้ตลาดในประเทศมีการแข่งขันสูง

ด้านการจำหน่าย โรงงานผลิตสีรายใหญ่จะนิยมขายผ่านตัวแทนจำหน่ายเพื่อกระจายให้ผู้ค้าปลีกนำไปขายต่อให้ผู้ใช้โดยตรง แต่โรงงานขนาดเล็กจะขายผ่านผู้ค้าปลีกและผู้ใช้โดยตรง ส่วนใหญ่จะขายในประเทศเป็นหลัก แต่ก็มีการจำหน่ายไปยังตลาดต่างประเทศไม่มากนักประมาณ 50 ล้านเหรียญสหรัฐต่อปี ส่วนใหญ่ส่งออกไปยังกลุ่มประเทศอาเซียน เนื่องจากสีเป็นผลิตภัณฑ์ที่จำเป็นในงานก่อสร้าง แต่ละประเทศจึงมีโรงงานผลิตสีใช้ในประเทศเป็นของตัวเอง ส่วนด้านราคาจำหน่ายผลิตภัณฑ์สีแต่ละประเภทจะแตกต่างกันขึ้นอยู่กับต้นทุนการผลิต คุณภาพสี และตราสินค้า ที่ผ่านมาราคาจำหน่ายวัสดุฉาบผิวมีการปรับขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่อดีตเช่นเดียวกับราคาวัสดุก่อสร้างอื่นๆ เห็นได้จากดัชนีราคาวัสดุฉาบผิวในปี 2543 อยู่ที่ 100 ปรับขึ้นที่ 118.3 ในปี 2550 คิดเป็นอัตราเพิ่มขึ้นร้อยละ 18.3 รายละเอียดตามแผนภาพและตารางต่อไปนี้

ราคาสีทาอาคารซึ่งวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตส่วนใหญ่มาจากอุตสาหกรรมน้ำมันและปิโตรเคมี จึงทำให้ราคาสีอิงกับราคาน้ำมันเป็นหลัก การปรับขึ้นราคาน้ำมันในตลาดโลกทำให้ต้นทุนการผลิตสูงตามไปด้วย ผู้ผลิตสีจำเป็นต้องดึงส่วนลดคืนจากตัวแทนจำหน่ายและร้านค้าปลีกเพื่อรักษาส่วนต่างกำไรให้คงเดิม โดยที่ผ่านมาราคาได้มีการปรับขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่ในปี 2550 ราคาสีทาอาคารมีการปรับลดลงเล็กน้อย สาเหตุจากต้นทุนวัสดุก่อสร้างได้ปรับสูงขึ้นทำให้ภาคก่อสร้างต้องแบกรับต้นทุนที่สูงขึ้นและชะลอดูสถานการณ์ราคาวัสดุก่อสร้าง ซึ่งส่งผลกดดันต่อการปรับขึ้นราคาของผู้ขายจากความต้องการที่ลดลง

สภาวะตลาดสีทาอาคารในประเทศมีการแข่งขันสูงมากจากการที่มีผู้ผลิตและจำหน่ายเป็นจำนวนมาก การผลิตส่วนใหญ่เป็นการจำหน่ายในประเทศ การส่งออกจำหน่ายต่างประเทศมีปริมาณไม่มากนัก จากการรายงานของผู้ผลิตสีรายใหญ่กล่าวว่ามูลค่าตลาดสีทาอาคารในปี 2550 มีมูลค่าประมาณ 1.2 หมื่นล้านบาท มีการขยายตัวจากปีก่อนประมาณร้อยละ 2-3 ถือเป็นอัตราที่ชะลอตัวลงจากปีก่อน สาเหตุเกิดจากการเติบโตของภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์และภาคธุรกิจก่อสร้างมีอัตราชะลอตัวลงจากปีก่อนโดยเฉพาะตลาดที่อยู่อาศัย ข้อมูลธนาคารแห่งประเทศไทยในช่วง 9 เดือนแรกปีนี้พบว่า พื้นที่ได้รับอนุญาตก่อสร้างในเขตเทศบาลมีจำนวนลดลงร้อยละ 17 การจดทะเบียนคอนโดมิเนียมทั่วประเทศลดลงร้อยละ 17 และที่อยู่อาศัยสร้างใหม่ในกรุงเทพและปริมณฑลมีจำนวนลดลงร้อยละ 24 สิ่งเหล่านี้ส่งผลกระทบต่อปริมาณความต้องการสีทาอาคารอยู่ไม่น้อย อีกทั้งการปรับตัวของราคาวัสดุก่อสร้างหลักและการปรับ ตัวสูงขึ้นของราคาน้ำมันยังส่งผลให้ผู้รับเหมาก่อสร้างชะลอการก่อสร้างลงเพื่อรอดูสถานการณ์ราคาในอนาคต ทำให้ความต้องการสีทาอาคารลดน้อยลงไปด้วย

ปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อธุรกิจสีทาอาคาร

ตลาดสีทาอาคารในประเทศความต้องการขึ้นอยู่กับภาวะตลาดภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์และธุรกิจก่อสร้างโดยตรง ซึ่งผันผวนไปตามแนวโน้มเติบโตตามเศรษฐกิจของประเทศ หลังจากเกิดวิกฤติเศรษฐกิจการเงินปี 2540 เศรษฐกิจไทยได้มีการฟื้นตัวอย่างรวดเร็วโดยเฉพาะตั้งแต่ปี 2544 เป็นต้นไป จึงส่งผลให้ภาคอสังหาริมทรัพย์และภาคก่อสร้างฟื้นตัวตามไปด้วยก่อนที่จะมาชะลอตัวชัดเจนในปี 2550 นอกจากนี้ ราคาวัสดุก่อสร้างโดยรวมได้มีการปรับขึ้นมามากจากร้อยละ 3.7 ในปี 2549 และได้ปรับขึ้นมาอีกในรอ้ยละ 4.5 ในปี 2550 ส่งผลต่อต้นทุนการก่อสร้างทำภาคก่อสร้างต่างชะลอตัวดูสถานการณ์ราคา จึงทำให้อัตราการขยายตัวของมูลค่าการลงทุนในภาคก่อสร้างคาดว่าจะปรับลดลงจากร้อยละ 4.6 ในปี 2549 เป็นประมาณร้อยละ 0.6 ในปี 2550 รายละเอียดตามแผนภาพต่อไปนี้

สำหรับในปี 2551 ภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์และภาคธุรกิจก่อสร้างจะยังคงเป็นปัจจัยหลักที่ส่งผลกระทบต่อธุรกิจสีทาอาคาร คาดว่าธุรกิจอสังหาริมทรัพย์และธุรกิจก่อสร้างจะเติบโตตามการขยายตัวทางเศรษฐกิจประเทศที่คาดการณ์โดยสภาพัฒน์ฯ ว่าจะโตประมาณร้อยละ 4.0 – 5.0 ในปีหน้า โดยเฉพาะหลังจากการเลือกตั้งรัฐบาลใหม่ รวมทั้งการลงทุนโครงการก่อสร้างภาครัฐที่จะเพิ่มขึ้น อีกทั้งการอนุมัติสินเชื่อที่อยู่อาศัยที่ยังเติบโตอยู่ในเกณฑ์ดี ความต้องการที่อยู่อาศัยที่สูงขึ้นของประชากรวัยกลางคนซึ่งถือเป็นประชากรส่วนใหญ่ของประเทศ และอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ยืมที่ยังอยู่ในระดับค่อนข้างต่ำจะส่งผลดีต่อตลาดสีทาอาคาร และถ้ารัฐบาลหลังจากการเลือกตั้งมีเสถียรภาพมากขึ้น ก็น่าจะช่วยสนับสนุนนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจให้ดำเนินต่อไปได้ อีกทั้งยังเป็นการสร้างความเชื่อมั่นของทั้งนักลงทุนและผู้บริโภคที่น่าจะดีขึ้นตาม แต่อย่างไรก็ตาม ราคาวัสดุก่อสร้างที่ปรับสูงขึ้นจะส่งผลทำให้ต้นทุนค่าก่อสร้างสูงขึ้น ตลอดจนการปรับขึ้นราคาน้ำมันและอัตราเงินเฟ้ออาจกดดันให้อัตราดอกเบี้ยปรับสูงขึ้นตาม ซึ่งทั้งหมดนี้อาจส่งผลกระทบต่อความต้องการที่อยู่อาศัยของผู้บริโภค

สรุปและข้อคิดเห็น

ธุรกิจสีทาอาคารเป็นธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการก่อสร้างและมีมูลค่าตลาดค่อนข้างสูง เนื่องจากมีผู้ผลิตเป็นจำนวนมากจึงทำให้ตลาดในประเทศมีการแข่งขันสูง การผลิตส่วนใหญ่เพื่อจำหน่ายในประเทศ ส่วนการจำหน่ายต่างประเทศมีสัดส่วนน้อยโดยจะส่งออกไปยังกลุ่มประเทศอาเซียน เนื่อง จากต้นทุนการผลิตสีซึ่งขึ้นอยู่กับราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ปรับสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลทำให้ราคาสีทาอาคารปรับสูงขึ้นตาม และการปรับสูงขึ้นของราคาวัสดุก่อสร้างหลักส่งผลต่อการชะลอตัวของภาคธุรกิจก่อสร้าง และการชะลอตัวของภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ทั้งโครงการบ้านจัดสรร บ้านสร้างเอง คอนโดมิเนียมและอพาร์ทเมนต์ใหม่ในปีนี้ส่งผลต่อการชะลอตัวของธุรกิจสีทาอาคารโดยตรง แนวโน้มความต้องการสีทาอาคารจะเป็นไปตามการเติบโตของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์และธุรกิจก่อสร้าง ซึ่งขึ้น อยู่กับปัจจัยทางเศรษฐกิจทั้งการขยายตัวทางเศรษฐกิจและความมีเสถียรภาพของรัฐบาล อัตราดอก เบี้ยเงินกู้ นโยบายสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ และความต้องการที่อยู่อาศัย ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมีความเห็นว่า ถ้าเศรษฐกิจหลังจากการเลือกตั้งกลับมาฟื้นตัว ในขณะที่อัตราดอกเบี้ยยังทรงตัวอยู่ในระดับต่ำ และความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและนักลงทุนกลับคืนมาเหมือนเดิม น่าจะช่วยส่งเสริมให้ภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์และภาคธุรกิจก่อสร้างฟื้นตัวตาม ซึ่งจะนำไปสู่การฟื้นตัวของธุรกิจสีทาอาคารตามไปด้วย โดยคาดว่าตลาดสีทาอาคารจะมีอัตราการเติบโตในปีหน้าไม่ต่ำกว่าร้อยละ 4 ตามที่ผู้ประกอบการคาดการณ์ แต่สิ่งที่น่าจับตามองน่าจะเป็นปัจจัยจากภายนอก อาทิ การเติบโตของเศรษฐกิจโลก ปัญหาวิกฤตซับไพรม์ในสหรัฐ ราคาน้ำมันในตลาดโลก ปัจจัยเหล่านี้จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศไม่ว่าจะเป็นการส่งออก ราคาวัตถุดิบที่อิงกับราคาในตลาดต่างประเทศ ค่าขนส่งทางทะเล และอัตราดอกเบี้ยในประเทศ ซึ่งหากมีแนวโน้มว่าจะกลับเป็นขาขึ้นในปีหน้าก็อาจเป็นอีกหนึ่งปัจจัยเสี่ยงที่จะกระทบตลาดสีทาอาคารได้ในปีหน้า