ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ร่วมกับ 5 สถาบันอุดมศึกษา ได้แก่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์(นิด้า) มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และมหาวิทยาลัยพายัพ ร่วมลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในการสร้างบุคลากรสู่อุตสาหกรรมตลาดทุนไทย ทั้งในส่วนของผู้ประกอบวิชาชีพในตลาดทุน และผู้ลงทุนทั่วไป เพื่อให้เป็นต้นแบบการเปิดสาขาวิชาตลาดทุนให้กับสถาบันอุดมศึกษาที่ร่วมโครงการ University Networking กับตลาดหลักทรัพย์ฯ
โครงการนี้เป็นโครงการต่อเนื่องหลังจากที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ ร่วมมือกับสถาบันอุดมศึกษารวม 19 แห่งในโครงการ University Networking ในการเผยแพร่ข้อมูลและข่าวสารด้านการเงินและการลงทุนในรูปแบบที่เหมาะสมไปสู่นิสิต นักศึกษา คณาจารย์ บุคลากรในสถาบันการศึกษา และประชาชนทั่วไป ซึ่งการร่วมมือกับ 5 สถาบันอุดมศึกษาดังกล่าว จะเน้นการพัฒนาและจัดโครงสร้างหลักสูตรทางด้านวิชาสาขาตลาดทุน หรือสาขาวิชาอื่นที่ใกล้เคียง และบรรจุเป็นสาขาวิชาสำหรับการเรียนการสอน ทั้งในระดับปริญญาตรี และปริญญาโท ในคณะบริหารธุรกิจ คณะพาณิชยศาสตร์และ การบัญชี และคณะบัญชีการเงินและการธนาคาร รวมทั้งให้มหาวิทยาลัยเหล่านั้นเป็นศูนย์การอบรมหลักสูตร ใบอนุญาตสำหรับผู้ประกอบวิชาชีพในตลาดทุน
นางภัทรียา เบญจพลชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า ด้วยกระแสโลกาภิวัฒน์ทางการเงินที่มีพัฒนาการ และเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ทำให้มีผลิตภัณฑ์ทางการเงินและการลงทุนที่มีความซับซ้อนเพิ่ม มากขึ้น ส่งผลให้ภาคธุรกิจที่มีบทบาทและหน้าที่ในตลาดทุน เช่น บริษัทหลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม บริษัทจดทะเบียน บริษัทประกันต่างๆ ฯลฯ มีความต้องการบุคลากรที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญด้านตลาดทุนเป็นอย่างมาก ซึ่งตลาดหลักทรัพย์ฯ เล็งเห็นว่าการส่งเสริมความรู้ดังกล่าวในสถาบันอุดมศึกษาต่างๆ นั้น ถือเป็นส่วนสำคัญในการพัฒนาตลาดทุนไทยที่ยั่งยืน และเป็นการผลิตผู้ประกอบวิชาชีพที่มีทักษะความรู้ ควบคู่กับการมีจริยธรรม รวมทั้งยังเสริมสร้างให้เกิดผู้ลงทุนคุณภาพต่อไปในอนาคต
รศ.ดร. อรรณพ ตันละมัย คณบดีคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า มหาวิทยาลัยมีการสร้างบุคลากรในด้านนี้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งความร่วมมือครั้งนี้จะเป็นรูปแบบในการขยายฐานความรู้ด้านตลาดทุนให้กว้างขึ้น อาทิ การเพิ่มเนื้อหาในสาขาทางการเงินให้มีความเข้มข้น และการพัฒนาหลักสูตรทั้งในระดับปริญญาตรี และปริญญาโทให้มีความสอดคล้องกับกระแสการเปลี่ยนแปลงและพัฒนาการในภาคอุตสาหกรรม
รศ. เกศินี วิฑูรชาติ คณบดีคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า มหาวิทยาลัยได้จัดตั้ง โครงการปริญญาโทการเงินทางด้านตลาดทุน รวมทั้งการเป็นศูนย์กลางในการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับตลาดทุน และนำ ผลการศึกษาวิจัยไปใช้ในการพัฒนาตลาดทุนให้เจริญก้าวหน้าอย่างยั่งยืน และเป็นแหล่งของการเผยแพร่ความรู้ ความเข้าใจ ทั้งทางด้านทฤษฎีและปฏิบัติ นอกจากนี้มหาวิทยาลัยยังได้รับสิทธิ์ให้เป็นศูนย์จัดอบรมหลักสูตร ใบอนุญาตสำหรับผู้ประกอบวิชาชีพในตลาดทุน ซึ่งขณะนี้ได้มีการจัดอบรมหลักสูตร CISA ไปแล้วเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา
รศ.ดร.บุญชัย หงส์จารุ รองคณบดีคณะบริหารธุรกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) กล่าวว่า นิด้ามีแผนที่จะเปิดสาขาวิชาตลาดทุน 2 ลักษณะคือ โครงการปริญญาโทสาขา Finance & Capital Market และการจัดอบรม แบบ Certificate หรือ Diploma อาทิเช่น หลักสูตร Capital Business & Regulations สำหรับผู้ปฏิบัติงานเกี่ยวกับกฎหมาย เป็นต้น ส่วนการเป็นศูนย์การจัดอบรมนั้น นิด้ากำลังดำเนินการจัดอบรมหลักสูตร Single License และ CISA ในเดือนกรกฎาคมนี้
ผศ.สุจรรย์พินธ์ สุวรรณพันธ์ หัวหน้าภาควิชาการเงินและการธนาคาร คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า มหาวิทยาลัยจะเปิดสอน ในระดับปริญญาโท หลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาการเงินหลักสูตร 2 ปี ซึ่งทางมหาวิทยาลัยจะเน้นในการผลิตบุคลากรทั้งในด้าน Wealth Management และด้าน Capital Market ซึ่งผู้เรียนสามารถเลือกเรียนได้ตามความสนใจ โดยในขณะนี้สาขาดังกล่าวมีความต้องการอย่างมาก สำหรับภูมิภาคเขตภาคเหนือ และ ในอนาคตมหาวิทยาลัยพร้อมที่จะเป็นศูนย์การจัดอบรมหลักสูตรใบอนุญาตสำหรับผู้ประกอบวิชาชีพในตลาดทุน
ดร.รักษ์ พรหมปาลิต รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยพายัพ กล่าวว่า มหาวิทยาลัยมีความพร้อมในการเปิดสาขาวิชา ตลาดทุนในระดับปริญญาตรี เพื่อผลิตนักการเงินรุ่นใหม่ ที่มีความรู้ และความเชี่ยวชาญในด้านการลงทุน ซึ่งคาดว่า นักศึกษาที่จบทางด้านนี้ จะมีความพร้อมสำหรับการสอบ Single License เพื่อจะได้นำไปใช้ในการประกอบวิชาชีพได้ทันทีหลังจบการศึกษา อีกทั้งมหาวิทยาลัยยังอาจเป็นศูนย์การจัดอบรมหลักสูตรใบอนุญาตสำหรับผู้ประกอบวิชาชีพ ในตลาดทุนอีกด้วย
ทั้งนี้ ตลาดหลักทรัพย์ฯ จะสนับสนุน ให้สถาบันอุดมศึกษาที่ร่วมลงนามความร่วมมือ ได้เพิ่มการทำงานด้านวิจัยที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาตลาดทุน โดยร่วมมือกับสถาบันวิจัยเพื่อตลาดทุนในการกำหนดหัวข้องานวิจัยที่เหมาะสม รวมทั้งจะมอบทุน SET Fellowship ปีละ 2 ทุนให้กับอาจารย์ ผู้สอนในสาขาวิชาการเงินเพื่อให้ได้รับประสบการณ์ตรงในงานวิชาชีพด้านตลาดทุน รวมทั้งสนับสนุนกิจกรรมต่างๆ ของนิสิต นักศึกษาในสาขานี้ อาทิ การฝึกงานกับบริษัทที่เกี่ยวข้องในตลาดทุน เป็นต้น โดยโครงการนี้จะเริ่มจาก 5 มหาวิทยาลัยดังกล่าว และจะขยายความร่วมมือไปยังมหาวิทยาลัยที่ร่วมโครงการ University Networking กับตลาดหลักทรัพย์ฯ อื่นๆ ต่อไป