สมาคมอุรเวชช์แห่งประเทศไทย ร่วมลงนามเซ็นสัญญากับเอ็น.ซี.ซี.ฯ

ขณะที่วิทยาการการแพทย์และโลกก้าวไกลด้วยเทคโนโลยี แต่อัตราการป่วยด้วยโรคระบบการหายใจกลับเพิ่มขึ้น และส่งผลเสียต่อคุณภาพชีวิตของประชากรโลกรวมทั้งคนไทย เป็นโรคร้ายแรงอยู่ใน 5 อันดับแรกของโลก ที่สร้างความสูญเสียทางสังคม เศรษฐกิจ เป็นอย่างมาก การประชุมโรคระบบการหายใจแห่งภาคพื้นเอเชีย-แปซิฟิก ครั้งที่ 13 หรือ The 13th Congress of the Asian Pacific Society of Respirology ถือเป็นงานประชุมทางการแพทย์ครั้งยิ่งใหญ่ที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัด โดยสมาคมอุรเวชช์แห่งประเทศไทยร่วมกับคณะกรรมการจัดงานได้รับเกียรติเป็นเจ้าภาพโดยมอบหมายให้ บริษัท เอ็น.ซี.ซี. แมนเนจเม้นท์ แอนด์ ดิเวลลอปเม้นท์ จำกัด เป็นผู้บริหารจัดการ โดยงานจะจัดขึ้นในระหว่างวันที่ 19 – 22 พฤศจิกายน 2551 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ต้อนรับผู้เข้าประชุมกว่า 2,000 คนจากทั่วโลก ซึ่งล้วนเป็นแพทย์ ผู้เชี่ยวชาญ และเครือข่ายสุขภาพ ที่มีบทบาทขับเคลื่อนวงการสุขภาพและการแพทย์ในนานาประเทศ สำหรับงานประชุมครั้งนี้ได้รับการสนับสนุนจาก สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ สสปน. และพันธมิตรต่างๆที่จะร่วมสร้างรายได้และชื่อเสียงแก่ประเทศไทย สอดคล้องกับนโยบายส่งเสริมประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการแพทย์และสุขภาพ (Medical Hub) ของภูมิภาค

ศาสตราจารย์นายแพทย์อรรถ นานา นายกสมาคมอุรเวชช์แห่งประเทศไทยและประธานคณะกรรมการจัดงานฯ กล่าวถึงความหมายของโรคระบบการหายใจ (Respiratory Disease) นั้นคือโรคที่ครอบคลุมอวัยวะของมนุษย์ เช่น จมูก ลำคอ หลอดลม และปอด ในปัจจุบันสถานการณ์โรคระบบการหายใจแห่งภาคพื้นเอเชีย-แปซิฟิกส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจเป็นอันดับที่ 4 โดยมีโรคหัวใจตามมาเป็นอันดับที่ 1 โรคมะเร็งเป็นอันดับที่ 2 การเสียชีวิตจากอุบัติเหตุเป็นอันดับที่ 3 ดังนั้น โรคระบบการหายใจจึงเป็นปัญหาอันดับต้นๆในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ซึ่งประกอบไปด้วยโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง โรคภูมิแพ้ โรคหืดและวัณโรค ทั้งนี้เนื่องจากอัตราการสูบบุหรี่และมลภาวะพิษจากสิ่งแวดล้อมในเอเชียแปซิฟิกนั้นขยายตัว ส่วนสถานการณ์โรคระบบการหายใจในประเทศไทยในปัจจุบัน ผู้ชายป่วยเป็นโรคมะเร็งปอดรองจากโรคมะเร็งตับ ในขณะที่ผู้หญิงป่วยเป็นโรคมะเร็งปอดรองจากโรคมะเร็งปากมดลูก และมะเร็งเต้านมตามลำดับ ซึ่งสาเหตุหลักของโรคระบบการหายใจเกิดจากการสูบบุหรี่ สภาพอากาศและมลภาวะเป็นพิษ รวมถึงสิ่งแวดล้อมในที่ทำงานที่ไม่เอื้ออำนวยต่อสุขภาพเป็นต้น ทั้งนี้ทางสมาคมฯ ได้ทำการวิจัยมากมายกับปัญหาโรคที่เกิดขึ้นดังกล่าว รวมถึงการค้นคว้าหาวิธีป้องกัน และรักษาโรคเหล่านั้น

ศ.นพ.อรรถ กล่าวเพิ่มเติมว่า ”ที่มาของการจัดงานประชุมโรคระบบการหายใจแห่งภาคพื้นเอเชีย-แปซิฟิก ครั้งที่ 13 หรือ The 13th Congress of APSR 2008 เป็นการรวมตัวครั้งใหญ่ของกลุ่มแพทย์และผู้เชี่ยวชาญในด้านโรคระบบการหายใจ เพื่อประชุมหารือปัญหาและแนวทางในวิทยาการการรักษาใหม่ๆ เนื่องจากโรคระบบการหายใจ มีผลกระทบอย่างสูงต่อคุณภาพชีวิตของประชากร ก่อให้เกิดปัญหาและอุปสรรคต่อการดำรงชีวิตและการพัฒนาประเทศ เกิดความทุกข์ทรมานแก่ผู้ป่วยและเป็นการสูญเสียทางเศรษฐกิจอย่างสูง บางรายอาจนำไปสู่ภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงเป็นสาเหตุของการตายหรือทำให้เกิดความผิดปกติอย่างถาวร วงการแพทย์ตระหนักถึงความสำคัญของปัญหาเหล่านี้ จึงได้มีการจัดงานประชุมโรคระบบการหายใจแห่งภาคพื้นเอเชีย-แปซิฟิก อย่างต่อเนื่อง โดยครั้งล่าสุดจัดที่เมืองโกลด์ โคสต์ ประเทศออสเตรเลีย สำหรับการประชุม The 13th Congress of APSR 2008 ที่จะจัดขึ้นที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ในวันที่ 19-22 พฤศจิกายนนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการพัฒนานวัตกรรมเทคโนโลยีและการบำบัดรักษาโรคระบบการหายใจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกให้ก้าวหน้าและเกิดประโยชน์สูงสุด ส่งเสริมการแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นและความร่วมมือด้านโรคระบบการหายใจในภูมิภาคนี้ และเป็นการเชิญชวนองค์กรและบุคลากรด้านการแพทย์ โรงพยาบาล สถาบันการศึกษา เครือข่ายสุขภาพ และคนไทยได้เห็นความสำคัญของการดูแลสุขภาพอย่างสม่ำเสมอ เพื่อช่วยกันลดอัตราการเจ็บป่วยลง และเสริมสร้างคุณภาพชีวิต ถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ”

รองศาสตราจารย์นายแพทย์นิธิพัฒน์ เจียรกุล เลขานุการคณะกรรมการจัดงานฯ กล่าวว่า “หัวข้อหลักในการประชุมเชิงวิชาการครั้งนี้มีประเด็นที่น่าสนใจและคิดว่าจะเป็นประโยชน์ต่อสภาวะสุขภาพของประชาชน อาทิ เช่น การดูแลรักษาผู้ป่วยโรคหืดและโรคภูมิแพ้ในระบบการหายใจที่กำลังเพิ่มจำนวนมากขึ้น, โรคปอดที่เกิดจากการทำงาน ปัญหาของประเทศอุตสาหกรรมและกึ่งอุตสาหกรรม, ผลกระทบของมลภาวะในอากาศต่อสุขภาพ, โรคติดเชื้อในระบบการหายใจที่คุกคามมนุษยชาติในภูมิภาคนี้ ได้แก่ วัณโรค, ปอดอักเสบ, ไข้หวัดนก, โรคระบบการหายใจจากการสูบบุหรี่ที่ป้องกันได้ คือ มะเร็งปอด และโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังหรือถุงลมโป่งพอง, ปัญหาความผิดปกติระหว่างการนอนหลับโดยเฉพาะการกรนและการหยุดหายใจ, ความก้าวหน้าในการดูแลผู้ป่วยวิกฤติในไอซียู, เทคนิคใหม่ในการตรวจทางรังสีวิทยา เช่น เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ การตรวจด้วยสนามแม่เหล็ก และความก้าวหน้าในการตรวจเข้าไปในระบบ การหายใจของมนุษย์ ด้วยการส่องกล้องและใช้อุปกรณ์อื่นๆ นอกจากนี้ในงานประชุมตลอด 4 วัน จะมีการจัดแสดงนิทรรศการเวชภัณฑ์และนวัตกรรมทางการแพทย์ โดยบริษัทห้างร้านจากทั้งในและต่างประเทศ ทั้งนี้เพื่อเปิดโอกาสให้มีการแสวงหาความร่วมมือ และเปิดโอกาสทางการค้าใหม่ๆ ผู้เข้าร่วมประชุมและผู้ติดตามสามารถสัมผัสชีวิตความเป็นอยู่ ประเพณี และวัฒนธรรมอันดีงามของไทยได้ในงาน ประชุมโรคระบบการหายใจแห่งภาคพื้นเอเชีย-แปซิฟิก ครั้งที่ 13 ผู้ที่สนใจรายละเอียดเกี่ยวกับงานขอเชิญเยี่ยมชมได้ที่ www.apsr2008.org

นายฤกษมัย สุขุม กรรมการผู้จัดการบริษัท เอ็น.ซี.ซี. แมนเนจเม้นท์ แอนด์ ดิเวลลอปเม้นท์ จำกัด ผู้บริหารศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ กล่าวว่า “ในด้านการเตรียมพร้อมของสถานที่จัดประชุมโรคระบบการหายใจแห่งภาคพื้นเอเชีย-แปซิฟิก ครั้งที่ 13 นั้น บริษัท เอ็น.ซี.ซี.ฯ ก่อตั้งมาเป็นเวลากว่า 15 ปี เป็นผู้มีประสบการณ์ในการจัดงานประชุมที่ได้มาตรฐานระดับโลก ส่วนด้านความพร้อมของสถานที่นั้น ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ได้รับการออกแบบทางสถาปัตยกรรมที่สะท้อนความเป็นไทย ผสมผสานกับความทันสมัยของเครื่องมืออันเหมาะสมกับลักษณะการใช้งาน ส่วนด้านการจัดเลี้ยง เมนูอาหารหลากหลาย และบุคลากรก็พร้อมให้บริการด้วยน้ำใจไมตรีอันเป็นเอกลักษณ์ของคนไทย นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังสามารถจัดเตรียมงานโครงสร้างเวที นิทรรศการ และการตกแต่งที่สง่างามสมศักดิ์ศรีการประชุมระดับโลก ตลอดจนความพร้อมของระบบการรักษาความปลอดภัยที่มีประสิทธิภาพและวางใจได้ ในด้านการบริหารจัดการ, ฝ่ายจัดงานประชุม และหน่วยงานสนับสนุนต่างๆ ในบริษัทฯ ต่างพร้อมที่จะทุ่มเทอย่างเต็มกำลังในการวางแผน จัดเตรียมการอย่างละเอียดในทุกขั้นตอน รวมทั้งมีการฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ทุกฝ่ายให้เข้าใจบทบาทหน้าที่ และพร้อมที่จะให้การบริการอย่างดีที่สุดแก่ผู้มาร่วมประชุมกว่า 2,000 คน ครบครันด้วยระบบการสื่อสารที่ทันสมัย ฉับไว และทันต่อเหตุการณ์”