นางสาวชุติมา บุณยประภัศร อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยผลการสำรวจแบบรับฟังความคิดเห็น 349 รายของผู้เข้าร่วมสัมมนาเรื่อง “ไทยกับการเจรจาเปิดเสรีทางการค้า (FTA) : ปัจจุบันและย่างก้าวต่อไป” ในช่วงเดือนเมษายนที่ผ่านมา มีผู้เห็นว่าไทยควรทำ FTA สูงถึงร้อยละ 94.55 ผู้ไม่เห็นด้วยเพียงร้อยละ 1.15 และมีผู้ที่ไม่แน่ใจว่าไทยควรทำ FTA หรือไม่ เพียงร้อยละ 4.30
สำหรับผู้ที่เห็นด้วย มีเหตุผลที่สำคัญ คือ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศไทย กระตุ้นให้เกิดการปรับตัวในการแข่งขันและก้าวทันต่อประเทศเพื่อนบ้าน ขยายโอกาสในการกระจายสินค้าทำให้ไทยมีมูลค่าการค้าเพิ่มขึ้น เปิดโอกาสทางการค้าและการลงทุน ในขณะที่ผู้ไม่เห็นด้วย มีเพียง 4 ราย และผู้ที่ไม่แน่ใจมีเพียง 15 ราย โดยทั้งสองกลุ่มหลังมีเหตุผลเดียวกัน คือ ไม่แน่ใจว่าประเทศไทยได้ประโยชน์จากการทำ FTA หรือไม่ ยิ่งกว่านั้น ร้อยละ 93.66 ยังเห็นว่าไทยควรรวมกลุ่มกับอาเซียนในการเจรจา FTA โดยมีเหตุผลที่สำคัญคือ เพื่อเพิ่มอำนาจการต่อรอง อย่างไรก็ดี มีผู้ไม่เห็นด้วยจำนวน 7 ราย คิดเป็นร้อยละ 2.02 โดยให้เหตุผลว่า แต่ละประเทศในอาเซียนมีคุณภาพและมาตรฐานของสินค้าต่างกัน
นอกจากนี้ กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศยังได้สอบถามความเห็นเพิ่มเติมว่า ไทยควรทำ FTA กับประเทศใดบ้าง ได้รับคำตอบว่า ประเทศที่สำคัญที่ไทยควรทำ FTA มากที่สุด คือ จีน สหภาพยุโรป ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา อินเดีย ตะวันออกกลาง รัสเซีย อเมริกาใต้ (บราซิล) เกาหลีใต้ แอฟริกา และออสเตรลีย โดยร้อยละ 38.69 คิดว่า การลดหรือยกเลิกภาษีภายใต้ FTA ควรครอบคลุมสินค้าทุกประเภท เพื่อเพิ่มความคล่องตัวในการค้าและเป็นการลดต้นทุนค่าใช้จ่าย ในขณะที่มีผู้ไม่เห็นด้วยร้อยละ 40.77 โดยมีข้อคิดเห็นว่า ในการลด/ยกเลิกภาษีภายใต้ FTA ควรพิจารณาชนิดของสินค้าด้วย โดยสินค้าเกษตรกรรมไม่ควรลดภาษีในระดับเดียวกับสินค้าอุตสาหกรรม และสินค้าบางชนิดของไทยยังไม่สามารถแข่งขันในตลาดโลกได้
สำหรับสาขาบริการที่ไทยควรเปิดเสรีเพื่อดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศมากที่สุดได้แก่การท่องเที่ยว รองลงมาได้แก่ การโรงแรม โรงพยาบาล สปา การขนส่ง การศึกษา โทรคมนาคม ภัตตาคาร ร้านอาหาร
ทั้งนี้ ผู้กรอกแบบรับฟังความคิดเห็นยังได้ให้ข้อเสนอแนะว่า 1) ควรมีการศึกษาถึงผลดี / ผลเสีย เพื่อเตรียมความพร้อมก่อนการเจรจา และควรมีการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทราบอย่างทั่วถึง 2) การทำ FTA ควรพิจารณาเลือกทำเฉพาะประเทศและสินค้าที่เหมาะสม 3) ควรทำอย่างโปร่งใส 4) ควรพิจารณาถึงมาตรการที่มิใช่ภาษีด้วย และ 5) ภาครัฐควรเตรียมช่วยเหลือสาขาที่ได้รับผลกระทบให้มากขึ้น
“ผลการสำรวจดังกล่าวสำรวจจากกลุ่มผู้เข้าร่วมสัมมนา ซึ่งมีตัวแทนมาจากทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน NGOs หรือประชาชนที่สนใจ กรมฯจะนำมาเป็นข้อคิดในการปรับกระบวนการทำงานต่อไป” นางสาวชุติมา กล่าว