ธนาคารไทยพาณิชย์ทำกำไรสูงต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 2 กำไรสุทธิ 5,818 ล้านบาท

ธนาคารไทยพาณิชย์ ธนาคารไทยแห่งแรกของประเทศ เปิดเผยผลประกอบการเบื้องต้น(งบการเงินรวม) โดยไตรมาสที่ 2 ของปี 2551 มีผลกำไรสุทธิที่ 5,818 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 35% เทียบกับไตรมาส 2/2550 นับเป็นกำไรประจำไตรมาสที่อยู่ในระดับสูงและต่อเนื่องมาจากไตรมาสแรก กำไรสุทธิที่เพิ่มขึ้นอย่างแข็งแกร่งนี้ มาจากยุทธศาสตร์การให้บริการทางการเงินแบบครบวงจร (Universal Banking) ซึ่งเป็นยุทธศาสตร์หลักที่ธนาคารใช้ในการดำเนินการในหลายปีที่ผ่านมา ส่งผลถึงการปรับตัวดีขึ้นอย่างเด่นชัดในรายได้ที่ไม่ใช่ดอกเบี้ย รายได้ดอกเบี้ยสุทธิ และ การบริหารค่าใช้จ่ายที่ไม่ใช่ดอกเบี้ยได้ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้

ดร. วิชิต สุรพงษ์ชัย ประธานกรรมการบริหาร ให้ความเห็นต่อผลประกอบการที่เกิดขึ้นใน 2 ไตรมาสแรกของปี 2551 ว่า “ท่ามกลางสภาวะเศรษฐกิจและสถานการณ์การเงินที่แปรปรวนของประเทศไทยและทั่วโลก ผลประกอบการของธนาคารที่ออกมาถือว่าอยู่ในระดับที่น่าพอใจเป็นอย่างมาก การที่ธนาคารสามารถแสดงผลกำไรในระดับสูงตอกย้ำให้เห็นถึงความสำเร็จในการปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์การดำเนินงานด้านต่างๆ ตลอดหลายปีที่ผ่านมาโดยเฉพาะการนำรูปแบบการทำธุรกิจของธนาคารที่ให้บริการทางการเงินแบบครบวงจร (Universal Bank) มาใช้เป็นยุทธศาสตร์หลัก” ประธานกรรมการบริหารยังกล่าวเสริมว่า “ผลประกอบการที่แข็งแกร่งและต่อเนื่องสะท้อนถึงสถานภาพที่พร้อมของธนาคารไทยพาณิชย์ในการทำธุรกิจเชิงรุกไปในอนาคตซึ่งมีความท้าทายและความยากลำบากมากขึ้น”

การที่ธนาคารดำเนินธุรกิจให้บริการทางการเงินแบบครบวงจร ช่วยส่งเสริมและผลักดันให้ผลกำไรสุทธิของธนาคารในไตรมาส 2/2551 อยู่ในระดับสูง อันได้แก่

รายได้ที่ไม่ใช่ดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นถึง 23% จากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว โดยรายการหลักมาจาก ค่าธรรมเนียมด้านสินเชื่อ ค่าธรรมเนียมจากผลิตภัณฑ์ลูกค้าบุคคล และรายได้ด้านปริวรรตและบริหารเงิน (เพิ่มขึ้น 25.4%, 12.2%, 64.8% ตามลำดับ)

รายได้ดอกเบี้ยสุทธิ เพิ่มขึ้น 19% จากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว จากการปรับตัวดีขึ้นในส่วนต่างอัตราดอกเบี้ย (3.92% ในไตรมาส 2/2551 เทียบกับ 3.63% ในไตรมาส 2/2550) ซึ่งเป็นผลมาจากการบริหารความเสี่ยงด้านสินเชื่อ และการบริหารต้นทุนเงินฝากอย่างมีประสิทธิภาพในช่วงที่ผ่านมา (1.54% ในไตรมาส 2/2551 เทียบกับ 2.26% ในไตรมาส 2/2550) ทั้งนี้ รายได้ดอกเบี้ยสุทธิที่เพิ่มขึ้นยังเป็นผลจากการขยายตัวของสินเชื่อที่ยังเติบโตต่อเนื่องในอัตรา 12% จากช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว

• ในขณะเดียวกันธนาคารดำเนินกลยุทธ์เพิ่มประสิทธิภาพของการทำงาน ตลอดจนบริหารค่าใช้จ่ายที่ไม่ใช่ดอกเบี้ยอย่างใกล้ชิด ส่งผลให้อัตราส่วนค่าใช้จ่ายรวมต่อรายได้รวมปรับตัวดีขึ้น (46.6% ในไตรมาส 2/2551 เทียบกับ 51.0% ในในไตรมาส 2/2550)

นอกจากข้างต้นแล้ว ธนาคารยังมุ่งลดสินเชื่อด้อยคุณภาพ (NPLs) ผ่านวิธีการต่างๆ ในหลายไตรมาสที่ผ่านมา ส่งผลให้ NPLs ณ สิ้นไตรมาส 2/2551 ลดลงมาอยู่ที่ระดับ 5.3% (เทียบกับ 8.0% ณ สิ้นไตรมาส 2/2550)

อนึ่ง กำไรสุทธิของไตรมาส 2/2551 น้อยกว่ากำไรสุทธิของไตรมาส 1/2551 ทั้งนี้เนื่องจากในไตรมาสที่ 1/2551 มีการบันทึกกำไรพิเศษจากการขายหุ้นซึ่งเป็นกรณีเฉพาะสำหรับไตรมาส หากปรับกำไรพิเศษออก กำไรสุทธิจากการดำเนินงานปกติของไตรมาส 2/2551 จะสูงกว่ากำไรของไตรมาสที่1 อันเป็นการแสดงถึงความ สามารถในการทำกำไรในระดับสูงและต่อเนื่องของธนาคาร

นางกรรณิกา ชลิตอาภรณ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ กล่าวว่า “การที่ธนาคารมีผลงานที่ดีและต่อเนื่องท่ามกลางสภาวะทางเศรษฐกิจและธุรกิจที่เปราะบางเช่นนี้ สะท้อนให้เห็นถึงความแข็งแกร่งและคุณภาพชั้นเยี่ยมของเครือข่ายบริการของธนาคาร ซึ่งเป็นผลมาจากการมีบริการที่ครบวงจรและดีเยี่ยม การที่ลูกค้ามีความผูกพันในผลิตภัณฑ์และบริการของธนาคารในระดับสูง รวมถึงความมุ่งมั่นในการทำงานของพนักงาน ดังนั้น แม้ว่า สถานการณ์ต่างๆ จะยังมีความไม่แน่นอนอยู่มาก ธนาคารเชื่อมั่นว่าธนาคารมีความพร้อมที่จะฝ่าฟันอุปสรรคต่างๆ ตลอดจนอยู่ในสถานะที่แข็งแกร่งพร้อมขยายธุรกิจเมื่อทุกอย่างปรับตัวดีขึ้น เพื่อสร้างผลตอบแทนที่ดีที่สุดคืนแก่ ลูกค้า ผู้ถือหุ้น พนักงาน และสังคม”

ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) เป็นธนาคารพาณิชย์ชั้นนำของประเทศที่ให้บริการทางการเงินแบบครบวงจร ก่อตั้งขึ้นโดยพระบรมราชานุญาตในปี พ.ศ. 2449 โดยเป็นธนาคารพาณิชย์ไทยที่เก่าแก่ที่สุดของประเทศ ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2551 ธนาคารมีมูลค่าตลาดรวม (Market Capitalization) สูงเป็นอันดับที่ 1 ในกลุ่มสถาบันการเงิน (264 พันล้านบาท) มีขนาดสินทรัพย์ใหญ่เป็นอันดับที่ 3 (1,206 พันล้านบาท) มีเครือข่ายสาขาและจุดให้บริการมากที่สุดในประเทศไทย (สาขารวมทั้งสิ้น 913 สาขา ศูนย์แลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ 146 แห่ง เครื่องเอทีเอ็ม 5,552 เครื่อง) เพื่อให้บริการที่ตอบสนองความต้องการของลูกค้าทุกกลุ่ม ทั้งลูกค้าธุรกิจขนาดใหญ่ ลูกค้าธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ลูกค้าบุคคล และลูกค้าธนบดีธนกิจ ข้อมูลเพิ่มเติมสามารถดูได้ที่ www.scb.co.th