ทิศทางราคาข้าวมีแนวโน้มผันผวน โดยสัญญาณที่ชัดเจนคือ ราคาข้าวเปลือกในตลาดชิคาโกเริ่มปรับขึ้นอีกครั้งหลังจากที่ดิ่งลงในช่วงต้นเดือนพฤษภาคม นับเป็นการแสดงให้เห็นว่าราคาข้าวนั้นค่อนข้างอ่อนไหวต่อกระแสข่าวทั้งข่าวดีและข่าวร้ายจากทั้งประเทศผู้ผลิตและผู้ซื้อข้าว รวมทั้งยังมีผลจากการเก็งกำไรที่เปลี่ยนไปมาระหว่างเงินดอลลาร์สหรัฐฯและสินค้าโภคภัณฑ์
ตลาดข้าวไทยก็มีแนวโน้มผันผวนไปตามราคาข้าวในตลาดโลก โดยแม้ว่าราคาข้าวเปลือกในตลาดชิคาโกจะขยับขึ้น แต่ปัจจุบันราคาข้าวไทยในตลาดทุกระดับมีแนวโน้มลดลง ผนวกกับปัจจัยในประเทศ คือ ปริมาณข้าวนาปรังที่ทยอยออกสู่ตลาด แต่ข้าวมีความชื้นสูงจากฝนที่ตกในช่วงการเก็บเกี่ยว ทำให้ราคาข้าวในระดับเกษตรกรขายได้ลดลง การคาดหมายว่าการส่งออกในช่วงไตรมาสสองจะชะลอตัวลงเมื่อเทียบกับไตรมาสแรก จากการที่ผู้ส่งออกไม่กล้ารับคำสั่งซื้อและผลกระทบจากเงินบาทอ่อนค่า ราคาข้าวทั้งในระดับขายส่งตลาดกรุงเทพฯและราคาส่งออกมีแนวโน้มลดลง จากการที่โรงสีไม่ได้ออกรับซื้อข้าว จากปัญหาการขาดเงินทุนหมุนเวียน และผู้ส่งออกไม่ได้รับซื้อข้าว เนื่องจากประเทศผู้ซื้อข้าวชะลอคำสั่งซื้อเพื่อรอดูแนวโน้มราคา
ทิศทางราคาข้าวในอนาคตแม้คาดว่าจะอยู่ในเกณฑ์สูงแต่จะผันผวน เนื่องจากความต้องการข้าวในตลาดโลกยังอยู่ในเกณฑ์สูง แต่ปัจจัยที่ต้องพึงระวัง คือ เวียดนามซึ่งเป็นคู่แข่งสำคัญในการส่งออกข้าวของไทยกลับมาส่งออกข้าวอีกครั้งในเดือนกรกฎาคมเป็นต้นไป เนื่องจากผลผลิตข้าวกลางปีมีมากพอสำหรับการส่งออก และในช่วงไตรมาสสุดท้ายจะเป็นช่วงต้นฤดูการผลิตข้าวนาปีของประเทศผู้ผลิตข้าวที่สำคัญของโลก ไม่ว่าจะเป็นไทย เวียดนาม และอินเดีย ซึ่งผู้ที่เกี่ยวข้องในวงการค้าข้าวต่างกังวลว่าราคาข้าวของไทยยังอยู่ในช่วงขาลง และถ้ารัฐบาลยังไม่มีการดำเนินมาตรการใดๆออกมากระตุ้นตลาด และความปั่นป่วนเนื่องจากความไม่มั่นใจในราคาข้าวคาดการณ์ว่าราคาข้าวในประเทศของไทยอาจจะกลับเข้าสู่ระดับ 7,000-8,000 บาทต่อตันอีกครั้ง ซึ่งแม้ว่าจะส่งผลดีต่อผู้บริโภค แต่ก็กระทบต่อผู้ที่อยู่ในขั้นตอนการผลิตตั้งแต่เกษตรกร โรงสี จนถึงผู้ส่งออก ทำให้เป็นความท้าทายต่อกระทรวงพาณิชย์ที่จะดำเนินการดูแลให้ราคาข้าวอยู่ในเกณฑ์ที่มีเสถียรภาพ