ในระยะปีที่ผ่านมาการลงทุนจากญี่ปุ่นมีทิศทางชะลอตัวลงไปในช่วงที่เศรษฐกิจไทยเผชิญกับปัญหาทางการเมืองภายในประเทศ โดยการลงทุนโดยตรงของญี่ปุ่นเพิ่มขึ้นเล็กน้อยในขณะที่มูลค่าเงินลงทุนโดยตรงที่เข้ามายังประเทศไทยโดยรวมปรับลดลง อย่างไรก็ตามธุรกิจญี่ปุ่นก็ยังมีแผนการที่จะขยายการลงทุนในประเทศโดยมองถึงโอกาสทางการลงทุนในระยะข้างหน้า ดังจะเห็นได้จากทิศทางความสนใจของนักลงทุนญี่ปุ่นผ่านการขอรับส่งเสริมการลงทุนจากบีโอไอและจากผลการสำรวจของหอการค้าญี่ปุ่นประจำประเทศไทยที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ธุรกิจญี่ปุ่นในหลายอุตสาหกรรมมีแผนการที่จะเดินหน้าขยายการลงทุนในไทย ซึ่งคาดว่าหลังจากสถานการณ์ทางการเมืองของไทยกลับคืนสู่ภาวะปกติและรัฐบาลใหม่สามารถสร้างความชัดเจนในด้านนโยบายที่จะสนับสนุนการลงทุนจากต่างประเทศ การลงทุนจากญี่ปุ่นน่าจะเริ่มออกเดินเครื่องได้
ญี่ปุ่นมีความสำคัญในฐานะที่เป็นประเทศผู้ลงทุนหลักของไทย นักลงทุนญี่ปุ่นเข้ามาลงทุนในไทยมากที่สุดโดยมีสัดส่วนเงินลงทุนโดยตรงสุทธิช่วง 11 เดือนแรกของปี 2550 เป็นมูลค่า 2,442 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯหรือคิดเป็นร้อยละ 32.6 มากกว่าประเทศผู้ลงทุนหลักอื่นๆ เช่น สหรัฐ(ร้อยละ 11.5) กลุ่มประเทศอียู(ร้อยละ 23) และอาเซียน(ร้อยละ 16.2) เมื่อมอง การลงทุนโดยตรงสุทธิในประเทศไทยด้านดุลการชำระเงินซึ่งแสดงถึงเงินลงทุนที่เข้ามาจริงพบว่ามีการชะลอตัวในช่วงปีที่ผ่านมา โดยมูลค่าการลงทุนรวมจากทุกประเทศลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 18.4 ในขณะที่การลงทุนสุทธิจากญี่ปุ่นเติบโตไม่มากในอัตราร้อยละ 2.8
อย่างไรก็ตามด้านการให้ส่งเสริมการลงทุนซึ่งเป็นตัวเลขที่บ่งชี้ถึงความสนใจของนักลงทุน ในปี 2550 เพิ่มขึ้นทั้งในด้านการขอรับการส่งเสริมและการอนุมัติส่งเสริมการลงทุน ซึ่งการเพิ่มขึ้นของตัวเลขการส่งเสริมส่วนหนึ่งก็เนื่องมาจากมาตรการส่งเสริมการลงทุนของภาครัฐ การลงทุนจากต่างประเทศโดยรวมและการลงทุนจากญี่ปุ่นในปี 2550 เพิ่มขึ้นจากปี 2549 โดยมูลค่าการลงทุนจากญี่ปุ่นที่ได้รับการส่งเสริมฟื้นตัวกลับมาอยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกับปี 2548 หลังจากลดลงไปในปี 2549 เพื่อรอดูสถานการณ์ทางการเมือง การลงทุนจากญี่ปุ่นที่ได้รับการอนุมัติในปี 2550 มีมูลค่า164,323 ล้านบาทขยายตัวร้อยละ 42.6 เมื่อเทียบกับปีก่อน โดยมีขนาดของโครงการโดยเฉลี่ยใหญ่ขึ้น จำนวนโครงการของญี่ปุ่นไม่เปลี่ยนแปลงจากเดิมนักเนื่องจากโครงการของนักลงทุนญี่ปุ่นหลายโครงการที่ได้รับการส่งเสริมมีขนาดใหญ่และใช้เงินลงทุนสูง อาทิ การลงทุนในอุตสาหกรรมรถยนต์และชิ้นส่วน เหล็ก และอิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น
นักลงทุนญี่ปุ่นมีแผนการที่จะลงทุนในประเทศไทยเพิ่มขึ้นในปีนี้หลังสถานการณ์การเมืองเริ่มมีความชัดเจนหลังการเลือกตั้ง จากการสำรวจของหอการค้าญี่ปุ่น พบว่าความกังวลของนักลงทุนที่มีต่อการเมืองไทยมีความสำคัญลดลงจากลำดับ 1 ในการสำรวจครั้งก่อน(ช่วงเดือนเม.ย.-พ.ค.) เป็นลำดับ 3 โดยนักลงทุนกลับมากังวลเรื่องเศรษฐกิจมากขึ้นแทนโดยเฉพาะในเรื่องของการเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมันดิบและน้ำมันเชื้อเพลิง และการเพิ่มขึ้นของต้นทุนการผลิตและค่าครองชีพ ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่นักลงทุนมองว่าอาจจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยและการดำเนินธุรกิจ(ผลประกอบการของธุรกิจ)ในอนาคต
นักลงทุนญี่ปุ่นมองว่าสภาพธุรกิจโดยรวมน่าจะปรับตัวดีขึ้นหลังการเลือกตั้ง บริษัทญี่ปุ่นมีมุมมองในทางบวกต่อสภาพธุรกิจไทยในช่วงครึ่งแรกของปี 2551โดยจากการสำรวจของหอการค้าญี่ปุ่นประจำประเทศไทย ดัชนี DI (Diffusion Index: ดัชนีแนวโน้มเศรษฐกิจ) ปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้บริษัทญี่ปุ่นยังคาดว่ายอดขายและกำไรจะขยายตัว ส่งผลให้มีแนวโน้มที่จะลงทุนทั้งทางด้านโรงงานและเครื่องจักรเพิ่มขึ้นในปี 2551 โดยจากผลสำรวจเดียวกันนี้พบว่าบริษัทญี่ปุ่นที่ตอบแบบสำรวจมีแผนการลงทุนในช่วงปี 2551 ประมาณ 55,362 ล้านบาทเพิ่มขึ้นร้อยละ 14.5 จากปี 2550 ทั้งนี้ตัวเลขการขอรับการส่งเสริมการลงทุนของทั้งปี 2551 ซึ่งทางคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนคาดการณ์ไว้ว่าน่าจะอยู่ประมาณ 5.5 แสนล้านบาท โดยในส่วนของนักลงทุนญี่ปุ่นมีแนวโน้มให้ความสนใจเข้ามาลงทุนในไทยเพิ่มอย่างต่อเนื่องในอุตสาหกรรมเป้าหมายโดยเฉพาะอุตสาหกรรมรถยนต์และส่วนประกอบ เครื่องใช้ไฟฟ้าและผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ และเหล็ก
นโยบายส่งเสริมการลงทุนของภาครัฐเป็นปัจจัยสำคัญที่สนับสนุนการเติบโตการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ ในปีที่ผ่านมาคณะกรรมการการส่งเสริมการลงทุนมีการปรับเปลี่ยนเพิ่มเติมนโยบายเพื่อดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศรวม 15 มาตรการ อาทิ โครงการการส่งเสริมกิจการการผลิตเหล็กขั้นต้นคุณภาพสูง และโครงการผลิตรถยนต์ประหยัดพลังงานหรืออีโคคาร์ ซึ่งมีผลทำให้การลงทุนทางตรงในอุตสาหกรรมดังกล่าวเติบโตสูง ในโครงการอีโคคาร์มีผู้ผลิต 7 ราย(เป็นผู้ผลิตญี่ปุ่น 5 ราย) แสดงความจำนงในการดำเนินงาน ในจำนวนนี้ 3 รายคือ ซูซูกิ ฮอนด้า และนิสสันที่ได้รับการอนุมัติแล้วมีมูลค่าการลงทุนรวม 21,700 ล้านบาท ในขณะที่อีก 4 รายอยู่ระหว่างการพิจารณา ในส่วนของโครงการส่งเสริมผลิตกิจการผลิตเหล็กขั้นต้นก็มีบริษัทผู้ผลิตเหล็กรายใหญ่คือ บริษัทนิปปอนสตีล และบริษัทเจเอฟอีจากญี่ปุ่น และบริษัท BAOSTEEL จากจีนให้ความสนใจเข้ามาลงทุนโดยคาดว่าจะใช้เงินลงทุนรายละไม่ต่ำกว่า 1 แสนล้านบาท โดย
นอกจากนโยบายส่งเสริมการลงทุนของภาครัฐจะเป็นผลดีต่อการดึงดูดการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายที่ได้รับการส่งเสริมแล้วยังดึงดูดการลงทุนในอุตสาหกรรม/บริการต่อเนื่อง ด้วย ยกตัวอย่างเช่น เด็นโซ่ตั้งสำนักงานประจำภูมิภาคแห่งใหม่ในไทยเพื่อรองรับอุตสาหกรรมรถยนต์ ทั้งนี้นักธุรกิจญี่ปุ่นมีความคาดหวังว่ารัฐบาลใหม่จะส่งเสริมการลงทุนอย่างต่อเนื่อง
อย่างไรก็ตามต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้นอาจจะเป็นปัญหาหนึ่งที่จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและการลงทุนจากต่างประเทศในอนาคต โดยประเด็นที่สำคัญคือต้นทุนแรงงานของไทยที่สูงกว่าประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาคหลายประเทศ เช่น จีน เวียดนาม อินโดนีเซีย อินเดีย เป็นต้น ต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้นกระทบกับความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้นส่วนหนึ่งเกิดจากปัจจัยภายนอกคือ ราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้นทำให้สินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมันดิบและน้ำมันเชื้อเพลิงมีราคาแพงขึ้น ซึ่งส่งผลให้ต้นทุนค่าขนส่ง รวมไปถึงต้นทุนการจัดหาวัตถุดิบและสินค้าขั้นกลางเพิ่มขึ้น แรงกดดันต่อต้นทุนการผลิตอีกประการคือค่าจ้างแรงงานซึ่งมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยกระทรวงแรงงานได้ปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำขึ้น 1-7 บาทตามพื้นที่ไปเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2551 ค่าจ้างแรงงานของไทยที่มีระดับสูงกว่าประเทศเพื่อนบ้านอาจเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้โครงการลงทุนในบางสาขาเปลี่ยนความสนใจไปลงทุนในประเทศอื่น ซึ่งปัญหาดังกล่าวนี้สะท้อนถึงความจำเป็นในการพัฒนาบุคลากรและอุตสาหกรรมของประเทศในระยะยาว ไปสู่การผลิตสินค้า/บริการที่มีความซับซ้อนขึ้น โดยสร้างจุดแข็งในด้านอื่นเพื่อทดแทนการเสียเปรียบในด้านต้นทุนแรงงาน
ทั้งนี้เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคเอเชีย แม้ว่าการลงทุนของญี่ปุ่นในไทยจะยังสามารถเติบโตได้ดีโดยการลงทุนระหว่างไตรมาสที่ 1 ถึงไตรมาสที่ 3 ของปี 2550 มีมูลค่า 171.3 พันล้านสูงเป็นอันดับที่ 2 ในภูมิภาคและมีอัตราการขยายตัวร้อยละ 20 จากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า แต่การลงทุนที่เกิดขึ้นในปัจจุบันอาจไม่ใช่สิ่งที่บ่งชี้แนวโน้มการลงทุนในอนาคต ซึ่งถ้าพิจารณาจากผลการสำรวจเกี่ยวกับการลงทุนโดยตรงในต่างประเทศของบริษัทญี่ปุ่นโดยธนาคารเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศแห่งประเทศญี่ปุ่น(JBIC) เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2550 ซึ่งสอบถามถึงความสนใจลงทุนในระยะ 3 ปีข้างหน้า พบว่าไทยอยู่ในอันดับที่ 4 รองจาก จีน อินเดีย และเวียดนาม โดยเป็นอันดับเดิมเท่ากับปี 2549 แต่สัดส่วนของบริษัทที่ให้คำตอบว่าสนใจลงทุนในประเทศไทยลดลงจากร้อยละ 29 ของบริษัททั้งหมด(484 บริษัท) ลงมาเป็นร้อยละ 26 ของบริษัททั้งหมด(503 บริษัท) นอกจากนี้อันดับของไทยยังลดลงมาจากที่เคยอยู่ในอันดับที่ 2 ในปี 2547 และอันดับที่ 3 ในปี 2548 ข้อมูลดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่า ความน่าดึงดูดของไทยในสายตานักลงทุนญี่ปุ่นแม้ว่ายังมีสถานะที่ดีในปัจจุบันแต่ก็ได้รับความมั่นใจน้อยลงกว่าในอดีต
สรุป
ในปี 2550 ไทยได้รับการลงทุนจากต่างประเทศในโครงการส่งเสริมสูงขึ้นจากปีก่อนหน้ามาก มูลค่าของโครงการการลงทุนจากญี่ปุ่นในทุกขั้นของการส่งเสริม (ออกบัตรส่งเสริม อนุมัติให้การส่งเสริม และขอรับการส่งเสริม) สูงขึ้นจากปีก่อนหน้ามากเนื่องจากมีโครงการลงทุนขนาดใหญ่เข้ามาหลายโครงการโดยเฉพาะในอุตสาหกรรมรถยนต์และส่วนประกอบ และอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ โครงการญี่ปุ่นที่ขอรับการส่งเสริมในปี 2550 มีจำนวน 330 โครงการมูลค่า 149,071 ล้านบาทเพิ่มขึ้นร้อยละ 40 เมื่อเทียบกับปี 2549 และคิดเป็นสัดส่วนประมาณร้อยละ 23 จากมูลค่าโครงการที่ขอรับการส่งเสริมทั้งหมด 655,800 ล้านบาทจาก 1,318 โครงการ และจากการสำรวจความต้องการลงทุนของบริษัทญี่ปุ่นในประเทศไทยโดยหอการค้าญี่ปุ่นประจำประเทศไทยพบว่าบริษัทญี่ปุ่นมีแผนการลงทุนในไทยมีมูลค่าเพิ่มร้อยละ 14.5 ในปี 2551 เมื่อเทียบกับแผนการในปี 2550 นักลงทุนญี่ปุ่นเตรียมลงทุนเพิ่มในปี 2551 ภายหลังสถานการณ์ทางการเมืองมีความชัดเจนหลังการเลือกตั้ง โดย นักลงทุนมองว่าสภาพธุรกิจในปี 2551 จะดีขึ้นกว่าปีก่อนและมีการคาดการณ์ในทางบวกต่อยอดขาย การส่งออก และผลกำไร ซึ่งส่งผลให้นักลงทุนมีแนวโน้มที่จะลงทุนทั้งทางด้านโรงงานและเครื่องจักรเพิ่มขึ้น โดยนักลงทุนญี่ปุ่นยังสนใจเข้ามาลงทุนในไทยเพิ่มอย่างต่อเนื่องในอุตสาหกรรมเป้าหมายโดยเฉพาะอุตสาหกรรมรถยนต์และส่วนประกอบ เครื่องใช้ไฟฟ้าและผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ และเหล็ก
อย่างไรก็ดีสิ่งที่นักลงทุนญี่ปุ่นกลับมากังวลเพิ่มขึ้นแทนเรื่องการเมืองคือเรื่องเศรษฐกิจโดยเฉพาะในเรื่องของการเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมันดิบและน้ำมันเชื้อเพลิง และการเพิ่มขึ้นของต้นทุนการผลิตและค่าครองชีพ ซึ่งเป็นปัจจัยที่อาจจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยและการลงทุนในอนาคต สิ่งที่ภาครัฐและธุรกิจพึงคำนึงถึงในอนาคตคือ
การบริหารต้นทุนและการพัฒนาระบบโลจิสติกส์ ในช่วงเวลาที่ราคาน้ำมันปรับตัวขึ้นและมีความผันผวนทำให้ราคาวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตและภาระต้นทุนการขนส่งเพิ่ม การบริหารต้นทุนโดยการปรับปรุงประสิทธิภาพในการผลิตและการใช้วัตถุดิบเป็นเรื่องที่ภาคธุรกิจควรให้ความสำคัญเช่นเดียวกับการบริหารการจัดการสินค้าคงคลัง (inventories) ที่ดี และการนำระบบโลจิสติกส์อื่นๆมาปรับใช้ภายในองค์กร ภาครัฐโดยการทอนกฏระเบียบและขั้นตอนการนำเข้าส่งออกเพื่อลดความซับซ้อนของกระบวนการทางศุลกากร อย่างไรก็ดีแนวโน้มการปรับตัวขึ้นของค่าจ้างแรงงานเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ในระยะยาว ภาครัฐและธุรกิจต้องมีการปรับตัวเพื่อยกระดับอุตสาหกรรมและคงความความสามารถในการแข่งขัน
การรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจและสร้างความมั่นใจให้แก่นักลงทุน ภาครัฐควรดูแลเศรษฐกิจให้มีเสถียรภาพเพื่อสร้างความมั่นใจให้แก่นักลงทุนทั้งในเรื่องของอัตราเงินเฟ้อ การรักษาอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ การดูแลอัตราแลกเปลี่ยนไม่ให้ผันผวนจนเกินไป ผ่านการใช้มาตรการต่างๆ อาทิ การใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ การดำเนินการดูแลเสถียรภาพค่าเงินบาท เป็นต้น ในขณะเดียวกันมาตรการที่ส่งผลกระทบต่อนักลงทุนและยังมีความคลุมเครือสร้างความสับสนในทางปฏิบัติ เช่น การแก้ไขพรบ.ประกอบธุรกิจคนต่างด้าว พ.ศ. 2542 ภาครัฐก็อาจควรมีการทำความเข้าใจกับนักลงทุนในประเด็นดังกล่าวเป็นต้น สำหรับผลกระทบของการเปิดเสรีต่อการลงทุนจากญี่ปุ่นนั้น ในส่วนของความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น(JTEPA) ปรากฏว่าแม้ผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจของนักลงทุนญี่ปุ่นอาจจะไม่มากนักเนื่องจากส่วนใหญ่ได้รับสิทธิพิเศษจากการส่งเสริมการลงทุนจากบีโอไออยู่แล้ว แต่นักลงทุนญี่ปุ่นก็น่าจะได้ผลดีของการเปิดเสรีระหว่างไทยกับประเทศ/กลุ่มเศรษฐกิจอื่นๆในแง่ที่เป็นการเปิดตลาดของประเทศที่ 3 ซึ่งอาจเป็นปัจจัยดึงดูดนักลงทุนให้เพิ่มการลงทุนในไทยเพื่อใช้เป็นฐานการผลิตและ/หรือกระจายสินค้าไปยังประเทศอื่นอีกต่อหนึ่ง
นโยบายส่งเสริมการลงทุนดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ นโยบายส่งเสริมการลงทุนมีความสำคัญในการตัดสินใจเข้ามาลงทุน นโยบายส่งเสริมการลงทุนในช่วงปี 2550 ที่ผ่านมาสามารถดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศได้เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าเกือบหนึ่งเท่าตัว โดยเฉพาะในโครงการใหญ่ๆอาทิ โครงการอีโคคาร์ และโครงการการส่งเสริมกิจการการผลิตเหล็กขั้นต้นคุณภาพสูง ซึ่งนักลงทุนญี่ปุ่นให้ความสนใจลงทุนเป็นมูลค่าสูง ภายใต้สถานการณ์ที่การแข่งขันด้านการลงทุนจากต่างประเทศมีความรุนแรงเพิ่มขึ้น ขณะที่สถานะของไทยในการดึงดูดการลงทุนอยู่ในอันดับที่ลดลงกว่าในอดีตเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศที่มีศักยภาพเติบโตสูงอย่างอินเดีย และเวียดนาม รัฐบาลจึงควรเร่งปรับมาตรการส่งเสริมการลงทุนให้สอดรับกับสถานการณ์การแข่งขันที่เข้มข้นขึ้นดังกล่าวก่อนที่ไทยจะถูกอินเดียและเวียดนามทิ้งห่างออกไปเพิ่มขึ้น โดยควรให้ความสำคัญกับการสนับสนุนการลงทุนจากต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง สร้างความชัดเจนให้กับกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง และพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและโลจิสติกส์ของประเทศ