การยกเลิกมาตรการกันสำรองร้อยละ 30 ดีต่อภาวะการลงทุน

ในที่สุด สิ่งที่นักลงทุนในตลาดเงินและตลาดทุนพากันคาดการณ์มาตั้งแต่ต้นปี 2551 โดยเฉพาะหลังจากที่รัฐบาลชุดใหม่ได้ถูกจัดตั้งขึ้น ก็ปรากฏเป็นจริงขึ้น โดยธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้แถลงข่าวเมื่อเย็นวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2551 ประกาศยกเลิกมาตรการดำรงเงินสำรองเงินนำเข้าระยะสั้นร้อยละ 30 และให้มีผลตั้งแต่วันที่ 3 มีนาคม 2551

ทั้งนี้ การปรับตัวของตลาดเงินและตลาดทุนไทยหลังการยกเลิกมาตรการกันสำรองร้อยละ 30 เป็นดังนี้:-

เนื่องจากการประกาศยกเลิกมาตการกันสำรองร้อยละ 30 ของเงินทุนนำเข้าระยะสั้นของธปท. เมื่อวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2551 เกิดขึ้นในช่วงท้ายชั่วโมงการซื้อ-ขายของตลาดการเงินในประเทศ ดังนั้น ผลกระทบทันทีของการยกเลิกมาตรการควบคุมเงินทุนต่อค่าเงินบาทนั้น จึงสะท้อนออกมาในรูปของการทะยานแข็งค่าขึ้นอย่างรวดเร็วของเงินบาทสู่ระดับประมาณ 31.40 จาก 31.95 บาทต่อดอลลาร์ฯ ซึ่งเป็นระดับก่อนการประกาศยกเลิกมาตรการกันสำรองร้อยละ 30 ทั้งนี้ เงินบาทในประเทศปิดตลาด ณ วันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2551 ที่ระดับ 31.52 บาทต่อดอลลาร์ฯ หรือแข็งค่าขึ้นประมาณร้อยละ 1.5 จากระดับปิดตลาดในวันทำการก่อนหน้า ขณะที่ เงินบาทตลาดต่างประเทศอ่อนค่าลงมาปิดตลาดที่ระดับ 30.10 บาทต่อดอลลาร์ฯ หรืออ่อนค่าลงประมาณร้อยละ 1.7 จากระดับปิดตลาดในวันทำการก่อนหน้า

ต่อมาในวันที่ 3 มีนาคม 2551 ซึ่งเป็นวันที่การประกาศยกเลิกมาตรการกันสำรองร้อยละ 30 ของเงินทุนนำเข้าระยะสั้นเริ่มมีผลบังคับใช้ ค่าเงินบาทตลาดในประเทศปิดตลาดที่ระดับ 31.58 บาทต่อดอลลาร์ฯ โดยอ่อนค่าลงเล็กน้อยจากแรงซื้อเงินดอลลาร์ฯ ซึ่งตลาดคาดการณ์ว่าเป็นการเข้าแทรกแซงตลาดของธปท. ขณะที่ เงินบาทตลาดต่างประเทศอ่อนค่าลงอย่างรวดเร็ว (ประมาณร้อยละ 4.1) ท่ามกลางสภาพคล่องที่น้อยกว่าไปยืนที่ระดับ 31.40 บาทต่อดอลลาร์ฯ ซึ่งใกล้เคียงกับระดับค่าเงินบาทตลาดในประเทศมากขึ้น โดยค่าเงินบาทใน 2 ตลาดกำลังอยู่ในกระบวนการปรับตัวรวมกันเป็นตลาดเดียว อย่างไรก็ตาม เกณฑ์เกี่ยวกับบัญชีเงินบาทของผู้มีถิ่นที่อยู่นอกประเทศ โดยเฉพาะมาตรการป้องปรามการเก็งกำไรค่าเงินในส่วนที่เป็นการปรับหลักเกณฑ์การกู้ยืมเงินบาทของสถาบันการเงินในประเทศจากผู้มีถิ่นที่อยู่นอกประเทศโดยไม่มีธุรกรรมรองรับนั้น อาจเป็นอุปสรรคในการเก็งกำไรค่าเงินของนักลงทุนต่างชาติ

ทางด้านตลาดทุนนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ในเบื้องต้นนั้นการยกเลิกมาตรการดังกล่าวจะส่งผลกระทบในเชิงบวกทางจิตวิทยาต่อตลาดทุนไทย เนื่องจากเป็นการสะท้อนให้เห็นถึงท่าทีที่เป็นมิตรของทางการไทยในการเปิดรับการลงทุนจากต่างชาติมากขึ้น โดยเฉพาะต้นทุนการประกอบธุรกรรมที่ลดต่ำลง น่าจะเป็นผลดีต่อการลงทุนในตลาดตราสารหนี้และกองทุนรวม อย่างไรก็ตาม การปรับตัวของตลาดหุ้นไทยในช่วงเช้าของวันที่ 3 มีนาคม 2551 ซึ่งเป็นวันที่ระบุให้การยกเลิกมาตรการกันสำรองมีผลบังคับใช้เป็นวันแรกนั้น ดัชนีมีการปรับตัวขึ้นลงอยู่ในกรอบแคบ โดยการเคลื่อนไหวของตลาดหุ้นยังคงเป็นไปอย่างระมัดระวังแต่สามารถปิดบวกขึ้นได้ในการซื้อขายช่วงเช้า และถึงแม้ว่าจะมีปัจจัยบวกจากการยกเลิกมาตรการดังกล่าว แต่ดัชนีเผชิญกับแรงขายทำกำไรที่มีออกมาเป็นระยะๆ ประกอบกับ ได้รับแรงกดดันเพิ่มเติมจากการที่ตลาดหุ้นต่างประเทศร่วงลงอย่างหนักท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ ส่งผลให้ดัชนีแกว่งตัวลงในช่วงบ่ายและปิดตลาดลดลงไป 2.84 จุด หรือร้อยละ 0.34 สู่ 842.92 จุด อย่างไรก็ตาม นักลงทุนต่างชาติเป็นกลุ่มที่ซื้อสุทธิ 1.2 พันล้านบาท

ส่วนตลาดตราสารหนี้นั้น ในวันที่ 3 มีนาคม 2551 ซึ่งเป็นวันแรกที่การยกเลิกมาตรการกันสำรองมีผลนั้น อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยมีทิศทางที่ปรับตัวลดลงต่อเนื่องอีกประมาณ 3-15 จุดจากเมื่อวันศุกร์ก่อนหน้า (29 ก.พ.) ถึงแม้ว่าจะมีแรงขายพันธบัตรเพื่อทำกำไรออกมาบ้างท่ามกลางการซื้อขายที่ผันผวนก็ตาม

ในขณะที่ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมีมุมมองต่อการประกาศยกเลิกมาตรการกันสำรองร้อยละ 30 สรุปได้ดังนี้:-

การยกเลิกมาตรการกันสำรอง คงจะส่งผลดีต่อตลาดทุนและการลงทุนในประเทศ
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เห็นว่า การยกเลิกมาตรการกันสำรอง นับว่าเป็นการช่วยลดอุปสรรคสำหรับการลงทุนในตลาดทุน โดยเฉพาะในตลาดตราสารหนี้และกองทุนรวม รวมทั้งน่าจะเอื้อให้นักลงทุนมีทางเลือกในการระดมทุนที่หลากหลายมากขึ้นภายใต้ข้อจำกัดที่ลดลง ในขณะที่ เป็นที่คาดหมายว่า นักลงทุนต่างชาติอาจมีแนวโน้มนำเงินทุนเข้ามาลงทุนในภูมิภาคเอเชีย รวมทั้งประเทศไทย เพิ่มมากขึ้น ท่ามกลางแนวโน้มการชะลอตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ซึ่งอาจนำไปสู่การปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงอีกของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ในระยะถัดไปอย่างน้อยตลอดช่วงครึ่งแรกของปีนี้ อันจะส่งผลให้เงินดอลลาร์ฯยังคงมีแนวโน้มที่จะอ่อนค่าลงอย่างต่อเนื่องเมื่อเทียบกับค่าเงินสกุลอื่นๆ ในภูมิภาค ซึ่งรวมถึงเงินบาท
อย่างไรก็ตาม นอกจากปัจจัยเรื่องกระแสเงินทุนไหลเข้าแล้ว ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ปัจจัยที่คาดว่าจะมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจของนักลงทุน คงจะขึ้นอยู่กับ

o แนวโน้มส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยระหว่างประเทศไทย-สหรัฐฯที่เพิ่มมากขึ้น
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า แนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯที่ชะลอ และความเป็นไปได้ที่จะปรับตัวเข้าสู่ภาวะถดถอย อาจทำให้เฟดตัดสินใจปรับลดอัตราดอกเบี้ย Fed Funds ลงสู่ร้อยละ 1.75-2.00 ภายในกลางปี 2551 นี้ ซึ่งจะส่งผลให้ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยระหว่างไทยและสหรัฐฯกว้างขึ้น และอาจทำให้ความน่าดึงดูดสำหรับการลงทุนในตราสารทางการเงินของสหรัฐฯลดน้อยลง

o ปัจจัยทางการเมืองในประเทศ
ความเคลื่อนไหวทางการเมืองเป็นสิ่งที่นักลงทุนต่างชาติจับตามองอย่างใกล้ชิด เนื่องจากยังคงมีประเด็นทางการเมืองอีกหลายประเด็น โดยเฉพาะการพิจารณาคดีความทางการเมืองต่างๆ ทั้งนี้ ความกังวลในเรื่องดังกล่าวอาจส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพของรัฐบาลชุดใหม่ ตลอดจนประสิทธิภาพในการดำเนินนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล

o ปัจจัยทางเศรษฐกิจ
อันได้แก่ แนวโน้มการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย มาตรการต่างๆในการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล การดำเนินนโยบายการเงินและการคลังในอนาคต ตลอดจนความพยายามของรัฐบาลในการสนับสนุนการลงทุนและเรียกฟื้นความเชื่อมั่นจากนักลงทุนต่างชาติ

โดยรวมแล้ว ท่ามกลางปัจจัยต่างๆ ข้างต้นที่ยังคงต้องจับตามองเพื่อประกอบการตัดสินใจในการลงทุนในระยะต่อไป ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมีความเห็นว่า หากนักลงทุนประเมินสภาพแวดล้อมทางการเมืองและเศรษฐกิจในเชิงบวก หรือ ประเมินว่ามีโอกาสที่จะได้รับผลตอบแทนจากการลงทุนเพิ่มขึ้นในอนาคต ก็คงจะเป็นปัจจัยที่สนับสนุนให้เกิดการไหลเข้าของเงินทุนจากต่างประเทศสู่ตลาดเงินและตลาดทุนไทย อย่างไรก็ตาม หากนักลงทุนประเมินว่า ยังคงมีความไม่แน่นอนเกี่ยวกับประเด็นเสถียรภาพทางการเมืองและแนวโน้มเศรษฐกิจในระยะข้างหน้า นักลงทุนก็อาจมีมุมมองที่ระมัดระวังมากขึ้นในการลงทุนในตลาดการเงินไทย ซึ่งภายใต้สถานการณ์ดังกล่าว การปรับตัวของตลาดเงินและตลาดทุนไทยคงจะเป็นไปด้วยความผันผวนมากขึ้น

สำหรับการลงทุนในตลาดหุ้น นอกจากปัจจัยแวดล้อมดังกล่าวข้างต้นแล้ว นักลงทุนคงจะต้องพิจารณาถึงปัจจัยเฉพาะอื่นๆ อาทิเช่น ค่า P/E และอัตราการจ่ายเงินปันผลของตลาดหุ้นไทยโดยเปรียบเทียบกับตลาดหุ้นอื่นๆ ในภูมิภาค รวมถึง ผลการดำเนินงานของบริษัทจดทะเบียนในตลาดด้วย เพื่อพิจารณาถึงอัตราผลตอบแทนที่จะได้รับจากการลงทุนในตลาดหุ้นไทยในอนาคต

นอกจากนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า การยกเลิกมาตรการกันสำรองจะส่งผลกระทบในเชิงบวกต่อตลาดหุ้นและธุรกิจกองทุนรวมในระยะยาว ได้แก่
o การช่วยสนับสนุนการขยายตัวของกองทุนอสังหาริมทรัพย์ โดยจะช่วยให้การระดมทุนจากนักลงทุนต่างชาติเพื่อมาลงทุนในกองทุนประเภทนี้กระทำได้โดยง่ายขึ้น โดยไม่ต้องหักเงินสำรองร้อยละ 30 หรือทำสัญญาป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด

o นอกจากนั้น มาตรการที่ ธปท.ออกมารองรับการบริหารจัดการการไหลเข้า-ออกของเงินทุน รวมถึงแนวทางที่สนับสนุนให้มีการลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศมากขึ้น ผ่านการเพิ่มวงเงินให้สำนักงาน ก.ล.ต. อีก 1.2 หมื่นล้านดอลลาร์ฯ เป็น 3 หมื่นล้านดอลลาร์ฯ เพื่อจัดสรรให้กับบริษัทหลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพยจัดการกองทุน รวมทั้งบุคคลธรรมดา (ลงทุนผ่านกองทุนส่วนบุคคลหรือผ่านบริษัทหลักทรัพย์) น่าจะเป็นปัจจัยบวกต่อกองทุนรวมที่ลงทุนในต่างประเทศ หรือกองทุน FIF ดังจะเห็นได้จาก ในปี 2550 ที่ผ่านมา มูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุน FIF มีการปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจาก 28.88 พันล้านบาท สู่ 209.27 พันล้านบาท และมีจำนวนกองทุนจัดตั้งใหม่เพิ่มขึ้นจาก 33 กอง เป็น 113 กอง

o การสนับสนุนการขยายตัวของกองทุนส่วนบุคคล ผ่านโอกาสในการลงทุนที่เปิดให้บุคคลธรรมดาสามารถลงทุนในต่างประเทศโดยผ่านกองทุนส่วนบุคคล หรือบริษัทหลักทรัพย์ได้เพิ่มขึ้น

o การช่วยสนับสนุนความแข็งแกร่งของสถาบันตัวกลางในตลาดทุนไทย โดยเป็นปัจจัยบวกต่อการดำเนินธุรกิจของบริษัทหลักทรัพย์ที่จะสามารถมีโอกาสในการลงทุนในต่างประเทศเพื่อพอร์ตของตนเองมากขึ้น อันจะเป็นการช่วยกระจายรายได้ในการดำเนินธุรกิจ เพื่อลดสัดส่วนการพึ่งพิงรายได้จากค่าธรรมเนียมการซื้อขาย
o การสนับสนุนให้เกิดทางเลือกในการลงทุนที่หลากหลายขึ้น เช่น การจัดตั้งกองทุนที่ลงทุนในต่างประเทศโดยมีรูปแบบการลงทุนใหม่ๆ หรือลงทุนในหลักทรัพย์หลากหลายประเภทเพื่อเป็นทางเลือกแก่ผู้ลงทุนเพิ่มขึ้น

ในส่วนของตลาดตราสารหนี้นั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า การไหลเข้าของเงินทุนจากต่างประเทศน่าจะเป็นปัจจัยที่ช่วยหนุนการเติบโตของตลาดตราสารหนี้ในภาพรวม เนื่องจากเป็นที่คาดว่า เงินทุนไหลเข้าดังกล่าวจะช่วยเพิ่มสัดส่วนการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติในตลาดตราสารหนี้ ตลอดจนช่วยสนับสนุนให้การซื้อขายในตลาดมีสภาพคล่องเพิ่มขึ้น เหมือนเช่นที่เคยเกิดขึ้นในช่วงก่อนที่จะมีการนำมาตรการกันสำรองมาใช้ อีกทั้งตลาดตราสารหนี้ยังอาจมีแนวโน้มจะได้รับแรงบวกในระยะข้างหน้า อันเป็นผลจากปัจจัยเรื่องส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยระหว่างไทยและสหรัฐฯที่มีแนวโน้มกว้างขึ้น และการดำเนินนโยบายการคลังแบบผ่อนคลายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลที่ควรจะมีภาระต้นทุนทางการเงินในระดับต่ำ ซึ่งอาจสนับสนุนให้ ธปท.จำต้องพิจารณาปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงในท้ายที่สุด กระนั้นก็ดี การเข้ามาลงทุนในตลาดตราสารหนี้ของนักลงทุนต่างชาติ อาจมีแนวโน้มเน้นไปที่การลงทุนในตราสารระยะสั้นมากกว่า เนื่องจากความต้องการลงทุนในตราสารระยะยาวอาจจะถูกจำกัดไว้จากการปรับตัวของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาวที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบบางส่วนจากปริมาณการออกตราสารหนี้ภาครัฐที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามการดำเนินนโยบายการคลังแบบขยายตัว รวมไปถึงแนวโน้มการเพิ่มขึ้นของภาวะเงินเฟ้อในระยะข้างหน้าด้วย

อย่างไรก็ตาม การยกเลิกมาตรการกันสำรอง อาจทำให้การบริหารอัตราแลกเปลี่ยนและการดำเนินนโยบายการเงินเผชิญกับความท้าทายมากขึ้นในอนาคต
โดยแม้ว่าภายใต้ พ.ร.บ. ธปท. ฉบับใหม่ ซึ่งมีผลบังคับใช้ในวันที่ 4 มีนาคม 2551 ธปท.จะมีเครื่องมือทางการเงินที่เพิ่มมากขึ้นสำหรับการดูแลสภาพคล่องในระบบการเงิน รวมถึงสามารถจะบริหารจัดการสินทรัพย์ในขอบเขตที่กว้างขึ้นกว่าเดิม เพื่อการดูแลเสถียรภาพของค่าเงินบาท แต่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยเห็นว่า เมื่อพิจารณาถึงสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจมหภาคแล้ว การยกเลิกมาตรการกันสำรองท่ามกลางจังหวะเวลาที่เงินดอลลาร์ฯยังมีแนวโน้มตกอยู่ภายใต้แรงกดดันจากการคาดการณ์แนวโน้มเศรษฐกิจและอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐฯนั้น ประเด็นเรื่องส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยของไทยและสหรัฐฯที่มีแนวโน้มกว้างขึ้น อาจทำให้ ธปท.ต้องเผชิญกับความยากลำบากมากขึ้นในการดำเนินนโยบายการเงินในระยะข้างหน้า เนื่องจากการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเพื่อรักษาสมดุลส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยไม่ให้กว้างมากเกินไปในขณะที่รัฐบาลดำเนินนโยบายการคลังแบบขยายตัว อาจทำให้ความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อของประเทศเพิ่มสูงขึ้นได้ โดยเฉพาะหากราคาน้ำมันตลาดโลกยังคงทรงตัวอยู่ในระดับสูงอย่างต่อเนื่อง

โดยสรุป หากพิจารณาในภาพรวมแล้ว การยกเลิกมาตรการกันสำรองร้อยละ 30 ของเงินทุนนำเข้าระยะสั้น ถือว่าเป็นการกำจัดอุปสรรคของการลงทุนสำหรับนักลงทุนต่างชาติ ซึ่งน่าจะทำให้เกิดการไหลเข้าของเงินทุนจากต่างประเทศเพิ่มมากขึ้น และเป็นผลดีต่อตลาดทุนไทยโดยเฉพาะตลาดตราสารหนี้ รวมทั้งเป็นผลดีต่อการลงทุนต่างๆ ของภาคเอกชน เช่น กองทุนรวมต่างๆ โดยเฉพาะกองทุนอสังหาริมทรัพย์

อย่างไรก็ตาม การยกเลิกมาตรการดังกล่าวในขณะที่อัตราดอกเบี้ยของสหรัฐฯมีแนวโน้มที่จะถูกปรับลดลงไปอีกนั้น อาจสร้างแรงกดดันให้เงินบาทแข็งค่าขึ้น จากกระแสเงินทุนที่เคลื่อนย้ายตามส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยของไทยและสหรัฐฯ ทั้งนี้ ผลต่างอัตราดอกเบี้ยของไทยและสหรัฐฯ คาดว่าจะกว้างขึ้น หากธนาคารกลางสหรัฐฯปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงไปถึงระดับประมาณร้อยละ 1.75-2.00 ภายในกลางปี 2551 นี้ ซึ่งย่อมจะส่งผลกดดันการดำเนินนโยบายอัตราดอกเบี้ยของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในขณะที่ ธปท.จำต้องชั่งน้ำหนักในเรื่องความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อ หลังจากที่อัตราเงินเฟ้อเดือนกุมภาพันธ์พุ่งไปถึงร้อยละ 5.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อนหน้า และหากราคาน้ำมันตลาดโลกยังคงมีแนวโน้มทรงตัวอยู่ในระดับสูงอย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เห็นว่า ทั้งการดำเนินนโยบายการเงินและการคลังที่มีแนวโน้มผ่อนคลายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ อาจสร้างความซับซ้อนมากขึ้นให้กับธปท. ในการบริหารจัดการอัตราแลกเปลี่ยนและนโยบายการเงินเพื่อรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจมหภาค และภาวะที่ผ่อนคลายของนโยบายการเงินและการคลังดังกล่าว อาจนำมาสู่ข้อกังวลของแรงกดดันด้านเงินเฟ้อที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นในอนาคต ซึ่งจะยังคงเป็นประเด็นที่ต้องติดตามดูอย่างใกล้ชิดต่อไป