FTA ไทย-เปรู : ช่วยกระตุ้นส่งออก … เสริมฐานะดุลการค้าไทย

หลังจากที่ไทยเกินดุลการค้าระหว่างประเทศมาโดยตลอดนับตั้งแต่เกิดวิกฤตเศรษฐกิจในปี 2540 ยกเว้นในปี 2548 ที่ไทยขาดดุลการค้า 7,237 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เนื่องจากการนำเข้าน้ำมันที่พุ่งขึ้นร้อยละ 61 ในขณะนั้น สถานการณ์ปัจจุบันที่ราคาน้ำมันในตลาดโลกพุ่งขึ้นเป็นประวัติการณ์แตะระดับ 140 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาเรล รวมถึงราคาสินค้าโภคภัณฑ์และอาหารที่อยู่ระดับสูง เป็นปัจจัยสำคัญที่อาจกดดันให้ดุลการค้าของไทยมีความเสี่ยงที่จะกลับมาขาดดุลอีกครั้งในปี 2551 แม้ว่าการส่งออกของไทยยังคงมีแนวโน้มเติบโตในปีนี้ โดยในช่วง 4 เดือนแรกของปี 2551 การส่งออกของไทยขยายตัวร้อยละ 22.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2550 โดยมีปัจจัยหนุนสำคัญจากราคาสินค้าเกษตรในตลาดโลกโดยเฉพาะข้าวที่ราคาอยู่ในระดับสูง รวมทั้งสินค้าอุตสาหกรรมส่งออกของไทยที่ยังคงขยายตัวต่อเนื่อง แต่การนำเข้าในช่วงเดียวกันขยายตัวเร่งขึ้นในอัตราร้อยละ 40 ส่งผลให้ไทยขาดดุลการค้า 2,990 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เทียบกับที่เกินดุลการค้ามูลค่า 3,515 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า การที่ราคาน้ำมันในตลาดโลกมีแนวโน้มทรงตัวในระดับสูงต่อเนื่องในปี 2551-2552 ทำให้ดุลการค้าของไทยยังคงเผชิญความเสี่ยงกับภาวะขาดดุลการค้า เนื่องจากไทยนำเข้าน้ำมันดิบคิดเป็นสัดส่วนถึงร้อยละ 17 ของการนำเข้าทั้งหมดของไทย ซึ่งยอดขาดดุลการค้าที่สูงขึ้นอาจส่งผลกระทบต่อดุลบัญชีเดินสะพัดของไทยด้วย

การเร่งขยายการส่งออกจึงเป็นหนทางหนึ่งที่จะช่วยบรรเทายอดขาดดุลการค้าของไทย และช่วยลดแรงกดดันของดุลบัญชีเดินสะพัดที่อาจส่งผลกระทบซ้ำเติมเสถียรภาพทางเศรษฐกิจในภาวะที่ไทยต้องเผชิญปัจจัยเสี่ยงหลายๆ ด้าน ที่สำคัญ ได้แก่ เงินเฟ้อที่พุ่งขึ้น อันส่งผลต่อความสามารถในการจับจ่ายใช้สอยของประชาชนและทำให้ต้นทุนของภาคธุรกิจสูงขึ้น การเจรจาจัดทำเขตการค้าเสรี (FTA) ของไทยที่มีความคืบหน้าทั้งในระดับภูมิภาคและทวิภาคีที่คาดว่าจะมีผลบังคับใช้ในปี 2551-2552 ได้แก่ FTA อาเซียน-เกาหลีใต้ FTA อาเซียน-ญี่ปุ่น และ FTA ไทย-เปรู น่าจะเป็นปัจจัยสนับสนุนให้การส่งออกของไทยขยายตัวได้ดีขึ้นในระยะต่อไป ขณะเดียวกันการลดภาษีนำเข้าให้กับสินค้าของประเทศคู่เจรจา FTA โดยเฉพาะสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูปก็จะช่วยลดต้นทุนการผลิตของภาคธุรกิจไทยด้วย ซึ่งจะช่วยบรรเทาปัญหาเงินเฟ้อด้านอุปทานที่มีแนวโน้มอยู่ในระดับสูง ไม่ว่าจะเป็นราคาสินค้าพลังงาน สินค้าโภคภัณฑ์ และสินค้าเกษตร/อาหาร

การเจรจาจัดทำความตกลง FTA ระหว่างไทยกับเปรู ที่ไทยและเปรูร่วมกันจัดทำ พิธีสารลดภาษีสินค้ากลุ่มเริ่มแรก (Early Harvest : EH) แล้วเสร็จในเดือนพฤศจิกายน 2549 แต่ที่ผ่านมาประสบความล่าช้าเนื่องจากการปรับเปลี่ยนพิกัดศุลกากร (HS) จากปี ค.ศ. 2002 เป็นปี ค.ศ. 2007 ทำให้ต้องปรับเปลี่ยนกระบวนการภายใน ซึ่งคาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จในเดือนสิงหาคม 2551 เพื่อเสนอต่อคณะรัฐมนตรีอนุมัติการลงนามในพิธีสารฯ ซึ่งมีความเป็นไปได้ที่พิธีสารฯ จะมีผลบังคับใช้ในช่วงต้นปี 2552 ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เห็นว่า การลดภาษีศุลกากรระหว่างกันในสินค้ากลุ่ม EH น่าจะเป็นปัจจัยสนับสนุนให้การส่งออกของไทยไปเปรูขยายตัวได้ดีขึ้น เนื่องจากปัจจุบันมูลค่าส่งออกของไทยไปเปรูค่อนข้างน้อย จึงมีโอกาสขยายตัวได้อีกมาก ประกอบกับปัจจัยสนับสนุนจากการบริโภคภายในประเทศเปรูที่เพิ่มขึ้นตามการขยายตัวของเศรษฐกิจเปรูที่มีอัตราค่อนข้างสูงในช่วง 3 ปีมานี้ (2548-2550) นอกจากนี้ ไทยยังได้ผลดีจากการนำเข้าวัตถุดิบและสินค้ากึ่งสำเร็จรูปจากเปรูที่มีต้นทุนต่ำลง เนื่องจากการลดภาษีของไทยให้สินค้านำเข้าจากเปรูภายใต้ FTA ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนการผลิตของภาคธุรกิจไทยในภาวะที่ต้นทุนด้านอุปทานพุ่งขึ้นในปัจจุบันและมีแนวโน้มทรงตัวในระดับสูงในปี 2552

FTA ไทย-เปรู – กระตุ้นส่งออกไทย
แม้ที่ตั้งของไทยกับเปรูจะอยู่ห่างไกลกันและความสัมพันธ์ทางการค้ายังค่อนข้างน้อย โดยมูลค่าทางการค้าระหว่างกันคิดเป็นสัดส่วนไม่ถึงร้อยละ 1 ของการค้าระหว่างประเทศของไทยทั้งหมด แต่การลดภาษีสินค้ากลุ่ม EH ภายใต้พิธีสารฯ ที่คาดว่าจะมีผลบังคับใช้ในช่วงต้นปี 2552 จะช่วยให้การค้าระหว่างไทย-เปรูขยายตัวทั้งด้านการส่งออกและนำเข้า สินค้าอุตสาหกรรมส่งออกของไทยมีโอกาสจะเข้าสู่ตลาดเปรูได้มากขึ้น โดยสินค้าภายใต้พิธีสารการเปิดเสรีสินค้ากลุ่มเริ่มแรกคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 70 ของสินค้าทั้งหมด สินค้ากลุ่มแรกราวร้อยละ 50 จะลดภาษีเหลือร้อยละ 0 ทันทีที่ความตกลงมีผลบังคับใช้ ซึ่งสินค้าส่งออกของไทยที่จะได้ประโยชน์ทันที คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 80 ของสินค้าที่ไทยส่งออกไปเปรู เช่น รถปิกอัพ หลอดไฟฟ้า พลาสติกและผลิตภัณฑ์ เลนส์แว่นตา ยางและผลิตภัณฑ์ โทรศัพท์ เครื่องขยายเสียง คอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ ทั้งนี้ สินค้าอีกร้อยละ 20 ของกลุ่ม EH จะลดภาษีเหลือร้อยละ 0 ภายใน 5 ปี มีสินค้าที่ไทยจะได้ประโยชน์ในกลุ่มนี้ เช่น ด้ายโพลีเอสเตอร์ ด้ายในสังเคราะห์ และจักรยานยนต์ เป็นต้น

ปัจจัยสนับสนุนให้ความต้องการนำเข้าสินค้าของเปรูขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ได้แก่ เศรษฐกิจเปรูที่มีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่องในอัตราร้อยละ 6-7 ในปี 2552-2553 จากที่เติบโตในอัตราเฉลี่ยร้อยละ 7.7 ต่อปีในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา (2548-2550) โดยในปี 2550 เศรษฐกิจเปรูขยายตัวถึงร้อยละ 9 นับว่าเป็นประเทศในอเมริกาใต้ที่มีอัตราเติบโตทางเศรษฐกิจสูงที่สุด แม้ว่าขนาดเศรษฐกิจของเปรูจะเล็กกว่าบราซิลและชิลีก็ตาม เศรษฐกิจเปรูที่เติบโตต่อเนื่องทำให้ความต้องการนำเข้าสินค้าเพิ่มขึ้นทั้งสินค้าทุนและสินค้าขั้นกลางที่ใช้ในภาคอุตสาหกรรม รวมถึงสินค้าอุปโภคบริโภคขยายตัวตามไปด้วย ทั้งนี้การเติบโตของเศรษฐกิจเปรูอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้รายได้ต่อหัวของประชาชนเปรูเพิ่มขึ้นจาก 2,243 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อปีในปี 2546 เป็น 3,886 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อปีในปี 2550 ซึ่งสูงกว่ารายได้ต่อหัวของไทยเล็กน้อย (รายได้ต่อหัวของไทยอยู่ที่ 3,737 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อปี)

นำเข้าวัตถุดิบต่ำลง … ลดต้นทุนภาคธุรกิจไทย
เปรูมีทรัพยากรธรรมชาติอุดมสมบูรณ์จึงเป็นแหล่งวัตถุดิบที่สำคัญ ได้แก่ ทองแดง เงิน ทอง ปิโตรเลียม ก๊าซธรรมชาติ ป่าไม้ เหล็ก ถ่านหิน ฟอสเฟต โปแตสเซียม และพลังงานน้ำ รวมถึงทรัพยากรด้านการท่องเที่ยวและวัฒนธรรม ประกอบกับเปรูมีชายฝั่งทะเลที่ยาวจึงเป็นแหล่งผลิตสินค้าประมงที่สำคัญ สินค้าที่ไทยนำเข้าจากเปรูเกือบทั้งหมดเป็นสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูปคิดเป็นสัดส่วนถึงร้อยละ 96 ของการนำเข้าทั้งหมดของไทยจากเปรู ที่เหลือเป็นสินค้าอุปโภคบริโภค โดยไทยนำเข้าเป็นสินแร่โลหะอื่นๆ เศษโลหะผลิตภัณฑ์จากเปรู ราวร้อยละ 85 ของการนำเข้าทั้งหมดของไทยจากเปรู การที่ไทยลดภาษีนำเข้าสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จให้สินค้านำเข้าจากเปรูภายใต้ FTA จะทำให้ต้นทุนนำเข้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูปจากเปรูถูกลง ซึ่งจะช่วยให้การผลิตสินค้าแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่าส่งออกของไทยสูงขึ้นด้วย ทั้งนี้ สินค้าที่ไทยต้องลดภาษีให้เปรูเหลือร้อยละ 0 ทันทีส่วนใหญ่เป็นสินค้าวัตถุดิบที่ไทยต้องนำเข้าเพื่อการผลิต เช่น สินแร่สังกะสี สินแร่ดีบุก รัตนชาติ ด้ายและผ้าทอขนสัตว์ ส่วนสินค้าที่ไทยจะลดภาษีเหลือร้อยละ 0 ภายใน 5 ปี เช่น สังกะสี และน้ำมันปลา

ปลาป่นไทย … สินค้าอ่อนไหว ปรับตัวพร้อมแข่งขัน
ธุรกิจปลาป่นไทยในปัจจุบันต้องเผชิญกับราคาน้ำมันในระดับสูงที่ส่งผลต่อต้นทุนธุรกิจ และการขาดแคลนวัตถุดิบประมงในประเทศ และในระยะข้างหน้า ยังต้องตั้งรับการแข่งขันกับปลาป่นนำเข้าจากเปรูที่จะเข้ามาไทยได้มากขึ้นซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อชาวประมงและผู้ประกอบการผลิตปลาป่นของไทย แม้การเปิดเสรีสินค้าภายใต้พิธีสารฉบับนี้ยังไม่รวมสินค้าปลาป่นซึ่งเป็นสินค้าอ่อนไหวของไทย แต่การเจรจาเปิดเสรีสินค้ากับเปรูในอนาคต ไทยคงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องรวมปลาป่นเข้าอยู่ในรายการลดภาษี อย่างไรก็ตาม แนวทางการเจรจาเปิดเสรี FTA ของทางการไทยสำหรับสินค้าอ่อนไหวจะเป็นการทยอยลดภาษีนำเข้าโดยมีระยะเวลาปรับตัวช่วงหนึ่ง ผู้ประกอบการปลาป่นจึงควรใช้ระยะเวลาที่เหลืออยู่ปรับตัวเตรียมพร้อมต่อการแข่งขันจากการเปิดเสรีในอนาคต เนื่องจากเปรูเป็นชายฝั่งทะเลยาวจึงมีแหล่งทรัพยากรประมงที่อุดมสมบูรณ์ ส่งผลให้เปรูเป็นประเทศที่มีศักยภาพในการผลิตปลาป่น และเป็นประเทศที่ผลิตปลาป่นที่มีคุณภาพและส่งออกปลาป่นมากเป็นอันดับที่ 1 ของโลก

ในส่วนของภาครัฐ การดำเนินการใช้เงินกองทุนเพื่อช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากการเปิดเสรี (กองทุน FTA) ควรดำเนินการอย่างต่อเนื่องให้เป็นประโยชน์และเกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อช่วยสร้างสมรรถนะทางการแข่งขันให้กับธุรกิจปลาป่นไทย เช่น การยกระดับมาตรฐานโรงงานผลิตปลาป่นไทย นอกจากนี้ มาตรการที่ภาครัฐควรให้ความสำคัญ ได้แก่ การพัฒนา/ฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเลอย่างยั่งยืนและการดำเนินการเอาผิดกับผู้ทำลายทรัพยากรทางทะเลอย่างเข้มงวด สำหรับในส่วนของความตกลง FTA ไทย-เปรู เองก็ได้กำหนดเงื่อนไขที่ช่วยเหลือธุรกิจที่ได้รับผลกระทบด้วย หากมีการนำเข้าสินค้าเพิ่มมากขึ้นจากการลดภาษีจนทำให้อุตสาหกรรมภายในเสียหาย ก็สามารถใช้มาตรการปกป้อง (Safeguard) ระงับการนำเข้าเป็นการชั่วคราวได้ ซึ่งถือว่าเป็นมาตรการที่จะช่วยบรรเทาผลกระทบที่รุนแรงจากการทะลักของสินค้านำเข้าจากการเปิดเสรีที่ส่งผลต่อธุรกิจไทยได้ระดับหนึ่ง

ในอีกด้านหนึ่ง การลดภาษีนำเข้าสินค้าปลาป่นให้กับเปรูน่าจะส่งผลดีต่อผู้ผลิตอาหารสัตว์ของไทย เนื่องจากการมีแหล่งวัตถุดิบที่มีคุณภาพดีและราคาถูกลง รวมทั้งลดปัญหาการขาดแคลนวัตถุดิบสินค้าประมงที่ไทยกำลังประสบอยู่ขณะนี้ด้วย

สำหรับสินค้าอ่อนไหวของเปรูซึ่งเปรูให้การปกป้องมาก ได้แก่ ข้าว ไก่ และน้ำตาล เป็นสินค้าที่ไทยมีศักยภาพในการผลิตและส่งออก การเจรจาต่อรองให้เปรูเปิดตลาดข้าว ไก่ และน้ำตาลให้ไทยมากขึ้น เพื่อแลกกับการลดภาษีสินค้าปลาป่นของไทยให้กับเปรู น่าจะเป็นการแลกเปลี่ยนประโยชน์ที่เหมาะสม และเป็นที่น่าสังเกตว่า ภาวะเงินเฟ้อที่พุ่งขึ้นในปัจจุบันซึ่งเป็นปัญหาของประเทศทั่วโลก จากระดับราคาสินค้าพลังงาน สินค้าโภคภัณฑ์ สินค้าเกษตรและอาหารที่อยู่ในระดับสูง รวมถึงภาวะโลกร้อนที่ส่งผลให้ผลผลิตภาคเกษตรในตลาดโลกลดลงและมีความผันผวน ซึ่งสาเหตุทั้งด้านราคาและอุปทานของสินค้าเกษตร/อาหาร อาจผลักดันให้เปรูยอมเปิดรับสินค้าเกษตร/อาหารนำเข้าจากไทยมากขึ้น โดยในปีที่ผ่านมา เปรูนำเข้าข้าวจากไทยเป็นปีแรกหลังจากที่ห้ามนำเข้าข้าวจากไทยตั้งแต่ปี 2547 ซึ่งเป็นช่วงที่เกิดโรคระบาดไข้หวัดนกในไทยขณะนั้น และในช่วง 4 เดือนแรกของปี 2551 เปรูยังนำเข้าข้าวจากไทยอย่างต่อเนื่อง

บทสรุป
การที่ราคาน้ำมันในตลาดโลกมีแนวโน้มทรงตัวในระดับสูงต่อเนื่องในปี 2551-2552 ทำให้ดุลการค้าของไทยยังคงเผชิญความเสี่ยงกับภาวะขาดดุลการค้า เนื่องจากไทยนำเข้าน้ำมันดิบคิดเป็นสัดส่วนถึงร้อยละ 17 ของการนำเข้าทั้งหมดของไทย ซึ่งยอดขาดดุลการค้าที่พุ่งขึ้นอาจส่งผลกระทบต่อดุลบัญชีเดินสะพัดของไทยด้วย การเร่งขยายการส่งออกจึงเป็นหนทางหนึ่งที่จะช่วยบรรเทายอดขาดดุลการค้าของไทย และช่วยลดแรงกดดันต่อดุลบัญชีเดินสะพัดที่อาจส่งผลกระทบซ้ำเติมเสถียรภาพทางเศรษฐกิจในภาวะที่ไทยต้องเผชิญปัจจัยเสี่ยงหลายๆ ด้าน ที่สำคัญ ได้แก่ เงินเฟ้อที่พุ่งขึ้น อันส่งผลต่อความสามารถในการจับจ่ายใช้สอยของประชาชนและทำให้ต้นทุนของภาคธุรกิจสูงขึ้น การเจรจาจัดทำเขตการค้าเสรี (FTA) ของไทยที่มีความคืบหน้าทั้งในระดับภูมิภาคและทวิภาคีที่คาดว่าจะมีผลบังคับใช้ในปี 2551-2552 ได้แก่ FTA อาเซียน-เกาหลีใต้ FTA อาเซียน-ญี่ปุ่น และ FTA ไทย-เปรู น่าจะเป็นปัจจัยสนับสนุนให้การส่งออกของไทยขยายตัวได้ดีขึ้นในระยะต่อไป

พิธีสารการลดภาษีศุลกากรระหว่างไทยกับเปรูในสินค้ากลุ่มเริ่มแรก (Early Harvest : EH) ภายใต้ความตกลง FTA ไทย-เปรู ที่คาดว่าจะเริ่มมีผลบังคับใช้ในช่วงต้นปี 2552 น่าจะเป็นปัจจัยสนับสนุนให้การส่งออกของไทยไปเปรูขยายตัวได้ดีขึ้น เนื่องจากปัจจุบันมูลค่าส่งออกของไทยไปเปรูค่อนข้างน้อย จึงมีโอกาสขยายตัวได้อีกมาก ประกอบกับการบริโภคภายในประเทศเปรูที่เพิ่มขึ้นตามการขยายตัวของเศรษฐกิจเปรูในอัตราร้อยละ 7.7 ต่อปี ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา (2548-2550) โอกาสของสินค้าอุตสาหกรรมส่งออกของไทยจะเข้าสู่ตลาดเปรูได้มากขึ้น จากการลดภาษีสินค้าภายใต้พิธีสารการเปิดเสรีสินค้ากลุ่มเริ่มแรกที่คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 70 ของสินค้าทั้งหมด โดยสินค้ากลุ่มแรกราวร้อยละ 50 จะมีการลดภาษีเหลือร้อยละ 0 ทันทีที่ความตกลงมีผลบังคับใช้ ซึ่งสินค้าส่งออกของไทยที่จะได้ประโยชน์ทันทีคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 80 ของสินค้าที่ไทยส่งออกไปเปรู เช่น รถปิกอัพ หลอดไฟฟ้า พลาสติกและผลิตภัณฑ์ เลนส์แว่นตา ยางและผลิตภัณฑ์ โทรศัพท์ เครื่องขยายเสียง คอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ

ขณะเดียวกันไทยจะต้องลดภาษีนำเข้าสินแร่สังกะสี สินแร่ดีบุก รัตนชาติ ด้ายและผ้าทอขนสัตว์ให้เปรูเหลือในอัตราร้อยละ 0 ทันทีที่พิธีสารฯ มีผลบังคับใช้ ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนนำเข้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูปจากเปรูให้ถูกลง คาดว่าจะส่งผลดีต่อภาคธุรกิจไทยที่กำลังประสบกับภาวะที่ต้นทุนด้านอุปทานพุ่งขึ้นในปัจจุบันและมีแนวโน้มทรงตัวในระดับสูงในปี 2552 และยังช่วยให้การผลิตสินค้าแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่าส่งออกของไทยสูงขึ้นด้วย จากปัจจุบันสินค้าที่ไทยนำเข้าจากเปรูเกือบทั้งหมดเป็นสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูปคิดเป็นสัดส่วนถึงร้อยละ 96 ของการนำเข้าทั้งหมดของไทยจากเปรู

การเปิดเสรีสินค้าภายใต้พิธีสารฉบับนี้ยังไม่รวมสินค้าปลาป่นซึ่งเป็นสินค้าอ่อนไหวของไทย แต่สำหรับระยะต่อไปของการเจรจาเปิดตลาดสินค้า FTA ไทย-เปรู ไทยมีแนวโน้มต้องเปิดให้สินค้าปลาป่นของเปรูเข้ามาไทยได้มากขึ้น ซึ่งเปรูเป็นประเทศที่มีศักยภาพในการผลิตปลาป่นซึ่งมีคุณภาพและส่งออกเป็นอันดับ 1 ของโลก แม้ว่าด้านหนึ่งน่าจะส่งผลดีต่อผู้ผลิตอาหารสัตว์ของไทย เนื่องจากการมีแหล่งวัตถุดิบที่มีคุณภาพดีและราคาถูกลง รวมทั้งลดปัญหาการขาดแคลนวัตถุดิบสินค้าประมงที่ไทยกำลังประสบอยู่ขณะนี้ด้วย แต่ชาวประมงและธุรกิจปลาป่นไทยต้องเผชิญกับการแข่งขันมากขึ้น ซ้ำเติมปัญหาปัจจุบันที่ต้องเผชิญกับราคาน้ำมันในระดับสูงที่ส่งผลต่อต้นทุนธุรกิจ และการขาดแคลนวัตถุดิบประมงในประเทศ ผู้ประกอบการปลาป่นจึงควรใช้ระยะเวลาที่เหลืออยู่ปรับตัวเตรียมพร้อมต่อการแข่งขันจากการเปิดเสรีในอนาคต ขณะที่ภาครัฐควรดำเนินการใช้เงินกองทุนเพื่อช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากการเปิดเสรี (กองทุน FTA) อย่างต่อเนื่องเพื่อให้เป็นประโยชน์และเกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม ในอันที่จะช่วยสร้างสมรรถนะทางการแข่งขันให้กับธุรกิจปลาป่นไทย รวมทั้งให้ความสำคัญกับการพัฒนา/ฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเลอย่างยั่งยืน เพื่อรักษาแหล่งทรัพยากรประมงในประเทศ

สำหรับสินค้าอ่อนไหวของเปรู ได้แก่ ข้าว ไก่ และน้ำตาล เป็นสินค้าที่ไทยมีศักยภาพในการผลิตและส่งออก การเจรจาต่อรองให้เปรูเปิดตลาดสินค้าเหล่านี้ให้ไทยมากขึ้นเพื่อแลกกับการลดภาษีสินค้าปลาป่นของไทยให้กับเปรู น่าจะเป็นการแลกเปลี่ยนประโยชน์ที่เหมาะสมและช่วยให้ไทยขยายการส่งออกสินค้าเกษตร/อาหารได้มากขึ้น และเป็นที่น่าสังเกตว่า ภาวะเงินเฟ้อที่พุ่งขึ้นในปัจจุบันซึ่งเป็นปัญหาของประเทศทั่วโลก จากระดับราคาสินค้าพลังงาน สินค้าโภคภัณฑ์ สินค้าเกษตรและอาหารที่อยู่ในระดับสูง รวมถึงภาวะโลกร้อนที่ส่งผลให้ผลผลิตภาคเกษตรในตลาดโลกลดลงและมีความผันผวน ซึ่งสาเหตุทั้งด้านราคาและอุปทานของสินค้าเกษตร/อาหาร อาจผลักดันให้เปรูยอมเปิดรับสินค้าเกษตร/อาหารนำเข้าจากไทยมากขึ้น โดยในปีที่ผ่านมา เปรูนำเข้าข้าวจากไทยเป็นปีแรกหลังจากที่ไม่ได้นำเข้าข้าวจากไทยตั้งแต่ปี 2547 ซึ่งเป็นช่วงที่เกิดโรคระบาดไข้หวัดนก โดยในช่วง 4 เดือนแรกของปีนี้เปรูยังนำเข้าข้าวจากไทยอย่างต่อเนื่อง

การขยายตลาดส่งออกของไทยจากการเปิดเสรีสินค้าภายใต้การเจรจาจัดทำ FTA ไทย-เปรู รวมถึง FTA อาเซียน-เกาหลีใต้ และ FTA อาเซียน-ญี่ปุ่น ที่คาดว่าจะมีผลบังคับใช้ในปี 2551-2552 จะช่วยฐานะดุลการค้าของไทยให้ดีขึ้นไม่มากก็น้อย จากปัจจุบันในช่วง 4 เดือนแรกของปีนี้ที่ไทยขาดดุลการค้า 2.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จากช่วงเดียวกันปี 2550 ที่เกินดุลการค้า 3.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ