ไอ.ดี. ซิสเต็มส์ อิงค์ รายงานผลประกอบการไตรมาสแรก

สำหรับงวดสามเดือนสิ้นสุดวันที่ 31 มีนาคม 2551 บริษัทมีรายได้ 4.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีรายได้ 4.6 ล้านดอลลาร์ ผลขาดทุนสุทธิซึ่งเป็นไปตามมาตรฐานการบัญชีสหรัฐ (GAAP) เท่ากับ 2.0 ล้านดอลลาร์ หรือ ($0.19) ต่อหุ้นพื้นฐานและหุ้นปรับลด เทียบกับปีก่อนที่ขาดทุนสุทธิ 1.5 ล้านดอลลาร์ หรือ ($0.13) ดอลลาร์ ต่อหุ้นพื้นฐานหรือหุ้นปรับลด

ส่วนยอดขาดทุนสุทธิแบบ non-GAAP ในไตรมาส 1 ปี 2551 อยู่ที่ 1.2 ล้านดอลลาร์ หรือ ($0.11) ต่อหุ้นพื้นฐานและหุ้นปรับลด เปรียบเทียบกับขาดทุนสุทธิแบบ non-GAAP จำนวน 695,000 ดอลลาร์ หรือ ($0.06) ต่อหุ้นพื้นฐานและหุ้นปรับลดในไตรมาส 1 ปี 2550 ผลการดำเนินงานแบบ Non-GAAP คิดคำนวณโดยการปรับแก้ให้สอดคล้องการผลการดำเนินงานสุทธิตามมาตรฐานการบัญชี เพื่อลดผลกระทบจากค่าใช้จ่ายที่เกิดจากการชดเชยตามหุ้น ซึ่งคิดเป็น 785,000 ดอลลาร์ในไตรมาส 1 ปี 2551 และ 767,000 ดอลลาร์ในไตรมาส 1 ปี 2550 ทั้งนี้ สามารถดูการเทียบเคียงการวัดผลประกอบการแบบ non-GAAP ที่ใกล้เคียงกับมาตรฐานการบัญชีมากที่สุด ได้ที่งบการเงินซึ่งแนบมาท้ายข่าวประชาสัมพันธ์ฉบับนี้

“เรายังคงทำธุรกิจกับลูกค้ารายสำคัญๆ โดยเฉพาะกิจการไปรษณีย์แห่งสหรัฐอเมริกา ซึ่งนำเทคโนโลยีการบริหารจัดการยานพาหนะในภาคอุตสาหกรรมของเราไปใช้ทำประโยชน์ทางเศรษฐกิจได้อย่างมหาศาล” เจฟฟรีย์ จากิด ประธานและซีอีโอของไอ.ดี.ซิสเต็มส์ กล่าว “ในขณะเดียวกัน ทีมงานฝ่ายขายและฝ่ายการตลาดของเราที่เติบโตอย่างต่อเนื่องก็ยังคงให้ความสำคัญกับการกระจายฐานลูกค้าและแหล่งรายได้ให้มีความหลากหลาย ตัวอย่างเช่น เราได้บริษัท คอนทิเนนทัล ไทร์ นอร์ท อเมริกา อิงค์ เข้ามาเป็นลูกค้ารายใหม่ของเราในช่วงไตรมาสแรกของปี นอกจากนั้นเรายังพัฒนาช่องทางการขายผ่านบริษัทพันธมิตรต่างๆ และคาดว่าจะสามารถทำผลประกอบการได้ตามเป้าที่ 24 ล้านดอลลาร์ในปีนี้”

สำหรับไตรมาสสิ้นสุดวันที่ 31 มีนาคม 2551 อัตรากำไรขั้นต้นของบริษัทอยู่ที่ 48.8% เทียบกับ 48.5% ในช่วงเวลาเดียวกันของปี 2550

“เราได้ทำการปรับปรุงและพัฒนากลยุทธ์การดำเนินงานหลายอย่างในช่วงไตรมาสที่ผ่านมา ซึ่งจะช่วยให้เราทำผลประกอบการได้ตามเป้า” นายจากิดกล่าว “เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา เราเพิ่งลงนามข้อตกลงด้านการตลาดกับบริษัท เซเตส อินดัสทรีส์ ซึ่งเป็นผู้นำด้านการจัดหาระบบติดตามยานยนต์ในยุโรป ซึ่งเราเชื่อมั่นว่าเทคโนโลยีของเราจะสามารถใช้งานร่วมกับโซลูชั่นของเซเตสได้เป็นอย่างดี ไม่ว่าจะเป็นโซลูชั่น voice-directed work, บาร์โค้ด หรือ RFID และเซเตสจะเป็นพันธมิตรที่สำคัญในการเผยแพร่ผลิตภัณฑ์และบริการของไอ.ดี.ซิสเต็มส์ ไปทั่วยุโรป และในเดือนเดียวกันนั้นเรายังประสบความสำเร็จในการซื้อกิจการของบริษัท พาวเวอร์คีย์ และการซื้อกิจการในครั้งนี้จะทำให้ไอ.ดี.ซิสเต็มส์มีฐานลูกค้าคุณภาพที่กว้างขวางขึ้น อาทิ แคททาพิลลาร์, โอเวนส์ คอร์นนิ่ง, วิสทีออน และเวิร์ลพูล และส่งผลให้บริษัทมีผลิตภัณฑ์เพิ่มมากขึ้นสำหรับนำเสนอให้กับลูกค้าที่เพิ่งเข้าสู่ตลาดของเรา”

ในไตรมาสแรกปีนี้ บริษัทมีรายจ่ายในการบริหาร รายจ่ายทั่วไป และรายจ่ายด้านงานขาย อยู่ที่ 4.3 ล้านดอลลาร์ ซึ่งในจำนวนนี้รวมถึงค่าใช้จ่าย 649,000 ดอลลาร์ที่เกิดจากการชดเชยตามหุ้น เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาส 1 ปี 2550 บริษัทมีรายจ่ายจำนวน 3.8 ล้านดอลลาร์ ซึ่งรวมถึงค่าชดเชยตามหุ้นจำนวน 573,000 ดอลลาร์ โดยรายจ่ายที่เพิ่มขึ้นนี้เป็นผลสืบเนื่องมาจากการจ้างพนักงานเพิ่มเพื่อการขยายบริษัท ซึ่งส่งผลให้บริษัทมีค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องสูงขึ้นตามไปด้วย ส่วนรายจ่ายด้านการวิจัยและพัฒนาในไตรมาส 1 ปี 2551 อยู่ที่ 711,000 ดอลลาร์ รวมค่าชดเชยตามหุ้นจำนวน 115,000 ดอลลาร์ เปรียบเทียบกับค่าใช้จ่ายจำนวน 706,000 ดอลลาร์ซึ่งรวมค่าชดเชยตามหุ้น 183,000 ดอลลาร์ ในช่วงเวลาเดียวกันของปี 2550 ขณะที่รายได้ดอกเบี้ยรับสำหรับไตรมาสแีีรกปีนี้ อยู่ที่ 826,000 ดอลลาร์ เปรียบเทียบกับ 792,000 ดอลลาร์ในช่วงเวลาเดียวกันของปี 2550

ณ วันที่ 31 มีนาคม 2551 ไอ.ดี. ซิสเต็มส์ มีเงินสด รายการเทียบเท่าเงินสด และหลักทรัพย์ในความต้องการของตลาด เป็นจำนวน 58.1 ล้านดอลลาร์ และมีเงินทุนหมุนเวียนอยู่ที่ 35.9 ล้านดอลลาร์ เปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนที่มีอยู่ 65.0 ล้านดอลลาร์ และ 31.9 ล้านดอลลาร์ตามลำดับ

ข้อมูลการดำเนินงานในไตรมาสแรกสิ้นสุด ณ วันที่ 31 มีนาคม พ.ศ.2551 ได้แก่

— กิจการไปรษณีย์แห่งสหรัฐอเมริกา (United States Postal Service: USPS) ขยายสัญญากับ ไอ.ดี.ซิสเต็มส์ ไปจนถึงวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ.2553 โดยจะใช้ระบบ Wireless Asset Net(r) ในยานพาหนะที่ใช้ในการจัดส่งไปรษณีย์ทั่วสหรัฐอเมริกาต่อไป

— USPS มอบหมายให้ ไอ.ดี.ซิสเต็มส์ ทำการติดตั้งระบบ Wireless Asset Net(r) ในยานพาหนะที่ใช้ในการจัดส่งไปรษณีย์เพิ่มเติมอีกจำนวน 16 คัน คิดเป็นมูลค่ารวมประมาณ 5.4 ล้านดอลลาร์ ส่งผลให้รถส่งไปรษณีย์ของ USPS ที่ใช้ระบบ Wireless Asset Net(r) เพิ่มขึ้นเป็น 96 คัน

— วอลกรีน โค (Walgreen Co.) ขยายการใช้งานระบบ Wireless Asset Net(r) ส่งผลให้ศูนย์กระจายสินค้าของบริษัทที่ใช้ระบบ Wireless Asset Net(r) เพิ่มขึ้นจาก 7 แห่ง เป็น 9 แห่ง

— บริษัทรถเช่ารายใหญ่ของสหรัฐอเมริกา ขยายการใช้งานระบบติดตามรถเช่าแบบไร้สายของไอ.ดี.ซิสเต็มส์

— คอนทิเนนทัล ไทร์ นอร์ท อเมริกา อิงค์ (Continental Tire North America, Inc.) บริษัทในเครือ คอนทิเนนทัล เอจี (Continental AG) ซึ่งเป็นบริษัทจัดหายานยนต์ระดับโลก กลายเป็นลูกค้าของไอ.ดี.ซิสเต็มส์ หลังจากที่สั่งติดตั้งระบบ Wireless Asset Net(r) ในโรงงานผลิตที่รัฐอิลลินอยส์

— ในเดือนมีนาคม 2551 ไอ.ดี.ซิสเต็มส์ ได้รับแจ้งว่า สิทธิบัตรของบริษัทในชื่อ “Robust, Wireless Communications System Architecture and Asset Management Applications Performed Thereon” ซึ่งเกี่ยวกับการบริหารสินทรัพย์ประเภทต่างๆ ของบริษัท จะได้รับการประกาศเป็นสิทธิบัตรหมายเลข 7,356,494 อย่างเป็นทางการในวันที่ 8 เมษายน พ.ศ.2551

— ในเดือนเมษายน 2551 ไอ.ดี.ซิสเต็มส์ ประสบความสำเร็จในการซื้อกิจการของ พาวเวอร์คีย์ (PowerKey) ซึ่งเป็นบริษัทในเครือ อินเตอร์เนชั่นแนล อิเล็กทรอนิกส์ อิงค์ (International Electronics, Inc.) พร้อมวางแผนเปิดตัวผลิตภัณฑ์ไร้สายตัวใหม่ในชื่อ PowerKeyPLUS(tm) เพื่อเจาะกลุ่มลูกค้าที่เพิ่งเข้าสู่อุตสาหกรรมการบริหารยานพาหนะที่ใช้ในอุตสาหกรรม ตามที่มีการประกาศในวันที่ 21 เมษายน พ.ศ.2551

— ในเดือนเมษายน 2551 ไอ.ดี.ซิสเต็มส์ ได้ลงนามข้อตกลงทางธุรกิจกับ Zetes Industries (Euronext Brussels: ZTS) ผู้นำด้านการจัดหาระบบติดตามยานยนต์ในยุโรป โดย Zetes ทำหน้าที่เผยแพร่ผลิตภัณฑ์และบริการของไอ.ดี.ซิสเต็มส์ ไปทั่วยุโรป ตามที่มีการประกาศในวันที่ 22 เมษายน พ.ศ.2551

การประชุมทางโทรศัพท์สำหรับนักลงทุน
ไอ.ดี.ซิสเต็มส์ จะจัดการประชุมทางโทรศัพท์กับนักลงทุนและนักวิเคราะห์ ณ เวลา 16.45 น. (Eastern Time) ของวันที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ.2551 โดยเจฟฟรีย์ จากิด ประธานและซีอีโอของบริษัท จะทำหน้าที่เป็นผู้นำการประชุมเกี่ยวกับผลการดำเนินงานในไตรมาสแรกและความคืบหน้าต่างๆ หลังจากนั้นจะเปิดโอกาสให้มีการถามและตอบคำถามต่างๆ ทั้งนี้ การประชุมทางโทรศัพท์จะได้รับการถ่ายทอดสดผ่านทางอินเตอร์เน็ต บนเว็บไซต์ของบริษัท (www.id-systems.com) ในหมวดของนักลงทุน และสำหรับท่านที่ต้องการฟังการประชุมสดต้องเข้าสู่เว็บไซต์ล่วงหน้าอย่างน้อย 10 นาทีก่อนเริ่มการประชุม เพื่อทำการดาวน์โหลดและติดตั้งออดิโอซอฟท์แวร์ที่จำเป็น

การวัดผลประกอบการแบบ NON-GAAP
เพื่อเสริมให้การชี้แจงผลการดำเนินงานตามมาตรฐานการบัญชี (GAAP) ดียิ่งขึ้น ไอ.ดี.ซิสเต็มส์ จึงจัดทำผลประกอบการบางรายการที่ไม่เป็นไปตามมาตรฐานการบัญชี (non-GAAP) ซึ่งประกอบด้วย กำไร/ขาดทุนสุทธิแบบ non-GAAP และกำไร/ขาดทุนสุทธิต่อหุ้นพื้นฐานและหุ้นปรับลดแบบ non-GAAP ทั้งนี้ ควรตระหนักว่าการวัดผลประกอบการแบบ non-GAAP เป็นเพียงวิธีการวัดข้อมูลเพิ่มเติมซึ่งไม่สามารถนำมาใช้แทนข้อมูลทางการเงินที่ได้รับการยอมรับตามหลักการบัญชี การวัดผลประกอบการแบบ non-GAAP ที่ใช้ในข่าวประชาสัมพันธ์ฉบับนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยปรับปรุงความรู้ความเข้าใจโดยรวมของนักลงทุนที่มีต่อผลการดำเนินงานในปัจจุบันของไอ.ดี. ซิสเต็มส์ และให้ข้อมูลเพิ่มเติมเพื่อเปรียบเทียบ เนื่องจากมีการนำมาตรฐานการบัญชี SFAS 123R มาใช้ ยิ่งไปกว่านั้น ไอ.ดี.ซิสเต็มเชื่อว่า การวัดผลประกอบการแบบ non-GAAP จะให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์แก่ทั้งฝ่ายบริหารและนักลงทุน เนื่องจากการวัดผลประกอบการแบบ non-GAAP จะไม่รวมรายจ่าย รายรับ และผลขาดทุนในปัจจุบันที่ไม่บ่งชี้ผลการดำเนินงานหลักและแนวโน้มการดำเนินธุรกิจของบริษัท ทั้งนี้ สามารถดูการเทียบเคียงการวัดผลประกอบการแบบ non-GAAP ที่ใกล้เคียงกับมาตรฐานการบัญชีมากที่สุด ได้ที่งบการเงินซึ่งแนบมาท้ายข่าวประชาสัมพันธ์ฉบับนี้

เกี่ยวกับ ไอ.ดี. ซิสเต็มส์
ไอ.ดี. ซิสเต็มส์ อิงค์ มีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ในแฮคเกนแซค รัฐนิวเจอร์ซีย์ บริษัทคือผู้ให้บริการโซลูชั่นไร้สายสำหรับการบริหารจัดการและตรวจสอบความปลอดภัยให้แก่สินทรัพย์ที่มีค่าของบริษัทห้างร้านต่างๆ ซึ่งรวมถึงยานพาหนะที่ใช้ในอุตสาหกรรม เช่น รถยก อุปกรณ์ภาคพื้นในสนามบิน และรถเช่า ทั้งนี้ ระบบ Wireless Asset Net(r) ของไอ.ดี. ซิสเต็มส์ อิงค์ ซึ่งได้รับการจดสิทธิบัตรแล้ว ใช้เทคโนโลยีระบุลักษณะด้วยคลื่นความถี่วิทยุ หรือ RFID (Radio Frequency Identification) โดยจะช่วยตอบสนองความต้องการขององค์กรต่างๆ ในการควบคุมการติดตาม ดูแลตรวจสอบ และวิเคราะห์สินทรัพย์มีค่าขององค์กรเหล่านั้น สำหรับข้อมูลเพิ่มเติม สามารถดูได้ที่ www.id-systems.com

เกี่ยวกับ Wireless Asset Net(r)
ระบบ Wireless Asset Net(r) ช่วยปรับปรุงความสามารถในการผลิตและการดำเนินการจัดจำหน่าย ด้วยการสร้างความมั่นใจว่าอุปกรณ์จะอยู่ในสภาพที่เหมาะสมและในเวลาที่เหมาะสมสำหรับการใช้งาน ระบบจะช่วยยกระดับความสามารถในการผลิตด้วยการรับรองว่าอุปกรณ์ได้รับการติดตั้งถูกที่ถูกเวลา รวมถึงช่วยเพิ่มความลื่นไหลในการทำงานด้วยระบบส่งผ่านข้อมูลอัตโนมัติ และช่วยพัฒนาการบริหารงานผ่านการใช้ประโยชน์อย่างสูงสุดจากอุปกรณ์ต่างๆ นอกจากนี้ ระบบดังกล่าวยังจะช่วยลดค่าใช้จ่ายในการซ่อมบำรุง ด้วยการอัพโหลดข้อมูลยานพาหนะโดยอัตโนมัติ รวมถึงรายงานปัญหาของยานพาหนะแบบเรียลไทม์ ช่วยให้ผู้ดูแลเลือกได้ว่าจะซ่อมบำรุงยานพาหนะเมื่อใด โดยพิจารณาจากการใช้งานจริง แทนการกำหนดตามปฏิทิน และช่วยให้ฝ่ายบริหารโรงงานตัดสินเลือกช่วงเวลาที่ดีที่สุดในการเปลี่ยนอุปกรณ์