ตรุษจีนปี 51 : ทองคำแพง-ค่าครองชีพสูง…โจทย์ที่พ่อค้าทองต้องคิดหนัก

การที่ราคาทองคำแท่งภายในประเทศมีการปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจากราคาขายเฉลี่ยบาทละกว่า 7,000 บาทในปี 2546 และขยับเพิ่มขึ้นเป็นเฉลี่ยบาทละ 10,000 บาทในเดือนธันวาคมปี 2548 จนเพิ่มขึ้นเป็นบาทละกว่า 10,000 บาทในปี 2549 กระทั่งทะลุถึงบาทละ 13,300 บาทเดือนธันวาคม 2550 ส่งผลให้ยอดซื้อทองคำรูปพรรณในปี 2550 ลดลงมากกว่าร้อยละ 10 และมีผลให้ธุรกิจร้านค้าทองซบเซาต่อเนื่องมา 2-3 ปีแล้ว ขณะที่เมื่อเริ่มเปิดศักราชใหม่ปี 2551 ราคาขายทองคำแท่งก็ยังคงทะยานตัวเพิ่มขึ้นอีกเป็นบาทละ 14,350 บาท ตามทิศทางราคาทองคำต่างประเทศ เนื่องจากราคาน้ำมันที่ใกล้ถึงระดับ 100 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล รวมถึงภาวะค่าเงินดอลลาร์สหรัฐที่อ่อนลงอย่างหนัก ทำให้ภาวะตลาดราคาทองคำในประเทศไต่ระดับสู่ราคาที่สูงมากเป็นประวัติการณ์อย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในประเทศไทย ประกอบกับค่าครองชีพของผู้บริโภคภายในประเทศในปี 2551 ที่ยังคงมีแนวโน้มทรงตัวในระดับสูง จึงมีความเป็นไปได้ว่าผู้บริโภคภายในประเทศส่วนใหญ่น่าจะมีพฤติกรรมการใช้จ่ายที่ระมัดระวังมากขึ้นในปี 2551 ดังนั้นบรรยากาศการซื้อขายทอง รวมถึงเครื่องประดับทองในเมืองไทยในปี 2551 โดยเฉพาะในช่วงตรุษจีนปีนี้จึงน่าจะซบเซาพอสมควร ขณะเดียวกันโอกาสที่มูลค่าการส่งออกทองคำที่ยังไม่ได้ขึ้นรูปในปี 2551 จะเติบโตต่อเนื่องจากปี 2550 ที่เติบโตถึงร้อยละ 164.8 ก็มีความเป็นไปได้สูง เนื่องจากผู้ค้าทองคำอาจจะมีการส่งออกทองคำแท่งไปจำหน่ายยังต่างประเทศมากขึ้น เพื่อหารายได้ทดแทนเช่นเดียวกันปี 2550 ที่ผ่านมา

ตลาดทองคำในประเทศ
สำหรับสถานการณ์ของตลาดทองคำภายในประเทศ และแนวโน้มปี 2551 นั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เห็นว่ามีประเด็นที่น่าสนใจดังนี้

ปัจจัยที่มีผลกระทบต่อราคาทองคำในประเทศ ทั้งนี้มีความเป็นไปได้ว่าในปี 2551 ราคาทองคำในประเทศมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นมากกว่าลดลง โดยจะขึ้นกับทิศทางราคาในต่างประเทศเป็นหลัก สำหรับปัจจัยที่จะส่งผลต่อราคาทองคำนั้นประกอบด้วย1.ทิศทางของค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ โดยราคาทองคำมักจะเคลื่อนไหวในทิศทางตรงกันข้ามกับค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ ดังนั้นเมื่อค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯมีแนวโน้มอ่อนค่าต่อเนื่องในปี 2551 โอกาสที่ราคาทองคำจะปรับตัวสูงขึ้นอีกก็มีความเป็นไปได้ เนื่องจากได้รับแรงกระตุ้นจากบรรดานักลงทุนที่ต้องการถือครองทองคำ เพื่อเป็นแหล่งลงทุนทำกำไรมากขึ้นแทนการเล็งเก็งกำไรค่าเงินสกุลดอลลาร์ ทั้งนี้ทั้งนั้นราคาทองคำจะปรับตัวมากหรือน้อยนั้นก็ต้องขึ้นกับความรุนแรงของทิศทางการปรับตัวของค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯด้วย 2.ทิศทางราคาน้ำมัน ความเคลื่อนไหวของราคาน้ำมันกับราคาทองนั้นมักจะเป็นไปในทิศทางเดียวกัน ดังนั้นเมื่อมีปัจจัยใดที่มากระทบต่อราคาน้ำมันก็จะส่งผลถึงราคาทองคำด้วยเช่นกัน ซึ่งการที่ราคาน้ำมันในปี 2551 ยังคงทรงตัวในระดับสูง ก็น่าจะส่งผลให้ราคาทองคำในประเทศปี 2551 ทรงตัวในระดับสูงเช่นกัน 3.สถานการณ์ทางการเมืองทั้งในประเทศและต่างประเทศ หากการเมืองไม่ว่าจะเป็นภายในประเทศหรือต่างประเทศเกิดความวุ่นวายก็มักจะส่งผลให้ราคาทองคำมีการปรับตัวสูงขึ้น ตามความต้องการของผู้บริโภคต่อทองคำที่สูงขึ้นเพื่อประกันความเสี่ยง เพราะนอกจากทองคำจะเป็นสินทรัพย์ที่มั่นคงแล้ว ยังมีสภาพคล่องสูงด้วย โดยสามารถขายคืนเปลี่ยนเป็นเงินสดได้ง่ายตามราคาตลาด 4.นโยบายทางเงินและอัตราดอกเบี้ย นับเป็นปัจจัยที่ส่งผลกระทบทางอ้อมผ่านทางการเคลื่อนไหวของอัตราแลกเปลี่ยน อันเป็นผลกระทบมาจากการปรับตัวของอัตราดอกเบี้ยของประเทศต่างๆ และภาวะเศรษฐกิจของประเทศ ดังนั้นในกรณีที่ธนาคารกลางสหรัฐฯมีแนวโน้มจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง ที่มีผลให้ความต้องการเงินดอลลาร์ลดลง และค่าเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐฯก็มีแววอ่อนค่าลงได้อีก ย่อมส่งผลต่อนื่องให้ทิศทางต้องการถือครองทองคำก็จะสูงขึ้น และกระตุ้นให้ราคาทองมีแนวโน้มทรงตัวในระดับสูงต่อไปในปี 2551

การเติบโตของตลาดเครื่องประดับทองคำภายในประเทศในปี 2551 คาดว่าในระยะสั้นความต้องการเครื่องประดับซึ่งนับเป็นสินค้าฟุ่มเฟือยอาจจะชะลอตัวลง เนื่องจากผู้บริโภคไม่มีความมั่นใจต่อรายได้ในอนาคต ขณะที่ในระยะยาวความต้องการยังคงขึ้นอยู่กับราคาทองเป็นหลัก ควบคู่กับระดับความมั่นใจของผู้บริโภคในประเทศ โดยปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญคือ การปรับตัวของค่าครองชีพตลอดจนแนวโน้มการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยที่ส่งผลกระทบต่อกำลังซื้อ เนื่องมาจากการปรับขึ้นราคาสินค้าอุปโภคบริโภคตามราคาน้ำมันที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้ภาระรายจ่ายในชีวิตประจำวันของผู้บริโภคมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น ขณะที่ราคาทองคำที่มีแนวโน้มปรับตัวในทิศทางที่เพิ่มขึ้นได้อีกตามความต้องการถือครองหรือลงทุนในทองคำแท่งนั้น ก็มีส่วนสำคัญให้ความต้องการซื้อเครื่องประดับทองซึ่งนับเป็นสินค้าฟุ่มเฟือยชะลอตัวลงได้ และอาจจะมีผลให้ธุรกิจร้านค้าทองภายในประเทศซบเซาต่อเนื่องไปอีก ขณะที่ ปัจจัยบวกนั้นก็น่าจะมาจากนโยบายผลักดันเศรษฐกิจของรัฐบาลชุดใหม่ที่มาจากการเลือกตั้ง หากมีการทำตามนโยบายที่ใช้ในการหาเสียงเลือกตั้งเมื่อปลายปี 2550 โดยเฉพาะการลงทุนโครงการขนาดใหญ่ของภาครัฐ อาทิ การดำเนินการโครงการรถไฟฟ้า และโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญอื่นๆ เพื่อนำไปสู่การผลักดันภาคการผลิต และการจ้างงาน ที่น่าจะกระตุ้นให้การลงทุนของภาคเอกชนและความเชื่อมั่นของผู้บริโภคต่อรายได้ในอนาคตฟื้นตัวขึ้นได้

การเติบโตของการลงทุนทองคำแท่งภายในประเทศปี 2551 คาดว่าทองคำยังคงเป็นที่ต้องการของนักลงทุนในปี 2551 ต่อเนื่องจากปี 2550 เนื่องจากราคาทองไม่ได้ผันผวนเป็นรายวันเหมือนตลาดหุ้น อีกทั้งยังเป็นสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงต่ำ และสภาพคล่องสูง ประกอบกับผลตอบแทนจากอัตราดอกเบี้ยในปัจจุบันก็ไม่จูงใจมากนัก แต่ทั้งนี้ผลตอบแทนการลงทุนในทองคำปี 2551 อาจจะไม่หวือหวาเท่ากับปี 2550 ที่ผ่านมาที่ราคาทองคำมีการปรับตัวในช่วงปลายปีสูงขึ้นมากจากช่วงต้นปี 2550 โดยกลุ่มลูกค้าที่ซื้อทองคำแท่งผ่านร้านค้าทองส่วนใหญ่น่าจะเป็นกลุ่มหนุ่มสาววัยทำงานที่นิยมบริหารจัดการทางการเงินด้วยการออมและลงทุนในทองคำแท่ง โดยเฉพาะทองคำแท่งขนาดเล็กที่มีน้ำหนักประมาณ 1-2 บาท จึงน่าจะเป็นอีกช่องทางหนึ่งสำหรับร้านค้าทองในช่วงทองรูปพรรณซบเซา

ทองคำแพง…เศรษฐกิจซบ : กระทบน้ำหนักทองที่แจกอั่งเปาของคนกรุงฯ

จากการสำรวจพฤติกรรมการแจกอั่งเปาของคนกรุงเทพฯโดย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ในระหว่างวันที่ 18-25 มกราคม 2551 ที่ผ่านมา ด้วยจำนวนกลุ่มตัวอย่าง 232 รายในระหว่างอายุ 15-65 ปี พบว่ามีประเด็นที่น่าสนใจดังต่อไปนี้

คนกรุงฯส่วนใหญ่ยังคงแจกทองเป็นอั่งเปา กลุ่มตัวอย่างประมาณร้อยละ 59.2 วางแผนที่จะแจกอั่งเปาเพื่อเฉลิมฉลองเทศกาลตรุษจีนปี 2551 (ค่อนข้างใกล้เคียงกับสัดส่วนปีที่แล้วที่สัดส่วนของคนกรุงเทพฯที่มีการแจกอั่งเป่านั้นเป็นร้อยละ 58.6) ขณะที่กลุ่มที่ไม่แจกอั่งเปาในปีนี้นั้นมีสัดส่วนร้อยละ 40.8 (เดิมสัดส่วนร้อยละ 41.4 ) ส่วนประเภทของอั่งเปาที่คนกรุงเทพฯนิยมแจกส่วนใหญ่ในปีนี้ยังคงเป็นทอง/เครื่องประดับทอง หรือคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 56.0 ของคนกรุงฯที่แจกอั่งเปา ขณะที่กลุ่มที่แจกอั่งเปาเป็นเงินสดนั้นมีสัดส่วนร้อยละ 44.0 โดยเป็นที่น่าสังเกตว่ากลุ่มที่เคยแจกเงินในปีที่แล้ว ส่วนใหญ่ก็จะแจกเงินเป็นอั่งเปาในปีนี้ เช่นเดียวกันกับกลุ่มที่เคยแจกอั่งเปาเป็นทองในปีที่แล้วก็ยังคงนิยมแจกทองในปีนี้เป็นส่วนใหญ่ แต่กลุ่มที่ได้รับการแจกอั่งเปาเป็นทองตามธรรมเนียมในเทศกาลตรุษจีนในยุคทองแพงในปีนี้ส่วนใหญ่จะเป็นบุคคลใกล้ตัวอย่างกลุ่มลูกหลาน ตามมาด้วยกลุ่มญาติผู้ใหญ่

งบประมาณในการแจกอั่งเปาเป็นทองยังคงใกล้เคียงปีก่อนหน้า สำหรับงบประมาณในการซื้อทองเพื่อนำมาแจกอั่งเปาในช่วงตรุษจีนปี 2551 นั้นพบว่ากลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่มีการตั้งงบประมาณเท่าเดิมหรือใกล้เคียงกับปีก่อน คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 56.5 ของกลุ่มตัวอย่างที่แจกอั่งเปาเป็นทอง โดยอาจจะเลือกลดน้ำหนักทองที่จะแจก หรือลดจำนวนคนที่จะแจกลง ทั้งนี้เมื่อสอบถามถึงภาวะเศรษฐกิจที่เผชิญในปัจจุบันไม่ว่าจะเป็นราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้น หรือค่าครองชีพที่เพิ่มขึ้น และราคาทองที่แพงขึ้นว่ามีผลต่อการแจกอั่งเปาที่เป็นทองในปีนี้หรือไม่นั้น ก็พบว่ากลุ่มตัวอย่างกว่าร้อยละ 40 ได้รับผลกระทบ โดยส่วนหนึ่งได้ปรับลดงบประมาณลงด้วยการลดน้ำหนักทองที่แจกต่อคนเป็นส่วนใหญ่(สัดส่วนร้อยละ 73.3 ของกลุ่มที่มีงบประมาณลดลง) นอกนั้นเป็นการลดจำนวนคนที่แจกลง อันเนื่องมาจากอัตราการเพิ่มขึ้นของรายได้น้อยกว่าอัตราการเพิ่มขึ้นของรายจ่าย ขณะที่อีกส่วนหนึ่งจำเป็นต้องปรับเพิ่มงบประมาณ อันเนื่องมาจากต้องจับจ่ายเงินเพิ่มขึ้นตามราคาทองในน้ำหนักทองที่เท่าเดิมเป็นส่วนใหญ่(ประมาณสัดส่วนร้อยละ 67.6 ของกลุ่มที่มีงบประมาณเพิ่มขึ้น) โดยราคาขายทองรูปพรรณ 96.5% ณ วันที่ 31 มกราคม 2551 สูงขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อนถึงประมาณร้อยละ 30 นอกนั้นเป็นผลมาจากจำนวนคนที่ต้องแจกเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะในกลุ่มลูกหลานที่มีจำนวนเพิ่มขึ้น และน้ำหนักทองที่แจกต่อคนเพิ่มขึ้น

น้ำหนักทอง 1 บาท ยังคงเป็นที่นิยม แต่มีสัดส่วนลดลง โดยพบว่าในปีนี้คนกรุงเทพฯส่วนใหญ่จะจัดซื้อทองที่มีน้ำหนัก 1 บาทเป็นอั่งเปาคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 36.9 ตามมาด้วยการซื้อทองน้ำหนัก 50 สตางค์(สัดส่วนร้อยละ 34.1) ทองน้ำหนัก 25 สตางค์(สัดส่วนร้อยละ 26.1) และทองน้ำหนัก 2 บาท(สัดส่วนร้อยละ 2.9) ขณะที่ปีก่อนก็เลือกซื้อทองน้ำหนัก 1 บาทเป็นส่วนใหญ่เช่นกัน แต่เป็นที่น่าสังเกตว่าน้ำหนักทองที่ต่ำกว่า 1 บาทนั้นได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้นในปีนี้ จากเดิมกลุ่มคนที่เคยเลือกซื้อทองน้ำหนักต่ำกว่า 1 บาทเป็นสัดส่วนร้อยละ 50 ก็ปรับเพิ่มขึ้นเป็นสัดส่วนร้อยละ 60.2 ของกลุ่มตัวอย่างในปีนี้ โดยเฉพาะทองคำน้ำหนัก 25 สตางค์ที่เดิมกลุ่มที่ซื้อมีสัดส่วนร้อยละ 19.5 ก็ปรับเพิ่มขึ้นเป็นสัดส่วนร้อยละ 26.1 ของกลุ่มตัวอย่างในปีนี้ ขณะที่ทองที่มีน้ำหนัก 1 บาทนั้นกลุ่มที่ซื้อมีสัดส่วนลดลงจากเดิมร้อยละ 44.1 เหลือสัดส่วนร้อยละ 36.9 ในปีนี้ เช่นเดียวกับทองที่มีน้ำหนัก 2 บาทก็ปรับสัดส่วนลดลงเช่นกันจากเดิมสัดส่วนร้อยละ 5.5 เหลือเพียงสัดส่วนร้อยละ 2.9 ของกลุ่มตัวอย่างในปีนี้ ดังนั้นโดยภาพรวมแล้วการใช้จ่ายในการซื้อทองเพื่อแจกอั่งเปาในปีนี้ไม่น่าจะคึกคักนัก โดยคนกรุงเทพฯส่วนใหญ่ตั้งงบประมาณค่อนข้างใกล้เคียงจากปีก่อน และมักจะแจกกลุ่มลูกหลานเป็นหลัก อีกทั้งสัดส่วนของกลุ่มที่ซื้อทองน้ำหนักเกิน 1 บาทก็ลดน้อยลงโดยเปรียบเทียบจากปีที่แล้ว เนื่องด้วยราคาทองที่ปรับตัวสูงขึ้นถึงร้อยละ 30 จึงทำให้ผู้บริโภคที่แจกอั่งเปาเป็นทองส่วนใหญ่ในปีนี้มีความระมัดระวังในการจับจ่ายใช้สอยเพิ่มมากขึ้นโดยเปรียบเทียบ

บทสรุป
การที่ค่าเงินสกุลดอลลาร์มีแนวโน้มอ่อนค่าลง ราคาน้ำมันก็ยังทรงตัวในระดับสูง และสถานการณ์ทางการเมืองที่ยังไม่นิ่ง ล้วนเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ความต้องการทองคำแท่งของบรรดานักลงทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศต่างมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น และมีส่วนผลักดันให้ราคาทองคำปรับตัวสูงขึ้นได้อีกในปี 2551 ขณะเดียวกันการที่ราคาทองคำแพงขึ้นนั้นก็ทำให้ความต้องการใช้ทองคำในการผลิตและส่งออกเครื่องประดับทองมีโอกาสจะลดลงตามความต้องการของผู้บริโภคในตลาดที่ชะลอตัวลงด้วย โดยเฉพาะในภาวะที่เศรษฐกิจภายในประเทศยังไม่กระเตื้องขึ้นเท่าที่ควร เพราะผู้บริโภคไม่มีความมั่นใจต่อรายได้ในอนาคต ดังนั้นบรรยากาศการซื้อขายทอง รวมถึงเครื่องประดับทองในเมืองไทยในช่วงตรุษจีนปีนี้จึงน่าจะซบเซาพอสมควร โดยจากการสำรวจพฤติกรรมการแจกอั่งเปาของคนกรุงเทพฯโดย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ในระหว่างวันที่ 18-25 มกราคม 2551 ที่ผ่านมา พบว่าคนกรุงเทพฯส่วนใหญ่ตั้งงบประมาณค่อนข้างใกล้เคียงจากปีก่อน และมักจะแจกกลุ่มลูกหลานเป็นหลัก อีกทั้งสัดส่วนของกลุ่มที่ซื้อทองน้ำหนักเกิน 1 บาทก็ลดน้อยลงโดยเปรียบเทียบจากปีที่แล้ว

สำหรับสถานการณ์การแข่งขันก็คาดว่ากลยุทธ์ด้านราคาด้วยการลดค่ากำเหน็จและการแจกของแถมไม่น่าจะมีบทบาทมากนักในปีนี้ แต่การให้บริการเงินผ่อนและการสร้างความน่าเชื่อน่าจะมีบทบาทมากขึ้น รวมถึงการกระจายกลุ่มเป้าหมายในวงกว้างมากขึ้นด้วย โดยเฉพาะกลุ่มผู้ชายที่ยังมีช่องว่างในการเจาะตลาดได้อีก หรือกลุ่มที่ซื้อทองในรูปทองคำแท่งเพื่อการออมด้วยการปรับขนาดทองให้เล็กลงเพื่อให้สอดคล้องกับกำลังซื้อที่ลดลง และอาจจะมีการปรับรูปแบบเครื่องประดับทองให้ทันสมัยมากขึ้นในระดับราคาที่เหมาะสมกับกำลังซื้อในกลุ่มสาววัยทำงาน หรือเลือกที่จะผลิตทองรูปพรรณที่มีระดับราคาต่อชิ้นที่ต่ำลงเพื่อกระตุ้นลูกค้ากลุ่มที่ซื้อทองเพื่อเป็นสินสอดทองหมั้น หรือกลุ่มที่ซื้อเพื่อมอบเป็นของขวัญ(รับขวัญสมาชิกใหม่ของครอบครัว หรือซื้อเพื่อมอบเป็นอั่งเปาในเทศกาลตรุษจีน เป็นต้น) ขณะเดียวกันก็จำเป็นต้องเร่งปรับปรุงรูปแบบสถานที่จำหน่ายให้สามารถเข้าวิถีการดำเนินชีวิตของคนยุคใหม่มากยิ่งขึ้นด้วย กล่าวคือผู้ประกอบการไม่ควรหยุดนิ่งในการรักษาฐานลูกค้าเดิม และเสาะแสวงหากลุ่มเป้าหมายใหม่ๆ เพื่อความอยู่รอดในยุคช่วงขาขึ้นของราคาทอง และค่าครองชีพที่มีแนวโน้มสูงขึ้นในปี 2551