FTAไทย-เปรู…อีกหนึ่งย่างก้าวที่น่าจับตามอง

กรอบความตกลงว่าด้วยการเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระหว่างไทย-เปรูที่เริ่มเจรจาเพื่อเปิดเสรีทางการค้ารอบแรกตั้งแต่มกราคม 2547 นั้น มีการร่วมกันลงนามในพิธีสารเพิ่มเติมฉบับที่ 3 ภายใต้พิธีสารระหว่างไทยกับเปรูเพื่อเร่งเปิดเสรีทางการค้าสินค้าและอำนวยความสะดวกทางการค้าปี พ.ศ.2548 ไปเมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2553 และคาดว่าจะสามารถบังคับใช้ได้ภายในไตรมาสแรกของปี 2554

ความตกลงการค้าเสรีไทย-เปรู…คาดมีผลบังคับใช้ได้ภายในไตรมาสแรกของปี 2554
ในการหารือทวิภาคีระหว่างประธานาธิบดีเปรูกับนายกรัฐมนตรีไทยในช่วงการประชุมผู้นำเอเปค เมื่อเดือนตุลาคม 2545 ณ ประเทศเม็กซิโก ทั้งสองฝ่ายได้หารือกันถึงการจัดตั้ง FTA ไทย-เปรู ขึ้น ต่อมาก็ได้จัดทำกรอบความตกลงว่าด้วยการเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจที่ใกล้ชิดยิ่งขึ้น และมีการลงนามเมื่อวันที่ 17ตุลาคม 2546 ซึ่งครอบคลุมในเรื่องการเปิดเสรี การอำนวยความสะดวก และความร่วมมือด้านการค้าสินค้า บริการและการลงทุน รวมทั้งการขยายความร่วมมือด้านอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการค้า โดยได้เริ่มเจรจาเพื่อเปิดเสรีทางการค้ารอบแรกตั้งแต่มกราคม 2547 ซึ่งทั้งสองฝ่ายสามารถสรุปผลการเจรจาเร่งเปิดเสรีสินค้าบางส่วนก่อน (ร้อยละ 70 ของจำนวนสินค้าทั้งหมด แบ่งเป็นลดภาษีศูนย์ทันที ร้อยละ 50 และภายใน 5 ปี ร้อยละ 20) ในรอบที่ 7 เมื่อต้นเดือนพฤศจิกายน 2548 จากนั้นก็มีการดำเนินการตามลำดับดังนี้

19 พฤศจิกายน 2548 ณ นครปูซาน ประเทศเกาหลี
ได้มีการลงนามพิธีสารเพื่อเร่งเปิดเสรีทางการค้าและอำนวยความสะดวกทางการค้า (Early Harvest) โดยมีสาระครอบคลุมเรื่องการค้าสินค้า กฎเกณฑ์ว่าด้วยแหล่งกำเนิดสินค้า มาตรการปกป้อง มาตรการด้านสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช อุปสรรคทางเทคนิคต่อการค้า พิธีการศุลกากร การบริหารจัดการกฎหมาย กฎระเบียบที่โปร่งใส กลไกระงับข้อพิพาท และการจัดตั้งคณะกรรมาธิการร่วม

16 พฤศจิกายน 2549 ณ กรุงฮานอย ประเทศเวียดนาม
ไทยและเปรูได้มีการลงนามพิธีสารเพิ่มเติมเรื่องกฎว่าด้วยถิ่นกำเนิดเฉพาะรายสินค้า อย่างไรก็ตาม ความตกลงฯยังไม่มีผลบังคับใช้ เนื่องจากทั้งสองประเทศต้องปรับเปลี่ยนรายการสินค้าและกฎว่าด้วยถิ่นกำเนิดเฉพาะรายสินค้าจากระบบ HS 2002 เป็น HS 2007 ตามพันธกรณีภายใต้องค์การศุลกากรโลก

13 พฤศจิกายน 2552 ณ ประเทศสิงคโปร์
มีการลงนามพิธีสารเพิ่มเติมฉบับที่ 2 เพื่อเป็นการยอมรับร่วมกันในการปรับเปลี่ยน HS 2007 รวมทั้งมีการจัดทำหนังสือแลกเปลี่ยนความเข้าใจเรื่องสินค้าสัตว์น้ำและผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำ โดยมีเป้าหมายที่จะให้ความตกลงฯ มีผลบังคับใช้ในไตรมาสแรกของปี 2553 แต่เนื่องจากฝ่ายเปรูได้ขอให้มีการแก้ไขพิธีสารฉบับปี 2548 โดยขอปรับเปลี่ยนถ้อยคำในเรื่องกฎว่าด้วยถิ่นกำเนิดสินค้า ซึ่งมีข้อความบางส่วนที่ขัดต่อกฎหมายของเปรู ทำให้ความตกลงการเปิดเสรีทางการค้าและอำนวยความสะดวกทางการค้า (Early Harvest) จึงยังไม่มีผลใช้บังคับตามที่ช่วงเวลาที่วางเป้าหมายไว้

18 พฤศจิกายน 2553 ณ ประเทศไทย
ไทย-เปรูได้ร่วมกันลงนามในพิธีสารเพิ่มเติมฉบับที่ 3 ภายใต้พิธีสารระหว่างไทยกับเปรูเพื่อเร่งเปิดเสรีทางการค้าสินค้าและอำนวยความสะดวกทางการค้าปี พ.ศ.2548 ภายหลังจากที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบกรอบการเจรจาเพื่อแก้ไขกฎว่าด้วยถิ่นกำเนิดสินค้าภายใต้พิธีสารฯไทย-เปรู พ.ศ. 2548 เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2553 และรัฐสภาได้ให้ความเห็นชอบเมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2553

ทั้งนี้ การลงนามพิธีสารดังกล่าวเมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2553 มีผลให้พิธีสารอีก 3 ฉบับที่ได้ลงนามไปก่อนหน้านี้แล้วตั้งแต่ช่วงปี 2548-2552 สามารถมีผลใช้บังคับด้วย โดยต่างมีความเห็นร่วมกันที่จะให้ความตกลงการค้าเสรีไทย-เปรู มีผลบังคับใช้ได้ภายในไตรมาสแรกของปี 2554 ซึ่งจะส่งผลให้มูลค่าการค้า และการลงทุนของทั้งสองฝ่ายมีการขยายตัวเพิ่มขึ้น โดยไทยจะได้รับประโยชน์จากการที่เปรูยกเลิกภาษีสินค้าทันทีรวม 3,985 รายการ หรือร้อยละ 54.2 ของรายการสินค้าทั้งหมด คิดเป็นมูลค่าสูงถึงร้อยละ 77.2 ของการนำเข้าเฉลี่ยจากไทยในปี 2549-2552(132.24ล้านเหรียญสหรัฐ) ขณะที่ไทยจะยกเลิกภาษีทันทีให้กับการนำเข้าสินค้าจากเปรูจำนวน 3,844 รายการ หรือร้อยละ 46.3 ของรายการทั้งหมด คิดเป็นมูลค่าร้อยละ 92.2 ของรายการนำเข้าเฉลี่ยจากเปรู ในปี 2549-2552 (70.78 ล้านเหรียญสหรัฐ)

ซึ่งนอกจากกรอบความตกลงดังกล่าว ปัจจุบันไทยและเปรูได้ลงนามความตกลงทวิภาคีแล้ว 26 ฉบับ และยังอยู่ระหว่างการเจรจาอีกจำนวน 15 ฉบับ โดยความตกลงที่มีผลบังคับใช้แล้ว อาทิ บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือระหว่างสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศกับกับ National Aerospace Research and Development Commission of Peru (CONIDA) การติดตามการทำลายป่าไม้ (Deforestation monitoring) และการทำแผนที่เพื่อการจัดการพื้นที่ (Cartography for land-use management) เป็นต้น

การค้าไทย-เปรูส่อแววดีต่อเนื่อง
เปรู เป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับที่ 7 ของภูมิภาคลาตินอเมริกาซึ่งประกอบด้วยประเทศ 17 ประเทศด้วยกัน และเป็นประเทศคู่ค้าอันดับที่ 6 ของไทยกับลาตินอเมริกา รองจากบราซิล เม็กซิโก อาร์เจนตินา ชิลี และโคลอมเบีย ซึ่งแม้ว่าการค้าระหว่างไทย-เปรูในช่วงที่ผ่านมาจะไม่โดดเด่นนัก หรือคิดเป็นสัดส่วนเพียงร้อยละ 0.11 ของมูลค่าการค้าระหว่างประเทศโดยรวมของไทย แต่มีอัตราการเติบโตที่เพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่าร้อยละ 20 ต่อปี (ยกเว้นปี 2552 ที่ต่างก็เผชิญกับภาวะวิกฤตเศรษฐกิจโลก ทำให้การเติบโตของมูลค่าการค้าระหว่างไทยและเปรูในปี 2552 ติดลบเป็นครั้งแรกในรอบ 7 ปี)
สำหรับการค้าระหว่างไทยกับเปรูในช่วง 10 เดือนแรกปี 2553 คิดเป็นมูลค่ารวม 352.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้นอย่างชัดเจนกว่า 2 เท่าตัวจากช่วงเดียวกันปีก่อน โดยที่ไทยยังคงเป็นฝ่ายได้เปรียบดุลการค้าที่ 165.1 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งเป็นการที่ไทยส่งออกไปเปรูเป็นมูลค่า 259.0 ล้านเหรียญสหรัฐ(เพิ่มขึ้นร้อยละ 294.6) อันเป็นมูลค่าสูงสุดเป็นประวัติการณ์ และคิดเป็นสัดส่วนประมาณร้อยละ 0.16 ของมูลค่าการส่งออกโดยรวมของไทย ส่งผลผลักดันให้มูลค่าการส่งออกระหว่างไทย-ภูมิภาคลาตินอเมริกาในช่วง 10 เดือนแรกปี 2553เพิ่มขึ้นเป็น 4,788.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 76.6 (YoY) ขณะที่มูลค่าการนำเข้าจากเปรูเองก็ทำสถิติสูงสุดเช่นกัน ด้วยมูลค่า 93.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ(เพิ่มขึ้นร้อยละ 171.2) และมีผลให้การนำเข้าจากภูมิภาคลาตินอเมริกาขยับเพิ่มขึ้นร้อยละ 36.5 เมื่อเทียบจากช่วง 10 เดือนแรกปี 2552 จึงมีความเป็นไปได้ว่าการส่งเสริมความร่วมมือกับระหว่างไทยและเปรูกันมากขึ้น น่าจะส่งผลให้ประเทศไทยสามารถขยายตลาดด้านการส่งออกและสร้างประโยชน์สูงสุดจากการนำเข้าทั้งจากตลาดเปรูและตลาดในภูมิภาคลาตินอเมริกาได้พอสมควร โดยไทยยังมีแผนที่จะเปิดการเจรจาจัดทำข้อตกลงการค้าเสรีกับชิลีในปี2554 ด้วย
รายการสินค้าส่งออก-นำเข้าระหว่างไทยกับเปรู

ทั้งนี้ สินค้าส่งออกของไทยที่คาดว่าจะได้ประโยชน์ทันทีจากการลดภาษีเป็น 0 ระหว่างไทย-เปรู ได้แก่ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ (ไทยส่งออกไม่ต่ำกว่าร้อยละ 60 ของสินค้าส่งออกไปเปรู) เครื่องซักผ้า และส่วนประกอบ และผลิตภัณฑ์ยาง ขณะที่ในด้านการนำเข้า เปรูเป็นประเทศที่อุดมสมบูรณ์ด้วยทรัพยากร และสินแร่ต่างๆ ได้แก่ สินแร่สังกะสี สินแร่ดีบุก รัตนชาติ ป่าไม้ สินค้าประมง เป็นต้น จึงเป็นโอกาสดีของผู้นำเข้าไทยที่จะสามารถนำเข้าวัตถุดิบจากเปรูได้ในราคาถูกจากผลของภาษีนำเข้าที่ลดลง และสามารถใช้เปรูเป็นฐานการผลิตหรือร่วมลงทุน เพื่อส่งออกไปยังตลาดสำคัญของเปรูได้ อย่างไรก็ตาม ไทยยังไม่ลดภาษีสินค้าอ่อนไหว รวมทั้งปลาป่นภายใต้พิธีสารดังกล่าว

สำหรับด้านการลงทุน พบว่าปัจจุบันไทย-เปรูยังมีการลงทุนระหว่างกันไม่มากนัก แต่ทั้งนี้ นโยบายของรัฐบาลเปรูค่อนข้างเป็นมิตรกับนักลงทุน และนอกจากจะมีนโยบายเพิ่มการลงทุนภาคสาธารณะแล้ว ยังต้องการเพิ่มการลงทุนภาคเอกชนในสาขาที่มีศักยภาพ รวมทั้งสาขาการขนส่ง ซึ่งรัฐบาลเปรูให้ความสำคัญกับการเปิดเสรีด้านการลงทุนพอสมควร และมีการวางรากฐานการเปิดเสรีการลงทุนมาตั้งแต่ปี 2533 โดยได้มีการปฏิรูปโครงสร้างทางเศรษฐกิจที่สำคัญหลายด้าน เช่น โครงสร้างภาษี และกฎหมาย ประเทศเปรูให้สิทธินักลงทุนต่างชาติเท่าเทียมกับนักลงทุนเปรูในการลงทุนในภาคธุรกิจต่างๆ โดยไม่มีนโยบายจำกัดการเคลื่อนย้ายเงินลงทุน และค่อนข้างยืดหยุ่นในเรื่องการจ้างงานต่างชาติ ซึ่งสินค้าหรืออุตสาหกรรมที่ไทยน่าจะมีศักยภาพในการเข้าไปลงทุน อาทิ เฟอร์นิเจอร์ เหมืองแร่ และประมง เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม ปัญหาและอุปสรรคสำคัญระหว่างไทยและเปรูได้แก่ 1.ระยะทางที่ห่างไกลของทั้งสองประเทศ และการขนส่งที่ต้องผ่านประเทศที่สาม ทำให้ต้นทุนของสินค้าสูงขึ้น 2.เปรูใช้ภาษาสเปนเป็นภาษาราชการ ซึ่งเป็นอุปสรรคในการสื่อสารติดต่อทางการค้า และ 3.เปรูมีการใช้มาตรการต่างๆ เพื่อปกป้องตลาดให้กับสินค้าเกษตรของตน เช่น การเก็บค่าธรรมเนียมพิเศษสินค้าเกษตร (อัตราร้อยละ 5-10) และการเก็บ Variable specific duty กับสินค้าเกษตรบางชนิด ได้แก่ ข้าว น้ำตาล นมและผลิตภัณฑ์ และข้าวโพด โดยทั้งนี้ ปัจจุบันสินค้าไทยครองส่วนแบ่งตลาดในเปรูสัดส่วนร้อยละ 1 ติดอันดับที่ 23 ตามรายงานของ Global Trade Atlas ขณะที่แหล่งนำเข้าที่สำคัญของเปรูได้แก่ สหรัฐฯ (สัดส่วนร้อยละ 20) จีน(สัดส่วนร้อยละ 15) บราซิล(สัดส่วนร้อยละ 8) เอกวาดอร์(สัดส่วนร้อยละ 5) และชิลี(สัดส่วนร้อยละ 5)

บทสรุป
เศรษฐกิจของเปรูในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาอยู่ในเกณฑ์ที่ดีมากเฉลี่ยร้อยละ 6.8 ต่อปี โดยมีเพียงปี 2552 ที่อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจอยู่ที่ร้อยละ 0.9 อันเนื่องมาจากภาวะวิกฤตเศรษฐกิจโลก แต่ก็ยังสามารถเติบโตในแดนบวกได้ โดยมีภาคการส่งออกโดยเฉพาะสินค้าประมงและแร่ธาตุ และการลงทุนภาครัฐในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเป็นปัจจัยกระตุ้นที่สำคัญ ส่งผลให้ความยากจนในประเทศลดลงติดต่อกันถึงสี่ปี ขณะที่อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของเปรูในปี 2553 ก็มีโอกาสจะขยายตัวถึงร้อยละ 8.31 นอกจากนี้ เปรูยังเป็นประเทศที่ให้ความสำคัญนโยบายเศรษฐกิจแนวเสรีนิยมที่มุ่งเน้นการเปิดเสรีทางการค้าและเศรษฐกิจกับต่างประเทศเพิ่มขึ้น อันหมายรวมถึงภูมิภาคเอเชียด้วยซึ่งจะเห็นได้จากการเข้าเป็นสมาชิกเขตเศรษฐกิจเอเปคของเปรู รวมถึงการเจรจาจัดทำ FTA กับประเทศต่างๆ ในเอเชีย ไม่ว่าจะเป็นสิงคโปร์ จีน หรือไทย

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เห็นว่า จากการที่การค้าระหว่างไทยและเปรูเป็นไปในลักษณะที่เกื้อกูลซึ่งกันและกัน และไม่ได้แข่งขันกันโดยตรง เพราะไทยผลิตและส่งออกสินค้าสำเร็จรูป ส่วนเปรูส่งออกสินค้าวัตถุดิบที่ยังไม่ได้แปรรูป ได้แก่ สินแร่สังกะสี สินแร่ดีบุก รัตนชาติ ป่าไม้ สินค้าประมง เป็นต้น จึงเป็นไปได้ว่าความตกลงการค้าเสรีไทย-เปรูที่คาดว่าทั้งสองฝ่ายจะสามารถบังคับใช้ได้ภายในไตรมาสแรกของปี 2554 น่าจะส่งผลให้มูลค่าการค้าและการลงทุนของทั้งสองฝ่ายมีการขยายตัวเพิ่มขึ้น โดยสินค้าส่งออกของไทยที่น่าจะได้ประโยชน์ทันทีจากการลดภาษีเป็น 0 ได้แก่ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องซักผ้า และส่วนประกอบ และผลิตภัณฑ์ยาง ขณะที่ในด้านการนำเข้านั้นน่าจะเป็นโอกาสดีของผู้นำเข้าไทยที่จะสามารถนำเข้าวัตถุดิบจากเปรูได้ในราคาถูกจากผลของภาษีนำเข้าที่ลดลง และสามารถใช้เปรูเป็นฐานการผลิตหรือร่วมลงทุน เพื่อส่งออกไปยังตลาดสำคัญของเปรูได้ ขณะที่ด้านการลงทุนนั้นมีความเป็นไปได้ว่าอุตสาหกรรมที่ไทยน่าจะมีศักยภาพ อาทิ เฟอร์นิเจอร์ เหมืองแร่ และประมง เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการไทยควรให้ความสำคัญต่อการศึกษาลู่ทางด้านการตลาด กฎระเบียบต่างๆ เพื่อที่จะสามารถใช้สิทธิประโยชน์ทางการค้าได้อย่างเต็มที่ รวมทั้งการเตรียมความพร้อมในส่วนของการปรับปรุงคุณภาพและรูปแบบของสินค้าให้ตรงตามความต้องการของตลาด เพื่อขยายโอกาสทางการค้าและการลงทุนในประเทศเปรู ซึ่งแม้ว่าที่ผ่านมาความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างไทยและเปรูยังมีไม่มาก อีกทั้งเป็นประเทศที่ห่างไกลจากไทย แต่จากระดับอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของเปรูที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นและจากสถิติการค้าที่ผ่านมา ก็มีความเป็นไปได้ว่าความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างไทยและเปรูน่าจะยังขยายได้อีก อันหมายรวมถึงโอกาสกระจายสินค้าไปยังประเทศในแถบลาตินอเมริกาอื่นๆที่มีความสัมพันธ์ทางการค้าค่อนข้างใกล้ชิดต่อกันในระดับภูมิภาค ด้วยขนาดประชากรราว 382 ล้านคน และมีมูลค่าการค้ารวมกันประมาณ 4,204 ดอลลาร์สหรัฐฯที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง ตลาดลาตินอเมริกาจึงนับเป็นตลาดใหม่ที่ไม่ควรมองข้ามอีกหนึ่งตลาดท่ามกลางทิศทางการฟื้นตัวที่ยังค่อนข้างเปราะบางของตลาดหลักเดิมของไทยอย่างสหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป และญี่ปุ่น