เศรษฐกิจของเวียดนามในปี 2550 ยังคงขยายตัวอย่างต่อเนื่องในอัตราร้อยละ 8.48 จากการเติบโตของภาคการส่งออก เงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) และการบริโภคภายในประเทศ ซึ่งเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญให้เศรษฐกิจเวียดนามยังคงรักษาระดับการเติบโตในอัตราร้อยละ 8 ต่อเนื่องจากการเติบโตทางเศรษฐกิจในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา (2547-2549) การเข้าเป็นสมาชิกองค์การการค้าโลก (WTO) ของเวียดนามในเดือนมกราคม 2550 ทำให้เวียดนามรวมตัวเข้ากับเศรษฐกิจโลกอย่างเป็นทางการ ประเทศสมาชิก WTO ต้องเปิดตลาดโดยการลดภาษีศุลกากรให้กับสินค้าส่งออกจากเวียดนามมากขึ้น ส่งผลดีต่อโอกาสในการขยายการส่งออกของเวียดนาม
เวียดนามมีอัตราการขยายตัวของการส่งออกสูงกว่าร้อยละ 20 ต่อปี ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา (2546-2550) มูลค่าส่งออกของเวียดนามในปี 2550 ราว 48.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 21.5 จากปี 2549 นับว่าภาคการส่งออกถือเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญของเวียดนามในปัจจุบัน จากสัดส่วนการส่งออกต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ของเวียดนามที่เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 46 ในปี 2543 เป็นร้อยละ 66 ในปัจจุบัน
เป็นที่น่าสังเกตว่า การนำเข้าของเวียดนามในปี 2550 ขยายตัวในอัตราเร่งขึ้นเป็นร้อยละ 35.5 จากอัตราขยายตัวเฉลี่ยร้อยละ 22.5 ต่อปี ในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา (2546-2549) สาเหตุสำคัญที่การนำเข้าของเวียดนามมีมูลค่าเพิ่มขึ้นมาก เนื่องจากการนำเข้าสินค้าวัตถุดิบผลิตสินค้าและสินค้าทุนของเวียดนามที่มีอัตราขยายตัวสูง ตามการเติบโตของภาคส่งออกและการลงทุนภายในประเทศ โดยเฉพาะเม็ดเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ที่ไหลเข้ามาในเวียดนามทั้งภาคอุตสาหกรรมและภาคบริการพุ่งขึ้นอย่างเห็นได้ชัดในปี 2550 ซึ่งเป็นผลจากการลดกฎระเบียบและเงื่อนไขด้านการลงทุนตามข้อผูกพันการเข้าเป็นสมาชิก WTO ของเวียดนาม และมาตรการส่งเสริมการลงทุนของเวียดนาม ประเภทโครงการลงทุนที่นักลงทุนต่างชาติที่เข้ามาลงทุนในเวียดนามมากที่สุดในปี 2550 ได้แก่ โครงการก่อสร้างอาคารสำนักงานและอพาทเมนต์ รองลงมา ได้แก่ อุตสาหกรรมหนัก อุตสาหกรรมเบา โรงแรมและท่องเที่ยว น้ำมันและก๊าซ การก่อสร้าง และการขนส่ง/สื่อสารและไปรษณีย์ ตามลำดับ
• สิ่งท้าทายการส่งออกเวียดนาม … (1) พึ่งพาการนำเข้าวัตถุดิบผลิตสินค้า
แม้ว่าเวียดนามมีทรัพยากรธรรมชาติและแร่ธาตุต่างๆ ที่อุดมสมบูรณ์ เช่น ถ่านหิน น้ำมันดิบ ไม้สัก และสินค้าประมง รวมทั้งมีสภาพภูมิอากาศและภูมิประเทศที่เหมาะแก่การเพาะปลูก ทำให้เวียดนามเป็นประเทศที่ส่งออกสินค้าเกษตรสำคัญๆ หลายชนิดในอันดับต้นๆ ของโลก ได้แก่ ข้าว กาแฟ ใบชา เม็ดมะม่วงหิมพานต์ และพริกไทย อย่างไรก็ตาม สำหรับอุตสาหกรรมสำคัญของเวียดนามหลายสาขาที่ผลิตสินค้าส่วนใหญ่เพื่อส่งออกและนำรายได้เข้าประเทศมีมูลค่าสูง ที่สำคัญ เช่น การผลิตสิ่งทอ/เสื้อผ้า รองเท้าและเฟอร์นิเจอร์ไม้ แต่อุตสาหกรรมเหล่านี้ต้องเผชิญกับความท้าทายจากการพึ่งพาการนำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศ เนื่องจากขาดแคลนวัตถุดิบในประเทศ และความไม่พร้อมของอุตสาหกรรมสนับสนุนภายในประเทศ
ภาคการส่งออกของเวียดนามที่เติบโตอย่างต่อเนื่องซึ่งตามมาด้วยการขยายตัวของการนำเข้าในอัตราที่สูงกว่าอัตราขยายตัวของการส่งออก ส่งผลให้เวียดนามขาดดุลการค้าเพิ่มขึ้น มูลค่านำเข้าของเวียดนามในปี 2550 ราว 60.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 35.5 จากปี 2549 มูลค่าขาดดุลการค้าของเวียดนามในปี 2550 เพิ่มขึ้นร้อยละ 144.8 จากมูลค่าขาดดุลการค้า 5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2549 เป็น 12.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
มูลค่านำเข้าสินค้าวัตถุดิบสำหรับผลิตสินค้าของเวียดนามคิดเป็นสัดส่วนถึง 2 ใน 3 ของการนำเข้าทั้งหมดของเวียดนาม สินค้าวัตถุดิบนำเข้าที่สำคัญ เช่น สินค้าเหล็ก (การนำเข้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 66.2 ในปี 2550) เส้นใยสิ่งทอ (ร้อยละ 33.6) อิเล็กทรอนิกส์ คอมพิวเตอร์ และส่วนประกอบ (ร้อยละ 43.7) พลาสติก (ร้อยละ 34.3) และเคมีภัณฑ์ (ร้อยละ 39.1)
สินค้านำเข้าสำคัญของเวียดนามรองลงมาจากสินค้าวัตถุดิบ ได้แก่ สินค้าทุน (สัดส่วนราวร้อยละ 26 ของการนำเข้าทั้งหมดของเวียดนาม) ที่สำคัญ ได้แก่ อุปกรณ์/ส่วนประกอบและเครื่องจักร ซึ่งมูลค่าการนำเข้าอุปกรณ์/ส่วนประกอบและเครื่องจักรในปี 2550 เพิ่มขึ้นมากกว่าเท่าตัวจากมูลค่า 6,555 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2549 เป็นมูลค่า 10,376 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2550 คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 17 ของการนำเข้าทั้งหมดของเวียดนาม การนำเข้าสินค้าทุนเพิ่มขึ้น เนื่องจากการขยายตัวของการลงทุนในภาคอุตสาหกรรมและภาคบริการในปี 2550 โดยเฉพาะเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศในเวียดนามที่พุ่งขึ้นถึง 17.85 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2550
อุตสาหกรรมสำคัญที่ผลิตสินค้าเพื่อส่งออกของเวียดนามต้องพึ่งพาการนำเข้าวัตถุดิบและสินค้าทุนจากต่างประเทศ ส่งผลให้มูลค่าเพิ่มของสินค้าส่งออกสำคัญของเวียดนามหลายรายการอยู่ในระดับต่ำ ที่สำคัญ ได้แก่
เสื้อผ้าและสิ่งทอ – แม้เวียดนามได้เปรียบด้านต้นทุนแรงงานที่ต่ำซึ่งเอื้อต่ออุตสาหกรรมสิ่งทอและเสื้อผ้าที่ต้องใช้แรงงานมาก ส่งผลให้สิ่งทอและเสื้อผ้าเป็นสินค้าส่งออกสำคัญของเวียดนามเป็นอันดับที่ 2 รองจากน้ำมันดิบ มูลค่าส่งออกสิ่งทอในปี 2550 ราว 7,780 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 34 จากปี 2549 แต่เวียดนามจำเป็นต้องนำเข้าวัตถุดิบต่างๆ สำหรับผลิตสิ่งทอและเสื้อผ้าในสัดส่วนที่สูง เช่น ฝ้าย คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 90 ของวัตถุดิบฝ้ายทั้งหมดที่ใช้ในอุตสาหกรรมสิ่งทอและเสื้อผ้า เส้นใย (นำเข้าสัดส่วนร้อยละ 70) โพลีเอสเตอร์ (สัดส่วนร้อยละ 100) และอุปกรณ์และเครื่องจักรสำหรับย้อมสี (สัดส่วนร้อยละ 100)
มูลค่านำเข้าวัตถุดิบสำหรับผลิตสิ่งทอและเสื้อผ้าของเวียดนามรวมราว 7,187 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2550 โดยเป็นการนำเข้าเส้นใยมูลค่าเกือบ 4,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 33.6 จากปี 2549 และนำเข้าวัสดุอุปกรณ์ตกแต่งสิ่งทอและเครื่องหนัง มูลค่าราว 2,200 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 12.1 จากปี 2549 เส้นด้ายหนาสำหรับถัก (Textile Yarn) มูลค่า 744 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 25.4 จากปี 2549 และฝ้ายมูลค่า 267 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 17.1 การพึ่งพาการนำเข้าวัตถุดิบที่มีมูลค่าสูงส่งผลให้มูลค่าเพิ่มในอุตสาหกรรมสิ่งทอและเสื้อผ้าของเวียดนามอยู่ในระดับต่ำ
รองเท้า – เวียดนามส่งออกรองเท้ามีมูลค่าสูงเป็นอันดับ 4 รองจากน้ำมันดิบ ถ่านหิน และ สิ่งทอ/เสื้อผ้า ตามลำดับ มูลค่าส่งออกในปี 2550 เกือบ 4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ แต่การผลิตรองเท้าของเวียดนามไม่มีอุตสาหกรรมสนับสนุนอย่างครบวงจร จึงจำเป็นต้องนำเข้าวัตถุดิบและอุปกรณ์ตกแต่ง (accessories) ต่างๆ รวมทั้งเครื่องหนังจากต่างประเทศ มูลค่านำเข้าเครื่องหนังและวัสดุตัดเย็บของเวียดนามรวม 2.18 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ปัญหาวัตถุดิบผลิตรองเท้าไม่เพียงพอในเวียดนาม ทำให้ผู้ผลิตรองเท้าในเวียดนามเรียกร้องให้ทางการเวียดนามยกเลิกการเก็บภาษีศุลกากรนำเข้าสินค้าวัตถุดิบและอุปกรณ์ตกแต่งรองเท้าจากปัจจุบันที่เรียกเก็บในอัตราร้อยละ 3 เพื่อลดต้นทุนการผลิตรองเท้า
เฟอร์นิเจอร์ไม้ – แม้เวียดนามมีทรัพยากรป่าไม้ที่อุดมสมบูรณ์ ที่สำคัญ ได้แก่ ไม้สัก แต่เนื่องจากเฟอร์นิเจอร์ไม้ส่งออกของเวียดนามเติบโตอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้ปริมาณไม้ภายในประเทศที่นำมาผลิตเฟอร์นิเจอร์ส่งออกไม่เพียงพอกับความต้องการ จึงจำเป็นต้องนำเข้าจากต่างประเทศ เฟอร์นิเจอร์ไม้ถือเป็นสินค้าส่งออกสำคัญของเวียดนามเป็นอันดับที่ 5 รองจากน้ำมันดิบ เสื้อผ้า/สิ่งทอ รองเท้า และอาหารทะเล ตามลำดับ
เวียดนามส่งออกเฟอร์นิเจอร์ไม้เพิ่มขึ้นร้อยละ 22.3 ในปี 2550 ด้วยมูลค่าส่งออก 2,400 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขณะที่เวียดนามนำเข้าไม้และผลิตภัณฑ์มูลค่าเกือบ 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2550 เพิ่มขึ้นร้อยละ 31.9 จากปี 2549 ส่งผลให้การผลิตเฟอร์นิเจอร์ไม้ของเวียดนามต้องอิงกับความผันผวนของวัตถุดิบไม้ในตลาดโลก โดยการนำเข้าวัตถุดิบไม้ของเวียดนามคิดเป็นสัดส่วนถึงร้อยละ 80 ของวัตถุดิบไม้ที่ใช้สำหรับผลิตเฟอร์นิเจอร์ไม้ทั้งหมด แหล่งนำเข้าวัตถุดิบไม้ที่สำคัญของเวียดนาม ได้แก่ ลาว อินโดนีเซีย บราซิล ประเทศในแอฟริกา และรัสเซีย
อุตสาหกรรมพลาสติก – เวียดนามส่งออกพลาสติกในสัดส่วนไม่สูงนัก เนื่องจากการผลิตพลาสติกของเวียดนามส่วนใหญ่เป็นการผลิตเพื่อใช้ภายในประเทศ ผลิตภัณฑ์พลาสติกสำคัญที่เวียดนามส่งออกของ ได้แก่ บรรจุภัณฑ์พลาสติกซึ่งเป็นการผลิตพลาสติกที่ไม่ต้องใช้เทคโนโลยีในการผลิตที่สูงนัก โดยในปี 2550 เวียดนามส่งออกผลิตภัณฑ์พลาสติกมูลค่า 725 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 51.4 จากปี 2549 ตลาดส่งออกพลาสติกของเวียดนามที่สำคัญ ได้แก่ สหรัฐฯ ญี่ปุ่น สวิตเซอร์แลนด์ นอร์เวย์ อังกฤษ และเยอรมนี
การผลิตพลาสติกของเวียดนามต้องพึ่งพาการนำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศปีละ 1.5-2 ล้านตัน คิดเป็นสัดส่วนถึงร้อยละ 90 ของวัตถุดิบพลาสติกทั้งหมดที่ใช้ในการผลิตพลาสติก เนื่องจากเวียดนามไม่มีอุตสาหกรรมปิโตรเคมีในประเทศ ซึ่งเป็นแหล่งสำคัญของวัตถุดิบสำหรับผลิตพลาสติก เวียดนามนำเข้าพลาสติกขั้นต้นเพิ่มขึ้นร้อยละ 22.5 ในปี 2550 เป็นมูลค่าราว 2,506 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ประเทศหลักที่เวียดนามนำเข้าวัตถุดิบสำหรับผลิตพลาสติก ได้แก่ ไทย สิงคโปร์ และจีน นอกจากนี้ การขาดแคลนเครื่องจักรกลที่มีเทคโนโลยีสูงซึ่งต้องนำเข้าจากต่างประเทศ รวมถึงการขาดแคลนผู้เชี่ยวชาญ/แรงงานทักษะในการผลิตพลาสติกขั้นสูง เป็นข้อจำกัดความสามารถและศักยภาพของเวียดนามในการผลิตและส่งออกพลาสติกที่มีมูลค่าเพิ่มที่สูงขึ้น ซึ่งเป็นสิ่งท้าทายต่อเป้าหมายการส่งออกพลาสติกที่ทางการเวียดนามตั้งไว้มีมูลค่า 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2553
(2) สิ่งท้าทายส่งออก : เศรษฐกิจสหรัฐฯ และ EU ชะลอตัว & ปัญหามาตรการ NTBs
การส่งออกของเวียดนามในปี 2551 คาดว่ายังคงเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง แม้ว่าจะมีแนวโน้มชะลอตัวลง เนื่องจากการชะลอตัวทางเศรษฐกิจของตลาดส่งออกสำคัญๆ อย่างสหรัฐฯ และสหภาพยุโรป ที่มีแนวโน้มทำให้ประเทศเหล่านี้ชะลอการนำเข้าสินค้าจากประเทศคู่ค้ารวมทั้งเวียดนามด้วย ซึ่งตลาดสหรัฐและสหภาพยุโรปเป็นตลาดส่งออกสำคัญ 2 อันดับแรกของเวียดนาม สหรัฐฯ เป็นตลาดส่งออกสำคัญอันดับที่ 1 ของเวียดนาม มูลค่าส่งออกของเวียดนามไปสหรัฐฯ ในปี 2550 ราว 10.54 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 25 จากปี 2549 คิดเป็นสัดส่วนมากกว่าร้อยละ 20 ของการส่งออกทั้งหมดของเวียดนามในปี 2550 สินค้าส่งออกสำคัญของเวียดนามไปสหรัฐฯ ได้แก่ เสื้อผ้าและสิ่งทอ เฟอร์นิเจอร์ไม้ และรองเท้า ตามลำดับ ขณะที่ตลาดสหภาพยุโรปเป็นตลาดสำคัญอันดับ 2 ของเวียดนาม มูลค่าส่งออกทั้งหมดของเวียดนามไปสหภาพยุโรป 8.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2550 คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 17.9 ของการส่งออกทั้งหมดของเวียดนาม รองเท้าและสิ่งทอ/เสื้อผ้าเป็นสินค้าส่งออกสำคัญ 2 อันดับแรกของเวียดนามไปตลาดสหภาพยุโรป
นอกจากนี้ สินค้าส่งออกของเวียดนามยังต้องเผชิญกับอุปสรรคทางการค้าจากมาตรการทางการค้าที่มิใช่ภาษี (Non-Tariff Barriers : NTBs) ของสหรัฐฯ และสหภาพยุโรป ดังนี้
สหรัฐฯ – เสื้อผ้าส่งออกของเวียดนามต้องเผชิญกับความเสี่ยงที่อาจถูกเรียกเก็บภาษีต่อต้านการทุ่มตลาด (Anti-Dumping : AD) ของสหรัฐฯ ซึ่งขณะนี้สหรัฐฯ อยู่ระหว่างการตรวจสอบและติดตามการนำเข้าเสื้อผ้าของเวียดนามเพื่อไต่สวนการทุ่มตลาด (Anti-Dumping : AD) หากสหรัฐฯ เรียกเก็บภาษี AD กับเสื้อผ้าส่งออกจากเวียดนาม จะส่งผลให้เสื้อผ้าส่งออกจากเวียดนามมีราคาแพงขึ้นในตลาดสหรัฐฯ และกระทบขีดความสามารถในการแข่งขันของเสื้อผ้าสิ่งทอของเวียดนามในตลาดสหรัฐฯ ด้วย ทั้งนี้ เวียดนามส่งออกสิ่งทอและเสื้อผ้าไปสหรัฐฯ คิดเป็นสัดส่วนมากกว่าครึ่งหนึ่งของการส่งออกสิ่งทอและเสื้อผ้าทั้งหมดของเวียดนาม
สหภาพยุโรป – รองเท้าหนังส่งออกของเวียดนามต้องเผชิญกับการเรียกเก็บภาษี AD ของสหภาพยุโรปในอัตราร้อยละ 10 ตั้งแต่ปี 2549 ทำให้ผู้นำเข้ารองเท้าจากเวียดนามบางส่วนหันไปนำเข้าจากประเทศอื่นๆ แทน เช่น อินโดนีเซีย กัมพูชา ไทย และอินเดีย โดยเป็นที่น่าสังเกตว่า อัตราขยายตัวของการส่งออกรองเท้าทั้งหมดของเวียดนามชะลอตัวลงในปี 2550 จากที่เติบโตในอัตราร้อยละ 18 ในปี 2549 เป็นร้อยละ 11 ในปี 2550 ทั้งนี้ เวียดนามส่งออกรองเท้าไปสหภาพยุโรป คิดเป็นสัดส่วนมากกว่าร้อยละ 60 ของการส่งออกรองเท้าทั้งหมดของเวียดนาม ส่วนการส่งออกเสื้อผ้าและสิ่งทอของเวียดนามไปสหภาพยุโรปต้องเผชิญกับกฎระเบียบและมาตรฐานสินค้าที่เข้มงวดของสหภาพยุโรป
โอกาสด้านการลงทุนของไทยในเวียดนาม
การขาดแคลนวัตถุดิบในประเทศและความไม่พร้อมของอุตสาหกรรมต้นน้ำและกลางน้ำอย่างครบวงจรของอุตสาหกรรมสำคัญๆ ของเวียดนามอย่างสิ่งทอเสื้อผ้า รองเท้า และพลาสติก ส่งผลให้ทางการเวียดนามมีนโยบายสนับสนุนการลงทุนในอุตสาหกรรมขั้นต้นและขั้นกลาง เพื่อลดการพึ่งพาการนำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศ โดยเฉพาะเน้นการดึงดูดเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ เนื่องจากการพัฒนาอุตสาหกรรมขั้นต้นและขั้นกลางต้องใช้เงินลงทุนและเทคโนโลยีขั้นสูง ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เห็นว่า นักลงทุนไทยที่มีศักยภาพมีโอกาสเข้าไปลงทุนผลิตสิ่งทอต้นน้ำและกลางน้ำ (เช่น ผลิตผ้าผืน โรงงานฟอกย้อม โรงงานทอผ้า) วัสดุตกแต่งและเครื่องหนังสำหรับผลิตรองเท้า รวมทั้งผลิตภัณฑ์พลาสติกขั้นต้น ขั้นกลางและขั้นปลายในเวียดนาม โดยได้รับผลดีจากต้นทุนค่าแรงงานราคาถูกในเวียดนามด้วย ทั้งนี้ เพื่อรองรับการเติบโตของอุตสาหกรรมภายในประเทศเวียดนาม และการขยายตัวของการผลิตเพื่อส่งออกของเวียดนามด้วย แม้ว่าการส่งออกของเวียดนามในปี 2551 ต้องเผชิญกับปัจจัยภายนอกประเทศจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าสำคัญอย่างสหรัฐฯ และสหภาพยุโรป รวมทั้งอุปสรรคทางการค้าจากมาตรการ NTBs ต่างๆ แต่การส่งออกของเวียดนามยังคงมีแนวโน้มขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นปัจจัยสนับสนุนให้นักธุรกิจไทยเข้าไปลงทุนในอุตสาหกรรมสนับสนุนของเวียดนาม ที่สำคัญ ได้แก่
– อุตสาหกรรมสิ่งทอต้นน้ำและกลางน้ำ– เวียดนามวางแผนลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานเพื่อสนับสนุนการลงทุนของอุตสาหกรรมสิ่งทอต้นน้ำและกลางน้ำ รวมถึงการจัดตั้งสวนอุตสาหกรรมสิ่งทอฟอกย้อม (dyeing-textile industrial park) เพื่อดึงดูดนักลงทุนต่างชาติให้เข้าไปลงทุนในอุตสาหกรรมสิ่งทอต้นน้ำและกลางน้ำในเวียดนาม นักลงทุนไทยจึงมีโอกาสเข้าไปลงทุนผลิตสิ่งทอต้นน้ำและกลางน้ำในเวียดนาม เพื่อรองรับความต้องการวัตถุดิบผลิตสิ่งทอและเสื้อผ้าส่งออกของเวียดนามที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง
– อุตสาหกรรมชิ้นส่วนรองเท้า – ปัจจุบันเวียดนามถือเป็นประเทศผู้ส่งออกรองเท้ามากเป็นอันดับ 2 ของโลก รองจากจีน แต่เวียดนามยังขาดอุตสาหกรรมสนับสนุนประเภทชิ้นส่วนรองเท้าที่ยังมีการผลิตในประเทศไม่มากนัก จึงเป็นโอกาสให้นักลงทุนไทยเข้าไปลงทุนผลิตชิ้นส่วนรองเท้า เพื่อป้อนอุตสาหกรรมรองเท้าของเวียดนามที่มีแนวโน้มขยายตัวได้ดีจากภาคการส่งออกที่เติบโตต่อเนื่อง – อุตสาหกรรมพลาสติกขั้นต้น ขั้นกลาง และขั้นปลาย – เวียดนามมีแหล่งน้ำมันและก๊าซธรรมชาติที่มีคุณภาพ แต่ยังไม่มีอุตสาหกรรมปิโตรเคมีอย่างครบวงจรและยังไม่มีโรงกลั่นน้ำมันในประเทศ (โรงกลั่นน้ำมันของเวียดนามอยู่ระหว่างก่อสร้าง) ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่เป็นแหล่งของวัตถุดิบพลาสติกที่สำคัญ นอกจากทางการเวียดนามสนับสนุนการผลิตวัตถุดิบพลาสติกในประเทศ เพื่อลดการนำเข้าวัตถุดิบแล้ว ยังสนับสนุนการผลิตพลาสติกขั้นสูงขึ้นเพื่อรองรับการขยายตัวของอุตสาหกรรมยานยนต์ และอิเล็กทรอนิกส์ด้วย จากปัจจุบันที่การผลิตพลาสติกส่วนใหญ่ในเวียดนามเป็นการผลิตสินค้าบรรจุภัณฑ์และสินค้าที่ใช้ในบ้านซึ่งใช้เทคโนโลยีต่ำกว่า นักลงทุนไทยจึงมีโอกาสเข้าไปลงทุนผลิตพลาสติกขั้นต้น ขั้นกลางและขั้นปลายในเวียดนาม เพื่อรองรับความต้องการภายในประเทศที่เพิ่มขึ้นตามการเติบโตของภาคอุตสาหกรรมของเวียดนาม เนื่องจากปัจจุบันเวียดนามต้องนำเข้าพลาสติกขั้นต้นและขั้นสูงจากต่างประเทศมีมูลค่าสูงในแต่ละปี
นักลงทุนไทยที่สนใจเข้าไปลงทุนในเวียดนามควรพิจารณาจัดตั้งธุรกิจในเขตเศรษฐกิจพิเศษในรูปแบบต่างๆ ที่ทางการเวียดนามจัดตั้งขึ้นเพื่อดึงดูดเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ที่สำคัญ ได้แก่ เขตอุตสาหกรรม (Industrial Zone : IZ) เน้นการผลิตสินค้าเพื่อจำหน่ายในประเทศ และเขตอุตสาหกรรมเพื่อการส่งออก (Export Processing Zone : EPZ) การลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษของเวียดนามจะได้รับสิทธิประโยชน์ด้านต่างๆ เช่น การยกเว้นภาษีการค้า ภาษีมูลค่าเพิ่ม และภาษีนำเข้าสินค้าสำหรับกิจการใน EPZ รวมทั้งได้รับความคล่องตัวในการดำเนินธุรกิจ เช่น การขอใบอนุญาตต่างๆ ทางธุรกิจ ทั้งนี้ ทางการเวียดนามไม่ได้จำกัดรูปแบบการลงทุนสำหรับกิจการหรือโครงการลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษ ซึ่งนักลงทุนต่างชาติสามารถลงทุนถือหุ้นได้ในสัดส่วนร้อยละ 100
การจัดตั้งบริษัทที่ลงทุนโดยชาวต่างชาติทั้งหมด (100-percent foreign-invested enterprises : FIF’s) เป็นที่นิยมของนักลงทุนต่างชาติในเวียดนาม เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหากับผู้ร่วมทุนท้องถิ่นชาวเวียดนามที่อาจเกิดขึ้นจากความแตกต่างของการบริหารงานและการแบ่งผลประโยชน์ที่ตกลงกันไม่ได้ แต่การจัดตั้งธุรกิจของต่างชาติที่ลงทุนเองทั้งหมด (FIF) โดยไม่พึ่งพาผู้ร่วมทุนชาวเวียดนามจำเป็นต้องศึกษาข้อมูลระบบท้องถิ่นของเวียดนามและสำรวจตลาดเวียดนามอย่างดี สำหรับนักลงทุนไทยที่ต้องการหาผู้ร่วมทุนท้องถิ่นชาวเวียดนามอาจหาจากบริษัทที่ปรึกษาเอกชนซึ่งให้บริการจับคู่ทางธุรกิจ (matching services) อย่างไรก็ตาม สิ่งท้าทายของนักลงทุนไทยที่เข้าไปลงทุนในเวียดนาม ที่สำคัญ ได้แก่ โครงสร้างพื้นฐานและระบบโลจีสติกส์ของเวียดนามที่ยังไม่พัฒนาเท่าที่ควร ส่งผลให้ต้นทุนการดำเนินธุรกิจสูงขึ้น รวมถึงการขาดแคลนแรงงานทักษะในเวียดนาม ที่ส่งผลให้ค่าจ้างแรงงานทักษะปรับตัวสูงขึ้น ภาครัฐของไทยควรสนับสนุนและช่วยเหลือด้านข้อมูลที่จำเป็นต่อการดำเนินธุรกิจในเวียดนาม เพื่อเตรียมความพร้อมของนักลงทุนไทยที่ต้องการเข้าไปลงทุนในเวียดนามให้มีข้อมูลครบถ้วนและสามารถรับมือกับปัญหาและความท้าทายต่างๆ ก่อนเข้าไปลงทุนในเวียดนาม ที่สำคัญ ได้แก่ ข้อมูลด้านการตลาด คู่แข่งขันในตลาด ข้อมูลทางการเงิน และกฎระเบียบภาครัฐที่เกี่ยวข้องในการดำเนินธุรกิจ เช่น กฎหมายแรงงาน และกฎระเบียบด้านการเงิน
บทสรุป & ข้อเสนอแนะ
นอกจากปัจจัยด้านการลงทุนและการบริโภคภายในประเทศของเวียดนามแล้ว ภาคส่งออกเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญของเวียดนาม ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนมากว่าร้อยละ 65 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) การส่งออกที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่องในอัตรามากกว่าร้อยละ 20 ต่อปี ในช่วง 5 ปีมานี้ (2546-2550) เป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยให้เศรษฐกิจเวียดนามรักษาระดับการเติบโตในอัตราร้อยละ 8 แม้ว่าการส่งออกของเวียดนามในปี 2551 จะมีแนวโน้มชะลอตัวลง เนื่องจากเวียดนามต้องเผชิญกับการชะลอตัวทางเศรษฐกิจของตลาดส่งออกสำคัญๆ อย่างสหรัฐฯ และสหภาพยุโรป รวมทั้งอุปสรรคทางการค้าจากมาตรการ NTBs ต่างๆ ของประเทศคู่ค้า แต่คาดว่าการส่งออกโดยรวมของเวียดนามยังคงเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง
อย่างไรก็ตาม สินค้าส่งออกสำคัญของเวียดนามที่สร้างรายได้เข้าประเทศต้องประสบปัญหาจากความไม่พร้อมของอุตสาหกรรมสนับสนุนภายในประเทศ และการขาดแคลนวัตถุดิบในประเทศ จึงจำเป็นต้องพึ่งพาการนำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศ ที่สำคัญ ได้แก่ สิ่งทอ/เสื้อผ้า ที่ต้องนำเข้าวัตถุดิบในสัดส่วนที่สูง ได้แก่ ฝ้าย เส้นใย และโพลีเอสเตอร์ รวมทั้งเครื่องจักรสำหรับย้อมผ้าจากต่างประเทศ รองเท้า ต้องนำเข้าวัสดุ/อุปกรณ์ตกแต่งรองเท้าและเครื่องหนัง และเฟอร์นิเจอร์ไม้ ต้องนำเข้าไม้จากต่างประเทศ
การพึ่งการการนำเข้าวัตถุดิบของเวียดนามทำให้การส่งออกสินค้าของเวียดนามต้องอิงกับความผันผวนของวัตถุดิบในตลาดโลก และทำให้มูลค่าเพิ่มของสินค้าส่งออกเหล่านี้อยู่ในระดับต่ำ ซึ่งส่งผลกระทบต่อขีดความสามารถทางการแข่งขันของสินค้าส่งออกของเวียดนามในตลาดโลก ทางการเวียดนามจึงมีนโยบายสนับสนุนการลงทุนในอุตสาหกรรมขั้นต้นและขั้นกลาง เพื่อลดการพึ่งพาการนำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศ โดยเฉพาะเน้นการดึงดูดเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ เนื่องจากการพัฒนาอุตสาหกรรมขั้นต้นและขั้นกลางต้องใช้เงินลงทุนและเทคโนโลยีขั้นสูง จึงเป็นโอกาสให้นักลงทุนไทยที่มีศักยภาพเข้าไปลงทุนผลิตอุตสาหกรรมต้นน้ำและกลางน้ำในเวียดนาม ได้แก่ สิ่งทอต้นน้ำและกลางน้ำ (เช่น โรงงานผ้าผืน โรงงานฟอกย้อม) วัสดุตกแต่งและเครื่องหนังสำหรับผลิตรองเท้า รวมทั้งผลิตภัณฑ์พลาสติกขั้นต้น ขั้นกลางและขั้นปลายในเวียดนาม เพื่อรองรับการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรมของเวียดนาม และการส่งออกที่มีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง รวมทั้งได้รับผลดีจากต้นทุนค่าแรงงานราคาถูกในเวียดนามด้วย
นักลงทุนไทยที่สนใจเข้าไปลงทุนในเวียดนามควรพิจารณาจัดตั้งธุรกิจในเขตเศรษฐกิจพิเศษในรูปแบบต่างๆ ที่ทางการเวียดนามจัดตั้งขึ้นเพื่อดึงดูดเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ที่สำคัญ ได้แก่ เขตอุตสาหกรรม (Industrial Zone : IZ) และเขตอุตสาหกรรมเพื่อการส่งออก (Export Processing Zone : EPZ) เนื่องจากจะได้รับสิทธิประโยชน์ด้านต่างๆ เช่น การยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม และภาษีนำเข้าสินค้า โดยทางการเวียดนามไม่ได้จำกัดรูปแบบการลงทุนสำหรับกิจการหรือโครงการลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษ ซึ่งนักลงทุนต่างชาติสามารถลงทุนถือหุ้นได้ในสัดส่วนร้อยละ 100
อย่างไรก็ตาม สิ่งท้าทายของนักลงทุนไทยที่เข้าไปลงทุนในเวียดนาม ที่สำคัญ ได้แก่ โครงสร้างพื้นฐานและระบบโลจีสติกส์ของเวียดนามที่ยังไม่พัฒนาเท่าที่ควร ส่งผลให้ต้นทุนการดำเนินธุรกิจสูงขึ้น รวมถึงการขาดแคลนแรงงานทักษะในเวียดนาม ที่ส่งผลให้ค่าจ้างแรงงานทักษะปรับตัวสูงขึ้น ภาครัฐของไทยควรสนับสนุนและช่วยเหลือด้านข้อมูลที่จำเป็นต่อการดำเนินธุรกิจในเวียดนาม เพื่อเตรียมความพร้อมของนักลงทุนไทยที่ต้องการเข้าไปลงทุนในเวียดนามให้มีข้อมูลครบถ้วนและสามารถรับมือกับปัญหาและความท้าทายต่างๆ ก่อนเข้าไปลงทุนในเวียดนาม ที่สำคัญ ได้แก่ ข้อมูลด้านการตลาด คู่แข่งขันในตลาด ข้อมูลทางการเงิน และกฎระเบียบภาครัฐที่เกี่ยวข้องในการดำเนินธุรกิจ เช่น กฎหมายแรงงาน และกฎระเบียบด้านการเงิน ***