ธนาคารทิสโก้เผยผลประกอบการปี 50 เติบโตต่อเนื่องสะท้อนฐานะการเงินแข็งแกร่ง กำไรเพิ่ม 6.8% เช่าซื้อโตเกือบ 20% รวมทั้งส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยเพิ่มเป็น 3.5% ส่งผลให้รายได้รวมโตต่อเนื่อง 16.2% ด้านเงินฝากออมทรัพย์และกระแสรายวันโตเกือบ 50% เพราะปีที่ผ่านมาเร่งขยายสาขา-พัฒนาผลิตภัณฑ์ต่อเนื่อง พร้อมตั้งเป้าปี 51 ขยายฐานลูกค้าเงินฝาก 1 แสนบัญชี และเชื่อมั่นยังคงรักษาการดำเนินงานที่มีคุณภาพไว้ได้ต่อไป เพราะเตรียมความพร้อมรับมือกฎ Basel2 – IAS 39 และ พ.ร.บ. การเงินต่างๆ เป็นที่เรียบร้อยแล้ว
นายปลิว มังกรกนก ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารทิสโก้ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยภาพรวมผลประกอบการของธนาคารทิสโก้ ประจำปี 2550 (1 ม.ค. -31 ธ.ค. 50) ว่า ธนาคารและบริษัทย่อยมีกำไรสุทธิจำนวน 1,651.11 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 105.58 ล้านบาท หรือ 6.8% จากปี 2549 ตามการเติบโตอย่างต่อเนื่องของธุรกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากการขยายตัวอย่างแข็งแกร่งของธุรกิจสินเชื่อเช่าซื้อ ที่มีอัตราการเติบโตถึง 19.2% ทางด้านกำไรจากการดำเนินงานก่อนตั้งสำรอง อยู่ที่ 2,988 ล้านบาท โตขึ้น 38.8% จากปี 49 และกำไรต่อหุ้นปรับลด (Diluted Earning per share) เท่ากับ 2.01 บาท เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับ 1.87 บาท ในปี 2549 ส่วนอัตราผลตอบแทนต่อผู้ถือหุ้นเฉลี่ยของปี 2550 เท่ากับ 13.18% เทียบกับปี 2549 ที่ 12.0%
“การที่ธนาคารมีกำไรจากการดำเนินงานก่อนตั้งสำรองเพิ่มขึ้นเกือบ 39% แต่กำไรสุทธิเพิ่มขึ้นเพียง 6.8% สาเหตุเพราะในปีที่ผ่านมามีการบวกกลับหนี้สูญ (write back NPL) ไปกว่า 600 ล้านบาท หากไม่มีการบวกกลับตรงนี้ ธนาคารจะมีรายได้สุทธิ และกำไรเพิ่มถึง 39%”
รายได้ดอกเบี้ยโต 21.7%
นางอรนุช อภิศักดิ์ศิริกุล กรรมการรองกรรมการอำนวยการ ธนาคารทิสโก้ จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงรายละเอียดของผลการดำเนินงานในปี 2550 ว่าธนาคารมีรายได้รวมก่อนหักหนี้สูญและหนี้สงสัยจะสูญอยู่ที่ 5,926.20 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 16.2% จากปี 49 ด้านรายได้ดอกเบี้ยและเงินปันผลมีจำนวน 6,944.19 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1,238.88 ล้านบาท หรือ 21.7% จากสิ้นปี 2549 ตามการขยายตัวของสินเชื่อที่เติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง สำหรับรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยอยู่ที่ 2,438.39 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2549 จำนวน 145.17 ล้านบาท หรือ 6.3% โดยสาเหตุหลักมาจากรายได้ค่าธรรมเนียมและบริการ ซึ่งมีจำนวน 1,194.33 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 307.28 ล้านบาท หรือ 34.6% โดยส่วนใหญ่เป็นรายได้จากการขยายตัวของธุรกรรมธนาคารที่เพิ่มขึ้น และรายได้ที่เพิ่มขึ้นจากความสำเร็จในการเป็นตัวแทนจำหน่ายในธุรกิจประกันชีวิต รวมทั้งธุรกิจการจัดการกองทุนที่มีสินทรัพย์ภายใต้การบริหารเติบโตขึ้นถึง 27.1% ประกอบกับที่ในปีนี้ บลจ.ทิสโก้ ประสบความสำเร็จในการบริหารผลตอบแทนของกองทุนต่างๆ เป็นอย่างมาก จึงทำให้ค่าธรรมเนียมการบริหารกองทุนเพิ่มสูงขึ้นถึง 61.1% ในปี 2550
ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยเพิ่มเป็น 3.5%
สำหรับส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยของเงินให้สินเชื่อเพิ่มขึ้นจาก 3.1% ในปี 2549 เป็น 3.5% สาเหตุหลักมาจากการที่ธนาคารแห่งประเทศไทยได้ทยอยปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ทำให้ต้นทุนของธนาคารลดลง
“ประกอบกับการที่ธนาคารสามารถรักษาระดับอัตราผลตอบแทนเงินให้สินเชื่อไว้ได้โดยการปรับสัดส่วนการให้เช่าซื้อรถมือสองมากขึ้นตั้งแต่กลางปี 2550 ทำให้สามารถรักษาระดับอัตราผลตอบแทนของเงินให้สินเชื่อไว้ให้อยู่ในระดับสูงได้มาโดยตลอด” นางอรนุช กล่าว
สินเชื่อเช่าซื้อโตต่อเนื่อง 19.2%
ทั้งนี้ สำหรับสินเชื่อของธนาคารในปี 2550 มีจำนวน 86,420.41 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 15.8% จากปี 2549 โดยส่วนใหญ่เป็นการเพิ่มขึ้นของสินเชื่อเช่าซื้อ ซึ่งคิดเป็นสัดส่วน 74.8% ของสินเชื่อทั้งหมด โดยมีมูลค่า 64,864.40 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 10,439.76 ล้านบาท หรือ 19.2% ในจำนวนนี้เป็นสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ที่อนุมัติใหม่ 37,016.81 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 6,579.53 ล้านบาท หรือ 21.6% จากปี 2549 ส่งผลให้อัตราปริมาณการให้สินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ใหม่ของธนาคารต่อปริมาณการจำหน่ายรถยนต์ใหม่เฉลี่ย (Penetration Rate) ใน 11 เดือนแรกของปี 2550 อยู่ที่ 9.8% เพิ่มขึ้นจาก 7.5% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน ในขณะที่ยอดขายรถยนต์ใหม่ภายในประเทศงวด 11 เดือนแรกของปี 2550 อยู่ที่ 566,906 คัน หรือลดลง 5.1%
สำหรับสินเชื่ออื่นๆ ของธนาคาร แบ่งออกเป็น สินเชื่อธุรกิจ 15,616.55 ล้านบาท (สัดส่วน 18.1%) เพิ่มขึ้น 7.2% และสินเชื่ออื่นๆ 6,119 ล้านบาท (สัดส่วน 7.1%) เพิ่มขึ้น 5.1%
เงินฝากออมทรัพย์-กระแสรายวันโต 48.8%
สำหรับเงินฝากและเงินกู้ยืมระยะสั้นในปี 2550 มีจำนวน 68,458.96 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2,170.82 ล้านบาท หรือ 3.3% จากปี 2549 โดยแบ่งเป็นเงินฝากประเภทเงินฝากออมทรัพย์และกระแสรายวัน 4,247.09 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 6.2%, เงินฝากประจำ 31,467.08 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 46.0% และเงินกู้ยืมระยะสั้น 32,744.79 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 47.8%
“สำหรับเงินฝากประเภทเงินฝากออมทรัพย์และกระแสรายวันมีอัตราการเติบโตที่โดดเด่น โดยเพิ่มขึ้นถึง 48.8% จากปี 2549 ซึ่งการขยายตัวดังกล่าวเป็นผลจากการที่ธนาคารได้ออกผลิตภัณฑ์บัญชีเงินฝากทั้ง 2 ชนิดในรูปแบบที่หลากหลายมากขึ้น”
ไฮไลท์ปี 50 ขยายสาขา – พัฒนาผลิตภัณฑ์ต่อเนื่อง
นางอรนุชกล่าวต่อไปว่า ในปี 2550 ธนาคารได้พัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงินต่างๆ เพื่อเพิ่มความสะดวกให้แก่ลูกค้ารายย่อยมากขึ้น อาทิ การออกบัตร “ทิสโก้ ไดเร็ก” ซึ่งเป็นบัตรเอทีเอ็มที่สามารถใช้ถอนเงินสดจากตู้เอทีเอ็มของทุกธนาคาร ทั่วประเทศได้โดยไม่เสียค่าธรรมเนียมและไม่จำกัดจำนวนครั้ง และยังสามารถใช้ในการทำธุรกรรมฝาก ถอน โอนเงินสดเข้าบัญชีที่ที่เคาน์เตอร์ธนาคารโดยไม่ต้องกรอกสลิป รวมถึงการเพิ่มทางเลือกในการฝากเงิน โดยร่วมมือกับ บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด เปิดบริการ “TISCO@POST” ฝากและชำระเงิน ณ ที่ทำการไปรษณีย์ทุกแห่งทั่วประเทศ เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกให้แก่ลูกค้าได้อย่างทั่วถึงยิ่งขึ้น
“นอกจากนี้ ในปีที่ผ่านมาเรายังได้เพิ่มจำนวนสาขาอีก 12 แห่ง เพื่อเพิ่มช่องทางการจำหน่ายและอำนวยความสะดวกในการบริการแก่ลูกค้าทั่วประเทศให้ได้อย่างทั่วถึง และในวันนี้ (14 ม.ค. 51) ได้เปิดสาขาล่าสุดคือสาขาย่อยอโศก ทำให้ปัจจุบันธนาคารทิสโก้มีสาขาทั้งสิ้น 28 สาขา แบ่งเป็นกรุงเทพและปริมณฑล 9 สาขา และต่างจังหวัด 19 สาขา
สำหรับเป้าหมายในปี 2551 ยังคงเป็นการเน้นการเพิ่มความสะดวกให้ลูกค้าอย่างต่อเนื่อง และการขยายฐานลูกค้ารายย่อยให้มากขึ้น โดยจะพัฒนาผลิตภัณฑ์ทางการเงินใหม่ๆ โดยเน้นลูกค้ารายย่อยมากขึ้น ทั้งนี้ได้ตั้งเป้าขยายฐานลูกค้าบัญชีเงินฝากทุกประเภทเพิ่มเป็น 1 แสนบัญชี จากปัจจุบันที่มีอยู่ประมาณ 3.5 หมื่นบัญชี “
เน้นการดำเนินธุรกิจตามมาตรฐาน รองรับการแข่งขันปี 51
นายปลิว กล่าวถึงแนวทางในการดำเนินธุรกิจในปี 2551 ว่าธนาคารจะมุ่งเน้นการดำเนินธุรกิจอย่างมีประสิทธิภาพและรอบคอบ เพื่อสร้างการเติบโตอย่างต่อเนื่องท่ามกลางสภาวะการแข่งขันที่รุนแรง และรองรับการเปลี่ยนแปลงกฎเกณฑ์และข้อบังคับต่างๆ ที่มีความเข้มงวดต่อสถาบันการเงินมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นพ.ร.บ. ธุรกิจสถาบันการเงิน, กฎเกณฑ์การดำรงเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงฉบับใหม่ หรือ Basel 2, มาตรฐานบัญชีฉบับใหม่ (IAS 39)
“จะเห็นได้จากปี 2550 ธนาคารมียอดสำรองค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญและค่าเผื่อการปรับมูลค่าจากการปรับโครงสร้างหนี้จำนวน 2,805.96 ล้านบาท หรือคิดเป็น 74.8% ของยอดหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ ซึ่งสูงกว่าเกณฑ์ขั้นต่ำของธนาคารแห่งประเทศไทยที่เท่ากับ 2,085.20 ล้านบาท ตามนโยบายการตั้งสำรองอย่างระมัดระวัง เพื่อเป็นการป้องกันความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นต่อการดำเนินงาน ทั้งนี้ธนาคารทิสโก้ได้ใช้หลักเกณฑ์มาตรฐานบัญชีฉบับใหม่ หรือ IAS 39 ครบถ้วนทั้ง 3 เฟสแล้วตั้งแต่กลางปี 2550”
นอกจากนี้การดำรงเงินกองทุนตามเกณฑ์ของธนาคารแห่งประเทศไทยและสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ยังอยู่ในระดับที่เพียงพอต่อการขยายตัวในอนาคต โดยฐานะเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงของธนาคาร (BIS Ratio) ได้ปรับตัวลดลงจากร้อยละ 13.42 ณ สิ้นปี 2549 มาอยู่ที่ร้อยละ 11.92 ณ สิ้นปี 2550 ตามการขยายตัวอย่างต่อเนื่องของเงินให้สินเชื่อ โดยเงินกองทุนขั้นที่ 1 ต่อสินทรัพย์เสี่ยงของธนาคาร (Tier-1)ลดลงจากร้อยละ 12.73 ณ สิ้นปี 2549 มาอยู่ที่ร้อยละ 11.55 ณ สิ้นปี 2550 โดยอัตราส่วนการดำรงเงินกองทุนดังกล่าวยังคงสูงกว่าอัตราขั้นต่ำร้อยละ 8.50 และ 4.25 ที่กำหนดโดยธนาคารแห่งประเทศไทย
“จากผลประกอบการในปีที่ผ่านมา สะท้อนให้เห็นว่าธนาคารทิสโก้ถึงจะเป็นธนาคารขนาดเล็ก แต่ก็มีคุณภาพ เพราะเราดำเนินธุรกิจอย่างระมัดระวังรอบคอบ ทำให้เราไม่ได้รับผลกระทบใดๆ จากการเปลี่ยนแปลงกฎหมายทางการเงินต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นในปี 2551 เพราะเราได้เตรียมความพร้อมต่อการเปลี่ยนแปลงมาโดยตลอด และเชื่อมั่นว่าในปี 2551 เป็นปีที่เราจะยังคงมุ่งมั่นรักษาคุณภาพของการดำเนินงานเอาไว้ได้ต่อไป” นายปลิว กล่าว