สถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มชะลอตัวลงในปี 2551 โดยมีสาเหตุสำคัญจากสหรัฐฯ ซึ่งเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับที่ 1 ของโลก ต้องเผชิญกับการชะลอตัวทางเศรษฐกิจ โดยมีสาเหตุสำคัญจากปัญหาสินเชื่อคุณภาพต่ำในภาคอสังหาริมทรัพย์ ที่ส่งผลลุกลามไปยังภาคเศรษฐกิจอื่นๆ ของสหรัฐฯ จนอาจรุนแรงและมีแนวโน้มนำไปสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยของสหรัฐฯ การชะลอตัวของการบริโภคและการลงทุนอันเนื่องมาจากปัญหาของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ทำให้การนำเข้าสินค้าของสหรัฐฯ มีแนวโน้มชะลอตัวลงในปีนี้ ซึ่งส่งผลกระทบต่อประเทศที่ส่งออกสินค้าไปสหรัฐฯ รวมทั้งประเทศไทยด้วย การบรรเทาผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยจากการส่งออกไปสหรัฐฯ ที่มีแนวโน้มชะลอตัวลงในปีนี้ และการปรับตัวของไทยในระยะยาวไทยเพื่อรองรับต่อการเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์ในเศรษฐกิจโลก ไทยควรกระจายความเสี่ยงจากการพึ่งพาตลาดส่งออกหลักไม่กี่ตลาด โดยควรเน้นขยายการค้าและการลงทุนไปยังตลาดใหม่ๆ ที่มีศักยภาพ เช่น ตะวันออกกลาง รัสเซีย และยุโรปตะวันออก รวมถึงประเทศที่ไทยจัดทำข้อตกลงเขตการค้าเสรี (FTA) ด้วยทั้งในระดับทวิภาคี ได้แก่ อินเดีย ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และญี่ปุ่น รวมทั้ง FTA ระดับภูมิภาค ได้แก่ ความตกลงเขตการค้าเสรีที่อาเซียนจัดทำกับจีนและเกาหลีใต้ ส่วนความตกลง FTA ระหว่างอาเซียนกับญี่ปุ่นเจรจาได้ข้อสรุปแล้วและมีกำหนดลงนามความตกลง FTA ในปีนี้
เกาหลีใต้เป็นประเทศหนึ่งที่จัดทำความตกลง FTA กับอาเซียน ไทยควรขยายการค้าและการลงทุนกับเกาหลีใต้โดยใช้ประโยชน์จากความตกลง FTA อาเซียน-เกาหลีใต้ เนื่องจากปัจจุบันการค้าและการลงทุนระหว่างไทยกับเกาหลีใต้ยังมีมูลค่าไม่มากนัก จึงมีโอกาสขยายตัวได้อีกมาก ทั้งนี้ ความตกลงเปิดเสรีด้านการค้าสินค้าระหว่างอาเซียนกับเกาหลีใต้เริ่มมีผลบังคับใช้แล้วในเดือนกรกฎาคม 2550 (อาเซียน 9 ประเทศ ยกเว้นไทย) ส่วนความตกลงเปิดเสรีภาคบริการระหว่างอาเซียนกับเกาหลีใต้ คาดว่าจะมีผลบังคับใช้ในช่วงครึ่งแรกของปี 2551 หลังจากลงนามความตกลงฯ ในเดือนพฤศจิกายน 2550 (อาเซียน 9 ประเทศ ยกเว้นไทย) ขณะนี้ เกาหลีใต้และอาเซียนอยู่ระหว่างเจรจาเปิดเสรีด้านการลงทุน คาดว่าความตกลงเปิดเสรีระหว่างอาเซียนกับเกาหลีใต้ทั้งภาคสินค้า บริการ และการลงทุน จะทำให้เกาหลีใต้เข้ามาจัดตั้งฐานการผลิตสินค้าในอาเซียนมากขึ้น ซึ่งเป็นเป้าหมายของเกาหลีใต้ที่ต้องการเสริมขีดความสามารถการแข่งขันให้ทัดเทียมกับจีนและญี่ปุ่นในภูมิภาคอาเซียน เนื่องจากจีนเข้ามารุกตลาดอาเซียนโดยจัดทำความตกลง FTA อาเซียน-จีน ไปก่อน โดยเริ่มลดภาษีสินค้าภายใต้ความตกลง FTA กับอาเซียนเป็นประเทศแรกตั้งแต่ปี 2547 ตามมาด้วยการเปิดเสรีภาคบริการระหว่างอาเซียน-จีน ในเดือนกรกฎาคม 2550 และอยู่ระหว่างเจรจาเปิดเสรีด้านการลงทุน สำหรับญี่ปุ่น แม้ญี่ปุ่นยังไม่ได้ลงนามความตกลง FTA กับอาเซียน (กำหนดลงนาม FTA อาเซียน-ญี่ปุ่นในช่วงต้นปี 2551) แต่ญี่ปุ่นเข้ามามีบทบาทสำคัญด้านการค้าและการลงทุนในอาเซียน และได้จัดทำความตกลง FTA ทวิภาคีกับประเทศอาเซียนเรียบร้อยแล้วหลายประเทศ ได้แก่ สิงคโปร์ มาเลเซีย ไทย และอินโดนีเซีย
การค้าอาเซียน – เกาหลีใต้
ปัจจุบันเกาหลีใต้ถือเป็นคู่ค้าสำคัญอันดับ 5 ของอาเซียน รองจากญี่ปุ่น สหรัฐฯ สหภาพยุโรป และจีน ตามลำดับ มูลค่าการค้าระหว่างอาเซียนกับเกาหลีใต้ (ส่งออก+นำเข้า) คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 3.7 ของการค้าระหว่างประเทศของอาเซียน เกาหลีใต้เป็นฝ่ายเกินดุลการค้ากับอาเซียนมาโดยตลอด มูลค่าเกินดุลการค้าในเฉลี่ยปีละราว 18.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในช่วง 4 ปีมานี้ (2546-2549)
เกาหลีใต้นำเข้าสินค้าจากอาเซียนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในระหว่างปี 2546-2549 มูลค่านำเข้าของเกาหลีใต้จากอาเซียนเพิ่มขึ้นจาก 27 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2546 เป็น 41 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2549 แต่เป็นที่น่าสังเกตว่า สัดส่วนการนำเข้าของเกาหลีใต้จากอาเซียนเมื่อเทียบกับการนำเข้าทั้งหมดของเกาหลีใต้ลดลงในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา จากร้อยละ 15.3 ในปี 2545 เป็นร้อยละ 13.3 ในปี 2549 เช่นเดียวกับสัดส่วนการนำเข้าของเกาหลีใต้จากสหรัฐฯ และญี่ปุ่นที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง ขณะที่การนำเข้าของเกาหลีใต้จากจีนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจากร้อยละ 11.4 ในปี 2545 เป็นร้อยละ 15.7 ในปี 2549 ส่งผลให้จีนเป็นประเทศที่เกาหลีใต้นำเข้ามากเป็นอันดับ 2 รองจากญี่ปุ่น ตั้งแต่ปี 2548 เป็นต้นมา ขณะที่อาเซียนกลายเป็นประเทศที่เกาหลีใต้นำเข้ามากเป็นอันดับที่ 3 ของเกาหลีใต้ตั้งแต่ปี 2548 จนถึงปัจจุบัน จากก่อนหน้านี้ที่อาเซียนเป็นแหล่งนำเข้าสำคัญของเกาหลีใต้อันดับที่ 2 มาโดยตลอด เกาหลีใต้นำเข้าสินค้าจากอินโดนีเซียมากที่สุดในบรรดาประเทศอาเซียนทั้งหมด รองลงมา ได้แก่ มาเลเซีย สิงคโปร์ ไทย และฟิลิปปินส์ ตามลำดับ
การจัดทำความตกลง FTA อาเซียน-เกาหลีใต้ คาดว่าจะช่วยให้สินค้าส่งออกของอาเซียนรวมทั้งไทยมีขีดความสามารถในการแข่งขันด้านราคาที่ดีขึ้นในเกาหลีใต้ โดยเฉพาะการแข่งขันกับสินค้าราคาถูกจากจีนที่แย่งส่วนแบ่งตลาดของอาเซียนในเกาหลีใต้ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา (2545-2549) และคาดว่าจะทำให้ส่วนแบ่งตลาดสินค้าของอาเซียนในเกาหลีใต้เพิ่มขึ้น เนื่องจากความตกลง FTA อาเซียน-เกาหลีใต้กำหนดให้เกาหลีใต้ต้องยกเลิกภาษีสินค้าให้กับสินค้าส่งออกจากอาเซียน คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 90 ของรายการสินค้าทั้งหมดที่เกาหลีใต้นำเข้าจากอาเซียนภายในปี 2553 ผู้ประกอบการไทยควรเร่งเตรียมความพร้อมเพื่อใช้ประโยชน์จากการเปิดเสรีด้านสินค้าภายใต้ความตกลง FTA อาเซียน-เกาหลีใต้ ซึ่งขณะนี้การเจรจาเปิดตลาดสินค้าระหว่างไทยกับเกาหลีใต้ได้ข้อยุติแล้ว คาดว่าจะเริ่มลดภาษีภายใต้ FTA ภายในปี 2551 หลังจากที่อาเซียนอื่นๆ เริ่มใช้ประโยชน์จากการเปิดตลาดของเกาหลีใต้ภายใต้ FTA ไปก่อนแล้วตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2550 สินค้าส่งออกของไทยที่คาดว่าจะขยายตัวได้ดีจากการลดภาษีของเกาหลีใต้ภายใต้ FTA ได้แก่ อุปกรณ์ไฟฟ้า แผ่นชิ้นไม้อัด กากน้ำอ้อย เส้นด้าย กุ้งแช่เย็น แช่แข็ง แป้งมันสำปะหลัง และปลาหมึก
ภาคบริการและการลงทุน : อาเซียน-เกาหลีใต้
ทางการเกาหลีใต้มีนโยบายส่งเสริมให้นักลงทุนเกาหลีให้ออกไปลงทุนในต่างประเทศมากขึ้น มูลค่าเงินลงทุนออกนอกประเทศของเกาหลีใต้ (total invested) เพิ่มขึ้นจาก 5.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2547 เป็น 6.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2548 และ 10.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2549 สำหรับในปี 2550 มูลค่าการลงทุนนอกประเทศของเกาหลีใต้มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2550 มูลค่าการลงทุนนอกประเทศของเกาหลีใต้เพิ่มขึ้นร้อยละ 43 จาก 7.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในช่วงเดียวกันของปี 2549 เป็น 10.87 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
สำหรับการลงทุนของเกาหลีใต้ในอาเซียน มูลค่า FDI สะสมของเกาหลีใต้ในอาเซียนในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา (2545-2549) ราว 3.34 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 2 ของมูลค่า FDI ทั้งหมดในอาเซียนในช่วงเดียวกัน เกาหลีใต้ถือเป็นประเทศที่เข้ามาลงทุนโดยตรงในอาเซียนมากเป็นอันดับที่ 7 รองจากสหภาพยุโรป ญี่ปุ่น อาเซียน (ลงทุนกันเองภายในภูมิภาค) สหรัฐฯ ประเทศอเมริกากลางและใต้ และฮ่องกง ตามลำดับ เกาหลีใต้เข้ามาลงทุนในอาเซียนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงกว่า 3 ปีที่ผ่านมาจากมูลค่า FDI ของเกาหลีใต้ในอาเซียน 508 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2546 เพิ่มขึ้นเป็น 1,099 ล้านดลอลาร์สหรัฐฯ ในปี 2549
หากพิจารณาจากมูลค่าเงินลงทุนสะสมของเกาหลีใต้ในอาเซียนตั้งแต่ปี 2511-เดือนพฤศจิกายน 2548 พบว่าอินโดนีเซียเป็นประเทศที่เกาหลีใต้เข้าไปลงทุนโดยตรงมากที่สุด มูลค่า FDI สะสมของเกาหลีใต้ในอินโดนีเซียราว 2.24 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ รองลงมา ได้แก่ เวียดนาม (มูลค่า 1.53 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) สิงคโปร์ (1.16 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) ฟิลิปปินส์ (753 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) ไทย (725 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) และมาเลเซีย (497 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) ตามลำดับ
เกาหลีใต้มีบทบาทสำคัญด้านการลงทุนในเวียดนาม โดยเป็นประเทศที่เข้าไปลงทุนในเวียดนามมีมูลค่าสูงเป็นอันดับที่ 1 ของบรรดานักลงทุนต่างชาติทั้งหมดในเวียดนาม เป็นที่น่าสังเกตว่า มูลค่า FDI ของเกาหลีใต้ในเวียดนามขยายตัวอย่างรวดเร็วในระหว่างปี 2549-2550 จนเป็นประเทศในอาเซียนที่เกาหลีใต้เข้าไปลงทุนมากที่สุดในปี 2549-2550 เนื่องจากการเข้าเป็นสมาชิก WTO ของเวียดนามในเดือนมกราคม 2550 เป็นปัจจัยสำคัญที่ดึงดูดให้นักลงทุนต่างชาติเข้าไปลงทุนในเวียดนามเพิ่มขึ้น รวมถึงการที่เกาหลีใต้มีฐานการผลิตอยู่ก่อนแล้วในเวียดนาม จึงเร่งเข้าไปลงทุนเพิ่มขึ้นเพื่อใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ และค่าแรงงานราคาต่ำในเวียดนาม
มูลค่าเงินลงทุนของเกาหลีใต้ในอาเซียนมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่องในปี 2550 โดยในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2550 มูลค่าการลงทุน FDI ของเกาหลีใต้ในประเทศอาเซียนที่เป็นแหล่งลงทุนสำคัญของเกาหลีใต้ขยายตัวถ้วนหน้า ได้แก่ เวียดนาม อินโดนีเซีย กัมพูชา ฟิลิปปินส์ และไทย โดยเกาหลีใต้เข้ามาลงทุนในอาเซียนในโครงการลงทุนหลายประเภท ที่สำคัญ ได้แก่ ด้านก่อสร้างในเวียดนามและกัมพูชา โครงการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ในกัมพูชา โครงการด้านเหมืองแร่ในมาเลเซีย และการลงทุนด้านแร่และเซรามิกส์ และภาคบริการในไทย
– การลงทุนของเกาหลีใต้ในไทยขยายตัวปี 2549-2550
แม้ว่ามูลค่า FDI ของเกาหลีใต้ในไทยยังไม่มากนักเมื่อเทียบกับการลงทุนของเกาหลีใต้ในประเทศอาเซียนอย่างเวียดนาม อินโดนีเซีย และสิงคโปร์ แต่ในช่วง 2 ปีมานี้ (2549-2550) การลงทุนโดยตรงของเกาหลีใต้ในไทยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยมูลค่าโครงการลงทุนของเกาหลีใต้ที่ยื่นขออนุมัติส่งเสริมการลงทุนในไทยขยายตัวปีละกว่าเท่าตัว จากมูลค่าโครงการลงทุนของเกาหลีใต้ที่ยื่นขออนุมัติการลงทุนในไทย 2,332 ล้านบาทในปี 2548 เพิ่มขึ้นเป็น 5,230 ล้านบาทในปี 2549 และ 11,568 ล้านบาทในปี 2550 ทั้งนี้ ในปี 2550 โครงการลงทุนของนักลงทุนเกาหลีใต้ที่ยื่นขอส่งเสริมการลงทุนในไทยมีมูลค่าสูงเป็นอันดับที่ 4 ในบรรดาประเทศเอเชียทั้งหมดที่ยื่นของส่งเสริมการลงทุนในไทย รองจากญี่ปุ่น สิงคโปร์ และจีน ตามลำดับ
เป็นที่น่าสังเกตว่า ในปี 2550 นักลงทุนจากเกาหลีใต้สนใจเข้ามาลงทุนในไทยในประเภทการลงทุนที่หลากหลายมากขึ้น จากก่อนหน้านี้ที่การลงทุนของเกาหลีใต้ส่วนใหญ่กระจุกตัวอยู่ในภาคอุตสาหกรรม โดยเฉพาะเครื่องไฟฟ้า/อิเล็กทรอนิกส์ และเหล็กและเครื่องจักรกล แต่ในปี 2550 ประเภทโครงการลงทุนที่มีมูลค่าสูงสุด 2 อันดับแรกของเกาหลีใต้ ได้แก่ แร่ธาตุและเซรามิกส์ และภาคบริการ ซึ่งถือเป็นประเภทโครงการลงทุนที่เกาหลีใต้เข้ามาลงทุนในไทยค่อนข้างน้อยในอดีตที่ผ่านมา มูลค่าโครงการลงทุนของเกาหลีใต้ที่เข้ามายื่นขออนุมัติส่งเสริมการลงทุนในไทยมีมูลค่าสูงสุดในปี 2550 ได้แก่ แร่ธาตุและเซรามิกส์ (สัดส่วนร้อยละ 44.8) รองลงมา ได้แก่ ภาคบริการ (สัดส่วนร้อยละ 23.2) เครื่องไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ (สัดส่วนร้อยละ 14.9) เหล็กและเครื่องจักรกล (ร้อยละ 13.2) และเคมีภัณฑ์และกระดาษ (ร้อยละ 3.7) ตามลำดับ
สาเหตุสำคัญที่นักลงทุนจากเกาหลีใต้สนใจเข้ามาลงทุนในไทยเพิ่มขึ้นในระหว่างปี 2549-2550 เนื่องจากการดำเนินนโยบายเปิดเสรีทางการค้า (FTA) ทวิภาคีของไทยในเชิงรุกกับหลายประเทศตั้งแต่ปี 2547 เป็นต้นมา ได้แก่ ความตกลง FTA ทวิภาคีที่ไทยจัดทำกับออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ อินเดีย และญี่ปุ่น ซึ่งส่งผลให้นักลงทุนเกาหลีใต้เล็งเห็นถึงประโยชน์ในการเข้ามาจัดตั้งฐานการผลิตในไทยเพื่อส่งออกไปยังตลาดที่ไทยจัดทำความตกลง FTA ได้มากขึ้นจากสิทธิประโยชน์ภายใต้ FTA โดยคาดว่าประเทศที่สำคัญที่เกาหลีใต้ตั้งเป้าหมายขยายตลาดส่งออก ได้แก่ อินเดีย ซึ่งไทยได้จัดทำความตกลง FTA ทวิภาคีกับอินเดีย โดยเริ่มต้นลดภาษีสินค้า 82 รายการระหว่างไทยกับอินเดียตั้งแต่เดือนกันยายน 2547 จนยกเลิกภาษีสินค้ารายการดังกล่าวในเดือนกันยายน 2549 (ภาษีสินค้า 82 รายการเหลือ 0%) ซึ่งสินค้า 82 รายการนี้ครอบคลุมถึงสินค้าเครื่องจักรกลและส่วนประกอบ (พิกัด 84) และเครื่องไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ (พิกัด 85) ซึ่งเกาหลีใต้เป็นประเทศผู้ผลิตและส่งออกสินค้าทั้งสองรายการนี้ในอันดับชั้นนำของโลก และเกาหลีใต้เข้ามาลงทุนผลิตสินค้าเครื่องจักรกลและส่วนประกอบและเครื่องไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ในไทย โดยเป็นประเภทโครงการลงทุนที่เกาหลีใต้เข้ามายื่นขอส่งเสริมการลงทุนในไทยมีมูลค่าสูงในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา
แนวโน้มการลงทุนของเกาหลีใต้ในอาเซียน
เกาหลีใต้มีแนวโน้มเข้ามาลงทุนในอาเซียนมากขึ้น คาดว่ามูลค่าเงินลงทุนโดยตรงจากเกาหลีใต้ (FDI) ในอาเซียนรวมทั้งไทยมีแนวโน้มขยายตัวจากปัจจุบันราว 1.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เป็นกว่า 1.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยปัจจัยสนับสนุนของการเข้ามาลงทุนของเกาหลีใต้ในอาเซียนมีหลายประการ นอกจากผลดีจากปัจจัยบวกภายในประเทศอาเซียนด้านแรงงานราคาถูกของเวียดนาม อินโดนีเซีย กัมพูชา ลาว และพม่า รวมถึงทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ในหลายประเทศอาเซียน เช่น เวียดนาม อินโดนีเซีย กัมพูชา ลาว และพม่า แล้ว การลดกฎระเบียบและผ่อนคลายเงื่อนไขด้านการค้าและการลงทุนตามความตกลงเปิดเสรี (FTA) ในหลายระดับช่วยให้อาเซียนเป็นแหล่งดึงดูด FDI จากต่างประเทศได้มากขึ้น ดังนี้
การเปิดเสรีภายในกลุ่มอาเซียน
การค้าภายในกลุ่มอาเซียนได้รับสิทธิพิเศษทางภาษีจากความตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน (AFTA) ที่ภาษีศุลกากรของสินค้าในรายการลดภาษีจะถูกยกเลิกในปี 2553 จากปัจจุบันที่อัตราภาษีอยู่ในระดับต่ำกว่าร้อยละ 5 โดยอาเซียนตั้งเป้าหมายการเป็นฐานการผลิตร่วมกัน เกาหลีใต้เล็งเห็นถึงผลดีของการรวมตัวของตลาดอาเซียนที่ทำให้อาเซียนเป็นตลาดเดียวกันและมีฐานการผลิตร่วมกัน ทำให้สามารถนำเข้าวัตถุดิบหรือส่วนประกอบจากอีกประเทศอาเซียนหนึ่งได้โดยเสียภาษีในอัตราที่ต่ำภายใต้กรอบ AFTA จึงมีแนวโน้มขยายฐานการผลิตเข้ามาในอาเซียนมากขึ้น
ขณะนี้บริษัทผลิตรถยนต์ขนาดใหญ่ระดับโลกของเกาหลีใต้ วางแผนเข้ามาจัดตั้งฐานการผลิตรถยนต์ในอาเซียนหลายประเทศรวมทั้งไทยด้วย โดยตั้งเป้าหมายผลิตรถยนต์คนละรุ่นในประเทศอาเซียนตามศักยภาพการผลิตรถยนต์ของแต่ละประเทศอาเซียน และส่งออกระหว่างกันภายในภูมิภาคอาเซียน โดยอาศัยประโยชน์จากสิทธิพิเศษทางภาษีภายใต้ข้อตกลง AFTA ในการส่งออกภายในกลุ่มอาเซียน ซึ่งบริษัทรถยนต์เกาหลีใต้ตั้งเป้าหมายเข้ามาทำตลาดรถยนต์ในอาเซียนมากขึ้นเนื่องจากปัจจุบันยังมีตลาดรถยนต์เกาหลีใต้ในภูมิภาคอาเซียนไม่มากนัก เพื่อสนับสนุนให้บริษัทรถยนต์ของเกาหลีใต้เป็นบริษัทผู้ผลิตรถยนตร์ชั้นนำเป็นอันดับที่ 5 ของโลกภายในปี 2553 จากปัจจุบันเป็นบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ที่ใหญ่เป็นอันดับ 6 ของโลก คาดว่ามูลค่า FDI ของเกาหลีใต้ในอาเซียนจะเพิ่มขึ้นจากการเข้ามาตั้งฐานการผลิตรถยนต์ในอาเซียนด้วย
นอกจากการเปิดเสรีด้านการค้าสินค้าของอาเซียนแล้ว อาเซียนตั้งเป้าหมายเปิดเสรีภาคบริการ การลงทุน และการเคลื่อนย้ายแรงงาน รวมทั้งการเคลื่อนย้ายเงินทุนที่เสรีมากขึ้นภายในปี 2558 เป็นมาตรการเสริมสร้างบรรยากาศด้านการลงทุนของอาเซียนที่จะทำให้อาเซียนเป็นแหล่งดึงดูดเงินลงทุนจากนอกภูมิภาคมากขึ้น
การเปิดเสรีภายใต้ความตกลง FTA อาเซียน-เกาหลีใต้
– การเปิดเสรีการค้าสินค้า – การลดภาษีศุลกากรสินค้านำเข้าของอาเซียนให้กับสินค้าส่งออกจากเกาหลีใต้ภายใต้ FTA อาเซียน-เกาหลีใต้ จูงใจให้นักลงทุนเกาหลีใต้เข้ามาตั้งฐานการผลิตในอาเซียนและไทยมากขึ้น เนื่องจากสินค้าวัตถุดิบ/กึ่งสำเร็จรูปและสินค้าทุนที่จำเป็นต้องนำเข้าจากเกาหลีใต้เพื่อนำมาผลิตในอาเซียนเสียอัตราภาษีนำเข้าต่ำลงตามข้อผูกพันที่อาเซียนต้องลดภาษีศุลกากรให้สินค้า ส่งออกของเกาหลีใต้ภายใต้ FTA อาเซียน-เกาหลีใต้ ส่งผลให้ต้นทุนการผลิตลดลงด้วย
– การเปิดเสรีภาคบริการ – อาเซียนเปิดให้นักลงทุนเกาหลีใต้เข้ามาลงทุนภาคบริการในอาเซียนราว 40 สาขา ที่สำคัญ เช่น บริการด้านการศึกษา สุขภาพ ท่องเที่ยว เทคโนโลยีสารสนเทศ และการบินและโครงข่ายระบบขนส่ง (โลจีสติกส์) ซึ่งคาดว่าจะเริ่มมีผลบังคับใช้ในปี 2551 ทำให้เงินลงทุนโดยตรงจากเกาหลีใต้มีแนวโน้มเข้ามาลงทุนในภาคบริการของอาเซียนมากขึ้น จากการลดเงื่อนไข/กฎระเบียบด้านการลงทุนในภาคบริการให้กับนักลงทุนเกาหลีใต้ภายใต้ FTA อาเซียน-เกาหลีใต้
บทสรุปและข้อเสนอแนะ
การจัดทำความตกลง FTA อาเซียน-เกาหลีใต้ คาดว่าจะช่วยให้สินค้าส่งออกของอาเซียนรวมทั้งไทยมีขีดความสามารถในการแข่งขันด้านราคาที่ดีขึ้นในเกาหลีใต้ โดยเฉพาะการแข่งขันกับสินค้าราคาถูกจากจีนที่แย่งส่วนแบ่งตลาดของอาเซียนในเกาหลีใต้ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา (2545-2549) และคาดว่าจะส่งผลให้ส่วนแบ่งตลาดสินค้าของอาเซียนในเกาหลีใต้เพิ่มขึ้น เนื่องจากภายใต้ความตกลง FTA อาเซียน-เกาหลีใต้ เกาหลีใต้ต้องยกเลิกภาษีศุลกากรสินค้าในสัดส่วนร้อยละ 90 ของรายการสินค้าทั้งหมดที่เกาหลีใต้นำเข้าจากอาเซียนภายในปี 2553 สำหรับประเทศไทย ผู้ประกอบการไทยควรเร่งเตรียมความพร้อมเพื่อใช้ประโยชน์จากความตกลง FTA อาเซียน-เกาหลีใต้ ซึ่งขณะนี้การเจรจาเปิดตลาดสินค้าระหว่างไทยกับเกาหลีใต้ได้ข้อยุติแล้ว คาดว่าจะเริ่มลดภาษีภายใต้ FTA ได้ภายในปี 2551 หลังจากที่อาเซียนอื่นๆ เริ่มใช้ประโยชน์จากการเปิดตลาดของเกาหลีใต้ภายใต้ FTA ไปก่อนแล้วตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2550
สำหรับภาคบริการและการลงทุน เกาหลีใต้เข้ามาลงทุนในอาเซียนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา หากพิจารณามูลค่า FDI สะสมของเกาหลีใต้ในช่วงกว่า 30 ปีที่ผ่านมา อินโดนีเซียเป็นประเทศในอาเซียนที่เกาหลีใต้เข้าไปลงทุนมากที่สุด แต่ในช่วง 2 ปีมานี้ (2549-2550) เกาหลีใต้เข้ามาลงทุนในเวียดนามมากที่สุดในบรรดาประเทศอาเซียนทั้งหมด การลงทุนโดยตรงของเกาหลีใต้ในอาเซียนมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากปัจจัยสนับสนุนที่สำคัญ ได้แก่
1. สิทธิประโยชน์ด้านภาษีศุลกากรสำหรับการค้าภายในอาเซียนตามความตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน (ASEAN Free Trade Area : AFTA) ที่ทำให้เกาหลีใต้เล็งเห็นถึงผลดีของการเข้ามาลงทุนในอาเซียน และสามารถนำเข้าวัตถุดิบหรือส่วนประกอบจากอีกประเทศอาเซียนหนึ่งได้โดยเสียภาษีในอัตราที่ต่ำ (ไม่เกินร้อยละ 5) ภายใต้กรอบ AFTA
2. การเปิดเสรีด้านการค้าสินค้าและภาคบริการในกรอบความตกลง FTA อาเซียน-เกาหลีใต้ ที่ส่งผลให้การนำเข้าวัตถุดิบ/กึ่งสำเร็จรูปและสินค้าทุนจากเกาหลีใต้เข้าอาเซียนมีอัตราภาษีต่ำลงภายใต้การเปิดเสรีด้านสินค้าระหว่างอาเซียนกับเกาหลีใต้ นอกจากนี้ เกาหลีใต้สามารถเข้าไปจัดตั้งธุรกิจบริการในอาเซียนได้มากขึ้น เช่น บริการด้านการศึกษา สุขภาพ และท่องเที่ยว จากการลดกฎระเบียบ/เงื่อนไขของอาเซียนตามข้อตกลงเปิดเสรีภาคบริการระหว่างอาเซียนกับเกาหลีใต้
สำหรับประเทศไทย แม้มูลค่า FDI ของเกาหลีใต้ในไทยที่ผ่านมายังไม่สูงนัก แต่การลงทุนโดยตรงของเกาหลีใต้ในไทยในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา (2549-2550) ขยายตัวอย่างต่อเนื่องอย่างเห็นได้ชัด และประเภทโครงการลงทุนของเกาหลีใต้ที่ยื่นขออนุมัติส่งเสริมการลงทุนในไทยมีความหลากหลายมากขึ้นทั้งภาคการผลิตและภาคบริการ มูลค่า FDI ของเกาหลีใต้ในไทยที่เพิ่มขึ้น เป็นผลจากการดำเนินนโยบายเปิดเสรีในเชิงรุกของไทยในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะการจัดทำความตกลง FTA ทวิภาคีของไทยกับหลายประเทศ ทำให้เกาหลีใต้เห็นถึงประโยชน์ของการเข้ามาลงทุนในไทยและส่งออกไปยังประเทศที่สามที่ไทยจัดทำความตกลง FTA ด้วยซึ่งจะได้รับประโยชน์จากการลดภาษีศุลกากรภายใต้ความตกลง FTA ดังกล่าว รวมถึงนโยบายของทางการเกาหลีใต้ที่ส่งเสริมให้นักลงทุนเกาหลีใต้ออกไปลงทุนในต่างประเทศมากขึ้นด้วย มูลค่า FDI ของเกาหลีใต้ที่เพิ่มขึ้นในไทยส่งผลดีต่อการจ้างงานและสร้างรายได้ให้แรงงานไทย และกระตุ้นการการเติบโตของเศรษฐกิจไทยด้วย คาดว่าการเปิดเสรีของไทยภายใต้ความตกลง FTA ระดับต่างๆ ทั้งระดับทวิภาคี และภูมิภาคอาเซียน รวมถึง FTA อาเซียน-เกาหลีใต้ จะดึงดูดเงินลงทุนโดยตรงจากเกาหลีใต้ให้ขยายตัวในไทยมากขึ้น ขณะเดียวกันธุรกิจบริการไทยที่มีศักยภาพ เช่น ร้านอาหาร และโรงแรม มีโอกาสขยายการลงทุนไปเกาหลีใต้ จากการเปิดเสรีภาคบริการของความตกลง FTA อาเซียน-เกาหลีใต้ ที่เกาหลีใต้เปิดให้นักลงทุนอาเซียนสามรถเข้าไปลงทุนถือหุ้นได้ทั้งหมด (สัดส่วนร้อยละ100) ในหลายสาขา ที่สำคัญ เช่น โรงแรม ภัตตาคาร ธุรกิจบันเทิง และบริการทำความสะอาด
ไทยต้องแข่งขันดึงดูดการลงทุนจากเกาหลีใต้กับประเทศอาเซียนอื่นๆ ด้วย โดยปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างชาติในไทยในสถานการณ์ปัจจุบัน ได้แก่ เสถียรภาพของรัฐบาลจากการเลือกตั้ง ความชัดเจนของการปรับปรุงกฎหมายด้านเศรษฐกิจ ที่สำคัญ ได้แก่ พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว ที่กำหนดเงื่อนไขและประเภทธุรกิจที่อนุญาตให้ต่างชาติเข้ามาลงทุน และ พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจค้าปลีกค้าส่ง ที่วางกติกาด้านค้าปลีกค้าส่งเพื่อให้ผู้เกี่ยวข้องในธุรกิจนี้อยู่ร่วมกันได้ รวมถึงนโยบายการค้าระหว่างประเทศ และความชัดเจนของการจัดทำกฎหมายการเจรจาเปิดเสรีระหว่างประเทศของไทย นอกจากนี้ การพัฒนาระบบโลจีสติกส์ให้มีประสิทธิภาพเพื่อลดต้นทุนทางธุรกิจ การพัฒนาด้านการศึกษาเพื่อสร้างแรงงานที่มีทักษะให้ตรงกับความต้องการของภาคอุตสาหกรรม เป็นสิ่งสำคัญที่จะปรับปรุงประสิทธิภาพการดำเนินธุรกิจเพื่อเสริมสร้างศักยภาพการแข่งขันของภาคธุรกิจ/อุตสาหกรรมภายในประเทศไทยเอง และเพื่อรองรับการเติบโตของภาคอุตสาหกรรมและภาคบริการในประเทศจากเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศในไทยด้วย