Seasonal Marketing ซึ่งเป็นกลยุทธ์การทำตลาดผ่านช่วงฤดูกาลหรือตามเทศกาลต่างๆที่แม้ว่าจะไม่ใช่เรื่องใหม่นักในยุคนี้ แต่ก็เป็นกลยุทธ์ที่สินค้าหลายประเภทต่างยังคงนิยมนำมาดำเนินการเพื่อเพิ่มยอดขายของสินค้า รวมถึงการนำเสนอสินค้าใหม่ๆด้วย เนื่องจากผู้บริโภคส่วนใหญ่มักจะมีแนวโน้มที่จะจับจ่ายซื้อสินค้าได้ง่ายหรือมากขึ้นในช่วงเทศกาลนั้นๆ ไม่ว่าจะเป็นเทศกาลปีใหม่ที่สินค้าประเภทของของขวัญของชำร่วยจะมียอดขายมากกว่าช่วงเวลาปกติ หรือเทศกาลวันวาเลนไทน์ที่สินค้าอย่างดอกไม้โดยเฉพาะดอกกุหลาบ และของขวัญที่แสดงถึงความรักก็มักจะจำหน่ายได้มากเป็นพิเศษ รวมถึงในช่วงฤดูกาลต่างๆโดยเฉพาะฤดูร้อนของทุกปีที่มักจะมีสินค้าหลากหลายประเภทที่เกี่ยวเนื่องเร่งทำการตลาดเพื่อเพิ่มยอดขาย ไม่ว่าจะเป็นพัดลม เครื่องปรับอากาศ น้ำอัดลม ชุดว่ายน้ำ หรือครีมกันแดด โดยเฉพาะในปี 2551 ที่ผู้บริโภคภายในประเทศต่างยังต้องเผชิญกับปัจจัยลบทั้งด้านสถานการณ์การเมืองที่ยังมีผลในเชิงจิตวิทยา และสถานการณ์เศรษฐกิจอันเนื่องมาจากภาวะค่าครองชีพที่มีแนวโน้มสูงขึ้นจากปีก่อน ที่คาดว่าจะมีผลให้ผู้บริโภคมีความระมัดระวังการจับจ่ายใช้สอยเพิ่มมากขึ้นในปี 2551 ทำให้ผู้ประกอบการหลายรายต่างต้องเร่งปรับกลยุทธ์เพื่อช่วงชิงกำลังซื้อของผู้บริโภคให้ได้มากที่สุดในช่วงฤดูการขายสินค้าอย่างหน้าร้อนปีนี้ จึงมีความเป็นไปได้ว่าสถานการณ์การแข่งขันของตลาดสินค้าหน้าร้อนในประเทศของปี 2551 น่าจะมีองศาเดือดสูงไม่แพ้อุณหภูมิของโลกที่สูงขึ้น
เป็นที่น่าสังเกตว่าในช่วงฤดูร้อนของทุกปี สินค้าที่มักจะมีกิจกรรมทางด้านการส่งเสริมการขายที่โดดเด่นจนกลายเป็นสัญลักษณ์ของหน้าร้อนแต่ละปีนั้น น่าจะเป็นสินค้าประเภท ชุดว่ายน้ำ โดยเฉพาะในช่วงเดือนมีนาคม-พฤษภาคม ที่มักจะมีการนำเสนอสินค้าผ่านนางแบบตามงานเดินแบบที่จัดโดยผู้ประกอบการแต่ละราย หรือการถ่ายแบบของดารา นักร้อง หรือบุคคลที่มีชื่อเสียงในวงการต่างๆภายใต้ชุดว่ายน้ำหลากหลายรูปแบบในนิตยสารต่างๆ และจากการที่อากาศทั่วทุกภูมิภาคของประเทศไทยในช่วงหน้าร้อนของ 2551 มีอุณหภูมิที่ค่อนข้างสูงกว่าทุกปีที่ผ่านมา โอกาสที่ผู้บริโภคจำนวนไม่น้อยจะพยายามหาวิธีคลายร้อนด้วยการลงเล่นน้ำในสถานที่ต่างๆเป็นจำนวนมากขึ้นนั้นก็มีความเป็นไปได้สูงไม่ว่าจะเป็นการเดินทางไปพักผ่อนตามชายทะเล น้ำตก หรือสระว่ายน้ำ ทำให้ชุดว่ายน้ำในประเทศยังน่าจะมีโอกาสขยายตัวเพิ่มสูงขึ้นได้อย่างต่อเนื่องในปีนี้ ประกอบกับค่านิยมในการสวมใส่ชุดว่ายน้ำก็ได้รับการยอมรับมากขึ้นโดยเฉพาะในกลุ่มสุภาพสตรีที่มีความกล้าที่จะสวมใส่ชุดว่ายน้ำกันมากขึ้น ซึ่งรูปแบบของชุดว่ายน้ำในปัจจุบันก็พยายามออกแบบให้ไม่โชว์เนื้อหนังมากจนเกินไปนักด้วย อีกทั้งกีฬาว่ายน้ำก็ได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้นตามลำดับจากกระแสการรักสุขภาพและนับเป็นกีฬาที่ช่วยรักษารูปร่างได้ดีในทุกส่วนด้วย ซึ่งบรรดาฟิตเนสหรือสถานออกกำลังกาย หมู่บ้านจัดสรร รวมถึงคอนโดมิเนียมหลายแห่งโดยเฉพาะในเมืองหลักใหญ่ๆ และโรงแรมตามแหล่งท่องเที่ยวต่างๆก็มักจะมีสระว่ายน้ำเพื่อให้บริการแก่ลูกค้า และสถานศึกษาหลายแห่งในปัจจุบันก็มีการส่งเสริมให้เด็กออกกำลังกายด้วยการว่ายน้ำอย่างจริงจังมากขึ้นด้วยการบรรจุวิชาว่ายน้ำเป็นหลักสูตรหนึ่งของการเรียนการสอน ทำให้ตลาดชุดว่ายน้ำมีโอกาสขยายตัวในวงกว้างมากขึ้นทั้งกลุ่มเด็ก วัยรุ่น และผู้ใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นสุภาพบุรุษหรือสุภาพสตรี ขณะเดียวกันผู้บริโภคส่วนใหญ่มักจะนิยมมีชุดว่ายน้ำมากกว่า 1 ชุด นอกจากนี้ด้วยจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่คาดว่าจะเดินทางเข้ามาพักผ่อนในประเทศไทยมากขึ้นตามแหล่งท่องเที่ยวชายทะเล ประกอบกับมีความเป็นไปได้สูงว่าปี 2551 ผู้ประกอบการน่าจะมีการนำเสนอสินค้าคอลเล็กชั่นใหม่ๆภายใต้นวัตกรรมที่ทันสมัยเป็นจำนวนมากกว่าปีก่อนหน้าเพื่อเพิ่มทางเลือกให้แก่ผู้บริโภค จึงน่าจะเป็นปัจจัยบวกซึ่งสนับสนุนให้ความต้องการชุดว่ายน้ำในปี 2551 ขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง โดย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่ามูลค่าตลาดรวมของชุดว่ายน้ำในปี 2551 น่าจะประมาณ 2,200-2,300 ล้านบาท ด้วยระดับอัตราการเติบโตร้อยละ 10-15 และมีความเป็นไปได้ว่ายอดขายของชุดว่ายน้ำในหน้าร้อนปีนี้น่าจะคงเป็นยอดขายที่มากกว่าช่วงเวลาปกติหรือคิดเป็นสัดส่วนไม่ต่ำกว่าร้อยละ 30 ของมูลค่ารวมสินค้าชุดว่ายน้ำภายในประเทศทั้งปี
ปัจจุบันตลาดชุดว่ายน้ำในเมืองไทยเป็นตลาดที่มีการแข่งขันน้อยรายจาก 3 กลุ่มหลักคือกลุ่มสินค้าลิขสิทธิ์จากต่างประเทศที่ผลิตโดยคนไทยภายใต้เครื่องหมายการค้านั้นๆที่ครองส่วนแบ่งตลาดสูงสุด สินค้าที่นำเข้าโดยตรงจากต่างประเทศ และสินค้าที่ผลิตภายในประเทศ โดยคาดว่าสินค้าที่น่าจะสามารถขยายตัวได้อย่างต่อเนื่องในปีนี้น่าจะเป็นกลุ่มสินค้าลิขสิทธิ์จากต่างประเทศที่สะสมชื่อเสียงมาเป็นเวลานานและเป็นที่ยอมรับในวงกว้าง รวมถึงสินค้าที่ผลิตภายในประเทศและสินค้านำเข้าจากจีนและเกาหลีที่มีราคาจำหน่ายไม่สูงมากนักซึ่งเจาะกลุ่มเป้าหมายตลาดระดับกลางลงไป ขณะที่ตลาดสินค้านำเข้าแบรนด์เนมหรูน่าจะทรงตัวตามสถานการณ์เศรษฐกิจภายในประเทศ ทั้งนี้การแข่งขันของผู้ประกอบการแต่ละรายก็น่าจะเข้มข้นไม่แพ้ปีก่อนหน้า ดังนี้
1.การสร้างภาพลักษณ์ของสินค้าให้มีความโดดเด่น ทั้งในส่วนของรูปแบบ สีสัน คุณสมบัติหรือนวัตกรรมใหม่ๆของผลิตภัณฑ์(Functional Benefit) และคุณภาพของวัตถุดิบที่นำมาผลิตชุดว่ายน้ำ ซึ่งปีนี้น่ายังเป็นโทนสีสดใสดังเช่นปีก่อน แต่อาจจะโดดเด่นในส่วนของลวดลายที่ทันสมัย และหรูหรา ภายใต้วัสดุที่ยืดหยุ่นเพื่อตอบสนองความเคลื่อนไหวที่คล่องตัว หรือสามารถป้องกันแสงแดดได้มากขึ้น เป็นต้น
2.การวางตำแหน่งของสินค้าที่เหมาะสม และการกำหนดกลุ่มเป้าหมายที่ชัดเจนมากขึ้นด้วย โดยเฉพาะตลาดผู้ชายและตลาดเด็กที่แม้ฐานตลาดยังเล็ก แต่ยังมีช่องว่างทางการตลาดอีกมากพอสมควร ทั้งนี้ทั้งนั้นก็เพื่อสร้างและขยายฐานลูกค้าให้เพิ่มมากขึ้น สำหรับตลาดชุดว่ายน้ำในปัจจุบันประกอบด้วย 2 รูปแบบหลักคือ ชุดว่ายน้ำแบบแฟชั่นที่มักจะมีการออกแบบให้มีสีสันสดใส สวยงาม แปลกตา รวมทั้งเน้นเรือนร่างให้ผู้สวมใส่มีความโดดเด่น และชุดว่ายน้ำแบบสปอร์ตที่เน้นความกระชับกับร่างกาย และเหมาะกับการแข่งขันกีฬา ที่ปัจจุบันได้มีการผสมผสานแฟชั่นเข้าไปด้วย โดยดึงแนวคิด Multi Benefit เข้ามาเสริมเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค และเพื่อสร้างแรงดึงดูดต่อกลุ่มเป้าหมายอย่างกลุ่มอายุ 18-25 ปี ที่มักจะให้ความสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงของแฟชั่นและมีการตัดสินใจซื้อค่อนข้างง่ายกว่ากลุ่มเป้าหมายอื่นๆ
3.กลยุทธ์ด้านราคา นั้นก็น่าจะยังคงมีบทบาทไม่น้อย เนื่องด้วยภาวะค่าครองชีพที่คาดว่าจะอยู่ในระดับสูงของคนไทยในปี 2551 ทำให้ผู้บริโภคส่วนใหญ่มีแนวโน้มที่จะระมัดระวังการจับจ่ายใช้สอยเพิ่มมากขึ้น ซึ่งอาจจะเป็นไปในรูปแบบของการจัดรายการส่งเสริมการขายร่วมกับช่องทางการจำหน่ายหลักอย่างห้างสรรพสินค้าในการนำสินค้าในสต็อกมาลดราคา หรือการแจกของสมนาคุณต่างๆที่เกี่ยวข้องกับการว่ายน้ำ อาทิเช่น ผ้าขนหนู แว่นตากันแดด แว่นตากันน้ำ หรือครีมกันแดด เป็นต้น เนื่องด้วยสินค้าชุดว่ายน้ำเป็นสินค้าที่สามารถใช้ทดแทนกันได้ค่อนข้างสมบูรณ์ ดังนั้นหากผู้บริโภครู้สึกได้ถึงความคุ้มค่าที่ได้ซื้อสินค้ามากที่สุด ก็น่าจะสามารถลดความเสี่ยงที่ผู้บริโภคจะหันไปบริโภคสินค้าแบรนด์อื่นทดแทนอันจะมีผลต่อยอดขายและส่วนแบ่งตลาดของกิจการตามมาในที่สุดได้ระดับหนึ่ง
4.การโฆษณาประชาสัมพันธ์ นอกจากนี้ยังเป็นที่น่าสังเกตว่ากลยุทธ์ที่โดดเด่นสำหรับตลาดสินค้าชุดว่ายน้ำในช่วงฤดูร้อนทางด้านการโฆษณาประชาสัมพันธ์นั้นมักจะมาในรูปแบบของการจัดงานเดินแบบโดยนางแบบชั้นนำภายใต้ชุดว่ายน้ำคอลเล็กชั่นใหม่ๆ หรือการโฆษณาผ่านสื่อนิตยสารโดยพรีเซ็นเตอร์ที่เป็นที่นิยมของกลุ่มเป้าหมาย และเพื่อให้ผู้คนจดจำตราสินค้าได้มากขึ้นและรวดเร็วยิ่งขึ้นนอกเหนือจากช่วงหน้าร้อน ผู้ประกอบการก็อาจจะเข้าไปเป็นผู้สนับสนุนรายการต่างๆเช่นการแข่งขันกีฬาว่ายน้ำ หรือการประกวดสาวงามระดับประเทศและนานาชาติ รวมถึงการจัดกิจกรรมแข่งขันว่ายน้ำ เป็นต้น
นอกจากนี้สินค้าที่ผู้บริโภคมักจะนึกถึงหรือมีความต้องการควบคู่กับชุดว่ายน้ำในช่วงหน้าร้อนที่ไม่ใช่อุปกรณ์เกี่ยวกับการว่ายน้ำอย่าง แว่นตากันน้ำ หน้ากากดำน้ำและท่อหายใจ หรือหมวกว่ายน้ำ เป็นต้น ก็คือผลิตภัณฑ์กันแดด เพราะแม้ว่าการว่ายน้ำจะช่วยให้คลายร้อนได้ แต่ขณะเดียวกันด้วยปัญหาหลายอย่างหรืออันตรายต่อผิวจากแสงแดดที่นับวันจะร้อนแรงมากขึ้นตามลำดับอันเนื่องมาจากภาวะโลกร้อนที่ทำให้รังสี UVA และ UVB จากแสงแดดส่งลงมาสู่พื้นโลกมากกว่าปกติ ซึ่งตามรายงานของวงการแพทย์พบว่ารังสี UVA มีอนุภาคสูงในการทำลายชั้นผิวหนัง ทำให้เกิดผิวคล้ำเสียถาวรและอาจจะเป็นมะเร็งผิวหนังได้หากสะสมในปริมาณมาก ส่วนรังสี UVB จะมีพลังงานน้อยกว่ารังสี UVA จึงไม่สามารถเข้าไปทำลายผิวหนังชั้นใน แต่สามารถทำให้เกิดผิวหนังเกรียมแดดและผิวคล้ำหลายวัน ก่อให้เกิดริ้วรอยบนผิวหนังและอาจจะทำให้เกิดมะเร็งผิวหนังได้ด้วย ประกอบกับคนไทยจำนวนไม่น้อยที่กลัวผิวหมองคล้ำดำ ทำให้ในการว่ายน้ำทุกครั้งก็มักจะต้องทาครีมกันแดดเพื่อป้องกันผิวด้วย นอกจากนี้ในชีวิตประจำวันในช่วงหน้าร้อนของผู้คนเองต่างก็ต้องเผชิญกับแสงแดดที่มีปริมาณรังสีอัลตราไวโอเล็ตที่ค่อนข้างเข้มข้น ทำให้อุปสงค์ของผู้บริโภคภายในประเทศจึงมีทิศทางที่จะขยายตัวในวงกว้างมากขึ้น จากเดิมที่เป็นตลาดเฉพาะกลุ่มสุภาพสตรีวัยทำงานในเขตเมืองใหญ่ ก็ได้ขยายตัวสู่กลุ่มผู้บริโภคทุกเพศทุกวัยนับตั้งแต่กลุ่มวัยรุ่น นักศึกษา ไปจนถึงวัยเริ่มต้นทำงาน รวมถึงกลุ่มสุภาพบุรุษยุคใหม่ที่ให้ความสนใจในรูปลักษณ์ของตนเองมากขึ้น อีกทั้งยังมีกำลังซื้อและศักยภาพที่จะเติบโตได้อีกมากที่นักการตลาดไม่อาจมองข้าม และมีผลต่อเนื่องให้สินค้าผลิตภัณฑ์กันแดดกลายเป็นอีกหนึ่งสินค้าหน้าร้อนที่มีการแข่งขันรุนแรงไม่น้อยในรูปแบบของ Seasonal Marketing ทั้งในส่วนของผลิตภัณฑ์กันแดดที่ใช้กับผิวหน้าและผิวกาย โดยตลาดครีมกันแดดในช่วงหน้าร้อนมักจะเติบโตมากกว่าช่วงปกติด้วยระดับอัตราการขยายตัวร้อยละ 30-50 (ในช่วงเวลาปกติผลิตภัณฑ์กันแดดมักจะเติบโตที่ระดับร้อยละ10-20) โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์กันแดดที่มีค่า SPF เกินกว่า 30 ขึ้นไป เนื่องจากผู้บริโภคในปัจจุบันต้องการการปกป้องมากขึ้น โดยทั้งนี้ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า ในปี 2551 ผลิตภัณฑ์กันแดดน่าจะมีเม็ดเงินหมุนเวียนประมาณ 750-800 ล้านบาท หรือเติบโตเพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 15
ปัจจุบันผลิตภัณฑ์กันแดดนับเป็นตลาดที่ผู้ประกอบการหลายรายหันมาให้ความสนใจเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพราะแม้ว่าจะเป็นตลาดที่มีมูลค่าการตลาดเพียงหลักร้อยล้านบาทต่อปี แต่ก็เป็นตลาดสินค้าอุปโภคบริโภคเพียงไม่กี่ประเภทที่ยังคงขยายตัวด้วยอัตราการเติบโตเป็นเลขสองหลัก ทำให้การแข่งขันในตลาดผลิตภัณฑ์กันแดดมีแนวโน้มทวีความเข้มข้นเพิ่มขึ้นทุกขณะ ทั้งจากกลุ่มผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์กันแดดด้วยกันเอง และจากกลุ่มผู้ประกอบการเครื่องสำอางโดยเฉพาะเครื่องสำอางที่พยายามจะขยายไลน์สินค้าให้ครอบคลุมผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางในวงกว้างมากขึ้น โดยเฉพาะเครื่องสำอางผิวหน้าไม่ว่าจะเป็นผลิตภัณฑ์แป้งทาหน้า หรือลิปสติกที่หันมาเพิ่มส่วนผสมเพื่อการปกป้องแสงแดดในระดับSPFที่สูงขึ้น ทำให้หลักการในการกำหนดกลยุทธ์ของผลิตภัณฑ์กันแดดนับจากนี้จึงจำเป็นต้องพิจารณาทั้งคู่แข่งที่อยู่ในธุรกิจเดียวกันเพื่อหาแนวทางใหม่ๆในการดึงดูดลูกค้า พร้อมทั้งติดตามความเคลื่อนไหวของคู่แข่งในธุรกิจที่แตกต่างกันแต่นำเสนอสินค้าที่ใช้ทดแทนกันได้ด้วย ขณะเดียวกันการนำเสนอผลิตภัณฑ์เพื่อให้เหมาะสมกับความต้องการของแต่ละกลุ่มเป้าหมายน่าจะมีความชัดเจนมากขึ้น และมีการแย่งส่วนตลาดที่แยกย่อยขึ้นด้วย เพราะความต้องการในรูปแบบของสินค้าหรือคุณสมบัติของสินค้าย่อมแตกต่างกันในระหว่างกลุ่มที่ต้องมีกิจกรรมกลางแดดเป็นประจำ เช่นนักกีฬา หรือผู้ที่เดินทางไปพักผ่อนตามชายทะเล กับกลุ่มที่มีกิจกรรมกลางแดดแบบครั้งคราวอย่างพนักงานบริษัท ที่มักจะใช้เวลาการทำงานภายในอาคาร หรือแม้แต่กลุ่มวัยที่แตกต่างกันก็มีความแตกต่างกันพอสมควรด้วยสภาพผิวที่ค่อนข้างแตกต่างกัน ดังนั้นจึงมีความเป็นไปได้สูงว่าปี 2551 กลยุทธ์การแข่งขันในตลาดผลิตภัณฑ์กันแดดน่าจะเป็นในลักษณะดังต่อไปนี้
1.การนำเสนอนวัตกรรมใหม่ๆ ปี 2551 น่าจะเป็นปีที่ผู้บริโภคจะได้สัมผัสกับผลิตภัณฑ์กันแดดนวัตกรรมใหม่ๆ มากขึ้นเพื่อหวังผลักดันให้มูลค่าตลาดเติบโตดีขึ้นกว่าปีก่อนหน้า เพราะปัจจัยด้านนวัตกรรมของสินค้าน่าจะเป็นปัจจัยที่ผู้บริโภคให้ความสำคัญในลำดับต้นๆสำหรับการเลือกซื้อผลิตภัณฑ์กันแดดนับจากนี้ โดยเฉพาะความสามารถในการปกป้องแสงแดดด้วยค่าSPFสูงๆ หรือประสิทธิภาพในการปกป้องแดดทันทีหลังจากที่ทา จากเดิมที่เคยต้องทาประมาณ 15-20 นาทีก่อนเผชิญกับแสงแดด หรือแนวคิด Multi Benefit ทั้งการป้องกันแสงแดด การบำรุงผิว และการทำให้ผิวขาวขึ้น รวมถึงความสามารถในการซึมซับได้อย่างรวดเร็ว และมีอนุภาพในการป้องกันได้นานยิ่งขึ้น
2.ความหลากหลายของสินค้า เพื่อขยายฐานลูกค้าให้กว้างขึ้นทั้งกลุ่มที่ไม่เคยใช้ครีมกันแดดมาก่อน และกลุ่มที่ใช้เป็นประจำแต่ต้องการเพิ่มความถี่ในการใช้ให้มากขึ้น โดยคาดว่าจะมีทั้งผลิตภัณฑ์ครีมกันแดดสำหรับเด็ก สำหรับผู้หญิง สำหรับผู้ชาย ผลิตภัณฑ์กันแดดสำหรับนักกีฬา หรือผู้ที่ต้องเดินทางไปต่างจังหวัดบ่อยๆ นอกจากนี้อาจจะได้เห็นบรรจุภัณฑ์หีบห่อของผลิตภัณฑ์กันแดดที่มีสีสันและรูปทรงที่โดดเด่นหรือใช้งานสะดวกมากขึ้นด้วย
3.การโฆษณาผ่านสื่อ ขณะเดียวกันการสื่อสารถึงลูกค้าผ่านสื่อโฆษณาต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นสื่อโทรทัศน์ สื่อวิทยุ หรือสื่อนิตยสารซึ่งเป็นสื่อหลักเดิมนั้นก็อาจจะขยายตัวสู่การโฆษณาผ่านสื่อใหม่ๆ ที่ใช้งบประมาณไม่มากนักเพิ่มขึ้น แต่สามารถเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้รวดเร็วและเฉพาะเจาะจงมากขึ้น อย่างสื่ออินเทอร์เน็ต หรือสื่อนอกบ้านอย่างสื่อกลางแจ้ง และสื่อเคลื่อนที่ เพราะปัจจุบันผู้บริโภคจำนวนไม่น้อยโดยเฉพาะกลุ่มวัยรุ่นในเขตกรุงเทพฯต่างใช้เวลาท่องอินเทอร์เน็ต หรืออยู่นอกบ้านกันมากขึ้น นอกจากนี้สื่ออินเทอร์เน็ตยังอาจจะกลายเป็นสื่อที่สามารถเจาะถึงกลุ่มเป้าหมายได้โดยตรงอย่างดีที่สุดด้วยจากการที่เป็นเครื่องมือที่สามารถสร้างการบอกต่อ(Word of Mouth)ได้เป็นอย่างดีจากจำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในประเทศไทยกว่า10 ล้านคน เพราะการเลือกซื้อสินค้าเกี่ยวกับความงามอย่างผลิตภัณฑ์กันแดดของลูกค้าในปัจจุบันมักจะมีผ่านการศึกษารายละเอียดของสินค้าพอสมควร โดยเฉพาะในส่วนของคุณภาพและความปลอดภัยจากการใช้สินค้า ส่วนการนำเสนอสินค้าผ่านสื่อต่างๆที่มักจะเน้นถึงคุณสมบัติของสินค้าที่โดดเด่นแตกต่างจากคู่แข่ง และนวัตกรรมใหม่ของผลิตภัณฑ์ผ่านพรีเซ็นเตอร์ที่เป็นที่นิยมของกลุ่มเป้าหมายดังเช่นที่ผ่านมา รวมถึงการจัดกิจกรรม ณ จุดขาย เพื่อแนะนำและความรู้เกี่ยวกับสินค้าด้วยหวังกระตุ้นกลุ่มเป้าหมายอย่างใกล้ชิด ก็คาดว่าน่าจะก้าวไปสู่การสร้างคุณค่าทางอารมณ์หรือสร้างมุมมองด้วยการใส่อารมณ์ความรู้สึกเข้าไปในตัวสินค้าและผู้บริโภคอย่างชัดเจนขึ้นในปี 2551 ทั้งนี้เพื่อตอกย้ำแบรนด์สำหรับฐานลูกค้าเดิมและเพื่อเจาะตลาดลูกค้ากลุ่มใหม่ๆ
4.การลดแลกแจกแถม นอกเหนือจากกลยุทธ์ดังกล่าวข้างต้น การนำเสนอสินค้าขนาดเล็กลง หรือการตลาดจับคู่พ่วงแถมสินค้าที่ใช้ประโยชน์ร่วมกันกับผลิตภัณฑ์กันแดดก็อาจจะมีบทบาทมากขึ้นในปีนี้ เนื่องด้วยสถานการณ์เศรษฐกิจที่ยังไม่กระเตื้องขึ้นอย่างชัดเจน ประกอบกับค่าครองชีพที่ค่อนข้างสูง ทำให้ผู้บริโภคอาจจะต้องประหยัดมากขึ้น การจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายลดแลกแจกแถมจึงยังคงเป็นกลยุทธ์ที่สามารถดึงดูดผู้บริโภคได้ดีพอสมควร
บทสรุป
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่าตลาดชุดว่ายน้ำและครีมกันแดดในปีนี้จะเติบโตสวนกระแสเศรษฐกิจ เนื่องจากอานิสงส์ของสภาวะอากาศที่ร้อนอบอ้าวและการขยายตัวของธุรกิจท่องเที่ยว โดยคาดว่าตลาดชุดว่ายน้ำน่าจะมีเม็ดเงินหมุนเวียนประมาณ 2,200-2,300 ล้านบาท ขณะที่ตลาดครีมกันแดดซึ่งเป็นสินค้าที่ใช้ควบคู่กันนั้นน่าจะมีมูลค่าการตลาดประมาณ 750-800 ล้านบาท ส่วนสถานการณ์การแข่งขันของทั้งตลาดชุดว่ายน้ำและครีมกันแดดในประเทศของปี 2551 น่าจะมีองศาเดือดสูงพอสมควรตามภาวะโลกร้อน ซึ่งไม่เฉพาะหน้าร้อนเท่านั้นที่การแข่งขันจะเข้มข้น แต่คาดว่าน่าจะเป็นตลอดทั้งปี เนื่องจากเมืองไทยเป็นเมืองร้อนและมีแนวโน้มจะมีอุณหภูมิสูงขึ้นกว่าทุกปี อีกทั้งนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศที่เข้ามาพักผ่อนหรือเที่ยวทะเลในเมืองไทยก็เป็นไปอย่างต่อเนื่องแทบตลอดทั้งปี โดยคาดว่าในปี 2551 น่าจะมีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางมาท่องเที่ยวไทยประมาณ 15.6 ล้านคน ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 8 กระเตื้องพอสมควรจากปีก่อนหน้าที่เติบโตร้อยละ 5 โดยเฉพาะกระแสภาวะโลกร้อนนั้นคาดว่าน่าจะยิ่งผลักดันให้การแข่งขันกันระหว่างผู้ประกอบการรายเดิมและรายใหม่มีแนวโน้มทวีความเข้มข้นอย่างแน่นอน เพื่อรักษาฐานลูกค้าเดิม และขยายตัวสูงลูกค้ากลุ่มใหม่ๆ ซึ่งบรรดาผู้ประกอบการที่ไม่ใช่ผู้ครองส่วนแบ่งตลาดอันดับหนึ่งย่อมต้องมีการกำหนดตำแหน่งทางการตลาดที่ชัดเจนยิ่งขึ้น และพยายามหาช่องว่างสำหรับการสร้างความแตกต่างจากผู้นำมากขึ้น ขณะที่ผู้นำตลาดเองก็น่าจะมีความเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่องด้วยเช่นกัน เพื่อรักษาฐานลูกค้าเดิม ช่วงชิงลูกค้าใหม่ และขยายยอดขายให้ได้ตามเป้าภายใต้สถานการณ์เศรษฐกิจที่คาดว่าจะยังทรงตัวต่อเนื่องจากปีก่อนหน้า อีกทั้งภาระรายจ่ายในชีวิตประจำวันของผู้บริโภคที่มีแนวโน้มจะเพิ่มสูงขึ้นตามราคาน้ำมัน ข้าว และน้ำตาลในปี 2551 ที่อาจจะมีผลให้ลูกค้าจำนวนไม่น้อยมีความระมัดระวังการใช้จ่ายเพิ่มมากขึ้น และเกิดการเปรียบเทียบในการเลือกซื้อผ้าชุดว่ายน้ำและครีมกันแดดอย่างละเอียดยิ่งขึ้น ดังนั้นกลยุทธ์การตลาดที่น่าจะได้ผลในปีนี้นอกจากจะมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความพึงพอใจสูงสุดให้แก่ทุกกลุ่มเป้าหมายแล้ว ยังน่าจะมีเป้าหมายหลักเพื่อให้ลูกค้ารายใหม่ตัดสินใจซื้อสินค้าภายใต้ตราสินค้าของกิจการเร็วขึ้น และกระตุ้นให้กลุ่มลูกค้าที่ไม่มีความภักดีต่อตราสินค้าหรือยี่ห้อ (Brand Loyalty) เปลี่ยนมาซื้อยี่ห้อสินค้าของกิจการ(Switching Brand) ให้ได้ โดยอาศัยปัจจัยด้านคุณภาพ ความปลอดภัยจากการใช้สินค้า และคุ้มค่ากว่ายี่ห้อเดิมที่เคยใช้เป็นตัวขับเคลื่อนที่สำคัญในการกระตุ้นการตัดสินใจซื้อของผู้บริโภคในยุคค่าครองชีพสูง