ใกล้ถึงกำหนดเวลาที่เวียดนามจะต้องเปิดเสรีธุรกิจค้าปลีกโดยอนุญาตให้ต่างชาติเข้าไปจัดตั้งธุรกิจค้าปลีกโดยถือหุ้นได้ทั้งหมด (100%) ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2552 หลังจากที่เวียดนามได้ทยอยเปิดเสรีธุรกิจค้าปลีกเป็นลำดับตั้งแต่เมื่อเข้าเป็นสมาชิก WTO ในเดือนมกราคม 2550 โดยอนุญาตให้ต่างชาติร่วมทุนในธุรกิจค้าปลีกในเวียดนามได้ แต่กำหนดเพดานการถือหุ้นของต่างชาติไว้ที่ร้อยละ 49 รวมถึงการผ่อนคลายเงื่อนไขด้านอื่นๆ เช่น การยกเลิกข้อจำกัดในการขยายจำนวนธุรกิจเฟรนไซส์ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2553 นับว่าการทยอยเปิดเสรีธุรกิจค้าปลีกของเวียดนามเป็นการเปิดโอกาสให้ธุรกิจค้าปลีกของต่างชาติรวมทั้งธุรกิจค้าปลีกไทยสามารถเข้าไปลงทุนในเวียดนามได้สะดวกขึ้น
การเปิดเสรีธุรกิจค้าปลีกของเวียดนามบวกกับเศรษฐกิจเวียดนามที่ขยายตัวในระดับสูงอย่างต่อเนื่อง ในอัตราเฉลี่ยราวร้อยละ 8 ต่อปีในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา (2546-2550) ซึ่งส่งผลให้รายได้ของคนเวียดนามเพิ่มขึ้นและการจับจ่ายใช้สอยของคนเวียดนามเพิ่มขึ้นตามไปด้วย ถือเป็นปัจจัยสนับสนุนให้ตลาดค้าปลีกในเวียดนามเติบโตอย่างรวดเร็ว และดึงดูดให้ธุรกิจค้าปลีกต่างชาติเข้าไปจัดตั้งธุรกิจค้าปลีกในเวียดนามเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเวียดนามได้รับการจัดอันดับให้เป็นประเทศที่น่าลงทุนในธุรกิจค้าปลีกอันดับ 3 ของโลก รองจากอินเดีย และรัสเซีย ตามลำดับ จากการสำรวจของบริษัท AT Kearney ของสหรัฐฯ ในปี 2550
เศรษฐกิจเวียดนามในปี 2551 คาดว่าจะมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่องในอัตราร้อยละ 7.3 จากอัตราขยายตัวร้อยละ 8.5 ในปี 2550 แม้ว่าเศรษฐกิจเวียดนามจะชะลอตัวลงในปีนี้ ตามภาวะเศรษฐกิจโลกที่อ่อนแรงลง อันเนื่องมาจากปัญหาสินเชื่อคุณภาพต่ำในภาคอสังหาริมทรัพย์ (ซับไพร์ม) ของสหรัฐฯ ที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจทั่วโลก แต่เศรษฐกิจเวียดนามยังคงได้รับแรงหนุนสำคัญจากการขยายตัวของการบริโภคภายในประเทศและการลงทุน ที่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจเวียดนามให้เติบโตต่อไปได้ คาดว่าตลาดค้าปลีกในเวียดนามมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่องจากศักยภาพของตลาดเวียดนามทั้งด้านกำลังซื้อ และขนาดของตลาด รวมทั้งเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ในธุรกิจค้าปลีก
บริษัทค้าปลีกขนาดใหญ่ของไทยที่มีประสบการณ์ในการดำเนินธุรกิจมานานและมีเงินทุนจำนวนมาก รวมทั้งมีเครือข่ายพันธมิตทางธุรกิจที่แข็งแกร่ง น่าจะมีโอกาสขยายธุรกิจค้าปลีกในรูปแบบห้างสรรพสินค้าหรือศูนย์การค้าในเวียดนามได้ รวมถึงโอกาสของธุรกิจค้าปลีกที่จำหน่ายสินค้าเฉพาะด้านของไทยที่จะเข้าไปในตลาดเวียดนาม เช่น การจำหน่ายวัสดุก่อสร้าง เฟอร์นิเจอร์/ของตกแต่ง หรือเครื่องใช้ไฟฟ้า เพื่อรองรับการเติบโตของภาคก่อสร้างและภาคอสังหาริมทรัพย์ในเวียดนาม
ปัจจัยสนับสนุนที่เปิดโอกาสให้ธุรกิจค้าปลีกไทยเข้าไปลงทุนในเวียดนาม ได้แก่
1. ตลาดใหญ่ & รายได้ต่อหัวเพิ่มขึ้น – เวียดนามเป็นตลาดใหญ่ประกอบด้วยประชากรราว 85.6 ล้านคน รายได้ของคนเวียดนามเพิ่มขึ้น ตามการเติบโตของเศรษฐกิจเวียดนามในระดับสูงติดต่อกันหลายปี ปัจจุบันรายได้ต่อหัวของชาวเวียดนามราว 818 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อปี เพิ่มขึ้นเป็นลำดับจาก 413 ดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2544 และราว 600 ดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2548 ธนาคารโลกคาดการณ์ว่า รายได้ต่อหัวของคนเวียดนามจะเพิ่มขึ้นเป็น 1,000-2,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อปี ภายในปี 2553 นอกจากนี้ การปรับเปลี่ยนระบบเศรษฐกิจจากเศรษฐกิจที่มีการวางแผนส่วนกลางเป็นเศรษฐกิจแบบตลาด หลังจากเวียดนามมีนโยบายปฏิรูปเศรษฐกิจ (Doi Moi) ในปี 2529 ส่งผลให้เศรษฐกิจเวียดนามเติบโตอย่างรวดเร็วและประชาชนเวียดนามมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น สะท้อนจากระดับความยากจนของประชาชนเวียดนามในช่วง 20 ปีมานี้ลดลงอย่างเห็นได้ชัด จากราวร้อยละ 60 ของประชากรทั้งประเทศในปี 2533 เหลือร้อยละ 20 ในปัจจุบัน
ระดับรายได้ของคนเวียดนามที่เพิ่มขึ้นส่งผลให้การจับจ่ายใช้สอยสินค้าและบริการเพิ่มขึ้นตามไปด้วย ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา การจับจ่ายใช้สอยสินค้าและบริการของชาวเวียดนามเติบโตในอัตราเฉลี่ยร้อยละ 20 ต่อปี ตั้งแต่ปี 2548-2550 โดยในปี 2550 การจับจ่ายใช้สอยสินค้าและบริการของชาวเวียดนามมีมูลค่า 726,113 พันล้านด่อง หรือ 45 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 23.3 จากปี 2549 นับว่าเป็นอัตราขยายตัวของยอดค้าปลีกของเวียดนามในระดับสูงสุด สำหรับในช่วง 3 เดือนแรกของปี 2551 มูลค่าค้าปลีกของเวียดนาม 218,350 พันล้านด่อง พุ่งขึ้นร้อยละ 29.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2550 โดยเป็นการขยายตัวทั้งค้าปลีกสินค้า บริการด้านท่องเที่ยว โรงแรม และบริการอื่นๆ คาดการณ์ว่ายอดค้าปลีกของเวียดนามทั้งปี 2551 จะมีมูลค่าราว 54.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจากปี 2550 ราวร้อยละ 20.3
2. การเปิดเสรีสาขาจัดจำหน่ายของเวียดนาม – ธุรกิจจัดจำหน่ายเป็นหนึ่งในสาขาภาคบริการที่เวียดนามต้องเปิดรับนักลงทุนต่างชาติตามข้อผูกพันที่เวียดนามเข้าเป็นสมาชิก WTO ในเดือนมกราคม 2550 ซึ่งครอบคลุมถึงธุรกิจตัวแทนนายหน้า ค้าส่ง ค้าปลีก และธุรกิจเฟรนไซส์ แต่เวียดนามมีระยะเวลาปรับตัว 3 ปี ก่อนเปิดเสรีอย่างเต็มที่ในวันที่ 1 มกราคม 2553 เพื่อไม่ให้การเปิดเสรีธุรกิจจัดจำหน่ายส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อธุรกิจจัดจำหน่ายท้องถิ่นของเวียดนาม
เวียดนามทยอยลดข้อจำกัดและเงื่อนไขต่างๆ ด้านการลงทุนของต่างชาติในธุรกิจจัดจำหน่าย รวมถึงธุรกิจค้าปลีกด้วย ได้แก่ อนุญาตให้ต่างชาติเข้าไปจัดตั้งธุรกิจสาขาจัดจำหน่ายโดยถือหุ้นได้ร้อยละ 100 ตั้งแต่ในวันที่ 1 มกราคม 2552 จากก่อนหน้านี้ที่กำหนดสัดส่วนการถือหุ้นของต่างชาติในธุรกิจจัดจำหน่ายไม่เกินร้อยละ 49 รวมถึงการยกเลิกเงื่อนไขรายการสินค้าบางรายการที่ห้ามจัดจำหน่ายโดยธุรกิจค้าปลีกต่างชาติและยกเลิกข้อจำกัดด้านการขยายจำนวนของธุรกิจแฟรนไซน์ ตั้งแต่ในวันที่ 1 มกราคม 2553 จากก่อนหน้านี้ที่เวียดนามกำหนดรายการสินค้าที่ธุรกิจร่วมทุนต่างชาติไม่สามารถจัดจำหน่ายได้ เช่น ซีเมนต์ ยางล้อรถ (ยกเว้นยางล้อเครื่องบิน) กระดาษ แทรกเตอร์ ยานพาหนะ รถยนต์ รถจักรยานยนต์ เหล็กและเหล็กกล้า อุปกรณ์โสตทัศน์ (audiovisual devices) ไวน์/เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และปุ๋ย รวมถึงการไม่อนุญาตให้ขยายสาขาธุรกิจเฟรนไชส์ จนกระทั่งหลังจากเวียดนามเข้าเป็นสมาชิก WTO ได้ 3 ปี (1 มกราคม 2553) เวียดนามจึงอนุญาตให้ขยายสาขาได้
ความท้าทายของธุรกิจค้าปลีกในเวียดนาม
การแข่งขันในธุรกิจค้าปลีก – ธุรกิจค้าปลีกในเวียดนามเผชิญกับการแข่งขันที่รุนแรงมากขึ้น เนื่องจากปัจจุบันบริษัทค้าปลีกต่างชาติขนาดใหญ่จากหลายประเทศเข้าไปจัดตั้งธุรกิจในเวียดนาม หลังจากเวียดนามเริ่มทยอยเปิดเสรีสาขาจัดจำหน่ายภายใต้ข้อผูกพันของ WTO ในปี 2550 และการแข่งขันในธุรกิจค้าปลีกมีแนวโน้มทวีความรุนแรงยิ่งขึ้นอีก เมื่อเวียดนามอนุญาตให้ต่างชาติเข้าไปลงทุนในธุรกิจจัดจำหน่ายรวมถึงธุรกิจค้าปลีกโดยถือหุ้นได้ทั้งหมด (100%) ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2552 และอนุญาตให้ธุรกิจต่างชาติในสาขาจัดจำหน่ายสามารถจำหน่ายสินค้าทุกชนิดโดยไม่มีเงื่อนไข รวมถึงยกเลิกข้อจำกัดด้านการขยายสาขาธุรกิจเฟรนไซส์ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2553
ธุรกิจค้าปลีกไทยที่จะเข้าไปลงทุนในเวียดนามต้องเผชิญแข่งขันกับธุรกิจค้าปลีกข้ามชาติที่แม้ว่าขณะนี้ส่วนแบ่งในตลาดค้าปลีกของค้าปลีกต่างชาติในเวียดนามค่อนข้างน้อย เนื่องจากเพิ่งเริ่มเข้าไปดำเนินธุรกิจ แต่บริษัทเหล่านี้เป็นบริษัทข้ามชาติขนาดใหญ่ที่มีเงินทุนสูง มีเทคโนโลยีและระบบการบริหารจัดการที่ทันสมัยจึงมีขีดความสามารถทางการแข่งขันสูง นอกจากนี้บริษัทไทยต้องแข่งขันกับธุรกิจค้าปลีกของเวียดนามที่มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับตลาดในประเทศอย่างดีและครองส่วนแบ่งตลาดส่วนใหญ่ในปัจจุบัน บริษัทค้าปลีกท้องถิ่นขนาดใหญ่ของเวียดนาม 4 แห่ง ได้แก่ Ha Noi Trading Corporation (Hapro), Ho Chi Minh City Union of Trading Cooperatives (Saigon Co-op), Saigon Trading Corporation (Satra) และ Phu Thai Trading Company ร่วมมือกันจัดตั้งบริษัทจัดจำหน่ายสินค้า (Vietnam Distribution Association Network Development and Investment Joint Stock Company : VDA) และขยายเครือข่ายค้าปลีก เพื่อเตรียมรับมือกับธุรกิจค้าปลีกต่างชาติก่อนเปิดเสรีธุรกิจค้าปลีกอย่างเต็มที่ในอีกไม่ช้า
ปัจจุบันบริษัทค้าปลีกต่างชาติจากหลายประเทศได้เข้าไปลงทุนธุรกิจค้าปลีกในเวียดนาม ที่สำคัญ ได้แก่ ซุปเปอร์มาร์เก็ตของเยอรมนีและฝรั่งเศส ห้างสรรพสินค้าของมาเลเซีย ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ รวมทั้งธุรกิจค้าปลีกสิงคโปร์ นอกจากนี้ บริษัทค้าปลีกขนาดใหญ่ชั้นนำของโลกจากสหรัฐฯ ฝรั่งเศส และอังกฤษ ต่างสนใจเข้ามาลงทุนในเวียดนามเช่นกัน รวมถึงบริษัทค้าปลีกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ของญี่ปุ่นที่อยู่ระหว่างจัดตั้งธุรกิจในเวียดนาม
ต้นทุนค่าเช่าค้าปลีกพุ่งสูง – บริษัทต่างชาติในเวียดนามต้องเผชิญกับค่าเช่าสำนักงานและพื้นที่ค้าปลีกที่มีราคาแพง โดยเฉพาะในเมืองใหญ่อย่างโฮจิมินห์ และฮานอย ปัจจุบันค่าเช่าสำนักงานในเมืองสำคัญของเวียดนามปรับตัวสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว รวมถึงค่าเช่าย่านศูนย์กลางค้าปลีกมีราคาราว 80 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อตารางเมตรต่อเดือน เพิ่มขึ้นร้อยละ 21 เมื่อเทียบกับช่วงต้นปี 2549 ปัจจุบันพื้นที่ค้าปลีกและอาคารสำนักงานในเมืองสำคัญอย่างโฮจิมินห์และฮานอย มีไม่เพียงพอต่อความต้องการที่พุ่งขึ้นอย่างรวดเร็ว ตามการเติบโตของการลงทุนในภาคอุตสาหกรรมและภาคบริการ โดยเฉพาะการเข้ามาลงทุนของนักลงทุนต่างชาติที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่เวียดนามเปิดประเทศเมื่อเข้าเป็นสมาชิก WTO ส่งผลให้ความต้องการอาคารสำนักงานและที่อยู่อาศัยเพิ่มขึ้น
บทสรุป
เศรษฐกิจเวียดนามที่เติบโตในระดับสูงอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้คนเวียดนามมีกำลังซื้อเพิ่มขึ้น และความต้องการจับจ่ายใช้สอยสินค้าเพิ่มขึ้นตามไปด้วย วิถีการดำเนินชีวิตและพฤติกรรมการบริโภคที่เปลี่ยนไป เช่น การเลือกซื้อสินค้าในร้านค้ารูปแบบสมัยใหม่ (modern trade) มากขึ้น และรับประทานอาหารนอกบ้านมากขึ้น โดยเฉพาะในเมืองใหญ่อย่างโฮจิมินห์ และฮานอย เปิดโอกาสให้ธุรกิจค้าปลีกเติบโตได้ดีในเวียดนาม ประกอบกับการเปิดเสรีธุรกิจจัดจำหน่ายของเวียดนามภายใต้ WTO ได้เปิดโอกาสให้ธุรกิจค้าปลีกต่างชาติรวมทั้งธุรกิจค้าปลีกไทยสามารถเข้าไปลงทุนในเวียดนามได้มากขึ้น โดยเวียดนามอนุญาตให้นักลงทุนต่างชาติเข้าไปร่วมทุนในธุรกิจค้าปลีกได้ในสัดส่วนไม่เกินร้อยละ 49 ตั้งแต่ 1 มกราคม 2550 และสามารถถือหุ้นได้ทั้งหมด (100%) ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2552 เป็นต้นไป รวมทั้งในวันที่ 1 มกราคม 2553 เวียดนามอนุญาตให้ธุรกิจค้าปลีกต่างชาติสามารถจำหน่ายสินค้าได้ทุกชนิด และยกเลิกข้อจำกัดการขยายสาขาของธุรกิจเฟรนไซส์ด้วย
กล่าวได้ว่า การเปิดเสรีธุรกิจจัดจำหน่ายของเวียดนามนำมาซึ่งโอกาสพร้อมๆ กับการแข่งขันที่รุนแรงยิ่งขึ้น ธุรกิจค้าปลีกไทยต้องเผชิญการแข่งขันกับธุรกิจค้าปลีกต่างชาติขนาดใหญ่จากหลายประเทศ เช่น เยอรมนี ฝรั่งเศส ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ สิงคโปร์ และมาเลเซีย ที่ได้เข้าไปจัดตั้งธุรกิจค้าปลีกในเวียดนามแล้ว รวมทั้งต้องแข่งขันกับธุรกิจค้าปลีกท้องถิ่นเวียดนามที่ครองตลาดในประเทศอยู่แล้วด้วย รวมทั้งต้นทุนค่าเช่าค้าปลีกและอาคารสำนักงานในเวียดนามที่อยู่ในระดับสูง โดยเฉพาะพื้นที่เมืองใหญ่ของเวียดนามที่ส่งผลให้ต้นทุนทางธุรกิจเพิ่มขึ้น
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยเห็นว่า บริษัทค้าปลีกขนาดใหญ่ของไทยที่มีประสบการณ์ในการดำเนินธุรกิจมานานและมีเงินทุนจำนวนมาก รวมทั้งมีเครือข่ายพันธมิตรทางธุรกิจที่แข็งแกร่งน่าจะมีศักยภาพทางการแข่งขันในตลาดค้าปลีกเวียดนามและมีโอกาสขยายธุรกิจห้างสรรพสินค้าหรือศูนย์การค้าในเวียดนามได้ โดยอาศัยความได้เปรียบจากการเป็นประเทศเพื่อนบ้านในกลุ่มอาเซียนที่มีวัฒนธรรมใกล้เคียงกัน นอกจากนี้สินค้าที่นำเข้าจากไทยไปจำหน่ายในเวียดนามยังได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีภายใต้กรอบอาฟต้าด้วย จึงถือเป็นข้อได้เปรียบของธุรกิจค้าปลีกไทยเมื่อเทียบกับค้าปลีกชาติตะวันตก ทั้งนี้ การจัดตั้งห้างสรรพสินค้าและศูนย์การค้าของไทยยังถือเป็นช่องทางที่มีศักยภาพในการช่วยกระจายสินค้าและบริการของไทยในตลาดเวียดนามได้เป็นอย่างดีด้วย
นอกจากนี้ธุรกิจไทยอาจเข้าไปลงทุนในธุรกิจค้าปลีกเฉพาะด้านในเวียดนาม โดยอาศัยประโยชน์จากการเติบโตของภาคอุตสาหกรรมและภาคบริการในเวียดนาม เข่น การจำหน่ายวัสดุก่อสร้าง เฟอร์นิเจอร์/ของตกแต่ง หรือเครื่องใช้ไฟฟ้า เพื่อรองรับการขยายตัวอย่างรวดเร็วของภาคก่อสร้างและภาคอสังหาริมทรัพย์ในเวียดนาม โดยอาจหาพันธมิตรร่วมทุนชาวเวียดนามที่มีฐานทางธุรกิจค้าปลีกอยู่แล้ว เพื่อประโยชน์ด้านเครือข่ายการจำหน่ายสินค้า แต่สินค้าจำหน่ายของธุรกิจค้าปลีกไทยควรยึดตลาดระดับบน เจาะกลุ่มคนเวียดนามที่มีกำลังซื้อและคนต่างชาติที่เข้าไปทำงาน/นักลงทุนต่างชาติในเวียดนาม โดยเน้นการสร้างแบรนด์และการออกแบบ เพื่อหนีการแข่งขันกับสินค้าที่ผลิตในเวียดนามหรือสินค้านำเข้าที่ราคาถูกกว่าจากประเทศจีน
ทั้งนี้ นอกจากการคำนึงถึงภาวะการแข่งขันที่รุนแรงในตลาดค้าปลีกเวียดนามและค่าเช่าค้าปลีกที่อยู่ในระดับสูงแล้ว ธุรกิจค้าปลีกไทยที่จะเข้าไปลงทุนในเวียดนามควรให้ความสำคัญกับความต้องการของตลาดในแต่ละพื้นที่ที่แตกต่างกันของเวียดนาม และการศึกษาพฤติกรรมผู้บริโภค รวมทั้งธรรมเนียมและวัฒนธรรมของเวียดนามด้วย แม้ว่าปัจจุบันเศรษฐกิจเวียดนามจะขยายตัวอย่างรวดเร็วและวิถีชีวิตของคนเวียดนามจะเปลี่ยนแปลงไปมากขึ้นก็ตาม แต่ปัจจุบันคนเวียดนามก็ยังยึดถือธรรมเนียมวัฒนธรรมดั้งเดิมอยู่ค่อนข้างสูง การเข้าใจขนบธรรมเนียมและวัฒนธรรมของเวียดนามจึงเป็นสิ่งจำเป็นต่อธุรกิจค้าปลีก เนื่องจากโครงสร้างการจัดซื้อและการกระจายสินค้าของธุรกิจค้าปลีกมีความสัมพันธ์กับวิถีความเป็นอยู่และวิถีธุรกิจของท้องถิ่นเป็นอย่างมาก