จากภาพ : นางพวงรัตน์ อัศวพิศิษฐ์ อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา (ที่ 3 จากขวา) แลกเปลี่ยนสัญญากับ ดร. จีรเดช อู่สวัสดิ์ (ที่ 2 จากซ้าย) อธิการบดี มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เนื่องในโอกาสที่กรมทรัพย์สินทางปัญญาและมหาวิทยาลัยหอการค้าไทยร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือด้านทรัพย์สินทางปัญญา โดยมีนายศิริพล ยอดเมืองเจริญ ปลัดกระทรวงพาณิชย์ (ที่ 4 จากซ้าย) เป็นสักขีพยานเมื่อเร็วๆนี้
กรมทรัพย์สินทางปัญญาจับมือมหาวิทยาลัยหอการค้าไทยลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือด้านทรัพย์สินทางปัญญา เดินหน้ามุ่งพัฒนาระบบทรัพย์สินทางปัญญาในสถาบันการศึกษา พร้อมสนับสนุนการจัดตั้งสำนักบริหารจัดการทรัพย์สินทางปัญญาภายในมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย
นางพวงรัตน์ อัศวพิศิษฐ์ อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญาเปิดเผยว่า นายศิริพล ยอดเมืองเจริญ ปลัดกระทรวงพาณิชย์เป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงว่าด้วยความร่วมมือด้านทรัพย์สินทางปัญญา ระหว่างกรมทรัพย์สินทางปัญญากับมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย โดยข้อตกลงดังกล่าวมีสาระสำคัญ 5 ประการได้แก่ ความร่วมมือในการสร้างสรรค์ทรัพย์สินทางปัญญา ความร่วมมือด้านการนำทรัพย์สินทางปัญญาไปใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ ความร่วมมือด้านการคุ้มครองสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญา ความร่วมมือด้านการบังคับใช้สิทธิในทรัพย์สินทางปัญญา และความร่วมมือด้านอื่นๆ ได้แก่ การผลักดันให้เกิดการสร้างสรรค์นวัตกรรม และทรัพย์สินทางปัญญาของมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย พัฒนาบุคลากรด้านการบริหารจัดการทรัพย์สินทางปัญญา เปิดวิชาทรัพย์สินทางปัญญาสำหรับนักศึกษาในมหาวิทยาลัย ตลอดจนจัดทำหลักสูตรการอบรม สร้างความรู้ ความเข้าใจแก่นักศึกษา ประชาชน และผู้สนใจ ให้ความร่วมมือกันในการสนับสนุนการจัดตั้งสำนักบริหารจัดการทรัพย์สินทางปัญญา (Intellectual Property Management Office) ภายในมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และส่งเสริมให้นำทรัพย์สินทางปัญญาของมหาวิทยาลัยไปใช้ประโยชน์ และสร้างมูลค่าเพิ่มในเชิงพาณิชย์
“ทั้งสองฝ่ายตกลงร่วมกันในอันที่จะสร้างความตระหนักในการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาของมหาวิทยาลัย พร้อมกันนี้ได้มีการตกลงร่วมกันในการส่งเสริมและสนับสนุนการจดทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญา โดยการให้ข้อมูลวิธีการจดทะเบียน ตลอดจนให้คำแนะนำเกี่ยวกับแนวทางการจดทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญาให้แก่นักวิจัย และบุคลากรในมหาวิทยาลัย เพื่อคุ้มครองสิทธิและประโยชน์ที่เกิดขึ้นจากทรัพย์สินทางปัญญา และการส่งเสริมให้มีการใช้กระบวนการไกล่เกลี่ย และระงับข้อพิพาทด้านทรัพย์สินทางปัญญา ตลอดจนร่วมเสนอความเห็นในการปกป้อง และรักษาผลประโยชน์ด้านทรัพย์สินทางปัญญา และภูมิปัญญาไทย ทั้งเวทีภายในประเทศ และต่างประเทศ และการดำเนินกิจกรรมอื่นๆด้านวิชาการ และทางสังคมเพื่อประโยชน์ในการพัฒนาความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจของประเทศ และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทางการค้าอันจะนำไปสู่การพัฒนาประเทศอย่างยั่งยื่นสืบไป” นางพวงรัตน์กล่าว