เงินบาทแข็งค่าสุดในรอบทศวรรษ

ประเด็นการแข็งค่าของเงินบาทกลับเข้ามาอยู่ในกระแสความสนใจอีกครั้งในช่วงต้นปี 2551 โดยค่าเงินบาทในประเทศทะยานขึ้นทุบสถิติสูงสุดในรอบ 10 ปี (นับตั้งแต่วิกฤตเศรษฐกิจในปี 2540) มาอยู่ที่ระดับ 33.12 บาทต่อดอลลาร์ฯ และแม้ว่าการแข็งค่าของเงินบาทจะเป็นไปตามทิศทางของสกุลเงินอื่นๆ ในภูมิภาค แต่การแข็งค่าของเงินบาทในขณะที่ภาคการส่งออกมีแนวโน้มชะลอตัวลงตามภาวะเศรษฐกิจโลกนั้น ได้จุดชนวนความกังวลว่า ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากการแข็งค่าของเงินบาทอาจทำให้ภาคส่งออกของไทยสูญเสียความสามารถทางการแข่งขัน ศูนย์วิจัยกสิกรไทยจึงรวบรวมประเด็นแวดล้อมของเงินบาท และประเด็นที่ต้องจับตาในระยะถัดไปดังนี้

 เงินบาท…สถานการณ์ล่าสุด

เงินบาทเริ่มต้นปี 2551 ด้วยการเดินหน้าขึ้นทุบสถิติแข็งค่าสุดในรอบ 10 ปี และล่าสุดเงินบาทปิดตลาดในประเทศ ณ วันที่ 14 มกราคม 2551 ที่ระดับ 33.13 บาทต่อดอลลาร์ฯ นับเป็นการปรับตัวแข็งค่าขึ้นแล้วร้อยละ 1.7 จากระดับปิดตลาดสิ้นปี 2550 โดยปัจจัยที่สนับสนุนการแข็งค่าของเงินบาทในช่วงต้นปี 2551 (ข้อมูล ณ วันที่ 14 มกราคม 2551) ยังคงเป็นปัจจัยที่คล้ายคลึงกับปัจจัยบวกของเงินบาทในปี 2550 ที่ผ่านมา ได้แก่ แรงเทขายเงินดอลลาร์ฯ ของผู้ส่งออก กระแสการแข็งค่าของสกุลเงินอื่นๆ ในภูมิภาค การอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์ฯ จากแนวโน้มการชะลอตัวทางเศรษฐกิจและการปรับลดอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ

เมื่อพิจารณาการเคลื่อนไหวของเงินบาทเป็นรายวันจะเห็นว่า เงินบาทขยับแข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่เปิดตลาดในประเทศในปี 2551 ซึ่งสวนทางกับการเคลื่อนไหวของดัชนีตลาดหลักทรัพย์ไทยที่ขยับลงถึง 7 วันในรอบ 9 วันทำการ โดยล่าสุด ณ วันที่ 14 มกราคม 2551 ดัชนีตลาดหุ้นไทยร่วงลงหลุดแนวรับสำคัญทางจิตวิทยาที่ระดับ 800 จุด มาปิดตลาดที่ระดับ 791.15 จุด ซึ่งนับเป็นการปรับตัวลงถึง 66.95 จุด หรือประมาณร้อยละ 7.8 จากระดับปิดตลาดสิ้นปี 2550 ในขณะที่ นักลงทุนต่างชาติเทขายสุทธิหุ้นไทย 9 วันทำการอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ตลาดหุ้นเปิดทำการในปีนี้ (ข้อมูล ณ วันที่ 14 มกราคม 2551) มูลค่าทั้งสิ้นประมาณ 19,127 ล้านบาท
ทั้งนี้ ทิศทางการแข็งค่าของเงินบาทนับตั้งแต่ต้นปี 2551 ยังคงเป็นไปในทิศทางที่สอดคล้องกับการเคลื่อนไหวของสกุลเงินอื่นๆ ส่วนใหญ่ในภูมิภาค ดังจะเห็นได้จาก ท่ามกลางแรงเทขายเงินดอลลาร์ฯ อย่างหนักจากแนวโน้มการปรับลดอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ เงินบาทได้ทะยานขึ้นทำสถิติสูงสุดในรอบ 10 ปี ในขณะที่ เงินเปโซของฟิลิปปินส์ (เป็นสกุลเงินเอเชียที่ปรับตัวแข็งค่ามากที่สุดในปี 2550) พุ่งขึ้นทำลายสถิติแข็งค่าสุดในรอบ 7 ปีครึ่ง ส่วนเงินดอลลาร์สิงคโปร์และเงินริงกิตมาเลเซียก็ได้ปรับตัวขึ้นทุบสถิติแข็งค่าสุดในรอบ 10 ปีเช่นกัน

 แนวโน้มค่าเงินบาทครึ่งแรกของปี 2551

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า เงินบาทในช่วงครึ่งแรกของปี 2551 มีแนวโน้มปรับตัวในทิศทางที่แข็งค่าขึ้นต่อเนื่องจากในปี 2549 และ 2550 อย่างไรก็ตาม การแข็งค่าของเงินบาทจะเป็นไปอย่างค่อยเป็นค่อยไปตามการเข้าดูแลรักษาเสถียรภาพของค่าเงินของธนาคารแห่งประเทศไทย เพื่อให้การเปลี่ยนแปลงของค่าเงินบาทเป็นไปในทิศทางที่สอดคล้องกับสกุลเงินในภูมิภาค เพื่อรักษาความสามารถทางการแข่งขันของภาคส่งออก และเพื่อสกัดแรงเก็งกำไรที่อาจทำให้ตลาดอัตราแลกเปลี่ยนเกิดความผันผวน ขณะที่ การไหลออกของเงินทุนต่างชาติหลังจากการเทขายสุทธิหุ้นไทยนับจากต้นปี ตลอดจนการไหลออกของเงินทุนของสถาบันการเงินเพื่อลงทุนในตราสารทางการเงินในต่างประเทศยังคงเป็นประเด็นที่น่าจับตามองเช่นกัน ทั้งนี้ ปัจจัยแวดล้อมที่อาจสนับสนุนให้เงินบาทแข็งค่าในช่วงครึ่งแรกของปีประกอบด้วย

แนวโน้มการอ่อนค่าของเงินดอลลาร์ฯ แนวโน้มการชะลอตัวทางเศรษฐกิจ ตลอดจนความชัดเจนมากขึ้นของภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ซึ่งสะท้อนจากการปรับฐานที่รุนแรงมากขึ้นของตลาดที่อยู่อาศัย และการอ่อนตัวลงของการใช้จ่ายในภาคธุรกิจและผู้บริโภค ขณะที่ ข่าวร้ายในภาคการเงินยังคงมีแนวโน้มที่จะทยอยออกมาบั่นทอนความเชื่อมั่นของนักลงทุนอย่างต่อเนื่องไปอีกระยะหนึ่งนั้น อาจส่งผลทำให้กระแสการคาดการณ์การปรับลดอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ ยังคงมีอยู่ต่อไปอย่างน้อยในช่วงครึ่งแรกของปี 2551

แรงขายเงินดอลลาร์ฯ ของผู้ส่งออก แม้ว่าในช่วงครึ่งหลังของปี 2550 ตลาดส่งออกหลักอย่างสหรัฐฯ และญี่ปุ่น จะเริ่มมีแนวโน้มชะลอตัวลง แต่ภาคส่งออกไทยก็ยังคงสามารถขยายตัวได้ดีโดยมีคำสั่งซื้อจากตลาดใหม่เข้ามาชดเชย ดังนั้นการไหลเข้าของเงินตราต่างประเทศจากภาคส่งออกที่ยังอาจสามารถขยายตัวได้อย่างต่อเนื่องในปี 2551 แม้ว่าจะมีแนวโน้มชะลอตัวลงจากปีก่อนหน้า ก็ยังน่าจะเป็นปัจจัยที่สนับสนุนการแข็งค่าของเงินบาทไปอีกระยะหนึ่ง
การทะยานขึ้นของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ โดยเฉพาะน้ำมัน ตลาดสินค้าโภคภัณฑ์ที่ยังคงสามารถรักษาแนวโน้มขาขึ้นได้อย่างแข็งแกร่งในช่วงต้นปี 2551 อาจยังคงเป็นเป้าหมายในการเก็งกำไรของกองทุนเฮดจ์ฟันด์ และนักลงทุนสถาบันอื่นๆ ท่ามกลางแนวโน้มที่อ่อนแอของเงินดอลลาร์ฯ ซึ่งกระแสการลงทุนในตลาดโภคภัณฑ์ของนักเก็งกำไรอย่างน้อยในช่วงครึ่งแรกของปีอาจส่งผลทำให้เงินดอลลาร์ฯ ยังคงเผชิญแรงเทขายอย่างต่อเนื่องต่อไป

ความแข็งแกร่งของสกุลเงินเอเชีย สกุลเงินเอเชียส่วนใหญ่ในปีนี้ ยังคงมีแนวโน้มที่จะปรับตัวแข็งค่าขึ้นต่อเนื่องตามพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่แข็งแกร่ง ขณะที่แรงกดดันจากเงินเฟ้อปรับตัวขึ้นในหลายๆ ประเทศ (อัตราเงินเฟ้อในฟิลิปปินส์อยู่ที่ร้อยละ 3.9 ในเดือนธันวาคม 2550 ซึ่งเป็นระดับที่สูงสุดในรอบ 11 เดือน อัตราเงินเฟ้อของมาเลเซียอยู่ที่ร้อยละ 2.3 ในเดือนพฤศจิกายน 2550 ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 9 เดือน อัตราเงินเฟ้อของสิงคโปร์อยู่ที่ร้อยละ 4.2 ในเดือนพฤศจิกายน 2550 ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 25 ปี ส่วนอัตราเงินเฟ้อในเกาหลีใต้ขยับเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ร้อยละ 3.6 เดือนธันวาคม 2550) นอกจากนี้ การปรับนโยบายการเงินให้เข้มงวดขึ้นของธนาคารกลางจีนเพื่อสกัดแรงกดดันจากเงินเฟ้อที่เร่งขึ้นมาอยู่ที่ร้อยละ 6.9 ในเดือนพฤศจิกายน 2550 ซึ่งเป็นระดับที่สูงที่สุดในรอบ 11 ปี ก็ทำให้นักลงทุนในตลาดการเงินยิ่งเชื่อมั่นมากยิ่งขึ้นว่า ค่าเงินหยวนมีแนวโน้มที่จะแข็งค่าในอัตราที่เพิ่มมากขึ้นกว่าปี 2550 ได้ (แม้จะเป็นไปอย่างค่อยเป็นค่อยไป และยังคงอยู่ภายใต้การดูแลของทางการอย่างใกล้ชิดก็ตาม) อย่างไรก็ตาม เงินเอเชียบางสกุลอาจเผชิญปัจจัยลบกดดันให้ไม่สามารถขยับแข็งค่าเช่นเดียวกับสกุลเงินส่วนใหญ่ในภูมิภาค อาทิ เงินดอลลาร์ไต้หวันที่มีความเชื่อมโยงกับเศรษฐกิจสหรัฐฯ ค่อนข้างสูง และเงินรูเปียห์อินโดนีเซียซึ่งนโยบายการเงินของธนาคารกลางอินโดนีเซียยังคงอยู่ในวัฏจักรของการผ่อนคลาย แม้ว่าธนาคารกลางอินโดนีเซียได้ทำการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงอย่างต่อเนื่องตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2549 โดยทำการปรับลดแล้วทั้งสิ้นร้อยละ 4.75 จากระดับร้อยละ 12.75 มาอยู่ที่ร้อยละ 8 ในปัจจุบัน (ณ วันที่ 14 มกราคม 2551) ทั้งนี้ ธนาคารกลางอินโดนีเซียยังคงออกมาส่งสัญญาณว่า ยังคงมีแนวโน้มที่จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงอีกในปีนี้

ปัญหาการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดในระดับสูงของสหรัฐฯ และแนวโน้มการกระจายการถือครองสินทรัพย์ออกจากสกุลเงินดอลลาร์ฯ ทั้ง 2 ปัจจัยนี้ยังคงเป็นประเด็นที่สามารถหยิบยกมาเป็นเหตุผลของการเทขายเงินดอลลาร์ฯ ของนักลงทุนทั่วโลกได้อย่างต่อเนื่อง เนื่องจากการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดของสหรัฐฯ เป็นปัญหาที่เรื้อรังทางโครงสร้างและต้องการการอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์ฯ เพื่อสร้างความสมดุลผ่านการขยายตัวของการส่งออก อย่างไรก็ตาม การทะยานขึ้นของราคาน้ำมันในตลาดโลกยังคงเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้มูลค่าการนำเข้าของสหรัฐฯ เร่งขึ้นเร็วกว่าการขยายตัวของภาคส่งออก ซึ่งในท้ายที่สุดก็จะทำให้ดุลการค้าของสหรัฐฯ มีฐานะที่แย่ลงต่อเนื่องแม้ว่าเงินดอลลาร์ฯ จะอ่อนค่าลงก็ตาม และเมื่อปัญหาความไม่สมดุลทางการเงินซึ่งเป็นปัจจัยลบต่อค่าเงินดอลลาร์ฯ ยังไม่หมดไป เงินดอลลาร์ฯ ก็อาจต้องตกอยู่ภายใต้แรงกดดันต่อไปในระยะกลางและระยะยาว ซึ่งก็จะส่งผลต่อเนื่องทำให้ความน่าดึงดูดของสินทรัพย์สกุลเงินดอลลาร์ฯ ลดน้อยลง

เงินบาท…ปัจจัยที่ต้องจับตา

แม้ว่าแนวโน้มค่าเงินบาทจะเป็นไปในทิศทางที่แข็งค่าขึ้นในช่วงครึ่งแรกของปี 2551 แต่อย่างไรก็ตาม ในช่วงครึ่งหลังของปี 2551 ปัจจัยแวดล้อมที่อาจส่งผลกระทบต่อการเคลื่อนไหวของเงินบาทนั้น ยังไม่สามารถให้ภาพที่ชัดเจนได้มากนัก เนื่องจากยังคงต้องขึ้นอยู่กับเงื่อนไขของหลายประเด็นประกอบกัน ดังนี้

ความเป็นไปได้ของการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ แม้ว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ อาจเข้าสู่สถานการณ์ใกล้เคียงภาวะถดถอยในช่วงครึ่งแรกของปี 2551 อันเป็นผลต่อเนื่องมาจากความเสียหายทางการเงินและแนวโน้มการชะลอตัวของภาคการผลิตซึ่งเป็นผลเชื่อมโยงมาจากวิกฤตสินเชื่อซับไพร์มซึ่งมีต้นตอมาจากการปล่อยกู้จำนองอย่างไม่ระมัดระวัง แต่เนื่องจากระบบเศรษฐกิจสหรัฐฯ เป็นเศรษฐกิจที่มีความยืดหยุ่นสูง คือมักจะสามารถผ่านช่วงการชะลอตัวได้ในระยะเวลาที่ไม่นานนัก ประกอบกับ ธนาคารกลางสหรัฐฯ ได้ทำการผ่อนคลายนโยบายการเงินด้วยการปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่เดือนกันยายน 2550 ซึ่ง ณ ขณะนี้ ตลาดการเงินยังคงคาดการณ์ว่า ธนาคารกลางสหรัฐฯ จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายต่อไปในช่วงครึ่งแรกของปี 2551 ดังนั้นเงื่อนไขทางการเงินที่ผ่อนคลายดังกล่าวอาจทำให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ ฟื้นตัวกลับมาได้ในช่วงครึ่งหลังของปี 2551 เป็นอย่างเร็ว หากวิกฤตซับไพร์มในปัจจุบันไม่ได้ลุกลามออกไปจนก่อให้เกิดภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจอย่างรุนแรงในสหรัฐฯ

ความชัดเจนของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของไทย ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมีความเห็นว่า หากภาพทางการเมืองมีความชัดเจนมากขึ้น และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจถูกเร่งผลักดันออกมาพร้อมๆ กันกับการเร่งฟื้นคืนความเชื่อมั่นของนักลงทุน แนวโน้มการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจก็อาจมีความชัดเจนมากขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี 2551 และหากประกอบเข้ากับความเป็นไปได้ที่เศรษฐกิจสหรัฐฯ จะสามารถฟื้นตัวกลับมาได้ในช่วงครึ่งหลังของปี 2551 ก็จะทำให้แรงบวกต่อเศรษฐกิจไทยเพิ่มมากขึ้น ซึ่งสภาพแวดล้อมดังกล่าวอาจส่งผลให้มีเงินทุนไหลเข้าประเทศอย่างต่อเนื่องตามพื้นฐานเศรษฐกิจที่แข็งแกร่ง แต่ในขณะเดียวกันการฟื้นตัวขึ้นของภาพอุปสงค์ภายในประเทศอาจเป็นปัจจัยที่ช่วยเพิ่มความต้องการเงินดอลลาร์ฯ ผ่านการนำเข้าที่อาจเร่งตัวขึ้นตามภาวะเศรษฐกิจ ซึ่งก็จะช่วยสร้างความสมดุลให้กับตลาดอัตราแลกเปลี่ยน

นอกจากนี้ ประเด็นที่น่าจับตาอีกประเด็นหนึ่งก็คือ ท่าทีของรัฐบาลใหม่ที่มาจากการเลือกตั้งต่อประเด็นมาตรการกันสำรองร้อยละ 30 ทั้งนี้ แม้ว่าธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ทยอยผ่อนปรนเงื่อนไขของมาตรการดำรงเงินสำรองเงินนำเข้าระยะสั้นร้อยละ 30 มาอย่างต่อเนื่อง แต่เป็นที่คาดการณ์ว่า กระแสการเรียกร้องให้ธปท.ประกาศยกเลิกการใช้มาตรการนี้น่าจะยังคงมีอยู่ และอาจจะมีความเข้มข้นมากขึ้นในอนาคตหากธปท.ยังคงดำเนินมาตรการดังกล่าวต่อไป ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมีความเห็นว่า การเคลื่อนไหวของเงินบาทอาจไม่ผันผวนมากนัก หากการประกาศยกเลิกมาตรการกันสำรองร้อยละ 30 สำหรับเงินทุนนำเข้าระยะสั้นมีการดำเนินการในช่วงจังหวะเวลาที่เหมาะสม พร้อมๆ การส่งสัญญาณอย่างชัดเจนด้านนโยบาย และความพร้อมของมาตรการที่จะมารองรับ แต่หากเงื่อนไขทั้ง 3 ประการยังไม่ลงตัว การประกาศยกเลิกมาตรการดังกล่าวอาจจุดชนวนให้เกิดความผันผวนในกระแสการเคลื่อนย้ายเงินทุน ซึ่งก็อาจส่งผลกระทบต่อเนื่องมายังเสถียรภาพของค่าเงินบาทได้

 บทสรุป
การแข็งค่าของเงินบาทกลับเข้ามาอยู่ในกระแสความสนใจอีกครั้งในช่วงต้นปี 2551 โดยเงินบาทในประเทศปรับตัวขึ้นแตะระดับสูงสุดในรอบทศวรรษที่ระดับ 33.12 บาทต่อดอลลาร์ฯ (ณ วันที่ 14 มกราคม 2551) ทั้งนี้ การแข็งค่าของเงินบาทนั้นเป็นไปตามทิศทางของสกุลเงินอื่นๆ ในภูมิภาคท่ามกลางกระแสการอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์ฯ จากความกังวลต่อการชะลอตัวทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ และแนวโน้มการปรับลดอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ เพื่อช่วยบรรเทาผลกระทบทางเศรษฐกิจที่เกิดจากวิกฤตซับไพร์ม

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมีความเห็นว่า เงินบาทยังคงมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นต่อเนื่องในช่วงครึ่งแรกของปี 2551 โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากกระแสการอ่อนค่าของเงินดอลลาร์ฯ แรงเทขายเงินดอลลาร์ฯ ของผู้ส่งออก ตลอดจนความแข็งแกร่งของสกุลเงินในภูมิภาค ซึ่งหากเงินบาทยังคงรักษาอัตราการแข็งค่าเช่นเดียวกับในช่วงต้นปี 2551 ที่ผ่านมา ก็มีแนวโน้มว่าเงินบาทอาจแข็งค่าขึ้นทดสอบระดับ 33.00 และ 32.50 บาทต่อดอลลาร์ฯ ภายในครึ่งแรกของปี 2551

ในขณะที่ภาพของเงินบาทในช่วงครึ่งหลังของปี 2551 นั้น มีประเด็นที่ต้องจับตาก็คือ ความเป็นไปได้ของการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ที่อาจทำให้เงินดอลลาร์ฯ สามารถดีดตัวกลับมาแข็งค่าขึ้นได้ในช่วงครึ่งหลังของปี (หลังจากที่เผชิญแรงเทขายในช่วงครึ่งแรกของปี) ซึ่งนั่นก็อาจทำให้แรงกดดันต่อการแข็งค่าของเงินบาทลดน้อยลง แต่ในขณะเดียวกัน ภาพทางการเมืองและมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มชัดเจนมากยิ่งขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี อาจช่วยพลิกฟื้นความเชื่อมั่นของภาคเอกชนกลับคืนมาและนั่นย่อมเป็นปัจจัยหนุนค่าเงินบาท และท้ายที่สุดประเด็นที่น่าจับตาเป็นพิเศษคือ ท่าทีของรัฐบาลใหม่ที่มีต่อมาตรการกันสำรองร้อยละ 30 เพราะการตัดสินใจในประเด็นดังกล่าวย่อมมีผลต่อการเคลื่อนย้ายเงินทุนระหว่างประเทศและตลาดอัตราแลกเปลี่ยน