ราคาทองคำปี 51…ได้แรงหนุนต่อเนื่องจากการอ่อนค่าของเงินดอลลาร์ฯ

เมื่อช่วงปลายเดือน มกราคม ที่ผ่านมานั้น ราคาทองคำในตลาดโลกได้ทะยานขึ้นแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ โดยราคาทองคำแท่ง London Gold Fixing P.M. หรือ London PM Fix โดย The London Bullion Market Association (LBMA) ปรับตัวขึ้นสู่ 924.50 ดอลลาร์ต่อออนซ์ เมื่อวันที่ 29 มกราคม ขณะที่สัญญาซื้อขายทองคำล่วงหน้าที่ ตลาด NYMEX (New York Mercantile Exchange) สำหรับส่งมอบเดือน เมษายน ปิดพุ่งขึ้นไปแตะระดับ 940 ดอลลาร์ต่อออนซ์เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ ท่ามกลางความผันผวนของตลาดการเงินทั่วโลกและความกังวลเกี่ยวกับผลกระทบของปัญหาในตลาดซับไพร์มซึ่งมีทีท่าว่าจะลุกลามและกดดันการขยายตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯมากกว่าที่คาดไว้ ส่งผลให้นักลงทุนมีความต้องการลดการลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยง เช่น หุ้น แสวงหาช่องทางการลงทุนที่มีความเสี่ยงน้อยกว่าซึ่งรวมถึงทองคำ กล่าวได้ว่าในช่วงเวลาดังกล่าวนั้น ราคาทองคำในตลาดโลกพุ่งขึ้นอย่างมากกว่าร้อยละ 10 สวนทางกับการปรับตัวของตลาดหุ้นขนาดใหญ่ทั่วโลก อย่างไรก็ตาม ราคาทองคำได้ปรับตัวลดลงอย่างรวดเร็วถึงกว่าร้อยละ 2.2 จากปลายเดือน มกราคมจนถึงวันที่ 6 กุมภาพันธ์ จากการฟื้นตัวของค่าเงินดอลลาร์ฯและแรงขายทำกำไร แต่ยังคงเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.3 จากสิ้นปีก่อน ซึ่งสูงกว่าการปรับตัวของดัชนีตลาดหุ้นต่างๆ อาทิเช่น ดัชนีดาวโจนส์ของสหรัฐฯซึ่งลดลงร้อยละ 8 จากสิ้นปีที่ผ่านมา ดัชนี NIKKEI ของญี่ปุ่นที่ลดลงร้อยละ 14.4 และดัชนี Straits Times ของสิงคโปร์ที่ลดลงร้อยละ 15.8 ในขณะที่ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ของไทยปรับตัวลดลงไปร้อยละ 7.4 เป็นต้น

การที่ราคาทองคำมีแนวโน้มที่ผันผวนและปรับตัวลดลงอย่างรวดเร็วหลังจากที่ทำสถิติปรับขึ้นสู่ระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ได้ทำให้เกิดคำถามว่า แนวโน้มราคาทองคำจะสามารถปรับตัวเพิ่มขึ้นได้อย่างต่อเนื่องหรือไม่ หรือมีความเป็นไปได้ที่จะปรับฐานลดลงมาอีกในช่วงที่ยังเหลือของปี โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยมีข้อสังเกตเกี่ยวกับปัจจัยต่างๆหลายปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อการปรับตัวของราคาทองคำ ทั้งทางด้านอุปสงค์และอุปทานซึ่งแยกพิจารณาได้ดังนี้

ปัจจัยทางด้านอุปสงค์
ทั้งนี้ จากการพิจารณาข้อมูลอุปสงค์และอุปทานของทองคำในตลาดโลก ซึ่งรายงานโดย World Gold Council (WGC) ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมีข้อสังเกตว่า ความต้องการทองคำในตลาดโลกจำแนกได้เป็น 2 ประเภทใหญ่ ได้แก่ ความต้องการทองคำเพื่อวัตถุประสงค์ในการบริโภคในรูปแบบของการนำมาทำเครื่องประดับ และการเป็นวัตถุดิบในภาคอุตสาหกรรม ซึ่งมีสัดส่วนที่สูงถึงประมาณร้อยละ 80-90 ของความต้องการทองคำทั้งหมดในตลาดโลก และความต้องการทองคำเพื่อการลงทุนซึ่งมีสัดส่วนประมาณร้อยละ10-20 เมื่อวัดในเชิงปริมาณ(ตัน) อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาสัดส่วนในช่วง 7 ปีที่ผ่านมา จะเห็นได้ว่าความต้องการทองคำเพื่อการบริโภคซึ่งแม้จะยังคงมีสัดส่วนที่สูงแต่กลับมีแนวโน้มที่ลดลงอย่างต่อเนื่องจากร้อยละ 90.4 ของความต้องการทองคำทั้งหมดในตลาดโลก ในปี 2001 สู่ร้อยละ 81.6 ในช่วง 9 เดือนแรกของปีที่ผ่านมา ขณะที่ความต้องการเพื่อการลงทุนมีสัดส่วนที่เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 9.6 สู่ร้อยละ 18.4 ซึ่งแนวโน้มดังกล่าวเป็นผลจากการขยายตัวอย่างรวดเร็วของการลงทุนในทองคำผ่านทางกองทุน ETFs (Exchange Traded Funds) ซึ่งมีหลักทรัพย์อ้างอิงเป็นทองคำ มากกว่าการลงทุนในทองคำในรูปแบบดั้งเดิม (Net Retail investment) เช่น ในรูปแบบทองคำแท่ง หรือ เหรียญทองคำ

โดยความต้องการลงทุนในรูปแบบดั้งเดิมเมื่อเทียบเป็นสัดส่วนต่อความต้องการลงทุนในทองคำทั้งหมดมีสัดส่วนที่ลดลงอย่างชัดเจนจากร้อยละ 99 ในปี 2002 สู่ร้อยละ 42.5 ในช่วงไตรมาส 3/2007ขณะที่ความต้องการลงทุนในรูปแบบกองทุน ETFs และอื่นๆ ทะยานขึ้นอย่างมากจากประมาณร้อยละ 1 สู่ร้อยละ 57.5 ในช่วงเวลาเดียวกัน โดยปัจจัยหนุนที่สำคัญที่ทำให้มีการเติบโตอย่างรวดเร็วดังกล่าว มาจากการจัดตั้งกองทุน StreetTRACKS Gold Shares (GLD) ในปี 2004 โดยปริมาณทองคำทั้งหมดที่กองทุน ETFs (นับเฉพาะ10 กองที่ World Gold Council ให้การสนับสนุน) ถือครองอยู่มียอดสะสมที่สูงถึงกว่า 780 ตันในปัจจุบัน (แต่หากนับรวมกองทุน ETFs อื่นๆทั่วโลกคาดว่าจะมีมูลค่ารวมกว่า 850-880 ตัน) ซึ่งมากกว่าปริมาณทองคำในทุนสำรองระหว่างประเทศของธนาคารกลางหลายๆประเทศ โดยน้อยกว่าเพียงแค่ปริมาณทองคำในทุนสำรองฯของประเทศสหรัฐฯ เยอรมันนี ฝรั่งเศส อิตาลี และสวิสเซอร์แลนด์เท่านั้น

ความต้องการทองคำเพื่อการลงทุน…ปัจจัยหนุนราคาทองพุ่งต่อเนื่อง
โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า ความต้องการทองคำในเชิงของการลงทุนจะยังคงเป็นปัจจัยหลักที่ผลักดันการขยายตัวของราคาทองคำอย่างต่อเนื่องในปีนี้ โดยมีปัจจัยสำคัญจาก แนวโน้มการอ่อนค่าของเงินดอลลาร์ฯ จากการที่สหรัฐฯขาดดุลบัญชีเดินสะพัดในระดับสูงหลายปีติดต่อกันได้ส่งผลกระทบให้เงินดอลลาร์ฯมีแนวโน้มอ่อนค่าลงอย่างต่อเนื่องเมื่อเทียบกับค่าเงินสกุลหลักหลายสกุล เห็นได้ชัดจากการอ่อนตัวลงของดัชนีเงินดอลลาร์ฯเมื่อเทียบกับตะกร้าเงินสกุลหลัก 6 สกุลนับจากปี 2002 เป็นต้นมา (ดัชนียิ่งมีค่าลดลง หมายความว่า เงินดอลลาร์ฯอ่อนค่าลง) ซึ่งเป็นปัจจัยอีกประการที่ลดความน่าสนใจในการที่จะถือครองเงินดอลลาร์ฯ และหันไปเพิ่มสัดส่วนในเงินสกุลอื่นหรือสินทรัพย์ประเภทอื่นๆมากขึ้นรวมถึงทองคำ และช่วยหนุนราคาทองคำในตลาดโลกให้ปรับตัวเพิ่มขึ้นสวนทางกับค่าเงินดอลลาร์ฯ ดังจะเห็นได้จากค่าความสัมพันธ์ระหว่างราคาทองคำในตลาดโลกและดัชนีค่าเงินดอลลาร์ฯจากปี 2002 จนถึงปัจจุบันซึ่งเป็นไปในทิศทางตรงกันข้าม โดยอยู่ที่ -0.807

ความผันผวนของตลาดเงินตลาดทุนโลกในปัจจุบัน สืบเนื่องจากปัญหาในตลาดซับไพร์มของสหรัฐฯ ทำให้นักลงทุนต้องการลดการลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูง และหันไปลงทุนในสินทรัพย์อื่นที่มีความเสี่ยงน้อยกว่า รวมถึงการลงทุนในทองคำ ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดจากการเปรียบเทียบการเคลื่อนไหวของดัชนีดาวโจนส์กับราคาทองคำ London Gold Fixing P.M.ซึ่งแม้ว่าจะมีค่าความสัมพันธ์ในระยะยาวช่วง 21 ปีที่ผ่านมา (ตั้งแต่ปี 2529-ปัจจุบัน) ที่เป็นบวก แต่เมื่อแยกพิจารณาในแต่ละช่วงเวลาซึ่งเกิดวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจต่างๆ เช่น S&L crisis (ในช่วงปลายทศวรรษที่ 80 ถึงต้นทศวรรษที่ 90) ช่วงสงครามอิรัก (เดือน สิงหาคม 2533 – กุมภาพันธ์ 2534) และวิกฤตฟองสบู่ในหุ้นกลุ่มเทคโนโลยี (2542-2544) และล่าสุด ได้แก่ ปัญหาในตลาดซับไพร์มของสหรัฐฯ ซึ่งเริ่มส่งผลกระทบต่อตลาดการเงินโลกอย่างชัดเจนราวเดือน สิงหาคม เป็นต้นมา จะเห็นได้ว่าในแต่ละช่วงดังกล่าวนั้น ดัชนีตลาดหุ้นสหรัฐฯและราคาทองคำมีการปรับตัวไปในทิศทางตรงกันข้าม

แรงกดดันทางด้านเงินเฟ้อของโลกที่เพิ่มขึ้นในปีนี้ โดยคาดว่าแนวโน้มที่อัตราเงินเฟ้อในภูมิภาคต่างๆของโลกจะปรับตัวเพิ่มขึ้นจากในปีที่ผ่านมาจากราคาน้ำมันและราคาอาหารที่สูงขึ้นจะส่งผลให้มีความต้องการลงทุนในทองคำมากขึ้น เพื่อเป็น Inflationary hedged และรักษาความมั่งคั่งให้ผู้ลงทุนในระยะยาว โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้ทำการเปรียบเทียบการเพิ่มขึ้นของราคาทองคำกับอัตราเงินเฟ้อของไทยในช่วง 6 ปีที่ผ่านมา โดยคำนวณจากดัชนีราคาทองคำจากราคาทองคำเฉลี่ยในแต่ละเดือน และกำหนดให้ปี 2542 เป็นปีฐานเปรียบเทียบกับดัชนีราคาผู้บริโภคในช่วงเวลาดังกล่าวแล้วพบว่า การเพิ่มขึ้นของราคาทองคำเป็นไปในอัตราที่มากกว่าการเพิ่มขึ้นของอัตราเงินเฟ้อ

ความต้องการทองคำเพื่อการบริโภค…แนวโน้มอาจทรงตัวจากในปีก่อน
ทั้งนี้ ความต้องการทองคำเพื่อการบริโภคจำแนกได้เป็นเพื่อวัตถุประสงค์ในการทำเครื่องประดับ
และการเป็นวัตถุดิบในภาคอุตสาหกรรม ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า การที่ราคาทองคำปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างมากในช่วงต้นปีที่ผ่านมา อาจเป็นปัจจัยที่กดดันความต้องการบริโภคทองคำในรูปของเครื่องประดับ ซึ่งถือเป็นสินค้าฟุ่มเฟือยซึ่งผู้บริโภคมักจะลดการบริโภคลงก่อนสินค้าประเภทอื่นๆ ดังจะเห็นได้จากค่าความสัมพันธ์ระหว่างการบริโภคทองคำในรูปเครื่องประดับ(ตัน) กับราคาทองคำในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาซึ่งเป็นไปในทิศทางตรงกันข้ามที่ -0.28 อย่างไรก็ตาม การขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศที่เป็นผู้บริโภครายใหญ่ เช่น อินเดีย (สัดส่วนเกือบร้อยละ 30 ของการบริโภคทองคำในรูปเครื่องประดับในตลาดโลก) จีน (สัดส่วนร้อยละ 10) และในกลุ่มประเทศตะวันออกกลาง (สัดส่วนร้อยละ 13) ซึ่งคาดว่าจะยังคงรักษาการขยายตัวในระดับสูงได้ในปีนี้แม้อาจจะชะลอลงบ้างจากในปีที่แล้ว ตลอดจน การที่ค่าเงินของประเทศเหล่านี้มีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์ฯ น่าจะเป็นปัจจัยที่ช่วยจำกัดการทะยานขึ้นของราคาทองคำและทำให้การบริโภคทองคำในรูปเครื่องประดับไม่ชะลอลงมากนัก นอกจากนั้น ความต้องการทองคำเพื่อเป็นวัตถุดิบในภาคอุตสาหกรรมต่างๆ เช่น อุตสาหกรรมอิเล็คทรอนิกส์ หรือในทางการแพทย์ ซึ่งค่อนข้างจะมีความผันผวนน้อย หรือได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของราคาทองคำในตลาดโลกน้อยกว่า และยังคงมีทิศทางที่เพิ่มขึ้นได้อย่างต่อเนื่อง น่าจะช่วยส่งผลให้ภาพรวมของความต้องการทองคำเพื่อการบริโภคมีทิศทางที่ทรงตัวจากในปีก่อน

ปัจจัยทางด้านอุปทาน
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า ปริมาณทองคำในตลาดโลกมีแนวโน้มทรงตัวหรือเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อยจากในปีที่ผ่านมา อันเป็นผลมาจาก

ปริมาณทองคำที่ผลิตได้จากเหมืองต่างๆซึ่งเพิ่มขึ้นอย่างจำกัด สืบเนื่องมาจากช่วงระหว่างปี 2540
– 2545 ซึ่งราคาทองคำในตลาดโลกได้ลดลงอย่างมาก โดยอยู่ที่ประมาณ 250 – 350 ดอลลาร์/ออนซ์ ทำให้
ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ขาดแรงจูงใจในการลงทุนเพื่อทำการสำรวจแหล่งแร่ทองคำ, สร้างเหมืองใหม่ๆ และพัฒนาประสิทธิภาพการผลิต เนื่องจากเป็นการลงทุนที่ต้องใช้เงินลงทุนเป็นจำนวนมาก นอกจากนั้น การที่ระยะเวลาที่ใช้ตั้งแต่เริ่มสำรวจหาแหล่งผลิตทองไปจนถึงทำการผลิตจนได้ทองคำออกมานั้นค่อนข้างนาน โดยมีระยะเวลาเฉลี่ยประมาณ 7-10 ปี ทำให้กำลังการผลิตทองคำที่มีในปัจจุบัน ไม่สามารถเพิ่มขึ้นได้อย่างรวดเร็วเพียงพอที่จะรองรับความต้องการซื้อทองได้ ทั้งนี้ ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2550 ปริมาณทองคำที่ผลิตจากเหมืองต่างๆอยู่ที่ประมาณ 1,842 ตันเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2549 ซึ่งผลิตได้ 1,812 ตันเพียงร้อยละ 2 นอกจากนั้น ปัญหาทางด้านวิกฤตการณ์พลังงาน ปัญหาทางด้านเครื่องจักรและการปิดซ่อมบำรุง ยังอาจกระทบต่อผลผลิตทองคำในแอฟริกาใต้อันเป็นแหล่งผลิตทองคำขนาดใหญ่ที่สุดของโลก

The 2nd Central Bank Gold Agreements: CBGA (2) ทั้งนี้ ข้อตกลงร่วมกันฉบับล่าสุดระหว่างธนาคารกลางของประเทศต่างๆ 15 ประเทศในยุโรป (รวมธนาคารกลางยุโรป และไม่รวมประเทศอังกฤษ) ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 27 ก.ย. 2547 จนถึง 26 ก.ย. 2552 ได้กำหนดให้ธนาคารเหล่านั้นขายทองคำออกมาได้สูงสุดไม่เกินปีละ 500 ตัน และยอดขายรวมตลอด 5 ปี ไม่เกิน 2,500 ตัน ทั้งนี้ ปริมาณทองคำที่ออกขายโดยธนาคารกลางของประเทศต่างๆในโลกในปีที่ผ่านมาอยู่ที่ประมาณ 488 ตันซึ่งเพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 38 จากในปี 2549 ซึ่งเป็นการขายจากกลุ่มประเทศที่ลงนามในข้อตกลง CBGA ดังกล่าว อย่างไรก็ตาม การอ่อนค่าของเงินดอลลาร์ฯในช่วงที่ผ่านมานั้น ได้ส่งผลให้ความต้องการถือครองทองคำเพื่อทดแทนการลงทุนในสินทรัพย์สกุลดอลลาร์ฯเพิ่มขึ้น ซึ่งอาจทำให้ธนาคารกลางเหล่านั้นขายทองคำออกมาน้อยกว่า 500 ตันต่อปี อันจะส่งผลให้ปริมาณทองคำที่จะออกสู่ตลาดโลกลดลงไปมากกว่าที่ตลาดคาดไว้ นอกจากนั้นมีความเป็นไปได้ที่ประเทศต่างๆซึ่งอยู่นอกกลุ่ม CBGA อาจให้ความสนใจเข้าซื้อทองคำเพื่อกระจายการลงทุนออกจากสินทรัพย์สกุลดอลลาร์ฯมากขึ้น

แนวโน้มราคาทอง…ปรับขึ้นได้ต่อจากความต้องการลงทุน
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองกว่าเมื่อพิจารณาปัจจัยต่างๆที่กล่าวถึงในข้างต้น โดยเฉพาะความต้องการทองคำเพื่อการลงทุนในตลาดโลกที่คาดว่าจะยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในปีนี้ แม้ความต้องการทองคำเพื่อการบริโภคอาจทรงตัวจากในปีที่ผ่านมา ขณะที่ปริมาณทองคำเพิ่มขึ้นในอัตราที่จำกัด น่าจะทำให้ราคาทองคำในตลาดโลกมีแนวโน้มแกว่งตัวขึ้นได้อีกในปีนี้ อย่างไรก็ตาม การที่ปัจจัยซึ่งมีบทบาทต่อราคามาจากทางด้านการลงทุนมากขึ้น น่าจะทำให้การปรับตัวของราคาทองคำมีแนวโน้มที่จะเป็นไปอย่างผันผวนจากแรงซื้อและขายเพื่อทำกำไรของนักลงทุน โดยอาจมีการปรับฐานเป็นระยะๆตามทิศทางค่าเงินดอลลาร์ฯ ทั้งนี้ ผลสำรวจประจำปีของ The London Bullion Market Association (LBMA) คาดการณ์ราคาทองโดยเฉลี่ยในปี 2551 ที่ 866 ดอลลาร์ต่อออนซ์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 24.6 จาก 695 ดอลลาร์ต่อออนซ์ในปี 2550 ขณะที่ให้กรอบการปรับตัวของราคาทองในปีนี้ที่ 810 -1,001 ดอลลาร์ต่อออนซ์

ทั้งนี้ แนวโน้มที่ราคาทองคำในตลาดโลกจะปรับขึ้นต่อได้อีกจะเป็นปัจจัยที่ช่วยสนับสนุนราคาทองคำในประเทศเช่นกัน โดยปัจจัยสำคัญที่มีส่วนกำหนดราคาทองคำในประเทศไทยนั้น ได้แก่ ราคาทองคำในตลาดโลก และอัตราแลกเปลี่ยนระหว่างเงินบาท/ดอลลาร์สหรัฐฯ เนื่องจากประเทศไทยต้องพึ่งพิงการนำเข้าทองคำจากต่างประเทศเป็นจำนวนมาก ทำให้ราคาทองคำมีการปรับตัวไปในทิศทางเดียวกันกับราคาทองในตลาดโลกโดยตลอด โดยค่าความสัมพันธ์ระหว่างราคาทองคำในประเทศและราคาทองคำในตลาดโลกในช่วง 10 ปีที่ผ่านมานั้นสูงถึง 0.98 ขณะที่ปัจจัยทางด้านอัตราแลกเปลี่ยนก็เป็นอีกประเด็นหนึ่งที่ส่งผลกระทบต่อราคาทองคำในประเทศ จากการที่ราคาทองคำในตลาดโลกถูกกำหนดในรูปของเงินดอลลาร์ฯ ทำให้การอ่อนค่าลงของดอลลาร์ฯเมื่อเทียบกับค่าเงินสกุลต่างประเทศสกุลใดสกุลหนึ่งนั้นช่วยให้ราคาทองคำในรูปของสกุลเงินนั้นๆถูกลงได้ การเปลี่ยนแปลงของราคาทองโดยสุทธิจะอยู่ระหว่างราคาทองคำที่เพิ่มขึ้นในรูปเงินดอลลาร์ฯ กับราคาทองที่ลดลงเมื่อแปลงให้อยู่ในรูปเงินตราต่างประเทศสกุลอื่น โดยในปีที่ผ่านมานั้น ราคาทองคำในตลาดโลกเพิ่มขึ้นร้อยละ 31.9 ส่วนราคาทองในประเทศไทยในเพิ่มขึ้นร้อยละ 22.6 ซึ่งเป็นอัตราที่น้อยกว่าจากผลของเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้คำนวณหาค่าความสัมพันธ์ระหว่างเงินดอลลาร์สหรัฐฯเมื่อเทียบกับเงินบาท กับราคาทองคำในประเทศตั้งแต่ปี 2541 เป็นต้นมาและพบว่ามีการปรับตัวไปในทิศทางตรงข้ามกัน โดยในช่วงเวลาที่เงินดอลลาร์ฯอ่อนลงเมื่อเทียบกับเงินบาทนั้น ราคาทองคำในประเทศมีแนวโน้มที่จะปรับตัวเพิ่มขึ้น โดยมีค่าความสัมพันธ์ระหว่างเงินบาท/ดอลลาร์ฯและราคาทองคำในประเทศในช่วงที่ผ่านมาอยู่ที่ -0.5

กล่าวโดยสรุปได้ว่า เมื่อช่วงปลายเดือน มกราคม ที่ผ่านมานั้น ราคาทองคำในตลาดโลกได้ทะยานขึ้นแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ครั้งใหม่ สวนทางกับการปรับตัวของตลาดหุ้นขนาดใหญ่ทั่วโลก อย่างไรก็ตาม ราคาทองคำได้ปรับตัวลดลงอย่างรวดเร็วถึงกว่าร้อยละ 2.2 จากปลายเดือน มกราคม จนถึงวันที่ 6 กุมภาพันธ์ จากการฟื้นตัวของค่าเงินดอลลาร์ฯและแรงขายทำกำไร ซึ่งทำให้เกิดคำถามตามมาว่า แนวโน้มราคาทองคำจะสามารถปรับตัวเพิ่มขึ้นได้อย่างต่อเนื่องหรือไม่ หรือมีความเป็นไปได้ที่จะปรับฐานลดลงมาอีกในช่วงที่ยังเหลือของปี โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยมีข้อสังเกตเกี่ยวกับปัจจัยต่างๆหลายปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อการปรับตัวของราคาทองคำทั้งทางด้านอุปสงค์และอุปทานจาก โดยแบ่งความต้องการทองคำในตลาดโลกจำแนกได้เป็น 2 ประเภทใหญ่ ได้แก่ ความต้องการทองคำเพื่อวัตถุประสงค์ในการบริโภค และความต้องการทองคำเพื่อการลงทุน โดยพบว่าเมื่อพิจารณาสัดส่วนในช่วง 7 ปีที่ผ่านมา จะเห็นได้ว่าความต้องการทองคำเพื่อการบริโภคซึ่งแม้จะยังคงมีสัดส่วนที่สูงแต่กลับมีแนวโน้มที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ความต้องการเพื่อการลงทุนมีสัดส่วนที่เพิ่มขึ้น ซึ่งแนวโน้มดังกล่าวเป็นผลจากการขยายตัวอย่างรวดเร็วของการลงทุนในทองคำผ่านทางกองทุน ETFs ซึ่งมีหลักทรัพย์อ้างอิงเป็นทองคำมากกว่าการลงทุนในทองคำในรูปแบบดั้งเดิม เช่น ทองคำแท่ง หรือ เหรียญทองคำ

โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า ความต้องการทองคำในเชิงของการลงทุนจะยังคงเป็นปัจจัยหลักที่ผลักดันการขยายตัวของราคาทองคำอย่างต่อเนื่องในปีนี้ โดยมีปัจจัยสำคัญจากแนวโน้มการอ่อนค่าของเงินดอลลาร์ฯ ซึ่งเป็นปัจจัยอีกประการที่ลดความน่าสนใจในการที่จะถือครองเงินดอลลาร์ฯ และหันไปเพิ่มสัดส่วนในเงินสกุลอื่นหรือสินทรัพย์ประเภทอื่นๆมากขึ้นรวมถึงทองคำ และช่วยหนุนราคาทองคำในตลาดโลก ความผันผวนของตลาดเงินตลาดทุนโลกในปัจจุบัน สืบเนื่องจากปัญหาในตลาดซับไพร์มของสหรัฐฯ ทำให้นักลงทุนต้องการลดการลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูง และหันไปลงทุนในสินทรัพย์อื่นที่มีความเสี่ยงน้อยกว่า แรงกดดันทางด้านเงินเฟ้อของโลกที่เพิ่มขึ้นในปีนี้ โดยคาดว่าแนวโน้มที่อัตราเงินเฟ้อในภูมิภาคต่างๆของโลกจะปรับตัวขึ้นจากในปีที่ผ่านมาจากราคาน้ำมันและราคาอาหารที่สูงขึ้นจะส่งผลให้มีความต้องการลงทุนในทองคำมากขึ้น เพื่อรักษาความมั่งคั่งให้ผู้ลงทุนในระยะยาว ทั้งนี้ ความต้องการทองคำเพื่อการบริโภค จำแนกได้เป็นเพื่อนำมาทำเครื่องประดับ และการเป็นวัตถุดิบในภาคอุตสาหกรรม ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า การที่ราคาทองคำปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างมากในช่วงต้นปีที่ผ่านมา อาจเป็นปัจจัยที่กดดันความต้องการบริโภคทองคำในรูปของเครื่องประดับ ซึ่งถือเป็นสินค้าฟุ่มเฟือยซึ่งผู้บริโภคมักจะลดการบริโภคลงก่อนสินค้าประเภทอื่นๆ อย่างไรก็ตาม ความต้องการทองคำเพื่อเป็นวัตถุดิบในภาคอุตสาหกรรมต่างๆ ค่อนข้างจะผันผวนน้อยหรือได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของราคาทองคำในตลาดโลกน้อยกว่า และยังมีทิศทางที่เพิ่มขึ้นได้อย่างต่อเนื่อง จะช่วยส่งผลให้ภาพรวมของความต้องการทองคำเพื่อการบริโภคโดยรวมมีทิศทางที่ทรงตัวจากในปีก่อน

ขณะที่ปริมาณทองคำในตลาดโลกมีแนวโน้มทรงตัวหรือเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อยจากในปีที่ผ่านมา อันเป็นผลมาจากปริมาณทองคำที่ผลิตได้จากเหมืองต่างๆซึ่งเพิ่มขึ้นอย่างจำกัดทำให้กำลังการผลิตทองคำที่มีในปัจจุบัน ไม่สามารถเพิ่มขึ้นได้อย่างรวดเร็วเพียงพอที่จะรองรับความต้องการซื้อทองได้ ขณะที่การขายทองคำของธนาคารกลางต่างๆ อยู่ภายใต้ข้อตกลง The 2nd Central Bank Gold Agreements: CBGA (2) ซึ่งกำหนดให้ธนาคารเหล่านั้นขายทองคำออกมาได้สูงสุดไม่เกินปีละ 500 ตัน และยอดขายรวมตลอด 5 ปี ไม่เกิน 2,500 ตัน อย่างไรก็ตาม การอ่อนค่าของเงินดอลลาร์ฯส่งผลให้ความต้องการถือครองทองคำเพื่อทดแทนการลงทุนในสินทรัพย์สกุลดอลลาร์ฯเพิ่มขึ้น ซึ่งอาจทำให้ธนาคารกลางเหล่านั้นขายทองคำออกมาน้อยกว่าตามที่ระบุในข้อตกลง นอกจากนั้นมีความเป็นไปได้ที่ประเทศต่างๆซึ่งอยู่นอกกลุ่ม CBGA อาจให้ความสนใจเข้าซื้อทองคำเพื่อกระจายการลงทุนออกจากสินทรัพย์สกุลดอลลาร์ฯมากขึ้น

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่าเมื่อพิจารณาปัจจัยต่างๆที่กล่าวถึงในข้างต้น โดยเฉพาะความต้องการทองคำเพื่อการลงทุนในตลาดโลกที่คาดว่าจะยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในปีนี้ แม้ความต้องการทองคำเพื่อบริโภคอาจทรงตัวจากในปีที่ผ่านมา ขณะที่ปริมาณทองคำเพิ่มขึ้นในอัตราที่จำกัด น่าจะทำให้ราคาทองคำในตลาดโลกมีแนวโน้มแกว่งตัวขึ้นได้อีกในปีนี้ อย่างไรก็ตาม การที่ปัจจัยซึ่งมีบทบาทต่อราคามาจากทางด้านการลงทุนมากขึ้น น่าจะทำให้การปรับตัวของราคาทองคำมีแนวโน้มที่จะเป็นไปอย่างผันผวนจากแรงซื้อและขายเพื่อทำกำไรของนักลงทุน โดยอาจมีการปรับฐานเป็นระยะๆตามทิศทางค่าเงินดอลลาร์ฯ ทั้งนี้ ผลสำรวจประจำปีของ The London Bullion Market Association คาดการณ์ราคาทองคำโดยเฉลี่ยในปีนี้ที่ 866 ดอลลาร์ต่อออนซ์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 24.5 จาก 695 ดอลลาร์ต่อออนซ์ในปีที่แล้ว ขณะที่ให้กรอบการปรับตัวของราคาในปีนี้ที่ 810 -1,001 ดอลลาร์ต่อออนซ์

ทั้งนี้ แนวโน้มที่ราคาทองคำในตลาดโลกจะปรับขึ้นต่อได้อีกจะเป็นปัจจัยที่ช่วยสนับสนุนราคาทองคำในประเทศเช่นกัน โดยในส่วนของปัจจัยสำคัญที่มีส่วนกำหนดราคาทองคำในประเทศนั้น ได้แก่ ราคาทองคำในตลาดโลก และอัตราแลกเปลี่ยนระหว่างเงินบาท/ดอลลาร์สหรัฐฯ เนื่องจากประเทศไทยต้องพึ่งพิงการนำเข้าทองคำจากต่างประเทศเป็นจำนวนมาก ทำให้ราคาทองคำมีการปรับตัวไปในทิศทางเดียวกันกับราคาทองในตลาดโลกโดยตลอด ขณะที่ราคาทองคำในตลาดโลกถูกกำหนดในรูปของเงินดอลลาร์ฯ การอ่อนค่าลงของดอลลาร์ฯเมื่อเทียบกับค่าเงินสกุลต่างประเทศสกุลใดสกุลหนึ่งนั้น จะทำให้ราคาทองคำในรูปของสกุลเงินนั้นๆถูกลง ทำให้การเปลี่ยนแปลงของราคาทองโดยสุทธิจะอยู่ระหว่างราคาทองคำที่เพิ่มขึ้นในรูปเงินดอลลาร์ฯ กับราคาที่ลดลงเมื่อแปลงให้อยู่ในรูปเงินตราต่างประเทศสกุลอื่น โดยในปีที่ผ่านมานั้น ราคาทองคำในตลาดโลกเพิ่มขึ้นร้อยละ 31.9 ส่วนราคาทองในประเทศไทยในเพิ่มขึ้นร้อยละ 22.6 ซึ่งเป็นอัตราที่น้อยกว่าจากผลของเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์ฯ